ครอบครัวตัวแบบ “พอเพียง”

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 27 กรกฏาคม 2012 เวลา 4:31 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3822

 ระยะนี้นั่งทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจครอบครัวของพี่น้องที่ต้องรับผิดชอบฟื้นฟูชีวิตการเป็นอยู่

ตรวจสอบตัวเลขความถูกต้องเพื่อเป็นค่าตั้งต้นที่ตามพันธะสัญญาจะต้องให้พี่น้อง…”ดีขึ้นกว่าเก่า”

ใช้ทีมงานมือใหม่เก็บกำสำรวจข้อมูล เขาก็คงทำเต็มที่ของเขา แต่พอมาตรวจกลับพบว่าผิดตรงนั้นขาดตรงนี้ ตรวจร้อยชุดต้องแก้หกสิบชุด เลยตัดสินใจ”รื้อ”ข้อมูลทั้งหมดมาทำใหม่ เรียกแบบสอบถามมานั่งอ่านทีละชุด อันไหนสงสัยออกไปถามใหม่ด้วยตัวเอง

การที่ได้นั่งศึกษาพื้นเพแต่ละครอบครัว ถือเป็นการได้เรียนรู้ หนึ่งครอบครัวเหมือนกับดูละครเรื่องหนึ่ง ต้องดูว่าสมาชิกครอบครัวมีกี่คน อายุ เพศ อาชีพหลัก อาชีพเสริม ปฏิทินการเคลื่อนไหวในรอบปีทำอะไรบ้าง มีที่ดินกี่แปลง แต่ละแปลงปลูกอะไรเดือนไหน ได้ผลผลิตเท่าไร เอาไปกินหรือขายที่ไหนจำนวนมากน้อยเพียงใดได้เงินมากน้อยเท่าไหร่ เลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง ช้าง ม้า วัว ควาย หมู เห็ด เป็ดไก่มีกี่ตัว กินเท่าไร ขายเท่าไร ออกไปรับจ้างไหม เดือนไหนไปเก็บของป่า เดือนไหนไปจับปลา เอามากินมาขายได้กี่มากกี่น้อย สภาพบ้านเรือนเป็นอย่างไร ทรัพย์สิน เครื่องใช้ไฟฟ้า รถถีบ รถเครื่อง มีกี่คัน เงินฝากมีไหม หนี้สินมีเท่าใด ทำนาได้ข้าวพอกินไหม ขาดข้าวกี่เดือน รายจ่ายมีอะไรบ้าง ค่าอาหาร ค่ากะปิ น้ำปลา ยาสูบ ยารักษา ไฟฟ้า ค่าภาษี(พันธะรัฐ) ค่าใส่ซองงานวัดงานบุญงานแต่ง(พันธะสังคม) แล้วก็เอามาดูกลับไปกลับมาว่าตัวเลขสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร 

อันที่จริง ใจผมอยากเก็บข้อมูลด้านความสุขของครอบครัว มาเป็นเครื่องชี้วัดมากกว่าตัวเลขรายรับรายจ่าย แต่เมื่อโจทย์เป็นอย่างนี้ก็คงต้องลุยตามไปก่อน แล้วค่อยๆเสริมทีหลัง

ผ่านไปหนึ่งหมู่บ้านร้อยเก้าสิบครอบครัว (จากทั้งหมดห้าหมู่บ้านห้าร้อยครอบครัว) ผมก็พบครอบครัวหนึ่งที่ถือเป็นตัวแบบ ของการไม่พึ่งพาเทคโนโลยี

สามพ่อแม่ลูก พ่ออายุ ๕๒ ปี แม่ ๔๗ ปี และลูกสาวจี๋วัย ๑๖ ปี อาศัยเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำนาหาเครื่องป่าของนามาเป็นอาหาร ที่บ้านไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีแม้กระทั่งรถถีบ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ (เป็นหนึ่งในไม่เกินห้าครอบครัวของบ้านนาทรายคำที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ)

เมื่อเข้าหน้าฝนถึงฤดูเพาะปลูก ครอบครัวนี้ทำนาดำ ๑ไร่กว่าๆ ปลูกข้าวไร่อีก ๒ไร่ ได้ข้าวปีละ ๓.๕ตัน เก็บไว้กิน ๒.๓ตัน ที่เหลืออีก ๑.๒ตัน ขายได้เงิน ๓ล้านกีบ(๑หมื่น๒พันบาท) นอกจากนั้นก็ปลูกข้าวโพดอีก ๒ไร่เก็บผลผลิตไว้เกือเป็ดเกือไก่

การใช้ประโยชน์จากป่า ได้เข้าไปตัดไม้ไผ่มาใช้สอย ไปหาสัตว์ป่าเก็บผักป่ามาเป็นอาหารเดือนละ ๒-๓ครั้ง ไปหาสมุนไพรมาต้มกิน และไปเก็บดอกแขมกับเปลือกก่อมาขายได้เงินปีละ ๑ล้านกีบ(๔พันบาท)

ครอบครัวนี้เลี้ยงควาย ๓ตัว วัว ๕ตัวเอาเป็นออมสินไว้ขายยามฉุกเฉิน เลี้ยงเป็ด ๒๐ตัว ไก่ ๖๐ตัวเอาไว้กินและขาย ปีหนึ่งได้เงิน ๘แสนกีบ(๓๒๐๐บาท) และเลี้ยงหมู ๒ตัวขายได้เงิน ๑ล้าน๒แสนกีบ(๕พันบาท) มีบ่อปลาเล็กๆซื้อลูกปลามาปล่อยไว้หาปลวกมาให้กินปีหนึ่งวิดปลาได้ ๒๐ กก.กินครึ่งขายครึ่งได้เงินอีก ๒แสนกีบ(๘ร้อยบาท) ไปจับปลาจากในห้วยในหนองอาทิตย์ละครั้งเอากินไม่ได้ขาย

ว่างจากงานไร่นา และการหาอยู่หากิน พ่อบ้านออกไปรับจ้างงานในไร่นาของเพื่อนบ้าน ปีหนึ่งได้เงินราว ๔แสนกีบ(๑๖๐๐บาท) ส่วนแม่กับลูกสาวทอผ้าขายมีรายได้ ๒ล้านกีบต่อปี(๘พันบาท)

รวมๆรายได้เป็นตัวเงินของครอบครัวนี้ ตกราว ๓หมื่นสามพันบาท

เมื่อไล่เลียงถึงรายจ่ายของครอบครัวนี้ สามารถสรุปรวมได้ว่าในรอบหนึ่งปี ครอบครัวนี้ใช้จ่ายเงินไปในการต่างๆ ดังนี้  ค่าลงทุนการเพาะปลูกสามแสนเจ็ดสิบพันกีบ(๑๔๘๐บาท) ค่าลงทุนการเลี้ยงสัตว์สามแสนสอง(๑๒๘๐บาท) ค่าซื้อเนื้อ ซื้อผัก กะปิ น้ำปลา ไข่ น้ำมันจืนอาหาร ผงนัว น้ำตาล เกลือ น้ำนม น้ำหวาน บะหมี่ไวไว รวมทั้งค่าเฝอที่ซื้อกินนอกบ้านรวมทั้งหมดหนึ่งล้านเก้าแสนกีบ(๗๘๐๐บาท) ค่าเหล้าเบียร์สามแสนกีบ(๑๒๐๐บาท) ค่าทำบุญเพาะทานสองแสนกีบ(๘๐๐) ค่าใส่ซองงานแต่งงานงานสู่ขวัญแอน้อยงานขึ้นบ้านใหม่หนึ่งแสนกีบ(๔๐๐บาท) ค่าภาษีอากรสองแสน(๘๐๐) ค่าซื้อเสื้อผ้า ยาปัวพะยาด ไฟฟ้า เครื่องแต่งตัว สบู่ แชมพู ค่าโดยสารรถ รวมปีละหนึ่งล้านสองแสนกีบ(๔๘๐๐บาท)  รวมเงินออกจากบ้านทั้งหมดทั้งมวลประมาณสี่ล้านหกแสนกีบ(๑๗๗๐๐บาท)

ดุ่นเดี่ยงรายรับสูงกว่ารายจ่าย ปีละสามล้านหกแสนกีบ

นี่เป็นตัวอย่างเป็นหน้าตาของครอบครัวชนบทบ้านเราเมื่อสามสี่สิบปีก่อนที่ยังหลงเหลือให้เห็นที่นี่

ทบทวนเรื่องราวของครอบครัวนี้ แล้วรู้สึกเบาสบายอิ่มสุขอย่างไรก็ไม่รู้

แต่เมื่อหันกลับมามองตัวเองกับงานที่กองพะเนิน กับหน้าต่างจอคอมฯที่เปิดงานค้างไว้สี่ห้าเรื่อง แม้ว่าเขาจะเอาอัฐมาให้เดือนหนึ่งมากกว่าที่ครอบครัวนี้หาได้สามปีก็ตาม แต่ก็ยังอดมิได้ที่จะอิจฉา…ครอบครัวตัวแบบของผมครอบครัวนี้

 


ชาวต่างชาติในห้องเรียน ป. ๔ โรงเรียนประถมสมบูรณ์บ้านหาน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 กรกฏาคม 2012 เวลา 12:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2487

 

13 กอละกด(กรกฎาคม) เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งใน สปป ลาว

เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านผู้นำ สุภาณุวงศ์ …มีกิจกรรมอ่านบทความสดุดีท่านที่สโมสรเมืองหงสา งานนี้เป็นงานรัฐพิธีที่รัฐกร และสมาชิกพรรคต้องไปร่วม

เป็นวันอนุรักษ์สัตว์น้ำสัตว์ป่าแห่งชาติ สปป ลาว เมืองหงสาจัดพิธีปล่อยพันธุ์ปลาลงวังปลาสงวนตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าเพราะบรรดาท่านต้องมาร่วมกิจกรรมที่สโมสรตอนแปดโมงครึ่ง

แต่ลุงเปลี่ยนกลับลืมวันสำคัญนี้ไป ดันไปนัดหมายตระเตรียมพิธีเปิดการฝึกอบรมนวดแผนลาวโบราณ

