ไปพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากพากลุ่มชาวนาจากโคราชไปเยี่ยมชมกิจกรรมการเกี่ยวข้าวของชาวนามืออาชีพ ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จ. ปทุทธานี ในครึ่งวันเช้าแล้ว มีเวลาอีกครึ่งวัน เราจึงตัดสินใจพากลุ่มชาวนาที่มีความสนใจที่จะหันมาทำนาดำแบบอินทรีย์และตามรอยพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำการเกษตรตามหลักปรัญญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจะไปดูแปลงสาธิตที่ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ ๔๖-๔๘ ตรงข้ามโรงพยาบาลนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ๑๒๑๒๐ ซึ่งจากข้อมูลที่ดูจากเว็บไซด์ของพิพิธภัณฑ์ แจ้งว่า เปิดให้บริการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. ปิดบริการเข้าชมวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
พวกเราเดินทางถึงพิพิธภัณฑ์ฯ ในเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ทุกคนดีใจที่ได้มา รีบถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึกที่บริเวณหน้าตึกแสดงนิทรรศการ ก่อนที่จะเดินเข้าไปด้านในตึก ลงชื่อเพื่อเข้าเยี่ยมชม แต่ความดีใจเมื่อสักครู่ก็ต้องละลายหายไปหมด กลายเป็นความผิดหวัง เมื่อได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า “การจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด กำลังอยู่ระหว่างการจัดซ่อมแซม ปิดให้บริการ จนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔” ผมถามว่ามีแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์แจกหรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มี เพราะวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ไม่มีเจ้าหน้าที่มาทำงาน ทำให้ผมยิ่งงงใหญ่ เพราะจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ฯ บอกว่าเปิดให้บริการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. (http://www.wisdomking.or.th/wisdomking/th/index.php?option=com_content&view=article&id=56&Itemid=53)
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังบอกต่อไปว่า การจะมาชมพิพิธภัณฑ์ฯ ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่มาล่วงหน้า จึงจะมีคนนำชม ยิ่งทำให้ผมผิดหวังมากขึ้น แสดงว่าการมาชมที่นี่ต้องมากันเป็นแบบกลุ่มหรือคณะใหญ่ ๆ อย่างเดียวเท่านั้น ประเภทมาเองก็ต้องช่วยตัวเองไป โอ้ ช่างเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สุดยอดจริง ๆ (ด้านบวกหรือลบ คงไม่ต้องบอกนะครับ) การจัดนิทรรศการ ในพิพิธภัณฑ์นี้ผมเคยเห็นในทีวีมาหลายครั้ง และตั้งใจว่าจะต้องแวะมาดูมาชมด้วยตาของตนเองให้ได้สักครั้ง ลูกเคยถามว่าอยากจะไปเที่ยวไหนตอนมากรุงเทพฯ ขอให้บอกจะพาไป เคยบอกลูก ๆ ไว้ว่าถ้าได้มาและมีเวลาอยากจะมาที่พิพิธภัณฑ์นี้ เพื่อชื่นชมว่า ในหลวงทำอะไรให้กับชาวนาและเกษตกรไทยบ้าง
ด้วยศิลปะการพูดคุยของอาม่าซึ่งดีกว่าผม ทำให้ในที่สุดเจ้าหน้าที่อีกคนก็ไปหยิบแผ่นพับมาให้จำนวน ๑๒ แผ่น ตามจำนวนกลุ่มของเราที่ไปในวันนั้น หลังจากอาม่าเป็นตัวแทนกลุ่มในการเซ็นชื่อในสมุดเยี่ยม (แต่ไม่ได้เข้าชม) เสร็จแล้วเราก็เดิน ๆ ชื่นชมความอลังการณ์ของสถานที่ ก่อนที่จะกลับมาที่รถตู้แล้วขับวนดูบริเวณจัดแสดงนอกอาคาร ซึ่งแน่นอนเป็นสิ่งที่เกษตรกรหรือชาวนาตัวจริงคุ้นชินอยู่แล้ว ก่อนเดินทางกลับโคราช ชาวนาหลายคนก็ยังอุตส่าห์พูดว่า “เพียงมาได้เห็นแค่นี้ก็เป็นบุญแล้ว” เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การจะเดินทางมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ “ต้องติดต่อล่วงหน้า และคงต้อนรับเฉพาะการดูงานเป็นกลุ่มจากหน่วยงานเท่านั้น” ช่วงนี้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ อย่าไปนะครับ….อิอิ แม้ว่าบนเว็บไซต์จะบอกว่าเปิดให้บริการ
« « Prev : คุยกับแพะ
Next : อาม่าไซเง็ก (๑๐) พิธีไหว้ครบ ๔๙ วัน » »
3 ความคิดเห็น
โอ้ พูดบ่ออกเลยค่ะ
ทริปนี้ตามใจทุกคนค่ะ และตั้งใจพิเศษให้หมียักษ์ ด้วยเพราะอยากมาชมพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ แต่พบความจริงหลายๆ อย่าง “สิ่งที่เราคิด อาจไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น” “สิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เราคิด” สิ่งที่ผิดปกติเราเห็นจนชินตา อนิจจาหญ้าขึ้นรกรุงรัง …อะไรอีกหลายมันอย่างสะท้อนการทำงาน แบบลูบหน้าปะจมูก ผักชีอายุสั้น จึงปลูกไว้ใช้ตอนต้องการโรยหน้า…อิอิ