ไม้เป็นยา

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 เวลา 1:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1455

แอบพักสมองกับงานเขียนรายงานที่ไม่รู้จักจบสิ้น ส่งเล่มนั้นแล้วก็ต่อเรื่องนี้ พอมีช่วงให้พักหายใจหายคอก็ต้องแวบออกไปท่องเก็บเกี่ยวเรื่องน่ารู้ในโลกไซเบอร์ซะหน่อย wikipedia เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่น่าเบื่อครับ

วันนี้ไปสะดุดกับประโยคที่ว่า   85% of the world’s star anise is grown in Guangxi. It is a major ingredient in the antiviral Tamiflu. ( ที่มา Guangxi - Wikipedia, the free encyclopedia.mht) แปลได้เลาๆ ได้ความว่าที่กวางสีนี่เป็นแหล่งปลูกอะไรสักอย่างที่ใช้ผลิตยาทามิฟูล์ที่เคยช่วยรักษาเราตอนป่วยเป็นไข้หวัดไก่หวัดนกเมื่อสองปีก่อนนี่นา แล้วเจ้า star anise นี่มันต้นอะไรหว่า แล้วทำไมถึงไปปลูกกันเยอะที่กวางสีของชาวจ้วงประเทศจีนโน่น แถมพี่วิกิยังบอกว่าสัดส่วนการปลูกเยอะมากๆ ถ้าอย่างนั้นหากอาเฮียสมาคมพ่อค้ากวางสีโก่งราคาขึ้นมาแล้วค่ายาจะมิแพงขึ้นรึ ว่าแล้วก็ขอกินเวลางานสักครึ่งชั่วโมงไปถามครูกรูเกิ้ล(อย่าว่ากันเด้อเดี๋ยวทำงานชดใช้ให้ตอนเย็น) ครูบอกมาว่า อาตี๋ใจเย็นๆได้แล้ว เดี๋ยวนี้เขามีทางเลือกใหม่ให้คุณพี่ อีคอลาย (E. coli) สังเคราะห์ยาแทนได้แล้ว เฮ้อค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อย

จันทน์แปดกลีบ หรือ โป๊ยกั๊ก เป็นคำเฉลยหรือคำตอบที่ค้นหาครับ เจ้าต้นไม้ที่ว่ามีชื่อไทยชื่อจีนเป็นเช่นข้างต้นนั่นเอง ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในเมืองจีน เป็นพืชเครื่องเทศที่รู้จักกันมาช้านาน มีสรรพคุณทางยารักษาได้หลายอาการ ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารหลายสัญชาติ ที่คุ้นลิ้นกัน อาทิเช่น บักกุดเต๋ เนื้อตุ๋นยาจีน หมูพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เป็นต้น

เดิมทีพืชเครื่องเทศชนิดนี้ก็คงอยู่ตามป่าตามเขาตามธรรมชาติ หรือการปกปักรักษาต้นกล้าให้เติบใหญ่ในที่ดินของชาวบ้าน แล้วก็เก็บไปขายไปใช้ในท้องถิ่น ส่งขายต่างถิ่นเล็กๆ น้อยๆตามความต้องการของท้องตลาด (นึกถึงมะแข่วนของชาวไทเหนือ ทุกวันนี้ที่เชียงฮ่อนก็เป็นลักษณะนี้) จนกระทั่งมีการปลูกเป็นพืชการค้าที่ดินแดนชาวจ้วงกวางสีชนชาติที่ หมอด็อดด์(Willium Clifron Dodd D.D.) เคยไปเยี่ยมยาม เมื่อราวปี ๒๔๖๐ แล้วเขียนไว้ในหนังสือ The Tai Race ว่าเป็นเผ่าไทสาขาหนึ่ง

ความต้องการโป้ยกั๊กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการค้นพบว่า สามารถนำมาสกัดเอาตัวยามาผลิตเป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรคในปี ๒๕๔๘ และการระบาดของไข้หวัดหมูในปี ๒๕๕๒

ทั้งหมดทั้งมวลที่ร่ายยาวมาข้างต้น อยากชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรชนิดนี้ ลองนึกดูว่า ก่อนที่จะสามารถพัฒนากระบวนการผลิตยาทามิฟูลด้วยวิธีใหม่ ในยุคแรกๆนั้นต้นโป้ยกั๊กช่วยชีวิตคนไว้ได้กี่มากกี่น้อย คิดไปถึงต้นซิงโคน่าที่ใช้ผลิตยาควินิน หากไม่มียาแก้มาเลเรียชนิดนี้ชาวอาณานิคมยุโรปก็คงไม่อาจขยายถิ่นฐานมายังเขตร้อนได้ ตลอดจนนึกไปถึงพืชสมุนไพรอื่นๆที่ช่วยรักษาชีวิตคนในเขตชนบทห่างไกล

ฟันธงว่า หากโลกไร้พืชพรรณธรรมชาติ ถ้าหากไม่มีป่าไม้ มวลมนุษยชาติย่อมมอดม้วยไม่ทางใดก็วันหนึ่ง ช่วยๆกันรักษาป่าปกปักอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นต้นไม้พื้นเมืองไว้บ้างเถิด ไม่แน่นักวันข้างหน้าอาจพบว่าเป็นยาอายุวัฒนะก็ได้

วันนี้มีโอกาสได้ไปชม “สวนไม้เป็นยา” ที่ห้วยน้ำใสริมฝั่งน้ำฮุงแขวงไชยะบุรี ไปดูตัวอย่างการจัดการของพี่น้องชาวบ้าน เพื่อจะถอดแบบมาทำที่เมืองหงสาบ้าง ได้เดินชมป่าสมุนไพร ดูลำธารที่น้ำผุดออกจากใต้ภูเขาสมุนไพร ได้แช่น้ำใสไหลเย็น ปีนป่ายก้อนหิน ดำน้ำเล่นกับปลา แช่น้ำเล่นให้ตัวปลามาตอดขี้ไคลเล่น น้ำสะอาดใสเพราะเพิ่งผุดออกจากใต้ภูผายังไม่ผ่านสิ่งปนเปื้อนใดๆ ชาวบ้านว่าเป็นยาอายุวัฒนะ หนาวนักก็เข้าห้องอบอบสมุนไพร ในห้องร้อนนักก็กลับมาแช่ลำธาร ที่สำคัญคือ คนเดียวเดี่ยวๆไม่มีใครมาอยู่ใกล้ตลอดลำธาร นักท่องเที่ยวอื่นก็มีสามสี่คณะแต่เล่นกันที่จุดอื่น บ้างก็ไปนอนนวดคลายเมื่อย บ้างก็ไปปูเสื่อกินข้าวกันที่แม่น้ำใหญ่

