การฝึกปฏิบัติกระบวนการประชาเสวนา
อ่าน: 2417วันที่ 2 กันยายน 2554 13.30-16.30 น.
อาจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์
อาจารย์สุจินันท์ หรสิทธิ์
อาจารย์สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด
บ่ายนี้เป็นการฝึกปฏิบัติขบวนการฉันทามติและสานเสวนา
เริ่มจากการให้นั่งเป็นรูปตัวยู –U ให้ทำความรู้จักกัน สร้างความสัมพันธ์ให้คุ้นเคยกัน อาจารย์ให้แนะนำตัวด้วยชื่อเล่นแล้วตามด้วยของกินที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เริ่มที่อาจารย์ก่อน เช่น….
- สุจินันท์ มีมะดันมาฝาก
- ปุ้ย(อ.สุมานิการ์) เอากุ้ยช่ายมาฝาก
- บุญมา (เจ้าคุณบุญมา…..พระราชปฏิภาณมุนี) เอากล้วยน้ำว้ามาฝาก
- ประเทือง (พระราชพุทธิวราภรณ์) เอามะเฟืองมาฝาก
- พระครูวิจิตร (พระครูวิจิตรศีลาจาร) เอาลูกชิดมาฝาก
- ดุ๊ก (เกียรติเกริกไกร ใจสมุทร) เอาปลาดุกมาฝาก …..
………….ก็สนุกสนานและจดจำชื่อเล่นกันได้ดีพอสมควร….อิอิ
จากนั้นก็ให้ทำกิจกรรมฉันทามติ หลักของการมีส่วนร่วมที่สำคัญมี 5 ประการคือ
- ร่วมให้ข้อมูล
- ร่วมรับรู้ข้อมูล
- ร่วมรับผลประโยชน์
- ร่วมตัดสินใจ
- ร่วมติดตามประเมินผล
ที่สำคัญที่สุดคือร่วมตัดสินใจ ในการจัดการความขัดแย้งจะใช้หลัก “ฉันทามติ” ให้ร่วมกับลองทำกิจกรรมฉันทามติโดยใช้เรื่องสมมติ “นักท่องเที่ยวเกาะสวาทหาดสวรรค์” โจทย์ที่อาจารย์ให้มีดังนี้
นักท่องเที่ยวเกาะสวาทหาดสวรรค์
เกาะสวาทหาดสวรรค์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฮาวาย มีเสียงเล่าลือว่าเป็นเกาะที่สวยงามมาก ถ้าใครได้ไปเที่ยวชมแล้วถือว่ามีบุญวาสนาไม่เสียชาติเกิด แต่ ณ เกาะแห่งนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่เลย วันหนึ่งมีนักท่องเที่ยว 7 คนได้เช่าเครื่องบินเล็กเพื่อเข้าไปเที่ยวชม ปรากฏว่าเครื่องบินดังกล่าวตกลงไปในป่าลึกที่เกาะแห่งนี้ โดยไม่มีผู้ใดเสียชีวิต 7 วันต่อมาได้มีเคื่องบินลำหนึ่งบินผ่านมาและได้พบสัญญาณที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่งมาเพื่อขอความช่วยเหลือ นักบินจึงนำเครื่องลงจอด ณ ที่แห่งนี้ ปรากฏว่าเครื่องบินลำนี้สามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เพียง 1 คนเท่านั้น และอาหารที่เหลืออยู่ก็สามารถประทังชีวิตพวกเขาได้เพียง 7 วันเท่านั้น
“ขอให้ท่านช่วยวิเคราะห์ด้วยเถอะว่าเครื่องบินลำนี้ควรจะช่วยเหลือใครมากที่สุด”
1. สมสี ผู้หญิงท้องแก่ใกล้คลอด มีประวัติคลอดยาก ต้องไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
2. สมชาย หมอผ่าตัดฝีมือดี เขาวางแผนว่าจะต้องเดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับเด็กที่อเมริกาในเดือนหน้า
3. สมพิศ เด็กผู้หญิงวัยรุ่น กำพร้า จิตใจไม่มั่นคง
4. สมคิด เป็นรองประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้ประธานาธิบดีกำลังป่วยหนักต้องการให้สมคิดกลับประเทศด่วน
5. สมศักดิ์ เป็นคนแก่อายุ 87 ปี มีอาชีพขายอาหารทะเล ได้รับบาดเจ็บหลังหัก
6. สมหญิง เป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการตัวด่วนในประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ไปช่วยแก้ปัญหาเตาเผาที่กำลังจะระเบิดและเป็นอันตรายมาก
7. สมใจ เป็นลูกสาวของสมหญิง อายุ 3 ขวบ
ให้ร่วมกันตัดสินใจโดยเริ่มจากกลุ่มเล็กประมาณ 7 คน แล้วค่อยมาเข้ากลุ่มใหญ่ ในกลุ่มเล็กให้ทุกท่านหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน อาจตกลงกันได้หรือตกลงไม่ได้ ถ้าตกลงไม่ได้ค่อยมาคุยกันในกลุ่มใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ให้เวลากลุ่มละ 15 นาที
