ลปรร. กู่สร้างสรรค์ ที่ มทส.
งานอบรมการจัดการความรู้ เพื่อสร้างคุณอำนวย (Facilitator) และคุณลิขิต (Note Taker) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รุ่นที่ ๑/๒๕๕๓ โดย อาจารย์ JJ (รศ. นพ. จิตเจริญ ไชยาคำ) และทีมงาน เป็นการอบรมแบบเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง หรือ Action Learn ดังนั้นหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดโดย ท่านอธิการบดี มทส. ศาสตราจารย์ ดร. ประสาท สืบค้า แล้ว ท่าน JJ ก็เริ่มกระบวนการโดย แจ้งกติกามารยาทเบื้องต้น สำหรับทุกท่านที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ทันที
เรื่องแรก ที่ในหลาย ๆ การประชุมหรือการอบรมมักจะพบปัญหา เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีสื่อสาร แทบทุกท่านจะมีโทรศัพท์มือถือติดตัวมาด้วย ท่าน JJ จึงขอให้ทุกท่านเปลี่ยนโทรศัพท์มือของตนเองเป็นระบบสั่นแทนระบบเสียงเรียกเข้า และขอว่าถ้ามีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ ก็ขอให้ออกไปใช้นอกห้องการอบรม
เรื่องที่สอง ก็คือการทำความเข้าใจว่า การอบรมครั้งนี้ ผู้ที่เข้าการอบรมควรเป็นผู้ที่ได้เรียนรู้เรื่องของหลักการจัดการความรู้ หรือ KM และได้ลงมือปฏิบัติหรือ นำไปใช้เพื่อพัฒนางานของตนเองมาแล้ว โดยจะได้นำเรื่องราวเหล่านั้น มาเล่าเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Share and Learn)
เรื่องที่สาม ก็คือ การเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ จะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้เข้าร่วมอบรม ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติและอยู่ตลอดการฝึกอบรม
หลังจากนั้นก็เป็นการแนะนำวิทยากร ซึ่งนอกเหนือจาก สองท่านที่ทราบกันล่วงหน้าแล้วจากเอกสาร คือ รศ. นพ. จิตเจริญ ไชยาคำ และ คุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ แล้ว ก็มีครอบครัวหมีของเราอีก สองชีวิต มาร่วมกู่สร้างสรรค์ เพิ่มเติมอีกด้วย
กิจกรรมแรก เป็นกิจกรรม ที่พวกเราเรียกันว่า พาเข้า BAR โดยละท่านได้ คิด ทบทวน และเขียนลงในกระดาษที่เตรียมไว้ให้ ตามหัวข้อที่แจ้งส่งทางทีมงาน เพื่อให้เราได้ทราบก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป…เป็นการได้รับรู้ วัตถุประสงค์ ประสบการณ์ ความคาดหวัง และ ข้อสงสัยใคร่เรียนรู้ ของผู้เข้าอบรม ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป
กิจกรรมที่สอง เป็นการเข้ากลุ่ม เพื่อเล่าประสบการณ์ของตนเองให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มฟัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (ลปรร) อย่างสบาย ๆ พร้อม ๆ กับจิบน้ำชากาแฟอาหารว่าง โดยมีกติกาว่า ไม่ให้คนที่มาจากหน่วยงานเดียวกันเข้ากลุ่มเดียวกัน กิจกรรมจึงเริ่มด้วยการแนะนำตัวเองให้กลุ่มได้รู้จัก ก่อนที่จะเล่าประสบการณ์ในการใช้ KM เป็นเครื่องมือพัฒนาและเติมเต็มงานของตนเอง ความคิดเห็นจากการดูหนังสองเรื่องสั้น ๆ ให้กลุ่มฟัง ในการเล่าก็มีกติกาว่า ให้ผู้อายุน้อยที่สุดเล่าก่อน และ เป็นผู้ที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มออกมานำเสนอข้อสรุปหรือความเห็นของกลุ่มด้วย
หลังจากการนำเสนอแล้ว ท่านวิทยากร JJ ก็เสริมและแนะนำหลักวิชา การเป็น Facilitator โดยเชื่อมโยงจากการปฏิบัติจริงให้เห็น เช่น การจดบันทึกเก็บประเด็นสำคัญของเรื่องเล่า การฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ หรือ Deep Listening เป็นต้น
« « Prev : ดีใจที่มีวันนี้ที่ มทส.
Next : เรื่องเล่าจากครอบครัวหมี » »
1 ความคิดเห็น
เอาจริงแฮะ อาม่าคิดว่า แค่สนุกกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็กำไรแล้ว สิ่งที่เรารู้ เราปฏิบัติมาตั้งแต่เกิด เริ่มต้นจากตัวเอง แล้วขยายวงไปสู่กลุ่ม จากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่ม เมื่อมีความเชื่อ จากการได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น ได้รู้ จึงเกิดการเรียนรู้ แต่รู้แล้วไม่ทำก็อย่าเสียเวลาไปรู้เลย ตรงกันข้าม ทำแล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี่ซิ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เขามีองค์ความรู้ ทำจริง รู้จริง….อิอิอิ