หาความพิเศษจากเรื่องธรรมดา

โดย dd_l เมื่อ กันยายน 26, 2010 เวลา 9:22 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2571

ช่วงนี้ มีการเตรียมการแข่งขันกีฬาสี
เป็นประเพณีที่ต้องมีให้เด็กแข่งขัน ไม่เช่นนั้นเป็นต้องได้โอดครวญกันทั่วหน้า
ติดตามการจัดการมาหลายปี  จึงเห็นว่ามีทิศทางที่เปลี่ยนไป
จากจุดเริ่ม ที่ครูดูแลและจัดการทุกเรื่อง ตั้งแต่เตรียมการจนแข่งขันเสร็จก็จบสิ้น
ทุกฝ่ายมุ่งแต่ผลปลายทาง ที่สร้างความภาคภูมิหรือผิดหวังในใจ
ความหมายของกีฬาจึงมีค่าเพียงชัยชนะ หรือ พ่ายแพ้
ซ้ำพ่อแม่ก็แค่ได้เห็นเด็กในชุดสวยเด่นเดินขบวนพาเหรด
สิ้นเปลืองเงินทอง ที่ต้องใช้เพื่อการนี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง

ชี้ชวนให้ครูมองเห็น ว่าเป็นการลงทุนลงแรงที่ไม่คุ้มค่า
สาระแห่งการกีฬาควรใช้เพื่อพัฒนาเด็กได้หลากหลายมากกว่านี้
ทั้งความมีวินัยในการฝึกซ้อม  การพร้อมทำงานร่วมกับผู้อื่น  รู้จักเลือกสร้างสรรค์ด้วยปัญญา
ทั้งให้รู้ค่าสิ่งของที่ต้องใช้เงินทองของพ่อแม่ซื้อหา
ซึ่งกว่าจะปรับเปลี่ยน ก็ต้องเพียรปรับความมั่นใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง
เด็กต้องทำไม่ได้แน่  ก็แค่เด็ก ม.ต้น ดูแลตนเองก็แทบจะไม่รอดแล้ว
ไหนต้องดูน้อง ไหนต้องคิดสร้างสรรค์
สารพันเรื่องราวที่ครูวิตก

กว่าสี่ห้าปี  ที่ชวนกันก้าวข้ามความไม่เชื่อมั่น  ชวนกันทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
แปรความวิตกมาเป็นความคิดในการเตรียมการ และกล้าหาญที่จะทำสิ่งใหม่
จนได้เห็นความรู้ที่ค่อยต่อยอดเพิ่มพูนจากประสบการณ์ของเด็กและครู
จากก้าวแรกที่ครูเริ่มวาง แต่ยืนกำกับอยู่ข้างๆ แทบไม่คลาดสายตา
ค่อยพัฒนามาเป็นความวางใจในความสามารถ
เมื่อถอยมาอยู่เบื้องหลัง  ครูก็เพียงนั่งกำหนดขอบข่ายของงาน
จะใช้สิ่งใด นำสู่การพัฒนาทักษะ และ ปัญญาของเด็ก
ทั้งก้าวหน้าไปถึงการผสมผสานเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้และประเมินผลที่หลักสูตรกำหนด

กีฬาสีปีนี้ นอกเหนือจากการทำหน้าที่ของพี่ๆ ในแต่ละงาน
ซึ่งมีตั้งแต่การคัดเลือกนักกีฬา การพาน้องมาฝึกซ้อม วางแผน เตรียมการ
ภายใต้กรอบของงานที่ต้องประหยัด และสร้างสรรค์
โหวตเลือกแบบเสื้อกีฬาที่เด็กพากันออกแบบ ฯลฯ
จึงแอบได้ยิน สิ่งใหม่..ที่ครูให้งานแก่เด็กระหว่างช่วงเวลานี้
ขอให้มีการสังเกตตนเองและบันทึกสิ่งที่ค้นพบส่งคุณครูหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม
หนูได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำบ้าง
หนูค้นพบความสามารถอะไรในตนเอง
พบปัญหาอะไร  แล้วแก้ไขอย่างไร

