คนเผาถ่าน

อ่าน: 6005

(สารภาพบาปด้วยการปลูกป่าไม้อย่างที่เห็น)

สมัยที่มาอยู่สวนป่ายุคบุกเบิกนั้น ถ้าวันไหนออกไปเดินตอนเช้าตรู่ก็จะเปียกชื้นเย็นจากน้ำค้างโดนเสื้อผ้า แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว น้ำค้างหายไปพร้อม ๆ กับป่าไม้ ใบหญ้าจึงเหี่ยวสลดไม่สดชื่นเหมือนยามเช้าตรู่สมัยก่อน ที่สวนป่านอกจากกรณีขาดแคลนน้ำแล้ว เรื่องเชื้อเพลิงก็มีวิวัฒนาการ ชาวสวนยังใช้ก้อนเส้า 3 ขาตั้งเป็นเตาฟืน ใช้หม้อดินเป็นภาชนะหลัก ถึงก้นหม้อจะดำอย่างธรรมชาติของเตา แต่ข้าวข้างในสุกหอมกรุ่น

อากาศยามเช้านั้นเย็นนัก นอนฟังเสียงน้ำค้างหยดเปาะแปะทั้งคืน ด้วยความเย็นเฉียบทำให้ไม่อยากตื่น นอนคุดคู้อยู่ในผ้าผวยจนแดดออก ถ้าตื่นสายเกินไป ยายจะปลุกขึ้นมากินน้ำข้าวใส่เกลือปะแล่ม ๆ หนาว ๆ ได้เครื่องดื่มอุ่นอร่อยมันพิเศษจริง ๆ นะครับ จำได้มาจนเท่าทุกวันนี้ น้ำข้าวจากข้าวไร่ที่ตำด้วยครก ที่เราเรียกว่าข้าวซ้อมมือนั่นแหละ คนอยู่ในป่าไม่มีโรงสีที่ไหนนี่ครับ แต่ก็ได้ข้าวที่มีคุณภาพสุดยอดโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องมาคุยเรื่องข้าวอินทรีย์ให้เมื่อยตุ้ม เพราะสมัยนั้นปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลงเป็นยังไงไม่รู้จัก ..

บางวันยายก็หมกไข่ไก่ หมกมันเทศให้เป็นของแถม น้ำข้าวที่เหลือก็เผื่อไปให้แมวและหมา ผมเรียกเล่น ๆ ว่า กาแฟแมว หลังจากหมดยุคหม้อดินก็ไม่ได้กินน้ำข้าวอีกเลย ถึงเราจะซดน้ำข้าวต้ม ก็ยังไม่เหมือนน้ำข้าวอยู่ดี ยังสงสัยว่าทำไมถึงรินน้ำข้าวทิ้ง สมัยนี้ไม่ใครหุงอย่างนั้น เมื่อคราวทดลองหุงข้าวหม้อดินกับเตาดาโกต้า อุ้ยก็ไม่ได้รินน้ำข้าวออกหรอกนะ รึการหุงข้าวยุคนั้นมีเหตุผลอย่างอื่น

จะถามยาย ยายก็ไปสวรรค์เสียแล้ว

เขียนมาถึงตรงนี้คิดถึงยายเป็นบ้า

ใครมียายขอยืมกอดหน่อยได้ไหมครับ?

ต่อมาหม้ออลูมิเนียมบุกสวนป่า ถ้าหุงด้วยฟืนหม้อก็จะดำปี๋ขี้เกียจขัด เตี่ยผมให้คนงานเอาตอไม้มาเผาถ่าน เผาแบบเตากลบดินครั้งเดียวได้ถ่านปะเลอะใช้ได้ทั้งปี เป็นการพึ่งพาด้านพลังงานได้โดยไม่ยากนัก ..พัฒนาการจากเตาฟืน มาเป็นเตาถ่าน ปัจจุบันมาถึงเตาแก๊ส เตาไฟฟ้า เตาไมโคเว็ป สวนป่าก็บ้าเทคโนโลยีมีกับเขาครบเครื่องนั่นแหละ แต่ถ้าจะนึ่งไก่บ้านใส่ใบแมงลัก แม่หวีจะก่อเตาถ่าน กะน้ำกะไฟให้พอดี ยกตั้งแล้วลืมได้เลย พอถ่านราไฟไก่ก็จะสุกนิ่มอร่อย ไม่ต้องมาตั้งปุ่มอัตโนมัติใด ๆ ปุ่มแม่หวีนี่ทรงประสิทธิภาพเหมือนกันนะจิบอกไห่..สรุปว่าที่สวนป่ายังใช้ ฟืน-ถ่าน-แก๊ส-ไมโครเวฟ ตามโอกาสอันควรนะครับ

