—
อุมามองดูต้นพุดตานซึ่งขึ้นอยู่ใกล้ๆ ดอกเป็นสีเข้มขึ้นตามอาการคล้อยของดวงตะวัน แล้วลุกไปเด็ดมาดูอย่างพิจารณาเช่นเดียวกับลูกจันทน์ซึ่งเก็บวางไว้ข้างตัว
ลายเถาดอกพุดตานเป็นลายงดงามประจำตามหน้าบันโบสถ์วิหารหลายแห่ง ส่วนลายประจำยาม พ่อครูเคยสอนว่ามีต้นกำเนิดมาจากลูกจันทน์…ผ่าเอาเนื้อข้างในออกเหลือแต่เปลือกนอก กลายเป็นดอกดวงสะสวย เหมาะจะต่อเติมเป็นลายประจำยาม แล้วแบ่งตัวเป็นแบบต่างๆซับซ้อนขึ้นตามฝีมือช่าง…ตอนเริ่มหัดเขียนลาย อุมาเขียนลายดอกประจำยามเสียจนขี้นใจ แล้วต่อมาก็หัดต่อเติมด้วยเส้นโค้งหรือเส้นม้วนตัวอ่อนสลวยเป็นรูปร่างต่างๆ– —เป็นจุดเริ่มของงานฝีมือมานับแต่นั้น
—
ความเป็นไปในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองนับเป็นสิ่งที่เหนือความคาดเดา
ความดีงามทั้งในตัวมนุษย์และในธรรมชาติได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความอยู่รอดในเชิงเห็นแก่ตัวอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และเรื่อยๆ…
จนมองไม่เห็นวันที่จะ หยุดนิ่ง..
ความเป็นไทยตลอดจนความเป็นไปในบ้านเมือง เมื่อถึงเวลานี้ก็เกือบจะกลายเป็นคนละอย่างเดียวกัน…
และคาดว่าอีกไม่นานก็คงไม่รู้จักกันสิ้น
ก็ดูอย่าง ตัวเรา ที่กำลังอยู่ในนาวาศตวรรษที่๒๑ ก็แทบจะไม่รู้จักอยู่แล้วหากไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกเล่มหนึ่ง…ผ้าทอง
บทบาทของครูไทยในสมัยก่อนสงครามโลกนั้นอบอุ่น เด่นชัด เป็นที่น่าเคารพสักการะบูชาแม้นเมื่อยามมีชีวิต
ความเป็นครู… พวกท่านเป็นกันในจิตวิญญาน และเป็นกันตลอดไปสำหรับศิษย์แต่ละคน
ความเป็นครู…พวกท่านไม่คำนึงถึงผลตอบแทนทางวัตถุ หากคำนึงถึงความเป็นไปของชีวิตลูกศิษย์ว่าจะดีหรือร้ายประการใด
ครู จะปรากฏอยู่เสมอในยามที่ลูกศิษย์ต้องการที่พึ่งพิงทางใจ
ครู จะปรากฏอยู่เสมอในยามที่ลูกศิษย์หมดสิ้นหนทาง
ช่างน่าเสียดาย…เมื่อเวลานี้ สิ่งดีงามเหล่านั้นได้ สูญหายไป จากสังคมไทยจนเกือบหมดสิ้นแล้ว
—อุมาหยิบกระดาษออกมา จะร่างลายตามที่ฝึกหัดเอาไว้ตั้งแต่เด็ก แต่แล้วก็ไม่มีสมาธิ เกิดความหงุดหงิดจนต้องเก็บใส่กล่องเอาไว้อย่างเก่า ในที่สุดหล่อนก็ลงจากเรือนพัก เดินไปทางด้านลึกสุดของวังติดกับแม่น้ำซึ่งมืดครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ๆจำพวกประดู่ ปีบ และสารภี ราวกับป่าจนเกือบมองไม่เห็นเรือนแพเก่าๆมีสะพานทอดจากเรือนแพขึ้นมาบนที่ดินชายน้ำ
เรือนแพหลังนั้นเคยเป็นที่เรียนวิชาพิเศษของอุมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโตเป็นสาว ผู้อยู่อาศัยคือสามีภรรยาแก่ๆคู่หนึ่ง—
—