ทีมงานพร้อม วิทยกรจากแผนกสาธารณะสุขแขวงฯพร้อม ผู้เข้าอบรมพร้อม รับสมัครซาวหน้าคนมีคนมาขอเรียนสี่สิบคน  ขัดแต่คณะประธานที่จะมาเป็นสักขีพยานเปิดงาน

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านเจ้าเมืองได้มอบหมายให้ รองเจ้าเมืองมาเป็นประธาน มีท่านหัวหน้าห้องการวัฒนธรรมมาพูดเรื่องฮีตคองประเพณีที่ดีงามของลาว กับการประกอบอาชีพหมอนวดแผนโบราณว่าต้องมีข้อควรระมัดระวังประการใดบ้าง และมีหัวหน้าห้องการชาวหนุ่มเมืองมานั่งเป็นสักขีพยาน

ถือว่าการเปิดฝึกอบรมผ่านไปได้เรียบร้อย

สถานที่ฝึกอบรมไปขออาศัยโรงเรียนประถมสมบูรณ์บ้านหาน ซึ่งน้องน้อยนักเรียนปิดเทอมพอดี สองวันก่อนผู้สมัครเรียนทุกคนมาออกแรงงานทำความสะอาดจัดสถานที่กัน คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ควักกระเป๋าเลี้ยงตำบักหุ่งกับน้ำหวาน จ่ายไปหนึ่งแสนกีบ ชิวชิว

ว่าด้วยเรื่อง คนต่างชาติในห้องประถมปีที่สี่ ก็ด้วยสายตาไม่อยู่สุขสอดส่ายไปทั่ว บรรยากาศกระดานดำ หน้าต่าง ประตู พื้น ฝา ชวนให้หวนนึกถึงโรงเรียนหนองหล่มวิทยาที่ตัวเองเคยนั่งเรียน แล้วก็ไปเห็นรายชื่อของนักเรียน จึงเป็นที่มาของเรื่องที่อยากเล่า

ตามที่แสดงในรูปด้านบน ถอดความรายชื่อนักเรียนห้องประถมสี่ดังนี้

หัวหน้าห้อง ชื่อ ท้าว คำแทน รองฯคนที่หนึ่ง ท้าว ไดน่า รองฯคนที่สอง นาง ปูเปรี้ยว

จัดแบ่งนักเรียนเป็น ๕ หน่วยๆละ ๖-๗ คน

หน่วยที่ ๑ มี ๑นางสมปอง ๒วันเพ็ง ๓ปุยฝ้าย ๔ท้าวต็อก ๕ทะนูสิน ๖จีอาร์

หน่วยที่ ๒ มี ๑นางปูเปรี้ยว ๒เบนยา ๓ตาแวว ๔ท้าวจิ้ง ๕เบบี้ ๖สุ้ม

หน่วยที่ ๓ มี ๑นางเพ็งพนา ๒ป็อบ ๓บีม ๔เบบี้มายด์ ๕ท้าวบุนเลิด ๖เทน่า ๗คำแทน

หน่วยที่ ๔ มี ๑นางยุพิน ๒ไก่น้อย ๓ตุเลีย ๔ท้าวคำน้อย ๕กาโม่ ๖ชิลา ๗ไดน่า

หน่วยที่ ๕ มี ๑นางลีซัน ๒ตุลา ๓ท้าวสายลม ๔สมชาย ๕แรมโบ่ ๖หมี ๗คำใส

ดูตามรายชื่อข้างบน เห็นมีชื่อเป็นภาษาต่างชาติ ๑๒ ชื่อเป็นอย่างน้อย ในวงเล็บว่า คงจะเป็นชื่อเล่นครับเพราะเป็นโรงเรียนในหมู่บ้าน ตามปกติในหงสารายชื่อนักเรียนชั้นประถมมักจะไม่เคร่งครัด พอขึ้นชั้นมัธยมจึงใช้ชื่อจริงตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน

บันทึกนี้อยากแสดงว่า สื่อโทรทัศน์นี่ไร้พรมแดนไม่อาจปิดกั้นได้

การเรียกชื่อลูกๆให้น่ารัก ย่อมทำให้เด็กเป็นที่รักใคร่ ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาหรือประเด็นที่น่าวิตกแต่อย่างใด

หากแต่ถ้าหากรับเอาวัฒนธรรมอื่นมาทั้งหมดแล้วจะเอาอะไรมาเป็นตัวตน

อันที่จริงเมืองหงสาก็มีมาตรการในการรักษาฮีตคองความเป็นลาวที่เข้มแข็ง ท่านหัวหน้าห้องการวัฒนธรรม ได้พูดไว้เมื่อชาวเกี่ยวกับภาษาพูดให้แต่ละบ้านรักษาสำเนียงท้องถิ่นของตนเองไว้ ไม่ต้องพูดสำเนียงเมืองหลวง ร้านอาหารทุกแห่งได้รับการตักเตือนหากพนักงานพูดภาษาต่างประเทศกับแขก ห้ามร้องเพลงต่างชาติออกเครื่องกระจายเสียง วงดนตรีใดเล่นเพลงต่างชาติถูกปรับ ยามมีประชุมสำคัญให้สตรีในเมืองนุ่งผ้าถุง ให้สาวๆผมแดงย้อมผมสีดำกลับคืนเป็นต้น

เมืองไทยน่าจะเอาอย่างนี้บ้าง….นะ นะ


พาข้าว (ชาวเมืองหงสา)

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 กรกฏาคม 2012 เวลา 12:24 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3274

ในมื้อเปิดตลาดชุมชนบ้านนาจานคำ ลุงเปลี่ยนอยากสร้างความคึกคักครื้นเครงด้วยการจัดประกวดพาข้าว (สำรับอาหาร) ในหมู่บรรดาแม่บ้าน มอบหมายให้ผู้ช่วยไปปรึกษากับสหพันธ์แม่ยิงเมืองเชิญท่านมาเป็นเจ้าภาพร่วม ได้กฎระเบียบเกณฑ์ในการให้คะแนนมาหลายข้อ อาทิ สุขอนามัย ความสะอาด ครบห้าหมู่สารอาหาร การใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น เป็นต้น ระดมได้พาข้าวมาประกวด ๑๒ สำรับ มีความหลากหลายเมนูอาหารชวนชิมอย่างตื่นตา ลองมาไล่เลียงเรียกน้ำย่อยกันดูเด้อพี่น้อง

พาที่ ๑ ของนางสิง สะหะพันแม่ยิงหน่วยสาม บ้านนาจานคำ

อาหาร มี ส้มเห็ดนางรม(แหนมเห็ด) แกงยอดพ้าวใส่ไก่(แกงยอดมะพร้าว) หมกแลน(ห่อหมกตัวแลน) จืนจินาย(ทอดจิ้งโกร่ง) แจ่วน้ำปูกับหน่อไม้ไร่ต้ม และหมากนัด(สับปะรด)

 พาที่ ๒ ของนางตุ้ย สะหะพันแม่ยิงบ้านนาส้าน

อาหารมี แจ่วน้ำปูหน่อไม้ต้ม หมกอั่วนกขัว(นกไก่ฟ้ายัดเครื่องสมุนไพรปิ้ง) ปาค่อปิ้ง(ปลาช่อนย่าง) หมกหน่อไม้ใส่ย่านาง หมกไคน้ำ(สาหร่ายแม่น้ำ) ยำมะเขือขื่น และไข่พะโล้

 พาที่ ๓ ของนางลุน สะหะพันแม่ยิงหน่วยเก้า บ้านนาจานคำ

อาหารมี แกงหน่อไม้ เอาะหลามเนื้อวัว ปิ้งเนื้อวัว เอิบปลา(ปลายัดเครื่องสมุนไพรปิ้ง) แจ่วเอี่ยน(น้ำพริกปลาไหล) คั่วจินาย(คั่วจิ้งโกร่ง) แจ่วน้ำปูหน่อไม้ต้ม และมีผลไม้รวม

 พาที่ ๔ ของนางทอง สะหะพันแม่ยิงหน่วยแปด บ้านนาจานคำ

อาหารมี แจ่วหมากเผ็ดผักสดแตงร้านหน่อไม้ต้ม แกงหน่อไม้ เอาะหลามเนื้อ

 พาที่ ๕ ของนางคอย สะหะพันแม่ยิงหน่วยสาม บ้านนาจานคำ

อาหารมี แจ่วน้ำปูผักกับเป็นหน่อไม้ต้มและแตงร้านแกะสลัก จืนจินาย(จิ้งโกร่งทอด) ซุบผัก(ยำผักลวกใส่งา)  หมกไค เอาะหอยขม(แกงหอยขม) และผลไม้รวม

 

พาที่ ๖ อ้าวโพยหาย ขอข้ามไปก่อน

 พาที่ ๗ ของนางบัวพัน สะหะพันแม่ยิงบ้านนาจานคำ

อาหารมี แจ่วสองอย่างคือแจ่วจุ้งดิบ(น้ำพริกกุ้ง)กับแจ่วน้ำปูกินกับหน่อไม้ต้ม ปิ้งปลา คั่วจินาย เอาะปลา เอาะหน่อไม้ และสับปะรด

 พาที่ ๘ ของนางตุ๊ สะหะพันแม่ยิงหน่วยสี่ บ้านนาจานคำ

อาหารมี แจ่วแมงดา คั่วจินาย หมกไค ซุบผัก เอาะเคื่องส้อน(น้ำพริกปลาหน้อย ลูกอ๊อด สารพัดแมลงในน้ำ) เอาะหลาม และผลไม้รวม

 พาที่ ๙ ของสะหะพันแม่ยิง บ้านเวียงแก้ว เป็นพาข้าวชาวลื้อ

อาหารมี แจ่วน้ำผัก แจ่วข่าไก่(คั่วแห้งไก่สับพริกแห้งข่าป่น) แจ่วน้ำปูกินกับหน่อไม้ต้ม หมกไค แอบใบตูน(ดอกฟักเขียวป่าและฟักทองป่าปรุงเครื่องแกงห่อด้วยใบทูนอ่อนย่างไฟ…ห๊อมหอม…เสียดายไม่ได้เป็นกรรมการ) แล้วก็มีแกงน้ำเย้อ(แกงผักรวม) แถมด้วยเปี่ยงหมากโถ่เน่า(ถั่วเน่าแค็บปิ้ง)

