การจัดการเรียนการสอนทะลุมิติของมหาชีวาลัยอีสาน

อ่าน: 5987

ในการประชุมครั้งหนึ่ง ถูกตั้งคำถามต่อการเสนอไปดูงานที่มหาชีวาลัยอีสานว่า “ไปแล้วได้อะไร จะพาไปเรียนการปลูกมะเขือหรืออย่างไง”

คำถามนี้ให้แง่คิดหลายอย่างที่จุดประกายให้หันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองค่ะว่า “ทำไมถึงอยากไปมหาชีวาลัยอิสานทั้งๆที่เป็นพยาบาล และไปหลายครั้งแล้วแถมยังอยากแนะนำคนอื่นให้ไปที่นั่น” และ “ต่อบทบาทหน้าที่ของการเป็นอาจารย์พยาบาลที่จัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ว่าเชื่อมโยงการศึกษาและการเรียนรู้กับมหาชีวาลัยอิสานอย่างไร”

เมื่อนึกถึงการศึกษา ก็ค้นหาทำความเข้าใจว่าการศึกษาต่างจากการเรียนรู้ เพราะการศึกษามุ่งความสนใจที่ผู้สอนและหลักสูตร ขณะที่การเรียนรู้มุ่งที่การเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน การเรียนรู้เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวที่จะอธิบายถ่ายทอดผ่านคำพูด การแสดงออก การนำผลการเปลี่ยนแปลงไปใช้ในวิถีชีวิต การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนผ่านโดยการผนวกประสบการณ์เดิมเข้าสู่ความรู้ใหม่ และความรู้ใหม่นี้ก็มีความเฉพาะในแต่ละคนไป

                การทำความเข้าใจจุดมุ่งเน้นระหว่างการศึกษาและการเรียนรู้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจว่า ในฐานะอาจารย์พยาบาลที่จัดการเรียนการสอนอย่างเข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ มีความจำเป็นอย่างไรในการไปเรียนรู้ดูงานที่มหาชีวาลัยอิสาน แล้วที่ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์  ให้นิยามมหาชีวาลัยอิสานไว้ว่า “เป็นยาขมหม้อใหญ่”  นั้น ในทางการศึกษา สิ่งที่น่าค้นคว้าคือ ยาขมหม้อนี้ปรุงด้วยวิธีใด ผลได้ควรเป็นอย่างไร ซึ่งเปรียบเหมือนการตั้งคำถามว่า กระบวนการให้ได้มาซึ่งการเรียนรู้ และผลของการเรียนรู้ในรูปแบบการจัดการของมหาชีวาลัยอิสานนั้น เป็นอย่างไร

             การไปสัมผัสมหาชีวาลัยอิสานในช่วงเวลาต่างๆ มีความจำเพาะพิเศษในแต่ละครั้งค่ะ ถ้าหากเป็นช่วงที่มีนักศึกษาต่างๆ มาศึกษาดูงานจะได้กำไรหลายต่อ ต่อที่หนึ่งคือได้เห็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ต่อที่สองคือได้เป็นผู้เรียนด้วย และนี่คือการจัดการเรียนการสอนอย่างแยบยลที่ครูบาสุทธินันท์จัดให้กับทุกๆคนที่ได้ไปเยือนอย่างรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่เมื่อกลับไปสู่บ้านหรือสังคมเดิมๆของตัวเอง ก็ค้นพบว่า “โลกยังคงเป็นใบเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม” ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดข้อหนึ่งถึงผลของการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในตัวผู้เรียน จากกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มหาชีวาลัยอิสานโดยครูบาสุทธินันท์

                การจัดการเรียนการสอนโดยครูบาสุทธินันท์นั้น ถ้าจะพลิกตำราต่างประเทศจะงงงวยอยู่บ้างที่ไม่สามารถหาตำราการเรียนรู้เล่มใดอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะครูบาฯ จะกล่าวเสมอว่า “นำฐานความรู้เดิมมาขยายเพิ่มเติมให้กว้างขึ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่สร้างชุดความรู้ใหม่ๆ ของชุมชน” ซึ่งหมายถึงการศึกษาค้นคว้าวิจัยและนำผลการวิจัยมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ละทิ้งความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าที่มีอยู่เดิม (evidence based) แต่นำมาศึกษาควบคู่กับไปกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ (constructivism) บนความเป็นจริงของสังคมและพื้นที่ 

                การจัดการศึกษาที่มหาชีวาลัยอีสานจึงไม่ได้ตั้งบนฐานของทฤษฎีใดทฤษฎีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีกลุ่มที่เชื่อว่าหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้นถึงจะอธิบายพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนได้(การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ทำนายได้ อธิบายได้ วัดได้ควบคุมได้ ครูคือผู้เชี่ยวชาญ การเรียนการสอนมุ่งที่ความจริงเชิงประจักษ์)  หรือทฤษฎีในกลุ่มที่เชื่อในศักยภาพของคนในการเรียนรู้ (นักเรียนคือผู้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ และวัดผลที่ความลึกซึ้งของความเข้าใจ)