โครงการ “อบสมุนไพร นวดแผนโบราณ” ที่จะทำคงต้องฝ่าฟันอีกหลายด่านโดยเฉพาะเรื่องนวดนี่ต้องโดยหมอจับเส้นรุ่นโบราณจริงๆ ก็ดีไปอย่างจะได้สร้างรายได้ให้คนเฒ่าคนแก่ ส่วนเรื่องอบสมุนไพรนี่ คิดว่าไม่น่าต้องไปหาตำราจากที่อื่น ก็หลานชายยายต๋าคำคนนี้ ตอนเด็กๆช่วยยาย”ฮิบยาฮม”ตำรับเด็ดมาเยอะต่อเยอะแล้ว ว่าแต่ว่าสิบสี่ตัวยานี้จำได้กี่อย่างหนอ รากคา หญ้าปากควาย ตองกล้วยตีบ ฮังคาว อ้อยดำ ใบข่า หอมด่วนหลวง เกี๋ยงพาใย แล้วอะไรอีกละ จำได้แค่อีกตัวเดียวที่ต้องซื้อจากร้านเครื่องยาจีนคือ เทียนดำ

ไปสวนป่าเทื่อหน้า ฮมยากันไหมครับ

 

   

 


คบเด็กสร้างเมือง

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 เวลา 3:55 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1613

วันที่ ๙ พฤษภา เป็นวันของชาวไร่ชาวนาบ้านเรา ปีนี้พระโคจะเลือกกินข้าวหรือกินเหล้า พระยาแรกนาจะเสี่ยงผ้านุ่งยาวกี่คืบ คนบ้านเราคงจะทราบข่าวกันแล้ว

แต่สำหรับคนบ้านนี้ที่หงสา วันที่ ๑ เดือนมิถุนาของทุกปี เป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ และวันเด็กน้อยสากล (ของ สปป ลาว) ตามปกติ ทางโครงการจะร่วมกันปลูกต้นไม้ตามป่าแหล่งน้ำหรือบางปีก็ปลูกต้นไม้สองข้างถนนในตัวเมือง ส่วนกิจกรรมวันเด็กน้อยนั้นมีการแสดงของน้องน้อยเยาวชนที่สโมสรเมืองภายหลังจากมีกิจกรรมปลูกต้นไม้เสร็จแล้ว

แต่วันนี้โครงการฯมีดำริที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันเด็ก คณะผู้คิดการตั้งความคาดหวังกันไว้ว่า นอกจากงานนันทนาการในเวทีกลางแจ้งแล้ว ยังอยากจะเสริมความรู้ให้น้องน้อยที่มาร่วมงานได้ติดไม้ติดมือติดตัวกลับไปบ้าง อยากจะจัดฐานความรู้เพิ่มให้น้องๆได้มาแวะเล่นแวะรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดกันว่าน่าจะมีฐานด้านความปลอดภัยสุขภาพอนามัย ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการจัดการขี้เหยื้อ ด้านการปกปักรักษาป่าไม้ ฐานประกวดวาดรูป และฐานสุดท้าย……ที่คนที่คุณก็รู้ว่าใครเป็นผู้ยกมือเสนอแนวคิด คือ ฐานความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี ของเมืองหงสา

ทำให้ต้องมานั่งนึกตรึกตรองรับผิดชอบที่ตัวเองเป็นต้นคิด แถมด้วยกังวลนิดๆว่าจะพาเด็กๆสนุกไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์พื้นถิ่น และหมอลำพื้นบ้านแบบหงสาได้อย่างไรดี แต่ก็ไม่ถึงกับโยนผ้าขาวยอมแพ้ เป็นด้วยเพราะต้องการให้เยาวชนชาวหงสาตระหนักถึงมูลเชื้ออันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนรุ่นเก่าก่อน กะเอาไว้ว่าจะแบ่งการถ่ายทอดเรื่องราวออกเป็นสามส่วนให้น้องน้อยได้ฝึกทั้งการอ่าน การฟัง และการแสดงออก คือ ประวัติความเป็นมาของเมืองหงสา ขับลำเอกลักษณ์หงสา และฟ้อนรำวงลาว

ส่วนที่เป็นประวัติเมืองหงสา จะทำแผ่นโปสเตอร์เขียนแผนภูมิ คำบรรยายง่ายๆ แสดงเรื่องราวตั้งแต่ครั้งเป็นหงสายุคสมัยเจ้าฟ้างุ้มมหาราชที่จารึกไว้ในพงศาวดารล้านช้าง ที่กล่าวถึงเมืองเลือกที่ยังมีร่องรอยคูเมืองอยู่ (แสดงภาพถ่ายดาวเทียมแสดงคูเมือง) ถัดมาเป็นยุคที่เจ้าชมพูสามพี่น้องนำพาผู้คนมาจากเมืองเชียงค้อแขวงหัวพันมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ดงบ้านเก่าในปี ๒๑๑๒ ก่อนขยับขยายไปตามลำน้ำแหล้ น้ำเลือก และน้ำแก่น (แสดงรูปฐานวัดเก่าที่ขุดค้นพบที่ริมน้ำแหล้ และที่นาจาน) แต่คงต้องข้ามช่วงสำคัญที่ล่อแหลมกับความรู้สึกของพี่น้องไทยลาว นั่นคือยุคที่หงสาเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าขึ้นกับเมืองน่านของไทยและเมืองหลวงพระบางล้านช้าง จนกระทั่งเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาจัดการให้เป็นของฝ่ายล้านช้าง แต่หงสาก็กลับมาเป็นอำเภอหาญสงครามจังหวัดล้านช้างอีกในระยะสั้นๆตามการจัดการของมาหาอำนาจแห่งบูรพาญี่ปุ่น (ความจริงเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าข้าม แต่จะทำอย่างไรถึงจะนำเสนอได้แบบไม่ให้กระทบกระเทือนนำเสนอแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น คิดคิดคิด…) แต่คงจะเล่าถึงตอนที่รอ.ทวยหาญรักษาแต่งไว้ในนิราศหลวงพระบางคราวที่เดินทัพผ่านหงสาไปปราบฮ่อในปี ๒๔๒๘ (แต่ไม่รู้หนังสือเล่มเต็มหายไปอยู่ลังในสงสัยไปกับน้ำในลังที่เก็บไว้บ้านเพื่อนกรุงเทพฯ…อุตส่าไปเสาะหาได้มาจากร้านหนังสือเก่า) และเล่าเรื่องราวบันทึกถึง”ภูไฟ…บ่อถ่านหิน” ที่พระวิภาคภูวดล(เจมส์ แมกคาร์ธี)เจ้ากรมแผนที่คนแรกของไทยบันทึกไว้ในคราวที่ร่วมเดินทางร่วมทัพเดียวกันกับผู้ประพันธ์นิราศหลวงพระบาง เมืองหงสาตัดขาดอย่างเป็นทางการกับฝั่งไทยอย่างสิ้นเชิงหลังการสถาปนาสาธารณรัฐ (สปป ลาว) โดยถูกจัดเป็นเขตพิเศษเชียงฮ่อน-หงสา เมื่อยุบเขตพิเศษได้ขึ้นกับแขวงอุดมไช แล้วจึงโอนมาเป็นเมืองหนึ่งในแขวงไชยะบุรีในที่สุด     

