ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จังหวัดชายแดนภาคใต้กับส่วนกลาง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 29 กันยายน 2011 เวลา 19:02 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2866

วันที่ 9 กันยายน 2554  13.30-16.30 น.

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

ประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต  ยังมีปัญหา  ยังไม่จบรัฐปัตตานีก็มีประวัติศาสตร์แต่ไม่มีในบทเรียนของประวัติศาสตร์ชาติไทย

คนมลายูปัตตานีเคยมีความภูมิใจในศักดิ์ศรีของตน ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   กองทัพไทยได้ยกเข้าไปยึดปัตตานีมาเป็นของไทย  และนำปืนใหญ่ที่ชื่อนางพญาตานีมาตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม

ตลอดเวลา 200 กว่าปีของปัตตานีในราชอาณาจักรไทย คือประวัติศาสตร์แห่งความขมขื่นของคนมลายูปัตตานี  ลองนึกถึงอกเขาอกเราแม้พม่าปกครองไทยอยู่เพียง 15 ปี  หลังเสียกรุงครั้งที่ 1  เมื่อ พ.ศ. 2112  และไม่กี่เดือนหลังเสียกรุงครั้งที่ 2  เมื่อ พ.ศ. 2310  และก็เพียงยึดกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น  พม่าไม่ได้ปกครองทั้งประเทศ  เรายังมีความทรงจำแห่งความขมขื่นกับพม่ามาจนถึงทุกวันนี้

……คนไทยเชื้อสายมลายูปัตตานีไม่ใช่ “แขก” ที่เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทย  แต่เขาอยู่ในดินแดนของเขาที่เคยเป็นประเทศของเขา  แต่ไทยไปยึดมา  นโยบายของรัฐบาลไทยต่อปัตตานีส่วนใหญ่เป็นความพยายามที่จะ “กลืนชาติ” เช่นเดียวกับที่เคยทำกับคนภาคเหนือและภาคอีสาน  ซึ่งเดิมก็เป็นรัฐอิสระ  การถูกกลืนชาติเป็นเรื่องใหญ่

….…ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

คำว่าซีแย หรือเซียม (siam)  หรือซีเยียง (Siang) เป็นคำเรียกคนไทยหรือชนชาติพันธุ์สยามที่นับถือศาสนาพุทธ  เป็นคำที่ใช้เรียกศัตรู  คำเชิงบวกเป็นคำว่า ลือกอ

ทางใต้ก็จะสอนประวัติศาสตร์กันไปอีกแบบหนึ่ง

ปัตตานีก็เคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก่อน  น่าจะสืบเนื่องไปถึงยุคลังกาสุกะ (พุทธศตวรรษที่ 11)  เดิมทางปัตตานีก็นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน  แต่ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม

ในปีพ.ศ. 2106 พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา   รายามุซซอฟาร์ได้ส่งทัพไปช่วย  แต่เมื่อมาถึงปรากฏว่ากองทัพปัตตานีกลับบุกเข้าไปในเมืองจะบุกจับตัวสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์  แม้จะยึดพระราชวังไว่ได้  แต่สุดท้ายก็ถูกตีโต้กลับมา  รายามุซซอฟาร์สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพกลับ  พระศพถูกฝังไว้ที่ปากอ่าวริมแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นที่มาของชุมชนปากลัด


แถวนี้ก็มีนครศรีธรรมราชที่เป็นเมืองที่มีมาก่อนสุโขทัยนับถือศาสนาพุทธ  เพราะทางสุโขทัยมาขอพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชไปเผยแผ่ศาสนา   เป็นเมืองสำคัญทางใต้  สมัยพ่อขุนราม (1837) ก็อยู่ในอาณาจักรสุโขทัย

นักประวัติศาสตร์ต้องค้นหาความจริง  โดยไม่มีอคติ  วางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมลง  มีการนำประวัติศาสตร์มาใช้ทางการเมืองการปกครอง  กรณีศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับเรื่องราวของคำสาปแช่งและเรื่องราวของมัสยิดกรือเซะ  ก็เป็นการปลุกระดมให้ไม่ชอบชาวจีน  การหยิบประวัติศาสตร์เป็นตอนๆแล้วนำมาใช้จะเกิดอันตรายต้องสร้างพลเมืองให้ทราบความจริง  ประเด็นได้ดินแดน  เสียดินแดนก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจกับประชาชน  เพราะตามประวัติศาสตร์ของทั้งโลก  ก็มีอาณาจักรต่างๆเกิดขึ้นแต่ละยุค  แต่ละสมัย  ใครได้ดินแดน  ใครเสียดินแดน  นับกันตั้งแต่เมื่อไหร่? อย่างไร?

บทเรียนการจัดการหัวเมือง กรณีของสงขลาให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าเมือง  เป็นแม่ทัพเรือ  ไม่มีปัญหากระด้างกระเดื่อง  การเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเข้าใจคน  ปัญหาเกิดจากการไม่ให้เกียรติทายาทคนเดิมๆในพื้นที่ไหม?

ปัตตานีเคยยิ่งใหญ่กว่าอยุธยาในสมัยแรกๆ  อังกฤษ ฮอลันดา สเปนมีเรื่องราวของปัตตานีมากมาย  ไม่มีการศึกษาประวัติศาสตร์ของปัตตานีอย่างจริงจัง  เขียนประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนเลยทำให้ไม่รู้เรื่องราวของรัฐปัตตานี  เป็นจุดอ่อนเป็นประวัติศาสตร์แยกส่วน  ไม่มีประวัติทางใต้  ก่อนสุโขทัยก็มีคนไทยอยู่ทางใต้มานานแล้ว  ควรศึกษาค้นคว้าเมืองต่างๆของภาคใต้

ขาดการศึกษาเรื่องรัฐปัตตานีอย่างจริงจัง  การมีกริช  มีอักษายาวี  เป็นเครื่องบอกตระกูล  แต่ทางราชการไทยถือว่าเป็นอาวุธ  เจอก็จะยึดเพราะไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมของกันและกัน

เยาวชนถูกสอนให้เกลียดกองทัพแรกของสยามที่ถูกส่งไปปราบปัตตานีคือสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เขามองสมเด็จพระนเรศวรเป็นศัตรู  ดังนั้นถ้ามีกำหนดภาพยนตร์พระนเรศวรฉายเมื่อไหร่  ให้ระวังการก่อความไม่สงบ  ไม่ว่าที่ภูเก็ตหรือหาดใหญ่  เพราะประวัติศาสตร์ที่เขารับรู้กับที่เรารับรู้ไม่เหมือนกัน

การมีปฏิกริยากับรัฐ  มีการแสดงสัญญลักษณ์ของความไม่พอใจรัฐ  เช่น

….เอาแผ่นดินกูคืนมา….เป็นอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก  เยาวชนทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

…ปัตตานีต้องได้รับเอกราช…..

…สยามยึดปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2327…..

…ฟาตอนีเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย….

เป็นการใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือ  วิชาที่ขบวนการก่อความไม่สงบใช้สอนให้เยาวชนใต้ต่อต้านรัฐคือวิชาประวัติศาสตร์  แต่ทางด้านรัฐไม่ค่อยศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง  ไม่มีคนสอน แล้วจะสู้กันได้อย่างไร?

ทำไมสตูลไม่มีปัญหา  ไม่มีการเคลื่อนไหวทั้งๆที่เป็นชายแดนใต้เหมือนกัน ?  ล้วนเป็นคำถามที่ต้องการการศึกษาวิจัยเหมือนกัน  น่าศึกษาประวัติศาสตร์ดู

ผศ. ดร.จงรัก พลาศัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

จงรัก

ฟังอาจารย์พูดแล้วชื่นชมอาจารย์มาก  อยากให้มีการพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์  อาจารย์ควรนำเสนอการค้นคว้าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้มีความชัดเจนและนำเสนอต่อคนทั้งประเทศ  ไม่ใช่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน

เกียรติเกริกไกร ใจสมุทร รองเลขาธิการมูลนิธิ อัศนี พลจันทร (นายผี)

อยากถามว่า  ถ้ามีการชำระประวัติศาสตร์จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้ได้ไหม?  กระบวนการชำระประวัติศาสตร์ควรจะเป็นขบวนการอย่างไร?  ควรจะมีองค์กรหรือหน่วยงานใดเข้ามามีส่วนร่วม ?

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

กรมศิลปากรก็มีคณะกรรมการชำระฯ  กระทรวงศึกษาธิการก็มีกรรมการฯ ชำระ หลายคณะกรรมการ  คงจะค่อนข้างสกปรก  จึงต้องมีหลายกรรมการชำระ  คงไม่หลวมตัวเข้าไปเป็นกรรมการชำระฯ  จริงๆต้องชำระคนที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์  เคยฝันว่ากระทรวงศึกษาธิการน่าจะเป็นเจ้าภาพแต่ฝันไม่เคยเป็นจริง

สุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

สุเทพ1

อยากทราบว่า 4ส3 (คณะนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 3) ที่จะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โรงเรียนปอเนาะได้รับความชื่นชมจากหลายๆฝ่าย  ทั้งมาเลเซีย  อินโดนีเซีย  มีการสอนเรื่องศาสนาและวิถีชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่สังคมภายนอกมองว่าปอเนาะเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อความไม่สงบ  อุสตาซจบมาจากไหนและสอนอะไรให้เยาวชนบ้าง?  สอนได้อย่างเสรีหรือไม่?  เพราะจุดชี้ขาดหรือจุดแตกหักของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่การบ่มเพาะเยาวชน

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

มีการปลูกฝังจริงแต่ไม่ใช่เป็นแบบนั้นทุกคน  ส่วนมากจบการศึกษาจากต่างประเทศแต่ทำไมรัฐไม่ให้เงินเดือน  ไม่ยอมรับว่าเป็นคนไทย  เคยอบรมอุสตาซๆก็ชอบประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริง  เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ไทย  มีส่วนที่เป็นศัตรูกันแต่ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นมาเป็นมิตรไมตรีกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการสอนเป็นบางส่วนเด็กๆก็เจ็บปวดต่อรัฐ  จะต่อต้านทุกครั้งที่รัฐทำผิดพลาด  นักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยมีปมในใจจากประวัติศาสตร์ที่เข้าใจกันอยู่ รับรู้ไม่ตรงกับที่เราต้องการให้รับทราบ  มีการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เป็นชิ้นๆ  แต่ยังไม่ได้ต่อเป็นชิ้นใหญ่ที่มีความต่อเนื่องที่ให้ภาพรวม