 พาที่ ๑๐ ของนางหนูไล สะหะพันแม่ยิงบ้านนาจานคำ

อาหารมี แจ่วน้ำปูกินกับหน่อไม้ต้มและผักนึ่ง ปลาทอด เอาะปลาแดกใส่ไข่เป็นลูกๆเหมือนไข่หวาน ทีเด็ดคือเอาะบอนใส่หนังควาย และมีผลไม้รวม

 พาที่ ๑๑ ของสะหะพันแม่ยิงบ้านนาหนองคำ เป็นพาข้าวชาวกึมมุ

อาหารมี แจ่วปลาแดกกินกับผักสดและหน่อไม้ต้ม หมูปิ้ง ซุบผัก(ยำผักลวก) เอาะบอน หนังพอง(หนังควายทอด) และกล้วย

 พาที่ ๑๒ ของสะหะพันแม่ยิงบ้านนาไม้ยม เป็นอีกหนึ่งพาข้าวชาวกึมมุ

อาหารมี แจ่วหมากเผ็ดกินกับหน่อไม้ต้มและผักลวก ต้มปลา แกงหน่อไม้ และกล้วย  

 กำหนดให้แต่งพาข้าวมาประกวดสองพา พาแรกเน้นความสวยงาม ส่วนพาที่สองเอาไว้ให้กรรมการชิม กรรมการชิมเสร็จแล้วเชิญแขกทั่วไปมาชิมอาหาร แล้วก็มีการประกาศผลปรากฏว่า พาที่มีเอาะหอยขมชนะที่หนึ่งได้รับรางวัลไปสามแสนกีบ ที่สองได้รางวัลสองแสนกีบได้แก่พาที่มีเอาะเครื่องส้อน และพาที่มีเอาะบอนใส่หนังเค็มได้ลำดับที่สามได้รับรางวัลแสนห้าหมื่นกีบ ส่วนที่เหลือได้รับรางวัลชมเชยรายละหนึ่งแสนกีบ

เสร็จแล้วเชิญแขกเจ้านายร่วมกินข้าวกลางวันในพาข้าวสวยงามที่เข้าประกวด จัดวางซองเปล่าไว้ในพาข้าวให้แขกใส่ซองตามกำลังทรัพย์(แผนหลอกเอาตังค์ผู้ใหญ่คืนให้แม่บ้านนี่ลุงถนัด…นี่ยังไม่นับที่แจกตะกร้าเชิญแขกไปจ่ายตลาดท่านใดซื้อของไม่เต็มเชิญอยู่เลาะตลาดต่อ) เอาซองมารวมๆกันหารยาวคืนให้เจ้าของพาข้าวได้อีกพาละไม่น้อย คงจะคุ้มค่าที่ออกเงินซื้อของมาทำอาหารร่วมประกวด

รู้สึกว่ากรรมการจะชอบของพื้นบ้าน เพราะทั้งหอยขม และเคื่องส้อนได้รางวัล ในขณะที่ประเภทสัตว์ป่า กับอาหารดิบจะถูกหักคะแนน

เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่หงสา

หวังว่าคงไม่มีผู้ใดท้องร้องหลังอ่านจบเด้อครับ


เมื่อความเชื่อเรื่องภูตผีช่วยเร่งกระบวนการย้ายบ้านเรือน

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 30 มิถุนายน 2012 เวลา 1:22 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1369

เขียนบันทึกเรื่องการยกย้ายบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เรื่องราวที่น่าอภิรมย์นัก ทั้งสำหรับผู้อ่าน และผู้บันทึกเอง ใครๆก็รักถิ่นฐานบ้านช่อง ไม่มีใครอยากให้มีการพลัดที่นาคลาที่อยู่หากไม่มีเหตุจำเป็น

แต่เมื่อมีประเด็นทางสังคม คนเคยเล่าร้อยเรียงเรื่องที่ผ่านพบ ก็เหมือนกับนักมวยที่ได้ยินเสียงปี่แตร หากไม่ขึ้นสังเวียนออกหมัด ก็ออกจะคันไม้คันมือไม่รู้หาย อีกทั้งการยกย้ายผู้คนเช่นนี้ต่อไปคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว โดยเฉพาะในบ้านเรา

กระไหนเลยเขียนแบ่งปันให้อ่านกันเสียดีกว่า เขียนเมื่อถ่านไฟยังร้อน แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับงานจัดการเปิดตลาดชุมชนที่เพิ่งเสร็จไปหมาดๆ อ่อนเปลี้ยเพลียแรงมากมาย เคยจัดงานวันไทบรูดงหลวงสามสี่ครั้งหนักหนาสาหัสกว่านี้มาก แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เหนื่อยเท่านี้ เป็นเพราะสังขารร่วงโรยไปตามพยาธิสภาพของโรคที่รุมเร้า นี่เขายังจะขออยู่ต่ออีกสองสามเดือน ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ไปนอนกินผักที่สวนป่าตามฝันสักที

เข้าเรื่องที่จั่วหัวไว้ดีกว่า

การยกย้ายบ้านนาทรายคำ ทางทีมงานเราเก็บไว้คิวหลังสุด เพราะเป็นหมู่บ้านใหญ่มีวัดมีโรงเรียน บ้านช่องห้องหอของประชาชนแน่นหนาถาวร และที่สำคัญเป็นบ้านชาวลื้อที่มีฮีตคองประเพณีและความเชื่อที่สลับซับซ้อนหลายขั้นตอนทั้งที่บ้านใหม่ และที่บ้านเก่า ตั้งแต่การเสี่ยงทายบ่อนตั้งหมู่บ้าน การลงเสาเอกเรือน การจัดวางทิศทางของบ้านและบันไดบ้าน พิธีกรรมก่อนสร้างวัด การย้ายป่าช้า ย้ายวัด การบอกกล่าวทำบุญไปถึงบรรพบุรุษ และการคอบลาเจ้าที่เจ้าทาง ตามที่ได้เคยเขียนบันทึกบอกเล่าไว้ที่ผ่านๆมา

ที่สำคัญที่สุด เราต้องสร้างบ้านเรือน วัด โรงเรียน ตลาด ระบบไฟฟ้า ประปาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะมอบกุญแจบ้านให้พี่น้องมาตรวจสอบเสียก่อนและแจ้งแก้ไขให้ถูกใจเสียก่อน เราวางแผนจะทยอยขนย้ายกันวันละไม่เกินสิบห้าครอบครัว พี่น้องจะได้ช่วยกันแบบเอาแรงกันได้ ในขณะเดียวกันก็มีคำเสนอให้แก้ไขบ้านเรือนให้ถูกใจผู้อยู่มามากกว่าหมู่บ้านอื่น มีตั้งแต่เรื่องพื้น ฝา หน้าต่าง ประตู น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง บ้างครอบครัวก็ไม่ค่อยพอใจกับแปลงที่ดินที่จับฉลากได้ บางครอบครัวก็ไม่ชอบทำเลที่ตั้ง ซึ่งทีมงานก็ต้องพยายามไกล่เกลี่ยแก้ไขให้พี่น้องพอใจที่สุด แต่ก็นั่นแหละปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครอบครัวที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ย เจรจากันหลายรอบเพื่อหาข้อยุติ

สำหรับครอบครัวที่ถูกอกถูกใจบ้านใหม่ ทีมงานเราก็ทยอยย้ายในรอบแรกๆ ก่อนย้ายก็มีพิธีกรรมต่างๆ (ตามที่เล่าไว้ในบันทึกก่อนๆ) ที่สำคัญคือ มีการย้ายพระสงฆ์ และพระพุทธรูปมาอยู่วัดใหม่ก่อนหน้าการย้ายบ้านเรือนพี่น้อง ส่วนองค์พระประธานได้ทำพิธี “สึก”ท่านและเตรียมการยกย้ายไปวัดใหม่ สรุปแล้วก็คือ วัดกลายเป็นวัดร้าง พระประธานกลายเป็นเพียงรูปปั้น ผีเสื้อบ้านเสื้อเมืองก็อัญเชิญไปอยู่บ้านใหม่หมดแล้ว

สองสามวันที่เตรียมจัดตลาดชุมชนใกล้กับเส้นทางการขนย้ายบ้านเรือน ได้เห็นมหกรรมการหลั่งไหลรีบเร่งขนย้ายข้าวของบ้านเรือนกันอย่างอึกกระทึกครึกโครม จนทางทีมงานจัดรถให้ไม่ทัน จากที่วางแผนไว้วันละสิบห้าถึงยี่สิบครอบครัว กลายมาเป็นวันละหกเจ็ดสิบครอบครัว แย่งรถขนย้ายกัน บางครอบครัวก็ใช้รถส่วนตัวขนของ บ้างก็เอารถแต็กๆไถนาบรรทุกข้าวของมา บ้างก็ไปหาเช่ามาเอง(ทีมงานตามไปจ่ายค่าเช่าให้) บางครอบครัวยังไม่ทันแก้ไขบ้านเรือนให้ตามคำร้องก็บอกไม่เป็นไรขอมาอยู่ก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลังก็ได้ บางครอบครัวไฟฟ้ายังไม่ทันมี(เพราะคิวท่านจะย้ายปลายเดือนหน้าโน้น)ก็ขวนขวายไปต่อไฟมาจากเพื่อนบ้าน รายที่คิดหาทางออกไกล่เกลี่ยกันสองสามครั้งยังไม่ตกลงก็กลับกลายเป็นว่าขนของมาก่อนเพื่อน….ทำให้เกิดความกังขาว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ?