เมืองหงสามีขับลำท้องถิ่นที่ไม่ปรากฏมีที่ใดเหมือน เรียกว่า “การอ่านหนังสือ” เป็นการเกี้ยวพาราสีร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิงแต่ทำนองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนขับลำถิ่นอื่น ผมเคยไปนั่งฟังในงานบุญผะเวดวัดศรีบุญเฮือง เสียดายที่คนหนุ่มสาวชาวหงสาทุกวันนี้ไม่มีใครลำได้เลย คงเหมือนกับซอของล้านนาที่นับวันนับหายไปกับกาลเวลา จะดิ้นรนไปหาพ่อครูแม่ครูขับลำ “อ่านหนังสือ” อัดเสียงมาเปิดในฐานความรู้คงจะดีไม่น้อย นอกจากขับลำอ่านหนังสือแล้ว ขับลำท้องถิ่นในเมืองหงสายังมี ขับลื้อบ้านเวียงแก้ว ขับลำขมุที่เคยได้ยินที่บ้านห้วยเยอ ขับลำชาวลั๊วะบ้านกิ่วม่วง ขับชาวม้งบ้านดอนใหม่ ขับชาวเมี้ยนบ้านนาบ่าโลน และขับทุ้มหลวงพระบาง ก็จะขวนขวายหาทางบันทึกเสียงมาเปิดให้น้องน้อยได้มีโอกาสได้ฟัง หากใครฟังแล้วสามารถมาแสดงหน้าชั้นให้คนอื่นชมได้ก็จะมีรางวัล

ในส่วนการฟ้อนรำวงลาว น่าจะเป็นส่วนสนุกสนานส่งท้าย ว่าจะเกณฑ์เอาสาวๆหนุ่มๆทีมงานมานำน้องๆฟ้อนรำวงให้ถูกต้องตามแบบรำวงมาตรฐานของลาวสักหนึ่งเพลงพร้อมรับของที่ระลึก ก่อนจะปล่อยออกไปเรียนรู้ในฐานต่อไป

สุดท้ายมีเวทีรวมแข่งตอบปัญหาที่น้องๆเก็บเกี่ยวจากฐานความรู้ทั้งหมด ประกาศผลการประกวดวาดรูป มอบรางวัลเป็นเสร็จพิธี

มาร่วมกันปลูกต้นไม้เมืองหงสา มาช่วยกันคบเด็กสร้างเมืองกันไหมครับ    


ต่างคิด คิดต่าง

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 29 เมษายน 2012 เวลา 1:05 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1213

 

วิหารในวัดของพี่น้องชาวลื้อมีเอกลักษณ์ของตนเอง แม้มิได้งดงามวิจิตรอ่อนช้อยอย่างฝีมือช่างหลวง แต่ผมก็หลงเสน่ห์จนแทบจะหยุดชื่นชมอย่างพินิจได้เป็นวันๆ

ผมชอบทรงหลังคาไม้แป้นเกร็ดลดหลั่นเป็นชั้นๆที่คลุมตัววิหารแทบมิดชิด ถ้าจำไม่ผิดภาษาช่างท่านเรียกว่าหลังคาวิหารแบบตุ้มปีก(รึเปล่า?) ชอบเสาไม้เปลาตรงสวยขนาดใหญ่ ชอบพระประธานปูนปั้นฝีมือท้องถิ่นที่ก่ออิฐรอบแกนไม้ดู่แล้วจึงขึ้นรูปองค์พระภายหลัง ชอบตุงหลากหลายผืนที่ห้อยแขวนระโยงภายใน ชอบหัวเสาที่ตกแต่งแปลกตา ชอบระเบียงคตรอบตัววิหาร ชอบแม้กระทั่งรูที่เจาะไว้ตรงหน้าอาสนะตุ๊เจ้า และแถวๆริมเสาเอาไว้เป็นที่กรวดน้ำ

เป็นความชอบส่วนตัวที่อาจจะไม่ตรงกับใจของพี่น้องชาวบ้านเจ้าศรัทธาเท่าใดนัก เนื่องเพราะเราเป็นเพียงคนนอกเมื่อพบเห็นของเก่าที่หายไปจากบ้านเมืองตัวเองแล้วก็เกิดหวงแหนอยากเก็บรักษา (ทั้งๆที่ในบ้านตัวเองก็ไม่มีปัญญาเก็บรักษา)

เมืองหงสามีวิหารทรงลื้ออยู่ทั้งหมดสามแห่งด้วยกัน

วิหารบ้านนาทรายคำ วิหารนี้อย่างไรก็ไม่อาจเก็บไว้ ต้องไปสร้างที่ใหม่ จารย์เปลี่ยนได้รับมอบหมายให้ออกหน้าไปเจรจาเรื่องแบบของวิหารใหม่ ฮีตชาวลื้อท่านบอกว่าต้องให้ขนาดใหญ่กว่าเดิม กว้างกว่าเดิม สูงกว่าเก่า ต้องทำพิธีสูดถอนสามวันสามคืน ทางเราก็ไม่ขัดข้องเป็นเจ้าภาพทั้งจัดการทุกอย่างตามที่เฒ่าแก่แนวโฮมท่านบอกกล่าว สรุปแล้วคือ พี่น้องพอใจ และดีใจที่จะได้วิหารใหม่ แต่ผมเองแอบขัดใจอยู่บ้างตรงที่คุยกันเรื่องแบบก่อสร้าง ห้าครั้งหกคราวที่ไปเปิดกองประชุมปรึกษาหารือกับคณะบ้าน ที่ประชุมท่านคงนึกรำคาญอีตาจารย์เปลี่ยนผีบ้า ที่เฝ้าเสนอให้ยึดแบบเก่ารูปทรงเก่าแบบฮีตลื้อคือหลังคาแบบปีกตุ้มและมีระเบียงคต แต่เจ้าบ้านท่านก็อยากได้แบบประยุกต์เอาแบบวัดชาวลาวลุ่มหลวงพระบาง หลังคาก็ตัดสั้นลงเปิดเห็นฝามากขึ้น ตอนนี้วิหารใหม่สร้างเสร็จแล้ว ก็งดงามตามใจที่พี่น้องอยากได้ จะขัดใจก็ตัวข้าพเจ้านี่แหละ

วิหารวัดบ้านโพนจัน หลังเล็กๆแต่เครื่องไม้งดงามมากคุณค่า ผมเคยไปถวายเทียนพรรษาสองสามปี วิหารนี้ผมก็ปกป้องทั้งทางตรง และทางอ้อม พยายามส่งข่าวทักท้วงทีมงานออกแบบถนนให้เปลี่ยนแนวเส้นทางไม่ให้ผ่านวัดและวิหาร ทั้งยังเปรียบเทียบให้บรรดาท่านดูว่าย้ายแนวถนนเปลืองเงินน้อยกว่าย้ายวัดและวิหารหลายเท่าตัว(นาเฟ้ย ฟ่อ ฟ่อ ขู่แถมไปด้วย) ทีมงานก็ใจดี๊ ใจดี ปรับแนวถนนใหม่หลบเขตวัดห่างออกไปร้อยกว่าเมตร …แต่ว่ารื้อแล้วครับ ปรากฏว่าพี่น้องรื้อแล้วครับ ยังไม่ทราบเหตุผลกลใดยังไม่ได้เข้าไปถาม แต่เห็นใบบอกบุญเชิญบริจาคกระเบื้อง ปูนซีเมนต์ บานประตู ลูกกรงแก้วมาแล้ว ก็เข้าใจพี่น้องดีว่าของเก่าผุพังหลังคารั่ว และเป็นสิทธิ์ของพี่น้องสิบซาวชาวบ้านท่าน แต่ก็แอบเสียดาย

