การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง(1)
อ่าน: 1969วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2554 9.30-12.30 น.
ศาสตราจารย์ นพ. วันชัย วัฒนศัพท์
อาจารย์จะเริ่มด้วยการเปิด VDO ให้ดู 2 เรื่อง
- เรื่องแรกเกี่ยวกับเสื้อแดงเสื้อเหลือง (การประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา)
- เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องความขัดแย้งของประชาชนชาวระยองกับโรงงานอุตสาหกรรม
ตอนบ่าย ทีมงานของอาจารย์จะทำเวทีเกี่ยวกับฉันทามติและสานเสวนา
VDO เรื่องแรก เป็นเวทีที่สภาวิจัยแห่งชาติจัดร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าในหัวข้อ “การประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา” เพื่อตอบโจทย์การเมืองหรือประชาธิปไตยที่พึงปราถนาหน้าตาจะเป็นอย่างไร?
เวทีที่ทั้ง 2 สถาบันจัดขึ้นเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้า มีอดึตเป็นบทเรียน ไม่ชี้หน้าด่ากัน ทำให้เสื้อสีต่างๆมานั่งคุยกันและมีคำตอบให้กับรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เห็นทางออก
อำนาจทางการเมืองหลัง พ.ศ. 2475 อำนาจก็ตกเป็นของกลุ่มทหาร ราชการ กลุ่มธุรกิจการเมือง ประชาชนหรือภาคประชาสังคมแทบไม่มีบทบาทและไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความขัดแย้งในระยะหลังเริ่มจากความขัดแย้งของบุคคล ขยายเป็นกลุ่มคนและสังคมโดยรวม มีความคิดเห็นทางการเมืองที่สุดโต่ง ไม่ยอมรับฟังกัน
ความรุนแรงก็มากขึ้น ทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหา? เวทีประชาเสวนาอาจเป็นคำตอบที่จะแก้ปัญหา ถ้าฟังกันอย่างตั้งใจ ร่วมกันแก้ปัญหา
ได้จัดเวทีขึ้น 5 ครั้งคือที่ ขอนแก่น กำแพงเพชร ระยอง สงขลา และครั้งสุดท้ายก็จัดขึ้นที่ กทม. โดยเชิญผู้ที่ร่วมทั้ง 4 ครั้งมาร่วม เป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้มาพูดคุยกัน ฟังกัน ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอย่างไร? ทำไมถึงคิดอย่างนั้น?
“โครงการประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา”
ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ประชาชนน้อย ก่อนเสวนามีการพบปะกัน ชี้แจงกติกา ให้รู้จักกัน ให้มีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ก็อยากให้เปิดเผยข้อมูล ความจริงไม่ปิดบังกัน เปิดใจพูดคุยกัน ใช้เหตุใช้ผลก็จะแก้ปัญหาได้
ขั้นตอนแรกก็ให้ข้อมูลพื้นฐานของประชาธิปไตย ให้ความรู้ด้านการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศ ประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ แบบตัวแทน แบบมีส่วนร่วม และแบบสานเสวนาหาทางออก
ต่อมาจึงจัดกระบวนการกลุ่มย่อยเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เพื่อหาฉันทามติกลุ่ม แล้วนำฉันทามติของแต่ละกลุ่มมานำเสนอในกลุ่มใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ผลที่ออกมาปรากฏว่าไม่มีใครอยากใช้ความรุนแรง มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรับทิศทางการเสวนาให้ชัดเจนขึ้นเพื่อหาทางออก
หลังจากที่มีการนำเสนอผลการเสวนากลุ่มย่อย ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการหาฉันทามติร่วมเพื่อนำเสนอต่อผู้ที่มีอำนาจและสังคมไทยต่อไป
หลังจากดู VDO จบ อาจารย์ก็เริ่มชวนคุย……
กติกา มีกติกาเพื่อจะได้คาดหวังให้ตรงกัน กติกาที่ดีที่สุดคือมาตรการทางสังคม
ทุกวันนี้การมีส่วนร่วมในประเทศไทยเรายังไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การจัดเวทีประชาพิจารณ์ ถ้าขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แทนที่จะมารับฟังกันก็จะกลายเป็นมาชี้หน้าด่ากัน
เครืองมือสำคัญของการแก้ไขความขัดแย้งคือการสื่อสารซึ่งประกอบด้วย
- ผู้ส่งสาร หรือผู้พูด
- ผู้รับสาร หรือผู้ฟัง
- ภาษา ท่าทาง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฟัง –ภาษา ท่าทาง อาจารย์เลยเน้นการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)
การฟังที่ดี ต้องมีการใช้สายตา สบตากัน มีท่าทางที่แสดงออกว่าสนใจฟัง เช่นการพยักหน้า ฯ และที่สำคัญคือฟัง ไม่พูดสวนหรือพูดขัด
อาจารย์เปรียบเทียบสานเสวนา (Dialogue) กับการถกเถียง(Debate) ว่าแตกต่างกัน
(สานเสวนาหรือสุนทรียสนทนา โสเหล่ โซะกั๋น สุมหัว จังกาบ)
Debate การถกเถียง |
Dialogue สานเสวนา |
- เชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว(คำตอบของฉัน) | -เชื่อว่าคนอื่นก็มีบางส่วนของคำตอบ |
- พร้อมรบ: พยายามพิสูจน์ว่าคนอื่นผิด |
- พร้อมร่วมมือ: พยายามหาความเข้าใจ ร่วมมือ |
