การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง (2)
อ่าน: 2322VDO เรื่องที่ 2 เป็นเรื่อง “โครงการประชาเสวนาหาทางออกของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน: อารยะอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบด้านสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างสมานฉันท์” ซึ่งทางวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับมูลนิธิหัวใจอาสาร่วมกันดำเนินการ
3 กันยายน พ.ศ. 2550 ที่ระยองมีปัญหาะหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินที่ระยองโดย IRPC (บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เดิมคือบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ) ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองระยอง อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม อยู่ใกล้ชุมชนและวัด
ทางบริษัทและชาวบ้านมีความเชื่อต่างกัน ยืนยันที่จะเอาแพ้เอาชนะกันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้น ชาวบ้านกว่า 10,000 คนก็มาปิดล้อมโรงงาน และนำเรือมาปิดปากอ่าว เพราะห่วงจะมีผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและด้านเกษตรกรรม เป็นที่มาของโครงการประชาเสวนาหาทางออกฯ เพื่อหาทางออกร่วมหรือฉันทามติ
ระยะแรกได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มูลนิธิหัวใจอาสาได้เริ่มโครงการศึกษาขบวนการสมานฉันท์เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะในสังคมในพื้นที่จังหวัดระยอง มีการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์ในพื้นที่ คนในระยองสามารถมาพูดจากันอย่างสันติวิธี
ทั้งส่วนราชการ ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในท้องถิ่นมากำหนดแนวทางกันเพื่อลดผลกระทบ มีการสร้างสัมพันธ์ที่ดี สร้างความคุ้นเคย หาปัญหาเชิงลึก ฟื้นความเข้าใจกัน อยู่กับชุมชน พูดจา ประชุมกันบ่อยๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เมื่อเข้าใจกันความขัดแย้งต่างๆก็ลดลง
มีการอบรมหลักสูตร การจัดการความขัดแย้งขั้นพื้นฐานโดยสันติวิธี สร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย การสื่อสาร ให้เข้าใจพื้นฐาน แนวคิดการจัดการความขัดแย้ง มีการใช้เกมส์ต่างๆ หลังจากที่มีความรู้พื้นฐานและมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติแล้วก็ลงพื้นที่จัดเสวนากลุ่มย่อย สร้างความคุ้นเคยกับชุมชน มีการค้นหาปัญหาที่ต้องการแก้ไข มีการฝึกปฏิบัติจริงในชุมชนต่างๆหลายแห่ง ให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้ฝึกหัด ฝึกแก้ไขปัญหาเองโดยมีวิทยากรคอยดูแลและให้คำแนะนำ
…….ความเห็นของชาวบ้าน…..
..ถ้าใช้ความรุนแรง ไม่มีการชนะถาวร จะต้องพูดคุยเสวนากัน ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนของทุกภาคส่วน…….
หลังจากนั้นก็มีการอบรมหลักสูตร “นักเจรจาไกล่เกลี่ย” เป็นหลักสูตรที่ 2 โดยคัดเลือกคนที่ผ่านหลักสูตรที่ 1 มาแล้ว มีการทบทวนพื้นฐานและการจัดการความขัดแย้ง กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ฉันทามติ กิจกรรมบทบาทสมมติ และรับฟังการวิจารณ์จากวิทยากร เพื่อให้เข้าใจกระบวนการและพัฒนาเป็นนักเจรจาไกล่เกลี่ยที่ดี
ในการอบรมได้ไปดูงานที่ศาลจังหวัดและศาลแขวงชลบุรี ฟังการบรรยายจากท่านผู้พิพากษา ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลจังหวัดชลบุรี
23 เมษายน 2554 มีการเสวนาโต๊ะกลมครั้งใหญ่ เป็นการรวมหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนและโรงงานเพื่อหาฉันทามติและร่วมกันทำข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อเสนอเป็นข้อตกลงที่เป็นทางออกของข้อขัดแย้ง มีความคืบหน้า จากเดิมโรงงานกับประชาชนเป็นศัตรูกันเลย แต่ภายหลังกระบวนการ ก็มีกิจกรรมร่วมกัน มีฉันทามติ ตอนนี้ชุมชน หน่วยราชการและโรงงานก็เข้ามาคุยกัน ไม่ใช่มาตะโกนชี้หน้าด่ากัน มีการคุยกันทุกเดือน โรงงานจะรายงานว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว และกำลังจะทำอะไรต่อไปอีก
28 มิถุนายน 2554 โรงงาน IRPC ซึ่งประกอบธุรกิจด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีด้วยก็ได้หยุดการใช้น้ำมันเตา (ซึ่งก่อมลพิษและกลิ่นอย่างรุนแรง)ในการผลิต มีการตัดปล่องไฟ ชาวบ้านก็เอามังคุดมาให้ทางโรงงาน มีการช่วยกันปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกัน (Protection Strip) ระหว่างโรงงานกับชุมชนเป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีการร่วมกันเพาะเมล็ดเพื่อเอามาปลูกร่วมกัน
ทางโรงงานได้ช่วยตั้งศูนย์วิจัยการเกษตรเพื่อพัฒนาการเพาะปลูกของชาวบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีการตรวจสุขภาพเป็นการเฝ้าระวัง ช่วยกันป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นต้นแบบอารยะอุตสาหกรรม เกิดเป็นระยองโมเดล ที่สามารถจะขยายผลต่อไปได้
« « Prev : การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง(1)
Next : การฝึกปฏิบัติกระบวนการประชาเสวนา » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง (2)"