วิหารบ้านเวียงแก้ว รื้อแล้วเหมือนกันครับ ท่านบอกว่าสร้างผิดแบบ หันหน้าไปทางตะวันตก หลังคารั่ว ปลวกกินไม้ ได้แต่หวังว่าพี่น้องจะสร้างใหม่โดยรักษารูปทรงเดิมแบบชาวลื้อ เชื่อมั่น แน่ใจว่าท่านจะทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม แต่เป็นแบบวิหารชาวลื้อ ถ้าไม่ทำนะ จะโกรธจริงๆด้วย   


ซะป๊ะแมง

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 21 เมษายน 2012 เวลา 4:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2654

จี้กุ่ง (จินาย) จั๊กแต๋น จั๊กแต๋นข้าว แมงจอน แมงเหนี่ยง แมงแม่ฝน แมงนูน จิ้งฮีด และมีอีกหลายแมงในภาพที่ไม่อาจจำแนกได้ ชาวหงสาเรียกแมงที่กองรวมๆกันอย่างที่เห็นว่า แมงมะยุมะยะ แต่ชาวยวนล้านนาว่า ซะป๊ะแมง แมลงอยู่ในห่วงโซ่อาหารของคนบ้านทุ่งบ้านป่ามานานเนิ่น  แต่สำหรับผมที่จากทุ่งมาเป็นคนเมืองได้พักใหญ่พอได้กลับมาอยู่บ้านป่าอีกครั้งกลับทำเป็นดัดจริตกินแมงไม่เป็น กินแบบกล้าๆกลัวๆ

ตัวอย่างของแมลงที่เป็นอาหารยอดนิยมมีดังนี้

จำพวกที่อยู่ในดิน เช่น

  • ๑. แมงมัน ลูกแมงมันที่เวลาไปเก็บมีแม่ตัวเล็กเกาะมากัดคนเก็บเจ็บแสบนัก ไข่แมงมันจ่อมกลายเป็น “ของบ่เขียมหายาก” เดี๋ยวนี้ขีดละร้อย ตกเข้าไปกิโลละพันบาท
  • ๒. แล้วยังมีจิ้งโกร่งหรือจี้กุ่งที่มีหลายวิธีการที่จะได้มา ขุด หล่อน้ำ ส่องไฟ
  • ๓. ขี้เป้า ลูกเปตองใต้ดิน ลู้บะขี้เป้า แกงชะอมใส่ขี้เป้า
  • ๔. ขี้หลอบ กุดจี่ ขี้ควาย เอาชนกัน เอาใส่แกลบก่อนกิน วิ่งจองกองขี้ควายยามเช้า ล่อขี้หลอบ
  • ๕. อี่บึ้ง ชิมที่แผงขายผลไม้ในเขมร เกือบเหมือนแมลงแต่เป็นแมงมุม
  • ๖. แมงเม่าจี่แมงเม่า กับตะเกียงน้ำมันก๊าส อ่านหนังสือยามค่ำ

จำพวกอยู่บนต้นไม้

  • ๑. มดส้ม มดแดงแรงฤทธิ์ ตากถาดไล่แม่มดส้ม
  • ๒. แมงนูน แมงนูนหลวง แมวหวาดชอบกินแมงนูน
  • ๓. กว่าง ไม่ใช่อาหาร แต่มากมายเรื่องราวอยากเล่า กว่างในก๋วยสลาก
  • ๔. จั๊กแต๋นข้าว แมงมันข้าว ปาทังก้าจากเขมร วิธีล่อแมลงที่กำปงโธม
  • ๕. จั๊กขุ กุ้งบกในเตาถ่านร้าง แมงหมานี ข่าวร้ายหนีข่าวดีใกล้
  • ๖. จักจั่น ไข่จั่น ติดจั่น ผิวปากอิ๊กๆล่อจั่น ยางขนุน ติดจั่นที่ชายหาดน้ำแตง
  • ๗. แมงแคง ชิมแมงแคงวันรถชน
  • ๘. ด้วงหน่อ ด้วงไผ่ ตัวไหม

จำพวกอยู่ในน้ำ

  • ๑. อี่เนี้ยว เนี่ยวจีด เลี้ยงในไข่แล้วทอด
  • ๒. แมงเหนี่ยง แมงแตป เครื่องส้อนน้ำพริกโยะ
  • ๓. แมงดา แมงกั้นเยี่ยว
  • ๔. กะปู ไม่ใช่แมงแต่อยากเขียนถึงวิธีทำน้ำปู ปูมอก ปูอ่อง

จำพวกมีเหล็กไน

  • ๑. ต่อ แม่เลี้ยงตับต่อ หาหน่อไร่เจอตัวต่อไล่ ต่อนอนเวนที่หงสา แตน เหยื่อตกเบ็ด
  • ๒. ผึ้ง มิ้ม โกลนผึ้งของพ่อ

Keyword ท้ายชื่อแมลงแต่ละชนิดเป็นเรื่องราวที่เด็กบ้านป่าได้ผ่านพบ หากไม่เห็นรูปแมงมะยุมะยะที่ถ่ายจากตลาดเช้าเมืองหงสา ก็คงจะลืมเลือนไปตามวัย เอาไว้หากมีเวลาและมีไฟ จะเขียนเล่าให้อ่าน เอาให้ม่วนงันเหมือนนิยายเด็กบ้านทุ่งของอ้ายมาลาทีเดียว หวังว่า…เนาะครับ

 


สวนป่า น่าลองน่าเรียนรู้

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 เมษายน 2012 เวลา 5:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1765

 

มีอะไรน่าทำ มีอะไรให้ทำอีกเยอะมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆที่สวนป่า

เป็นข้อสรุปที่แทบไม่ต้องใช้เวลาไตร่ตรอง ฟันธงได้ตั้งแต่ก้าวลงจากรถเดินได้เพียงสามก้าว

นั่นเป็นเพราะหมากผลที่เกิดจากการลงแรงของพ่อครูบามากว่าหลายสิบปี ที่ท่านได้พลิกฟื้นจากผืนดินที่เสื่อมโทรมแปนเอิดเติด จนกลับกลายมาเป็นป่าดกรกครื้มป่าไม้ดงหนา

ผมไม่รู้จักต้นไม้มากชนิดนัก จึงไม่อาจพรรณนาจารนัยชนิดของไม้ป่าที่มีอยู่ในสวนป่าได้ แต่เท่าที่ได้เห็นพุ่มหวายที่ขึ้นเป็นไม้พื้นล่างแตกกออยู่ทั่วไปตามโคนต้นไม้ใหญ่ เท่านี้ก็เป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