- เอาชนะกัน |
- พิจารณาหาสิ่งที่ร่วมกัน |
- ฟังเพื่อหาช่องโหว่หรือข้อบกพร่อง | - ฟังเพื่อที่จะทำความเข้าใจ |
- ปกป้องสมมติฐานของเรา | - หยิบยกสมมติฐานของเราเพื่อรับการตรวจสอบและอภิปราย |
-จับผิดมุมมองของฝ่ายอื่น | - ตรวจสอบมุมมองของทุกๆฝ่าย |
- ปกป้องมุมมองเดียวจากมุมมองอื่น | - ยอมรับความคิดของคนอื่นเพื่อนำมาปรับปรุงความคิดของตน |
- แสวงหาจุดอ่อนและข้อบกพร่องในจุดยืนของฝ่ายอื่น | - แสวงหาจุดแข็งและคุณค่าในจุดยืนของฝ่ายอื่น |
- แสวงหาทางออกที่ตอบสนองจุดยืนของเรา | - ค้นพบโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆที่หลากหลาย |
Public Deliberation หรือประชาเสวนาหาทางออก เป็น Dialogue + Choices
- มีกติกาที่เกิดจากการตัดสินใจร่วม
- การรู้จักฟังกันอย่างตั้งใจ
- ไม่ชี้หน้าด่ากัน (แยกคนออกจากปัญหา)
- มองอดึตเป็นบทเรียน มองอนาคตเพื่อหาทางออก
- ตัดสินใจโดยใช้ฉันทามติ้ ที่ไม่ใช่ยกมือโหวตถ้าไม่รีบด่วน
อาจารย์พูดถึงจุดยืน (Position) และจุดสนใจ (Interest)
จุดสนใจหรือความต้องการ คือสิ่งที่กลุ่มต้องการ หรือ มีความจำเป็นต้องได้จริงๆจากการเจรจา
จุดสนใจหรือความต้องการ คือความจำเป็น ความหวัง ความกลัว ความห่วงกังวล ความปราถนาที่อยู่เบื้องหลังจุดยืน
จุดยืน คือ ทางออกที่เหมาะสมของข้อพิพาทในสายตาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
จุดยืน คือ ทางแก้ไขปัญหาที่เตรียมการไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นผลลัพท์สุดท้าย หรือการแสดงความต้องการอย่างเปิดเผย
เวลาเถียงกันจะเอาจุดยืนมาเถียงกัน เป็นการเอาคำตอบมาเป็นโจทย์ เช่นกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น เถียงกันว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ถ้าดูที่จุดสนใจ ดูความห่วงใยของทุกๆฝ่าย เช่นจะบริหารจัดการน้ำอย่างไรไม่ให้เกิดน้ำท่วม จะทำอย่างไรไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป คำตอบก็อาจจะมีได้หลายทางเลือก
ตัวอย่างการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนโรงเรียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นจุดยืน เป็นคำตอบ เอามาเถียงกัน ต้องคุยกันที่จุดสนใจ เช่นเราจะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีคุณภาพที่ดี เหมาะสมสำหรับเด็กๆในแต่ละท้องถิ่น อาจจะได้คำตอบที่เหมาะสมก็ได้
กรณีทางการเมืองที่ผ่านมา ยุบสภาหรือไม่ยุบสภา เป็นจุดยืน เป็นคำตอบ ไม่ใช่จุดสนใจ แต่ควรจะเป็นประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปราถนา
กิจจา อาลีอิสเฮาะ
ปัญหาชายแดนภาคใต้ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยได้ไหม? เพราะต้องมี 2 ฝ่าย ฝ่ายก่อความไม่สงบก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร? ใครเป็นหัวหน้า?
อาจารย์นายแพทย์วันชัย
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สภาความมั่นคงแห่งชาติ (อ.จิราพร บุนนาค) ให้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 69 คน ไปนั่งคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ใช้ประชาเสวนา 7 วัน
ทั้ง 69 ชีวิตบอกว่านี่คือกระบวนการที่ต้องนำมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไปทั่วทั้งพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องรู้ตัวแกนนำก็ได้
ที่ฟิลิปปินส์ มินดาเนา พบว่ารบกันไปก็มีแต่แพ้กับแพ้ทั้ง 2 ฝ่าย คำตอบคือต้องเจรจากัน โชคดีที่มีกลุ่ม NGO ช่วยเจรจา และมีผู้นำกลุ่มต่างๆแสดงตัวมาร่วมเจรจา
นักศึกษา 4ส1 ก็ไปที่ไอร์แลนด์เหนือซึ่งก็จบด้วยการเจรจา
ข้อสรุปไม่ใช่จากคนนอกว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แต่คนในพื้นที่ที่มีคว่มขัดแย้งจึงจะรู้ว่าอะไรเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหา
ทั้ง 69 ชีวิตไปดูงานที่ตำบลปากดุก อ.หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ ก่อนนั้นเวลามีงาน มีหมอลำจะมีการตีกัน เลยมาตั้งวงคุยกัน ตกลงกติกาว่าถ้าใครก่อกวนต้องจ่ายเงิน ถ้าเด็กไม่มีพ่อแม่ก็ต้องจ่ายแทน เลยเลิกตีกันได้
การมีส่วนร่วมมีหลายระดับ ตั้งแต่ตัดสินใจแล้วแจ้งให้ทราบในกรณีที่ไม่มีผลกระทบกับประชาชน ถ้ามีผลกระทบกับประชาชน กระทบวิถีชีวิตและปากท้องต้องให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไปจนถึงการกระจายอำนาจสู่ประชาชน
….ยังมีต่อ……
« « Prev : ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง
Next : การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง (2) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง(1)"