เป็นนักเลงบ้านนอก ดีกว่าเป็นกิ๊กก๊อกในเมืองหลวง

อ่าน: 4858

ถ้าท่านใดได้ฟังเพลงที่ลูกหลานจุฬา-น่านร้อง ในคริปที่เราเอามาลงไว้แล้วนั้น จะเห็นนัยสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อชนบทไทย ทั้งๆที่คนรุ่นเก่าต่างโหยละห้อยมองหาทางออกไปพำนักอาศัยในชนบท โดยเฉพาะท่านที่ทำงานรุกรี้รุกรนเหมือนหนูติดจั่นมาตลอดชีวิต กว่าจะลากยาวจนผ่านเกษียณอายุมาได้ก็หืดขึ้นคอ ทนทุกข์ทรมานอัดกันแย่งกันอยู่เหมือนปลากระป๋อง

ทุกครั้งที่เราขับรถออกต่างจังหวัด

ฝ่าจราจรผ่านวังน้อยอยุธยาทะลุมาได้

ทุกคนจะโล่งอกโล่งใจเหมือนหลุดภัยสงครามมาได้หวุดหวิด

ส่วนพวกที่หนีไม่ออกทนทรมาทรกรรมในกรุงนั้นเล่า..

ก็ต้องหวานอมขมกลืนเผชิญวิกฤติจราจรจลาจลแบบไม่มีน้ำยาอะไร?

ใหญ่แค่ไหน?..ก็ต้องรอ ไ ฟ เ ขี ย ว – ไ ฟ แ ด ง !

ถึงจะมีทางด่วนสักร้อยชั้น มีรถไฟใต้ดินสักร้อยสาย มันก็ยังต้องตะกายอยู่ตะกายกินอยู่นั่นแหละ ทำไงได้ ในเมื่อพัฒนาประเทศแบบเอาทุกอย่างมากองไว้ในเมืองหลวง ผังเมืองก็ห่วยแตก ระบบสาธารณูปโภคก็เลวเละ ฝนตกทีก็ติดเป๊กกันทั้งเมือง เวลาชีวิตแต่ละวันหมดไปบนท้องถนนนี่แหละ ลองคิดดูเถิดว่าถ้ามีลูกน้อยต้องไปส่ง-ไปรับที่โรงเรียน คุณแม่แทบจะเสียสติในบางวัน ถ้ามีญาติเจ็บป่วยต้องฝ่าจราจรไปโรงพยาบาล คุณภาพชีวิตจะไปอยู่ตรงไหน? มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวิตกกังวลไม่เว้นแต่ละวัน มันสนุกมากรึไง

ขอยืนยันว่าคุณภาพชีวิตเลือกได้ถ้าหัวใจเต็มร้อย

รึคุ้นชินเสียแล้วที่จะทนทุกข์ทนใจไปวันๆ

เครียดมากๆก็หน้าเหี่ยวใจเหี่ยว

ต้องหาเครื่องสำอางมาโป๊ะเอาไว้หนาๆ

นั่ ง ๆ ไ ป ก็ ค วั ก ก ร ะ จ ก ม า ส่ อ ง ที ..

เกรงว่าผนังแป้งที่ใบหน้าจะร่วงกราว

เมื่อก่อนเคยเห็นแต่พวกงิ้วพวกหมอลำแต่งหน้า ทุกวันนี้คนกรุงบางส่วนไม่แต่งหน้าออกจากบ้านไม่ได้ วันไหนลืมขนตาปลอม ถือเป็นความเสียหายร้ายแรงแห่งวันเลยเชียวแหละ มันสำคัญยิ่งกว่ากระเป๋าสะตังค์เสียอีก เคยส่องกระจกมองตัวเองจนเคยชิน วันหยุดอยู่บ้านเดินผ่านกระจกยังเผลอตัวต๊กกะใจ ต้องรีบไปใส่ขนตาปลอม ..แยกไม่ออก ทำใจไม่ไม่ได้ ว่าจะอยู่กับใบหน้าไหน?

หน้ากาก หรือหน้าตัว

หลอกตัวเองว่ามีความสุขมีความสะดวกสบาย สิ่งร้ายๆเหล่านี้นำพาความเครียดสะสมไว้ไม่รู้ตัว ก่อเกิดให้ความเห็นแก่ตัว ไม่ค่อยได้ดูดำดูดีกับสังคมภายนอกเท่าไหร่ เรื่องร้ายๆจึงมักจะเกิดขึ้นในเมืองหลวง เพราะมันเหมาะที่จะหาเรื่องกันดีนัก ความเครียดมันเข้าใครออกใครที่ไหนละเธอ  ต่อให้สวยสะอางแค่ไหน? ถ้าตกอยู่ในความเครียดกังวลบ่อยๆ อีกหน่อยใบหน้าก็แก่เกินวัย โรคความดันโรคระบบประสาทและโรคมะเร็งก็จะถามหา

สัจธรรมแปรรูปได้ที่ไหนละเธอ?

ผมฟังลูกหลานจุฬา-น่านร้องเพลงแล้วมันเขี้ยวนัก ..

ห ล า ย ค น บ อ ก ไ ม่ ก้ า ว ห น้ า  ไ ม่ มี ค ว า ม มั่ น ค ง

แ ต่ เ ร า ทุ ก ค น ตั้ ง ใ จ  ใ ช้ ค ว า ม รู้ ฟื้ น ฟู แ ผ่ น ดิ น

เพลงท่อนนี้มีความหมายอย่างมาก ..ใครนะที่บอกว่าไม่ก้าวหน้า เธอก็ทำแซงหน้าให้ดูเสียสิ ใครนะบอกว่า..ไม่มีความมั่นคง เธอก็สร้างความมั่นคงให้ดูได้นี่ ตั้งใจใส่ใจใช้ความรู้ฟื้นฟูแผ่นดิน เท่าที่พบมีแต่คนใช้ความรู้ทำลายระบบความสมดุลของธรรมชาติ ทำการเกษตรแบบล้างผลาญ คิดง่ายๆโง่ๆแบบบ้องตื้น ทำลายภูเขา ทำลายป่าไม้ แม่น้ำลำธาร ทำเอาหน้าดิน อินทรียวัตถุ แม้แต่จุลินทรีย์ในดินก็สูญพันธุ์ สิ่งที่จรรโลงความเป็นธรรมชาติย่อยยับ น้ำหมอกน้ำค้างหายไป ต้นทุนธรรมชาติเสื่อมโทรมลงตามลำดับ พวกเกษตรพันธุ์ห่วยแตกนี้ ไปอยู่ที่ไหนทำลายระบบนิเวศพังยับ นำสารพิษสารเคมี นำความโง่เขลามาหากิน กระทำตรงกันข้ามกับห่วงโซ่ของธรรมชาติ คิดจะเอาแต่ได้ ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง เรียนและหลอกกันมาเป็นทอดๆ ไม่ได้กล่าวหาใครหรอกนะ

ลองพิจารณาดูพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศนี้ดูเถิด มีที่แหล่งใดบ้างที่ทำการเกษตรแล้วมันเอื้อต่อความปกติของธรรมชาติ มีหมู่บ้านไหนตำบลไหนที่มนุษย์กับธรรมชาติอี๋อ๋อไปด้วยกันได้ พากันโค่นทลายสภาพแวดล้อม เพื่อจะได้ผลผลิตเฉพาะหน้าแบบตีหัวเข้าบ้าน ความรู้ผิดๆนำมาซึ่งวิกฤติธรรมชาติที่นับวันจะหนักข้อขึ้นทุกที

สังคมเกษตรบ้านเราเกิดวิกฤติจนล่มสลาย

ไม่มีไอ้บ้าคนไหน ทำมาหากินบนผืนดินที่แต่แดดกับลมแล้วยั่งยืนหรอกนะเธอ นอกจากนี้ยังเจ็บป่วยด้วยสารพิษสารเคมี แถมยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว ภาพที่เห็นล้วนเป็นเกษตรกรที่ดูดี แต่ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ส่งเสริมหลอกหลอนกันมาซ้ำซากเต็มที ทุกวันนี้มีพื้นที่การเกษตรที่ปนเปื้อนสารเคมีเต็มประเทศ ผู้บริโภคก็เจอมลพิษและยาฆ่าแมลงอยู่ในสายเลือด ป่วยกันแทบจะล้นโรงพยาบาลอยู่แล้ว ยังไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร

ถามว่าเกษตรไทยใช้วิชาอะไรทำมาหากิน

กรมกองที่ส่งเสริม..ส่งเสริมความรู้อะไร

สถาบันที่สอนภาคการเกษตร..สอนวิชาเกษตรจากกรุไหน?