มีเรื่องราวของลังกาสุกะ  อาณาจักรตามพรลิงค์ นครศรีธรรมราช  มีพูดถึงตะกั่วป่า

เดิมเลยคนที่นี่นับถือศาสนาพราหมณ์  มีพิธีกรรมต่างๆมาก  คนทางใต้ก็ยังมีพิธีกรรมต่างๆมาก  มีการสวดเสดาะเคราะห์ ฯ  จากพราหมณ์มาเป็นพุทธ  แล้วมาเป็นอิสลาม  ในช่วงที่เป็นรัฐปัตตานีก็มีวัดอยู่ 20 กว่าวัด

งานประเพณีทางใต้ไม่ชอบพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่  ชอบเรียบง่าย  การปกครองที่เป็นอยู่ไปได้  ไม่ต้องไปคิดเรื่องเขจปกครองพิเศษ  ทางนี้ไม่ชอบให้เกณฑ์ไปร่วมพิธี  การบังคับให้กราบไหว้พระพุทธรูป  ต้องแต่งตัวแบบยุโรปในการติดต่อราชการ  ห้ามโกนศีรษะ(สมัยจอมพล ป.)  เกิดขึ้นก็เพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของเขา

รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา

ถ้าไม่ได้มาเรียนหลักสูตรนี้ก็จะไม่ทราบเรื่องราวต่างๆที่ได้รับฟังในวันนี้  อาจารย์เรียนทางภูมิศาสตร์แต่มาสนใจศึกษาทางประวัติศาสตร์  ทางใต้มีแต่ประวัติศาสตร์บาดหมาง  แต่การค้นหาความจริงมีคนทำน้อย  นักประวัติศาสตร์ก็จะสนใจเฉพาะช่วงเวลา  แต่อาจารย์เขียนประวัติศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกันหมดทั้งวัฒนธรรม ศาสนาที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ปัตตานีดารุสสลาม

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

30-40 ปีที่แล้วภูมิภาคนี้มีปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์  แต่ด้วยความร่วมมืออย่างดีระหว่าง 2 ประเทศปัญหาก็สงบลง  แต่เกี่ยวกับประเด็นการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศมาเลเซียมีท่าทีและให้ความร่วมมืออย่างไร?

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

มาเลเซียมองว่าเป็นปัญหาภายในของประเทศไทย  นอกจากจะมีปัญหาข้ามแดนไปทางมาเลเซีย  แต่การที่มีจุดตรวจ  มีการลาดตระเวณถี่ยิบ  แสดงว่าเวลามีเหตุการณ์เป็นคนในพื้นที่  ไม่มีการข้ามแดน

ไทยต้องมีเพื่อนมากๆถ้ามีปัญหาต้องขึ้นศาลโลก  แต่เราจะไปมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านไปหมด

ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

ที่อินเดียมีการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา  อยากให้ฟื้นฟูที่นครศรีธรรมราชซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของภาคใต้

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

จากแผนที่ของอินเดีย  ลังกาสุกะในสมัยพระเจ้าราเชนทร์ของแคว้นโจฬะ     สมัยนั้นยังไม่มีคำว่าสยาม  อาณาจักรศรีวิชัยก็เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นที่สุมาตรา  ลังกาสุกะเกิดก่อนศรีวิชัย  ลังกาสุกะเป็นรัฐพื้นเมืองคู่กับตามพรลิงค์  อาณาจักรโจฬะมาตีศรีวิชัยซึ่งเป็นอาณาจักรพุทธด้วยกัน  แต่ขัดแย้งกันทางการค้าเป้าหมายของโจฬะต้องการทำการค้ากับจีนจึงส่งกองทัพมายึดหัวเมืองต่างๆตั้งแต่ไชยา  ชุมพร ตะกั่วป่า นครศรีธรรมราช

อาเต็ป โซ๊ะโก ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน

พื้นที่ที่มีปัญหาเรียก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  จริงๆแล้วจะรวม 5 อำเภอในจังหวัดสงขลาด้วย

ปอเนาะดั้งเดิม(สำนักสอนศาสนาอิสลามที่มีที่พักอยู่ในบริเวณสำนัก) ที่คนในพื้นที่จะเรียกว่าปอเนาะเฉยๆ  ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็เป็นเรื่องราวที่ทางราชการมากำหนดขึ้นมาใหม่ให้เปลี่ยนสภาพแล้วจะได้รับเงินอุดหนุน

กรณีที่มีปัญหาการก่อความไม่สงบแล้วถูกจับเป็นผู้ต้องหาต่างๆมักจะเป็นนักศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งคนในพื้นที่จะไม่เรียกว่าปอเนาะ  แต่คนนอกพื้นที่จะเรียกปอเนาะเหมือนกัน  ครูสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะเรียกอุสตาซซึ่งส่วนมากจะจบจากตะวันออกกลาง

พล.ต.ต. วิศิษฐ์ เอมประณีตร รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เอกสารหน้า 34-37  มีขบวนการที่สนับสนุนการก่อความไม่สงบ  กล่าวถึงกลุ่มมูจาฮีดดีนปัตตานี  ตอนนี้ขบวนการที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มไหน?  มีการยกเลิก ศอ.บต.แล้วตั้งใหม่  โครงสร้างควรเป็นอย่างไร?

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

คนเดิมไม่มีใครเหลือแล้ว  คนรุ่นฮัจยีสุหลงไม่มีใครเหลือแล้ว  แต่ที่เหลือคือความคิดและการรับรู้ ฮัจยีสุหลงเป็นคนที่อาสาถือมติของกรรมการอิสลามปัตตานีร้อยกว่าคน  ซึ่งประชุมกันและมีมติ 7 ข้อไปยื่นต่อรัฐในฐานะที่เป็นประธานเลยหายตัวไปตั้งแต่ปี 2491

สิ่งที่ผิดพลาด

  1. เราทุ่มไปที่คนคนเดียว คือฮัจยีสุหลงว่าเป็นเจ้าของข้อเรียกร้อง 7 ข้อ
  2. ที่ว่ารัฐบาลไทยปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดก็ไม่ใช่  เพราะหลังจากนั้นอีก 6 เดือนก็มีมติ ครม.ออกมา  ให้เบี้ยตอบแทนพิเศษให้กับข้าราชการที่พูดภาษามลายูได้เรียกเบี้ยภาษา (ปัจจุบันก็มีการจ่ายจริง 200 บาทต่อเดือน (- สามารถ วราดิศัย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส)  แสดงว่ารัฐบาลไทยสนใจข้อเรียกร้อง  การให้ผู้นำเป็นคนมลายูก็เป็นไปได้แต่คนมลายูไม่นิยมเรียนโรงเรียนของรัฐหรือเรียนในระบบ  จึงหาข้าราชการที่เป็นคนมลายูได้ยาก

เรื่องประวัติศาสตร์  มีหนังสือที่เขียนด้วยอักษรยาวี  คนไทยเป็นคนเล่า  เขียนให้สุลต่าน  เราพูดกันน้อยไปรึเปล่า?  ขาดประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริงที่จะเอาความจริงมาพูดจากัน  จึงมีแต่ประวัติศาสตร์ต่อต้านรัฐ  ประวัติศาสตร์บาดหมาง

กานต์ ยืนยง กรรมการผู้อำนวยการ บจ. สยามอินเทลลิเจนซ์ ยูนิต

เรื่องมาเลเซียกับไทย  มาเลเซียช่วยไทยหลายเรื่องแต่ก็ไม่อยากเปิดเผยเพราะกลัวมีปัญหาการเมืองภายใน

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

ถูกต้อง  มีการช่วยเหลือกัน  มีการค้นพบหลักเขตเมืองไทรบุรีซึ่งเป็นของสยามในอดีต  ในรัฐเคดะห์  ประวัติศาสตร์จบไปแล้ว  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียก็ไม่มีปัญหาอะไรกัน

สามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ตอนแบ่งดินแดนไทยกับมาเลเซียระหว่างไทยกับอังกฤษตกลงใช้แม่น้ำกลันตันเพราะเป็นแม่น้ำใหญ่ใช้แบ่งประเทศ  แต่มาใช้แม่น้ำสุไหงโกลกซึ่งเป็นแม่น้ำเล็กๆในการแบ่งดินแดน  ถ้าใช้แม่น้ำกลันตันจะได้ดินแดนมาอีกมาก

เผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องรวมจังหวัดสงขลาและสตูลด้วย  แต่ที่มีปัญหาคือ 3 จังหวัดกับอีก 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา   จังหวัดสตูลไม่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐปัตตานีเลย  เป็นมุสลิมสยามเป็นส่วนใหญ่  จึงไม่มีปัญหาการก่อความไม่สงบ

Post to Facebook Facebook


การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง(3)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 29 กันยายน 2011 เวลา 11:49 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2199

วันที่ 9 กันยายน 2554  9.30-12.30 น.

อาจารย์นารี เจริญผลพิริยะ

นารี

หลังจากอาจารย์ปาริชาตพูดเสร็จ  อาจารย์นารีก็ต่อด้วย

……ขอพากลับมาที่คน  เพราะคนเป็นตัวกำหนดว่าสื่อจะไปทางไหน?  คนที่มีอำนาจก็อยากควบคุมสื่อ ที่ยกตัวอย่างชินเจียงที่พยายามใช้สื่อของรัฐในการขจัดความขัดแย้ง  โดยการโฆษณาทิศทางของซินเจียงให้กินอิ่ม นอนอุ่น ให้ได้รับเกียรติ  จะสามารถลดความขัดแย้งได้

ประเทศไทยกรณีภาคใต้  นักศึกษาคิดว่า

  • มีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่
  • ผลประโยชน์ไม่ลงตัว(งบประมาณ)-ระหว่างรัฐกับรัฐ  และระหว่างรัฐกับประชาชน
  • การใช้อำนาจรัฐ ความไม่เป็นธรรม
  • แบ่งแยกดินแดน
  • ไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชน  ผู้นำท้องถิ่น  ครูสอนศาสนาท้องถิ่นกับส่วนกลาง
  • ความแตกต่างในเชื้อชาติ ศาสนา  ความเชื่อและวัฒนธรรม
  • มีเงินสนับสนุนจากภายนอกประเทศ
  • ความไม่เป็นเอกภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ
  • มุมมองทางประวัติศาสตร์
  • ความจริงใจที่จะแก้ปัญหา
  • ปัญหาระบบการศึกษาในภาคใต้  ปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน
  • ความขัดแย้งของกรุงเทพฯ กับปัตตานี

