อนาคต สว. ไทย : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10 (25)
( หมายเหตุ : ภาพจาก forward mail นานมาแล้วครับ )
นอกจากการเล่าเรื่อง 6 ลักษณะดีของผู้มีอายุเกิน 100 ปี ของชาวญี่ปุ่นให้ฟังแล้ว ท่าน ผอ. ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา ยังเล่าให้ฟังว่า สถิติการเสียชีวิตของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นขณะนี้พบว่า 80% เสียชีวิตในขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา มีเพียง 20% เท่านั้นที่เสียชีวิตขณะที่อาศัยอยู่ที่บ้านของตนเองหรือลูกหลาน ในขณะที่สถิติของผู้สูงอายุของไทยเราขณะนี้ตรงข้ามกับญี่ปุ่น คือ 80% เสียชีวิตในขณะที่อยู่ที่บ้านของตนเองหรืออยู่กับลูกหลาน มีเพียง 20% เท่านั้นที่เสียชีวิตในขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ในญี่ปุ่นเขาพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด ทำงานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หางานทำไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต จะได้ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น เนื่องจากสังคมในญี่ปุ่นขณะนี้เป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขนาดเล็ก แต่ละครอบครัวจะมีบุตรเพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้นเป็นอย่างมาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงอยู่กันสองคนตายาย และเมื่อคนหนึ่งเสียชีวิตไปอีกคนหนึ่งก็ต้องมีชีวิตอยู่คนเดียว หรือไม่ก็ต้องไปอยู่ในบ้านพักคนชรา
ท่าน ผอ. ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา กล่าวว่า อนาคตผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยของไทย (สว. ไทย) เราก็คงจะเป็นไปในทำนองเดียวกับผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น เพราะทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ชุมชน วํฒนธรรมในขณะนี้ของไทยเราก็กำลังเดินตามอย่างของญี่ปุ่นเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วมา
ฟังเรื่องนี้แล้ว ตนเองก็สะเทือนใจไม่น้อยครับ ในฐานะของผู้ที่ขณะนี้ถูกจัดไว้ในกลุ่ม สว. ด้วยคนหนึ่ง
แม้ว่าทุกคนจะตระหนักดีว่า สังคมไทยต่อไปจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่คิดจะทำอะไรจริงจังเพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะคิดว่าเป็นปัญหาระยะยาว รอให้ประเทศที่เจริญแล้วหรือประเทศที่เกิดปัญหาก่อนเราหาทางแก้ไปก่อน แล้วเราค่อยตามอย่างเขาง่ายดี ทั้ง ๆ ที่ปัญหาไม่น่าจะเหมือนกันทุกอย่างหรืออาจไม่เหมือนกันเลยก็ได้ อาจจะเป็นเพราะมีปัญหาเฉพาะหน้าอื่น ๆ ที่มีความรีบด่วนและจำเป็นมากกว่ามากมายต้องทำก่อน…….อนาคต สว. ไทย จะเดินไปอย่างไรหนอ ? แต่ที่แน่ ๆ ชีวิตคนเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป และต้องอาศัยล้อ (wheels) ในการดำรงชีวิตดังในรูปเสมอ
« « Prev : กินอยู่อย่างไรให้อายุยืนเกิน 100 ปี : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10 (24)
Next : อยู่อย่างไรไม่หกล้ม : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10 (26) » »
10 ความคิดเห็น
พี่หมีใหญ่ ผมกับคนข้างกายก็ไม่เคยคิด ทำแต่งาน งาน งาน มาเอ๊ะใจ ก็เห็นแม่จากไป ญาติๆ เขา รพ. เพื่อนฝูง ลาลับไปทีละคน
อ้าวเราแก่แล้วรึนี่…
เผลอแพลบเดียวเอง…