ทำไมมันถึงเจ๊งกะโบ๊ะกันตั้งแต่หัวจรดเท้ายังงี้ละครับ

ส่งเสริมกันจนภาคการเกษตรล้มละลายขายตัว

ชาวบ้านเผ่นหนีอาชีพเกษตรกรรมไปเป็นกรรมกร เพราะทำตามที่ส่งเสริมแล้วมันไปไม่รอด เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเดินมาจนถึงเส้นตาย เส้นยาแดงที่ต้องออกมาตรการเยี่ยวยากันทั้งปี ไม่ว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง ผลผลิตราคาตก จำนำโน่นนี้ อีกไม่นานหรอกจะเอาอนาคตมาจำนำ..มันก็ไอ้แค่เรื่องแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆแค่นั้นแหละ ยังไม่มีระบบการเกษตรที่ถูกต้องเหมาะสมและยั่งยืนอย่างแท้จริงในประเทศนี้

เรื่องที่น่าเศร้าสลดที่เล่ามานี้ เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้นแหละลูกหลานเอ๋ยยังมีเบื้องหลังบ้าบอคอแตกอีกเยอะ ถ้าเราไปสนใจก็เสียเวลาเปล่า อยากจะให้มองว่า..โจทย์ชีวิต โจทย์สังคม โจทย์ประเทศที่เกิดวิกฤติขึ้นนี้ เป็นเพราะความรู้ไม่พอใช้ และมีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง น่าจะเป็นโอกาสทองของเรา ที่ศึกษามาทางด้านทรัพยากรการเกษตร จะนำพาวิชาความรู้ที่ถูกต้องแหละเหมาะสมออกไปปักธงในบ้านเกิดของเราเอง

ไปทำให้ดู อยู่ให้เห็น ว่าการเกษตรที่ถูกต้องนั้นทำได้ ทำให้ดี ให้ยั่งยืนและมั่นคงแค่ไหนก็ได้ ใช้วิชาความรู้ฟื้นฟูแผ่นดินให้ถิ่นเกิดของเรา ให้มันกลับมาเขียวสะพรั่ง มีอยู่มีกิน อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เราลงแรงไป เรื่องนี้พิสูจน์ไม่ยากหรอก ถ้าคนเราไปอยู่ตรงไหน แล้วใช้วิชาความรู้ความตั้งใจสร้างสภาพแวดล้อมให้เจริญเติบโตขึ้นทุกปีๆ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภาคีของธรรมชาติก็หวนกลับมาอยู่กับเธอ เธอเพียงแต่ใช้วิชาความรู้ด้านทรัพยากรการเกษตรแนวใหม่ มาสร้างชีวิตใหม่ ชีวิตเธออนาคตเธอจะมั่นคง จนพวกปากหอยปากปูต้องเหล่ตามอง..

น้ำค้างน้ำหมอกก็จะกลับมาช่วยเธอเพิ่มความชุ่มชื้น

ไส้เดือนจุลินทรีย์ก็จะมาช่วยเธอบำรุงดิน

พันธุ์พืชพันธุ์ไม้ป่าก็จะกลับมาช่วยเธอแต่งแต้มธรรมชาติ

ใบไม้ใบหญ้า  ดอกไม้ก็จะเบ่งบานให้กำลังใจเธอ

นกหัวขวาน  ก็จะมาสับโพรงไม้ โป๊กๆ กล่อมเธอนอนพักผ่อน

นกเขาก็จะมาขันคู ร้องเพลงให้เธอได้ยินทุกเช้า-บ่าย

ผึ้งก็จะออกบินหึ่งตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาชวนเธอไปรดผัก

ดูสิเธอ..ไม่มีผึ้งตัวไหนงอแงบินหาน้ำหวานยามเช้าตรู่

ดูสิเธอ..ปลวกตัวไหนขี้เกียจสักตัว

ดูสิเธอ..ไม่มีมดตัวไหนลงพุง ทุกตัวล้วนมีเอวมาตรฐานทั้งนั้น

ดูสิเธอ..ไม่มีเช้าใดที่ไม่มีแสงแดดอุ่นมาทักทายเธอ

ดูสิเธอ..ไม่มีต้นไม้ต้นไหนไม่ขยันขันแข็ง

ดูสิเธอ..ทรัพยากรธรรมชาติล้วนมาอยู่เคียงข้างเธอเป็นเพื่อนเธอ

เสียดาย เสียดาย และเสียดาย

ที่พ่อไม่มีลูกชายลูกสาวเข้าศึกษาที่จุฬา-น่าน เช่นพวกเธอ

ไม่งั้น..พ่อจะพาเขาทำการเกษตรให้สะบึมส์ไปทั้งโลก


น้ำใจน้องพี่สีชมพู

อ่าน: 2571

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ..ฟั ง เ พ ล ง นี้ ที่ นิ สิ ต ร้ อ ง แ ล้ ว ยั ง ก้ อ ง อ ยู่ ใ น หู

เกิดคำถามว่า ..แล้วน้ำใจของคนไทยทั่วไปสีอะไรละ?

อย่าบอกนะว่า..สีช้ำเลือดช้ำหนอง

กลับจากน่านคราวนี้ ไม่รู้จะออกหัวออกก้อย ระโหยโรยแรงเหมือนนกปีกหัก เพราะไปกินสับปะรดแช่เย็นชิ้นเดียวในยามอากาศผันผวนแท้ๆ ทำให้อาการหลอดลม/ภูมิแพ้กำเริบ เรียกว่ามาแบบซึมกะทือเลยละครับ มากระดี๋กระด๊าได้บ้างก็ตอนเจอหน้าพี่น้องชาวเฮนี่แหละ

พลังความรู้สึกที่ดีบรรเทาโรคได้

แต่ก็นั่นแหละเธอ กันไว้ดีกว่าแก้..

จะเล่าอาการคร่าวๆให้พี่หมอเจ๊ฟัง

พอได้จังหวะก้นก็โดนเข็มฉีดยาไป 2ฉึกต่างกรรมต่างวาระ

รู้สีกว่าอาการสั่นคลอนของอวัยวะภายในค่อยยังชั่วขึ้น

ขณะเดียวกันผมก็ไม่ลืมวิธีธรรมชาติบำบัด

มาน่านเที่ยวนี้ขนมะกรูดมาด้วยถึงใหญ่

แบ่งเอาน้ำมันมะพร้าวมากลั้วคอด้วย1ขวด

เตรียมเสื้อยืดเสื้อกันหนามายังกะจะไปเที่ยวไซบีเรียน

เสียงกัปตันประกาศก่อนลงเครื่องที่น่าน..

อุณหภูมิที่สนามบิน 30 องศา

โอ้..แม่เจ้า ..แม้แต่อากาศก็สุดโต้งไปด้วยรึนี่

กลับมานอนสะงึมสะงำที่บางกอก 2 คืน อาการก็เรื่อยๆมาเรียงๆ นั่งเขียนหนังสือ..ไอไปครั้นเนื้อครั้นตัวไป เหนื่อยก็นอน นึกว่าร่างกายมันคงจะปรับสมดุลดีขึ้น แต่ก็เปล่า! ..บางกอกก็ร้อนเป็นบ้า ไม่เหมือนอยู่สวนป่า ป๋ารายงานทุกวันว่าอุณหภูมิ22-24องศา แถมมีหมอกบางๆเย็นๆกำลังดี  ดัชนีชี้วัดว่า อีสานอากาศจะน่าอยู่อาศัยมากขึ้น ภาคเหนือและภาคกลางกำลังเป็นแดนหฤโหดต่อไป ดีไม่ดีอาจจะหนักขึ้นๆ

ปีนี้จะมีฤดูหนาวกันไหมละเนี้ย

จุดเล็กๆที่เปลี่ยนแปลงนี่แหละจะแสดงผลในเร็วๆนี้ ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มปรับหน่วยความจำกันแล้ว จะตั้งรับความแห้งแล้งอย่างไร มนุษย์เราเองก็จ้าละหวั่น บางจังหวัดเริ่มประกาศเขตภัยแล้ง ทั้งๆที่ฝนยังไม่สะเด็ดดี น้ำแทบทุกเขื่อนลดลงกว่าปกติ จนทางการประกาศห้าม! ทำข้าวนาปรังอย่างเด็ดขาด พวกปลูกยางพาราก็นอนก่ายหน้าผาก ความแห้งแล้งไม่เข้าใครออกใคร