(เตาถ่านที่เกิดจากการเรียนรู้จนขนไหม้เหม็นหึ่ง)

เคยคุยกับแม่ครัวหัวป่าส์ เขาบอกว่าทำกับข้าวด้วยเตาถ่าน อาหารอร่อยที่สุด แสดงว่ายังไม่มีเทคนิคอะไรช่วยให้อร่อยล้ำหน้าถ่านของเราไปได้ เมื่อจัดเฮฮาศาสตร์ที่สวน แม่ครัวอบไก่บ้าน 30 ตัวให้พระอาจารย์ไร้กรอบ วันนั้นไก่หนังกรอบเนื้อนิ่ม พี่น้องชาวเฮที่ได้ชิมคงจะจำได้ ว่ามันแซบอีหลียังไง เรื่องไปตรงกับที่ญี่ปุ่น คนมีกะตังส์จะใช้ถ่านปิ้งย่างปลาไหล เนื้อ เขาบอกว่ามันหอมอร่อยและได้บรรยากาศอีกต่างหาก คนชั้นประหยัดแดนอาทิตย์อุทัยใช้เตาไมโครเวฟ เออ..ทำไมมันตรงกันข้ามกับบ้านเรา

ผมเคยเผาถ่านใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งไปขายญี่ปุ่น ราคาถ่านออกจากเราไปก..ละ 8 บาท ไปถึงเมืองโอซาก้าราคาประมาณก..ละ250-300บาท ถ่านเพื่อการส่งออกไม่ใช้ทำง่ายๆ มีเสป๊กมาตรฐานยุบยับไปหมด นอกจากถ่านจะสุกดีแล้ว ขนานของไม้ต้องไม่เกิน 1-2 นิ้ว แต่ละท่อนยาว 8 นิ้ว บรรจุในกล่องมีถุงมือ มีเชื้อไฟให้เสร็จสรรพ..

(กลุ่มไม้ใบและกล้วยไม้ที่ทดลองเอาถ่านยูคาฯเพาะเลี้ยง)

มีผู้สงสัยเรื่องคุณภาพของถ่าน ก็ขอเรียนว่าใช้ได้ดีทีเดียวละครับ ในต่างประเทศยังนำไปเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้า เมื่อผลิตได้เองสวนป่าจึงมีถ่านใช้ประจำ ในเดือนหน้าเราจะเผาถ่านอีกเตาหนึ่ง ใครอยากจะมาดูการเผาถ่าน หรือมาทำกับข้าวด้วยเตาถ่าน มาเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์เจอแน่ ขาใหญ่ด้านกล้วยไม้เล่าว่า ถ่านยูคาลิปตัสนำไปเลี้ยงกล้วยไม้ได้ดี สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ผมเริ่มทดลองแล้วละครับตาหนึ่ง ่ง นอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก เมื่อผลิตถ่านได้เอง ูคาลิปตัสนำไปเลี้ยงกล้วยไม้อึ่งแต่อุตริจะทำเตาขนาดเป

นอกจากเตาแล้ว เรื่องหม้อหุงต้มก็พัฒนาการตามยุค จากหม้อดินมาเป็นหม้ออะลูมิเนียม เป็นหม้อไฟฟ้าเป็นภาชนะถ้วยแก้วเข้าเว็ปได้ ดู ๆ ไปแล้วเหมือนจะสะดวกสบาย ๆ จริง ๆ แล้วก็มีปัญหาเหมือนเงาตามมาทุกเรื่อง สมัยนี้ถ้าไฟฟ้าดับสัก 3 วัน คนรุ่นใหม่จะหุงข้าวได้กินไหมนะ เพราะเคยชินกับการกดปุ่ม ถ้ากดไม่ได้ จะกดอะไรละทีนี้ นอกจากกดดันตัวเอง..

สมัยที่ปลูกป่าไม้ครั้งแรก ๆ หน้ามืดมาไม่มีเงินใช้ก็ตัดไม้โตเร็วขาย สมัยนั้นโรงงานชิ้นไม้สับรับซื้อตันละ 500 บาท แถมยังคัดเลือกเอาเฉพาะขนาดที่เส้นผ่าศูนย์กลาง2นิ้วขึ้นไป เพราะเขาอ้างว่าจะปอกเปลือกง่าย (ชิ้นไม้สับที่นำไปผลิตกระดาษจะต้องเอาเปลือกออกเสียก่อน) ปลายไม้ที่ไม่ได้ขนาดทิ้งเกลื่อนเต็มพื้น เห็นแล้วน้ำตาตกใน กว่าจะปลูกได้แต่ละต้นแสนลำบาก อีตอนขาย ขายทิ้งขายขว้าง บ้าชะมัดเลย ..

