บ้านชานเมือง (34) เช็งเม้งปีมังกรทอง
เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นวันเช็งเม้ง หรือ วันไหว้บรรพบุรุษ ของครอบครัวของเรา ปีนี้เป็นปีพิเศษของครอบครัว เนื่องจากลูก ๆ หลาน ๆ และเหลน ๆ ได้ไหว้ทั้งอากงและอาม่า พร้อมกันเป็นครั้งแรก เพราะอาม่าซึ่งเป็นหลักยึดของครอบครัวเพิ่งจากพวกเราไปเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ที่ผ่านมา และเนื่องจากวันเช็งเม้งโคราชตามปฎิทินจีนปีมังกรทองปีนี้ ตรงกับวันเสาร์พอดี จึงทำให้มีคนที่มาไหว้บรรพบุรุษมากเป็นพิเศษ คือคนที่ยังยึดถือถือเคร่งครัดตามวัน และคนที่ถือเอาวันเสาร์อาทิตย์ที่ใกล้ที่สุด มาไหว้ในวันเดียวกัน ดังนั้นการไหว้เช็งเม้งในปีมังกรทองปีนี้ของครอบครัวเรา ที่เป็นปีแรกของการไหว้อาม่าจึงมีญาติ ๆ มาไหว้อากงอาม่ามากกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา เป็นบุญของอาม่าจริง ๆ
ญาติผู้ใหญ่ที่มาไหว้ทุกปีไม่เคยขาดเลยก็คือ เหล่ากู๋ น้องชายของอาม่า ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นญาติอาวุโสที่สุดสำหรับญาติใกล้ชิดของเราที่ยังอยู่ที่โคราช ที่อาจจะเพิ่งมาไหว้ปีนี้เป็นปีแรกก็คือ โปยที่เป็นหลาน โดยเป็นลูกเหล่าเจ็ก (น้องชายอากง) เป็นอีกคนที่เดินทางมาพร้อมกับผลไม้ถาดใหญ่จากต่างอำเภอ ตั้งใจมาไหว้อากงอาม่าในปีนี้ สำหรับในสองภาพด้านล่างเป็น เจ้เค็ง (ลูกบุญธรรมของอาม่า) ที่มาไหว้ เหล่าโก (น้องสาวอากง) แม่และเตี่ยของเขา ก็พาลูก ๆ หลาน ๆ มาไหว้อากงอาม่าด้วย โดยที่สุสานของอาเตี๋ย (สามีของเจ้เค็ง) ที่จากไปเมื่อสองปีก่อนก็อยู่ใกล้ ๆ กันเช่นเดียวกัน พวกเราจึงมีโอกาสแวะไปไหว้เป็นการตอบแทนในปีนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มาพร้อมกันก็จะไม่ทราบที่แน่ชัด
ในการเริ่มต้นไหว้อากงอาม่า โดยธรรมเนียมปฏิบัติก็จะให้ลูกชายคนโต เป็นผู้เริ่มไหว้ก่อน โดยเริ่มด้วยการไหว้เจ้าที่ก่อน แล้วจึงมาไหว้อากงอาม่า เชิญมารับของไหว้ทั้งหลาย ทั้งของกินของใช้ต่าง ๆ ที่ลูกหลานนำมาไหว้ ต่อจากนั้นคนอื่น ๆ ก็จะทะยอยกันมาไหว้ ในช่วงเวลาที่รอลูกหลานที่เดินทางมาทีหลัง คนที่มาก่อนก็จะช่วยกันพับกระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อจะเผาส่งไปให้อากงอาม่า พร้อมกับของใช้อื่น ๆ ในตอนเสร็จสิ้นพิธี