แม้แต่ความแห้งแล้งน้ำใจก็เถอะ

ปัญหาที่ก่อหวอดเหล่านี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ แต่ละคนเกิดมาทำลายความผิดปกติสุขของโลก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ตัวชุดความรู้ที่จะอยู่อาศัยในโลกนี้อย่างพอเหมาะพอควรยังไม่มีไม่เกิดเป็นระบบ เล่นแร่แปรธาตุลูบหน้าปะจมูก ไปตามพลังของกิเลศ

ความต้องการสนองกิเลศ..จะให้แถกแถแก้ตัวยังไงก็ได้

อยากจะบอกนิสิตจุฬาฯ-น่าน เพิ่มเติมว่า

เดี๋ยวนี้มนุษย์เริ่มหวนกลับมามองธรรมชาติมากขึ้นแล้ว  ทุกคนโหยหา ..ต้องการไปพักผ่อนตามเมืองท่องเที่ยว บ้างก็สนใจเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายในแนวธรรมชาติบำบัด ซึ่งเริ่มออกอาการเชิงรุกมากขึ้น เพราะมีข้อยืนยันว่าธรรมชาติบำบัดนั้น ถ้าใส่ใจสนใจตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ภายใน4เดือน สุขภาพร่างกายดีขึ้นโรคร้ายต่างๆค่อยลดลงจนหายเป็นปกติ โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมัน ภูมิแพ้ แม้แต่มะเร็ง

· ถ้าเราปรับสภาพการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

· ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองของธรรมชาติ

· เมื่อไม่ฝืนไม่ปีนเกลียวกับธรรมชาติ

· อะไรๆก็เป็นไปตามธรรมชาติ

· ธรรมชาติจะเป็นโอสถที่เยี่ยวยาโรคให้แกเราอย่างน่าอัศจารรย์

· หมอทีมีอยู่ในธรรมชาติดีไม่แพ้หมอในโรงพยาบาลหรอกนะครับ

· แทนที่จะป่วยตาย ก็แก่ตายตามอายุไขธรรมชาติของสังขาร

มานอนแม็บอยู่บางกอกเที่ยวนี้ โชคดีที่ได้อ่านหนังสือเรื่อง “ปฏิวัติชีวิต ปฏิวัติสุขภาพ”ขอบคุณพี่เล็กมากที่กรุณาไปซื้อหามากฝาก นับเป็นของฝากที่ถูกใจที่สุดโลก เพราะเราไม่ได้อ่านเล่นๆแบบรู้ไว้ใช่ว่า แต่จะอ่านเอาประโยชน์ไปทำประโยชน์ให้กับตนเอง เขียนโดย นายแพทย์บุณชัย อิศราพิสิษฐ์ ผู้ปฏิวัติชีวิตพิชิตโรคด้วยธรรมชาติบำบัดให้ตนเองจนเห็นผลจะแจ้ง ..พิชิตโรคร้าย..โดยไม่ใช้ยา ผู้ป่วยหายจาก6โรคร้ายด้วยวิธีปฏิรูปจิต เพื่อปฏิรูปกาย

โรคตุ้ยนุ้ย ไขมันสูง ความดัน เบาหวาน ภูมิแพ้ มะเร็ง

พบทางออกที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือตนเองได้

ในกลุ่มของชาวเฮก็กำลังสนใจเรื่องสะสางสังขารปัญหาภายในกายาตนเอง บางคนตั้งใจสวนก้นจนลำไส้สะอาดเอี่ยม บางคนก็ฟิตออกกำลังกาย ขนรถจักรยานจากบางกอกไปปั้นออกกำลังกายกันแล้ว บางคนก็สนใจเรื่องเมนูอาหารสุขภาพ นอกน้ำคลอโรฟิลเริ่มปั่นกันมาชื่นชิมทุกเช้าแล้ว น้ำผลไม้ได้รับการค้นสูตรจนอร่อยถูกใจ-น้ำเสาวรส –น้ำมะขาม -น้ำตะไคร้ -น้ำใบเตย -น้ำดอกอัญชัน -น้ำมะตูม -น้ำมะยม -น้ำมะสัง -น้ำมะตูม -แม้แต่น้ำมะพร้าวอ่อน เราก็รับประทานกันวันละลูกตอนบ่ายๆ การบริโภคผักอินทรีย์ แม่ครัวหัวป่าส์กำลังปรุงหลากหลายรูปแบบ น้ำซุปผักเริ่มโดนใจมากแล้ว ส้มตำมะละกอใส่ตะไคร้หันฝอยก็ได้รสชาติอีกแบบ น้ำพริกต่างๆ ผักดิบผักสดผักต้มผักยำ..สารพัดเมนูกำลังเรียงล่ายส่าย

วันที่ 9-11 เราจะพิสูจน์กันให้สะเทือนสะท้านไปทั้งป่า อิ อิ..

ดอกแค ดอกมะรุม ดอกสะดา บานสะพรั่งเต็มต้น

คนชนบทไม่ได้กินอดกินอยากอะไรเลย

เพียงแต่เรียนรู้คุณค่าของวิธีกินเพื่อบำบัดโรคให้อร่อยก็บรรเจิด

อย่าไปเดินตามก้นคนกรุงที่ประพฤติตนสุ่มเสี่ยงไปด้วยค่านิยมบ้าๆบอๆ

กลับบ้านเราเถอะลูก

นอกจากรักรออยู่แล้ว

อาหาร อากาศ อารมณ์ อนามัย อนาคต มีพร้อมมูล

มาใช้ชีวิต  ให้เหมือนกับการไปปิกนิกทั้งปี

แถมยังกินฟรีอยู่ฟรีกับธรรมชาติด้วยนะ

คิ ด ดู ใ ห้ ถ่ อ ง แท้ เ ถิ ด

เกิดในชนบทแต่ไปหลงแสงสีบางกอก ก็บ้าแล้ว

สภาพสังคมห่วยแตกยังงั้นยังเห็นดีเห็นงามไปได้ลงคอรึเธอ

เอาไว้นิสิตจุฬา-น่าน มาที่สวนป่า

หลังจากมาอยู่กินนอนที่มหาชีวาลัยอีสาน 2 คืน

จะจัดให้โต้วาทีหัวข้อ..”อยู่บางกอกดีกว่าบ้านนอกตรงไหน?”

ข อ ใ ห้ เ ต รี ย ม จั ด ตั้ ง ฝ่ า ย เ ส น อ   ฝ่ า ย ค้ า น ไ ว้ เ ล ย

หาข้อมูลกันแต่เนิ่นๆ ..ต ก ล ง ต า ม นี้ ดี ไ ห ม ?

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทั้ ง ห ล า ย

อิ อิ ..


คำขอของแผ่นติน

ไม่มีความคิดเห็น โดย sutthinun เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 เวลา 7:26 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 4618

ตอนที่ 2

จากบทสรุปของพวกเรา หลายท่านเห็นตรงกันว่านักศึกษาควรจะได้ฝึกปฏิบัติมากกว่านี้ ช่วงที่มาอยู่ที่น่าน3ปี ทางศูนย์ฯควรจะหาที่ดินให้ฝึกปฏิบัติคนละ 2-5ไร่ เพื่อเอาวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาฝังลงหลุมแล้วให้ผลิผลิตผลทางวิชาการออกมาเห็นเป็นรูปธรรม นั่นก็หมายความว่านิสิตแต่ละคนจะได้เรียนเชิงประจักษ์ ได้เพาะปลูกได้เลี้ยงสัตว์ได้ปลูกต้นไม้ด้วยมือตนเองจนครบวงจร เพื่อให้ตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นสำคัญต่อมวลมนุษย์อย่างไร?

คณะชาวเฮอยากเห็น..แปลงเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน ยามใดที่มีการจัดงาน เจ้าของผลิตผลจะได้นำมาผลิตมาทำเลี้ยงดูแขกเหรื่อ ในยามปกติก็จะนิสิตก็จะได้บริโภคอาหารของตนเอง เป็นการซึมซับจิตวิญญาณของธรรมชาติ เรียนรู้การใช้วิถีชีวิตเกษตรกรพันธุ์ใหม่อย่างเข้มข้น จะได้มีความเพิ่มทักษะการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไปผ่องถ่ายให้กับครอบครัวยามที่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

บั ณ ฑิ ต ส า ย พั น ธุ์ ข้ า ว ก ล่ อ ง มั น จั ก ก ะ จี้ น ะ ข อ รั บ .

บัณฑิตย้อมผมสีแดงแช๊ด ก็จักกะจี้ ครับผ๊ม!