ชีวนานาพันธุ์ หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าความหลากหลายทางชีวภาพในสวนป่า ปรากฏกายให้เห็นตั้งแต่ปากทางเข้าสวน ผมเห็นเจ้านกหัวขวานตัวงามเดินเล่นบนทางอย่างอ้อยอิ่งจนกระทั่งรถแล่นเข้าใกล้จึงค่อยโผบินขึ้นบนคบไม้

เห็ดป่า จำพวกเห็ดละโงก เห็ดโคน ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า บรรดาลุงป้าที่ช่วยงานในสวนป่าเก็บไปขายได้ปีละหลายหมื่นทีเดียว อีกทั้งพี่น้องชาวบ้านใกล้ก็พากันยกโขยงมาเก็บเห็ดไปใส่หม้อแกง  นี่ก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีบ่งชี้ถึงการพึ่งพาเกื้อกูลกันของเจ้าเชื้อเห็ดกับรากต้นไม้ถึงได้เกิดดอกเห็ดมาเลี้ยงดูให้ผู้คนได้อิ่มท้อง

หลังจากได้เดินลัดเลาะชมสวนป่า ผ่านดงต้นลำดวน ผ่าน”ร่องน้ำ”เล็กๆขนาดคูเมืองโบราณที่ครูบาท่านบัญชาการให้ขุดเตรียมดักน้ำฝน ไปหาแปลงปลูกต้นเอกมหาชัย ไปดูน้าอามสับใบไม้เลี้ยงวัวที่คอก แล้วไปยืนเง้ออยู่ริมรั้วตรงที่เลี้ยงแพะในป่า(ตามที่ฝรั่งตั้งชื่อไว้ว่า เป็นวนเกษตรแบบ silvopasture)  และได้ร่วมวงสนทนากับหลายท่านแล้ว

ผมตระหนักได้ว่าว่าสวนป่า มีหลายอย่างให้เรียนรู้อีกมากมาย สวนป่าสามารถเป็นโรงเรียน เป็นวิทยาลัย เป็นมหาชีวาลัยให้กับคนใผ่รู้ได้มากมายหลายเรื่องราว สมกับที่พ่อครูเรียกว่า เป็นยาขมหม้อใหญ่

นั่นเป็นเพราะ ต้นทุนที่เกิดจากที่พ่อครูได้ตระเตรียมลงแรงลงทุนไว้

ลองมาไล่เรียง ถึงต้นทุนที่มีอยู่ในสวนป่า ว่าจะสามารถต่อยอดถอดบทเรียนมาเป็นองค์ความรู้ในทางใดได้บ้าง เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนข้อแม้ว่า ต้องไม่รบกวนวิถีของสวนป่า หรือแนวคิดในการพึ่งพาตัวเองแบบพอเพียงยั่งยืน ต้องไม่ทำให้สมดุลและสภาพความสมบูรณ์ของธรรมชาติเสื่อมถอยตามคอนเซปท์ permaculture  ของท่านผู้ก่อตั้งหมู่บ้านโลก

