กินอยู่อย่างไรให้อายุยืนเกิน 100 ปี : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10 (24)
ในช่วงท้ายของกิจกรรมสัปดาห์ที่ 7 ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการรุ่นนี้ ก็มีโอกาสได้พบหน้าท่านผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา ที่ท่านเพิ่งมีเวลามาพบปะทักทาย เนื่องจากท่านมีภาระกิจมาก (ตามที่ฝ่ายจัดกิจกรรมแจ้งให้ทราบ) จึงเพิ่งมีเวลามาพบผู้สูงอายุรุ่นนี้หลังจากเริ่มโครงการมาแล้ว 7 สัปดาห์ เข้าใจว่าท่าน ผอ. คงแจ้งว่าจะมาในเวลา 11 น. จึงจบกิจกรรมตามเวลาแล้วแจ้งให้ทราบว่า ท่าน ผอ. จะมาพบและพูดคุยด้วย แต่หลังจากโทรศัพท์ประสานกับท่าน ผอ. ก็ปรากฎว่า ท่าน ผอ. ยังติดภาระกิจอยู่ จึงแจ้งให้พวกเรานั่งรอ หลังจากนั่งรอสัก 5-6 นาทีแล้ว เห็นว่ายังไม่มีท่าทีว่าท่าน ผอ. จะมา แทนที่จะนั่งรอกันเฉย ๆ ผมจึงถือโอกาสนำเสนอ วีดีทัศน์เรื่อง กินเป็นอยู่เป็น ที่ผมตัดต่อจากรายการ จุดเปลี่ยน ที่สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับ การกินอาหารที่ถูกต้อง การออกกำลังกาย และการทำให้จิตใจแจ่มใสมีอารมย์ดี ตามหลัก 3อ ให้สมาชิกได้ชมและฟังกัน…..ก็เป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ช่วงที่รอท่าน ผอ. ครับ
ท่าน ผอ. เดินทางมาถึงประมาณ 11.30 น. ท่านก็เล่าให้ฟังว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มเอง แต่เนื่องจากท่านมีภาระกิจมากและเดินทางบ่อยจึงไม่ได้มาพบพวกเราก่อนหน้านี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเพิ่งกลับมากจากการไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ และนำเรื่องเคล็ดลับการที่คนญี่ปุ่นมีอายุเกิน 100 ปี ว่าคนญี่ปุ่นเหล่านี้มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง ที่ทำให้มีอายุยืนเกิน 100 ปี ท่านเล่าไปเรื่อย ๆ ที่ละอย่าง ผมไม่แน่ใจว่ารวมแล้วมีกี่อย่าง เพราะไม่ได้จดไว้ เมื่อมาทบทวนพร้อมสอบถามเพิ่มเติมจากท่านหัวหน้าร่วมรุ่น 10 ก็ขอสรุปเป็นคำที่อาจจะช่วยให้จำได้ง่ายว่า “คนญี่ปุ่นมีอายุยืนเกิน 100 ปี เพราะมีลักษณะ 6 ดี ” ดังนี้
1. มีขาดี (มีขาที่แข็งแรง) โดยพบว่าทุกคนจะออกกำลังด้วยการเดิน หรือ ออกกำลังแบบอื่น ๆ ที่ทำให้ขามีความแข็งแรง จึงทำให้ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุหกล้มทำให้ขาหักกันเลย แม้สูงอายุแล้วก็ยังสามารถเดินได้อย่างดี
2. มีฟันและเหงือกดี ทุกคนจะมีสุขภาพฟันและเหงือกดี ทำให้สามารถรับประทานอาหารได้ดี สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ละเอียด
3. กิน (อาหาร) ดี ทุกคนกินอาหารครบห้าหมู่ ชอบกินอาหารกลุ่มโปรตีนคุณภาพสูงคือพวกเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก
4. สายตาดี ทุกคนมีสายตาดี สามารถมองเห็นได้ดีโดยไม่ต้องใส่แว่นตา แม้ว่าจะสูงอายุแล้วก็ตาม
5. กิจกรรมดี พบว่าทุกคนเป็นคนที่ไม่อยู่บ้านเฉย ๆ แต่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์หรือเข้าสังคมเสมอ ทำให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นอยู่เป็นประจำ
6. นอนดี พบว่าทุกคนเป็นคนที่นอนหลับสนิท คือนอนหลับสนิทรวดเดียวถึงเช้า และตื่นแต่เช้าเป็นประจำ เพื่อทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเสมอ ทำให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิและสดชื่นอยู่เป็นประจำ
ก็เป็นข้อมูลดี ๆ จากท่าน ผอ. ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา ที่ไปญี่ปุ่นมาแล้ว นำมาเล่าให้พวกเราฟัง นับว่าผู้เข้าร่วมโครงการผู้สูงอายุรุ่น 10 นี้ โชคดีจริง ๆ ครับ
« « Prev : การพักและคลายเครียด : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10 (23)
Next : อนาคต สว. ไทย : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10 (25) » »
1 ความคิดเห็น
แต่ที่เห็นในฟรีทีวี ออกอากาศอยู่ทุกวันนี้ นำเสนอชีวิตรันทด ของผู้สูงอายุทุกวัน มีทั้งอายุเกินร้อยปี บ้างเฉียดร้อยปีบ้าง เก้าสิบกว่าบ้าง ฯลฯ. น่าสนใจ ว่าทำไม อายุยืนทั้งๆ ที่อยู่อย่างแร้นแค้น แถมถูกทอดทิ้งอีกตะหาก เรื่องนี้น่าสนใจ น่าจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ลงมาศึกษาอย่างแท้จริง ค้นหาทุกหมู่บ้านทุกตำบล หาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งมีชีวิตลำเค็ญ เห็นทีต้องร่วมมือกันช่วยเหลือตั้งแต่ต้น ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด น่าจะดีนะคะ