คุณหมอจอมป่วนให้ความเห็นว่า..คนไหนที่ชอบการจัดการ การแปรรูปต่างๆ ก็เข้าไปร่วมมือกับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ไปเอาโจทย์มาจากชนบท เข้ามาวิเคราะห์และใคร่ครวญว่าจะใช้วิชาความรู้แปลงและแปรรูปวัตถุดิบในชุมชนให้มีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้นอย่างไรได้บ้าง อย่าไปมองแต่โครงการใหญ่ๆ เรื่องแบกะดินนี่แหละเหมาะที่จะปูพื้นฐานให้นักก่อการการเกษตรมือใหม่ยิ่งนัก ควรมองเรื่องใกล้ตัวให้ทะลุ แล้วจะรู้ว่ามีเรื่องที่น่าเข้าไปตะลุมบอลมากนัก ที่สำคัญนิสิตจะได้รู้เห็นข้อมูลภาคการผลิตระดับในชุมชนอย่างถ่องแท้

จะไปพัฒนาชุมชนก็ต้องคลุกอยู่กับชุมชนสิครับ

เข้าไปปิดประตูตีแมวเลย

การปลูกฝังวิชาการเกษตรที่ทรงพลัง..ควรจะผ่านการลองผิดลองถูก

ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหา เอาปัญหามาตีแตก

ประยุกต์วิชาความรู้เข้ากับเทคโนโลยีและอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นตนเอง

ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมอบคืนลูกหลานสายพันธุ์เกษตรแนวใหม่คืนให้แก่แผ่นดิน เพื่อเป็นของขวัญที่ชาวจุฬาจะตอบแทนประเทศชาติ ประชาชนคนไทยต้องการได้เห็นของขวัญดังกล่าวนี้ ซึ่งมันควรจะแตกต่างทั้งตัวทรัพยากรบุคคล ความรู้ความคิดความสามารถผสานความเข้าใจให้เป็นความเข้าใจ การไปอยู่อาศัยในชนบทนั้นมันไม่ยากจนดิ้นล้มดิ้นตายอะไรหรอก ผืนแผ่นดินไทย/สังคมชนบทไทยไม่ได้เสียหายจนใครไปอยู่ไม่ได้ ชนบททุกวันนี้มีอินเตอร์เน็ท-ไฟฟ้า-ประปา-ถนนคอนกรีต-โทรศัพท์-โทรทัศน์-วิทยุ-แม้กระทั้งร้านเซเว่นก็มีให้เธอเปิดแข่งขัน ทุกอย่างขึ้นกับการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้ตระหนักถึงความงดงามและความดีงามของชนบท

มันดีเท่าไหร่แล้วที่ได้กลับมาอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่

ได้โผกลับมาทำงานในถิ่นเกิดที่เคยวิ่งเล่นสมัยเป็นเด็กๆ

เ ลิ ก เ ป็ น บั ณ ฑิ ต เ น ร คุ ณ กั น เ ถิ ด

รักบ้านเกิด กลับถิ่นเกิด ทำหน้าที่ลูกหลานไทยที่เปี่ยมสำนึกดี

นอกจากกัดไม่ปล่อยแล้ว เธอควรกอดไม่ปล่อยอีกด้วย

ถามตัวเองให้ชัด เจ้าเป็นไผ

ทำไมถึงรู้สึกนึกคิด จึงเห็นดีเห็นงามกับการทิ้งถิ่น

คนเรานะเธอ..ถ้าดีจริง..ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้หรอก

เธอกลัวทำไม? ถ้าภูมิรู้ภูมิธรรมของเธอเป็นของจริง อยู่กับความจริง ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ เรียนรู้วิธีทำงานบนฐานความไม่พร้อม เกษตรกรก็เหมือนผัก มีหลายสายพันธุ์ แล้วแต่จะเลือกเฟ้นมุ่งไปทางด้านไหนอย่างไร? การเรียนรู้ไม่มีวันจบ ถ้าเธอเป็นผู้เรียน ชีวิตเธอจะสนุกและบรรเจิดมากกับที่ได้ออกมาใช้ชีวิตในท้องฟ้ากว้าง

พ่อแม่พี่ป้าน้าอาต่างก็เป็นต้นทุนที่ชัดเจนอยู่แล้ว เธอก็เรียนวิชาความรู้ไปแล้วนี่ ถ้ากลับไปอยู่บ้านสร้างอาชีพการงานให้ดีขึ้นไม่ได้ก็นับว่าประหลาดแล้วละ คนรุ่นเก่าเขาไม้ได้ฝึกหัดฝึกฝนอะไรอย่างเป็นระบบเหมือนเธอ เขายังทำไร่ทำนาส่งเธอมาเรียนได้..ทุกอย่างที่มีอยู่แล้วเป็นทุนทรัพย์มหาศาล รอให้เธอได้เข้าไปพัฒนาการ ใช้วิชาความรู้ได้อย่างสนุก มด ปลวก แมลง นก ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ไหน มันยังสร้างที่อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้อย่างธรรมชาติได้ ทางคณาจารย์ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว นับเป็นโอกาสทองของชีวิตที่หาไม่ได้อีกแล้ว

อย่าไปสนใจแสงสีในบางกอกนักเลย

กรุงเทพฯนับวันจะเน่าและเละเทะ

ไปไหนเห็นแต่รถติด นั่งอุดอู้อยู่ภายใต้การบังคับของไฟเขียวไฟแดง

ใช้ชีวิตเหมือนเต่า..ไปไหนมาไหนคลานไปทีละกระดึบๆๆ

คนกรุงถูกมัดตราสังด้วยความเจริญจอมปลอมและแถกเถื่อน

กลับบ้านเรา..รักรออยู่

เธอเข้าใจไหม? ความหวังใหม่ของชาติมันยิ่งใหญ่อลังการประมาณไหน เทียบไม่ได้หรอกกับการที่เธอเรียนเพื่อไปเป็นลูกกระจ๊อกในโรงงานต่างๆ ถ้าจะมาเรียนเพื่อไปเป็นบัณฑิตโหลๆเหมือนคนอื่น นับว่าน่าเสียดายโอกาสทองชีวิตนัก เธอจะไปเพิ่มอัตราโหลๆทำไมเล่า ลุกขึ้นอย่างทระนง ประกาศความเป็นลูกจุฬาฯสายพันธุ์หัวเสริมใยเหล็ก

ที่ผ่านมา ทุกสถาบันมุ่งผลิตบัณฑิตทิ้งถิ่น ถ้าจุฬาฯสามารถผลิตบัณฑิตคืนถิ่นได้ย่อมเป็นคุณแก่แผ่นดินนี้อเนกอนันต์ ประเด็นที่เราได้รับคำถามจากบัณฑิตที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ ความตระหนก..ไม่มั่นใจที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ยังไม่ทราบว่าจะเอาอะไรไปต้นต้นที่บ้านเกิด เ รื่ อ ง นี้ ถื อ เ ป็ น สิ่ ง ป ก ติ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ให้นักศึกษาฝึกงานอย่างเข้มข้น สถาบันยังไม่มีพื้นที่แบ่งให้นิสิตรับผิดชอบทำการเกษตรประณีต จัดให้มีที่พำนักอยู่อาศัยในแปลงเกษตรของตนเอง ทำการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ในระดับบ่มเพาะวิชาการ+วิชาชีพ ผ่านงานการปฏิบัติ

สิ่งใดก็ตามถ้าผ่านมือย่อมผ่านใจเข้าไปเพาะความตระหนัก

การที่วิพุทธิยาจารย์มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังถือเป็นแรงบันดานใจที่ดี

แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมมารองรับทุกอย่างจะกลายเป็นไฟไหมฟางได้

การเรียนวิถีเกษตรนั้นต้องลงทุนด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ควรเรียนรู้เรื่องกิจกรรมก่อนที่จะผันผ่านไปเป็นกิจการ ไม่อย่างนั้นเราจะได้แต่บัณฑิตที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่มีพลังกายพลังใจพอที่จะยืนหยัดพิสูจน์ความสามารถของตนเองได้ สุดท้ายก็ผลิตบัณฑิตที่ไม่สามารถ

ปลดครุยลงลุยโคลนได้

ถ้าเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ผมอาจจะไม่มั่นอกมั่นใจอะไร แต่สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีท่านอาจารย์อรรณพและคณะที่หัวใจเต็มร้อย ยึดคติ “กัดไม่ปล่อย” หัวใจเสริมใยเหล็กกันทั้งนั้น ด้วยบารมี เกียรติภูมิ และความพร้อมของจุฬาฯ ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเอง เครดิตและแนวร่วมก็มีมหาศาล .จุฬาฯทำได้อยู่แล้วละครับ