คำตอบที่ได้จากการแอบไปพูดคุยกับพี่น้อง เพิ่นบอกว่า “อยู่บ่ได้แล้วอาจาน กลางค่ำกลางคืนหมาเห่าหมาหอนทั้งคืน ผีมันออกมาเดินเล่นในหมู่บ้าน บ่มีสาธุ บ่มีพระเจ้าคอยคุ้มครอง”

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ มีความสำคัญกับพี่น้องมากมายเพียงไหนในสังคมชนบทเช่นนี้

บริบทของคนในสังคมเมืองก็คงแตกต่างกันออกไป คนเมืองติดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ทีวี และ อินเทอร์เน็ต

อ้าว…ว่าเจ้าของเอง

บ่ได้ว่าผู้อ่านเด้อ


เครื่องฟักไข่

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 มิถุนายน 2012 เวลา 11:47 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4352

สองปีก่อนศูนย์สาธิตการเกษตรครบวงจรที่หงสาขอซื้อตู้ฟักไข่มาตู้หนึ่ง รับรู้รับทราบแล้วก็ไม่ได้สนใจติดตามถามข่าว จนกระทั่งได้อ่านบันทึกสวนป่าเรื่องไข่ไก่ต๊อกเน่า นึกขึ้นมาได้เลยถามไถ่พรรคพวกว่าตู้ฟักไข่ของศูนย์เป็นอย่างไรบ้าง

ปรากฏว่าได้รับคำตอบเหมือนๆกันครับ เขาบอกว่า “อาจ๋านไฟฟ้ามันมาๆดับๆไข่เน่าเหมิด ฟักสองสามเทื่อกะคือเก่า” แสดงว่าแม้นวิวัฒนาการสมัยใหม่จะทำเทียมได้เยี่ยมยอดเพียงไหน ก็มาตายตอนจบด้วยระบบไฟฟ้าชนิดที่สุนัขฉี่รดเสาไฟฟ้าก็ดับ ในเรื่องราวทำนองเดียวกับที่ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มแม่บ้านผลิตกล้วยฉาบสอดไส้สับปะรดที่บางระจันวันนี้ คุยกันเรื่องการขอ อย. เห็นบอกว่าเรื่องความสะอาด โรงเรือน โรงบรรจุนั้นสามารถดัดแปลงให้ผ่านมาตรฐานได้ แต่หากน้ำที่ใช้ในการล้างกล้วยมีเชื้อคลอลิฟอร์มปนเปื้อน ทางกรมอาหารและยาก็ออกใบ อย.ให้ไม่ได้เหมือนกัน อันนี้ก็เรียกว่าตายตอนจบด้วยเรื่องน้ำ

ตอนเรียนหนังสือ อาจารย์เรียกว่าเป็นทฤษฏีถังไวน์(หรือถังหมักอะไรสักอย่างนี่แหละ จำไม่ได้แล้ว) เอาเป็นว่าเป็นถังของชาวฝาหรั่งที่เอาไม้โอ๊คเป็นแผ่นๆมาเรียงๆให้เป็นถังกลมๆ ปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บได้ในถังขึ้นอยู่กับไม้แผ่นที่สั้นที่สุด หากเติมมากกว่านั้นเมื่อไหร่น้ำย่อมไหลออกตามซี่ไม้ที่ต่ำที่สุดอยู่ดี

ย้อนกลับมาเรื่องตู้ฟักไข่หงสา ก็คงต้องรอรอต่อไปจนกว่าไฟฟ้าจะไม่ดับๆติดๆวันละสามเวลาเหมือนทุกวันนี้

ต้องให้เครดิตกับเจ้ากิจโชเฟอร์ที่รับผมจากด่านชายแดนมาสนามบินเมื่อวันก่อน คุยกันเรื่องตู้ฟักไข่นี่แหละเขาจำได้ว่าเป็นคนขนเข้าไปให้จากน่าน อยู่ๆเจ้ากิจก็ช่วยฟื้นความจำว่า “ลุงเปลี่ยน สมัยก่อนผมเห็นพ่อผมเอาบ่มหม้อข้าวสาร” เออ จริงด้วยแฮะ ทำไมเราหลงลืมข้อนี้ไป ลุงเองก็เคยเห็น นึกออกด้วยว่าลุงเองยามเด็กชอบแอบเปิดหม้อข้าวสารแล้วเอามือไปซุกเล่นจนโดนแม่เอ็ดบ่อยๆว่า “ใช้ไปหม่าข้าวหยังมาเมินแต้ว่า” จำได้ว่าหม้อดินเผาที่แม่ใช้เก็บข้าวสารนั้นจะอุ่นๆมือดี ไก่แม่ดำที่บ้านออกไข่คราวละสิบกว่าฟองกว่าจะครบกว่าจะฟักทำให้ไข่ใบที่ออกทีหลังมักจะออกเป็นตัวทีหลังเพื่อน พ่อมักจะไม่รอเพราะตัวที่ออกก่อนร้องจิ๊บๆเจี๊ยบๆหิวกันแล้วบางตัวก็ปีนตกจากรังไข่ทำให้ตัวแม่ดำละล้าละลังบินขึ้นบินลง สุดท้ายพ่อจะเอาไข่สองสามใบที่ยังไม่ฟักเป็นตัว(แต่มีเสียงจิ๊บๆดังจากในไข่)แอบไปซุกไว้ในถังข้าวสาร ที่ว่าแอบคือสองพ่อลูกต้องแอบไม่ให้อี่แม่รู้ ถ้ารู้ก็ต้องฟังเสียง “จ่ม” ว่า”ขี้จ๊ะ” เพราะบางทีเวลาเจ้าเจี๊ยบออกมาจะมีเลือดมีไข่ขาวออกเป็นเมือกมาปนในข้าวสารของอี่แม่   

บ่าอ้ายลูกโตนก็จะต้องอาสาเป็นคนไปตักข้าวสารมาหม่าในระยะนั้น หมั่นไปดูไปฟังเสียงอีกสองสามวันก็จะได้เห็นไก่หน้อยออกมา แต่บางทีบ่าอ้ายก็ไปจับไปพลิกบ่อยเกินไปจนกลายเป็นไข่ข้าวไข่ฮ่วนไปเลยก็มี เจ้าเจี๊ยบที่ออกทีหลังเพื่อนนี้ต้องหาวิธีหลอกล่อให้นางดำเค้ารับเป็นลูกพ่อต้องแอบเอาไปซุกไว้รวมๆกับเพื่อนมันตอนนางดำกกไว้ใต้ปีกตอนกลางคืน ไม่งั้นนางดำจิกเอาๆไม่รับเป็นลูก มีหลายตัวที่บ่าอ้ายเผลอ(ไม่ใช่สิ บ่าอ้ายตั้งใจ แต่พ่อเผลอต่างหาก) บ่าอ้ายเอาซุกถุงเสื้อไปเล่นแอบเอาข้าวเปี๋ยนมาให้ลูกเจี๊ยบกิน และแล้วมันก็ไม่ยอมไปไหนได้แต่วิ่งตามบ่าอ้ายต้อยๆ อย่างนี้เรียกว่า “ไก่ติ๊กหรือไก่อุ้ม” บางตัวก็อยู่ด้วยกันจนมีแฟนมีลูกแล้วยังพาลูกมาป้วนเปี้ยนอยู่กับคน บางตัวก็อยู่เล่นกับแมวก็มี ไอ่หวาดแมว”ขี้มิ้ง”เจ้าอารมณ์แม้มันจะหงุดหงิดไล่ตะปบหน้าหมาบ่อยๆ หากมันเห็นเป็นไก่ติกของบ่าอ้ายแล้วมันก็จะยอมๆไม่กัด

ไหนก็ตั้งใจเขียนเรื่องตู้ฟักไข่แล้ว จะเล่าถึงนวัตกรรมตู้อบไก่ของบ่าอ้ายลูกโตนคนคึ ดำเนินความตามท้องเรื่องเกิดขึ้นสมัยที่เรียนชั้นมัธยมแล้วล่ะ ต่อไฟฟ้าเป็นแล้ว บ่าอ้ายคิดการประดิษฐ์ตู้ฟักไข่ ไปหาลังไม้อัดมา ไปเอาฟางแห้งมา ไปลักนุ่นที่แม่เตรียมยัดที่นอนมาปู แล้วก็เอาไข่ที่มีเสียงจิ๊บๆข้างในสามใบมาวางเรียง แล้วก็ไปเอาหลอดไฟกลมๆหกสิบวัตต์มาแขวนไว้ในกล่อง เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้แล้วก็ออกไปเลาะบ้านใต้บ้านเหนือ

นานโขพอดู ได้ยินเสียงเอะอะว่าไฟ ไฟ แถวบ้านรีบกลับมาดูปรากฏว่าตู้ฟักไข่บ่าอ้ายดำเป็นถ่าน กองหนังสือที่แอบซุกตู้ฟังไข่นวัตกรรม เปียกโชกด้วยน้ำ โชคดีที่ใต้ถุนบ้านมีแม่ๆป้าๆมาชุมนุมให้แม่สอนเย็บที่นอนกันหลายคน เลยได้กลิ่นแล้ววิ่งไปดับไฟได้ทัน โชคดีที่ฟิวส์ขาดตัดไฟฟ้าให้ก่อนคนมาช่วยสาดน้ำ ตู้ฟักไข่ของบ่าอ้ายจึงเอวังด้วยประการฉะนี้

แต่ว่าถังข้าวสารช่วยฟักไข่ที่ใกล้จะออกเป็นตัวได้จริงๆนะครับ ไม่เหมือนตู้นวัตกรรมของบ่าอ้าย


จะหาหมอ(นวด)

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 มิถุนายน 2012 เวลา 12:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2437

งานสร้างอาชีพนวดแผนลาวบูราณเป็นอีกหนึ่งงานที่ท้าทาย

ท้าทายเพราะโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบนวด ไม่เคยนวด (จริงจริ๊ง…สาบานได้) ขนาดเอ็นเข้าแคป(เส้นยึด)คอเอียงปวดแทบตายยังไม่ยอมนวด ไม่ใช่อะไรหรอกเป็นคนบ้าจี้น่ะ สมัยก่อนพาเพื่อนซ้อนมอเตอร์ไซด์ไอ้เพื่อนเผลอมากอดเอวเข้า ตกใจขี่รถตกลงข้างถนนได้แผลถลอกปอกเปิก แล้วข้าพเจ้าจะไปหาประสบการณ์นวดมาจากไหนล่ะนี่?