การเผาถ่านก็ไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ นะครับ ถ้าจะเทียบก็เหมือนปอกกล้วยดิบนั่นแหละ เตาใหญ่ ๆ จะใช้ฟืนจำนวนรถ 6 ล้อขนมาใส่หกเที่ยว มาถึงก็ต้องตัดไม้ให้ได้ขนาด การเรียงฟืนจะต้องเอาท่อนเล็กไว้ข้างล่างเอาฟื่นท่อนใหญ่ไว้ข้างบน และจะต้องตัดไม้อัดให้แน่นเท่าไหร่ยิ่งดี ระหว่างจุดเตาก็ยุ่งอีก ถ้าทำลิ้นเตาไม่ถูกต้อง แทนที่เตาจะดูดไฟเข้าไป จะเกิดไฟตีกลับขนคิ้วหายได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาจุดแล้วติด ๆ ดับ ๆ (บางทีลูกน้องก็แอบไปกินเหล้าหายศีรษะไป 2 วัน ไม่มีคนคอยเติมฟืนเตาก็อาจจะดับได้) ถ้าผ่านขั้นตอนจุดเตาติดความร้อนต่อเนื่อง ต้องหัดดูสีของควันที่ออกมา ควันบ้า ควันดำ ควันทึบ ควันใสเหมือนควันบุหรี่ถึงจะปิดเตาได้ ทุกประเภทของควันล้วนแสดงบอกอาการภายในของเตา ถ้าเห็นว่าถ่านสุกดีแล้วทะยอยปิดปล่องอากาศ ปิดครบทุกปล่องแล้วยังต้องอาบน้ำเตา (เอาโคลนเล๊ะๆราดให้ทั่วภายนอกเตาเพื่อให้เตาเย็นเร็วขึ้น และช่วยปิดรูอากาศที่เกิดจากการร้าวหรือรั่วของเตา)

ถ้าปิดไม่เรียบร้อย เปิดออกมาแทนที่จะได้ถ่าน ก็จะมีแต่ขี้เถ้า หรือปิดเตาก่อนที่ถ่านจะสุก ก็จะเหลือเศษส้นถ่านครึ่งเตา (ไม้ที่ยังไม่เป็นถ่านโดยสมบูรณ์) ช่วงที่เปิดเตาก็ต้องดูให้ดีว่าเชื้อไฟมอดสนิทแล้วจริงๆ เหลือเชื้อไฟซ่อนอยู่นิดเดียวก็ขยายตัวลุกไหม้ลุกลามทั่วโกดังก็เคยมีมาแล้ว หรือรถบรรทุกถ่านไปดี ๆ เกิดไฟควันโขมงทั้งคันรถ โชเฟอร์ต้องหักพวงมาลัยลงหนองน้ำ แช่ทั้งรถทั้งคนทั้งถ่านอุตลุดเหลือเกินละครับ การขนถ่านไปต่างประเทศ นอกจากจะเสียค่าระวางแพงกว่าสินค้าชนิดอื่นแล้ว ยังหาเรือขนส่งยากมาก แสดงว่าเคยมีไฟไหม้เรือบรรทุกถ่านกลางทะเลมาแล้ว