เรือนแพแห่งนี้เปรียบเหมือนโรงเรียนสอนวิชาช่างและการเรือนสำหรับสาวๆในวังหลายต่อหลายรุ่น จนบัดนี้ก็ยังมีสาวชาววังรุ่นเล็กอายุสิบสามสิบสี่มาเรียนวิชาทำขนม หรือ เขียนลายไทยอยู่ทุกเย็นเมื่อกลับจากโรงเรียน
เมื่ออุมาไปถึง ป้าละไมกำลังทำขนมหม้อตาล— — — บรรดาเด็กสาวรุ่นๆที่มาเรียนก็ก้มหน้าก้มตาปั้นแป้งและเขียนลายกันอยู่อย่างเอาใจใส่—
“ไม่เห็นเสียหลายวัน คุณอุมา” ป้าละไมทักหญิงสาวเมื่อเดินข้ามสะพานมาถึงชานหน้าเรือนแพ
“กลับไปเยี่ยมบ้านค่ะ กลับมาเลยมีชาจีนกับน้ำผึ้งมาฝากด้วย” อุมาวางของแล้วยกมือไหว้ “น้ำผึ้งป่าแท้นะคะ ไม่มีน้ำเชื่อมปน”
“แหม ขอบใจนะแม่คุณ ขอให้เจริญๆเถอะ” ป้าละไมรับของไปด้วยความยินดี แล้วชวนคุยว่า…
”คิดจะมาเขียนลายใหม่บ้างหรือเปล่าล่ะ ติดขัดตรงไหนก็บอกพ่อเขาได้นะคุณอุมา”
“นึกๆอยู่เหมือนกันค่ะ พ่อครูอยู่ไหนล่ะคะ”
—
อุมาก็เลยช่วยปั้นแป้งไปบ้างฆ่าเวลา —
“วันนี้เป็นอะไรหรือเปล่า หน้าตาหมองๆ”
หญิงสาวฝืนยิ้ม “ดิฉันกลับไปเยี่ยมบ้าน คุณแม่ท่านก็ชวนให้กลับไปอยู่ด้วยกันเพราะทางบ้านไม่มีใคร พี่ชายเรียนอีกหลายปีกว่าจะกลับ ดิฉันเองก็ไม่อยากจากวังกลับไป แต่ก็เกรงใจคุณแม่”
ผู้สูงวัยปั้นแป้งพลางมองอีกฝ่ายพลางอย่างเห็นอกเห็นใจ
—
“ถ้าดิฉันไปอยู่ที่บ้าน คงจะไม่ได้มาหาพ่อครูกับคุณป้าอีก” อุมาพูดเสียงอ่อยๆ
“คิดถึงเมื่อไรก็มาหา ใช่ว่าอยู่ห่างไกลกันเมื่อไรล่ะ”
หญิงสาวปั้นแป้งอยู่สักพัก ป้าละไม— — —ก็บอกให้ไปเดินเล่นรอพ่อครูบนฝั่งเสียจะดีกว่า อุมาเดินข้ามสะพานกลับไปเดินเล่น เก็บลูกจันทน์ที่ร่วงหล่นอยู่ตามโคนต้นใหญ่ ดมเล่นได้กลิ่นหอมเอียนๆเพราะสุกงอมแล้วอยู่พักหนึ่ง ก็เห็นชายชราเดินหลังค้อมลัดเลาะหมู่ไม้มาแต่ไกล หล่อนจึงรีบสาวเท้าไปรับ ยกมือไหว้
“เจอป้าแล้วหรือ” — —
เมื่ออุมาตอบรับ เขาก็นั่งลงบนม้าหินเก่าๆแถวนั้น อุมาถอยไปนั่งบนรากไม้ใกล้ๆ เป็นที่รู้กันว่าครูกับลูกศิษย์ชอบสนทนากันในที่สงบ ปลอดจากเสียงเซ็งแซ่หรือหัวร่อต่อกระซิกของเด็กสาวๆในเรือนแพ
“ดิฉันยังตรองไม่ตกจะกลับบ้านดีไหม” หลังจากเล่าเรื่องอย่างย่อๆแล้วอุมาก็จบประโยคอย่างอ่อนใจ
สายตาขุ่นมัวตามวัยของครูมองลูกศิษย์อย่างปรานี แต่ไม่ได้ตอบ หญิงสาวจึงพูดต่อไปว่า
“ถ้ากลับไปอยู่บ้าน จะมัวแต่นั่งเย็บเสื้อปักผ้าอยู่ คุณแม่คงไม่ชอบ ท่านอยากให้ช่วยจดบัญชีทำรายรับรายจ่ายเรื่องเงินทอง คุณพ่อจะตั้งสโมสร ดิฉันก็ต้องไปช่วยเรื่องจัดอาหารคาวหวานเลี้ยงพวกสมาชิก ฝึกหัดคนเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำ แล้วยังต้องดูแลตึกดูแลสนามให้เรียบร้อยอีกด้วย ถ้าดิฉันไม่ทำก็เหมือนปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยอยู่สองคน”