การส่งมอบของขวัญให้แก่ประเทศชาติในวาระทองของจุฬาฯ

ของขวัญที่ประเทศนี้รอคอยมานานนับ100ปี ใน พ..2560

ยังมีเวลาลุ้นกันอย่างเต็มที่

คงไม่มีเหตุผลที่จุฬาฯจะมาสร้างหลักสูตรผลิตบัณฑิตขึ้นมาเพื่อลอยเพสังคม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตทางการเกษตรที่ใจร้ายใจดำไม่แยแสที่จะเอาความรู้ไปอุ้มชูสังคมและทดทนบุญคุณพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เฝ้าเลี้ยงดูบุตรหลานตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ทนทุกข์ทนสู้ความเหนื่อยยากเพื่อจะให้ลูกกลับมาอยู่ด้วยในยามเฒ่าชรา มารับไม้ต่อ เอาวิชาความรู้มาปรับปรุงบ้านเกิดให้เจริญก้าวหน้าพอที่จะอยู่กับยุคสมัยเขาได้ ช่วยให้ครอบครัวและชาติตระกูลได้ทำหน้าที่ผดุงโลกใบนี้ไว้ด้วยระบบการเกษตรที่ไม่ปีนเกลียวกับธรรมชาติ

บัณฑิตทางการเกษตรทิ้งถิ่นนับแสนคนมาแล้ว สงสัยว่าไปเรียนวิชาหัวใจพลาสติกมารึไร ทำไมจึงมีอคติต่อชาติภูมิของตนเอง นอกจากไม่ดูดำดูดีแล้ว บางคนยังร่วมมือคนอื่นเอาเปรียบภาคการเกษตรของบรรพบุรุษอีกแน๊ะ ถ้าเป็นภาษา”ลูกลูกทุ่ง” เขาเรียกว่า “พวกเลี้ยงเปลืองข้าวสุก”

ผันตัวเองไปเป็นพวกวัวลืมตีน

ผันตัวเองไปเป็นคนใจไม้ไส้ระกำกับบ้านเกิด

ผันตัวเองไปเป็นหมาหลงอยู่บนทางด่วน

ปัญหา สถาบันการศึกษาสอนวิชาทิ้งถิ่นอย่างบ้าเลือด ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยๆแล้วนะครับ ชนบทล่มสลาย วิถีชุมชนพ่ายแพ้กระแสเถื่อน ก็เพราะคนรุ่นหลังไม่ได้ทำหน้าที่สืบทอดอนาคตของชนบทนั่นเอง เรื่องนี้จะโทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้หรอก ในเมื่อสถาบันการศึกษามุ่งเน้นเอาลูกหลานเขาไปครอบวิชา”รับใช้คนอื่น” นโยบายทุกรัฐบาลก็เป็นส่วนสำคัญ ที่มีวิสัยทัศน์สุดโต้งไปทางภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เราแทบไม่มีต้นทุนทางด้านเทคโนโลยีและวิชาการเท่าที่ควร ต้องนำเข้าทุน นำเข้าความรู้ นำเข้าเทคโนโลยี นำเข้ามลภาวะมลพิษที่อันตราย สร้างความวิบัติและความหายนะอย่างน่าสะพรึงกลัว พวกขาใหญ่และเสียงดังเหล่านี้ นำพาชาติไปสู่หลุมดำ ทำให้สังคมของประเทศทุพลภาพ ทรัพยากรเสียหายยับเยินเพราะเอามาอุดหนุนให้เกิดอุตสาหกรรมที่ซ่อนเร้นความแถกเถื่อน

ภาคอุสาหกรรมดูก้าวหน้านำพาความเจริญมาให้

แ ต่ ทำ ไ ม สภาพของสังคมนับวันจะแตกแยกเสื่อมโทรมละครับ

ผู้คนในภาคเกษตรอ่อนแออ่อนไหวไม่สามารถพึ่งตนเองได้

ต้องอาศัยแบมือขอความช่วยเหลือภายนอกเหมือนเปรตขอส่วนบุญ

ภาคการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งควรจะเป็นวินัยและเข็มทิศชี้ทางที่ถูกต้องให้กับอนาคตของชาติ ก็ไม่ทราบว่าชี้โบ้ชี้เบ้ไปทางไหน? ทำไมผู้คนในชาติถึงไร้สำนึกและขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเกิดเมืองนอนขนาดนี้ เราพัฒนาชาติกันอย่างไรละครับ กิเลศและอำนาจเถื่อนมันจึงเฟื่องฟูจนยากจะกำกับดูแลได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเสาหลักของแผ่นดินนี้ ผลิตคนดีมีความสามารถมารับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองหลากหลายสาขาอาชีพนับล้านคน ประชาคมของจุฬาฯ พลังของจุฬาฯไปซุกอยู่แห่งหนไหนหนอ ทำไมคนไทยในชนบทจึงยักแย่ยักยันอยู่อย่างนี้ หรือว่าคณะวิชาที่สอนๆอยู่นั้นขาดตกบกพร่องในบางประการ!

· เราลืมเปิดสอนภาควิชา รักชาติบ้านเมือง

· เราลืมเปิดสอนภาควิชา รับผิดชอบต่อบ้านเมือง

· เราลืมเปิดสอนภาควิชา กอบกู้วิกฤตบ้านเมือง

ช่วงท้ายของการตอบ-ถามปัญหา นักศึกษาได้ลุกจากเก้าอี้ ออกไปยืนล้อมวงกลม ให้คณะวิพุทธิยาจารย์เข้าไปอยู่เป็นไขแดง หลังจากนั้นเสียงแจ้วเจื้อยก็ดังขึ้น เนื้อร้องรำพันพึงถึงเจตนารมณ์ของบัณฑิตรุ่นแรก ที่ช่วยกันแต่งเพลงนี้ขึ้นมา. ฟังดูสิครับ

. เพลง’.กล้าดินผลิใบ

..จากบ้านนาแสนไกลสู่รั้วจามจุรีที่ยิ่งใหญ่

มาตั้งใจเรียนรู้วิธีจัดการ บริหารวิชาเกษตร

ด้วยอดทนและตั้งใจ เพื่อกลับไป ไปพัฒนาบ้านเรา

หลายคนบอกไม่ก้าวหน้า ไม่มีความมั่นคง

แต่เราทุกคนตั้งใจ ใช้ความรู้ฟื้นฟูแผ่นดิน

ให้กล้าดินของเราผลิใบ เกษตรไทยสักวันต้องนำชัยมา

สังคมเกษตรกรรมต้องการคนรู้คนเก่ง มาเป็นผู้นำและแก้ไข

ใช้ความรู้ ใช้ความมุ่งมั่น ใช้กำลังและความอดทน

เป็นสังคมเกษตรที่พัฒนา เมื่อกล้าดินของเราผลิใบ

ไม่นานก็จะออกผล เป็นสังคมเกษตรที่พัฒนา

ให้ชาติไทยก้าวไกล ก้าวไปก้าวหน้า

จะตั้งใจ เกษตรไทยต้องพัฒนา

ทำเพลงนี้ให้เป็นจริง ก็โย้นๆแล้วละครับ

จ ะ มี ข อ ง ข วั ญ อ ะ ไ ร ใ น โ ล ก หล้า

ที่ดีกว่าบัณฑิตจุฬาฯส า ย พั น ธุ์ใ ห ม่


คำขอของแผ่นดิน *****

อ่าน: 2180
ตอนที่ 1

คำร้องขอของแผ่นดิน*****

ขอส่งการบ้านของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่ได้ขึ้นไปพบปะลูกหลานชาวจุฬาฯ-น่าน สดๆร้อนๆ ปล่อยนานไปก็เกรงความจำจะเหี่ยวเฉา จึงปิดประตูเขียนรายงานที่บางกอก1วัน เรื่องราวอาจจะยาวไปบ้าง แต่ถ้าท่านใดกรุณาทนอ่านจนจบ จะวาสนาดีและเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ..และถ้าคอมเมนท์ก็เป็นอุปการคุณที่หอมหวานยิ่งนัก

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะตัวเอง

ขบวนที่ไปน่านคราวนี้ คับคั่งไปด้วยจอมยุทธของชาวเฮฮาศาสตร์ทุกภาคส่วน ซึ่ ง ต ร ง กั บ เ จ ต น า ร ม ณ์ ข อ ง ห ลั ก สู ต ร นี้ ที่ต้องการเชิญวิพุทธิยาจารย์อาสามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการเกษียณอายุ นักธุรกิจ พ่อค้า นักกฎหมาย ผู้นำท้องถิ่น นักปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