ส่วนมากพวกเรารู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน  การรับรู้แตกต่างกัน  เลยเกิดความเข้าใจแตกต่างกันไป  วาทะกรรมต่างๆนี้เป็นสื่อจากฝ่ายรัฐหรือสื่อกระแสหลักเป็นคนสื่อสารออกมา  สื่อกระแสหลักจะออกมาแนวขบวนการแบ่งแยกดินแดน  ถ้าลงในพื้นที่ก็จะได้ยินอีกแบบหนึ่ง  ใช้ภาษาที่แตกต่างกัน เช่นขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชรัฐปัตตานี  เป็นวาทะกรรมที่ต่างกัน  จุดยืนที่ต่างกัน ถ้อยคำที่ต่างกันซึ่งมีจุดมุ่งหมายในนั้น

การใช้คำว่าแบ่งแยกดินแดนทำให้คนมีความรู้สึกว่าต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง ต้องไม่เห็นด้วย เป็นข่าวสารจากรัฐที่ต้องการให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายที่รัฐจะเอาแผ่นดินคืนมา  ขบวนการก่อความไม่สงบก็ใช้วาทะกรรมอีกแบบหนึ่ง  ซึ่งล้วนแต่มีเป้าหมาย  ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟังและตีความ  แต่ละฝ่ายก็มีมวลชนของตัวเอง ขบวนการก่อความไม่สงบใช้การสื่อสารที่ร้านน้ำชาและร้านกาแฟ

การใช้ Social Media ภายใต้สื่อเสรี  ข้อมูลจากสื่อต้องระมัดระวังมากๆ  ต้องมีจริยธรรมและมุ่งความสงบสุขของสังคมจึงจะทำให้การใช้สื่อมีประโยชน์  ฐานการเอาชีวิตรอดทำให้มีการโกหก  การให้ข้อมูลเท็จผ่านสื่อต่างๆ  ต้องให้การศึกษากับผู้คนในประเด็นจริยธรรมมุ่งสู่ความสุขมวลรวมของผู้คน

การสื่อสารอย่างสันติเป็นการสื่อสารแห่งความกรุณา  มีวิธีการที่จะพูดให้เกิดสันติ  อาจารย์พูดให้ฟังเรื่องภาษาหมาป่ากับภาษายีราฟ

ภาษาหมาป่าคือภาษาที่ตำหนิ  ตัดสิน  ตีความตนเองและผู้อื่น

  • มองใกล้ ใจแคบ
  • เป็นสัญญลักษณ์การสื่อสารที่กีดกันไม่ให้เราเข้าถึงความกรุณา
  • ตัวเตี้ย  ติดดิน  ไม่มองไกล  มองใกล้ตัว
  • สื่อสารแบบกล่าวโทษหรือตำหนิตัวเองหรือคนอื่น  ว่ากันไป ว่ากันมา

หมาป่าหูเข้าจะตำหนิตัวเอง  หมาป่าหูออกจะด่าคนอื่น ตำหนิคนอื่น

ภาษายีราฟคือภาษาที่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองและคนอื่น

  • มองไกล ใจกว้าง
  • ยีราฟเป็นสัตว์บกที่มีหัวใจโตที่สุด
  • คอยาว เห็นกาณ์ไกลมาก
  • พูดเข้าใจความรู้สึก  ความต้องการ

ยีราฟหูเข้าจะเข้าใจตัวเองเพื่อให้คนอื่นเข้าใจเรา  ยีราฟหูออกเข้าใจคนอื่น

การสื่อสารอย่างสันติควรใช้ภาษายีราฟ  มีการสังเกต  รู้สึก  ต้องการ  และขอร้อง  การใช้ภาษายีราฟจะทำให้คู่กรณีเข้าใจและให้ความร่วมมือ  ต้องเข้าใจคู่กรณีและทำให้คู่กรณีเข้าใจเราด้วย

ความขัดแย้งใหญ่ๆมาจากความขัดแย้งเล็กๆที่สะสมกันมา

การใช้คำพูดก็ต้องระมัดระวัง  การหยอกล้ออาจทำให้เกิดปัญหา  เช่นกรณีที่ถูกจำคุกในกรณีก่อความไม่สงบ

…..ไม่ดีใจเหรอที่เมียติดคุก?….

…..ยังสาวอยู่เลย  หาใหม่ไม่ดีกว่าเรอะ?

หรือในการตรวจค้น  การซักถามว่า

…..พาระเบิดมาด้วยรึเปล่า?…  ฟังดูอาจเหมือนเป็นการซักถามตามปกติ  แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าหยาบคาย  ใส่ร้าย  กล่าวหากัน

การสื่อสารว่า

….ครูเขามาให้ความรู้  มาทำให้ฉลาดทันโลก  ไปยิงเขาทำไม?…..  ความหมายเหมือนคุณเป็นคนยิง

….ทำไมคนที่นี่ชอบความรุนแรง  มาคุยกันดีกว่า…..

….ทหารมาช่วยเรา  อย่ายิงเขาเลย…..

ซึ่งน่าจะใช้คำเหล่านี้แทน

…..พอรู้ไหมว่าอะไรทำให้เกิดการยิงครู?….

…..พอรู้ไหมว่าทำไมมีความรุนแรง ?…..

การลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้ไปพบความจริง  แต่ต้องระมัดระวัง  มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ความจริง

อาจารย์เปรียบเทียบปอเนาะเหมือนสำนักวิปัสนาของชาวพุทธ  อาจถูกกล่าวหาเป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อความไม่สงบ

Post to Facebook Facebook


การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 29 กันยายน 2011 เวลา 2:08 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 3042

อาจารย์ปาริชาต

สภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพ:

หากผู้นำเห็นพ้องต้องกันในการสนับสนุนสันติภาพ  สื่อก็ย่อมพร้อมที่จะนำเสนอบทบาทเชิงบวกต่อสันติภาพ  แต่ถ้ายิ่งมีปริมาณวิกฤตการณ์และระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากเท่าไร  สื่อก็ยิ่งมีโอกาสจะนำเสนอสิ่งที่สวนทางกับกระบวนการสันติภาพ

ตัวอย่างกรณีสงครามเวียตนาม  สหรัฐอเมริกาต้องการภาพผู้พิทักษ์โลก  ผู้ปกป้องประชาธิปไตย  แต่ตอนนั้นกองทัพอเมริกันไม่ได้คิดถึงเรื่องการควบคุมสื่อ  คิดว่าสื่อมีอิสระเสรีภาพ  ไม่ได้คิดว่าการเสนอประเด็นข่าวจะมีผลอย่างไร  สื่อจึงนำเสนอข่าวความจริง  ไม่ใช่ภาพที่ตัดแต่ง เป็นภาพทหารอเมริกันล้มตาย ซ้ำๆๆๆๆ  นำเสนอในข่าวภาคค่ำ  ผู้คนรับไม่ได้  ท้ายที่สุดมีการลงมติให้ถอนทหารออกจากเวียตนาม  การปรับตัวของกองทัพ  ภาพของผู้สื่อข่าว  คนที่ทำงานด้านสันติภาพที่พยายามกันเต็มที่กลับออกมาเป็น New Left ฝ่ายซ้ายใหม่,  ผู้ทำลายประชาธิปไตย,  กลุ่ม Anti-War,  เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐไป

สงครามอ่าวเปอร์เซีย -Gulf War 1990-1991 กองทัพเปลี่ยนบทบาทใหม่  ทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวใกล้ชิดขึ้น  มีการบริหารประเด็นข่าว  มีการวางกรอบประเด็น  ให้เป็นสงครามการก่อการร้าย  อเมริกามีภาพเป็นผู้นำระดับโลกที่มีศีลธรรม  อิรักเป็นศัตรู  ซัดดัม ฮุสเซนคือฮิตเลอร์ที่กลับมาเกิดใหม่  คนที่เก่งด้านสื่อสารมวลชนต้องมาช่วยรัฐบาล มีการผลิตสื่อที่เท็กซัส  เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง  แต่คูเวตกลับจ้าง PR-Agency ที่เป็นบริษัทอเมริกัน  จัดฉาก สร้างเรื่ีองมีเด็กผู้หญิงร้องไห้  เห็นทหารอิรักบุกเข้ามาในคูเวต  อะไรคือจรรยาบรรณ?  อะไรคือจริยธรรม?  ไม่ใช่แค่นักข่าว  ผู้สื่อข่าว  แต่ผู้นำของประเทศด้วย  และอะไรคือสันติภาพ ?  สื่อรู้ไหม?  รู้ภายหลังและไม่พอใจถือว่าเป็นการดูถูกและผิดต่อจริยธรรม  ทำให้กองทัพต้องปรับวิธีทำงานร่วมกับสื่อใหม่อีก

11 มีนาคม  เหตุเกิดที่ญี่ปุ่น เสียชีวิตและความสูญเสียมากมายจากคลื่นยักษ์สึนามิ  ในขณะที่ทั่วโลกพยายามหาทางที่จะไปช่วยญี่ปุ่น  ก็มีกรณีของตะวันออกกลาง ลิเบีย  เป็นการสร้างความชอบธรรมของอเมริกันในการกำจัดศัตรู  ไม่มีข่าวเลยว่าในพื้นที่มีคนบาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่  ภาพที่ออกมาเป็นภาพที่มุมกล้องสวยมาก  ถ้าต้องการข้อเท็จจริงต้องไปดูที่สำนักข่าวอัลจาซีร่า

ข่าวมักนำเสนอในทิศทางที่สวนทางกับความพยายามสร้างสันติภาพยกเว้นถ้ามีกระบวนการเรียกร้องสันติภาพสูง  มีกระบวนการสนับสนุนสันติภาพสูง  ข่าวจะเสนอในทิศทางที่สนับสนุนสันติภาพ  ถ้ามีจำนวนความเข้มข้นและจำนวนของวิกฤตการณ์ความรุนแรงต่ำ  พื้นที่ข่าวก็จะเปิดพื้นที่ให้สันติภาพ  ถ้าสมาคม  องค์กร  ผู้สื่อข่าวมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบ่อยก็จะเห็นว่าควรจะนำเสนอในทิศทางใด  การเปลี่ยนแปลงในเชิงสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เอื้อต่อสันติภาพก็จะมีผลต่อพื้นที่ข่าว

ในประเทศไทย  อนาคตทิศทางของสื่อมวลชนก็จะเน้นในประเด็นของจริยธรรมและความรับผิดชอบ  สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและงดการนำเสนอเรื่องราวที่เสี่ยงต่อความรุนแรงและสงคราม  ตอนมีวิกฤตกลุ่มผู้สื่อข่าวก็มีการออกมาเรียกร้องให้หยุดทำร้ายประเทศไทย

เส้นทางสู่อนาคตของกลุ่มคนและกิจกรรมเพื่อสันติภาพ  บทเพลง  การแสดงดนตรีและตราสัญญลักษณ์สันติภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องสันติภาพ  บ้านเราก็มีกลุ่มต่างๆที่พยายามทำเรื่องสันติภาพอยู่มาก  ก็ทำอะไรที่แปลกๆเป็นเชิงสัญญลักษณ์เพื่อเป็นประเด็นข่าว  เช่น หยุดทำร้ายประเทศไทย,  Ignite Thailand- เวทีจุดพลังบวก ฯลฯ

PEACE

Internet  Social Media  ก็จะมีส่วนในการสร้างสันติภาพได้ถ้าใช้อย่างถูกต้อง  เพราะมีผู้ใช้หลากหลาย  แลกเปลี่ยนได้ง่าย  ลิงก์ได้ง่าย  สามารถแบ่งปัน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ง่าย  สามารถเรียกร้องวาระของตนได้  แต่ก็มีจุดอ่อนมาก  ถ้ามีการใช้ไปในทางที่ผิด  ขาดภูมิต้านทาน

คนไทยไม่คิดที่จะช่วยตัวเอง  ยังรอผู้มีอำนาจมาให้ความช่วยเหลือ

Post to Facebook Facebook


การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง (1)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 29 กันยายน 2011 เวลา 0:18 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 3017

วันที่ 9 กันยายน 2554 9.30 -12.30 น.

ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์


เริ่มด้วยอาจารย์ปาริชาตถามว่า “ท่านคิดว่าสื่อสารมวลชนเหมาะแค่ไหนในการทำงานสันติวิธี?”  แล้วเปิดเพลง รักเธอประเทศไทย ของหรั่ง ร็อคเคสตร้า (ชัชชัย สุขขาวดี)  ให้ฟัง  อาจารย์ถามว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อฟังเพลงนี้ ?

ดร. สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

ชอบเพลงนี้  แต่ไม่น่าจะมีเพลงนี้  ถ้าคนไทยรักกันก็ไม่จำเป็นต้องมีเพลงนี้

พันเอก เอื้อชาติ หนุนภักดี นายทหารประจำกรมข่าวทหารบก

เพลงจะเกิดขึ้นตลอด  เพลงจะมาทดแทนสิ่งที่หายไปเช่นจีนต้องการหาคนซื่อสัตย์ก็เกิดกวนอู  เพลงมักจะสะท้อนอะไรบางอย่าง

อาจารย์ปาริชาต

เพลงที่เอามาเปิดในช่วงที่มีความขัดแย้งแล้วมักจะถูกบิดเบือนตัดสินให้มีสี  ทั้งๆที่คนแต่งไม่มีเจตนา  บางคนบอกว่าฟังคุ้นๆเป็นเพลงเสื้อเหลือง

ทหารมีเพลงที่ปลุกใจให้รักชาติมาตลอดแต่หายไปช่วงเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าสมัยน้าชาติ   จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  ก็มีการร่วมมือกับบริษัทเอกชนผลิดสื่อและเพลงออกมาตลอด

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

เพลงนี้แต่งมาตั้งแต่ปี 1986  หรั่งเคยเป็นทหารเรือ  ไม่ได้แต่งตอนมีความขัดแย้งทางการเมือง

อาจารย์ปาริชาต

ธรรมชาติของสื่อมีทั้ง Hardware และ Software   Hardware คืออุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ  ส่วน Software เป็นมิติด้านสาร  ตัวสาระ  เนื้อหา  ประเด็นที่ถูกผลิตขึ้นหรือหยิบเอาของเก่ามาใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะและเหตุการณ์ในแต่ละช่วง

“ผู้ใดครองสื่อ  ผู้นั้นครอบครองอำนาจ” กรรมการด้านนี้ถึงมีการแย่งชิงกันจนป่านนี้ยังไม่จบ  มีเรื่องไปที่ DSI  ไม่รู้จะจบอย่างไร?  แต่ทุกท่านที่เป็นคนไทยสามารถมีสิทธิด้านสาร หรือ Message  หรือประเด็น  หรือข้อความ  ไม่ว่าจะเป็นการผลิต  การแต่งเรื่องราว  การนำเสนอ

การตั้งชื่อสื่อความหมาย (Naming is Framing)   การตั้งชื่อช่วยนำกรอบความคิดความเชื่อของเราที่มีต่อประเด็น   กลุ่ม P (นักศึกษากลุ่มที่ทำงานทางวิชาการเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ”) ตั้งชื่อโครงการว่า “Social Media กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง- อาทรเสวนา”  ก็ชัดเจนดี  ท่าทางจะไปไกลกว่ากลุ่ม S (ความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์และแนวทางสันติวิธีในการจัดการปัญหาความรุนแรง:กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้)

การครองสื่อคือการครองใจ  ไม่ใช่มองที่อุปกรณ์ต่างๆ  แต่เป็นการครองใจ  ด้านประเด็นเป็นสิ่งที่สำคัญ

“ที่ใดมีความขัดแย้ง  ที่นั่นย่อมมีการแสวงหาสันติภาพ” สื่อมีความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร?  เวลาทำงานด้านนี้สื่อได้อะไร?   ได้ทั้งดอกไม้และก้อนหิน

สื่อเป็นความหวังของสังคม  ไม่ใช่นำไปสู่อำนาจ  ผลประโยชน์  ไปเป็นทุนนิยม

ด้านหนึ่งก็อยากให้สื่อมีเสรีภาพ  แต่ก็อาจขัดแย้งกับการที่หงุดหงิดเวลาถูกสื่อวิจารณ์  โจมตี  เลยอยากควบคุม เซ็นเซอร์สื่อ

ในช่วงที่มีความขัดแย้ง  สื่อมักจะเป็นกันชนหรือกระโถนท้องพระโรง  สื่อมวลชนเป็นความหวังของสังคม  ในการปฏิรูปประเทศ  มิติด้านสื่อจะมีการหยิบยกมาพูดถึงมาก

ถ้าสื่อมวลชนคือความหวัง  คิดว่าสื่อมวลชนควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรสูงสุด ?

  • ความขัดแย้ง
  • สันติภาพ
  • นำเสนอเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพพอๆกัน

งานวิจัยพบว่าสื่อมวลชนนับวันจะเลือกนำเสนอความขัดแย้งมากที่สุด

ยกตัวอย่างเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน  มีการรณรงค์ให้เกิดสันติภาพ  ไม่มีศัตรู  ป้ายชื่อสถานที่มี 2 ภาษา  ผู้นำทางความคิดพูดตรงกัน  ผ่านสื่อต่างๆ

พล.ต.ต. วิศิษฐ์ เอมประณีตร รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

วิศิษฐ์1

เสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศคอมมิวนิสต์มีการควบคุมสื่อ  การดำเนินการเป็นไปตามกลไกรัฐ  แต่ในบ้านเราสื่อมีหลายประเภท  มีทั้งสื่อที่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและสื่อที่มีกลไกการจัดตั้ง  สื่อที่มีจรรยาบรรณ  บ้านเราต่างกับประเทศจีนเพราะบ้านเรามีเสรีภาพ  แต่บ้านเราอาจมีเสรีภาพเกินขอบเขต  อาจมีเรื่องของผลประโยชน์  เรื่องการจัดตั้ง  ทำให้มีผลกระทบกับประชาชนเพราะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ขณะที่มีความขัดแย้ง  คนที่มีการศึกษาแทบจะไม่ดูข่าวในประเทศเลย  ไปดูข่าวจากต่างประเทศ เช่น CNN …..  แต่สื่อที่ดีๆควรเสนอข่าวที่เป็นความจริง  สื่อที่เสนอความขัดแย้งมักมีการจัดตั้ง  มีเบื้องหลัง

อาจารย์ปาริชาต

สื่อของจีนต่างจากไทย  สื่อในจีนเป็นของสื่อของรัฐจึงมีเอกภาพ  รวมทั้งการจัดลำดับที่จะเป็นประเด็นข่าว  คุณค่าข่าวจะเป็นไปในโทนเดียวกันหมด  แต่ก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นในเรื่องของธุรกิจ ความบันเทิง  กีฬา  ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง

ในประเทศไทยมีการปฏิรูปสื่อ  กำลังอยู่ในช่วงการต่อสู้  ตามรัฐธรรมนูญสิ่งที่เป็นสื่อเป็นของสาธารณะ  แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหาอยู่  ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ  ยังรอ กสทช.  หวังว่าในที่สุดจะได้สื่อที่เน้นผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลัก

ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่คิดว่าควบคุมสื่อได้  แต่เจอสื่อที่คิดว่าเอาไว้เจ๊าะแจ๊ะ  คือ Facebook ที่คนเอาไปโพสต์ว่ารัฐ ตำรวจท้องถิ่นไม่มีความยุติธรรม ความจริงยังไม่ได้พิสูจน์  ยังไม่ได้ไปสู่กระบวนการยุติธรรม แต่คนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ออกมาแสดงพลัง  นี่ก็เป็นอันตราย

ที่อิยิปต์  ลิเบีย  ผู้ครองอำนาจครอบครองสื่อได้  แต่ไม่ทั้งหมด อย่ามองแค่มิติด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก  แต่ให้ดูที่มิติของสาร

สื่อมวลชนมีส่วนส่งเสริมและทำลายสันติภาพ  เช่นการเน้นความเสี่ยงและอันตรายหากดำเนินมาตรการประนีประนอม  การตอกย้ำภาพฝังหัวที่เป็นลบเกี่ยวกับศัตรูหรือการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มที่ไม่ยอมอ่อนข้อก็จะเป็นการทำลายสันติภาพ

บทบาทสื่อมวลชน

สิ่งที่น่าสนใจคือคุณค่าของข่าว เรื่องที่จะเป็นข่าวต้องมี

  • ความเร่งด่วน เช่นเหตุการณ์หรือกิจกรรมพิเศษ
  • เป็นละคร (Drama) ความรุนแรง วิกฤต ความขัดแย้งในองค์กรที่สำคัญ  ความสุดโต่ง อันตราย  ความก้าวหน้าใหม่ๆ
  • ความเรียบง่าย
  • ความเป็นศูนย์กลาง ความเชื่อ  ความยากลำบาก  ความรุนแรง  ความเชื่อ

คนที่เข้าใจเรื่องนี้ก็สามารถแย่งพื้นที่ข่าวหรือเปิดพื้นที่ที่จะเป็นประเด็นข่าว

Post to Facebook Facebook


การฝึกปฏิบัติกระบวนการประชาเสวนา

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 28 กันยายน 2011 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2416

วันที่ 2 กันยายน 2554  13.30-16.30 น.

อาจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์

อาจารย์สุจินันท์ หรสิทธิ์

อาจารย์สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด

บ่ายนี้เป็นการฝึกปฏิบัติขบวนการฉันทามติและสานเสวนา

ปฏิบัติ

เริ่มจากการให้นั่งเป็นรูปตัวยู –U ให้ทำความรู้จักกัน  สร้างความสัมพันธ์ให้คุ้นเคยกัน  อาจารย์ให้แนะนำตัวด้วยชื่อเล่นแล้วตามด้วยของกินที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ   เริ่มที่อาจารย์ก่อน  เช่น….

  • สุจินันท์  มีมะดันมาฝาก
  • ปุ้ย(อ.สุมานิการ์)  เอากุ้ยช่ายมาฝาก
  • บุญมา (เจ้าคุณบุญมา…..พระราชปฏิภาณมุนี) เอากล้วยน้ำว้ามาฝาก
  • ประเทือง (พระราชพุทธิวราภรณ์) เอามะเฟืองมาฝาก
  • พระครูวิจิตร (พระครูวิจิตรศีลาจาร) เอาลูกชิดมาฝาก
  • ดุ๊ก (เกียรติเกริกไกร ใจสมุทร) เอาปลาดุกมาฝาก …..

………….ก็สนุกสนานและจดจำชื่อเล่นกันได้ดีพอสมควร….อิอิ

จากนั้นก็ให้ทำกิจกรรมฉันทามติ  หลักของการมีส่วนร่วมที่สำคัญมี 5 ประการคือ

  1. ร่วมให้ข้อมูล
  2. ร่วมรับรู้ข้อมูล
  3. ร่วมรับผลประโยชน์
  4. ร่วมตัดสินใจ
  5. ร่วมติดตามประเมินผล

ที่สำคัญที่สุดคือร่วมตัดสินใจ  ในการจัดการความขัดแย้งจะใช้หลัก “ฉันทามติ”  ให้ร่วมกับลองทำกิจกรรมฉันทามติโดยใช้เรื่องสมมติ “นักท่องเที่ยวเกาะสวาทหาดสวรรค์”  โจทย์ที่อาจารย์ให้มีดังนี้

นักท่องเที่ยวเกาะสวาทหาดสวรรค์

เกาะสวาทหาดสวรรค์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฮาวาย  มีเสียงเล่าลือว่าเป็นเกาะที่สวยงามมาก  ถ้าใครได้ไปเที่ยวชมแล้วถือว่ามีบุญวาสนาไม่เสียชาติเกิด  แต่ ณ เกาะแห่งนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่เลย  วันหนึ่งมีนักท่องเที่ยว 7 คนได้เช่าเครื่องบินเล็กเพื่อเข้าไปเที่ยวชม  ปรากฏว่าเครื่องบินดังกล่าวตกลงไปในป่าลึกที่เกาะแห่งนี้  โดยไม่มีผู้ใดเสียชีวิต   7 วันต่อมาได้มีเคื่องบินลำหนึ่งบินผ่านมาและได้พบสัญญาณที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่งมาเพื่อขอความช่วยเหลือ  นักบินจึงนำเครื่องลงจอด ณ ที่แห่งนี้  ปรากฏว่าเครื่องบินลำนี้สามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เพียง 1 คนเท่านั้น  และอาหารที่เหลืออยู่ก็สามารถประทังชีวิตพวกเขาได้เพียง 7 วันเท่านั้น

“ขอให้ท่านช่วยวิเคราะห์ด้วยเถอะว่าเครื่องบินลำนี้ควรจะช่วยเหลือใครมากที่สุด”

1. สมสี ผู้หญิงท้องแก่ใกล้คลอด  มีประวัติคลอดยาก  ต้องไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

2. สมชาย หมอผ่าตัดฝีมือดี  เขาวางแผนว่าจะต้องเดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับเด็กที่อเมริกาในเดือนหน้า

3. สมพิศ เด็กผู้หญิงวัยรุ่น กำพร้า  จิตใจไม่มั่นคง

4. สมคิด เป็นรองประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งขณะนี้ประธานาธิบดีกำลังป่วยหนักต้องการให้สมคิดกลับประเทศด่วน

5. สมศักดิ์ เป็นคนแก่อายุ 87 ปี  มีอาชีพขายอาหารทะเล ได้รับบาดเจ็บหลังหัก

6. สมหญิง เป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการตัวด่วนในประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ไปช่วยแก้ปัญหาเตาเผาที่กำลังจะระเบิดและเป็นอันตรายมาก

7. สมใจ เป็นลูกสาวของสมหญิง อายุ 3 ขวบ

ให้ร่วมกันตัดสินใจโดยเริ่มจากกลุ่มเล็กประมาณ 7 คน  แล้วค่อยมาเข้ากลุ่มใหญ่  ในกลุ่มเล็กให้ทุกท่านหันหน้าเข้าหากัน  พูดคุยกัน  อาจตกลงกันได้หรือตกลงไม่ได้  ถ้าตกลงไม่ได้ค่อยมาคุยกันในกลุ่มใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  ให้เวลากลุ่มละ 15 นาที

หลังจากนั้นก็ให้มาเข้ากลุ่มใหญ่ซึ่งจะให้พูดทุกคนในเวลาเท่าๆกัน  คนที่ไม่พูดอาจยกเวลาของตัวเองให้คนอื่นพูดแทนก็ได้  หรือถ้าในกลุ่มเล็กตกลงกันได้ก็ให้ตัวแทนมานำเสนอเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ 

มีการมอบสติ๊กเกอร์ให้  ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะให้เอาสติ๊กเกอร์มาลงคะแนนในกลุ่มใหญ่หลังจากพูดคุยกันในกลุ่มใหญ่  แต่ละคนอาจเปลี่ยนใจ  เลือกคนที่ไม่ได้เลือกในกลุ่มเล็กก็ได้ถ้ารับฟังคนอื่นแล้วเห็นว่ามีเหตุผลดีกว่า  เป็นการหาฉันทามติในเวลาสั้นๆถ้าตกลงกันไม่ได้  แต่ถ้ามีเวลามากก็พูดคุยกันไปเรื่อยๆก็จะได้ฉันทามติที่ไม่ต้องโหวต

สุดท้ายก็ต้องโหวต  ปรากฏว่า  สมหญิงได้คะแนน 30 คะแนน  สมพิศได้ 22 คะแนน  คะแนนสูสี  ยังสรุปว่าเป็นฉันทามติไม่ดีนัก  ถ้ามีเวลาก็อาจจะเอา 2 คนนี้มาคุยกันต่อ  จนสรุปกันได้  นี่คือหลักฉันทามติ

รอบแรกอาจสรุปไม่ได้  ถือว่ายังไม่เป็นฉันทามติ  ให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมีโอกาสแสดงความคิดเห็น

มีนักศึกษาแสดงความคิดเห็น

…….ก่อนลงฉันทามติมีการพูดคุยเหตุผลกันก่อน  ถ้ายกมือกันเลยจะใช้เวลาสั้นๆ  แต่วิธีนี้มีเวลาฟังความเห็นของคนอื่นประกอบด้วย…..

อาจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์

ใช้เวลาตั้งนานยังตัดสินใจอะไรกันไม่ได้  ประเทศก็กำลังลุกเป็นไฟ…….

มีใครเปลี่ยนใจบ้าง?  คนเราเปลี่ยนใจได้ถ้าได้รับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของคนอื่น  แต่เป็นเพราะฟังแล้วต้องการเปลี่ยนการตัดสินใจเอง  ถ้ามีใครมาบังคับให้เปลี่ยนการตัดสินใจก็จะไม่ยอม  ในสังคมที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน (Homogenous) ฉันทามติจะเกิดได้เร็ว  ถ้าสังคมมีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านความคิด  ความรู้  เชื้อชาติ ศาสนา  จะใช้เวลานาน  แต่ก็จะค่อยๆเกิดขึ้นได้ถ้ามีการพูดคุยกัน

เวลาให้เราเลือกอะไร 2 อย่าง  เรามักจะว่าของเราดีกว่า

ทางหลวงถ้ามี U-turn แล้วเกิดอุบัติเหตุสูง  แขวงการทางก็จะปิด  ยกเลิก U-turn  โดยเอาแท่งคอนกรีตมากั้น  แขวงการทางก็มีเหตุผลของแขวงการทาง  แต่ชาวบ้านไม่ชอบใจ  ไม่พอใจเพราะต้องขับรถไกลขึ้นกว่าจะไปถึงอีก U-turn   ก็จะยกขบวนไปล้อมแขวงการทาง

ชาวบ้านก็มีเหตุผล  แขวงการทางก็มีเหตุผล  เหตุผลใครดีกว่า?  จะหาทางออกอย่างไร?

 

 

อ.นายแพทย์ประเวศ วะสี   เวลามาเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานก็จะพูดว่า  สามีภรรยาเวลามีปัญหากัน  อย่าใช้เหตุใช้ผล

 

สามีกลับบ้านดึกก็จะอ้างว่า  งานยุ่ง  ต้องรับรองลูกค้า  ต้องประชุมแก้ปัญหาด่วน..ฯ

ภรรยาก็จะว่าดูแลแต่คนอื่น  ไม่ดูแลคนที่บ้านบ้าง  อุตส่าห์ทำกับข้าวรอก็ไม่กลับมากิน..ฯ

ทั้งคู่ต่างใช้เหตุผลก็จะมีปัญหาแน่นอน  ต้องใช้ความรักและความเข้าใจ  

 

ในกระบวนการสานเสวนา (Dialogue)ไม่ใช่การถกเถียงเพื่อเอาชนะ(Debate)   คนเราปกติมักจะตัดสินใจเร็ว  ฟังปุ๊บตัดสินใจปั๊บ  แต่ถ้ามีการรับฟัง  พูดคุยกับคนอื่นมากๆก็อาจเปลี่ยนใจ  เปลี่ยนความคิดได้  สื่อมวลชนก็จะมีส่วนอย่างมาก  นักการเมืองถึงต้องการควบคุมสื่อ  เพราะคนเราถ้าฟังอยู่ทุกวันๆก็จะเชื่อ  ต้องใช้สติปัญญาในการติดตามข่าวสาร

Post to Facebook Facebook


การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 27 กันยายน 2011 เวลา 21:55 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2321

VDO เรื่องที่ 2  เป็นเรื่อง “โครงการประชาเสวนาหาทางออกของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน: อารยะอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบด้านสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างสมานฉันท์”  ซึ่งทางวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับมูลนิธิหัวใจอาสาร่วมกันดำเนินการ

3 กันยายน พ.ศ. 2550 ที่ระยองมีปัญหาะหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม  มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินที่ระยองโดย IRPC (บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เดิมคือบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ )  ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองระยอง  อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม  อยู่ใกล้ชุมชนและวัด