เริ่มคิดและวางแผนและทำแล้วครับ
ภาพนี้สื่อความได้ชัดมากเลยค่ะอ.แพนด้า เบิร์ดก็หวนคิดเหมือนกันว่าเตรียมตัวแล้วหรือยัง
บ้านของผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นเค้าจะมีแค่ 2 ห้องเองค่ะ ห้องนอน กับห้องสารพัดประโยชน์ทั้งดูทีวี นั่งชมสวน รับแขก เพื่อให้ดูแลง่ายและเหมาะกับการใช้รถเข็น
ประตูบานเลื่อนเปิดได้กว้าง เวลาที่เปลพยาบาลเข้าไปก็ง่าย ยกพื้นไม่สูงและทำทางลาดเพื่อรถเข็น+เปลพยาบาล แต่ละห้องไม่มีพื้นต่างระดับ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุควรมีการวางแผนทั้งหมดเลยเนาะคะ จาน ชาม แก้ว ช้อน เสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นเค้าเก็บหมดเลยค่ะ เพราะวางไว้เยอะก็เป็นภาระเก็บกวาดซักถู
ห้องน้ำมีราวจับ พื้นกันลื่น มีไฟดวงเล็กเปิดทิ้งไว้ส่องสว่างตอนกลางคืน ฯลฯ เฮ้อ..มีเรื่องให้เตรียมเยอะจังค่ะ รวมทั้งพินัยกรรมด้วย อิอิอิ
สำหรับเบิร์ด คงน่าจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แถวที่ 2 นะครับ เป็นช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว เรียนรู้โลกกว้าง มีเวลาอีกนานสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ ช่วง สว. เมื่อถึงวันนั้นเชื่อเมืองไทยเราคงมีอะไรที่เอื้อต่อ คนสูงอายุ มากกว่าในสภาพปัจจุบันมาก
มิน่าเล่า เห็นขยันเขียนบันทึกทุกวัน คงเตรียมความพร้อม…อิอิอิ
ขอบพระคุณพี่แพนด้าค่ะ อ่านแล้วได้คิดนะคะ ถ้าแนวโน้มไปเหมือนญี่ปุ่นดูน่าเศร้าจังเลยค่ะ แต่ในสังคมปัจจุบันก็มีตัวอย่างให้เห็นในหนังสือพิมพ์กับ
ในทีวีที่ คนแก่ถูกทอดทิ้ง ไม่น่าเลย เราจะทำอย่างไรที่จะดึงแนวโน้มกลับไปสู่สังคมอบอุ่นในอดีตได้ไหมคะ ภาวะเศรษฐกิจกับการดำเนินชีวิตน่าจะมีผลต่อแนวโน้มไหมคะ ความผูกพันธ์ สายใยชีวิตนั้นเกิดขึ้นโดยการวางแผน หรือ เกิดตามๆกัน มองเห็นอนาคตอีกแบบหนึ่งนะคะ
ป้าหวานเคยได้ข่าวว่ามีบ้านพักคนชราแบบใหม่ สำหรับคนที่มีสตางค์ ส่งคนชราที่บ้านไปอขู่ ที่นั่นมีบริการแบบโรงแรม ผสม กับโรงพยาบาล ค่ะ
1. ต้องการอยู่บ้านของตนเอง จนวาระสุดท้ายของชีวิต
2. มีสุขภาพดี และ มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต และ
3. ต้องการอยู่กับลูก ๆ หลาน ๆ
ป้าหวานคิดว่า ความต้องการสูงสุดของผู้สูงอายุจริงๆคือความต้องการทางใจ มากกว่าทางกาย การเกิดบริการแบบนั้นตอบโจทย์ที่เกี่ยวกับทางกายมากกว่า
เช่น ไม่มีใครดูแลผู้สูงอายุใกล้ชิดตลอดเวลาได้ มีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น อย่างที่พี่แพนด้าบอกนะคะสังคมปัจจุบันโครงสร้างเปลี่ยนไป
การสร้างเสริมความสุขให้ผู้สูงอายุจึงอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง การจัดกิจกรรมดีๆของศูนย์ส่งเสริมฯจึงช่วยบรรเทาปัญหาลง ผู้สูงอายุที่
ลุขภาพดีทั้งกายและใจ จะปรับตัวอยู่ได้ดีกว่าในเวลาบั้นปลายชีวิต ร่วมกับ การเสริมสร้างความแข็งแรงของสายใยครอบครัวให้แก่คนรุ่นใหม่
จะช่วยรักษาสังคมไทยให้อบอุ่น ในขณะเดียวกันคนเราก็ต้องเรียนรู้ เตรียมต้ว ที่จะพบเวลานั้น ขอบคุณพี่แพนด้าค่ะ ที่ช่วยกระตุ้นความคิด
เกิดความคิดเกี่ยวกับ โรงเรียนผู้สูงอายุ ค่ะ เรียนคล้ายกับเด็ก เตรียมความพร้อม เรียนรู้ทางกาย และ ทางใจ เรียนรู้สุขภาพ เช้าลูกนำมาส่งแล้วไปทำงาน
เย็นมารับพ่อแม่กลับบ้าน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ผู้สูงอายุไม่เหงา มีกิจกรรม มีเพื่อน มีการเรียนรู้ น่าจะดีนะคะ