วิพุทธิยาจารย์อาสา จะอาสาเข้ามาโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง แต่จะได้ความสุขทางใจที่ได้อบรมแนะนำลูกหลาน ผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ ให้เข้าใจชีวิตการทำงาน และไม่ท้อถอยกับปัญหาอุปสรรคเมื่อทำงานในท้องถิ่นชนบท โดยที่ปูชะนียาจารย์อาสาจะเข้ามาอยู่กับนิสิต 3-5วันต่อเทอม สลับกันมา ทำให้มีความหลากหลายในข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาพบปะนิสิตจะเป็นเวลารับประทานอาหารร่วมกัน นิสิตอาจจะซักถาม ขอคำปรึกษา คำแนะนำจากปูชนียาจารย์และก่อนที่ท่านจะกลับหรือสิ้นสุดการการเยี่ยมยาม

จะมีการพบปะเพื่อสนทนากันทั้งชั้นปี ในสภาพนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนตึก ในโรงยิม ใต้ต้นไม้ หรือรอบกองไฟ เพื่อเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ ความล้มเหลว และสอดแทรกทัศนคติของจิตอาสา จิตสาธารณะ บริการชุมชน เข้าไปด้วย

การจัดกระบวนทัพของชาวเฮครั้งนี้ เริ่มจากน้าอึ่งอ๊อบได้ส่งหนังสือ “เจ้าเป็นไผ”กับ“โมเดลบุรีรัมย์” ไปให้นิสิตจุฬาฯ-น่าน-อ่านล่วงหน้าอย่างละ100 เล่ม และได้แนะนำให้นิสิตได้ลองเข้าไปทำความรู้จักกับคณะวิพุทธิยาจารย์ในเฟสบุกส์ ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้ก่อสัมพันธ์รู้จักกันก่อนเห็นหน้า เป็นการชี้แนะนิสิตให้เรียนรู้การสร้างเครือข่ายเชิงปฏิบัติการทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียนการถ่ายเทความรู้ การกระแซะความรู้ เรียนวิชาให้ความรักก่อนให้ความรู้ รวมทั้งเรื่องการใช้ไอทีคลี่ขยายความรู้แบบง่ายๆตามสไตล์Handy man

ตามแผนงานฯ นิสิตจะถูกกำหนดให้เรียนรู้ทางไกลแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive distance learning) เพื่อให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีสื่อสารหรือสืบค้นข้อมูล เพื่อจะได้เป็นแนวทางและคุ้นเคย เมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตไปปฏิบัติงานในท้องถิ่นห่างไกล ก็ยังสามารถสืบค้นข้อมูลทางWebsite หรือแม้กับการติดต่อกับคณาจารย์ของหลักสูตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พร้อมที่จะเป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubator center) หรือศูนย์ศึกษาต่อเนื่อง (continuing education) ให้กับบัณฑิตไปตลอด ไม่ว่าบัณฑิตของหลักสูตรจะอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ยังมีที่ปรึกษา มีที่พึ่งพาทางข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา

การคิดเชิงบวกเช่นนี้ เท่ากับจุฬาฯทอดสะพานไฮเวย์2สาย เพื่อเปิดประตูวิชาการ-รับ-ส่ง-ข้อมูลข่าวสาร-ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของลูกศิษย์-ยืนหยัดเคียงข้าง เป็นพี่เลี้ยงหน่อเนื้อเชื้อไขของตนตลอดไป นับเป็นการก้าวรุกเชิงกระบวนการ โดยสร้างสะพานความรู้สู่ภูมิภาคอย่างมั่นคง แทนการไปเปิดศูนย์สาขาต่างๆเพื่อผลิตกระดาษเปื้อนหมึกแจกปริญญาโท-เอกโหลๆ ให้บัณฑิตปัญญานิ่มออกมาเพ่นพ่านสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง ที่เปิดการสอนแบบยื่นหมูยื่นแมว “จ่ายครบจบแน่”

ตรงนี้ละครับที่บ่งบอกความเป็นแก่นแท้ของจุฬาฯ

ที่ไม่ยอมด่างพร้อย

ลดตัวลงไปขายเกียรติภูมิของสถาบันหากินกันอย่างกระสือ

เมื่อโจทย์กำหนดออกมาอย่างนี้ แทนที่จะไปคนเดียวโด่เด่ ผมก็ต้องยกไปทั้งเซทละครับ จึงตีฆ้องร้องป่าวไปว่า .มีเรื่องจิตอาสาพัฒนาการศึกษาไทยของจุฬาฯ ที่จังหวัดน่าน ญาติที่น่ารักท่านใดว่างให้ชูมือขึ้นสูงๆ ..เรามีเวลาเตรียมการไม่นานนัก แต่คณะเราสันทัดกรณีเรื่องอิงระบบอย่างนี้อยู่แล้ว ต่างคนต่างติดต่อนัดหมายการเดินทาง จะรับจะร่วมเดินทางเวลาไหนอย่างไรก็แล้วแต่เห็นควร ก่อนเดินทางไม่กี่วันก็ได้รายชื่อพระอาจารย์อาสาทั้งหลาย ผมแปะบทบาทให้ลองไปใคร่ครวญกันล่วงหน้า ท่านไหนจะต้องทำอะไรบ้าง?

ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ดั่งพลิกฝ่ามือ

คณะที่ไปเฮน่านครั้งนี้ มีท่านอัยการชาวเกาะ/ครอบครัว บินมาจากภูเก็ต-เชียงใหม่ คุณหมอจอมป่วน/ครอบครัว/พ่วงตาหวานกับครูสุมาด้วย ขับรถมาจากพิษณุโลก พี่หมอเจ๊บินตรงจากกระบี่เข้าเชียงใหม่ ครูอึ่งครูอารามเอารถตู้จากลำพูนรับคณะที่บินลงเชียงใหม่ แถมยังไปหิ้วตัวครูแมว อาจารย์ป้อมและหนูฝนมาด้วย พระอาจารย์Handy ร้อนวิชาบินมาจากสุราษฎร์ธานีก่อนเพื่อน1วัน ส่วนผมบินจากบุรีรัมย์ต่อไฟล์บ่ายเข้าน่านพร้อมกับอาว์เปลี่ยน

นี่คือวิธีทำงานแบบอิงระบบสไตล์เฮฮาศาสตร์

เมื่อกดปุ่มแล้วทุกอย่างก็จะวิ่งเข้าสู่เป้าหมายโดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องเขียนจดหมายเชิญสักแอ๊ะ

จะ จี บ ค น น่ า รั ก ต้องใช้หัวใจจีบครับผ๊ม!

นับไปนับมาแทบจะเป็นรายการเฮเมืองน่านไปเสียแล้ว เราเพิ่งทราบจากเจ้าถิ่นว่า สมเด็จพระเทพฯเพิ่งเสด็จมาเยี่ยมโครงการนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอเรามาคณาจารย์ก็ยกทีมบินมาหมดสำนักงานฯอีกครั้ง ..สพ.ดร.อรรนพ คุณาวงษ์กฤต ในฐานะผู้อำนวยการฯ บอกว่า.. ทีมครูบายกพหลโยธามาอึกทึกขนาดนี้ ฝ่ายจุฬาฯก็ต้องยกทีมมาร่วมเฮฮากันหน่อย

เป็นการพบปะกันแบบยกทีมครับผม!

ท่านอาจารย์อรรณพ กรุณาพวกเราอย่างมาก

ท่านแนะนำโครงการผลิตบัณฑิตหัวใจพระเกี้ยวให้ชาวคณะเราฟังอย่างครับครัน นอกจากนั้นยังมอบเหรียญที่ระลึกในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปีพุทธศักราช 2549 จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่ระลึกแก่ชาวเฮทุกคนแล้ว ท่านยังดูแลเรายังกะไข่ในหิน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พาชมตลาด ใส่บาตรยามเช้าตรู่ พาไปชิมขนมบัวลอยป้านิ่มที่โด่งดังทะลุโลก

ผมกับอาว์เปลี่ยนเข้าไปทีหลัง..ได้รับเอกสารปึกใหญ่

เป็นคำถามของนิสิตที่อัดแน่นด้วยความสงสัยร้อยแปดพันประการ

มางานนี้..กว่าจะลาจากกันได้ เธอเอ๋ย ไหว้ลากัน 20 รอบได้ละมั๊ง !

