ตอบการบ้านลูกฮักลูกแพง

อ่าน: 4005

(วิชากวดใบไม้นี่แหละสอนอะไรเด็กๆเยอะแยะ)

>> ใครหนอ ใครจะช่วยลูกหมาตาดำๆ ตัวนี้ !!!
วันนี้มีงานที่ไม่ใช่หน้าที่ แต่รับมาด้วยความจำใจ จนใจในการที่จะปฏิเสธคนอีกตามเคย เดินไปเดินมาไปเจอโจทย์นี้เข้า หน้ามืดเลย แล้วคนที่ให้โจทย์ก็ใจร้อนจะเอาพรุ่งนี้เสียด้วย……ช่วยด้วยๆๆๆๆๆๆๆๆ
ตอนนี้คิดอะไรไม่ออกจริงๆค่ะ…….หวังพึ่งพ่อแม่พี่น้องชาวลานนี่แหละ อิอิ…

เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงพูดกันมานาน หลายยกซ้ำซาก จนผู้คนเริ่มเบื่อระอา เพราะวิธีนำเสนอค่อนข้างสับสนแต่แรก ตีความกันไปคนละทิศละทาง มีปัญหามาตั้งแต่ชั้นนโยบาย ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงาน-สถาบัน-และองค์กรต่างๆขานรับทั้งๆที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร มีทั้งชี้นำชี้แนะ ออกใบสั่ง และระดมของบประมาณมาดำเนินการ บังเอิญว่า..เป็นโครงการสนองพระราชดำริ สำนักงบประมาณเกรงใจ จึงสนับสนุนให้เกิดการจัดกิจกรรมสารพัดรูปแบบ แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ผลนัก อาจจะเป็นเพราะเกายังไม่ถูกที่คัน ยังมีปัญหาที่คนเกา คนถูกเกา และวิธีเกา

(แจกลูกหมูให้ไปเลี้ยง ก็สนุกในการเรียนแล้ว)

อนึ่ง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ตรง และต้นทุนที่มีอยู่เดิม ที่จะนำมาวิเคราะห์ตีความให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และแผนงานในสังคมนั้นๆ ต้องเข้าใจก่อนว่ามีทั้งเรื่องหลักการ และกระบวนการที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นพันธะกิจที่ต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เอาทฤษฎีมาจ้อกัน ไม่ทำไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น มีบางคนจำเรื่องไปบรรยายเป็นทอดๆ เช่น เรื่อง 3 ห่วง 8 เงื่อนไข โดนคุณยายตีกลับ

อีฉันใส่ห่วงเดียวมดลูกก็จะพังแล้ว มาให้ใส่3ห่วงมันจะไหวหรือค่า

มีผู้ที่พยายามจะกำหนดกรอบให้จะแจ้งแดงแจ๋ แต่ก็ยังยากเพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะฟันธงได้ ทำอะไรก็ได้ที่มันเกิดผลลัพธ์ที่พอดี พองาม พอเหมาะ พอควรแห่งตน มันไม่ใช่เรื่องการเกษตร เรื่องการทำมาหากินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการบริหารใจ กำหนดใจ ให้อยู่บนตาชั่งที่สมดุล ที่จริงก็คือการเดินสายกลางนั่นเอง วิธีการเดินจะกำหนดอย่างไรละ ใครจะมาบอกว่าต้องก้าวสั้นก้าวยาวอย่างนั่นรึ มันไม่ใช่ ก้าวอย่างไรก็พิเคราะห์เอาให้เหมาะแก่ตนเอง ไม่เดินตกหลุมพราง ไม่เดินแอ่นหน้าแอ่นหลัง เดินดูตาม้าตาเรือเป็นใช้ได้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะชี้นิ้วบอกกัน เราปวดฟันท้องปวดฟันแทนคนอื่นไม่ได้ฉันใด เรื่องนี้ก็ฉันนั้น