กิจกรรมที่โรงเรียนไหนๆ ก็มีได้  จึงถูกเติมด้วยความหมายให้แตกต่าง
สร้างความพิเศษให้แก่เรื่องธรรมดา
ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการฝึกความรับผิดชอบ ฝึกทำงาน ฝึกการแก้ปัญหา
ทั้งเป็นการส่งเสริมให้กล้าทำในสิ่งใหม่  ซึ่งอาจได้ค้นพบตนเองในมุมที่ไม่คาดคิด
ความภาคภูมิใจ จึงเกิดขึ้นได้กับทุกคน  แม้ผลการแข่งขันอาจพ่ายแพ้
แต่เติมเต็มได้ ด้วยความอิ่มใจในความสามารถอื่นๆ ที่ถูกค้นพบ

กิจกรรมต่างๆ หากทำแล้วทิ้ง ทำเพื่อผ่านไปในแต่ละปี ก็คงไม่มีอะไรที่เป็นความพิเศษ
สิ่งที่มีค่า และนำสู่การพัฒนา น่าจะเป็นความรู้ที่เกิดจากการทำงาน
การเตรียมการในแต่ละกิจกรรม จึงทำให้บรรดาคุณครูต้องเรียนรู้ และสรรหาสิ่งแปลกใหม่
ให้ได้งานที่ผสานความสุข และความรู้  ทั้งของครูและเด็กอย่างลงตัว

เมื่อครูผู้เกี่ยวข้องได้ลอง ได้รู้ และได้อยู่กับสถานการณ์ที่เป็นจริง เห็นทั้งสิ่งดี สิ่งที่ต้องแก้ไข
ทำให้เกิดการริเริ่มแนวทางสร้างความพิเศษอย่างเป็นระบบ
เช่นที่วันหนึ่งได้พบ..
“บันทึกแนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรม” จากฝ่ายงานที่รับผิดชอบส่งต่อถึงครูแต่ละคน
แนะนำขั้นตอน พร้อมตัวอย่าง  ตั้งแต่ ขั้นก่อนทำกิจกรรม ระหว่างทำ จนถึงเสร็จสิ้น

ข้อความง่ายๆ  แนะนำละเอียดถึงทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ทำให้ต้องอมยิ้มกับบางประเด็น..และบางสำนวน..

ทำบันทึกข้อความนำเสนอผู้อำนวยการเพื่อพิจารณา
(ควรเสนอล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียน
แต่ถ้าต้องรอข้อมูลจากการประสานงาน  ก็ควรนำเสนอให้เร็วที่สุด
นั่นคือ ประมาณสองเดือนก่อนทำกิจกรรม)

อ้าว..ดูเหมือนรอได้  แต่อ่านๆ ไป..ต้องทำให้เสร็จเร็วๆ นั่นแหละ

ตรียมข้อมูลอื่นๆให้พร้อมเพื่อตอบคำถามจากผู้อำนวยการ
ในกรณีที่รายละเอียดของกิจกรรมไม่ชัดเจนพอ
หรืออาจมีกิจกรรมลักษณะอื่นที่เหมาะสมมากกว่า
หรือต้องการทราบแนวทางการแก้ปัญหาหากมีเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

หาข้อมูลให้ครบนะ ผู้อำนวยการมักถามแบบนี้ล่ะ

ประชุมชี้แจงงานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน
ผู้ที่รับผิดชอบทุกคนควรมีความเข้าใจเท่าๆกัน
เพราะหมายถึงประสิทธิภาพในการประสานงานและร่วมมือกันทำงาน

ครูควรมีการสังเกต  เก็บข้อมูลทั้งด้านดีและสิ่งที่เป็นปัญหาในขณะที่ทำกิจกรรม
เพื่อนำมาประกอบการประเมินผลและแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป

เก็บหลักฐานในการใช้เงินทุกบาทให้ครบถ้วนและถูกต้อง

ก็ตั้งแต่มีเงินหลวงเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องสอนน้องให้เก็บหลักฐานการใช้เงินให้ครบทุกบาท!!!

