การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมู่บ้านปางจำปีตอนที่ 3

1392 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 2 มกราคม 2009 เวลา 20:04 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8040

คณะกรรมการหมู่บ้านได้อนุมัติเงินจากกองทุน SML มา 200,000 บาทในการสร้างอุทยานการเรียนรู้บ้านปางจำปีขึ้น ชื่อ “บ้านวังปลา”

ซึ่งก่อสร้างโดยใช้ไม้ไผ่เป็นความร่วมมือกันของชาวบ้าน  โดยชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาหลังคาเรือนละ 10 เล่ม ใช้เวลาสร้างรวม 4 เดือน มีพิธีเปิดเมื่อเดือน พฤษภาคม 2548

ที่บ้านวังปลานั้นประกอบด้วยสวนสมุนไพร แปลงสาธิต เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา”วังปลา” น้ำตกท่าบันได ตลอดจนภูมิปัญญาเรื่องการจัดการน้ำริน ฝายแม้ว

ซึ่งถ้าผู้มาเยี่ยมเยียนอยากมีเวลาศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากขึ้นก็สามารถพักที่บ้านพักรับรองได้ประกอบด้วยกัน 4 ห้องนอน มีห้องน้ำในตัว มีพื้นที่สำหรับนั่งแลกเปลี่ยนเป็นหมู่คณะ

ห้องพักมี 4 ห้องนอน พร้อมห้องน้ำในตัว

ทางพ่อหลวงบอกว่า….มีการแบ่งกลุ่มกันในหมู่บ้านเป็นกลุ่มผู้ให้ข้อมูลความรู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน กลุ่มองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากร

อาหารธรรมดา แกงจืด น้ำพริกกะิปิ ไำ้ำก่ทอดตะไคร้ แต่รู้สึกอร่อยจริงๆ

อาหารธรรมดาแกงจืด  น้ำพริกกะปิ  ไก่ทอดตะไคร้ แต่อร่อยจริงๆ

มีกลุ่มแม่บ้านสำหรับดูแลห้องพักและทำอาหารรับรองซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนกันมาทำ อาหารธรรมดาๆแต่อร่อยจังเลยค่ะ ไม่รู้ว่าเหนื่อยกันหรือเปล่า ดูจากโตกของผู้เขียนได้ว่าเหลืออะไรบ้าง…

กลุ่มรักษาความปลอดภัย มีการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมคือกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยพาเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และกลุ่มการคลัง

บริเวณน้ำตกท่าบันได
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อให้เกิดรายได้เข้ามาหมุนเวียนในหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆก็สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

การทำฝายแม้วบริเวณน้ำตกท่าบันได

ซึ่งมีทีมนักวิจัยท่านหนึ่งซึ่งเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้เจอคือ..คุณธนากรกล่าวไว้ว่า…..
“เราไม่ได้ขายทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราขายวิธีการเรียนรู้ วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ”

ความประทับใจเล็กๆในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่หมู่บ้านปางจำปี แต่ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอิบใจกับผลของงานวิจัยที่เกิดขึ้น งานวิจัยหลายชิ้นล้มเหลวเพราะนักวิชาการเข้าไปช่วยคิด ช่วยจัดการชุมชนมากเกินไป โดยไม่ได้มองจากความต้องการจริงๆของชุมชน แต่สำหรับที่นี่งานวิจัยเกิดจากการเข้าไปชี้แนะของนักวิชาการ ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และมีการจัดการทรัพยากรธรรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอแนะที่ชุมชนฝากไว้คือ นักวิชาการที่คิดจะเข้าไปทำวิจัยชุมชนควรจะมีตัวกลางที่สามารถเชื่อมกันได้ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ เพราะนักวิชาการเองก็คุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ส่วนชาวบ้านก็ไม่รู้จะสื่อสารกับนักวิชาการอย่างไร และที่สำคัญงานวิจัยควรเกิดจากความต้องการจริงๆของชุมชน


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หมู่บ้านปางจำปี ตอนที่ 2

1454 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 2 มกราคม 2009 เวลา 19:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8189

หลังจากเริ่มมีปัญหาตามมามากมาย ในปี 2543-2544 ไฟไหม้ป่า น้ำในห้วยแห้ง อากาศร้อน มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร จึงเป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น

พี่สวัสดิ์ ขัติยะ เล่าว่า….ไปอยู่กรุงเทพมา 4-5 ปีกลับมาเจอสภาพหมู่บ้านที่แห้งแล้งกันดาร เมื่อปี 2543-2544 เกิดวิกฤตการณ์อย่างหนักเมื่อลำน้ำแม่ลายน้อยซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของขุนน้ำแม่กวง ที่ไหลผ่านกลางชุมชนเกิดแห้งขอด กุ้ง หอย ปูปลา สัตว์น้ำที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์เริ่มเหือดหาย ลำน้ำ 22 สาขาของน้ำแม่ลายน้อยเหลือเพียง 7 สาขาที่ยังไหลมารวมกัน ไฟป่าเริ่มคุกคาม เลยคิดถึงอนาคต

เนื่องจากไปแต่งงานกับคนชุมชนบ้านป๊อกซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นน้ำแม่ลายน้อย ชุมชนบ้านป๊อกเป็นหมู่บ้านต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนบ้านปางจำปีเป็นถือเป็นหมู่บ้านปลายน้ำ ทั้งสองหมู่บ้านจึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหา มีการนำงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือ โดยมีอ.คณิต คำเจริญมาชวนทำวิจัย โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพี่อท้องถิ่น ภายใต้ชื่อโครงการ “การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองของชุมชนบ้านป๊อก และบ้านปางจำปี ต.ห้วยแก้ว กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่”