มีเรื่องตลกเยอะมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยุคที่ผู้ใหญ่ประชุมวางนโยบายระดับชาติ มีกูรูหลายท่านยังไม่กระจ่างใจเรื่องการตีความ ถึงกับหาผู้ที่เหมาะสมไปกราบบังคมทูลฯเป็นข้อๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องนี้อยู่ในทฤษฎีอะไร ทำไมฝรั่งไม่รู้จัก โธ่ๆๆ

(ถ้าสอนเรื่องนี้มันเหนื่อยนัก ก็ออกไปให้แปลงผักเป็นครูเสียบ้าง)

ตอบคำถามมินดีกว่า

1 ท่านคิดว่าควรมีแนวทางการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการเขียนแผนการสอนที่บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

1.1 ก่อนที่จะไปถึงแนวทาง ต้องควานหาครูที่มีใจเรื่องนี้ให้ได้ก่อน ไม่ใช่ออกใบสั่งส่งเดช ได้คนไม่สนใจ ก็จะทำแบบซังกะตาย กลายเป็นทฤษฎีแห่งความทุกข์ เศรษฐกิจที่ไม่รู้ไม่ขี้

1.2 คัดคนได้มาแล้ว ต้องชวนคุยก่อนว่า ทำไมถึงต้องทำเรื่องนี้ ถ้าทำได้อะไร ไม่ทำจะเป็นอย่างไร ถ้าจะทำๆแบบไหน หัวใจของเรื่องอยู่ตรงไหน สรุปว่าควรตั้งต้นที่คน ชวนให้ฉุกคิด ให้สมองแฉะเสียก่อนถ้า ยังคิดไม่ทะลุคงฝืนทำให้ดีไม่ได้

(จัดให้เด็กๆจับกลุ่มคุยกันเอง ครูมีหน้าที่ดูความเป็นไปอยู่ห่างๆ)

1.3 ประเด็นที่เกี่ยวกับครูหรือการสอน ดูเหมือนจะเป็นเชิงนโยบายลงมาด้วยใช่ไหม แต่จุดเริ่มยังไม่นิ่ง คำสั่งไม่มีอานุภาพเพียงพอ ผลลัพธ์จึงอยู่ในระดับปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง พูดกันเป็นต่อยหอยแต่ไม่ลึกซึ้งว่ามันคืออย่างไร แรงสนับสนุนก็เฉื่อยและไม่เอาจริง มีบางแห่งเอาป้ายมาติดก็จบแล้ว ใครถามก็ชี้ไปที่ป้าย ดังนั้นคุณครูควรจะเปิดประเด็นในห้องเรียน ช่วยกันสำรวจดูสิว่าจะทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้บ้าง ไล่ไปตั้งแต่กิ๊ปปักผม การใช้ดินสอ ปากกา กระดาษ ขยะ ค่าขนม ฯลฯ แล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไปยังสิ่งที่สำคัญมากขึ้น เรื่องพวกนี้คุณครูต้องชวนลูกศิษย์ให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ออกอุบายให้ขบคิดสาระตะให้สนุก  อาจจะให้ช่วยกันยกสุภาษิตไทยมาประกอบ เช่น “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” หรือให้ไปค้นหาเนื้อเพลงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เช่น “เพลงดีใจที่มีวันนี้” ใครคิดค้นมาได้ ให้ออกมาเขียนป้ายความคิดติดบอร์ด แล้วพิจารณาร่วมกัน ครูมีหน้าที่ยุให้คิด ให้กำลังใจ และคอยปรบมือ ถ้าคุณครูไปสั่งไปคิดแทน เรื่องนี้ก็จบเห่ ไม่ใช่การสอน แต่เป็นการสั่ง การสอนที่คำนึงถึงวิธีเรียนสำคัญนัก ถามว่า..แต่ละห้อง แต่ละคน มีวิธีเรียนอย่างไร ชวนทำกับข้าว จัดโต้วาที หรือประกวดคนขยันและประหยัดของห้อง ของชุมชน ของประเทศ เอา วีดีโอเรื่องปู่เย็นมาเปิดให้ชม ฯลฯ เรื่องพวกนี้บางทีเด็กๆรู้บ้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครชวนตีแตกเท่านั้นเอง อย่าลืมเรื่องนี้เด็กๆเป็นพระเอก ครูเป็นได้แค่เสี่ยวเอ้อเท่านั้น