ท้าทายยิ่งกว่านั้นก็คือเรื่องกฎระเบียบของบ้านเมืองนี้ ที่มีโรงเรียนดัดสร้างไว้ขังชายหนุ่มหญิงสาวที่มีพฤติกรรมผิดๆด้านชู้สาว มีกองหลอนหรือตำรวจบ้านที่กล่าวได้ว่า พี่น้องลาวมีหกล้านคน และเมืองลาวมีตำรวจหกล้านคน แปลว่าทุกคนสามารถสอดส่องแจ้งจับกันได้ (เพื่อนฝูงหลายคนบ่นว่า ที่เมืองอื่นทำไมไม่เคร่งครัดแบบนี้ ผมตอบเขาไปว่า ที่นี่สาธารณรัฐโว้ย แต่ละเมืองท่านสามารถมีกฎหมายพิเศษได้) ดั่งนั้นแล้วการไปขอเปิดร้านนวด ขออบรมหมอนวดนี่ต้องไม่ใช่เรื่องง่ายๆแน่ คงต้องไปขออนุญาตห้องการปกครอง ตำรวจเมือง สหพันธ์แม่ยิงเมือง วัฒนธรรมเมืองเผลอๆอาจถึงแนวโฮมเมือง ศึกษาเมือง สาธาฯเมือง ให้ได้เสียก่อน

เมืองหงสา เท่าที่สืบเสาะรวบรวมข้อมูลได้ พบว่ามีหมอนวดจับเส้นอยู่หกคนประมาณนั้น เป็นผู้อาวุโส ๓ท่าน แล้วก็มีป้าลัดดาอีกหนึ่งที่พาน้ำหนักเกินแปดสิบกิโลมานวดแบบหวาดเสียวกลัวป้าขึ้นเหยียบ มีรุ่นถัดลงมาเป็นผู้ชาย(ประเภทที่ชาวหงสาเรียกว่า..สองจังหวะ)อีกสองคน มีผู้สาวแท้ๆที่ผ่านการฝึกมาจากแขวงอีกหนึ่ง (ทั้งหมดทั้งมวลนี่ฟังคนเขาบอกมาทั้งนั้น) สนนราคาค่านวดก็ชั่วโมงละห้าสิบพันกีบ(๒๐๐บาท)

อยากจะหาอาชีพเสริมให้พี่น้อง โดยเฉพาะแม่ร้างแม่ม่ายที่ไปทำไร่ไถนาก็ลำบากไปเป็นกรรมกรก็ไม่ไหว

อยากจะเปิดโรงนวดให้เป็นกิจจะลักษณะที่ดูแลคุ้มครองเรื่องความสะอาด และเรื่องการเปิดเผยไม่ลับหูลับตาให้กองหลอนคอยมาสอดส่อง สร้างอาคารโล่งๆให้เห็นกันชัดๆ ผ้าปูสะอาดๆ มีมุมยาต้มสมุนไพร หรือขยายกิจการห้องฮมยาอบสมุนไพร ทั้งหมดนี้จะดำเนินงานโดยกลุ่มพี่น้องชาวบ้านเอง

โครงการหมอพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะได้พื้นคืนชีพไม่สาบสูญถูกลืมเลือน

อย่างน้อย ในทางอ้อมชาวบ้านจะได้หันกลับมาดื่มน้ำต้มสุก (ทุกวันนี้ทุกบ้านนิยมดื่มน้ำจากโรงงานกรองน้ำ ที่ผลตรวจ ออกมาว่าทั้งหมดสามแห่งในเมืองมีเชื้อคลอริฟอร์มเกินมาตรฐาน…แต่พี่น้องเห็นว่าใส่มาในขวดเลยมั่นใจกินดื่มได้โดยไม่ต้องต้ม….คนเขียนก็กินไปกับเขาด้วยเหมือนกันแหละ)

โรงนวดสมุนไพร ที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะช่วยบริการบรรดาพนักงานขี้เมื่อยทั้งหลาย ที่สำคัญก็คือ เป็นแหล่งสร้างรายรับให้กับผู้หญิง และคนเฒ่าคนแก่ ใครจะไปรู้ได้ว่าหากกิจการดี บรรดาพืชสมุนไพร ขมิ้น ไพล บอระเพ็ด ที่พี่น้องปลูกตามหัวไร่ปลายนายังสามารถเอามาขายให้กับที่ร้านนี่ได้อีก (ฝันไปไกล…ลุง…เอาเรื่องหมอนวดนี่ให้ได้ก่อนเหอะ)

วางแผนการฝึกอบรม และได้ประสานงานเบื้องต้นไว้ดังนี้

ขั้นตอนแรกต้องมีใบเบิกทาง เขียนแผนงานเสนอฝ่ายประสานงาน ที่เป็นผู้แทนจากท่านเจ้าแขวงฯให้ช่วยออกใบเบิกทางประสานงานไปยังบรรดาห้องการต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการหาเสียงสนับสนุน เอาหน้าไปพบห้องการดังกล่าว เพื่อหาแนวร่วม และรับฟังแนวความคิดทิศชี้นำจากบรรดาท่าน

ขั้นตอนการหาครูฝึก งานนี้ก็ต้องรัดกุมหลายด้าน จะเอาครูข้ามชายแดนมาคงไม่ถูกใจเจ้าหน้าที่ทางฟากนี้ จะเอาผู้มีประสบการณ์ที่เคยผ่านร้านนวดจากเมืองใหญ่ตำรวจเมืองก็คงจะต้องสอบประวัติถามหาใบรับรองการ(ไม่เคย)ต้องโทษกันวุ่นวาย จึงได้พากันแอบไปใช้บริการร้านนวดที่แขวง(วานโชเฟอร์ไปนวดแทนพร้อมเขียนคำถามให้ไปแอบคุยกับพนักงาน) ดั้นด้นไปโรงอบสมุนไพรที่สวนไม้เป็นยาห้วยน้ำใส ที่ได้รับงบสนับสนุนจากธนาคารเอดีบีผ่านการท่องเที่ยวแขวงไชยะบุรี สอบถามข้อมูลได้ความว่าแผนกสาธารณสุขแขวงเคยจัดฝึกสอนให้ พอคลำทางได้แล้วค่อยโล่งใจขึ้นหน่อยอย่างน้อยหมอนวดของผมก็ผ่านการฝึกจากสาธาฯแขวงล่ะน่า

ด้วยสายพัวพันที่แนบแน่นกับคณะเชี่ยวชาญจากโรงหมอแขวงในคราวที่สร้างหอผู้ป่วยและจัดการซื้ออุปกรณ์แพทย์ให้โรงหมอเมือง พร้อมกับการผ่อนปรนกำหนดส่งรายงานผลการตรวจสุขภาพที่คณะท่านหมอกำลังจะพ้นกำหนดส่งมาให้ทางนี้ และคำรับปากกับคณะหมอว่า “จะช่วยตรวจแก้บทรายงานภาษาอังกฤษที่ท่านเคยทาบทามให้ช่วยเขียน” (ช่างกล้าแท้ลุง… ริจะแก้รายงานภาษาหมอ) ในที่สุดการประสานงานนัดหมายกับท่านดอกเตอร์ และการร่างหลักสูตรเบื้องต้นทางโทรศัพท์ก็สำเร็จในระดับหนึ่ง

หลักสูตรการฝึกอบรม มีดังนี้

วันแรก เต้าโฮมนักสัมมนากร ผ่านหลักสูตร(ชี้แจงรายละเอียดหลักสูตร) แล้วให้ทางสหพันธ์แม่ยิงเมือง กับ ปกส.เมือง(กองบัญชาการตำรวจ) มาร่ายยาวเรื่องฮีตคองกฏระเบียบข้อห้ามต่างๆของผู้ที่ประกอบอาชีพนวดแผนโบราณ ใช้เวลาสักครึ่งวันเสร็จแล้วเดินทางไปแขวงไชยะ ไปดูงานที่โรงนวดสมุนไพรของชาวบ้านห้วยน้ำใส กลางคืนค้างที่แขวงผู้ใดสนใจไปแวะชมโรงนวดแผนโบราณบ้านถิ่นก็จะพาไป

วันที่สอง เข้าห้องเรียนเรื่องเส้นเอ็นกระดูกกายวิภาคต่างๆ สอนโดยคณะเชี่ยวชาญจากแผนกกายภาพบำบัดโรงหมอแขวง เย็นๆเดินทางกลับ พร้อมพาคณะครูสอนนวดภาคปฏิบัติที่ทางสาธาฯแขวงแต่งตั้งมาเมืองหงสาพร้อมกันด้วย

วันที่สาม พักผ่อน ร่วมกันจัดห้องเรียน - สอน ที่โรงเรียนบ้านหาน(เด็กๆปิดเทอมไปดำนาพอดี ขอยืมใช้หน่อย)

วันที่สี่เป็นต้นไป สวนนวดกันจนนวดเป็น คุยกันไว้ว่าน่าจะสักสิบมื้อ

ขั้นตอนการคัดเลือกผู้เรียน คนทั้งเมืองรับได้แค่ยี่สิบสามสิบคนคัดเลือกลำบากเหมือนกัน คิดไว้ในใจอย่างนี้

มอบให้อำนาจการปกครองบ้าน(คณะกรรมการหมู่บ้าน)คัดเลือกจากคนที่มีคุณสมบัติดังนี้คือ อายุซาวห้าปีขึ้นไป มีใบรับรองประวัติไม่ด่างพร้อย มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคที่น่ารังเกียจ มีใบยินยอมจากผู้ปกครองหรือคู่สมรส คนที่มาจากครอบครัวทุกข์ยาก ครอบครัวแม่ร้างแม่ม่าย ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ขั้นตอนการเปิดร้านนวด ไม่อยากคิดถึงความยากในกระบวนการขออนุญาต น่าจะยกให้คณะบ้านออกหน้า เราสนับสนุนเรื่องการจัดสถานที่ อุปกรณ์ ผ้าเสื่อ ผ้าปู หมอน จะดีกว่า ที่สำคัญคือกระบวนการตั้งกลุ่ม และการเป็นพี่เลี้ยงในการจัดการบริหารแบ่งปันผลตอบแทนให้กับคนที่มาทำงาน

เคียงคู่ไปกับการเตรียมเรื่องนวด จะต้องตระเตรียมเรื่องโรงอบสมุนไพร และหมอยาหม้อยารากไม้ ซึ่งต้องมีกระบวนการกลุ่ม การสังลวมองค์ความรู้ การเตรียมสถานที่ เตรียมห้องอบแยกชายหญิง พัฒนาสูตรสมุนไพร พากันไปดูงาน เยอะแยะจิปาถะน่าสนุกจริงๆนะ