เมื่ออ่านมาจนถึงแนวทางการรายงานผลการจัดกิจกรรม
ที่นำเอางาน Smart Shopping Day มาเป็นตัวอย่าง
เห็นความพยายามในการสร้างความเข้าใจในการประเมินผลให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
ทั้งมีตัวอย่างข้อสังเกตที่น่าสนใจ

  • นักเรียนตื่นเต้นและสนุกกับการเลือกซื้อสินค้า การซื้ออาหาร และการแลกบัตรด้วยตนเอง เป็นประสบการณ์ที่ช่วยเสริมความมั่นใจในการคิดและการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก
  • นักเรียนสามารถบอกถึงประโยชน์ของสินค้าและข้อเสียที่อาจมี เช่น มีดดาบอาจเป็นอันตราย และยอมรับได้ในความคิดของกลุ่มเพื่อเปลี่ยนสินค้าใหม่ที่มีประโยชน์กว่า
  • นักเรียนสามารถจัดการระบบกลุ่มได้ดี หัวหน้ากลุ่มจะช่วยดูแลน้องๆ และเตือนเพื่อนให้อยู่ตามข้อตกลง
  • นักเรียนฝึกพูดโดยดูบทเพียงสองวัน จากนั้นอาศัยความจำกับท่าทางประกอบ แสดงให้เห็นว่าบทเขียนยังเป็นสิ่งรองลงมาจากการฝึกพูดจริง และใช้ท่าทางเป็นสัญลักษณ์เตือนความจำด้านภาษา ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีสำหรับการเรียนภาษาต่อไป
  • สินค้าที่ซื้อมาเป็นสื่อที่สร้างความสนใจให้นักเรียนเสมือนมีการซื้อขายจริง คุณครูพบว่านักเรียนไม่ได้ใส่ใจในมูลค่าว่าของที่ได้จะราคาถูกหรือแพงกว่ากัน เพียงขอให้ได้เลือกสินค้าเช่นเดียวกับเพื่อน จากนั้นก็เอาไปแบ่งปันกัน ซึ่งเป็นจุดที่ควรชมเชยเรื่องการยอมรับข้อตกลง และการมีน้ำใจ
  • นักเรียนร้อยละ 50 มีการเตรียมตัวสำหรับการพูดค่อนข้างดี ประเมินได้จากขณะพูดสื่อสาร มีความคล่องแคล่วและมั่นใจ


ทั้งได้การมองปัญหาตามความเป็นจริง ที่นำสู่การพัฒนากิจกรรม

  • ปรับลักษณะของกิจกรรม โดยให้ชุดคำศัพท์ของสินค้าแล้วให้นักเรียนเลือกซื้อมาให้ได้ตามงบประมาณ เพื่อฝึกทักษะคำศัพท์ให้มากขึ้น
  • ปรับลักษณะการซื้อขาย โดยให้นักเรียนนำสินค้าที่สนใจมาประกอบการซื้อขาย เพื่อจดจำคำศัพท์ในชีวิตจริงให้มากขึ้น
  • ทำความเข้าใจกิจกรรมในกลุ่มสาระให้ชัดเจน เพื่อความพร้อมเพรียงในการทำงาน ฯลฯ

ด้วยกิจกรรมธรรมดา..
เมื่อบรรดาคุณครูได้ร่วมคิด ร่วมลงมือ ร่วมเรียนรู้ อยู่อย่างต่อเนื่อง
จึงดูเหมือนว่า ภายใต้ความธรรมดา มีความแตกต่างอย่างพิเศษ
เป็นความพิเศษที่เติมความงอกงามให้แก่ทั้งครูและเด็ก

และจากกิจกรรมธรรมดาที่หลากหลาย..
ล้วนนำให้เกิดความงอกงามที่ส่งเสริมเติมต่อแก่กันและกันในหลายมิติ

แต่ละปี..แต่ละปี..ของการทำงาน จึงเป็นประสบการณ์ที่สั่งสม
ซึ่งมักบอกแก่กันว่า..แม้ไม่ได้เก่งกล้าสามารถ  แต่ก็อาจสร้างสิ่งพิเศษได้
ด้วยใจที่พร้อมจะเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ด้วยกัน

เช่นนี้..นี่เอง..



ขอบพระคุณในถ้อยคำนำความคิด
“ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ”
จาก ครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์

รูปจาก..www.mkw.ac.th โดย คุณครูนฤมล  คงสมัย

« « Prev : ส่งการบ้านครูบา..อีกครั้ง

Next : สั่งสม..เพื่อ..สืบสาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.17774796485901 sec
Sidebar: 0.056597948074341 sec