เรียนจากปฏิทิน : น้ำตกแม่ยะ ทีลอซู และ นางรอง
น้ำตกแม่ยะ (ภาพบน) อยู่ตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำห้วยในผืนป่าสูงของยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ไหลกระทบโขดหินลงมาเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันลงมาถึง ๓๐ ชั้น รวมความสูงประมาณ ๒๘๐ เมตร ในช่วงฤดูฝนปริมาณของน้ำตกจะมากและไหลแรง สายน้ำตกจะแผ่กว้างถึง ๑๐๐ เมตร รอบ ๆ บริเวณน้ำตกเป็นป่าไม้ร่มรื่น ท่านสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องราวของ น้ำตกแม่ยะและน้ำตกอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้ที่เว็บไซต์ ดอยอินทนนท์ดอทคอม (doiinthanon.com)
น้ำตกทีลอซู (ภาพล่างซ้าย) อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ มีความสวยงามติดอันดับ ๑ ใน ๖ ของโลก และได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในประเทศไทย มีขนาดกว้างของน้ำตก ประมาณ ๕๐๐ เมตร ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ สูงประมาณ ๓๐๐ เมตร ท่านสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องราวของ น้ำตกทีลอซูได้จาก วิกิพีเดียไทย(http://th.wikipedia.org/wiki/ทีลอซู)
น้ำตกนางรอง (ภาพล่างขวา) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ต.หินตั้ง อ.เมือง ห่างจากตัวเมือง จังหวัดนครนายก ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ตามทางหลวง ๓๐๔๙ เป็นน้ำตกที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆไม่สูงนัก แต่ละชั้นมีแอ่งให้ลงเล่นน้ำ เป็นน้ำตกขนาดกลาง ที่มีความสวยงานแห่งหนึ่งของจังหวัดนครนายก
ผมเองเคยไปชมความงามมาแล้วเพียงสองในสามแห่งของน้ำตกที่สวยงามนี้ ที่ยังไม่ได้ไปก็คือ น้ำตกทีลอซู ซึ่งค้นพบและเป็นที่รู้จักกันหลังสุดในสามน้ำตกนี้ แต่ก็เป็นเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ มีความสวยงามติดอันดับ ๑ ใน ๖ ของโลก และได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในประเทศไทย จึงตั้งใจว่าสักวันหนึ่งคงจะมีโอกาสไปชื่นชมความสวยงามของน้ำตกนี้ น้ำตกอีกสองแห่งแม้เคยไปมาแล้วแต่ก็นานมากแล้วเช่นกัน เดี๋ยวนี้คงเปลี่ยนจากเดิมไปมาก
จำได้ว่าตอนที่ ผมไปเที่ยวน้ำตกแม่ยะ นั้น เป็นช่วงที่จบปริญญาตรีและเข้าเป็นอาจารย์ที่ มช. ใหม่ ๆ น้ำตกแม่ยะในช่วงนั้นเพิ่งมีการค้นพบและกล่าวขวัญถึงว่าสวยงามมาก พวกเราจึงเดินทางกันไปชมความสวยงามของมัน เส้นทางไปยังน้ำตกสมัยนั้นยังไม่มีชัดเจน โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายที่ไปสู่ตัวน้ำตก พวกเราต้องจ้างคนนำทางที่เป็นคนในท้องถิ่นแถวนั้นเป็นผู้นำทางไปสู่น้ำตก และเขาจะทำเครื่องหมายเส้นทางที่เราเดินทางไปด้วยการตัดกิ่งไม้เป็นระยะ ๆ เพื่อว่าถ้าเกิดหลงทางก็จะสามารถย้อนกลับมาสู่จุดเดิมได้ รวมทั้งเป็นเครื่องหมายใช้สำหรับเดินทางกลับ ที่ผมจำได้แม่นในการเดินทางไปเที่ยวน้ำตกแม่ยะครั้งนั้น ผู้นำทางจะมีสุนัขสีดำตัวหนึ่งมีชื่อว่า เจ้านิล เป็นผู้นำทางอีกด้วย เมื่อเดินทางไปตามทางเดินเล็ก ๆ ในป่าถึงจุดที่มีทางแยก เขาจะปล่อยให้ เจ้านิล เป็นผู้นำตัดสินใจว่าไปแยกไหน เป็นการเดินทางที่เรียกว่า ใช้หมานำ จริง ๆ ปัจจุบันเมื่อได้ยิน เพลงที่บรรยายชีวิตของคนตาบอด ที่ร้องว่า ชีวิตนี้มีแต่หมานำ ครั้งใด ก็ทำให้นึกถึงการเดินทางไปเที่ยวน้ำตกแม่ยะในครั้งนั้น เป็นประสบการณ์การไปเที่ยวน้ำตกที่ประทับใจมากครั้งหนึ่งในชีวิตครับ การไปน้ำตกแม่ยะครั้งนี้มีอีกเรื่องที่ เจ้านิล เป็นผู้นำ คือการปีนขึ้นไปสู่ชั้นบน ๆ ของน้ำตกแม่ยะ ที่แน่นอนครับในสมัยโน้นไม่มีทางขึ้นที่ชัดเจน ต้องค่อย ๆ หาทางปีนป่ายกันขึ้นไปกันเอง และก็เป็นหน้าที่ของ เจ้านิล อีกครั้งที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำ จำได้ว่ามีเพียงไม่กี่คนที่สามารถปีนป่ายลัดเลาะขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุด ที่เรียกว่าเป็นตาน้ำ ที่ทำให้เกิดน้ำตกแม่ยะ ช่วงนั้นผมค่อนข้างคล่องตัวมาก เพราะรูปร่างเล็ก (เดี๋ยวนี้ก็ยังคงเหมือนเดิม….555) และแข็งแรง (เดี๋ยวนี้บ่เหมือนเดิมแล้ว….อิอิ) จึงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ปีนขึ้นไปจนถึงชั้นสูงสุดของน้ำตกแม่ยะ เป็นอะไรที่ทำให้ยืดอกและแอบภูมิใจอยู่ลึก ๆ (บอกให้รู้เฉย ๆ ไม่ได้คุย…..อิอิ)
Next : คุณเป็นนักฟังแบบไหน ? » »
2 ความคิดเห็น
โอยโดนใจอีกแล้ว สำรวจน้ำตกแม่ยะ เคยไปกับศ.พูนพล และคณะ ปี 2510 ค่ะ ตอนนั้นอยู่ ปีสาม หลังจากนั้นก็มา ไปศึกษาสำรวจอีกหลายครั้ง สำรวจถ้ำในบริเวณใกล้เคียงด้วยค่ะ
จน ตุลาคม 2513 คณะสำรวจ เดินทางขึ้นดอนอินนทน์นำโดย ศ.พูนพล อาสนจินดา ใชัเวลาทั้งหมด 5 วันเต็ม สำหรับการศึกษาสำรวจ สภาพป่า และสิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพ และสังคม โดยมีหลินฮุ่ยตอนนั้นเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยตั้งแต่ การฝึกซ้อมการเดินป่า การเตรียมร่างกายให้พร้อม รวมทั้งสะเบียงกรังต้องเพียงพอต่อทุกชีวิตที่ร่วมเดินทาง ตอนแรกมีคนสมัครเกินร้อยคน หลังการฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมของร่างกาย เหลือประมาณครึ่งหนึ่ง ที่สามารถร่วมเดินทางสำรวจดอยอินทนนท์ในครั้งแรก ของภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ
ข้าน้อย บ่กล้าเทียบชั้น เรื่องลุยป่าและดอย…..อิอิ