การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง (1)
อ่าน: 3018วันที่ 9 กันยายน 2554 9.30 -12.30 น.
ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์
เริ่มด้วยอาจารย์ปาริชาตถามว่า “ท่านคิดว่าสื่อสารมวลชนเหมาะแค่ไหนในการทำงานสันติวิธี?” แล้วเปิดเพลง รักเธอประเทศไทย ของหรั่ง ร็อคเคสตร้า (ชัชชัย สุขขาวดี) ให้ฟัง อาจารย์ถามว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อฟังเพลงนี้ ?
ดร. สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร
ชอบเพลงนี้ แต่ไม่น่าจะมีเพลงนี้ ถ้าคนไทยรักกันก็ไม่จำเป็นต้องมีเพลงนี้
พันเอก เอื้อชาติ หนุนภักดี นายทหารประจำกรมข่าวทหารบก
เพลงจะเกิดขึ้นตลอด เพลงจะมาทดแทนสิ่งที่หายไปเช่นจีนต้องการหาคนซื่อสัตย์ก็เกิดกวนอู เพลงมักจะสะท้อนอะไรบางอย่าง
อาจารย์ปาริชาต
เพลงที่เอามาเปิดในช่วงที่มีความขัดแย้งแล้วมักจะถูกบิดเบือนตัดสินให้มีสี ทั้งๆที่คนแต่งไม่มีเจตนา บางคนบอกว่าฟังคุ้นๆเป็นเพลงเสื้อเหลือง
ทหารมีเพลงที่ปลุกใจให้รักชาติมาตลอดแต่หายไปช่วงเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าสมัยน้าชาติ จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีการร่วมมือกับบริษัทเอกชนผลิดสื่อและเพลงออกมาตลอด
วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด
เพลงนี้แต่งมาตั้งแต่ปี 1986 หรั่งเคยเป็นทหารเรือ ไม่ได้แต่งตอนมีความขัดแย้งทางการเมือง
อาจารย์ปาริชาต
ธรรมชาติของสื่อมีทั้ง Hardware และ Software Hardware คืออุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ส่วน Software เป็นมิติด้านสาร ตัวสาระ เนื้อหา ประเด็นที่ถูกผลิตขึ้นหรือหยิบเอาของเก่ามาใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะและเหตุการณ์ในแต่ละช่วง
“ผู้ใดครองสื่อ ผู้นั้นครอบครองอำนาจ” กรรมการด้านนี้ถึงมีการแย่งชิงกันจนป่านนี้ยังไม่จบ มีเรื่องไปที่ DSI ไม่รู้จะจบอย่างไร? แต่ทุกท่านที่เป็นคนไทยสามารถมีสิทธิด้านสาร หรือ Message หรือประเด็น หรือข้อความ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแต่งเรื่องราว การนำเสนอ
การตั้งชื่อสื่อความหมาย (Naming is Framing) การตั้งชื่อช่วยนำกรอบความคิดความเชื่อของเราที่มีต่อประเด็น กลุ่ม P (นักศึกษากลุ่มที่ทำงานทางวิชาการเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ”) ตั้งชื่อโครงการว่า “Social Media กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง- อาทรเสวนา” ก็ชัดเจนดี ท่าทางจะไปไกลกว่ากลุ่ม S (ความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์และแนวทางสันติวิธีในการจัดการปัญหาความรุนแรง:กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้)
การครองสื่อคือการครองใจ ไม่ใช่มองที่อุปกรณ์ต่างๆ แต่เป็นการครองใจ ด้านประเด็นเป็นสิ่งที่สำคัญ
“ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั่นย่อมมีการแสวงหาสันติภาพ” สื่อมีความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร? เวลาทำงานด้านนี้สื่อได้อะไร? ได้ทั้งดอกไม้และก้อนหิน
สื่อเป็นความหวังของสังคม ไม่ใช่นำไปสู่อำนาจ ผลประโยชน์ ไปเป็นทุนนิยม
ด้านหนึ่งก็อยากให้สื่อมีเสรีภาพ แต่ก็อาจขัดแย้งกับการที่หงุดหงิดเวลาถูกสื่อวิจารณ์ โจมตี เลยอยากควบคุม เซ็นเซอร์สื่อ
ในช่วงที่มีความขัดแย้ง สื่อมักจะเป็นกันชนหรือกระโถนท้องพระโรง สื่อมวลชนเป็นความหวังของสังคม ในการปฏิรูปประเทศ มิติด้านสื่อจะมีการหยิบยกมาพูดถึงมาก
ถ้าสื่อมวลชนคือความหวัง คิดว่าสื่อมวลชนควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรสูงสุด ?
