วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๑๔) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หลังจากพิธีการ คือการกล่าวรายงาน การกล่าวเปิดและกล่าวต้อนรับแล้ว ก็เป็นการปาฐกถาพิเศษเรื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ โดย นายอำพน กิตติอำพน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขยายแนวคิดเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาตั้งแต่ต้น ก็อย่างที่ผู้บรรยายได้กล่าวในช่วงต้นของการบรรยายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านพูดมาแล้วจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนและปรากฏอยู่ในหนังสือเอกสารและสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก ที่ผู้คนที่สนใจคงได้อ่าน ได้ดู ได้ฟังกันมาแล้ว ผมจึงไม่ขอนำมากล่าวซ้ำอีก แต่จะขอนำภาพสรุปที่สำคัญมาให้ชมแทนครับ
ภาพข้างล่างเป็นภาพสรุป แนวคิด หลักการ เงื่อนไข และ เป้าประสงค์ ของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ฉบับของแท้ ต้องมีคำว่า “ของ” ไม่ใช่ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และที่สรุปกันเป็น หลักสามห่วงสองเงื่อนไข นั้นก็ถือว่าไม่ครบทีเดียว เพราะขาดเงื่อนไข ความเพียร ที่ประกอบด้วย ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร และความมีสติ
หลังจากให้หลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้องแล้ว ท่านก็นำเสนอเรื่องของ ความ(ไม่)สมดุลของอีสาน เมื่อเทียบกับของประเทศ ในแง่ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เมื่อเทียบกับพื้นที่และประชากร
ตามด้วยภูมิคุ้มกันที่ขาดหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงของสภาพครอบครัวและสังคม
และในตอนท้ายท่านผู้บรรยายได้ทิ้งคำถามไว้ให้คิด ด้วยภาพว่า “ใครคือคนรวย… ใครคือคนจน…” ระหว่าง คนกรุง…กับ คนชนบท…
แต่เสียดายที่เมื่อท่านบรรยายเสร็จ ท่านก็ต้องรีบเดินทางไปงานที่อื่น จึงมีโอกาสได้ตอบข้อซักถามเพียงสองสามคำถามเท่านั้น ต่อจากนั้นก็เป็นการนำเสนอเรื่อง บทบาทของวุฒิอาสาธนาคารสมองในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ที่ผ่านมา) โดยนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการฯ ส่วนแผนการดำเนินการต่อไปก็นำเสนอกว้าง ๆ ตาม 6 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ในแผนฯ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559)
« « Prev : วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๑๓) เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านใหม่
Next : อาม่าไปไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิม » »
1 ความคิดเห็น
[...] ผมอ่านบันทึกวุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๑๔) หลักปรัช… ของท่านอาจารย์แพนด้าด้วยความสนใจ และติดใจสไลด์อยู่แผ่นหนึ่ง [...]