  • ขี้วัว เอามาทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพไว้ต้มหุง คนที่สร้างบ่อเป็นนั้นมีแล้ว ถามพี่บางทรายได้ กากที่ได้จากบ่อหมัก (Sludge) สามารถเป็นปุ๋ยได้โดยที่ประสิทธิภาพในการบำรุงดินไม่ได้ลดลงเลย งานนี้ผมทำวิจัยมากับมือตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่โรงเรียนเกษตรมอชอ
  • ผักป่าหลายชนิดที่เฝ้าเสาะหามานานปีตั้งแต่สมัยที่อยู่กับพี่น้องโส้ดงหลวง จนมาขายความคิดไว้กับพี่น้องหงสา เกี่ยวกับการทำผงนัวจากใบผักธรรมชาติ พี่น้องหลายกลุ่มที่สนใจอยากทำ แต่ก็ติดอยู่ที่ขาดผักชนิดนั้นบ้างชนิดนี้บ้าง ก็เลยไม่สำเร็จสักที แต่ที่สวนป่านี่ผมเดินเลาะดูแล้ว หากคิดจะชวนป้าสอนกับแม่หวีลงมือทำผงนัวแค่ถือตะกร้าเดินผ่านสวนป่าก็ได้ผักแทบทุกชนิดมาเฮดผงนัวได้ทันที ตัวอย่างผักที่จะใช้ผลิตผงนัว เช่น ผักกานตง ส้มพอดีหรือใบชะมวง ผักหวานบ้าน ใบบักเขียบ ใบหม่อน ผักโขม บักอึ ผักแป้น ยอดมะรุม ยอดมะขาม ใบหม่อน และอีกหลายๆผัก
  • นั่งเล่นที่ลานไผ่ ต้นสะเดาที่ถือเป็นพี่ใหญ่แห่งบรรดามวลต้นไม้ในสวนป่า ทยอยทิ้งผลสุกสีเหลืองแกมเขียวลงมาเกลื่อนพื้น หวนนึกถึงตอนที่ชวนพี่น้องปลูกผักปลอดสารเคมี สมัยนั้นหาเมล็ดสะเดามาทำสารไล่แมลงหายากหาเย็น บางครั้งต้องไปซื้อที่เขาทำใส่ขวดแปะสลากสวยๆตีตรายี่ห้อขายลิตรหนึ่งตั้งหลายร้อยบาท ที่สวนป่ามีเมล็ดสะเดาปีหนึ่งๆร่วมตัน น่าคิด อีกทั้งบริเวณข้างเรือนนอนมีต้นมะเดื่อออกลูกเต็มต้นน่าเอามาลองวิชาหมักทำฮอร์โมนไว้ใช้บำรุงผลน้ำเต้าเผื่อจะลูกโตเท่ากระบุง
  • ต้นเอกมหาชัยโตวันโตคืน อีกไม่กี่ปีน่าจะติดดอกออกผล ว่ากันว่าเมล็ดเอามาสกัดน้ำมันได้คุณภาพสูงทัดเทียมกับน้ำมันมะกอกทีเดียว อยากเห็นอยากสกัดอยากชิมน้ำมันเพื่อสุขภาพจากต้นเอกมหาชัย
  • ย้อนกลับมาที่คอกวัวที่อ้วนพีดีงามด้วยใบไม้สับฝีมือน้าอามด้วยสูตรที่พ่อครูได้ริเริ่มมาจนเห็นผลเชิงประจักษ์ เรื่องนี้ผมเอาไปโฆษณาที่ไหนใครได้ยินเข้าก็ตาโต ท่านเจ้าเมืองถึงกับออกปากว่าจะเชิญให้ท่านมาสอนคนที่นี่ แต่ผมเรียนท่านไปแล้วว่าอยากรู้ก็ต้องไปดูเอง อยากจะมีการถอดบทเรียน มีคนไปตามน้าอามช่วยน้าอามแล้วจดบันทึกไว้ว่าวันๆน้าอามไปตัดใบอะไรมาสับให้วัวกินบ้าง ฤดูไหนกินใบอะไร แล้วจัดเป็นชุดความรู้ไว้ให้ลูกหลานที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ผลลัพธ์ทางอ้อมบ้านเราจะมีคนปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอีกมีมากก็น้อย
  • พ่อครูคุยเรื่องปลูกถั่วลิสงที่โคนต้นอินทผาลัม ผมเคยเห็นดินในเขตเงาฝนหลังดอยอินทนนท์ ที่ห้วยทรายขาว จอมทอง ที่ผมเคยไปฝึกงานสมัยโน้น ก็ไม่ได้ดีไปกว่าที่สวนป่า แถมฝนก็ตกน้อยเพราะเป็นเขตเงาฝน แต่จำได้ว่าเขาปลูกถั่วลิสงได้ดีพอสมควร จึงน่าจะลองปลูกที่สวนป่าได้หากเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสมกับช่วงฝนตก
  • แม่หวีบอกว่าปีหน้าจะลงต้นบุกให้เยอะๆ ผมว่าก็น่าคิดถึงการแปรรูปหัวบุก ตามที่เคยกินมังสวิรัติเป็นพักๆ เข้าไปมุมอาหารเจบ่อยๆ เห็นเขาทำอาหารกึ่งสำเร็จ หรือเส้นกว๋ยเตี๋ยวจากผงบุกซื้อมาราคาไม่ใช่ถูกๆ กินบุกแล้วดีมีประโยชน์ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด อาหารควบคุมน้ำหนักหลายชนิดผลิตจากแป้งหัวบุก ครูปูจะผอมก็คราวนี้แหละ
  • หมากหวด ผลไม้ป่าเมื่อปีกลายสวนป่าเก็บได้หลายร้อยกิโล ทำเป็นน้ำเชื่อมน้ำหวานน้ำไวน์ทำแยมกันไม่หวาดไม่ไหว หากปีนี้ติดผลดกอีก ผมว่าลองติดต่อกับเครือข่ายพี่น้องผมแถวๆภูพานที่ทำน้ำเม่าไวน์หมากเม่าหลวงจนได้ได้เสริฟบนโต๊ะอาหารคราวที่ผู้นำนานาชาติมาประชุมบ้านเรา ตอนนี้ได้ข่าวว่ามีการพัฒนาเป็นน้ำสกัดเข้มข้นเหมือนที่ขายในห้างอีกด้วย ย้อนกลับมาที่หมากหวดสวนป่า สามารถต้มเคี่ยวใส่ถังน้ำดื่มไปใช้บริการเครื่องของเขาในราคามิตรภาพ เราก็จะได้น้ำหมากหวดบรรจุขวดเล็กเก็บไว้ได้นานค่อนปีโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น
  • ส่วนเรื่องแพะที่เลี้ยงแบบล้อมรั้วให้อยู่ในป่านั้น เคยเห็นสวนอ้ายศรีทะนงที่วังเวียง เพิ่นเลี้ยงแพะนม หากมีโอกาสน่าจะลองเปลี่ยนแพะที่สวนป่ามาเป็นแพะนมบ้าง หากได้ผลดีจะได้เผยแพร่แบ่งปันลูกแพะให้พี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงเอาไปเลี้ยงเด็กจะได้กินนม ที่สวนอ้ายศรีเพิ่นปั่นเนยจากนมแพะด้วยครับ นมแพะดี ลูกแมวกำพร้าตัวเล็กๆ หากเลี้ยงด้วยนมแพะละก็รอดทุกตัว
  • เกือบลืม แผนหลอกเห็ดละโงกสวนป่า ผมว่าลมฟ้าอากาศเดี๋ยวนี้มักจะแปรปรวนไม่ต้องตามฤดูกาล ตอนที่ไปแวะตลาดสะตึกเห็นเห็ดละโงกวางขาย นึกเอะใจว่านี้เราหลงลืมฤดูเห็ดไปแล้วหรือ สมัยก่อนต้องช่วงต้นฝนจะได้กินเห็ดเผาะก่อน หลังจากนั้นช่วงกลางพรรษาถึงจะได้กินเห็ดใบ คุยกับพ่อครูว่าเห็ดเดี๋ยวนี้ก็ออกผิดฤดู กระไหนเลยเรามาหลอกเห็ดกันดีกว่า เห็ดนางฟ้าที่เพาะในโรงเรือนยังหลอกมาแล้วเห็ดที่สวนป่าจะซักเท่าไหร่เชียว หากทำเห็ดละโงกออกนอกฤดูได้ละก็ น่าคิด น่าคิด

 

ไอ้กระผมก็เป็นซะอย่างงี้แหละครับ ทำงานพัฒนาอาชีพให้พี่น้องมาจนเสพติดเข้าไปในกระแสเลือด หายใจเข้าออกก็มีแต่แผน วาดฝันไปเรื่อยๆ บอกคนโน้นแนะนำคนนี้ (แต่ไม่เคยลงมือทำกิจการของตัวเองจริงๆจังๆสักที)ได้ผลบ้างเหลวบ้าง ดีที่สังคมไทยสังคมลาว มีความเกรงใจกันสูง หากอันไหนได้ผลพี่น้องก็ชื่นชมยกย่อง หากอันไหนไม่เป็นท่าพี่น้องก็แค่ไม่ทำต่อ จึงทำให้ย่ามใจคิดการใหญ่สร้างฝันไว้ที่สวนป่า ที่ไปที่มาจึงมีด้วยประการฉะนี้

หมู่บ้านโลกกดปุ่มเดินหน้า หากโครงฝันที่วาดไว้ข้างบนสามารถเสริมกับแนวทางของหมู่บ้านโลก ซึ่งยึดหลัก “permaculture และหาทางคืนอะไรให้สังคมบ้าง”

ก็คงจะดีมิใช่น้อย      


พืชต่างถิ่น

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 มีนาคม 2012 เวลา 1:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1926

แหม่ม โมนิกา ชาวเยอรมัน เป็นนักธุรกิจชาวฝรั่งคนเดียวในเมืองหงสา แหม่มมาเช่าบ้านเปิดเป็นเรือนพัก บริการแขกที่ชอบท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติประเภทขี่ช้างและเดินป่า

โมนิกา ไปอย่างไรมาอย่างไรถึงมาอยู่หงสาก็ไม่ทราบได้ น่าจะมากับเพื่อนฝูงนักพัฒนาที่มาในฐานะเครือข่ายองค์กรช่วยเหลือสากลของเยอรมนี เพื่อนฝูงหมดโครงการหรือย้ายไปบ่อนอื่น จึงเห็นมีแต่เธอผู้เดียว เธอมีชื่อสำรองว่า สติ๊กกี้โมนิกา แปลว่าโมนิกาขี้ตืด ข้อนี้ผมว่าอาจจะมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของชาวลาวชาวไทยที่ไม่เหมือนกับชาวตะวันตก ทำให้ถูกมองว่าเธอเป็นคนประเภทนั้นไปก็ได้ แต่ตามที่เขาเล่าลือกันมาว่าหล่อนพาแขกหกเจ็ดคนไปงานดอง ใส่ซองน้อยเดียวแล้วพากันกินเต็มอิ่ม แถมซดเบียร์หมดเป็นลังๆ ตามประสาฝรั่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงจะสติ๊กกี้จริงๆ

