บ้านชานเมือง (30) วันอนุรักษ์มรดกไทย
วันนี้เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย และเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขอนำเรื่องราวของ ดอกไม้สีน้ำเงินม่วง ที่มีประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งมาให้ได้รู้จักกันครับ นั่นคือ ดอกอัญชัน ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาคัดเลือกจนมีหลายสี หลายแบบด้วยกัน ที่บ้านมี สองสี สองแบบดังภาพครับ
สำหรับเรื่องราวของ ดอกอัญชัน เราสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย โดยผ่าน พ่อกู (Google.com) เพียงแต่เราเริ่มพิมพ์คำที่ต้องการที่จะค้นลงไปในช่อง เช่นในที่นี้คือคำว่า “ดอกอัญชัน” พ่อกูก็จะเดาว่าเรากำลังต้องการจะค้นหาเรื่องอะไร เกี่ยวกับดอกอัญชัน และขึ้นตัวเลือกให้เรา เช่น ดอกอัญชัน สรรพคุณ ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลูกผม คุณสมบัติ เป็นต้น ถ้าไม่มีตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการของเรา เราก็สามารถพิมพ์ลงไปเองได้ ในกรณีนี้สมมติว่าเราต้องการรู้เรื่อง สรรพคุณของดอกอัญชัน ก็เลือกตัวเลือกแรกได้เลย และสามารถคลิ๊ก ตามไปดูเนื้อหาที่มีทั้ง คำบรรยายและภาพประกอบได้
ข้างล่างคือ ส่วนหนึ่งที่ตัดมาจากผลการค้นครับ
คลังความรู้ : ดอกอัญชัน สรรพคุณดอกอัญชัน ประโยชน์ของดอกอัญชัน
ชื่อไทย : อัญชัน
ชื่ออังกฤษ : Blue Pea, Butterfly Pea
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clitoria ternatea
ชื่อวงศ์ : Fabaceae
ชื่ออื่น : แดงชัน,เอื้องชัน
ส่วนที่ใช้ ดอก เมล็ด ใบ ราก ส่วนประกอบ มีสารอดีโนซีน (adenosine) สารแอฟเซลิน (afzelin) สารอปาราจิติน (aparajitin) กรดอราไชดิก (arachidic acid) สารแอสตรากาลิน (astragalin) กรดชินนามิกไฮดรอกซี (cinnamic acid, 4-hydroxy) สารเคอร์เซติน (quercetin) และสารซิโตสเตอรอล เป็นต้น ดอกมีสารแอนโทไซอานิน (สารรงควัตถุ ที่ทำให้มีสี)
สรรพคุณและวิธีใช้
ดอก รักษาอาการผมร่วง แก้ฟกช้ำบวม ใช้ผสมอาหารให้สีม่วง เช่น ข้าวดอกอัญชัน ขนมดอกอัญชัน เป็นต้น เมล็ด เป็นยาระบาย ใบและราก อัญชันชนิดขาวใช้เป็นยาขับปัสสาวะและยาระบาย ชนิดม่วงแก้ตาฟางและตาแฉะ
น้ำคั้นจากดอก ใช้ทาทำให้ผม หนวด เครา และคิ้วดก คนโบราณใช้ทาคิ้วเด็ก ทำให้คิ้วเด็กดกดำ ใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตแชมพูสระผมและครีมนวด สีจากกลีบดอกสดมีสีน้ำเงินด้วยสารแอนโทไซอานิน ใช้เป็นสารบ่งชี้ (indicator) แทนลิตมัส (lithmus) เมื่อเติมน้ำมะนาว (กรด) ลงไปเล็กน้อยจะกลายเป็นสีม่วง ใช้แต่งสีขนม เช่น เรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู ใช้แต่งสีอาหาร เช่น หุงข้าวผสมสีจากน้ำคั้นดอกอัญชัญได้สีน้ำเงินม่วงสวย รับประทานเป็นข้าวยำปักษ์ไต้ เป็นต้น
เป็นไม้เลื้อย ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
น้ำดอกอัญชัน
ส่วนผสม น้ำดอกอัญชัน 1 ถ้วย น้ำเชื่อม 4 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำน้ำดอกอัญชัน
นำดอกอัญชันสด 100 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด ใส่หม้อ เติมน้ำเปล่า 2 ถ้วย ต้มจนเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 นาที แล้วกรองดอกอัญชันขึ้นจากหม้อต้ม
วิธีทำน้ำเชื่อม
น้ำเปล่า 500 กรัม, น้ำตาลทราย 500 กรัม นำน้ำดอกอัญชัน น้ำเชื่อม และน้ำผึ้งผสมรวมกัน ชิมรสตามชอบ
อีกวิธีหนึ่ง นำดอกอัญชันตากแห้งประมาณ 25 ดอก ชงในน้ำเดือด 1 ถ้วย ดื่มแทนชา
ข้อแนะนำการดื่ม
1. ควรดื่มทันทีที่ปรุงเสร็จ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารและยา
2. การดื่มน้ำสมุนไพรชนิดเดียว ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ
อาจทำให้เกิดการสะสมสารบางชนิด ที่มีฤทธิ์ต่อร่างกายได้
3. การดื่มน้ำสมุนไพรร้อนๆ ที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะทำให้เยื่อบุผิวหลอดอาหาร เสียสภาพภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ และอาจทำให้มีการดูดซึม สารก่อมะเร็ง จุลินทรีย์ ฯลฯ ได้ง่าย
ประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับจากดอกอัญชัน
มีหลายประการดังนี้
1. เป็นเครื่องดื่มดับกระหาย มีสารแอนโธไซยานิน มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิต้านทาน
2. ใช้เป็นสีผสมอาหาร โดยเฉพาะในขนมไทย เช่น ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้
3. สารแอนโธไซยานิน มีอยู่มากในดอกอัญชัน
มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากสารตัวนี้ จะไปเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดเล็กๆ เช่น หลอดเลือดส่วนปลายทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นแข็งแรงขึ้น เพราะมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงมากขึ้น ในขณะนี้ ก็มีการศึกษาวิจัยทางคลินิก เกี่ยวกับ ความสามารถของแอนโธไซยานินในการเพิ่มประสิทธิภาพของดวงตา เช่น ตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เป็นต้น
ที่มา เว็บไซต์เส้นทางสุขภาพ yourhealthyguide
« « Prev : บ้านชานเมือง (29) ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน
Next : Panda อายุครบหนึ่งขวบแล้ว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "บ้านชานเมือง (30) วันอนุรักษ์มรดกไทย"