ที่พูดเป็นคุ้งเป็นแควนี่ เจอเหตุการณ์ตามที่เล่า 90 % มาแล้วทั้งนั้น

โดนลูกน้องอัดตลอดว่า..เรื่องดี ๆ ง่าย ๆ ไม่พาทำ ชวนทำแต่เรื่องบ้า ๆ

ก็เลยตอบว่า..บ้าก็บ้าสิวะ..ทิ้งไม้โดยเปล่าประโยชน์สิยิ่งบ้าหนักเข้าไปอีก

ทุกครั้งที่เผาถ่านเราจะดักน้ำควันไม้ที่ออกมาพร้อมกับควัน

โดยต่อท่อเล็กๆแล้วเจาะรูให้ไอน้ำที่มีสารควันไม้หยดลงภาชนะที่รองรับ

น้ำควันถ่านที่ดีควรดักเก็บหลังจากควันบ้าออกแล้ว

เพราะจะมีปริมาณน้ำปะปนน้อย

น้ำควันไม้ที่ว่าต้องเอามาใส่ถังพลาสติกขนาดใหญ่เก็บไว้ 4 เดือนขึ้นไป

ภายในถังจะมีสารตกตะกอนอยู่ 3 ชั้น

ชั้นล่างสุดเป็นน้ำมันดิน

ชั้นกลางเป็นน้ำส้ม

ชั้นบนสุดเป็นน้ำควันไม้ที่เราจะเอาไปใช้รดผัก ปรับปรุงดิน หรือไล่แมลง

จะทำให้ผักงาม ผลไม้หวานกรอบ คุณภาพของดินก็ดีขึ้นด้วย

การน้ำไปใช้ต้องผสมน้ำอัตราส่วน 1:200 หรือ 1: 400 แล้วแต่ประเภทของการใช้

สมัยผมเผาแรกๆพวกญี่ปุ่นมาดูงาน

เขาแนะนำว่าทำไมไม่ดักเก็บควันไม้ไปใช้

รู้ไหมราคาน้ำควันไม้นี่แพงกว่าถ่านหลายเท่า

อ้าว! โง่อีกแล้วตู เฮ้อๆๆๆๆๆ แคว๊ก

ผมเสียดายไม้

นอนก่ายหน้าผากอยู่นาน

สุดท้าย ตัดสินใจเผาถ่านดีกว่า

แต่ความรู้เรื่องเตาถ่านอยู่ที่ไหนละ

ก็ต้องถามผู้รู้ ผู้สันทัดกรณี

ได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพระดับชาวบ้านจนถึงนักวิชาการ

นอกจากคำบอกเล่าแล้ว ผมไม่มีตำราการสร้างเตาเผาถ่านในมือ

ไม่มีเวลาตระเวนไปหาความรู้เหมือนเมื่อก่อน

ผมจึงลงมือชวนลูกน้องพวกขุดบ่อนั่นแหละมาลุย

เจ้าประคุณเอ๋ย เตาแตกเตาระเบิด 10 ครั้งได้

ควันตะหลบไปทั้งสวนลอยไกลไปหลายกิโล

ขนแขน ขนคิ้ว ขนตา ไหม้ไม่มีเหลือ

นอนเหม็นกลิ่นไหม้ตัวเองทั้งคืน

ไปนอนใกล้ใคร! เขาก็ไล่! ให้ไปนอนที่อื่น!

(เสาต้นนี้มีร่องรอยตอนเตาพังไฟไหมลามไปที่เสาโรงหลังคา)

ผมเป็นคนเอาถ่านเพราะเหตุนี้ละครับ ทำเตาแตกเตาพังมานับไม่ถ้วน มีตั้งแต่เอาไม้มากองเป็นรูปเตาแล้วเอาดินเหนียวโป๊ะ ก็พังอีก เอาไม้ไผ่มาทำโครงเอาดินเหนียวโป๊ะ ก็พังอีก เอาเหล็กรัดทำโครงเตา เผาแล้วก็พังอีก จ่ายค่าโง่มากจนเหงื่อตกไม่รู้กี่ครั้ง ถามว่าท้อไหม ..เหนื่อยแต่สนุก อยากจะเอาชนะความไม่รู้มากกว่า..วนเวียนอยู่กับการทดลองสร้างเตาให้แข็งแรงอยู่หลายปี ผมมาถอนใจเฮือกได้ก็ตอนเจ้าหน้าที่การพลังงานฯ มาแนะนำให้สร้างเตาเผาถ่านด้วยอิฐ คนงานต้องย่ำดินเหนียวผสมกับทรายเพื่อใช้เป็นตัวประสานระหว่างอิฐแต่ละก้อน ค่อย ๆ ก่อหมุนเวียนกันขึ้นไปแต่ละชั้น พวกที่ย่ำดินก็ทำงานหนักนะครับ ลองนึกดูว่า..ถ้าเราเดินย่ำโคลนทั้งวันเป็นยังไง ตอนแรก ๆ ก็สนุกยอกล้อกันว่าเป็น “พวกตีนโต” แต่พอย่ำไป ๆ ย่อมจะปวดขา บางคนทำเอาไข่ดันบวมเลยละครับ หลังจากนั้นก็พัฒนาการให้เตาใหญ่ขึ้นตามความรู้ มีความรู้มากก็ทำเตาให้ใหญ่มากได้ ที่ผ่านมามีความรู้แค่หางอึ่งแต่อุตริจะทำเตาขนาดเป้ง ๆ มันก็พังพินาศนะสิครับ แสดงว่าสัดส่วนของความรู้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของทักษะชีวิต ตราบใดที่ไม่ใช่พหูสูต ก็ต้องเรียนแบบพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อย ๆ