                ถ้าเปรียบเทียบในหลักการจัดการเรียนการสอนกับทฤษฎีกระแสหลักจากตะวันตก มหาชีวาลัยอีสานมีหลักจัดการที่เป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างประสานกลมกลืนเป็นแบบอย่างของการจัดการแบบองค์รวม ที่พลิ้วปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัว อาทิเช่น

                 Cognitive-field theories ที่เน้นเรื่องของแรงจูงใจของคนในสถานการณ์หนึ่งๆ และพฤติกรรมของคนเกี่ยวข้องกับการรับรู้และประสบการณ์ นั้น ครูบาฯ จะสร้างแรงจูงใจต่อการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ การพาชมสวนผักนานาชนิดที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างเมนูอาหารใหม่ๆ สดๆ “ความรู้ที่ชิมได้”

                 Information processing theories ซึ่งอธิบายการเรียนรู้เป็นกลยุทธ์ในการเปลี่ยนข้อมูลจากความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว ซึ่งครูบาฯ จะมีสนับสนุนให้ผู้เรียนแต่ละคน “ค้นหาวิธีเรียนของตัวเองให้พบ”

                 Interaction theories ที่มีหลักการว่าคนจะเรียนจากประสบการณ์ การเรียนรู้เป็นการที่คนปรับตัวและจัดการกับสภาพแวดล้อมของตัวเองให้ได้ ซึ่งครูบาฯ จะใช้กลยุทธ์ของการ “เรียนบนความไม่พร้อม การอยู่ให้ได้ในสังคมที่ผิดปกติบกพร่องและไม่พร้อม” เป็นคำอธิบายการที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวใช้วิถีชีวิตที่แตกต่างจากวิถีชีวิตเดิมและนำการเรียนรู้นั้นไปปรับใช้กับสภาพแวดล้อมของแต่ละคน และเหมือนที่ครูบาฯ เขียนในบล็อก (http://lanpanya.com/sutthinun/archives/3459) ว่า

“…เมื่อเราไปในที่ต่างๆ อาจจะตั้งเป้าหรือความคาดหวังไว้หลวม ๆ  เราสามารถเผชิญสิ่งที่แปลกใหม่และไม่คุ้นเคยได้ง่าย จะทำให้เราเปิดรับอะไร ๆ ได้สนุก ถือว่าทุกอย่างเป็นการเรียนรู้มีอิสระที่จะเลือกรับรู้ จะอยู่-กิน-นอน-ผ่อนปรนให้เข้ากับสภาพพื้นที่และบรรยากาศ…”  

                Clinical psychology ที่มีหลักใหญ่ๆ ที่ศักยภาพของคน การร่วมมือประสานกัน และอารมณ์ที่มีผลต่อการเรียนรู้ ครูบาฯ จะใช้การจัดการให้ “เรียนทำไมต้องทุกข์ด้วย” การสร้างเครือข่ายในการเรียนร่วมกัน ” ถ้าในพื้นที่แต่ละอำเภอหรือตำบลเราสร้างคนขึ้นมาได้ เขาจะกลายเป็นตัวเชื่อมในพื้นที่เหล่านั้น”  และการสร้างเครือข่าย “เฮฮาศาสตร์” ในรูปแบบเครือญาติผ่านการเขียนบันทึกบล็อก “ลานปัญญา”

                 Developmental psychology ที่อธิบายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อมีการแปลข้อมูลด้วยความรู้และประสบการณ์เดิม และการเรียนรู้เกิดจากผลขององค์ประกอบหลายอย่างเช่น ความสามารถทางกายภาพ ทางใจ ทัศนคติ ความสนใจ และการให้คุณค่า ครูบาฯ จัดการเรียนการสอนโดยสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักตัวเอง “เจ้าเป็นไผ” เรียนตามความถนัดและความสนใจ “เรียนตามอัธยาศัย” ดังเช่นที่ครูบาฯ กล่าวถึงการจัดโครงการจัดการความรู้ชุมชน(http://www.daratham.net/index.php?option=com_content&task=view&id=193&Itemid=26)  ว่า

 ”…การตั้งเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้มันสร้างชุดความรู้ใหม่ขึ้นมา ซึ่งถ้าสร้างได้มันก็จะมีความน่าสนใจ มันเป็นเรื่องแปลก เรื่องใหม่ คนก็จะสนใจมาเรียนรู้ เช่น อีสานทำเรื่องหน่อไม้ฝรั่ง เมื่อก่อนไม่เคยปลูก พอปลูก คนปลูกก็จะเล่าให้ฟังได้ว่ามันดีกว่าการปลูกพืชผักเก่าๆ อย่างไร…”