“แล้วจะไม่มีเวลาว่าง พอทำอะไรที่เราชอบบ้างทีเดียวหรือ” ครูถามเสียงเนิบๆ
“ถึงมีคงยากละค่ะ ดิฉันหางานใหม่เอาไว้แล้วว่าจะปักฉากไปตั้งที่สโมสร คุณแม่เห็นเกี่ยวกับงานของคุณพ่อก็เลยไม่ดุ ที่จริงหาเรื่องทำไปอย่างนั้นเองเพราะจะเย็บปักอย่างอื่นท่านก็คงไม่ชอบเท่าไร แต่งานนะคะ ถ้าไม่ได้ฝึกฝนทุกวันแล้ว อีกหน่อยก็มือไม้แข็งจับดินสอจับเข็มไม่ถนัด”
“คุณอุมา” ครูผู้ชราเรียกเบาๆเป็นเชิงเตือน
—
“งานช่างอย่างนี้ จะว่าไปแล้ว ถึงทำแล้วรักจับอกจับใจ ทำเท่าไรไม่มีเบื่อ แต่ก็เป็นงานอาภัพ ช่างฝีมือยากนักจะร่ำรวยเหมือนอาชีพอื่น นั่งหลังขดหลังแข็งทำข้ามวันข้ามคืน ฝีมืออาจจะดี ทำด้วยความยากลำบาก แต่ว่าได้เบี้ยแทบไม่พอยาไส้ ครูเองถ้าไม่ได้อาศัยพระบารมีเสด็จฯ ก็คงไม่อยู่มาได้จนทุกวันนี้”
“แต่ทางบ้านของดิฉันก็ไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทอง” อุมาแย้งเบาๆ
“คุณมีหน้าที่ต้องรักษาสมบัติที่พ่อแม่หามาให้ คุณพ่อคุณแม่คิดถึงข้อนี้จึงอยากให้กลับบ้าน ไปฝึกฝนเรื่องค้าขายทำการทำงาน พี่ชายคุณก็อยู่ห่างไกลนัก คุณเองเป็นผู้หญิง ถ้าไม่รู้เรื่องภายนอกเสียบ้างก็จะถูกคนฉ้อโกงได้ง่าย”
พ่อครูกวาดสายตาไปรอบๆ ถอนใจแล้วปรารภว่า
“อยู่ในวังนี้ก็ได้ฝีมือได้ความรู้พอควรแล้ว เหลือแต่ว่าจะออกไปปฏิบัติตัวอย่างไรเท่านั้น คุณเป็นลูกสาวเศรษฐี ผู้คนมากมายย่อมหวังปอง…ไม่ใช่ปองตัวคุณอย่างเดียว แต่ปองมรดกของคุณด้วย หลังสงครามนี้ ศีลธรรมเสื่อมลงจนน่าใจหาย คนมีแต่คิดตะเกียกตะกายจะเอาเงิน หมดความละอายต่อบาปกรรม คุณจะต้องรู้เท่าทันคนพวกนี้ด้วย จะมัวแต่ผูกลาย เขียนลาย ปักผ้าอยู่ คงไม่ได้ละมัง”
คำตอบของครูทำให้อุมาอึ้ง ตอบไม่ทันว่าจะแย้งอย่างไร หล่อนไม่เคยคิดถึงข้อนี้มาก่อน — —
“คุณพ่อท่านก็มีมากแล้ว” หล่อนหลุดปากออกไปอย่างอึกอัก “ดิฉันไปทำอะไรได้”
นัยน์ตาอ่อนโรยของครูบอกความปรานี
“อีกหน่อยกลับไปบ้านก็รู้เอง การหาเงินมามากๆไม่ใช่ของง่าย ส่วนการรักษาเอาไว้ก็ยากพอกัน ยากที่สุดคือทำให้มันทวีขึ้น ครูรู้จักคุณพ่อคุณแม่ของคุณ ไม่ใช่ง่ายๆนะกว่าท่านจะเป็นเศรษฐีขนาดนี้ คุณเกิดมาตอนพ่อแม่ร่ำรวยแล้ว ไม่เข้าใจหรอก”
อุมานิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก็ตระหนักว่าถึงเวลาที่หล่อนจะต้องก้าวเดินไปทางใหม่แล้วอย่างไม่มีทางเลือก หล่อนจึงยกมือไหว้เป็นการรับโอวาท นิ่งอยู่สักครู่ก็เปลี่ยนเรื่อง
“ดิฉันตั้งใจว่าจะปักฉากเป็นฉากกั้นห้องค่ะ เคยเห็นตัวอย่างที่วัดเทพฯทำเป็นลายนกยูงเกาะกิ่งไม้ แต่ดิฉันว่าจะปักเป็นลายไทยดีกว่า คุณพ่อท่านมีเพื่อนฝูงเป็นแขกจีนฝรั่งมากมายจะได้อวดฝีมือเขาได้”