ในภาพล่างคือ หลาน ๆ และเหลนของอาม่า ที่เป็นลูกของ เหล่าอี้ ท่าบ่อ (น้องสาวของอาม่า) ที่มาไหว้พ่อแม่ของเขาเช่นเดียวกัน ซึ่งทุกปีเขาจะมาในวันเสาร์จึงไม่ได้เจอกัน แต่ปีนี้มาวันเดียวกันจึงได้มาไหว้ และทำให้พวกเราได้แวะไปไหว้พ่อแม่ของเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งที่จริงก็อยู่ไม่ไกลกัน แต่ในปีก่อน ๆ จะมากันคนละวัน อีกภาพหนึ่งก็เป็นลูกชายเล็กและสะใภ้ ที่เดินทางมาจากจังหวัดขอนแก่นในเช้าวันนั้น กำลังไหว้อากงอาม่า ในขณะที่หลาน ๆ และเหลน จากจังหวัดอุบลฯ ก็กำลังจะมาไหว้อากงอาม่าต่อไป
สำหรับครอบครัวแพนด้าปีนี้ เราสองคนเดินทางไปสุสานตั้งแต่เช้า พร้อมกระเช้าผลไม้ ๕ อย่าง จำนวนสองกระเช้า ไปไหว้เล่ากงเล่าม่า และ อากงอาม่า เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่าน ๆ มา ปีนี้ได้มีโอกาสไปช่วยโกใหญ่และคนอื่น ๆ ในการจัดของไหว้อากงอาม่า ส่วนลูก ๆ เดินทางออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้าเพื่อมาสมทบ เนื่องจากติดภาระกิจในวันศุกร์ สำหรับลูกสาวคนกลางและครอบครัว ซึ่งทุกปีจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการเดินทางมาไหว้ ปีนี้ไม่ได้เดินทางมาไหว้ด้วยตนเองเนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ แต่ก็จัดการฝากขนมอร่อย ๆ มาไหว้อากงอาม่า แทน
« « Prev : บ้านชานเมือง (33) เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง
Next : บ้านชานเมือง (35) ความรักและการพัฒนา » »
5 ความคิดเห็น
ทุกคนที่ไปไหว้อ้วนท้วนสมบูรณ์ดีครับ แสดงว่าบรรพบุรุษให้พร
ผมเองก็เพิ่งไปไหว้ ก๊งไท่ (แคะ) ที่ราดรี เมื่ออาทิตย์ก่อน อาทิตย์นี้ก็จะไปไหว้เตี่ยที่สระแก้ว ในห้องสมุดที่สร้างไว้ (ผมเสนอพี่น้องว่าอย่าไปสร้างฮวงซุ้ยเลย เอาเงินมาสร้างห้องสมุดให้วัดดีกว่า แล้วเอากระดูกเตี่ยวมาใส่ผะอบไว้ที่เสา)
ดังนั้นทุกปีพวกเราก็มาไหว้ “ขี้เถ้า” เตี่ยที่ห้องสมุดในวัดประจำจังหวัด นิมนต์พระมาสวดบังสุกุล (เจ็กผสมไทย) พอพระไป จากนั้นก็เจี๊ยะกันสนุกสนาน
เบิร์ดชอบการพับกระดาษในงานเช็งเม้งที่สุดเลยค่ะ สนุกชะมัด เพราะกระดาษแผ่นเดียวพับได้ตั้งหลายแบบทั้งเรือ(ค้อซี?) ก้อนทอง ทองแท่ง ฯลฯ
ว่าแต่พี่แพนด้าทราบมั้ยคะว่ากระดาษเงินกระดาษทองที่เราใช้ไหว้ มีวิธีการทำยังไง? (ถามแม่ แม่บอกให้ส่งไปที่รายการกบนอกกะลา จะได้รู้ว่าเขากันยังไง 555) เพราะเบิร์ดว่ามันน่าทึ่งมาก ทั้งเหนียว สีเงิน-ทองก็ติดแน่นไม่หลุดง่ายๆ แต่ติดไฟง่าย ลุกไหม้เร็ว
จะไปเช็งเม้งที่ตรังเมษายนนี้