                  Andragogy (adult learning theory) ทฤษฎีนี้มุ่งเน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหา การเรียนรู้จะเป็นความรู้สึกสุขสบาย ไว้วางใจกันและกัน เปิดใจ และให้การยอมรับกันและกันโดยเชื่อว่าผู้ใหญ่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เชื่อในประสบการณ์ มีความพร้อมในการเรียนรู้ ต้องการแก้ปัญหา และมีแรงจูงใจภายในตัวเอง  การจัดการเรียนการสอนที่มหาชีวาลัยอีสานนั้นเป็นกระบวนการที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการจัดการเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่ “เสนอปัญหา ตั้งโจทย์สดๆ ไปเลย” ครูบาฯ ให้การยอมรับต่อผู้เรียนซึ่งมีตัวอย่างหลายๆครั้งที่โยนโจทย์ให้หลายๆคนได้กล้าที่จะก้าวออกไปหน้าชั้นหรือหน้าเวทีเพื่อถ่ายทอดเล่าเรื่องราว สิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ ครูบาฯ ใช้วิธีการสอนด้วยการเปิดใจเล่าการแก้ปัญหาต่างๆของตัวเอง และนำเอาประสบการณ์ของตัวเองเป็นกรณีศึกษา ที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และกล้าที่จะบอกเล่าอย่างเปิดใจถึงปัญหาของตัวเองและการตั้งโจทย์เพื่อการเรียนรู้ด้วย และดูคล้ายกับว่าครูบาฯ มีความคาดหวังต่อการศึกษาแบบผู้ใหญ่ของผู้เรียนอยู่มากทีเดียว “เปิดโจทย์แล้วอย่าลืมเปิดใจ” สนับสนุนกระตุ้น(กระทุ้ง) การใช้การเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตและการกระตุ้นให้ผู้เรียนเขียนบล็อก

                   Transpersonal psychology ที่เชื่อว่าคนใช้ศักยภาพของสมองเพียงหนึ่งในสี่และยังสามารถพัฒนาให้ฉลาดได้อีก กลุ่มนี้เชื่อในพลัง (biologic energy) และการใช้การควบคุมพลัง ครูบาฯ ถึงจะไม่ได้เน้นอธิบายในเรื่องนี้มากนัก แต่ใช้การชักจูงให้เห็นถึงพลังธรรมชาติ การผ่อนคลาย การจัดสภาพการเรียนที่ผู้เรียน “นอนเรียนก็ได้” รวมทั้งใช้พลังการสัมผัส (healing touch) ผ่านการ “กอด”

                  

                 การยกตัวอย่างทฤษฎีกระแสหลักตะวันตกมาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาที่มหาชีวาลัยอีสานเป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้ที่ต้องการคำอธิบายหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะในสภาพปัจจุบันที่หลายหลักสูตรยังคงยึดกับทฤษฎีกระแสหลักตะวันตกและยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษา การปรับเปลี่ยนแนวการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ ยังติดขัดที่ระเบียบปฏิบัติต่างๆ …

                 ทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ล้าหลังได้บ้าง

  • น่าจะเป็นการที่นักการศึกษาทั้งหลายจะหันมาให้ความสนใจที่จะเป็นผู้เรียนรู้ก่อน
  • เปิดใจให้กว้างในการหาประสบการณ์ตรงกับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของมหาชีวาลัยอีสาน
  • ปลดล็อกตัวเองจากทฤษฎีใดเพียงทฤษฎีเดียว แล้วหันมามองทางเลือกการประสมประสานองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาที่ควบคู่แนบแน่นไปกับการวิจัยอย่างต่อเนื่องดังเช่นที่ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์ ได้จัดการเรียนการสอนแบบทะลุทะลวงทฤษฎีต่างๆ จนน่าจะตั้งชื่อการจัดการเรียนการสอนชนิดนี้ว่า เป็น “การจัดการเรียนรู้แบบทะลุมิติ” และเป็นทุนทางปัญญาของประเทศด้วย

                 คิดว่าตัวเองได้ให้คำตอบกับตัวเองในคำถามว่า “ต่อบทบาทหน้าที่ของการเป็นอาจารย์พยาบาลที่จัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ว่าเชื่อมโยงการศึกษาและการเรียนรู้กับมหาชีวาลัยอิสานอย่างไร” …

                  แต่ยังคงค้างโจทย์ที่จะต้องหาทางพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่เป็นนักศึกษาพยาบาลและการสร้างองค์ความรู้จากโจทย์ปัญหาของพื้นที่จริง…ท้าทายและยังต้องการเรียนรู้อีกไม่น้อยค่ะ

มหาชีวาลัยอิสาน 25-28 กรกฎาคม 2552...มหาชีวาลัยอิสาน 5-9 พ.ค. 2553: 2.เรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา...เตรียมไปสวนป่าในโครงการ “วิถีพอเพียง:ชีวิตที่มีคุณค่า”...Liberal Arts Education -การศึกษาไทยเมื่อไหร่จะเลิกต่างคนต่างทำ...ห้วยขาแข้ง: อนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร...ห้วยขาแข้ง: หมุดแผนที่บนเขาสะแกกรัง...มหาชีวาลัยอิสาน 5-9 พ.ค. 2553: 4. วงสนทนาใต้ร่มมะขาม...Liberal Arts Education: การพัฒนาอุดมศึกษาไทย...ห้วยขาแข้ง: อุทธยานแห่งชาติแม่วงก์ และมออีหืด...

« « Prev : นโยบายและบทบาทของ สกอ. ต่อสถาบันอุดมศึกษา

Next : อยากไปหงสา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

663 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 6.1830520629883 sec
Sidebar: 0.10054612159729 sec