บ้านชานเมือง (29) ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน

อ่าน: 4201

      วันนี้นำภาพราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน  ที่บ้านมาฝากกันครับ นั่นคือ ดอกชบา  ซึ่งมีปลูกอยู่ในบริเวณบ้านหลายต้นและมีหลายสี ทั้งแดง ชมพู ขาว และ เหลือง  มีลักษณะที่แตกต่างกันมากเนื่องจากการผสมพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์เพื่อนำมาใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ในปัจจุบัน

 

          เพื่อให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จาก ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยเฉพาะจากอินเทอร์เน็ตและ เครื่องมือช่วยค้นหา (Search Engine) ตัวเก่งสุดในยุคนี้ คือ พ่อกู หรือ อากู๋ (Google.com)  จึงนำผลการค้นแบบง่าย ๆ ด้วยการใช้คำค้นว่า “ดอกชบา+ชื่อวิทยาศาสตร์”  ผลการค้นออกมาจะแสดง  ผลการค้นหา 1 - 10 จากประมาณ 19,600 รายการ สำหรับคำว่า ดอกชบา+ชื่อวิทยาศาสตร์ (0.15 วินาที) แถมด้วยการแนะนำการค้นหาที่เกี่ยวข้องในตอนท้ายอีกด้วย

     ข้างล่างคือตัวอย่างข้อมูลจากสองรายการครับ

1.    (อ้างอิงจาก : เว็บมูลนิธิสุขภาพไทย http://www.thaihof.org/content/%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B2-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%AE%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B8%A5)

    ต้นไม้ต้นหนึ่งที่คนไทยรู้จักดี ดอกสีสดสวยงามแต่คนไทยมีการนำมาใช้ประโยชน์ไม่มากนัก นั่น คือ ต้นชบา    เหตุที่คนไทยไม่ค่อยนำชบามาใช้ประโยชน์ อาจเป็นเพราะชบาเป็นพันธุ์ไม้ต่างถิ่น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน อินเดียและเกาะฮาวาย ตอนที่แพร่พันธุ์เข้ามาคงเพราะเห็นในความสวยงามของดอกสีแดงสด ในเวลานี้ก็ยังมีคนนำไปปลูกไว้ริมรั้วหน้าบ้าน แม้จะไม่ใช่ไม้ประดับอินเทรนด์์เช่น ลีลาวดี แต่ก็ยังพบเห็นได้ทั่วไป เมื่อได้พิศมองดอกสีแดงๆ แล้วก็เกิดความสบายใจนอกจากนี้ดอกชบาที่เงาะป่าใช้ทัดหูยังขึ้นชั้นให้เป็นครูสำหรับเด็กๆ ตามตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ จะนำเอาดอกชบามาเป็นต้นแบบในการศึกษาโครงสร้างของดอกไม้ เพื่อเรียนรู้เกสร กลีบดอก ใบ ฯลฯ ชบาจึงไม่ธรรมดาแค่ไม้ประดับ

   ชบา มีชื่อ วิทยาศาสตร์ :   Hibiscus rosa-sinensis L. อยู่ในวงศ์ :  Malvaceae

   ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Rose Mallow หรือ Chinese Rose และ เนื่องจากดอกชบามีความสวยงาม และมีสีสันสดใส ชบาจึงได้ชื่อว่า Queen of Tropic Flower หรือ ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน   เป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซียและจาไมก้า   และเป็นดอกไม้ประจำรัฐฮาวาย

