คำขอของแผ่นดิน *****

อ่าน: 2203
ตอนที่ 1

คำร้องขอของแผ่นดิน*****

ขอส่งการบ้านของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่ได้ขึ้นไปพบปะลูกหลานชาวจุฬาฯ-น่าน สดๆร้อนๆ ปล่อยนานไปก็เกรงความจำจะเหี่ยวเฉา จึงปิดประตูเขียนรายงานที่บางกอก1วัน เรื่องราวอาจจะยาวไปบ้าง แต่ถ้าท่านใดกรุณาทนอ่านจนจบ จะวาสนาดีและเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ..และถ้าคอมเมนท์ก็เป็นอุปการคุณที่หอมหวานยิ่งนัก

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะตัวเอง

ขบวนที่ไปน่านคราวนี้ คับคั่งไปด้วยจอมยุทธของชาวเฮฮาศาสตร์ทุกภาคส่วน ซึ่ ง ต ร ง กั บ เ จ ต น า ร ม ณ์ ข อ ง ห ลั ก สู ต ร นี้ ที่ต้องการเชิญวิพุทธิยาจารย์อาสามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการเกษียณอายุ นักธุรกิจ พ่อค้า นักกฎหมาย ผู้นำท้องถิ่น นักปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

วิพุทธิยาจารย์อาสา จะอาสาเข้ามาโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง แต่จะได้ความสุขทางใจที่ได้อบรมแนะนำลูกหลาน ผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ ให้เข้าใจชีวิตการทำงาน และไม่ท้อถอยกับปัญหาอุปสรรคเมื่อทำงานในท้องถิ่นชนบท โดยที่ปูชะนียาจารย์อาสาจะเข้ามาอยู่กับนิสิต 3-5วันต่อเทอม สลับกันมา ทำให้มีความหลากหลายในข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาพบปะนิสิตจะเป็นเวลารับประทานอาหารร่วมกัน นิสิตอาจจะซักถาม ขอคำปรึกษา คำแนะนำจากปูชนียาจารย์และก่อนที่ท่านจะกลับหรือสิ้นสุดการการเยี่ยมยาม

จะมีการพบปะเพื่อสนทนากันทั้งชั้นปี ในสภาพนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนตึก ในโรงยิม ใต้ต้นไม้ หรือรอบกองไฟ เพื่อเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ ความล้มเหลว และสอดแทรกทัศนคติของจิตอาสา จิตสาธารณะ บริการชุมชน เข้าไปด้วย

การจัดกระบวนทัพของชาวเฮครั้งนี้ เริ่มจากน้าอึ่งอ๊อบได้ส่งหนังสือ “เจ้าเป็นไผ”กับ“โมเดลบุรีรัมย์” ไปให้นิสิตจุฬาฯ-น่าน-อ่านล่วงหน้าอย่างละ100 เล่ม และได้แนะนำให้นิสิตได้ลองเข้าไปทำความรู้จักกับคณะวิพุทธิยาจารย์ในเฟสบุกส์ ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้ก่อสัมพันธ์รู้จักกันก่อนเห็นหน้า เป็นการชี้แนะนิสิตให้เรียนรู้การสร้างเครือข่ายเชิงปฏิบัติการทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียนการถ่ายเทความรู้ การกระแซะความรู้ เรียนวิชาให้ความรักก่อนให้ความรู้ รวมทั้งเรื่องการใช้ไอทีคลี่ขยายความรู้แบบง่ายๆตามสไตล์Handy man

ตามแผนงานฯ นิสิตจะถูกกำหนดให้เรียนรู้ทางไกลแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive distance learning) เพื่อให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีสื่อสารหรือสืบค้นข้อมูล เพื่อจะได้เป็นแนวทางและคุ้นเคย เมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตไปปฏิบัติงานในท้องถิ่นห่างไกล ก็ยังสามารถสืบค้นข้อมูลทางWebsite หรือแม้กับการติดต่อกับคณาจารย์ของหลักสูตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พร้อมที่จะเป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubator center) หรือศูนย์ศึกษาต่อเนื่อง (continuing education) ให้กับบัณฑิตไปตลอด ไม่ว่าบัณฑิตของหลักสูตรจะอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ยังมีที่ปรึกษา มีที่พึ่งพาทางข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา

การคิดเชิงบวกเช่นนี้ เท่ากับจุฬาฯทอดสะพานไฮเวย์2สาย เพื่อเปิดประตูวิชาการ-รับ-ส่ง-ข้อมูลข่าวสาร-ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของลูกศิษย์-ยืนหยัดเคียงข้าง เป็นพี่เลี้ยงหน่อเนื้อเชื้อไขของตนตลอดไป นับเป็นการก้าวรุกเชิงกระบวนการ โดยสร้างสะพานความรู้สู่ภูมิภาคอย่างมั่นคง แทนการไปเปิดศูนย์สาขาต่างๆเพื่อผลิตกระดาษเปื้อนหมึกแจกปริญญาโท-เอกโหลๆ ให้บัณฑิตปัญญานิ่มออกมาเพ่นพ่านสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง ที่เปิดการสอนแบบยื่นหมูยื่นแมว “จ่ายครบจบแน่”

ตรงนี้ละครับที่บ่งบอกความเป็นแก่นแท้ของจุฬาฯ

ที่ไม่ยอมด่างพร้อย

ลดตัวลงไปขายเกียรติภูมิของสถาบันหากินกันอย่างกระสือ

เมื่อโจทย์กำหนดออกมาอย่างนี้ แทนที่จะไปคนเดียวโด่เด่ ผมก็ต้องยกไปทั้งเซทละครับ จึงตีฆ้องร้องป่าวไปว่า .มีเรื่องจิตอาสาพัฒนาการศึกษาไทยของจุฬาฯ ที่จังหวัดน่าน ญาติที่น่ารักท่านใดว่างให้ชูมือขึ้นสูงๆ ..เรามีเวลาเตรียมการไม่นานนัก แต่คณะเราสันทัดกรณีเรื่องอิงระบบอย่างนี้อยู่แล้ว ต่างคนต่างติดต่อนัดหมายการเดินทาง จะรับจะร่วมเดินทางเวลาไหนอย่างไรก็แล้วแต่เห็นควร ก่อนเดินทางไม่กี่วันก็ได้รายชื่อพระอาจารย์อาสาทั้งหลาย ผมแปะบทบาทให้ลองไปใคร่ครวญกันล่วงหน้า ท่านไหนจะต้องทำอะไรบ้าง?

ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ดั่งพลิกฝ่ามือ

คณะที่ไปเฮน่านครั้งนี้ มีท่านอัยการชาวเกาะ/ครอบครัว บินมาจากภูเก็ต-เชียงใหม่ คุณหมอจอมป่วน/ครอบครัว/พ่วงตาหวานกับครูสุมาด้วย ขับรถมาจากพิษณุโลก พี่หมอเจ๊บินตรงจากกระบี่เข้าเชียงใหม่ ครูอึ่งครูอารามเอารถตู้จากลำพูนรับคณะที่บินลงเชียงใหม่ แถมยังไปหิ้วตัวครูแมว อาจารย์ป้อมและหนูฝนมาด้วย พระอาจารย์Handy ร้อนวิชาบินมาจากสุราษฎร์ธานีก่อนเพื่อน1วัน ส่วนผมบินจากบุรีรัมย์ต่อไฟล์บ่ายเข้าน่านพร้อมกับอาว์เปลี่ยน

นี่คือวิธีทำงานแบบอิงระบบสไตล์เฮฮาศาสตร์

เมื่อกดปุ่มแล้วทุกอย่างก็จะวิ่งเข้าสู่เป้าหมายโดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องเขียนจดหมายเชิญสักแอ๊ะ

จะ จี บ ค น น่ า รั ก ต้องใช้หัวใจจีบครับผ๊ม!

นับไปนับมาแทบจะเป็นรายการเฮเมืองน่านไปเสียแล้ว เราเพิ่งทราบจากเจ้าถิ่นว่า สมเด็จพระเทพฯเพิ่งเสด็จมาเยี่ยมโครงการนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอเรามาคณาจารย์ก็ยกทีมบินมาหมดสำนักงานฯอีกครั้ง ..สพ.ดร.อรรนพ คุณาวงษ์กฤต ในฐานะผู้อำนวยการฯ บอกว่า.. ทีมครูบายกพหลโยธามาอึกทึกขนาดนี้ ฝ่ายจุฬาฯก็ต้องยกทีมมาร่วมเฮฮากันหน่อย

เป็นการพบปะกันแบบยกทีมครับผม!

ท่านอาจารย์อรรณพ กรุณาพวกเราอย่างมาก

ท่านแนะนำโครงการผลิตบัณฑิตหัวใจพระเกี้ยวให้ชาวคณะเราฟังอย่างครับครัน นอกจากนั้นยังมอบเหรียญที่ระลึกในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปีพุทธศักราช 2549 จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่ระลึกแก่ชาวเฮทุกคนแล้ว ท่านยังดูแลเรายังกะไข่ในหิน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พาชมตลาด ใส่บาตรยามเช้าตรู่ พาไปชิมขนมบัวลอยป้านิ่มที่โด่งดังทะลุโลก

ผมกับอาว์เปลี่ยนเข้าไปทีหลัง..ได้รับเอกสารปึกใหญ่

เป็นคำถามของนิสิตที่อัดแน่นด้วยความสงสัยร้อยแปดพันประการ

มางานนี้..กว่าจะลาจากกันได้ เธอเอ๋ย ไหว้ลากัน 20 รอบได้ละมั๊ง !