เมื่อพูดถึงลายไทย พ่อครูก็ดูกระปรี้กระเปร่าขึ้น
“เรื่องลายไทย ครูก็สอนมามากแล้ว คิดจะทำอะไรแปลกๆหรือเปล่าล่ะ ถึงได้มาถาม”
“ยังคิดไม่ออกเลยค่ะ ใจคอไม่ค่อยสบาย” อุมาตอบอย่างหงุดหงิดเล็กน้อย “ถ้าใจไม่สงบแล้วคิดอะไรไม่ออก ต้องเดินมาหาพ่อครู”
“ถ้างั้นก็ค่อยๆคิด ให้ใจเย็นเสียก่อน อย่ารีบร้อน” พ่อครูตอบ เสียงเหมือนปลอบเด็กขวัญเสีย
“อย่างที่เคยสอน ดูโน่นดูนี่รอบตัวไปก่อน แถวนี้ต้นหมากรากไม้มากมายพอจะคิดดัดแปลงได้ ลายไทยนั้นจะว่าไปแล้วก็เอามาจากของจริงในธรรมชาติ แต่เอามาปรุงแต่งด้วยฝีมือช่างแต่ละคน ไม่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ ถ้าลอกแล้วก็ไปถ่ายรูปเอาดีกว่า สะดวกกว่า”
คำสั่งสอนต้นตำรับนี้ อุมาฟังมาตั้งแต่เด็กจนโต จนท่องได้ขึ้นใจแล้วแต่ก็ไม่รู้สึกว่าซ้ำซาก เพราะพ่อครูพูดเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจนั่นเอง ไม่ใช่พูดแล้วพูดอีกด้วยความหลงลืมตามประสาคนแก่
“สมัยก่อนฝรั่งเข้ามาค้าขายในสยาม เห็นภาพวาดตามผนังโบสถ์เข้า ก็ไม่รู้จักของดีของงาม กลับไปว่าเป็นภาพน่าเกลียดไม่มีระยะใกล้ไกล ไม่เหมือนของจริงอย่างรูปวาดเมืองฝรั่ง เขาไม่รู้หรอกว่าคนตะวันออกไม่ลอกแบบธรรมชาติ แต่ประดิดประดอยขึ้นมาใหม่ให้งามกว่า เด่นชัดกว่า บางทีก็จับมาแต่เส้นแต่เค้าโครงที่งามจับใจ เพราะเรารู้จักความงามของเส้นมากกว่าความงามของแสงเงาอย่างฝรั่ง แล้วดูเอาเอง แม้แต่ใบไม้ใบเดียวก็มีเส้นสายที่งามเกลี้ยงเกลาเหมาะจะเอามาเพิ่มความโค้ง เพิ่มลาย เพิ่มอาการไหวสะบัด กลายเป็นลายไทยได้งดงามตามฝีมือช่างได้”
เสียงแหบๆเย็นๆของพ่อครูทำให้อารมณ์ของอุมาสงบลงอย่างรวดเร็ว หล่อนชอบใช้เวลาว่างทบทวนคำสอนของครู แล้วเด็ดดอกไม้ ใบไม้ในวังมาพิจารณา หรือไม่ก็ไปเดินเล่นริมน้ำ ดูระลอกน้ำไหวพลิ้วตามกระแสลม มองออกไปไกลเห็นพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามผุดสูงขึ้นทาบทับกับพื้นฟ้าสีครามสีเมฆอ่อนๆ ริมหยิกสวยลอยล่องกระจัดกระจาย อุมามักเอากระดาษติดตัวไปด้วย ขีดเขียนลายเส้นอะไรเรื่อยเปื่อยไปในอารมณ์สงบ แล้วได้ลายกลับมาสำหรับงานชิ้นใหม่
“อย่าปล่อยใจให้ขุ่นมัว บางทีของดีของงามอยู่ตรงหน้านี้เองมองไม่เห็น เพราะโทสะ โมหะ บังเสียหมด” …
พ่อครูเตือนอีกครั้งแล้วลุกขึ้น รับไหว้ลูกศิษย์ที่น้อมตัวลงไหว้อย่างนอบน้อม ก่อนจะเดินหลังค้อมข้ามสะพานไปที่เรือนแพ
—
ขอขอบพระคุณผู้ประพันธ์ ผ้าทอง ในนามปากกา แก้วเก้า … รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง วินิตา ดิถียนต์