หลังจากนั้นก็ให้มาเข้ากลุ่มใหญ่ซึ่งจะให้พูดทุกคนในเวลาเท่าๆกัน คนที่ไม่พูดอาจยกเวลาของตัวเองให้คนอื่นพูดแทนก็ได้ หรือถ้าในกลุ่มเล็กตกลงกันได้ก็ให้ตัวแทนมานำเสนอเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้
มีการมอบสติ๊กเกอร์ให้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะให้เอาสติ๊กเกอร์มาลงคะแนนในกลุ่มใหญ่หลังจากพูดคุยกันในกลุ่มใหญ่ แต่ละคนอาจเปลี่ยนใจ เลือกคนที่ไม่ได้เลือกในกลุ่มเล็กก็ได้ถ้ารับฟังคนอื่นแล้วเห็นว่ามีเหตุผลดีกว่า เป็นการหาฉันทามติในเวลาสั้นๆถ้าตกลงกันไม่ได้ แต่ถ้ามีเวลามากก็พูดคุยกันไปเรื่อยๆก็จะได้ฉันทามติที่ไม่ต้องโหวต
สุดท้ายก็ต้องโหวต ปรากฏว่า สมหญิงได้คะแนน 30 คะแนน สมพิศได้ 22 คะแนน คะแนนสูสี ยังสรุปว่าเป็นฉันทามติไม่ดีนัก ถ้ามีเวลาก็อาจจะเอา 2 คนนี้มาคุยกันต่อ จนสรุปกันได้ นี่คือหลักฉันทามติ
รอบแรกอาจสรุปไม่ได้ ถือว่ายังไม่เป็นฉันทามติ ให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมีโอกาสแสดงความคิดเห็น
มีนักศึกษาแสดงความคิดเห็น
…….ก่อนลงฉันทามติมีการพูดคุยเหตุผลกันก่อน ถ้ายกมือกันเลยจะใช้เวลาสั้นๆ แต่วิธีนี้มีเวลาฟังความเห็นของคนอื่นประกอบด้วย…..
อาจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์
ใช้เวลาตั้งนานยังตัดสินใจอะไรกันไม่ได้ ประเทศก็กำลังลุกเป็นไฟ…….
มีใครเปลี่ยนใจบ้าง? คนเราเปลี่ยนใจได้ถ้าได้รับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของคนอื่น แต่เป็นเพราะฟังแล้วต้องการเปลี่ยนการตัดสินใจเอง ถ้ามีใครมาบังคับให้เปลี่ยนการตัดสินใจก็จะไม่ยอม ในสังคมที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน (Homogenous) ฉันทามติจะเกิดได้เร็ว ถ้าสังคมมีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านความคิด ความรู้ เชื้อชาติ ศาสนา จะใช้เวลานาน แต่ก็จะค่อยๆเกิดขึ้นได้ถ้ามีการพูดคุยกัน
เวลาให้เราเลือกอะไร 2 อย่าง เรามักจะว่าของเราดีกว่า
ทางหลวงถ้ามี U-turn แล้วเกิดอุบัติเหตุสูง แขวงการทางก็จะปิด ยกเลิก U-turn โดยเอาแท่งคอนกรีตมากั้น แขวงการทางก็มีเหตุผลของแขวงการทาง แต่ชาวบ้านไม่ชอบใจ ไม่พอใจเพราะต้องขับรถไกลขึ้นกว่าจะไปถึงอีก U-turn ก็จะยกขบวนไปล้อมแขวงการทาง
ชาวบ้านก็มีเหตุผล แขวงการทางก็มีเหตุผล เหตุผลใครดีกว่า? จะหาทางออกอย่างไร?
อ.นายแพทย์ประเวศ วะสี เวลามาเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานก็จะพูดว่า สามีภรรยาเวลามีปัญหากัน อย่าใช้เหตุใช้ผล
สามีกลับบ้านดึกก็จะอ้างว่า งานยุ่ง ต้องรับรองลูกค้า ต้องประชุมแก้ปัญหาด่วน..ฯ
ภรรยาก็จะว่าดูแลแต่คนอื่น ไม่ดูแลคนที่บ้านบ้าง อุตส่าห์ทำกับข้าวรอก็ไม่กลับมากิน..ฯ
ทั้งคู่ต่างใช้เหตุผลก็จะมีปัญหาแน่นอน ต้องใช้ความรักและความเข้าใจ
ในกระบวนการสานเสวนา (Dialogue)ไม่ใช่การถกเถียงเพื่อเอาชนะ(Debate) คนเราปกติมักจะตัดสินใจเร็ว ฟังปุ๊บตัดสินใจปั๊บ แต่ถ้ามีการรับฟัง พูดคุยกับคนอื่นมากๆก็อาจเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิดได้ สื่อมวลชนก็จะมีส่วนอย่างมาก นักการเมืองถึงต้องการควบคุมสื่อ เพราะคนเราถ้าฟังอยู่ทุกวันๆก็จะเชื่อ ต้องใช้สติปัญญาในการติดตามข่าวสาร
« « Prev : การใช้ประชาเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้ง (2)
Next : การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง (1) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การฝึกปฏิบัติกระบวนการประชาเสวนา"