เริ่มแรกสกว.แม่โจ้เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง เริ่มต้นก็มีการให้ทีมวิจัยซึ่งเป็นคนในชุมชนเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาโดยเป็นคนบ้านป๊อก 5 คนและ บ้านปางจำปี 5 คน (ได้อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง สายนทีแห่งชีวิต:ลำน้ำแม่ลายน้อยของคุณ นิตยา โปธาวงค์ ในจดหมายข่าว งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.) ทุกคนจะต้องเขียนบันทึกตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งเป็นกุสโลบายอย่างหนึ่งเพราะชีวิตชาวบ้านนั้นผูกพันกับสายน้ำอยู่แล้ว สิ่งที่ได้บอกเล่านั้นได้ทำให้ชาวบ้านได้คิดว่า ตนเองได้ทำร้ายอะไรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนตนเองบ้าง

การรับเหมาตัดไม้ การเผาป่า การหาสัตว์น้ำอย่างผิดวิธี สิ่งเหล่านี้ผ่านการบอกเล่าของทุกคน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายหันกลับมาพลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
พี่บุญเสริฐ โจมขัน ผู้ซึ่งหากินกับการหาสัตว์ป่า ของป่าในอดีตเล่าว่า ตนเองเรียนยังไม่จบป.2 ด้วยซ้ำ สมัยก่อนนั้นทั้งค้าของป่า การพนัน เหล้าบุหรี่ แต่เมื่อต้องเข้ามาร่วมเป็นนักวิจัยนั้นทำให้ต้องเรียนรู้มากขึ้น หลายครั้งที่ต้องให้ลูกมาช่วยเรื่องการเขียน เขาบอกว่า งานวิจัยและเวทีนักจัดการความรู้(เวทีพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.แม่โจ้ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) ) เหมือนขุดเขาขึ้นมาจากใต้ดิน

ปัจจุบันพี่บุญเสริฐ ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และประธานประชาคมหมู่บ้านปางจำปี เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาและบุหรี่
ทีมวิจัยได้พูดคุยกันถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้ง การทำฝาย การทำน้ำริน การทำบ่อทราย ตลอดจนที่ดินทำกินสองฝั่งลำน้ำ จึงได้มีการแบ่งงานกันทำ พี่บุญเสริฐนั้นมีความถนัดเรื่องป่าจึงได้อยู่ฝ่ายสำรวจข้อมูลลำน้ำสาขา ทำการบันทึกและไปทำความเข้าใจกับชุมชน โดยแต่ละฝ่ายจะต้องมีการนำเสนองานในที่ประชุมงานวิจัย ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยนอกรอบตอนนั่งทานขันโตกร่วมวงกับพี่เสริฐ เนื่องจากชาวบ้านมักมีปัญหาเรื่องการรุกล้ำที่ดินทำกินสองฝั่งลำน้ำ จึงมีการทำโฉนดชุมชน

โดยการสำรวจพื้นที่ทำกินตกลงหารือกันกับชาวบ้านในชุมชนถึงพื้นที่ทำกิน มีการละเว้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองฝั่งลำน้ำห่างจากลำน้ำ 500 เมตรมีการงดใช้สารเคมี แล้วออกเป็นโฉนดชุมชนขึ้นมา ถ้าชาวบ้านคนใดบุกรุกพื้นที่ป่าก็จะมีกฏกติกาของชุมชน ผู้เขียนก็สงสัยว่า….ถ้าชาวบ้านไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น พ่อหลวงก็บอกว่า….ก็ต้องส่งตัวให้ตำรวจดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

นอกจากการงดใช้สารเคมีแล้วยังมีการปลูกพืชซับน้ำตระกูลกล้วย และไม้น้ำ มีการปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชนร่วมกันแพ้วถาง เก็บขยะตลอดลำน้ำตั้งแต่บ้านป๊อกลงมาบ้านปางจำปี ทั้งนี้เพื่อให้ลำน้ำไหลได้อย่างสะดวก และมีการบวชป่าสืบชะตาลำน้ำแม่ลายน้อย ในเดือนพฤษภาคม 2548 ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่แห้งแล้งมีน้ำน้อยที่สุด
แต่ละครัวเรือนจะมีการส่งตัวแทนมาร่วมถางป่า ร่วมกับเยาวชนบริเวณน้ำตกท่าบันได มีการนำภูมิปัญญาที่กล่าวถึงข้างต้นคือ การทำน้ำริน การทำฝาย เพื่อมาทำ “วังปลา”ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งพ่อหลวงได้เล่าถึงพันธุ์ปลาปรุง หรือปลาพวงเงิน ซึ่งมักอยู่ตามบริเวณถ้ำ เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชม

เพิ่มเติมถึง กฏระเบียบของหมู่บ้านที่กล่าวถึงไป นอกจากมีการห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณเพาะพันธุ์ปลา   กฏระเบียบเกี่ยวกับการตัดไม้ การหาของป่า การห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำ การปลูกป่าในวันสำคัญ   ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกคนในชุมชนอย่างแท้จริง



Main: 0.028703927993774 sec
Sidebar: 0.14261698722839 sec