2 ท่านคิดว่าควรมีแนวทางการพัฒนาครูให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

2.1 เมื่อค้นหาคุณครูเป้าหมายได้แล้วก็ชวนคุยสิ ลองให้เล่าถึงเรื่องที่ตนเองเผชิญอยู่ หมายถึงเรื่องนี้ทุกคนเจอกับตัวเองอยู่แล้ว อย่าไปคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องภายนอก ช่วงนี้แต่ละคนประสบปัญหาเรื่องรายได้ ความเป็นอยู่มากบ้างน้อยบ้างอยู่แล้ว มีวิธีชักหน้าชักหลังอย่างไร บริหารกระเป๋าสตางค์อย่างไร คิดอะไรอยู่ มองปัญหาอย่างไร ใครมีตัวอย่างดีๆก็เอามาเล่าให้กันฟัง แล้วบันทึกข้อสรุปไว้

2.2 หลังจากผ่านข้อแรกแล้ว ควรนำครูลงพื้นที่ไปศึกษาในสภาพจริงสัก 2-3 แห่ง อยู่กินนอนร่วมคิดร่วมฟังร่วมทำกิจกรรมเชิงประจักษ์ จะได้มีประสบการณ์เรื่องนี้ อย่างน้อยก็จะได้ประเด็นมาคิด-มาทำ-มาเขียน-มาออกแบบได้ ไม่เห็นด้วยจะใช้วิธีไปค้นเรื่องแล้วมาโมเมเขียนแบบฝึกหัดโดยตัวเองไม่ได้ผ่านการหัด การฝึกจริงๆ ขืนทำไปมันจะทื่อๆกระด้างๆ ขาดเสน่ห์ ไม่น่าสนใจ นำไปสอนก็น่าเบื่อหน่าย การเขียนแผนการสอนไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเพราะเราคิดง่ายทำง่ายๆไม่เข้าใจขั้นตอนและกระบวนการอย่างถ่องแท้

ความรู้ความเข้าใจไม่มีขาย อยากได้ต้องลงมือทำเอง

3 ท่านคิดว่าควรมีแนวทางการพัฒนาครูให้มีความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

3.1 จะเกิดความเชี่ยวชาญได้มันต้องผ่านความชำนาญการ จะมีความชำนาญการ ก็ต้องลงมือปฏิบัติสะสมความรู้ไว้มากๆ มันเนรมิตได้ที่ไหนเล่า เมื่อคุณครูผ่านข้อที่ 2 มาแล้ว ก็มาเลือกเอาจุดที่เหมาะสมกับตัวเอง มาทดลองปฏิบัติ ในสภาพของตนเอง ทำไป คิดไป แก้ไขไป จะเกิดความเข้าใจ แล้วพัฒนาไปสู่ความตั้งใจ หลังจากนั้นก็จะสามารถถอดแบบการเรียนการสอน ให้พอเหมาะแก่ลูกศิษย์ของตนได้

(เอาเด็กไปหาสื่อในตลาด สื่อในวิถีชีวิตจริง อย่านั่งรอให้สื่อวิ่งมาหาในห้อง)

4. ท่านคิดว่าควรมีแนวทางการพัฒนาให้ครูจัดสื่อ อุปกรณ์ที่ใช้การจัดการเรียน

การสอนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

4.1 ถ้าคุณครูสอบผ่านข้อที่ 1-3 ข้อที่ 4 ก็ไม่จำเป็นแล้ว เป็นผู้เชี่ยวชาญแล้วนี่ จะมาสงสัยอะไรกับเรื่องขี้ปะติ๋วอีกละ

หมายเหตุ : ที่จริงเรื่องนี้สามารถตั้งเป็นคำถามเดียวได้

แต่ถามมาหลายข้อ ก็โมเมกลับไปทุกข้อ อิ อิ.



Main: 0.018826961517334 sec
Sidebar: 0.051305055618286 sec