กับผมแล้ว โมนิกาก็ไม่ถึงกับขี้ตืด (หรืออาจเพราะเจอตังเมอย่างผมเธอเลยต้องถอย ฮ่าๆ) เจอกันก็ทักทายกันตามถนนหนทาง เป็นเพราะทำท่าทางว่าคุยภาษาปะกิตกับแหม่มแล้วเข้าใจว่าเข้าใจที่เธอพูด บางทีหมาเธอไปกัดแบ้ชาวบ้านก็ช่วยไปแปลภาษาให้ อะไรประมาณนั้น เธอสอนทำโปเตโตสลัดแล้วชวนกินข้าวเย็นสองสามครั้ง ส่วนผมก็เอามันฝรั่ง กับมะเขือเทศที่ปลูกในหงสาไปให้เธอชิมบ้างเป็นการตอบแทน

เมื่อปีกลายเธอกลับจากเยี่ยมบ้านที่เยอรมัน เอาเมล็ดผักมาฝากผม ๒ ซอง

(รูปสุดท้ายนี้จากอินเตอร์เนตเพื่อเปรียบเทียบกับเรดดิชหงสาข้างบน)

อย่างแรกเป็นหัวเรดดิช เอาไปปลูกที่สวนท้าวสมจิต เจ้านี้ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีมาหลายปี อ่านข้างซองกะบ่ออก อาศัยเคยเห็นเจ้าจิตเคยปลูกแครอทคงจะเหมือนๆกันกระมัง ปลูกแล้วก็ลืมๆไป ปรากฏว่าผ่านไปสองเดือนได้ผลตามรูปนั่นแหละครับ กลายเป็นเรดดิชประหลาดหัวโตกว่าที่ปลูกเมืองฝรั่งสามเท่า เอาไปให้โมนิกาดูหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ชิมดูแล้วไม่หวานกรอบเหมือนทั่วไป อาจเป็นเพราะปล่อยไว้จนแก่เกินไป ปกติเจ้าหัวนี่ปลูกแค่เดือนเดียวก็กินได้แล้ว ตกลงเรดดิชซองนั้นก็เลยไปไม่รอดในหงสา

 

ซองที่สอง เป็นไปกะเพราะฝรั่งชื่อ บาสิลิกา หน้าตาเหมือนโหระพา แต่กลิ่นแปลกต่าง อันนี้ผมหาดินใส่ถุงปุ๋ยมาวางหน้าบ้านแล้วปลูกเอง ส่วนหนึ่งแบ่งให้แม่บ้านชาวบ้านแท่นคำปลูก ต้นโหระพาฝรั่งนี้น่าจะแพร่พันธุ์ได้ดีในหงสา ต้นที่ปลูกในถุงหน้าบ้านเห็นแหม่มเธอแวะเวียนมาเด็ดไปใส่ผัดมักกะโรนี สะปาเกตตี้อยู่ตลอด ส่วนที่แม่บ้านปลูกนั้นก็เห็นเด็ดยอดมาวางขายที่ตลาดเช้าอยู่ไม่ขาด

 

ถือเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งในการแนะนำสิ่งแปลกใหม่ให้กับชุมชน

 

 


คำแช่งจากท่อนซุง

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 29 กุมภาพันธ 2012 เวลา 2:53 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2547

ตัดต้น โค่นกู จนเป็นซาก

ฉุดกระชาก ชักลาก จากป่าใหญ่

พวกกาฝาก ของดาวโลก พวกจัญไร

ให้บรรลัย ดินพัง น้ำถั่งท่วม


หมู หมา (กา) ไก่

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 กุมภาพันธ 2012 เวลา 3:15 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2665

 

ผมนี่ท่าทางจะเอาดีทางส่งเสริมการเลี้ยงหมูไม่ได้

สมัยอยู่กับพี่น้องดงหลวง ควักกระเป๋าซื้อ อะลิกกอน อะลิกกัน (ภาษาโส้แปลว่า หมูหน้อยตัวผู้ กับหมูหน้อยตัวเมีย) ให้ลุงพุคู่หนึ่งตั้งใจว่าจะทำคอกเลี้ยงหมูหลุมเอาไว้อวดชาวบ้าน แถมรำอีกหนึ่งกระสอบ ลุงพุก็แสนดี สร้างเล้าหมูงามกว่ากระต๊อบเจ้าของเสียอีก เที่ยวหาผักหาบอนมาต้มให้กิน อยู่มาได้สักพักกำลังจะไปได้สวย ลุงพุไม่สบาย หมูก็เริ่มจ่อย สุดท้ายเลยต้องกระซิบให้หลานชายเพิ่นขายออก เกรงใจลุงเพิ่นจะรีบออกไปหาผักมาให้หมูทั้งๆที่ยังไม่หายดี

มาอยู่หงสาปีแรกๆ ยังไม่เลิกล้มความฝันเรื่องหมูหลุม ออกตังค์ซื้อหมูหน้อยมาให้ลูกน้องคนสนิทเลี้ยงหมูหลุมอีก คราวนี้ดีขึ้นมาหน่อยที่มีผู้สมทบทุนค่าลูกหมูคนละตัว ไม่ต้องออกเองทั้งสอง เลี้ยงแบบหมักใบไม้ใบปอสาผสมอาหารให้กินด้วย แรกๆก็ดูจะโตวันโตคืน ต่อมาก็เริ่มจ่อย ไม่กินข้าว ศรีภรรยาของลูกน้องเกิดอาการเหม็นอาหารหมักสูตรพิเศษเพราะกำลังแพ้ท้อง ก็จำเป็นต้องยุติความฝันเรื่องหมูหลุมรอบที่สอง เอวัง.. อันที่จริงก็เกือบพลาดไปดึงดันเคี่ยวเข็ญให้เขาเลี้ยงต่อ แต่ได้สัมผัสความอึดอัดของคนเลี้ยง ว่ามีอะไรบางอย่างในใจแล้วสื่อออกมาทางหน้าตา สืบไปซักมา ถึงได้ยอมบอกว่า ชาวหงสาเขาถือกันนักหนา(คะลำ)ว่าหากตั้งครรภ์แล้วห้ามเลี้ยงหมู หากคนไหนเลี้ยงถ้าไม่เสียลูกในท้องก็หมูจะตาย เขาเชื่อกันอย่างนั้น

ล่าสุดนี่ การเลี้ยงหมูหลุมที่ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมครบวงจรที่ทำร่วมกับเมือง โครงการเลี้ยงหมูหลุมได้ทำตามลำดับขั้นตอน การคัดเลือกพันธุ์ที่มีใบรับรองจากฟาร์มเมืองไทย การส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกงาน เอาวิทยากรจากกสิกรรมแขวงมาควบคุมการสร้างคอก มีพนักงานดูแลคอกประจำ แต่จนแล้วจนรอด ถึงคราวเคราะห์เกิดโรคไวรัสหมูหูก่ำหูม่วงร่วงผล็อยไปหลายตัว ต้องยุติการขยายพันธุ์เพราะท่านบอกไว้ว่าโรคนี้ติดต่อทางกรรมพันธุ์ แถมยังพบว่าการเลี้ยงหมูหลุมหากไม่ระวังเรื่องระดับน้ำใต้ดิน และการระบายน้ำในดิน(internal drainage)ให้ดีละก็ หมูจะมีโอกาสเป็นโรคระบบทางเดินหายใจสูง