   ที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่ได้นับดอกชบาเป็นไม้ประจำชาติหรือประจำรัฐ แต่คนอินเดียนับถือดอกชบาอย่างยิ่ง โดยชาวฮินดูยกย่องให้ชบาเป็นตัวแทนของแม่พระกฤษณะ และตอนที่อยู่อินเดียได้พบเห็นพิธีกรรมในวันโกนก่อนวันพระของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีพิธีบูชาพระกฤษณะ ชาวอินเดียทุกบ้านจะทำการปรับพื้นดินหน้าบ้านให้เรียบเป็นรูปวงกลม แล้วทำให้ภายในวงกลมเปียกชื้น จากนั้นวางดอกชบาลงตรงกลาง และวางเศษใบตองหรือใบไม้ซึ่งใส่น้ำตาลไว้ด้วย โดยวางไว้ด้านข้างดอกชบาถือเป็นการบูชาแม่พระกฤษณะ เทพแห่งความรักเสียงเพลงและการฟ้อนรำ    แสดงให้เห็นว่าคนอินเดียถือว่าชบาเป็นดอกไม้ชั้นสูง และเมื่อไปเยี่ยมชมตามศาสนสถานของฮินดู ก็พบว่าคนอินเดียนำชบาเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระกฤษณะในทุก ๆ ที่ นอกจากจะใช้ดอกชบาในการแสดงความเคารพหรือเป็นตัวแทนสิ่งศักสิทธิ์แล้ว ชบายังเป็นไม้ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพได้หลากหลายด้วย ในประเทศอินเดียมีการใช้ส่วนต่าง ๆของชบาเป็นสมุนไพรเพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น ดอก ชบา สดหรือแห้งใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับเลือด เช่นผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือเป็นตกขาว ภาษาอีสานบ้านเราเรียกว่าหมากขาว ใช้แก้ คอมดลูกอักเสบ หรือใช้ชงดื่มลดพิษไข้ กลีบดอกขยี้ให้ช้ำทาศีรษะเป็นยาบำรุงผม หรืออาจใช้ส่วนของ ใบ ประมาณหนึ่งกำมือผสมน้ำเล็กน้อยขยี้ให้แหลกคั้นเอาเฉพาะส่วนของน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกชะโลมเส้นผม จะทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม      ส่วนของ ฐานดอก ตำให้แหลกใช้พอกแผลไฟไหม้ได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ดอกสดยังสามารถนำมาแช่น้ำดื่มดับกระหายและลดความร้อนภายในร่างกายได้อย่างไม่น่า เชื่อ ความรู้นี้ได้จากประสบการณ์ตรงซึ่งเพื่อนชาวอินเดียทดลองทำให้กิน เนื่องจากการประชุมมีการออกไปทำงานในภาคสนาม ซึ่งมีอากาศร้อนมาก เมื่อกลับมาที่พักเพื่อนชาวอินเดียได้นำเอาดอกชบา 3-4 ดอกมาแช่น้ำให้ดื่ม เพื่อช่วยลดความร้อนภายในร่างกายได้ จากการพูดคุยทำให้ทราบว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย ซึ่งจะต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับลูก หลาน เหมือนกับการสืบสานวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การเรียนรู้จากโรงเรียน ที่ถือเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งเด็กๆ ชาวอินเดียจะได้เรียนรู้จากทั้งสองส่วนแล้วนำมาบูรณาการ เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุลและประโยชน์ของชบายังมีอีก คือ ส่วนของ ราก เมื่อ นำมา โขกให้ละเอียดใช้พอกแก้ฟกบวม พอกฝี ลดการอักเสบ หรือนำมาเป็นส่วนผสมของยาระบาย ใช้ทาผิวหนังให้ชุ่มชื้น รากตำผสมกับเปลือกเป็นยาแก้ไอ ขับน้ำย่อย และใบตำผสมกับดอก ใช้รักษาอาการเลือดกำเดาออก แก้ฝีพุพองได้ เปลือก มีสรรพคุณในการรักษาโรคติดเชื้อที่เป็นเชื้อราโดยเฉพาะฮ่องกงฟุต

     กลับจากแดนภารตะแล้วก็พบว่าคนไทยก็ใช้ประโยชน์จากชบาอยู่บ้าง เช่นที่ชาวแสก บ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เรียกชบาว่า ต้นดอกไม้ และมีการใช้ดอกชบาเป็นยาสมุนไพรสำหรับเด็ก เมื่อเด็กเป็นไข้จะใช้ดอกชบาขยี้โปะที่กระหม่อมของเด็กทำให้ลดไข้ได้เป็นอย่างดี

     คนอินเดียยกย่องชบาให้เป็นเครื่องบูชาของสูง อาจจะเป็นเพราะสรรพคุณที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้แทบทุกส่วนของต้น สำหรับคนไทยแม้จะไม่ค่อยคุ้นเคยการนำชบามาใช้มากนัก แต่ถ้าเราเรียนรู้อยู่เสมอ ชบาดอกแดงแรงฤทธิ์นี้ ก็น่าจะปลูกอยู่หน้าบ้านของเรา เพื่อเป็นสมุนไพรของโฮมสคูล โรงเรียนประจำบ้านของทุกคน เพื่อให้ชบาสร้างสุขด้วยสีสันสดใส และสร้างเสริมการดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งตนเอง.