IRPC

ทางบริษัทและชาวบ้านมีความเชื่อต่างกัน  ยืนยันที่จะเอาแพ้เอาชนะกันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้น    ชาวบ้านกว่า 10,000 คนก็มาปิดล้อมโรงงาน  และนำเรือมาปิดปากอ่าว  เพราะห่วงจะมีผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและด้านเกษตรกรรม  เป็นที่มาของโครงการประชาเสวนาหาทางออกฯ  เพื่อหาทางออกร่วมหรือฉันทามติ

ระยะแรกได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มูลนิธิหัวใจอาสาได้เริ่มโครงการศึกษาขบวนการสมานฉันท์เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะในสังคมในพื้นที่จังหวัดระยอง  มีการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์ในพื้นที่  คนในระยองสามารถมาพูดจากันอย่างสันติวิธี

ทั้งส่วนราชการ  ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในท้องถิ่นมากำหนดแนวทางกันเพื่อลดผลกระทบ  มีการสร้างสัมพันธ์ที่ดี  สร้างความคุ้นเคย  หาปัญหาเชิงลึก  ฟื้นความเข้าใจกัน  อยู่กับชุมชน  พูดจา  ประชุมกันบ่อยๆ  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  เมื่อเข้าใจกันความขัดแย้งต่างๆก็ลดลง

มีการอบรมหลักสูตร การจัดการความขัดแย้งขั้นพื้นฐานโดยสันติวิธี สร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย  การสื่อสาร  ให้เข้าใจพื้นฐาน  แนวคิดการจัดการความขัดแย้ง  มีการใช้เกมส์ต่างๆ  หลังจากที่มีความรู้พื้นฐานและมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติแล้วก็ลงพื้นที่จัดเสวนากลุ่มย่อย  สร้างความคุ้นเคยกับชุมชน  มีการค้นหาปัญหาที่ต้องการแก้ไข  มีการฝึกปฏิบัติจริงในชุมชนต่างๆหลายแห่ง  ให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้ฝึกหัด  ฝึกแก้ไขปัญหาเองโดยมีวิทยากรคอยดูแลและให้คำแนะนำ

…….ความเห็นของชาวบ้าน…..

..ถ้าใช้ความรุนแรง  ไม่มีการชนะถาวร  จะต้องพูดคุยเสวนากัน  ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนของทุกภาคส่วน…….

หลังจากนั้นก็มีการอบรมหลักสูตร  “นักเจรจาไกล่เกลี่ย” เป็นหลักสูตรที่ 2 โดยคัดเลือกคนที่ผ่านหลักสูตรที่ 1 มาแล้ว  มีการทบทวนพื้นฐานและการจัดการความขัดแย้ง  กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์  ฉันทามติ  กิจกรรมบทบาทสมมติ  และรับฟังการวิจารณ์จากวิทยากร  เพื่อให้เข้าใจกระบวนการและพัฒนาเป็นนักเจรจาไกล่เกลี่ยที่ดี

ในการอบรมได้ไปดูงานที่ศาลจังหวัดและศาลแขวงชลบุรี  ฟังการบรรยายจากท่านผู้พิพากษา  ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลจังหวัดชลบุรี

23 เมษายน 2554   มีการเสวนาโต๊ะกลมครั้งใหญ่  เป็นการรวมหน่วยงานภาครัฐ  ประชาชนและโรงงานเพื่อหาฉันทามติและร่วมกันทำข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อเสนอเป็นข้อตกลงที่เป็นทางออกของข้อขัดแย้ง  มีความคืบหน้า  จากเดิมโรงงานกับประชาชนเป็นศัตรูกันเลย  แต่ภายหลังกระบวนการ  ก็มีกิจกรรมร่วมกัน  มีฉันทามติ  ตอนนี้ชุมชน  หน่วยราชการและโรงงานก็เข้ามาคุยกัน  ไม่ใช่มาตะโกนชี้หน้าด่ากัน มีการคุยกันทุกเดือน  โรงงานจะรายงานว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว  และกำลังจะทำอะไรต่อไปอีก

28 มิถุนายน 2554  โรงงาน IRPC ซึ่งประกอบธุรกิจด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีด้วยก็ได้หยุดการใช้น้ำมันเตา (ซึ่งก่อมลพิษและกลิ่นอย่างรุนแรง)ในการผลิต  มีการตัดปล่องไฟ  ชาวบ้านก็เอามังคุดมาให้ทางโรงงาน  มีการช่วยกันปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกัน (Protection Strip) ระหว่างโรงงานกับชุมชนเป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร  มีการร่วมกันเพาะเมล็ดเพื่อเอามาปลูกร่วมกัน

ทางโรงงานได้ช่วยตั้งศูนย์วิจัยการเกษตรเพื่อพัฒนาการเพาะปลูกของชาวบ้าน  เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  มีการตรวจสุขภาพเป็นการเฝ้าระวัง  ช่วยกันป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม  เป็นต้นแบบอารยะอุตสาหกรรม  เกิดเป็นระยองโมเดล ที่สามารถจะขยายผลต่อไปได้

Post to Facebook Facebook


การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง(1)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 27 กันยายน 2011 เวลา 1:13 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1968

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2554  9.30-12.30 น.

ศาสตราจารย์ นพ. วันชัย วัฒนศัพท์

images

อาจารย์จะเริ่มด้วยการเปิด VDO ให้ดู 2 เรื่อง

  • เรื่องแรกเกี่ยวกับเสื้อแดงเสื้อเหลือง  (การประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา)
  • เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องความขัดแย้งของประชาชนชาวระยองกับโรงงานอุตสาหกรรม

ตอนบ่าย  ทีมงานของอาจารย์จะทำเวทีเกี่ยวกับฉันทามติและสานเสวนา

VDO เรื่องแรก เป็นเวทีที่สภาวิจัยแห่งชาติจัดร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าในหัวข้อ “การประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา”  เพื่อตอบโจทย์การเมืองหรือประชาธิปไตยที่พึงปราถนาหน้าตาจะเป็นอย่างไร?

เวทีที่ทั้ง 2 สถาบันจัดขึ้นเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้า  มีอดึตเป็นบทเรียน  ไม่ชี้หน้าด่ากัน  ทำให้เสื้อสีต่างๆมานั่งคุยกันและมีคำตอบให้กับรัฐบาล  ซึ่งจะทำให้เห็นทางออก

อำนาจทางการเมืองหลัง พ.ศ. 2475 อำนาจก็ตกเป็นของกลุ่มทหาร ราชการ กลุ่มธุรกิจการเมือง  ประชาชนหรือภาคประชาสังคมแทบไม่มีบทบาทและไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  ความขัดแย้งในระยะหลังเริ่มจากความขัดแย้งของบุคคล  ขยายเป็นกลุ่มคนและสังคมโดยรวม  มีความคิดเห็นทางการเมืองที่สุดโต่ง  ไม่ยอมรับฟังกัน

ความรุนแรงก็มากขึ้น  ทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหา? เวทีประชาเสวนาอาจเป็นคำตอบที่จะแก้ปัญหา  ถ้าฟังกันอย่างตั้งใจ  ร่วมกันแก้ปัญหา

ได้จัดเวทีขึ้น 5 ครั้งคือที่ ขอนแก่น กำแพงเพชร ระยอง สงขลา  และครั้งสุดท้ายก็จัดขึ้นที่ กทม.  โดยเชิญผู้ที่ร่วมทั้ง 4 ครั้งมาร่วม  เป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้มาพูดคุยกัน  ฟังกัน  ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอย่างไร?  ทำไมถึงคิดอย่างนั้น?

“โครงการประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา”

ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ  ประชาชนน้อย  ก่อนเสวนามีการพบปะกัน  ชี้แจงกติกา  ให้รู้จักกัน  ให้มีส่วนร่วม  ส่วนใหญ่ก็อยากให้เปิดเผยข้อมูล  ความจริงไม่ปิดบังกัน  เปิดใจพูดคุยกัน  ใช้เหตุใช้ผลก็จะแก้ปัญหาได้

ขั้นตอนแรกก็ให้ข้อมูลพื้นฐานของประชาธิปไตย  ให้ความรู้ด้านการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศ  ประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ  แบบตัวแทน  แบบมีส่วนร่วม  และแบบสานเสวนาหาทางออก

ต่อมาจึงจัดกระบวนการกลุ่มย่อยเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น  เพื่อหาฉันทามติกลุ่ม  แล้วนำฉันทามติของแต่ละกลุ่มมานำเสนอในกลุ่มใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  ผลที่ออกมาปรากฏว่าไม่มีใครอยากใช้ความรุนแรง  มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน  มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรับทิศทางการเสวนาให้ชัดเจนขึ้นเพื่อหาทางออก

หลังจากที่มีการนำเสนอผลการเสวนากลุ่มย่อย  ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการหาฉันทามติร่วมเพื่อนำเสนอต่อผู้ที่มีอำนาจและสังคมไทยต่อไป

หลังจากดู VDO จบ  อาจารย์ก็เริ่มชวนคุย……

กติกา มีกติกาเพื่อจะได้คาดหวังให้ตรงกัน  กติกาที่ดีที่สุดคือมาตรการทางสังคม

ทุกวันนี้การมีส่วนร่วมในประเทศไทยเรายังไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  การจัดเวทีประชาพิจารณ์  ถ้าขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น  แทนที่จะมารับฟังกันก็จะกลายเป็นมาชี้หน้าด่ากัน

เครืองมือสำคัญของการแก้ไขความขัดแย้งคือการสื่อสารซึ่งประกอบด้วย

  1. ผู้ส่งสาร  หรือผู้พูด
  2. ผู้รับสาร  หรือผู้ฟัง
  3. ภาษา ท่าทาง

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฟัง –ภาษา ท่าทาง  อาจารย์เลยเน้นการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

การฟังที่ดี  ต้องมีการใช้สายตา  สบตากัน  มีท่าทางที่แสดงออกว่าสนใจฟัง  เช่นการพยักหน้า ฯ  และที่สำคัญคือฟัง  ไม่พูดสวนหรือพูดขัด

อาจารย์เปรียบเทียบสานเสวนา (Dialogue)  กับการถกเถียง(Debate)  ว่าแตกต่างกัน

(สานเสวนาหรือสุนทรียสนทนา  โสเหล่  โซะกั๋น  สุมหัว  จังกาบ)