- ความขัดแย้ง
- สันติภาพ
- นำเสนอเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพพอๆกัน
งานวิจัยพบว่าสื่อมวลชนนับวันจะเลือกนำเสนอความขัดแย้งมากที่สุด
ยกตัวอย่างเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน มีการรณรงค์ให้เกิดสันติภาพ ไม่มีศัตรู ป้ายชื่อสถานที่มี 2 ภาษา ผู้นำทางความคิดพูดตรงกัน ผ่านสื่อต่างๆ
พล.ต.ต. วิศิษฐ์ เอมประณีตร รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
เสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศคอมมิวนิสต์มีการควบคุมสื่อ การดำเนินการเป็นไปตามกลไกรัฐ แต่ในบ้านเราสื่อมีหลายประเภท มีทั้งสื่อที่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและสื่อที่มีกลไกการจัดตั้ง สื่อที่มีจรรยาบรรณ บ้านเราต่างกับประเทศจีนเพราะบ้านเรามีเสรีภาพ แต่บ้านเราอาจมีเสรีภาพเกินขอบเขต อาจมีเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องการจัดตั้ง ทำให้มีผลกระทบกับประชาชนเพราะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ขณะที่มีความขัดแย้ง คนที่มีการศึกษาแทบจะไม่ดูข่าวในประเทศเลย ไปดูข่าวจากต่างประเทศ เช่น CNN ….. แต่สื่อที่ดีๆควรเสนอข่าวที่เป็นความจริง สื่อที่เสนอความขัดแย้งมักมีการจัดตั้ง มีเบื้องหลัง
อาจารย์ปาริชาต
สื่อของจีนต่างจากไทย สื่อในจีนเป็นของสื่อของรัฐจึงมีเอกภาพ รวมทั้งการจัดลำดับที่จะเป็นประเด็นข่าว คุณค่าข่าวจะเป็นไปในโทนเดียวกันหมด แต่ก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นในเรื่องของธุรกิจ ความบันเทิง กีฬา ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง
ในประเทศไทยมีการปฏิรูปสื่อ กำลังอยู่ในช่วงการต่อสู้ ตามรัฐธรรมนูญสิ่งที่เป็นสื่อเป็นของสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหาอยู่ ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ ยังรอ กสทช. หวังว่าในที่สุดจะได้สื่อที่เน้นผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลัก
ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่คิดว่าควบคุมสื่อได้ แต่เจอสื่อที่คิดว่าเอาไว้เจ๊าะแจ๊ะ คือ Facebook ที่คนเอาไปโพสต์ว่ารัฐ ตำรวจท้องถิ่นไม่มีความยุติธรรม ความจริงยังไม่ได้พิสูจน์ ยังไม่ได้ไปสู่กระบวนการยุติธรรม แต่คนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ออกมาแสดงพลัง นี่ก็เป็นอันตราย
ที่อิยิปต์ ลิเบีย ผู้ครองอำนาจครอบครองสื่อได้ แต่ไม่ทั้งหมด อย่ามองแค่มิติด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ให้ดูที่มิติของสาร
สื่อมวลชนมีส่วนส่งเสริมและทำลายสันติภาพ เช่นการเน้นความเสี่ยงและอันตรายหากดำเนินมาตรการประนีประนอม การตอกย้ำภาพฝังหัวที่เป็นลบเกี่ยวกับศัตรูหรือการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มที่ไม่ยอมอ่อนข้อก็จะเป็นการทำลายสันติภาพ
สิ่งที่น่าสนใจคือคุณค่าของข่าว เรื่องที่จะเป็นข่าวต้องมี
- ความเร่งด่วน เช่นเหตุการณ์หรือกิจกรรมพิเศษ
- เป็นละคร (Drama) ความรุนแรง วิกฤต ความขัดแย้งในองค์กรที่สำคัญ ความสุดโต่ง อันตราย ความก้าวหน้าใหม่ๆ
- ความเรียบง่าย
- ความเป็นศูนย์กลาง ความเชื่อ ความยากลำบาก ความรุนแรง ความเชื่อ
คนที่เข้าใจเรื่องนี้ก็สามารถแย่งพื้นที่ข่าวหรือเปิดพื้นที่ที่จะเป็นประเด็นข่าว
« « Prev : การฝึกปฏิบัติกระบวนการประชาเสวนา
Next : การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง (2) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง (1)"