คบเด็กสร้างเมือง
วันที่ ๙ พฤษภา เป็นวันของชาวไร่ชาวนาบ้านเรา ปีนี้พระโคจะเลือกกินข้าวหรือกินเหล้า พระยาแรกนาจะเสี่ยงผ้านุ่งยาวกี่คืบ คนบ้านเราคงจะทราบข่าวกันแล้ว
แต่สำหรับคนบ้านนี้ที่หงสา วันที่ ๑ เดือนมิถุนาของทุกปี เป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ และวันเด็กน้อยสากล (ของ สปป ลาว) ตามปกติ ทางโครงการจะร่วมกันปลูกต้นไม้ตามป่าแหล่งน้ำหรือบางปีก็ปลูกต้นไม้สองข้างถนนในตัวเมือง ส่วนกิจกรรมวันเด็กน้อยนั้นมีการแสดงของน้องน้อยเยาวชนที่สโมสรเมืองภายหลังจากมีกิจกรรมปลูกต้นไม้เสร็จแล้ว
แต่วันนี้โครงการฯมีดำริที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันเด็ก คณะผู้คิดการตั้งความคาดหวังกันไว้ว่า นอกจากงานนันทนาการในเวทีกลางแจ้งแล้ว ยังอยากจะเสริมความรู้ให้น้องน้อยที่มาร่วมงานได้ติดไม้ติดมือติดตัวกลับไปบ้าง อยากจะจัดฐานความรู้เพิ่มให้น้องๆได้มาแวะเล่นแวะรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดกันว่าน่าจะมีฐานด้านความปลอดภัยสุขภาพอนามัย ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการจัดการขี้เหยื้อ ด้านการปกปักรักษาป่าไม้ ฐานประกวดวาดรูป และฐานสุดท้าย……ที่คนที่คุณก็รู้ว่าใครเป็นผู้ยกมือเสนอแนวคิด คือ ฐานความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี ของเมืองหงสา
ทำให้ต้องมานั่งนึกตรึกตรองรับผิดชอบที่ตัวเองเป็นต้นคิด แถมด้วยกังวลนิดๆว่าจะพาเด็กๆสนุกไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์พื้นถิ่น และหมอลำพื้นบ้านแบบหงสาได้อย่างไรดี แต่ก็ไม่ถึงกับโยนผ้าขาวยอมแพ้ เป็นด้วยเพราะต้องการให้เยาวชนชาวหงสาตระหนักถึงมูลเชื้ออันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนรุ่นเก่าก่อน กะเอาไว้ว่าจะแบ่งการถ่ายทอดเรื่องราวออกเป็นสามส่วนให้น้องน้อยได้ฝึกทั้งการอ่าน การฟัง และการแสดงออก คือ ประวัติความเป็นมาของเมืองหงสา ขับลำเอกลักษณ์หงสา และฟ้อนรำวงลาว
ส่วนที่เป็นประวัติเมืองหงสา จะทำแผ่นโปสเตอร์เขียนแผนภูมิ คำบรรยายง่ายๆ แสดงเรื่องราวตั้งแต่ครั้งเป็นหงสายุคสมัยเจ้าฟ้างุ้มมหาราชที่จารึกไว้ในพงศาวดารล้านช้าง ที่กล่าวถึงเมืองเลือกที่ยังมีร่องรอยคูเมืองอยู่ (แสดงภาพถ่ายดาวเทียมแสดงคูเมือง) ถัดมาเป็นยุคที่เจ้าชมพูสามพี่น้องนำพาผู้คนมาจากเมืองเชียงค้อแขวงหัวพันมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ดงบ้านเก่าในปี ๒๑๑๒ ก่อนขยับขยายไปตามลำน้ำแหล้ น้ำเลือก และน้ำแก่น (แสดงรูปฐานวัดเก่าที่ขุดค้นพบที่ริมน้ำแหล้ และที่นาจาน) แต่คงต้องข้ามช่วงสำคัญที่ล่อแหลมกับความรู้สึกของพี่น้องไทยลาว นั่นคือยุคที่หงสาเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าขึ้นกับเมืองน่านของไทยและเมืองหลวงพระบางล้านช้าง จนกระทั่งเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาจัดการให้เป็นของฝ่ายล้านช้าง แต่หงสาก็กลับมาเป็นอำเภอหาญสงครามจังหวัดล้านช้างอีกในระยะสั้นๆตามการจัดการของมาหาอำนาจแห่งบูรพาญี่ปุ่น (ความจริงเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าข้าม แต่จะทำอย่างไรถึงจะนำเสนอได้แบบไม่ให้กระทบกระเทือนนำเสนอแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น คิดคิดคิด…) แต่คงจะเล่าถึงตอนที่รอ.