Debate   การถกเถียง

Dialogue   สานเสวนา

- เชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว(คำตอบของฉัน) -เชื่อว่าคนอื่นก็มีบางส่วนของคำตอบ
- พร้อมรบ: พยายามพิสูจน์ว่าคนอื่นผิด
- พร้อมร่วมมือ: พยายามหาความเข้าใจ ร่วมมือ
- เอาชนะกัน
- พิจารณาหาสิ่งที่ร่วมกัน
- ฟังเพื่อหาช่องโหว่หรือข้อบกพร่อง - ฟังเพื่อที่จะทำความเข้าใจ
- ปกป้องสมมติฐานของเรา - หยิบยกสมมติฐานของเราเพื่อรับการตรวจสอบและอภิปราย
-จับผิดมุมมองของฝ่ายอื่น - ตรวจสอบมุมมองของทุกๆฝ่าย
- ปกป้องมุมมองเดียวจากมุมมองอื่น - ยอมรับความคิดของคนอื่นเพื่อนำมาปรับปรุงความคิดของตน
- แสวงหาจุดอ่อนและข้อบกพร่องในจุดยืนของฝ่ายอื่น - แสวงหาจุดแข็งและคุณค่าในจุดยืนของฝ่ายอื่น
- แสวงหาทางออกที่ตอบสนองจุดยืนของเรา - ค้นพบโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆที่หลากหลาย

Public Deliberation หรือประชาเสวนาหาทางออก  เป็น Dialogue + Choices

  • มีกติกาที่เกิดจากการตัดสินใจร่วม
  • การรู้จักฟังกันอย่างตั้งใจ
  • ไม่ชี้หน้าด่ากัน (แยกคนออกจากปัญหา)
  • มองอดึตเป็นบทเรียน  มองอนาคตเพื่อหาทางออก
  • ตัดสินใจโดยใช้ฉันทามติ้  ที่ไม่ใช่ยกมือโหวตถ้าไม่รีบด่วน

อาจารย์พูดถึงจุดยืน (Position)  และจุดสนใจ (Interest)

จุดสนใจหรือความต้องการ คือสิ่งที่กลุ่มต้องการ หรือ มีความจำเป็นต้องได้จริงๆจากการเจรจา

จุดสนใจหรือความต้องการ คือความจำเป็น  ความหวัง  ความกลัว  ความห่วงกังวล  ความปราถนาที่อยู่เบื้องหลังจุดยืน

จุดยืน คือ ทางออกที่เหมาะสมของข้อพิพาทในสายตาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

จุดยืน คือ ทางแก้ไขปัญหาที่เตรียมการไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นผลลัพท์สุดท้าย หรือการแสดงความต้องการอย่างเปิดเผย

เวลาเถียงกันจะเอาจุดยืนมาเถียงกัน  เป็นการเอาคำตอบมาเป็นโจทย์  เช่นกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น  เถียงกันว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง  ถ้าดูที่จุดสนใจ  ดูความห่วงใยของทุกๆฝ่าย  เช่นจะบริหารจัดการน้ำอย่างไรไม่ให้เกิดน้ำท่วม  จะทำอย่างไรไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป  คำตอบก็อาจจะมีได้หลายทางเลือก

ตัวอย่างการกระจายอำนาจ  การถ่ายโอนโรงเรียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เป็นจุดยืน  เป็นคำตอบ  เอามาเถียงกัน  ต้องคุยกันที่จุดสนใจ  เช่นเราจะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีคุณภาพที่ดี เหมาะสมสำหรับเด็กๆในแต่ละท้องถิ่น  อาจจะได้คำตอบที่เหมาะสมก็ได้

กรณีทางการเมืองที่ผ่านมา  ยุบสภาหรือไม่ยุบสภา  เป็นจุดยืน  เป็นคำตอบ  ไม่ใช่จุดสนใจ  แต่ควรจะเป็นประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา

กิจจา อาลีอิสเฮาะ

ปัญหาชายแดนภาคใต้ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยได้ไหม?  เพราะต้องมี 2 ฝ่าย  ฝ่ายก่อความไม่สงบก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร?  ใครเป็นหัวหน้า?

อาจารย์นายแพทย์วันชัย

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สภาความมั่นคงแห่งชาติ (อ.จิราพร บุนนาค) ให้นำชุมชน  ผู้นำท้องถิ่น  จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 69 คน  ไปนั่งคุย  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ใช้ประชาเสวนา 7 วัน

ทั้ง 69 ชีวิตบอกว่านี่คือกระบวนการที่ต้องนำมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ทำไปทั่วทั้งพื้นที่  ไม่จำเป็นต้องรู้ตัวแกนนำก็ได้

ที่ฟิลิปปินส์  มินดาเนา  พบว่ารบกันไปก็มีแต่แพ้กับแพ้ทั้ง 2 ฝ่าย  คำตอบคือต้องเจรจากัน  โชคดีที่มีกลุ่ม NGO ช่วยเจรจา  และมีผู้นำกลุ่มต่างๆแสดงตัวมาร่วมเจรจา

นักศึกษา 4ส1 ก็ไปที่ไอร์แลนด์เหนือซึ่งก็จบด้วยการเจรจา

ข้อสรุปไม่ใช่จากคนนอกว่าต้องทำอย่างนั้น  ต้องทำอย่างนี้  แต่คนในพื้นที่ที่มีคว่มขัดแย้งจึงจะรู้ว่าอะไรเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหา

ทั้ง 69 ชีวิตไปดูงานที่ตำบลปากดุก อ.หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์  ก่อนนั้นเวลามีงาน  มีหมอลำจะมีการตีกัน  เลยมาตั้งวงคุยกัน  ตกลงกติกาว่าถ้าใครก่อกวนต้องจ่ายเงิน  ถ้าเด็กไม่มีพ่อแม่ก็ต้องจ่ายแทน  เลยเลิกตีกันได้

การมีส่วนร่วมมีหลายระดับ  ตั้งแต่ตัดสินใจแล้วแจ้งให้ทราบในกรณีที่ไม่มีผลกระทบกับประชาชน  ถ้ามีผลกระทบกับประชาชน  กระทบวิถีชีวิตและปากท้องต้องให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น  และให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ไปจนถึงการกระจายอำนาจสู่ประชาชน

….ยังมีต่อ……

Post to Facebook Facebook


ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 26 กันยายน 2011 เวลา 20:30 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2101

วันที่ 26 สิงหาคม 2554  09.00-12.00 น.

เริ่มด้วยเรื่องราวของบ้านดินที่เขากลิ้ง

พระครูวิจิตรศีลาจาร เจ้าอาวาสวัดห้วยพุด เจ้าคณะตำบลบ่อยาง จังหวัดสงขลา

บ้านดินที่เขากลิ้งใช้ดินทำเป็นอิฐแล้วเอามาสร้างบ้านดิน  ที่อินเดียใช้มูลโค  หรือขี้วัวกับไม้ไผ่  สร้างกันมาก่อนสมัยพุทธกาล

พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย

หมูหลุมเอามาจากเกาหลี  เลี้ยงเพื่อเอาปุ๋ย

ลุงเอก

บ้านดินที่จีนก็มีมาแต่ดั้งเดิม

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

หุบกะพงอาจนำไปใช้แก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินที่ราชบุรีได้  ที่หุบกะพง  ตามโฉนดเป็นของพระเจ้าอยู่หัว  เป็นโครงการตามพระราชประสงค์  ทรงคิดเอง  ลงมือปฏิบัติเอง  ได้ผลจึงต่อยอดขยายผล  มีเรื่องแกล้งดิน  มีการทดลองการเกษตรทั้งระบบชลประทานและระบบน้ำฝน

ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

กรณีกลุ่มกะหร่าง  รัฐมองว่าอยากให้มีที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน  มีอาชีพที่ถาวร  แต่เป็นกลุ่มที่เคยอยู่อย่างอิสระ  จับเข้ามาอยู่ในอุทยาน  เลยมีปัญหาเพราะแบ่งที่ดินทำกินให้คนละ 7 ไร่

เดิมอยู่กันที่ต้นแม่น้ำเพชรบุรี  เลยให้มาอยู่ที่นี่  มีประมาณ 50 หลังคาเรือน  ให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 7-8 ไร่  แต่พอประชากรมากขึ้นเลยมีการบุกรุก

ต่อมามีคนอพยพมาจากพม่าก็ต้องผลักดันกลับไป

ต้นน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ที่จัดให้ทำเรื่องการท่องเที่ยว  ล่องเรือยางได้  แต่ก็มีพื้นที่ที่อนุรักษ์เพราะมีจระเข้น้ำจืด  ซึ่งหายากและกำลังจะสูญพันธุ์

ลุงเอก

ในหมู่บ้านมีกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่  เข้ากันไม่ได้  มีการเผาที่พัก  มีการผลักดันให้กลับประเทศ  กะเหรี่ยงกับกะหร่างก็พูดกันไม่รู้เรื่อง  ที่ทำกินก็มีการเปลี่ยนมือไปเป็นของคนต่างถิ่น  ของนักธุรกิจ

อุทยานฯ มีพื้นที่มาก  ไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึงได้

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ชื่นชมหัวหน้าชวรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ทำหน้าที่คุ้มครองป่าและดูแลคนที่อยู่  แต่ผู้นำชุมชนไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรด้านการประกอบอาชีพ  ต้องการแต่ที่ดิน  ไม่มีการเลี้ยงสัตว์  ไม่มีการทำประมง  การจะแก้ปัญหาต้องการที่ดินอีกมากจึงจะแก้ปัญหาได้

ณัฏฐ์ วัลลิโภดม ผู้อำนวยการพรรคกิจสังคม

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำท้องถิ่น  อบต. ต้องเข้มแข็ง  อย่าเกรงใจคนที่บุกรุก  รุกล้ำที่ทำกิน  นายทุน

ลุงเอก

กลุ่มที่เรียกร้องที่ดินไม่ใช่คนไทย  แต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สัญชาติ  ถ้าอนุมัติให้สัญชาติถึง 500,000 คน  และต้องการที่ดินทำกิน  จะเอาที่ไหนมาให้  แล้วคนไทยล่ะ?  จะทำอย่างไร?  เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

นฤมล ศิริวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา

ให้ข้อมูล  NGO นำม็อบคนต่างชาติมาร้องเรียนที่ทำกินให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ  ซึ่งมีจำนวนมาก

สิงห์ชัย ทุ่งทอง สมาชิกวุฒิสภา

รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการดูแลเรื่องนี้อยู่

………………………………….

………………………………….

ภาคพิเศษบนรถขณะเดินทาง

ลุงเอกให้ท่านเจ้าคุณบุญมาเล่าเรื่องราวของแถวๆนี้ให้ฟัง

ท่านเจ้าคุณบุญมา (พระราชปฏิภาณมุนี)

……..

คนเมืองเพชรจริงๆไม่กลิ้งกลอก

ที่หลอนหลอกพวกเราคือเขากลิ้ง

อันขุนเขาน้อยใหญ่ไม่ไหวติง

มีแต่ลิงตามเขาหลอกเราเอย…….