นี่เป็นสองกิจกรรมในศูนย์ธุรกิจชุมชนบ้านหานที่วาดฝันไว้ ยังไม่นับเรื่องตลาดชุมชน ชวนพี่น้องตั้งกลุ่มการผลิตปลูกผักปลอดสาร เพาะเห็ด เลี้ยงปลาเลี้ยงกบเลี้ยงจิ้งหรีดมาขายที่ตลาด ตั้งร้านค้าชุมชน ร้านอาหารของกลุ่มแม่บ้าน ร้านขายเครื่องหัตถกรรม ตั้งกลุ่มอาชีพให้แม่ยิงเกี่ยวกับหัตถกรรมตำแผ่น ปรุงแต่งอาหาร ร้านซ่อมรถถีบรถเครื่อง ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านโหลดเพลงลงมือถือ ร้านซักรีด ศูนย์เดย์แคร์ เอาไว้จะมาฝอยมาขายฝันในโอกาสอันควร

ปล. เป็นบทบันทึกที่คิดเป็นตัวหนังสือไว้ประกอบการเขียนแผนกิจกรรมของตัวเอง

ภาพประกอบเมื่อคราวจัดอบรมนวดแผนโบราณและหมอพื้นบ้านที่กกตูม ดงหลวง

 

 

 

 

 

 


คอบ

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 9 มิถุนายน 2012 เวลา 1:15 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1861

ประเพณีไทย “ไปลามาไหว้”

ในความหมายเดียวกันกับพี่น้องสองฝั่งแม่น้ำของ ทางนี้เรียกกันว่า ไปลา-มาคอบ

 

ตอนที่ผมไปทำงานกับพี่น้องชาวเผ่าโส้ที่ดงหลวง เจ้าโคตรลุงตาท่านก็ทำพิธีคอบบอกผีเจ้าปู่ด้วยการสังเวยหมูหนึ่งตัวพร้อมเหล้าไห เครื่องเซ่นหลังจากการเลี้ยงคอบเจ้าปู่ก็นำมากินข้าวเช้าข้าวงายสามัคคีกัน  ภายหลังการคอบพี่น้องชาวบ้านก็ยอมรับให้ผู้มาใหม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เมื่อหมดวาระการทำงานก่อนกลับพี่น้องท่านก็บอกว่าให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปคอบลาท่านที่ศาลเสีย หากไม่แล้วเกิดเจ้าปู่ท่านตรวจนับพลเมืองลูกหลานไม่พบผมแล้ว คนที่อยู่ทางนี้จะ “อยู่ไม่สุข” เมื่อท่านว่ากันอย่างนั้นเราก็ต้องทำตามแม้ในใจอยากจะแย้งว่าผมยังไม่ไปไหนยังเป็นลูกเป็นหลานจะกลับมาเยี่ยมยามถามข่าวทุกครั้งที่มีโอกาส

 

เมื่อเดือนก่อน พี่น้องชาวกิมมุบ้านนาหนองคำโยกย้ายหมู่บ้านไปที่ใหม่ คณะกรรมการหมู่บ้านเสนอของบประมาณมาขอซื้อเหล้าไหกับหมูไปประกอบพิธี “คอบ”ลาบ้านเก่า เมื่อไปถึงบ้านใหม่แล้วก็มีการ “คอบ”บอกเจ้าที่อีกรอบ พี่น้องชาวกิมมุเชื่อถือฤกษ์มื้อจั๋นวันดีกันค่อนข้างเคร่งครัด บางครอบครัวย้ายไปแล้วก็กองข้าวของไว้ใต้ถุนบ้านแล้วปูเสื่อปูผ้าใบนอนกันใต้ถุนบ้านกันหลายวัน ไปสอบถามดูได้คำตอบว่า รอให้ถึงมื้อดีก่อนค่อยขึ้นบ้าน บางครอบครัวจัดรถไปช่วยขนของนัดหมายวันกันแล้วก็มาขอเปลี่ยนวันเพราะวันที่นัดกัน “เป็นวันเสีย”ของครอบครัว พร้อมคำอธิบายว่า “พ่อข้อยตายมื้อวันจันทร์” พอถึงบางอ้อแล้วทีมงานก็ต้องปรับตารางให้ตามใจพี่น้อง สิ่งไหนจะช่วยให้พี่น้องสบายใจก็ต้องพยายามตามใจให้มากที่สุด

 

สัปดาห์ก่อนทีมงานบอกว่าเฒ่าแก่แนวโฮมบ้านชาวลื้อนาทรายคำถามถึง หากว่างให้ไปช่วยนั่งฟังพี่น้องวางแผน “คอบ”ก่อนการย้ายหมู่บ้าน ในฐานะที่เป็นคนแรกๆที่มาชวนพี่น้องคุยเรื่องการยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ใหม่มาเมื่อเกือบซาวปีที่แล้ว แม้ว่าทุกวันนี่ไม่ได้รับผืดชอบโดยตรงก็ต้องเอาหน้าไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เห็นเสียหน่อย

พี่น้องชาวลื้อมีพิธีการ “คอบ”ที่ซับซ้อนมากกว่าเพราะมีทั้งพิธีพุทธ และพิธีผี ท่านบอกว่าจะทำดังนี้

๑ พิธีคอบบอกที่ป่าช้า มีหมูหนึ่งตัว เครื่องสังเวย สะตวง และเครื่องประกอบ

๒ พิธีคอบบอกเจ้าที่เจ้าทางที่บ้าน หมูหนึ่งตัว เครื่องสะตวง

๓ พิธีย้ายวัด งานนี้สามวันนิมนต์พระชาวลื้อมาจากแขวงบ่อแก้ว เมืองฮุน และเมืองเงิน แต่ละที่ขับรถไปรับเป็นวันๆ ไม่เอาพระลาวในหงสาเพราะสวดไม่เหมือนกัน สำหรับพิธีกรรม วันแรกเป็นการเตรียมเครื่องไทยทานและเรือนหน้อยสองหลัง ทำบุญไปหาบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปพร้อมคอบบอกกล่าวว่าจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ วันที่สองเป็นการสวดเบิกและพิธีสึกพระพุทธรูปองค์ประธานเพราะในการเคลื่อนย้ายท่านไปวัดใหม่หากเกิดชำรุดต้องซ่อมแซมจะได้ไม่ “ขึด” ส่วนวันที่สามเป็นการไปทำบุญที่วัดใหม่

แผนการโยกย้าย ภายหลังที่เช้าของบ้านไปตรวจตราบ้านใหม่แก้ไขซ่อมแซมจนเป็นที่พอใจทุกหลังแล้ว ในวันย้ายท่านขอให้จัดรถกระบวนดังนี้ ท่านให้เอารถคันแรกแห่พระพุทธรูป คันที่สองให้พระนั่งอ่านธรรมใบลาน และพระเณรที่เหลือนั่งไปในคันที่สาม จากนั้นค่อยเป็นรถของพี่น้องชาวบ้าน ราวๆต้นเดือนหน้าอาจได้เห็นภาพ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจในบ้านใหม่ของพี่น้อง แต่หากพ้นวันที่ ๓สิงหา ก็ต้องรอไปอีกสามเดือน พี่น้องชาวลื้อไม่ย้ายบ้านในระหว่างเข้าพรรษาครับ   

 

เป็นอีกหนึ่งวิถีของหลายชนเผ่า…ที่ผ่านพบ


คิดแบบนักโบราณคดี

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 4 มิถุนายน 2012 เวลา 10:31 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1869

วันนี้ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเรื่อง Cultural Resources Management and Chance Find Procedure แปลง่ายๆก็คือ การจัดการด้านโบราณคดีกรณีพบเจอแล้วต้องหยุดงานด้านอื่นๆก่อน เช่นหากรถไปขุดเจอไหโบราณเข้าก็ต้องหยุดการขุดตรงนั้น แล้วแจ้งให้ภาคส่วนเกี่ยวข้องมาตรวจดูก่อนว่าจะอนุรักษ์ ขุดค้น หรือจะทำการใดๆ

ท่านรักษาการเจ้ากรมมรดกแห่งชาติ กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว มาบรรยายเอง อาสาพาตัวเองเป็นตัวแทนของหน่วยงานเข้าร่วมประชุมด้วยความชอบเป็นการส่วนตัว (อ่านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ฉบับละสิบสองบาทจนทุกวันนี้เล่มละร้อยซาว โหลดประชุมพงศาวดารมาอ่านครบตั้งแต่ภาค๑ถึงภาค๘๑….ท่าจะบ้า..ลุงเปลี่ยน)

แอบไปแต่เช้าเลือกที่นั่งที่มีปลั๊กไฟ เปิดคอมฯกะจะแอบทำรายงานที่ติดค้างคนเขาไปทั่ว คิดเอาไว้ว่าคงมีช่วงที่น่าเบื่อให้แอบทำรายงานบ้างล่ะ เมื่อคืนก่อนก็อยู่ถึงตีสี่ดันลุ้นผลกอล์ฟมากกว่าเขียนรายงาน คงต้องง่วงในห้องประชุมแน่ๆ ก็ดูตามตารางรายการท่านมีบรรยายตั้งเจ็ดบทจนถึงบ่ายสามแล้วจึงมีเวทีแลกเปลี่ยน

แต่เอาเข้าจริงๆกลับแทบละสายตาจากหน้าห้องไม่ได้เลย ท่านทำการบ้านมาดี ตั้งแต่เอกสารที่แจกภาษาอังกฤษงามหมดจด ภาษาลาวสำบัดสำนวนเหลือหลาย รูปภาพตัวอย่างที่นำมาฉาย ของตัวอย่างที่นำมาให้จับต้อง เครื่องมือหินตัด ขวานหินมีบ่า แวปั่นด้าย ไห ตะไลฝนยา เครื่องปั้น เครื่องเคลือบ

ที่น่าสนในคือตัวอย่างกระบวนการคิดแบบนักโบราณคดี ท่านยกตัวอย่างชามเครื่องเคลือบลวดลายสีน้ำตาล