สุกรนั้นไซร้ คือหมาหน่อยธรรมดา อย่างผมจะมาให้ความคิดเห็นในเรื่องใหญ่ๆสำคัญๆด้วยการไปดูไปเห็นข้อมูลแบบวับๆแวมๆเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เราจึงระดมออกแบบจัดกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น หลังจากเขี่ยลูกไปสักพักหนึ่ง ก็ได้ข้อสรุปว่าควรจะแบ่งกลุ่มออกเป็น3กอง แล้วให้นิสิตเดินหมุนเวียนมาพบปะวิทยากร ก็จะได้รับเนื้อหาสาระครบครัน

กลุ่มที่1ว่าด้วยเรื่อง learn how to learn in digital age

กลุ่มที่2ว่าด้วยเรื่องการเกษตรกับการพัฒนาชุมชน

กลุ่มที่3ว่าด้วยเรื่องพลังชีวิต จิตอาสา

ส่วนภาคบ่ายพระอาจารย์Handy นำเสนอวิธีการเรียนกับผู้รู้ผ่านระบบไอทีแบบง่ายๆ ที่พระอาจารย์ค้นคิดขึ้นเอง จบด้วยการตอบคำถาม มอบของที่ระลึก ฟังเพลงสุดซึ้งจากลูกหลานจุฬาฯ-น่าน ร่วมรับประทานอาหาร ขึ้นรถชมบริเวณศูนย์ฯจุฬาฯ-น่าน แล้วขยับไปชิมบัวลอยป้านิ่ม ถ่ายรูปหมู เฮฮากันพอหอมปากหอมคอ แยกย้ายกันกลับที่พัก ออกไปเที่ยวถนนคนเดิน กว่าจะได้ล้มตัวนอน หัวใจก็ผะผ่าวแล้วละเธอ

รายการที่สุดของที่สุด ท่านผู้อำนวยการฯอรรณพ คุณาวงษ์กฤต ประกาศบอกนิสิตปี2ว่า ร้อนนี้เราจะบุกอีสาน แต่นักศึกษาผู้นำมาขอคุยด้วย “เร็วนี้พวกผมจะไปหาครูบาได้ไหม” จะไปเอาข้อมูลมาทำโครงการเสนอในงานวิชาการจุฬาฯ ก็คงไม่มีปัญหาใดๆ ข อ แ ต่ เ พี ย ง ส่ ง เ สี ย ง ม า นัดหมายกัน

ผมมีอาการไข้หวัดกำเริบ ไอๆๆ จะไอเลิฟยูก็ไม่เชิง

ไอกะด็อกกะแด็กทั้งคืน

ยังดีนะที่ไปไหนมีคุณหมอไปด้วย

พี่หมอเจ๊กรุณาซื้อยาพร้อมอุปกรณ์ปลายแหลมเปี๊ยบ!

มากระหน่ำแทงก้น ฉึกๆ ! 2 เข็ม

นับเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่ไม่มีใครอิจฉา

หลังจบสิ้นภาระหน้าที่กันแล้ว เราก็มารวมศีรษะกันในห้องของผม เพื่อขอข้อคิดเห็นจากการทำหน้าที่จิตอาสาในครั้งนี้ แต่ไม่อาจจะสรุปได้ในเวลาอันสั้น จึงโยกต่อไปคุยกันในวันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้า ไปส่งพระอาจารย์Handyที่สนามบิน แล้วพวกเราก็ตระเวนไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านหนองบัว ไปชมทิศทัศน์เมืองน่านที่วัดพระธาตุเขาน้อย แล้วหาที่เหมาะๆปรึกษาหารือกัน ว่าเราจะมีส่วนสนับสนุนพันธะกิจของโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง

ในลำดับถัดไปทางจุฬาฯ-น่าน จะเชิญคณะชาวเฮมาเป็นระยะๆ

« « Prev : 2 พฤศจิกาฯไปช่วยจุฬาฯโย้นๆที่น่าน

Next : คำขอของแผ่นติน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "คำขอของแผ่นดิน *****"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.096305847167969 sec
Sidebar: 0.050963163375854 sec