อาจารย์เล่าให้ฟังถึงเรื่องแก่งกระจานในอดีตที่มีความขัดแย้งสูง  ขัดผลประโยชน์กัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ฆ่ากัน  อาชีพมือปืนรุ่งเรืองมาก  ทางจังหวัดมีโครงการออกหน่วยก็ให้พระร่วมออกหน่วยด้วยเพื่อลดความขัดแย้ง  สมัยนั้นมีปัญหาคอมมิวนิสต์  คนที่ทำผิดกฏหมายก็หนีไปพึ่งคอมมิวนิสต์  พระก็ต้องไปคุยกับคอมมิวนิสต์

อุทยานแก่งกระจานมีขนาดใหญ่มาก  เจ้าของโครงการบางปะกงริเวอร์ไซด์  เมื่อประสบความสำเร็จก็หาซื้อที่ดินที่เกาะช้าง  แต่การคมนาคมไม่สดวกก็เลยมากว้านซื้อที่ดินที่แก่งกระจานทำโครงการแก่งกระจานคันทรี่คลับ แอนด์รีสอร์ท  ซื้อจนได้ขนาด 30,000  กว่าไร่

ลุงเอก

การศึกษาดูงานแบบนี้เหมือนการตรวจสภาวะแวดล้อม  เหมือนตอนก่อนทำยุทธศาสตร์ใหญ่ต้องทำการตรวจสภาวะแวดล้อม  แบบว่าดูจนเห็นภาพชัด  เห็นทั้งหมดเป็นภาพเลย

ท่านเจ้าคุณบุญมา

ขนมหม้อแกงไม่ใช่ของชาวเพชรแท้  มาจากอยุธยา  เพชรบุรีกับอยุธยาเป็นจังหวัดพี่จังหวัดน้องทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร  พระเจ้าเสือสมัยที่เป็นพระบรมโอรสาธิราชก็มีอาจารย์เป็นชาวเพชรบุรี  ทั้งอาจารย์แสงและสมเด็จเจ้าแตงโม  (พูดถึงขนมบ้าบิ่นด้วย)

ขนมหม้อแกงมีไข่เป็นหลักกับแป้ง  ของจริงต้องของแม่บุญล้น  ทำจนส่งออกนอก  ที่เหลือทำกันแบบอุตสาหกรรมใครอยากติดยี่ห้ออะไรก็เอาไปติดกันเอง

Post to Facebook Facebook


โครงการพระราชประสงค์หุบกระพง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 25 กันยายน 2011 เวลา 15:50 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 3144

วันที่ 25 สิงหาคม 2554  เวลา 14.00-16.00 น.

คุณสมบัติ ตันติสังวรากูล  ผอ. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกระพง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นผู้มาต้อนรับและเล่าเรื่องราวของโครงการให้ฟัง

 

 หุบกะพง

หุบกะพงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเขตอำเขตอำเภอหัวหิน 34 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12,500 ไร่ 

ความเป็นมาของโครงการ

เมื่อปี พ.ศ. 2507 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียน และดูแลทุกข์สุขของราษฎร  ในวโรกาสนั้น พระองค์ได้ทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ  ให้กู้ยืมไปลงทุน เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท ภายหลังไม่ปรากฏผู้ใดนำเงินจำนวนที่กู้ยืมไปทูลเกล้าถวายคืนแก่พระองค์ท่านเลย  เพราะเช่าที่ทำกินคนละ 2 ไร่  ไม่เพียงพอ  จึงทรงจัดหาที่ดินที่หุบกะพง 25,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่แห้งแล้งมาทำเป็นศูนย์เรียนรู้  พัฒนาระบบสหกรณ์  ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอิสราเอล

ใช้การทำเกษตรแผนใหม่  โดยให้ที่ทำกินครอบครัวละ 25 ไร่  เริ่มที่ 2 ครอบครัว  คือครอบครัวจากกลุ่มเกษตรกรสวนผักชะอำและอีกครอบครัวจากเกษตรกรเดิมที่ทำกินอยู่ในเขตโครงการ  ให้กู้ยืมครอบครัวละ 10,000 บาทเป็นทุนในการประกอบอาชีพเพื่อหาข้อมูลด้านรายได้ รายจ่าย  ความเหมาะสมในการใช้แรงงานในครอบครัวกับพื้นที่ที่จัดให้ทำกิน  การปลูกพืชที่ใช้น้ำชลประทาน  ใช้น้ำฝน  สินเชื่อและการตลาด  ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร  ปัญหาด้านสังคมเกษรกร ฯ 

ในปี 2511 จึงขยายผลให้กลุ่มปลูกผักชะอำ 82 ครอบครัวและกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอยู่เดิมอีก 46 ครอบครัวเข้าอาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ที่จัดสรรให้ครอบครัวละ 25 ไร่  จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 7 ไร่ และอีก 18 ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ และโครงการได้ให้กู้ยืมเงินครอบครัวละ 6,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านเรือน 1,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุการเกษตร และค่าใช้จ่ายในครอบครัว

ทรงแก้ปัญหาเรื่องน้ำ  โดยจัดให้มีการใช้น้ำจาก 3 แหล่งคือจากน้ำฝน  จากการสูบน้ำขึ้นที่สูงแล้วปล่อยมาตามระบบท่อ  และจากเครือข่ายอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบท่อซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ

ในแนวคิดดังกล่าวจะเป็นการรวมตัวในระบบสหกรณ์ที่จะร่วมกันคิด  ร่วมทำและร่วมพัฒนา  ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  การรวมตัวเป็นสหกรณ์ทำให้มีอำนาจในการต่อรองทั้งการจัดซื้อสิ่งขิงจำเป็นต่อชีวิตและการเกษตร  การขายผลผลิต  มีการฝากเงินและระบบการกู้ยืมเงิน

ทรงศึกษา  ทดลองทำ  นำไปปฏิบัติแล้วขยายผล  มองทั้งหมดในภาพรวมและทำงานอย่างเป็นระบบ

ที่ดินก็ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิถือครองแต่ให้ใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน  แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนมือกัน  พระองค์ท่านก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ปัญหาอย่างประนีประนอม  คือถ้ามีการเปลี่ยนมือก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นผู้เช่า

บทเรียนจากการศึกษาดูงานโครงการพระราชประสงค์หุบกะพง

ในการทำงานให้มองภาพรวมของงานทั้งหมด  แล้วทำอย่างเป็นระบบอย่างสอดคล้องกัน  ไม่แยกส่วนทำ

ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้  เริ่มจากการศึกษา  ทดลองทำ  ปฏิบัติแล้วจึงขยายผล

โครงการของพระองค์ท่านที่ให้ที่ทำกินชั่วลูกชั่วหลานยังมีการเปลี่ยนมือ  จึงไม่น่าแปลกใจกับการบุกรุกทำลายป่า

  

Post to Facebook Facebook


เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 18 กันยายน 2011 เวลา 22:05 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 16865

เขากลิ้ง1

เป็นเรือนจำเปิดสำหรับนักโทษที่เหลือโทษน้อยจะได้ปรับสภาพก่อนกลับเข้าสู่สังคม ตั้งอยู่ที่ ต.วังจันทร์ อ. แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  พื้นที่เป็นป่าสะเดาอนุรักษ์ไว้เป็นทรัพยากรธรรมชาติ  มีนักโทษ 104 คน  เจ้าหน้าที่ 8 คน  พื้นที่ 600 ไร่

ผู้ที่มาบรรยายสรุปคือคุณมิตรารุณห์ พรหมอินทร์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง  มีการตกลงกับญาติว่าถ้าหลบหนี ทางครอบครัวต้องเสียค่าปรับ  ยังไม่มีการหลบหนีเลย

มีโครงการเยี่ยมพิเศษเพื่อครอบครัวโดยให้ครอบครัวมาอยู่ร่วมด้วยได้สัปดาห์ละ 1 วัน  โดยให้พักที่วิมานดิน

จากเดิมเรือนชำชั่วคราวเขากลิ้งนี้ไม่มีใครสนใจ  เจ้าหน้าที่ก็เป็นพวกมีปัญหา  โดนย้ายมาอยู่ในป่า  ภายหลังทางเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งก็ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเปลี่ยนภาพลักษณ์ในอดีตได้ 

ปัจจุบันเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้ใช้งบประมาณเลย  โครงการต่างๆดูแลตัวเองได้  มีห้องสมุดบ้านดินที่ให้บริการบุคคลภายนอกด้วย  เป็นสถานที่อบรมดูงานและให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจอย่างต่อเนื่อง

ฐานการเรียนรู้ที่เด่นๆมีเรื่องบ้านดิน  อาคารเกือบทั้งหมดของที่นี่สร้างแบบบ้านดิน  มีการฝึกเป็นอาชีพให้นักโทษซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้

เขากลิ้ง 2

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกมากมาย  เช่น

  • การปลูกดอกมะลิปลอดสารพิษ
  • การอนุรักษ์แย้
  • เกษตรปราณีต (1 ไร่ไม่จน)
  • เตาถ่านดินและโรงกรองน้ำส้มควันไม้
  • เตาตาลกลั่นสมุนไพรไล่แมลง
  • การเลี้ยงกบ
  • การเลี้ยงหมูหลุม
  • การผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ
  • การเลี้ยงกระต่ายสวยงาม
  • การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
  • การเลี้ยงหมูป่า

เขากลิ้ง 3

  • การเพาะเห็ด
  • การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน
  • การเลี้ยงปลาน้ำจืด
  • บ่อก๊าซชีวภาพ
  • การเลี้ยงแพะเนื้อ
  • การเลี้ยงวัวพื้นบ้าน
  • การทำหัตถกรรมไม้ไผ่
  • เตาประสิทธิภาพสูง
  • การเลี้ยงไก่ดำในป่าไผ่
  • บ้านดินคาร์แคร์
  • ร้านกาแฟ ร้านบาร์เบอร์บ้านดิน

เขากลิ้ง 4 

หลังจากดูงานก็นั่งคุยกันมาบนรถ  ประเด็นคือ

เรือนจำทั่วประเทศก็อยู่ภายใต้กฏระเบียบกติกาเดียวกัน  ทำไมเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งทำได้ถึงขนาดนี้  ทำไมเรือนจำอื่นๆถึงทำไม่ได้  ก็เหมือนกรณีหน่วยงานกระทรวงเดียวกัน  ทำไมบางหน่วยงานมีผลงานน่าประทับใจมาก  แต่ขณะที่หน่วยงานประเภทเดียวกันถึงมีผลงานที่ยอดแย่ ???

 

Post to Facebook Facebook



Main: 0.24104404449463 sec
Sidebar: 0.05573582649231 sec