มีรอยตำหนิคล้ายรอยแตกที่ขอบจาน

ท่านว่าเครื่องเคลือบด้วยน้ำยาชนิดนี้ วิทยาการมาจากทางพม่าและล้านนา (ความรู้สมัครเล่นของผมก็ว่าเคยเห็นจากเตาเผาสันกำแพง และอินทขิล แม่แตงบ้านผมเหมือนกัน)

ท่านว่ารอยตำหนินี้เกิดจากเตาเผาอุณหภูมิสูงเกินไป

แล้วท่านก็ชวนคิดต่อ ด้วยคำถามว่าชามมีตำหนิจากเตาอย่างนี้ใครเขาจะขนข้ามภูเขารอนแรมมาขาย (เขาก็ต้องเอาของงามๆมาขายสิ)

แล้วท่านก็ฟันธงว่า เมืองหงสาต้องมีเตาเผา ชามใบนี้ทำขึ้นแถวๆนี้นี่เอง

หาข้อโต้เถียงท่านไม่ได้จริงๆ

แล้วอันที่จริงเมื่อวันก่อนก็มีคนเจอเตาเผาแล้วด้วย(แต่ยังไม่ได้บอกให้ท่านทราบ)

นานๆพบเจอนักวิชาการเก่งๆครับ อดไม่ได้จึงนำมาเล่าอวด    

คำหลัก “คิดเป็นระบบ”


สันเก๊าไม้แดง …แห่งความหลัง

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 เวลา 3:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1390

 เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนแนะนำเวียกงานการห้างหาตระเตรียมการสร้างสาสวนใหม่ของพี่น้องนาหนองคำ ภาพที่เห็น เด็กชายนั่งปั้นข้าวเหนียวกินอยู่ที่ขนำ เถียงหรือสนำหรือขนำที่ยังมีเพียงโครงหลังคาส่วนฝาและพื้นยังไม่มี เจ้าหนูนั่งบนกระสอบผืนขาดๆ ข้างกายมีกระติ๊บข้าวกับแกลลอนน้ำปั้นข้าวกินอย่างเอร็ดอร่อย พ่อแม่วัยหนุ่มสาวขะมักเขม้นขุดหลุมเตรียมปลูกต้นไม้ตามคำแนะนำของวิชาการโครงการ

แทนที่ตามปกติจานเปลี่ยนจะตรวจดูสามสี่หลุม พูดคุยให้กำลังใจทีมงานและเจ้าของสวน ถ่ายรูปแล้วเคลื่อนไปสวนถัดไป สายๆก็กลับมาเขียนรายงาน (ก็เป็นที่ปรึกษาหญ่าย…หึ หึ) แต่สำหรับสวนนี้ ภาพที่เห็นทำให้ผมต้องฝืนสังขารลากเท้าเดินไปตรวจ ลึกเข้าไปจนเกือบทั่วแปลงจนทีมงานชวนให้เคลื่อนขบวนจึงค่อยปีนป่ายขึ้นภูกลับมาขึ้นรถ อยากอยู่ช่วยซุกยู้ครอบครัวนี้ สวนแห่งนี้น่าจะเป็นอนาคตของครอบครัวเล็กๆนี้ พร้อมกับแอบจดไว้ว่าต้องมาติดตามบ่อยๆ

ภาพเจ้าหนูนั่งปั้นข้าวในขนำ ทำให้นึกย้อนคืนภาพในอดีต สันเก๊าไม้แดง…แห่งความหลัง

สัน คือที่ดอนอยู่หัวนาตามปกติเป็นที่ปลูกผักปลูกไม้ หากต้องการขยายที่นาก็จะขุดบุกเบิกไปตามกำลังแรงงานและความจำเป็นของครอบครัว บางแห่งเจ้าของก็ใช้เป็นที่ปลูกเถียงนา บางแห่งก็เอาไว้ปลูกฝ้ายปลูกนุ่นปลูกปอและไม้ไผ่

สันเก๊าไม้แดง ชาวบ้านเรียกกันอย่างนั้นเพราะมีต้นไม้แดงต้นใหญ่เหลือยืนต้นเด่นเป็นสง่าอยู่ต้นหนึ่ง เป็นที่ดอนขนาดค่อนข้างกว้างมีห้วยล้องคำอยู่ด้านเหนือส่วนอีกสามด้านล้อมรอบด้วยทุ่งนา จำไม่ได้ว่าเจ้าของที่ดินเป็นผู้ใด อาจเป็นที่ดินที่ไม่มีใครจับจองเพราะเป็นดอนสูงบุกเบิกทำนาไม่ได้ หรือเป็นที่ของเจ้าของนารอบๆข้างแต่ใจดีให้พี่น้องมาปลูกผักปลูกหญ้าช่วยไล่หนูพุกไม่ให้มากัดกินข้าวในนา

ครอบครัวพ่อแม่กับบ่าอ้ายลูกโตนคนคึ ได้ยึดเอาสันเก๊าไม้แดงเป็นที่ปลูกผักปลูกหญ้าเลี้ยงตัวมาหลายปี ภายหลังจากที่เริ่มสร้างครอบครัวจากจุดเริ่มต้นด้วยอาชีพรับจ้างทำไร่ไถนา หาปลาขาย ทำนาผ่าครึ่งแบ่งข้าวกับเจ้าของที่นา จนได้มาจับจองที่ดินจัดสรรที่บ้านแพะที่ยังเป็นป่าหญ้าคาหนาทึบ กับตอไม้มากมาย ระหว่างสามสี่ปีแรกที่พ่อขุดตอไม้บุกเบิกผืนนาน้ำฟ้าในพื้นที่จัดสรร เราก็ได้พึ่งพาอาศัย “สันเก๊าไม้แดง” เป็นที่ปลูกผักหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ผักแบบที่พาสาปะกิดน่าจะเรียกว่า Cash crops  

พ่อแม่ออกจากบ้านแต่เช้า ขุดแปลงผัก เพาะกล้า ย้ายปลูก รดน้ำ ถอนหญ้า ตัดผักล้างผักจัดผักลงเข่ง ขนไปวางรวมกับเพื่อนบ้านที่จุดรวมผักริมถนนดำสายเชียงใหม่-ฝาง ลุงเจ็กโอ๋กับเจ๊เฮียงจะมารับซื้อแล้วขนใส่รถเข้าไปขายในเวียง

สมัยสี่สิบห้าปีที่แล้ว ผักที่ปลูกจำได้ว่ามีกะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหางหงส์ หน้าหนาวก็ปลูกถั่วลันเตา สมัยนั้นเข่งใส่ผักเป็นเข่งไม่ไผ่สานมีไส้ตรงกลางเป็นที่ระบายความร้อน หากเป็นกะหล่ำปลีเวลาตัดต้องทาที่รอยตัดด้วยปูนแดง นัยว่าทำอย่างนี้แล้วป้องกันไม่ให้กะหล่ำเน่าสามารถส่งขึ้นรถไฟไปขายกรุงเทพได้

แล้วบ่าอ้ายลูกโตนไปทำอะไรที่สันเก๊าไม้แดง บ่าอ้ายเป็นเด็กฝาก(เลี้ยง)(ก็คนน่าฮัก…หุ หุ) ฝากอุ้ยคนนั้นเลี้ยงบ้าง ฝากปี้สาวคนโน้นดูแลบ้าง แต่บางวันหากพี่สาวพาไปโลดโผน ไปหาขุดจิ้งกุ่ง หาเขียดมาปิ้งให้น้องกินจนนอนละเมอกลางคืน แม่ก็จะจัดการพาบ่าอ้ายลูกโตนไปนั่งควบคุมอยู่ในสายตาตลอดซาวสี่ชั่วโมง ก็ไปนั่งบนเสื่อก้อมผืนเล็กๆใต้ต้นไม้แดง นั่งนิ่งๆไม่ขยับออกพ้นเสือ หาเก็บเมล็ดไม้แดงไว้ให้แม่คั่วแต่ยื่นมือหาจากในเสื่อไม่ยอมลงดิน แมงแสนตีน(กิ้งกือ)เจ้ากรรมก็ชอบแกล้งเดินขึ้นบนเสื่อ บ่าอ้ายก่อ”หุย”จนกว่าผู้ใหญ่จะมาจับออก

นานๆครั้งที่เราต้องตัดผักไปขายเองในเวียง วันนั้นบ่าอ้ายได้ใส่ชุดใหม่ไปขายผักกับอี่ป้อที่กาดหลวง พ่อขายผักเสร็จก็ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักต่อ ก่อนกลับพ่อมักพาไปกินจิ้นลาบที่คิวรถ บ่าอ้ายจะได้กินต้มข่าไก่ใส่กะทิ ลำแต้ลำว่า ถ้าหากไปกับแม่ๆจะพาไปกินขนมจีนที่กาดใต้ดินเข้าหนมเส้นจานแบนๆเล็กๆกินหมดไวจริงๆกินยังไม่ทันหายอยาก

สันเก๊าไม้แดงนี่เอง ที่บ่าอ้ายคนดื้อแอบหนีพี่เลี้ยงไปตามหาพ่อแม่ แต่ตัวมันสูงไม่พ้นดงข้าวมันเลยหลงเดินวนในคันนาจนม่อยหลับ บ้านแพะถูกพลิกแผ่นดิน บ่อน้ำทุกบ่อถูกวิดงมหา แต่บ่าอ้ายกลับหลงวนจนม่อยหลับบนคันนา โดนอี่แม่แก้ผ้ามัดติดต้นมะม่วงเอามดแดงกัดซะให้เข็ดหลาบ

จำไม่ได้ว่าพ่อกับแม่เลิกปลูกผักที่สันเก๊าไม้แดงตอนไหน คงจะเป็นตอนที่ไร่นาผาต้างที่บ้านแพะได้รับการบุกเบิกจนเพาะปลูกได้ผลดีแล้ว หรือไม่ก็ตอนที่มีโรงบ่มใบยามาตั้งที่ใกล้บ้านพ่อหันมาปลูกยาสูบแทนปลูกผัก