สุกรนั้นไซร้ คือหมาหน่อยธรรมดา อย่างผมจะมาให้ความคิดเห็นในเรื่องใหญ่ๆสำคัญๆด้วยการไปดูไปเห็นข้อมูลแบบวับๆแวมๆเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เราจึงระดมออกแบบจัดกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น หลังจากเขี่ยลูกไปสักพักหนึ่ง ก็ได้ข้อสรุปว่าควรจะแบ่งกลุ่มออกเป็น3กอง แล้วให้นิสิตเดินหมุนเวียนมาพบปะวิทยากร ก็จะได้รับเนื้อหาสาระครบครัน

กลุ่มที่1ว่าด้วยเรื่อง learn how to learn in digital age

กลุ่มที่2ว่าด้วยเรื่องการเกษตรกับการพัฒนาชุมชน

กลุ่มที่3ว่าด้วยเรื่องพลังชีวิต จิตอาสา

ส่วนภาคบ่ายพระอาจารย์Handy นำเสนอวิธีการเรียนกับผู้รู้ผ่านระบบไอทีแบบง่ายๆ ที่พระอาจารย์ค้นคิดขึ้นเอง จบด้วยการตอบคำถาม มอบของที่ระลึก ฟังเพลงสุดซึ้งจากลูกหลานจุฬาฯ-น่าน ร่วมรับประทานอาหาร ขึ้นรถชมบริเวณศูนย์ฯจุฬาฯ-น่าน แล้วขยับไปชิมบัวลอยป้านิ่ม ถ่ายรูปหมู เฮฮากันพอหอมปากหอมคอ แยกย้ายกันกลับที่พัก ออกไปเที่ยวถนนคนเดิน กว่าจะได้ล้มตัวนอน หัวใจก็ผะผ่าวแล้วละเธอ

รายการที่สุดของที่สุด ท่านผู้อำนวยการฯอรรณพ คุณาวงษ์กฤต ประกาศบอกนิสิตปี2ว่า ร้อนนี้เราจะบุกอีสาน แต่นักศึกษาผู้นำมาขอคุยด้วย “เร็วนี้พวกผมจะไปหาครูบาได้ไหม” จะไปเอาข้อมูลมาทำโครงการเสนอในงานวิชาการจุฬาฯ ก็คงไม่มีปัญหาใดๆ ข อ แ ต่ เ พี ย ง ส่ ง เ สี ย ง ม า นัดหมายกัน

ผมมีอาการไข้หวัดกำเริบ ไอๆๆ จะไอเลิฟยูก็ไม่เชิง

ไอกะด็อกกะแด็กทั้งคืน

ยังดีนะที่ไปไหนมีคุณหมอไปด้วย

พี่หมอเจ๊กรุณาซื้อยาพร้อมอุปกรณ์ปลายแหลมเปี๊ยบ!

มากระหน่ำแทงก้น ฉึกๆ ! 2 เข็ม

นับเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่ไม่มีใครอิจฉา

หลังจบสิ้นภาระหน้าที่กันแล้ว เราก็มารวมศีรษะกันในห้องของผม เพื่อขอข้อคิดเห็นจากการทำหน้าที่จิตอาสาในครั้งนี้ แต่ไม่อาจจะสรุปได้ในเวลาอันสั้น จึงโยกต่อไปคุยกันในวันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้า ไปส่งพระอาจารย์Handyที่สนามบิน แล้วพวกเราก็ตระเวนไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านหนองบัว ไปชมทิศทัศน์เมืองน่านที่วัดพระธาตุเขาน้อย แล้วหาที่เหมาะๆปรึกษาหารือกัน ว่าเราจะมีส่วนสนับสนุนพันธะกิจของโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง

ในลำดับถัดไปทางจุฬาฯ-น่าน จะเชิญคณะชาวเฮมาเป็นระยะๆ


2 พฤศจิกาฯไปช่วยจุฬาฯโย้นๆที่น่าน

อ่าน: 3863

คนป่าก็มีการบ้านนะเธอ มีมากเสียด้วย ยังค้างเรื่องที่หน่วยงานต่างๆขอมาให้ความเห็น บางหน่วยงานขอข้อมูล บ้างหน่วยงานท้าให้ตอบ แต่วันนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เคยเกริ่นไว้บ้างแล้วที่จะไปช่วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการวิพุทธิยาจารย์อาสา ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตรเชิญไปช่วยเล่าประสบการณ์ความรู้ความคิด ที่มีอยู่แค่หางอึ่งให้นักศึกษาฟังที่จังหวัดน่าน จุฬาฯเขาเชิญชวนมาตั้งแต่ให้ช่วยยกร่างหลักสูตรฯแล้วละเธอ ต่อมาเขาก็ตั้งให้เป็นพุทธิยาจารย์ ซึ่งมีหน้าที่ๆจะไปช่วย-ปั้น-ปะ-ผุ-โครงการที่จุฬาฯตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการสนองคุณแผ่นดินในวาระที่มีอายุครบรอบ100ปี

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาก

ถ้าไม่อยากเห็นจุฬาฯเป็นจุลา..ก็ต้องไปร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน

ถึงผมจะไม่ได้มีวาสนาได้เป็นเชื้อเผ่าเหล่ากอของจุฬาลงกรณ์กับใครเขา แต่ก็เคยไปเดินเล่นในสนาม ไปเห็นเสาธงสูงๆ เห็นอาคารที่มีรูปร่างคล้ายกับวัด ก็ได้แต่ทึ่งตาโตตามอาการของเด็กบ้านนอกเข้ากรุง ในชั้นหลังๆผมได้เข้าไปประชุมที่หอประชุมใหญ่ ไปพูดไปบรรยายไปสอนพิเศษให้แก่นักศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ และได้รู้จักมักคุ้นกับชาวจุฬาฯบางท่าน ก็ตระหนักถึงบุญคุณของจุฬาฯตามประสาของคนวาสนาน้อยๆ ที่ได้รับความเมตตาจากสถาบันอันทรงเกียรติของชาติแห่งนี้

ตอนเป็นเด็กรุ่นกระเต๊าะ..ผมนะขาโจ๋จุฬาฯซอย11เชียวนะเธอ ผมอยู่ตอนที่เขากำลังสร้างโรงแรมสยามที่มีหลังคาแปลกข้างวังสระปทุมนั่นแหละ..อยู่หอพักใกล้ๆกับค่ายมวยศรีโสธร สมัยนั้น อดุล ศรีโสธร, เด่น ศรีโสธร เป็นนักมายดังระดับแม่เหล็ก รุ่นใกล้เคียงกับพุฒ ล้อเหล็ก อภิเดช ศิษย์หิรัญ ว่างๆผมไปเยี่ยมๆมองๆที่ค่ายมวยแห่งนี้ ก็สงสัยว่า..ทำไมนักมวยลงจากเวทีถึงมีรอยไหม้รอบตัวที่เกิดจากพิษแข้งคู่ต่อสู้ จะนั่งจะขี้ต้องค่อยๆบรรจงเพราะมันปวดไปทั้งสรรพรางกาย ..บางคนถึงกับโอดโอย กินยาแก้ฟกช้ำเป็นถังๆนับเดือน

วันหนึ่งเห็นน้าอดุลย์นั่งอยู่ว่างๆ จึงเดินไปหา

แล้วถามเรื่อง..ทำ ไ ม ถึ ง ท น ค ว า ม เ จ็ บ ป ว ด ไ ด้

นักมวยเอก..บอกว่า..”ไอ้เปี๊ยก..ลองต่อยท้องน้าสิ เอาให้เต็มแรงเลยนะ”

ผมก็กำหมัดซัดเข้าไปที่หน้าท้องของน้าอดุลย์เต็มกำลัง..

ผลลัพธ์..ผมนั่นแหละเจ็บนิ้วสะท้านไปทั้งแขน

จึงทราบว่า..นักมวยเขาเกรงกล้ามเนื้อรับหมัดรับเข่า

จากวันนั้น..ผมก็เก็บมาคุยโม้ให้เพื่อนๆฟัง

อดุลย์นะเรอะ ข้าต่อยเต็มผลั๊วะมาแล้วนะเว๊ย!

