การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมู่บ้านปางจำปีตอนที่ 3
คณะกรรมการหมู่บ้านได้อนุมัติเงินจากกองทุน SML มา 200,000 บาทในการสร้างอุทยานการเรียนรู้บ้านปางจำปีขึ้น ชื่อ “บ้านวังปลา”
ซึ่งก่อสร้างโดยใช้ไม้ไผ่เป็นความร่วมมือกันของชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาหลังคาเรือนละ 10 เล่ม ใช้เวลาสร้างรวม 4 เดือน มีพิธีเปิดเมื่อเดือน พฤษภาคม 2548
ที่บ้านวังปลานั้นประกอบด้วยสวนสมุนไพร แปลงสาธิต เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา”วังปลา” น้ำตกท่าบันได ตลอดจนภูมิปัญญาเรื่องการจัดการน้ำริน ฝายแม้ว
ซึ่งถ้าผู้มาเยี่ยมเยียนอยากมีเวลาศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากขึ้นก็สามารถพักที่บ้านพักรับรองได้ประกอบด้วยกัน 4 ห้องนอน มีห้องน้ำในตัว มีพื้นที่สำหรับนั่งแลกเปลี่ยนเป็นหมู่คณะ
ห้องพักมี 4 ห้องนอน พร้อมห้องน้ำในตัว
ทางพ่อหลวงบอกว่า….มีการแบ่งกลุ่มกันในหมู่บ้านเป็นกลุ่มผู้ให้ข้อมูลความรู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน กลุ่มองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากร
อาหารธรรมดาแกงจืด น้ำพริกกะปิ ไก่ทอดตะไคร้ แต่อร่อยจริงๆ
มีกลุ่มแม่บ้านสำหรับดูแลห้องพักและทำอาหารรับรองซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนกันมาทำ อาหารธรรมดาๆแต่อร่อยจังเลยค่ะ ไม่รู้ว่าเหนื่อยกันหรือเปล่า ดูจากโตกของผู้เขียนได้ว่าเหลืออะไรบ้าง…
กลุ่มรักษาความปลอดภัย มีการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมคือกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยพาเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และกลุ่มการคลัง
บริเวณน้ำตกท่าบันได
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อให้เกิดรายได้เข้ามาหมุนเวียนในหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆก็สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
การทำฝายแม้วบริเวณน้ำตกท่าบันได
ซึ่งมีทีมนักวิจัยท่านหนึ่งซึ่งเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้เจอคือ..คุณธนากรกล่าวไว้ว่า…..
“เราไม่ได้ขายทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราขายวิธีการเรียนรู้ วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ”
ความประทับใจเล็กๆในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่หมู่บ้านปางจำปี แต่ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอิบใจกับผลของงานวิจัยที่เกิดขึ้น งานวิจัยหลายชิ้นล้มเหลวเพราะนักวิชาการเข้าไปช่วยคิด ช่วยจัดการชุมชนมากเกินไป โดยไม่ได้มองจากความต้องการจริงๆของชุมชน แต่สำหรับที่นี่งานวิจัยเกิดจากการเข้าไปชี้แนะของนักวิชาการ ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และมีการจัดการทรัพยากรธรรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอแนะที่ชุมชนฝากไว้คือ นักวิชาการที่คิดจะเข้าไปทำวิจัยชุมชนควรจะมีตัวกลางที่สามารถเชื่อมกันได้ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ เพราะนักวิชาการเองก็คุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ส่วนชาวบ้านก็ไม่รู้จะสื่อสารกับนักวิชาการอย่างไร และที่สำคัญงานวิจัยควรเกิดจากความต้องการจริงๆของชุมชน