(ลักษณะเตาที่อยู่กึ่งใต้ดินที่เอามาปรับปรุงเป็นบ้านใต้ดินได้)

ถามว่า ปัจจุบันนี้ยังเผาถ่านเพื่อการส่งออกไหม ขอเรียนว่าเลิกไปแล้วครับ

สาเหตุ เพราะไม้ขาดแคลน โรงงานรับซื้อทุกขนาด ราคาก็สูงขึ้น อนึ่ง การเผาถ่านแต่ละครั้งจะมีควันบ้าออก ถึงพืชจะชอบ และได้น้ำควันถ่านมาบำรุงพืช แต่ควันพิษเหล่านี้ก็ทำลายสุขภาพเราได้ จึงเผาที่จำเป็น เลือกเอาอากาศสะอาดสดชื่นไว้ก่อนดีกว่านะครับ

ถามว่า เตาที่สร้างไว้ใหญ่โตจำนวนมากละจะทำอะไร แหมเรื่องนี้ละครับที่ทำให้คันในหัวใจยิ่งนัก ถ้ามีโอกาส ผมอยากจะปรับปรุงเตาถ่านที่ว่านี้ โดยการฉาบภายในใหม่ ปูพื้นกระเบื้องใหม่ ต่อท่อลมหมุนเวียน ทำประตูใหม่ ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพียงเท่านี้สวนป่าก็จะมีบ้านใต้ดินสุกเก๋ไก๋ไว้ต้อนรับชาวเฮแล้วละครับ

ถามว่า จะนอนได้สะดวกหรือ บ้านใต้ดินที่ว่ากว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เมตร สูง 5 เมตร แต่ละเตาใช้ไม้ 6 รถหกล้อใส่ถึงเต็ม เผาออกมาได้ถ่านหนึ่งรถ 10 ล้อ ปริมาณเนื้อที่เท่ากับห้องขนาดย่อมเลยละครับ นอนหน้าหนาวได้สบาย ๆ 4 ชีวิต ถ้าปรับปรุงครบทั้ง 5 จุด จะรับรองแขกที่บ้านใต้ดินได้ 10-20 คน

การปรับปรุง เพื่อให้ดูแปลกและใช้ประโยชน์เต็มที่ ผมจะรื้อหลังคาออก สั่งดินด่านเกวียนมาฉาบ แล้วเอาฟางคลุมจุดไฟให้เนื้อดินเหนียวสุก เราก็จะได้หลังคาบ้านดินที่สมบูรณ์แบบ ปลูกไม้ดอกหอมคลุม บริเวณรอบๆก็ทำที่นั่งเล่น แค่นี้เราก็จะมีบ้านกึ่งใต้ดินแห่งแรกในไทยแลนด์แล้วละครับ

« « Prev : ความมั่นยืนในหัวใจ

Next : คนไม่มีไฟ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มกราคม 2010 เวลา 2:59
    • เตาถ่านขนาดใหญ่นั้น เป็นบ้านดินก็น่าสนใจนะครับ
    • เป็นห้องประชุมย่อยขนาดเล็ก แบบต้องการความเป็นส่วนตัว ก้ไม่เลว เป็นทางเลือก
    • เป็นที่เก็บของบางอย่างที่ต้องการที่เฉพาะ
    • เป็นท้องสมุด
    • เป็นพิพิธภัณฑ์
    • เป็นสถานที่นั่งสมาธิ
    • เป็นห้องบันทึกเสียง
    • เป็น……..
    • โอ๊ะ เป็นได้หลายอย่างน่ะครับ
  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มกราคม 2010 เวลา 4:44

    ถ้าทำได้อึ้งกิมกี่แน่ๆ
    แถมยังมีตั้ง5 หลังแน๊ะครับ
    แต่..จะหางบประมาณที่ไหนมาซ่อมแซม
    ทำแล้วจ๊าบส์แน่ๆ

  • #3 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มกราคม 2010 เวลา 11:00
    • บ้านดิน เด็กแนวมักขนาด
    • ยามเช้ารับแสงอรุณ อุ่นๆ
    • ยามบ่ายมียางนาบังแดด
  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มกราคม 2010 เวลา 11:05

    เอาไว้ลงมือซ่อมจะชวนมาลุย


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.092660903930664 sec
Sidebar: 0.086079120635986 sec