จะเขียนเรื่องไปจังหวัดน่าน ตีโค้งไปเสียไกล เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ที่ผมสนใจหลักการศึกษาที่จุฬาฯกำลังสร้างขึ้นมา นั่นก็คือให้นักศึกษาเรียนภาคทฤษฏีควบคู่ไปกับภาคปฏิบัติในอัตราที่เข้มข้นใกล้เคียงกัน จุฬาฯจึงย้ายนักศึกษาปีที่ 2-4 ไปไว้ที่ศูนย์จุฬาฯจังหวัดน่าน ตามที่ตกลงกัน ผมควรจะต้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาตั้งแต่2ปีที่แล้ว พอจะไปๆก็มีเกิดวาสนาอักเสบทุกที มาปีนี้หนังสือเชิญมาอีกแล้ว จึงตั้งใจเต็มร้อยที่จะไปให้ได้ โดยปรึกษาญาติแซ่เฮสายเหนือไว้ ว่าเราจะยกพหลพลโยธาไปบุกจังหวัดน่าน

ได้มงคลฤกษ์วันที่ 2-3-4 พฤศจิกายน 2555 ครับพี่น้อง คณะที่จะไปช่วยผมทำหน้าที่วิพุทธิยาจารย์อาสา มี (อุ้ยจั่นตา) ผศ.ดร.จันทรัตน์ เจริญสันติ, (ครูอึ่ง) อาจารย์ดวงพร เลาหะกุล, (หมอเจ๊) แพทย์หญิง (น้าอึ่ง) คุณสมพร พวงประทุม, (หมอเจ๊), พญ.ศริรัตน์ สุวันทโรจน์, (หมอจอมป่วน) นพ.สุธี ฮั่นตระกูล (อาว์เปลี่ยน) เปลี่ยน มณียะ (ครูอาราม) อาราม อู่ทอง (ครูแมว)อักษรา ศิลป์สุข ไม่แน่ไอ่ตาหวานกับครูสุทราบข่าวคงจะวิ่งตามไปสมทบอีกก็ได้ สรุปว่าวิทยากรอิงระบบคณะนี้มีไม่น้อยกว่า 10 ชีวิต ซึ่งแปลกกว่าวิพุทธิยาจารย์ท่านอื่นที่มักจะไปคนเดียว

เพิ่งจะมีคณะเรานี้แหละไปกันแบบยกทีม

ในการเตรียมการเตรียมตัว นอกจากจะตอบรับเลือกวันที่จะไปเดินทางแล้ว จุฬาฯขอทราบประวัติ และขอทราบประเด็นที่เราจะไปพูดกับนักศึกษา รวมทั้งขอข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาดูงานและการจัดกิจกรรม ผมพิจาณาแล้ว..จะพูดเรื่องวิธีเรียนและการเรียน เพราะเล็งเห็นว่านักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้เชิงลุก ไม่ได้เรียนอยู่เฉพาะในห้องแคบๆกับครูใจแคบ วิชาความรู้จึงอาจจะคับแคบไปด้วย

ทำให้จบการศึกษาแล้วไม่มีความเชื่อมั่น หรือมีความสามารถพอที่จะไปบุกเบิกการงานอาชีพอิสระด้วยลำแข้งของตนเอง นักศึกษาส่วนใหญ่จึงมีลู่ทางจำกัด มุ่งหน้าไปสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งตำแหน่งค่อนข้างจำกัดและต้องชิงดีชิงได้กันทุกรูปแบบ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ ได้งานทำไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ทำให้อนาคตสับสนและสุ่มเสี่ยง เรียนแต่วิชาทิ้งถิ่น ไม่ได้เรียนวิชากลับบ้านเฮา

ถ้าระบบการศึกษา สอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างหลักสูตรใหม่นี้แล้ว เราเชื่อกันว่าเส้นทางดำเนินชีวิตของนักศึกษาจะมีทางเลือกมากขึ้น อย่างน้อยๆวิชาความรู้ที่ได้ฝึกฝนมาระยะเวลา3ปี คงจะสร้างความเชื่อหมั้นในระดับ..

“ ถ อ ด เ สื้ อ ค รุ ย แ ล้ ว ล ง ลุ ย โ ค ล น ไ ด้ ”

  • เป็นตัวคูณของสังคม
  • หันหน้ากลับไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างทระนง
  • หวนกลับไปต่อยอดอาชีพพ่อแม่
  • มีวิชาความรู้ที่จะกลับไปสร้างบ้านแปลงเมือง
  • มีความรู้ที่จะอยู่ในท้องถิ่น
  • ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของการศึกษาที่ต้องมารับใช้ท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้แหละพ่อแม่พี่น้องเอ๋ย ทำไมผมถึงต้องชวนวงศาคณาญาติไปช่วยจุฬาฯอย่างอึกกะทึกครึกโครม เรื่องราวที่จะไปเล่าขานให้ลูกหลานนิสิตนักศึกษาฟังในครั้งนี้ จะเริ่มที่แนะนำตัวและทีมงาน (ก่อนหน้านี้ก็จะแนะนำให้นักศึกษาเข้ามาอ่านในบล็อก ลานสวนป่า ลานปัญญา บล็อกหมู่บ้านโลกล่วงหน้า) เพื่อเปิดประเด็นการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ แล้วจะไปเติมให้ภายหลังเรื่องการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ผมจะเอาหนังสือเจ้าเป็นไผ หนังสือโมเด็ลบุรีรัมย์ ไปแจกอาจารย์และนักศึกษาทุกคน (ฝากน้าอึ่งติดรถไปด้วยอย่างละ 100 เล่มนะน้านะ)

ขมวดประเด็นที่จะไปโม้ 2 วันไว้ดังนี้

  1. การเรียนและวิธีเรียนของนักศึกษาสายพันธุ์ใหม่
  2. การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้
  3. การเรียนแบบอิงระบบ
  4. จิตวิญาณของเกษตรกรไทย
  5. ข้อฉุกคิด ของการเป็นเกษตรกรไทย
  6. การทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ
  7. อาชีพปลูกสร้างสวนป่า
  8. หน่อเนื้อเชื่อไขเกษตรกรไทยที่บรรพบุรุษอยากได้/อยากเห็น
  9. งานวิจัยไทบ้านของมหาชีวาลัยอีสาน
  10. การเรียนวิธีสร้างงาน แทนการเรียนวิธีหางานทำ
  11. การศึกษาดูงาน และการสร้างกิจกรรมพื้นฐานระหว่างเรียน
  12. การสนทนากับผู้รู้ การตั้งคำถาม และคุณภาพของคำถาม
  13. ตีแตกประเด็นเกษตรกรไทยทำไมถึงยักแย่ยักยัน
  14. ตีแตกประเด็นวิกฤติระบบการเกษตรไทย
  15. ทีหนีทีไล่ของการเกษตรไทยในยุคที่อาเซียนกำลังจะมาเยือน

ผมคิดเร็วๆคร่าวๆได้เพียงแค่นี้แหละอุ้ย

เราควรเดินทางไปถึงบ่ายวันที่ 2 ช่วงเย็นจะได้เริ่มลุยขั้นตอน”เจ้าเป็นไผ”

บอกเครือญาติให้เตรียมคริบหรือถ้ามีสื่อประกอบการโม้ก็ขนใส่รถไปด้วย

ผมจะประสานเรื่องที่พัก 6 ห้อง คืนวันที่ 2-3 และอาหารทุกมื้อ

ส่วนค่าเดินทางเราคงต้องควักกระเป๋ากันเอง

รายการข้ามไปลาว..ขออาว์เปลี่ยนสรุปแนวทางและแนะนำให้ด้วย

:: ควรบริหารเวลาให้ชื่นมื่น

ช่วงนั้นอากาศอาจจะหนาวแล้ว

ดูแลสุขภาพกายและสุขภาวะใจไว้ให้พร้อม

ไปฟังเพลงน่านนะสิ อิ อิ..

Key Word :จุฬาฯต้องเดินหน้า ถ้าถอยหลังอาจจะเป็นจุลา

ฝักแม้ว กินไม่ทันเอาเมล็ดฝังกำลังแตกต้นอ่อน

พริกไทย ปลูก3เดือน กำลังออกดอก

คนงานกำลังเพาะมะกรูด

ฝนตกฉลองโอ่งใหม่ใส่น้ำฝน

ฝนกระหน่ำย้านกล้าชำลงในตอตาล

วิชาเกินสอนว่าให้ปลูกมะละกอทุกๆ3เดือน

เผือกยักษ์เจอฝนต้นโตๆ

แห้วส่งภาพสมาชิกใหม่จากสุราษฎร์มาให้รู้จัก

การเกษตรที่ทิ้งพ่อแม่ก็จะเป็นแบบในภาพนี้แหละเธอ

เราต้องสอนลูกหลานเราให้ตระหนักในอาชีพการเกษตรอย่างถ่องแท้

เมื่อคืนฝนตกกระหน่ำทำเอาแทบตกอู่ อิอิ
ถูกใจ ·  ·  · แชร์ ·



Main: 0.27913188934326 sec
Sidebar: 0.18983006477356 sec