ว่าไปแล้ว การเลี้ยงหมูหลุมก็เป็นเทคนิคที่ได้ผลสำหรับหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีผู้คนค่อนข้างหนาแน่น เพราะ สามารถลดกลิ่น แปลงขี้หมูเป็นปุ๋ยชีวภาพไปในตัว และเขาว่ากันว่า เนื้อหมูหรือคุณภาพซากจะดีกว่าเพราะหมูจะอยู่ในที่ๆอุ่นๆ(จากการย่อยสลายตัวของปุ๋ยหมักคือขี้หมูกับแกลบที่รองพื้นคอก)ทำให้ไขมันละลาย เขาว่ากันอย่างนั้น

แต่หากท่านใดอยากทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพที่ใช้หุงต้มแล้ว การเลี้ยงหมูต้องเลี้ยงในคอกซีเมนต์ยกระดับพื้นคอกสูงเพื่อสามารถฉีดล้างมูลสุกรลงไปในถังหมักได้ง่าย ในกรณีนี้แล้วการเลี้ยงหมูหลุมย่อมเป็นไปไม่ได้

ทั้งนั้นทั้งนี้ วิธีการเลี้ยงหมูก็ต้องให้เหมาะสมกับสิ่งอ้อมข้าง หากจะให้พี่น้องเขตภูดอยมาขุดขุมเอาหมูมาขังเลี้ยงไว้ คงไม่มีใครยินดีเป็นแน่ ก็แกลบรำหาง่ายเสียที่ไหน ก็บรรดาท่านคุ้นเคยกับการเลี้ยงหมูกี้ปล่อยให้หากินตามใต้ถุนลานบ้านป่าละเมาะ พอตกเย็นก็เคาะรางโป๊กๆเรียกหมูกลับมากินอาหารวันละคาบก็พอ

แค่เรื่องหมูๆ ยังไม่หมูเลยลุงเปลี่ยน

แล้วที่นั่งวาดฝันไว้ว่าจะกลับบ้านไปปลูกผัก เลี้ยงควาย คงไม่เป็นเหมือนโครงการหมูๆที่ผ่านๆมา ตื่นเต้นจนทนรอแทบไม่ไหว คริ คริ


ขันแก้วตังสาม

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 26 มกราคม 2012 เวลา 4:43 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2971

ขันแก้วตังสาม เป็นภาษาคนยวน หรือคนล้านนา

ขัน แปลว่าพาน แก้วตังสาม แก้วสามประการ พระรัตนตรัย

ภาพถ่ายจากวัดพระธาตุเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยบุรี

ฮีตคนยวนเวลาไปวัด นอกเหนือจากข้าวเหนียวนึ่งใหม่ๆ อาหาร ข้าวหนมข้าวต้มแล้ว ท่านจะมีดอกไม้ธูปเทียนและข้าวตอกใส่พานไป

ถอดรองเท้าไว้นอกกำแพงวัด เดินเท้าเปล่าเข้าไปบนวิหาร สิ่งแรกที่ทำหลังจากกราบพระคือ ใส่ขันดอกไม้ คือเอาดอกไม้ธูปเทียนใส่ในขันแก้วทังสาม บางแห่งก็แบ่งดอกไม้ไปวางบนฐานพระประธาน วางบนแท่นธรรมาส์นนัยว่าบูชาพระพุทธ พระธรรม ส่วนดอกไม้ในขันแก้วทังสามนั้นสำหรับประเคนบูชาพระสงฆ์

พระธาตุเชียงลม เป็นพระธาตุเก่าแก่ ตามเอกสารการท่องเที่ยวของเมือง ท่านบอกไว้ว่าสร้างโดยชาวพม่าในปี พศ ๑๓๐๔ มีอายุกว่า ๑๒๐๐ปี ปัจจุบันมีสภาพใกล้เคียงกับพระเจดีย์หลวงเชียงใหม่สมัยก่อนบูรณะ

ถึงแม้จะไม่สะอาดตา แต่ก็มีคุณค่าน่าอนุรักษ์


กะแสน

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 24 มกราคม 2012 เวลา 4:24 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1832

หาวิธีทำให้ภาพไม่ชัดอยู่ตั้งนาน เอาแบบที่ทำได้ข้างบนก็คงจะนำเสนอภาพไม่ให้บาดตาป้าๆมากจนเกินไป

ที่ตลาดเช้าเมืองที่ผมอยู่ หากตื่นสักตีสี่ตีห้าไปเดินดู บางทีก็จะพบของแปลกๆ

ในรูปนั้น เป็นท่อนเนื้อของ ชรายุ (เคยอ่านนิยายท่านเรียกเป็นภาษาแขกให้งดงามว่าอย่างนั้น) ชรายุ แปลว่าผู้ไม่แก่ชรา เพราะลอกคราบได้

แต่พี่น้องชาวโส้ดงหลวงของผม เรียกว่า กะแสน

คิดถึงความหลังเมื่อครั้งไปกินนอนทำสวนผักที่ห้วยบางทรายดงหลวง ห่อข้าวไปกินกับพวกลูกน้องทะโมนที่หลอกล่อให้มาช่วย มาฝึกทำสวน พอถึงเวลากินข้าวกลางวันไอ้หนุ่มโยนท่อนกะแสนย่างมาบนพาข้าวดังโครม พี่น้องเอ๋ย ลายที่หนังยังปรากฏชัดเจน อาวเปลี่ยนต้องรีบอิ่มข้าว แถมยังมาเล่าวีรกรรมให้ฟังประกอบอีกว่าไปเที่ยวสาวมา เห็นเลื้อยอยู่บนถนน เอามอเตอร์ไซด์ขับทับมา

เมืองที่ผมอยู่ สัตว์ป่า เป็นของต้องห้าม มีการปรับการจับ ไม่นานมานี้มีการตัดสินโทษจำคุกชาวริมโขงที่ไปฆ่าเสือที่กำลังว่ายข้ามน้ำโขง แต่ก็นั่นแหละ ตลาดใต้ดิน หรือตลาดมืดก็ยังมีการค้าการขายกันให้เห็น (แต่ทางบ้านเมืองคงไม่เห็นเพราะมาเช้าปานนั้น)

ความนิยมของใครก็ของใคร ฮีตไผกะฮีตมัน บางคนก็ชอบกินของป่า บางคนก็ชอบกินหญ้าอ่อน บางเมืองก็ชอบกินเนื้ออาจอ(น้องหมา ภาษาโส้) บางกลุ่มก็ชอบกินผัก บางคนก็ชอบกินน้ำใต้ศอก แต่ที่หนักกว่าเพื่อนคือพวกที่ชอบกินหินกินทรายกินบ้านกินเมือง

จบ



Main: 1.3787150382996 sec
Sidebar: 0.13999104499817 sec