ทวยหาญรักษาแต่งไว้ในนิราศหลวงพระบางคราวที่เดินทัพผ่านหงสาไปปราบฮ่อในปี ๒๔๒๘ (แต่ไม่รู้หนังสือเล่มเต็มหายไปอยู่ลังในสงสัยไปกับน้ำในลังที่เก็บไว้บ้านเพื่อนกรุงเทพฯ…อุตส่าไปเสาะหาได้มาจากร้านหนังสือเก่า) และเล่าเรื่องราวบันทึกถึง”ภูไฟ…บ่อถ่านหิน” ที่พระวิภาคภูวดล(เจมส์ แมกคาร์ธี)เจ้ากรมแผนที่คนแรกของไทยบันทึกไว้ในคราวที่ร่วมเดินทางร่วมทัพเดียวกันกับผู้ประพันธ์นิราศหลวงพระบาง เมืองหงสาตัดขาดอย่างเป็นทางการกับฝั่งไทยอย่างสิ้นเชิงหลังการสถาปนาสาธารณรัฐ (สปป ลาว) โดยถูกจัดเป็นเขตพิเศษเชียงฮ่อน-หงสา เมื่อยุบเขตพิเศษได้ขึ้นกับแขวงอุดมไช แล้วจึงโอนมาเป็นเมืองหนึ่งในแขวงไชยะบุรีในที่สุด
เมืองหงสามีขับลำท้องถิ่นที่ไม่ปรากฏมีที่ใดเหมือน เรียกว่า “การอ่านหนังสือ” เป็นการเกี้ยวพาราสีร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิงแต่ทำนองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนขับลำถิ่นอื่น ผมเคยไปนั่งฟังในงานบุญผะเวดวัดศรีบุญเฮือง เสียดายที่คนหนุ่มสาวชาวหงสาทุกวันนี้ไม่มีใครลำได้เลย คงเหมือนกับซอของล้านนาที่นับวันนับหายไปกับกาลเวลา จะดิ้นรนไปหาพ่อครูแม่ครูขับลำ “อ่านหนังสือ” อัดเสียงมาเปิดในฐานความรู้คงจะดีไม่น้อย นอกจากขับลำอ่านหนังสือแล้ว ขับลำท้องถิ่นในเมืองหงสายังมี ขับลื้อบ้านเวียงแก้ว ขับลำขมุที่เคยได้ยินที่บ้านห้วยเยอ ขับลำชาวลั๊วะบ้านกิ่วม่วง ขับชาวม้งบ้านดอนใหม่ ขับชาวเมี้ยนบ้านนาบ่าโลน และขับทุ้มหลวงพระบาง ก็จะขวนขวายหาทางบันทึกเสียงมาเปิดให้น้องน้อยได้มีโอกาสได้ฟัง หากใครฟังแล้วสามารถมาแสดงหน้าชั้นให้คนอื่นชมได้ก็จะมีรางวัล
ในส่วนการฟ้อนรำวงลาว น่าจะเป็นส่วนสนุกสนานส่งท้าย ว่าจะเกณฑ์เอาสาวๆหนุ่มๆทีมงานมานำน้องๆฟ้อนรำวงให้ถูกต้องตามแบบรำวงมาตรฐานของลาวสักหนึ่งเพลงพร้อมรับของที่ระลึก ก่อนจะปล่อยออกไปเรียนรู้ในฐานต่อไป
สุดท้ายมีเวทีรวมแข่งตอบปัญหาที่น้องๆเก็บเกี่ยวจากฐานความรู้ทั้งหมด ประกาศผลการประกวดวาดรูป มอบรางวัลเป็นเสร็จพิธี
มาร่วมกันปลูกต้นไม้เมืองหงสา มาช่วยกันคบเด็กสร้างเมืองกันไหมครับ
Next : ไม้เป็นยา » »
1 ความคิดเห็น
โอย ได้แต่ตาละห้อย อ่านแล้วอยากไปดู ไปชมมากเลยค่ะ ความสัมพันธ์ไทย-ลาวในอดีต คงเหมือนกับหลายเรื่องราวของหลายประเทศที่มีทั้งขัดแย้งและช่วยเหลือ ขึ้นกับผู้ครองเมืองเป็นสำคัญเนาะคะพี่เปลี่ยน
เหมือนจะมีราชวงศ์ของล้านช้างมาช่วยชม. ในการปกป้องเมืองจากอโยธยา และมีสายราชวงศ์ล้านนาไปครองเมืองล้านช้างเช่นกัน อยากไปฟังมั่กๆ แต่ปีนี้ขยับไปไหนไม่ได้เลยค่ะ เศร้าสุด (ตอนนี้ลุ้นว่าจะติดอีสุกอีใสจากเด็กน้อยที่ตรวจพัฒนาการของโครงการวิจัยจังหวัดต้นแบบ หรือเปล่า ถ้าติดนะสบาย ได้หยุดยาว วางทุกอย่างเลย อิอิอิ)