เล่าฟื้นความหลังตัวเอง

แต่ในนั้นก็อยากแฝงเรื่องราววิถีการปลูกฝังเมื่อครั้งก่อน

คนเฮาเมื่อวำเข้าเลขห้าไปตางหน้า ย่อมมักเล่าความหลัง อิ อิ

อยากจะบอกเจ้าหนูในรูปให้ตั้งหน้าอย่าท้อถอย อยากบอกเจ้าว่าตาลุงที่นั่งรถคันโก้มีบริวารล้อมหน้าหลังที่เดินยักแย่ยักยันมาถ่ายรูปเจ้านั้น

เคยนั่งอยู่ตรงที่เจ้ามาก่อน

สู้ สู้ต่อไปเจ้า โตขึ้นจะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี


ตลาดชุมชน ข้อสอบเก่าในสนามสอบใหม่

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 เวลา 12:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2177

 

เหลือเวลาอีกสองเดือนเศษ กับงานเขียนที่ค้างคาอีกมากมาย แถมยังมีงานใหม่ที่อยากทำอีกหลายชิ้น อยากริเริ่มไว้ให้ผู้มารับไม้ต่อได้สืบสาน เผื่อประชาชีจะได้กล่าวขานถึงยามจากลา

หนึ่งในนั้นคือ งานกระตุกซุกยู้ผลักดันให้เกิดตลาดชุมชนที่บ้านจัดสรรใหม่ ตัวอาคารตลาดร้านรวงก็สร้างไว้ให้แล้ว มอบให้เมืองหลายเดือนแล้วก็ไม่เห็นท่านใดขยับ ปล่อยทิ้งเป็นโรงร้างให้เจ้าด่างเจ้าตูบนอนเล่น

ในยามที่พี่น้องย้ายบ้านย้ายเรือนมาใหม่ไกลจากตลาดเก่า ต้องวุ่นวายกับการต่อเติมบ้านเรือน การบุกเบิกไร่สวน หากมีที่ให้ซื้อหากะปิ น้ำปลา ซื้อผัก ซื้อปลามาต้มแกงก็คงจะดีไม่น้อย อันที่จริง โครงการท่านเลี้ยงข้าวปลาอาหารอิ่มหนำสำราญตั้งสามปีก็เถอะ แต่ท่านต้องอิงระบบบัญชีถึงเวลารอบเดือนท่านก็โอนเงินเข้าธนาคารให้แต่ละครอบครัว ท่านไม่ได้เอาข้าวเอาปลาไปแจก แล้วถ้าอย่างนั้นชาวบ้านจะไปหาซื้อข้าวสารได้จากไหน

กระไหนเลย อันตัวข้าพเจ้าเองก็เคยปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งกับตลาดชุมชนที่ดงหลวงมาไม่มากก็น้อย อาสาออกหน้าออกแรงอีกสักครั้งจะเป็นไรมี แต่หนนี้อดเหงาเปลี่ยวเปล่ามิใช่น้อย ก็ครั้งกระโน้นมีทีมงานที่ปรึกษาชุดใหญ่จากอาร์ดีไดนำโดยอ.สินีหวานใจพี่ไพศาลมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง แต่ครานี้ต้องบุกเดี๋ยว

หวังใจไว้ว่า รูปแบบของตลาดชุมชน จะต้องเป็นของชุมชน บริหารจัดการโดยชุมชน ขายสินค้าที่ผลิตในชุมชนเป็นหลัก(ยกเว้นที่ผลิตไม่ได้จริงๆ)

หวังใจไว้ว่า ตลาดชุมชน จะเป็นแหล่งที่ชาวบ้านสามารถมาซื้อหาผักปลาไปปรุงอาหารได้ใกล้ๆบ้าน ไม่ต้องไปตลาดไกล ออกไปในเมืองเปลืองน้ำมันรถไม่น้อย หากจะให้เดินผู้เฒ่าผู้แก่คงไม่ไหว

หวังใจว่า ตลาดชุมชน จะเป็นแหล่งขายสินค้าของพี่น้องชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัวที่เหลือกิน เห็ดที่เพาะกัน ปลาดุก กบ จิ้งหรีดที่ทางโครงการได้นำพาให้เลี้ยงกัน หากเหลือกินจะได้มีที่วางขาย

หวังใจว่า เด็กๆ คนสูงวัย คนยากคนจนจะได้ไปเก็บผักหักหน่อไม้หาเห็ดหาหอยหาปู ที่เรียกรวมๆว่า เครื่องป่าของนามาวางขายเป็นรายได้เสริม ผู้เฒ่า และเด็ก หามาได้สองสามกองได้ผักสองสามมัดก็มาวางขายได้

หวังใจไว้ว่า แม่บ้านแม่เรือนที่มีฝีมือปรุงแต่งอาหาร ทำขนมข้าวต้ม จะได้เอามาวางขาย เด็กน้อยมาหัดขายของช่วยแม่

และหวังใจไว้ว่า ตลาดชุมชนจะช่วยเป็นแหล่งเสริมสร้างสายใยในชุมชนที่ย้ายมาจากต่างบ้านต่างตำบล รวมถึงผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อน การแลกเปลี่ยนสินค้าคนนั้นมีผักคนนี้มีเห็ดหากพอใจก็แลกกันเอาไปแกงกิน คนเฒ่าคนแก่มาเดินตลาดลูกหลานแบ่งปันของให้ไปกิน  

จะต้องทำอะไรบ้าง

ต้องนำเสนอแผนงานให้ขั้นเมือง และห้องการค้าเมือง

ต้องไปหารือกับคณะกรรมการบ้าน ให้มีองค์การจัดตั้งมารับผิดชอบ และช่วยร่างกฏระเบียบต่างๆ

ต้องไประดมแม่ค้าชาวขาย งานนี้ไม่น่ายาก ทุกวันนี้คนเคยค้าเคยขายต่างตั้งหน้ารอ มีคนเคยขายอาหารปรุงสุกอยู่หลายเจ้า มีคนปลูกผักสวนครัวหลายแปลง มีเด็กนักเรียนทำแปลงผักงามๆที่ทีมงานไปสอนทำปุ๋ยหมัก มีกลุ่มปลูกผักบ้านแท่นคำอยู่ถัดออกไป เคยไปสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และสอนทำน้ำหมักชีวภาพอยู่หลายเจ้า ไปไหว้วานชวนมานั่งขายอาทิตย์ละวันคงไม่ใจดำปฏิเสธ

ต้องไประดมสาวๆให้หัดทำขนม กล้วยทอดกล้วยปิ้งมาขายเรียกหนุ่มๆ ทำไม่เป็นจารย์เปลี่ยนสอนเอง วุ้น ขนมรังนก ทองม้วน ขนมเพ้อเล้อ ข้าวต้มผัด ข้าวต้มหัวหงอก ขนมจ๊อก ทองม้วน กรอบเค็ม กะหรี่ปั๊บ ทับทิบกรอบ ทำเป็นหมดแหละ (เคยช่วยแม่ๆป้าๆทำเฉยๆจำได้รึเปล่าไม่รู้….ราคาคุยไว้ก่อน) ขายลูกชิ้นปิ้งเป็นตัวล่อเด็กๆน่าจะดี

ต้องไปโฆษณาชวนชักให้ชาวขมุบ้านนาไม้ยมไปหาเครื่องป่าของนามาขาย

ต้องไปชวนพี่น้องชาวม้งบ้านดอนใหม่ให้เอาข้าวสาร ผักผลไม้มาขาย แรกๆอาจมีสัตว์ป่าติดมาบ้างก็จะทำเป็นมองไม่เห็น ปล่อยๆไปให้ตลาดติดสักสามสี่นัดค่อยห้าม ชาวม้งชอบค้าชอบขายอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็เดินเก้ากิโลแบกผักมาขายในเมือง แต่ตลาดชุมชนบ้านเราอยู่ใกล้กว่าแค่สี่กิโลเมตรเอง ชาวม้งน่าจะมาขายกันหลายคน

และสุดท้ายต้องไปเชิญชวนอ้อนวอนให้มีคนมาซื้อ ทั้งพี่น้องชาวบ้าน พนักงานโครงการ(แกมบังคับ ฮ่า ๆ) รวมถึง(คุณนายแม่บ้าน)ของผู้หลักผู้ใหญ่ในเมือง

คงต้องมีการจัดหน้าม้าไปช่วยซื้อเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แม่ค้าในนัดแรกๆ (จานเปลี่ยนกระเป๋าแบนมานักต่อนักแล้ว..)

หน้าตาของตลาดชุมชน จะเป็นกาดขายของกินแบบกาดมั้ว มีขายผักทุกชนิดที่กินได้ ทั้งที่ปลูกในสวน หรือตามรั้วบ้าน และผักที่หาเก็บมาจากหนองน้ำชายป่าท้องไร่ท้องนา มีขายตัวเล็กตัวน้อยกุ้งหอยปูปลา ขายอาหารปรุงสำเร็จห่อหมก ต้ม แกง มีแผงขายหมู ขายไก่ มีรถสรรพสินค้าเคลื่อนที่มาขายสบู่ แชมพู คุถัง ถ้วยชาม ชุดนักเรียน

ในวันเปิด

จะมีพิธีอย่างเป็นทางการโดยผู้หลักผู้ใหญ่ของเมือง (และโครงการ)

จะมีเครื่องไฟเปิดเพลงกระหึ่ม มีน้องน้อยนักเรียนมาฟ้อน

จะมีการประกวดอาหารพื้นเมืองลาว หรือ พาข้าวลาว

จะมีการออกร้านขายเครื่องหัตถกรรมตำแผ่น เครื่องจักสาน มีดพร้า

จะมีพ่อค้ามาขายคุถัง กะละมัง  มุ้งหมอน ชุดนักเรียน

หลังวันเปิด

จะให้ทีมงานติดตามแม่ค้าชาวขาย ประเมินผล หาจุดดี แก้ไขจุดอ่อน สอนให้รู้จักคิดบัญชีต้นทุนกำไร

จะคุยกับคณะกรรมการตลาดชุมชนหาวิถีจัดการให้ตลาดบ้านเรายืนยงวัฒนาถาวร

โอม ……ขอให้สำเร็จ ๆๆๆ เพี้ยง

 

 

 

 

 



Main: 0.23575115203857 sec
Sidebar: 0.095848798751831 sec