แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หมู่บ้านปางจำปี จ.เชียงใหม่ ตอนที่ 1
วันที่ 24 ธ.ค. 51 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพานักศึกษาปริญญาโทสาขาการจัดการประยุกต์ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับที่แรกคือ หมู่บ้านปางจำปี หมู่ 7 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วยกัน 5 กลุ่มบ้านคือ ป๊อกปางจำปี ป๊อกหล่ายน้ำ ป๊อกท่าทราย ป๊อกปางตะเคียน ป๊อกบ้านพร้าว มีครัวเรือนรวม 87 ครัวเรือน ประชากร 279 คน มีอาชีพส่วนใหญ่คือรับจ้าง หาของป่า ทำการเกษตร
สำหรับที่มาของชื่อ “ปางจำปี” คือ มาจากลักษณะของหมู่บ้านที่แต่เดิมมีต้นจำปีต้นใหญ่ขึ้นอยู่กลางหมู่บ้าน แล้วเวลาใครเดินทางมาก็มักจะมาแวะพักที่ต้นจำปี แต่ปัจจุบันต้นจำปีได้ถูกตัดไปแล้ว เนื่องจากหมู่บ้านนี้อยู่บนพื้นที่สูง ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้มากนัก ทำให้ต้องเข้าไปหาของป่า ล่าสัตว์ ในห้วยแม่ลายน้อย ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชน ทั้งเป็นแหล่งอาหารและนำมาซึ่งรายได้ให้กับครอบครัว
จากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรซึ่งเป็นคนในชุมชน 3 ท่าน ท่านแรกคือ พ่อหลวงสุจิตต์ ใจมา (คนที่นี่เรียกผู้ใหญ่บ้านว่า “พ่อหลวง”) ท่านที่สองคือนายสวัสดิ์ ขัติยะ และท่านที่สามคือนายบุญเสริฐ โจมขัน(ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)
พ่อหลวงได้เล่าถึงปัญหาต่างๆในชุมชน อย่างที่กล่าวถึงข้างต้นเกี่ยวกับอาชีพของคนในหมู่บ้านนี้ หาของป่า(ทุกอย่าง) ล่าสัตว์ ต้มเหล้าเถื่อน ทำไร่เลื่อนลอย ทำเรือนขาย (ท่านวิทยากรเรียก”บ้านแดดเดียว”) หมายถึงบ้านที่ชาวบ้านนำไม้ที่ตัดมาสร้าง แล้วทำให้ดูเก่าแล้วขายยกหลัง เรียกว่าในอดึตตัดไม้กันทั้งหมู่บ้าน ในสมัยก่อนต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นใช้เวลาประมาณครึ่งเดือนในการตัด แต่ต่อมามีเลื่อยยนต์ใช้เวลาเพียง 5 นาที ในหมู่บ้านมีเลื่อยยนต์ถึง 30 เครื่อง ชาวบ้านมีรายได้จากการตัดไม้วันละ 1,500 -2,000 บาท/วัน/คน (ต่างจากสมัยก่อนวันละ 100-200 /วัน/คน ยิ่งมีการสัมปทานป่าไม้ ทำให้ไม้ใหญ่แทบจะไม่เหลือ
นอกจากนี้ชาวบ้านเริ่มพัฒนาการจับปลาแบบเดิมๆมาเป็นการใช้ปูนขาวโรยเพื่อเบือปลา ใช้ระเบิดปลาจากหม้อแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซด์ ทำให้ปลาตายหมด หลังจากนั้นเริ่มมีปัญหาตามมามากมาย ในปี 2543-2544 ไฟไหม้ป่า น้ำในห้วยแห้ง อากาศร้อน มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร จึงเป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น ซึ่งจะขอเล่าในบันทึกถัดไปค่ะ