2. ( อ้างอิงจาก : สองจุก (ขนิษฐา ไชยเต็ม) วิชาการ.คอม  http://www.vcharkarn.com/vblog/49755 )

       ชบา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus syriacus L.; Hibiscus chinenis DC. ) เป็นไม้ในสกุล Hibiscus มีถิ่นกำเนิด จาก ประเทศจีน ที่มีความผันแปรทั้งรูปทรงของใบ ลำต้น และดอกมาก ตลอดจนปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย จากความสวยงามของดอกทำให้ได้รับสมญาว่า Queen of Tropic Flower หรือ ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน เป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซียและจาไมก้า และเป็นดอกไม้ประจำรัฐฮาวาย ส่วนในศาสนาฮินดูถือว่าเป็นดอกไม้ของเจ้าแม่กาลี

  ชบาไทย

       ชบาเป็นไม้พุ่มขนาด 1-3 เมตร อาจสูงได้ถึง 7-10 เมตร ใบรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมเรียว ขอบใบจักหรือขอบใบเรียบ ดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว กลีบรองดอกมี 2 ชั้น สีเขียว ดอกมีทั้งดอกลาและดอกซ้อน มีหลายสี มีทั้งดอกใหญ่และดอกเล็ก ถ้าดอกลาจะมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้เป็นดอกยาวยื่นขึ้นมากลางดอก ปลายสุดเป็นยอดเกสรตัวเมีย แยกเป็น 5 แฉกสีแดง เกสรตัวผู้ติดรอบๆ ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกตลอดปี

 การปลูกและดูแลรักษา

      ชบาทำการขยายพันธุ์โดย ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เสียบยอด เป็นไม้ดอกที่ปรับตัวเจริญเติบโตได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่ที่เหมาะสมคือสภาพอากาศอบอุ่นจนถึงร้อน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่มีน้ำขังแฉะ การให้น้ำควรให้สม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำจะสลัดใบล่างทิ้งอย่างรวดเร็ว

  •  แสง ชอบแสงแดดมาก
  • น้ำ ต้องการน้ำพอประมาณ
  • ดิน เป็นไม้ที่ปลูกได้ง่ายสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ไม่ควรให้ดินเปียกหรือแฉะเกินไป
  • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
  • โรคและแมลง ไม่ค่อยมีโรค จะมีก็แต่เพลี้ยที่รบกวนอยู่
  • การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยยามาลาไธออนหรือไดอาซินอน ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในฉลาก

 (ชบา เป็นดอกที่สมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย)

 สรรพคุณทางยาและประโยชน์

      ในคัมภีร์อายุรเวท พูดถึงสรรพคุณของดอกชบาว่า ช่วยฟอกโลหิต บำรุงจิตใจให้แช่มชื่น บำรุงผิวพรรณ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาและบรรเทาโรคเกี่ยวกับไต

 

      จะเห็นว่า การค้นหาข้อมูลสารสนเทศจากอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นง่ายมาก ๆ ครับ แต่จากข้อมูลมีมากมายเช่นนี้ (เกือบ สองหมื่นรายการ ในกรณีตัวอย่างนี้) สิ่งที่สำคัญมากกว่าจึงเป็น การคัดเลือกหรือประเมินความน่าเชื่อถือว่า ข้อมูลที่ได้อันไหน น่าจะนำมาใช้ได้ครับ

« « Prev : ข่าวด่วน…ข่าวดีหรือข่าวร้าย

Next : บ้านชานเมือง (30) วันอนุรักษ์มรดกไทย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 สุวรรณา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 เมษายน 2010 เวลา 15:47

    สวัสดีค่ะที่หอพัก สีชมพู ขาว บาน เหมือนกันค่ะ แต่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน คนสวย คงดูแลไม่ค่อยดีเหมือนของอาจารย์ค่ะ สุดท้ายกราบฝาก ฝากความคิดถึงให้อาจารย์หลิน นะคะ

  • #2 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 เมษายน 2010 เวลา 20:27
    ขอบคุณมากครับ ที่แวะมาเยี่ยม ที่ มน. ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ คุณสุวรรณา

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.34104800224304 sec
Sidebar: 0.12058901786804 sec