พื้นที่ความรู้เป็นพื้นฐานของสติปัญญา
(ห่านไม่เคยตื่นสาย ทุกเช้าตรู่จะเดินปรึกษากัน)
เมื่อคืนนี้เทวดาส่งลมเย็นข้ามฟ้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เสียงลมพัดตึง ๆ ทั้งคืน ใบไม้ปลิวว่อน เสียงกิ่งไม้หักโครมคราม จักจั่นย้ายไปไหนก็ไม่รู้เงียบฉี่ทั้งคืน สภาพแวดล้อมโลกมีเรื่องชวนปวดหัวมากขึ้นจนจับต้นชนปลายไม่ถูก บ่นกันร้อนแล้งแสนสาหัสอยู่แหมบ ๆ จู่ ๆ ก็เย็นเฉียบแบบกะทันหัน เมื่อคืนนอนหนาว..กอดอะไรก็ไม่อุ่น นอนฟังเสียงลมสะดุ้งทั้งคืน
(ลมธรรมชาติไม่มีปุ่มปรับลดระดับเหมือนพัดลมบ้าน)
เช้ามาโอ้โห! ใบไม้เกลื่อนพื้นดิน เทวดาสอยใบไม้มาให้ทำปุ๋ยอีกแล้ว ขณะเดียวกันก็สอยกิ่งไม้แห้งมาทับหลังคาเล้าไก่ด้วย แต่ก็ยังปราณีที่เอาปลายข้างหนึ่งเกี่ยวกิ่งไม้ไว้ ถ้าปล่อยให้โครมลงมาตรง ๆ กระเบื้องคงกระเจิงอีกหลายแผ่น ไหน ๆ ก็ต้องจัดการกิ่งไม้ ก็ถือโอกาสกวาดใบไม้ลงจากหลังคาเสียเลย
“เปิดห้องเรียนสู่โลกกว้าง ให้ทุกอย่างเป็นครู”
ผมไม่ทราบว่าเป็นวรรคทองของท่านผู้ใด แต่ก็ชอบมาก ได้ดำเนินชีวิตประจำวันตามที่กล่าวนี้อยู่แล้ว ตื่นขึ้นมาเอากล้องคล้องคอ เดินลงบ้านไปเที่ยวดูสภาพทั่ว ๆ ไปที่โดนลมค่อนข้างแรง ผมไม่ได้เดินคนเดียวหรอกนะครับ เจ้าห่านคอยาวออกเดินก่อนผมเสียอีก เนื่องจากแอบเอาไข่ห่านมาต้มบ่อย ๆ จึงให้อภิสิทธิ์ที่จะนอนอยู่ข้างบ้าน และให้อิสระที่จะเดินไปกินบุบเฟ่ต์ตรงไหนก็ได้ เท่าที่สังเกตห่านจะไม่ชอบเข้าไปในที่รกเรื้อ ใครก็ไม่รู้บอกว่างูกลัวห่าน เราก็เลยเลี้ยงห่านไว้ขู่งู
(บางทีคนอียิปโบราณเอาแนวคิดการทำมำมี่จากมำมี่กล้วยนี่ก็ได้)
ลำดับแรกเดินไปเจอหนอนกินใบกล้วย หนอนที่ว่านี้จะกัดกินใบตองแล้วม้วนใบเป็นกรวยเข้าห่อหุ้มตัวเอง ผมแกะดูเห็นเป็นหนอนยึกยือตัวเขียว ๆ บางตัวที่แก่หน่อยจะออกสีเหลือง ถ้าอายุได้ที่จะเห็นรูปร่างคล้าย ๆ แมลง ถ้าเด็ก ๆ มาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ก็จะบอกว่า “นี่ไงละมัมมี่” ในต้นกล้วย
เดินผ่านไปยังต้นท่อนที่ยืนคู่กันอยู่ 2 ต้น เป็นต้นแม่กับต้นลูก ต้นเล็กกำลังระบัดใบสีเขียวอ่อน ส่วนต้นแม่ทิ้งใบโกร๋นกำลังแตกตุ่มใบเล็ก ๆ เต็มต้น ท่อนต้นนี้ตอนที่ผมเข้ามาอยู่สวนใหม่ ๆ เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นโตขนาดโคนขา ผมขับรถไถผ่านไป ยังนึกว่าจะไถทิ้งหรือปล่อยเอาไว้ สุดท้ายก็ยกหางไถขึ้น ท่อนต้นนี้จึงรอดมาได้อย่างหวุดหวิด ต่อมาผมไปสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ ก็ยังเว้นวรรคไว้ไม่ตัดทิ้งเพื่อมุงหลังคาโรงรถ ท่อนดวงแข็งต้นนี้เจริญเติบโตจนทกวันนี้กอดไม่รอบ หลายปีมาแล้วที่ปล่อยให้เมล็ดปลิวไปงอกในสวน หลังจากนั้นก็ไม่ได้อินังขังขอบกับท่อนต้นนี้
(ถ้าปล่อยธรรมชาติท่อนจะเป็นผักชั้นสูง ถ้าปลูกระยะชิดต้นต่ำเก็บยอดได้ทั้งปี)
ในแต่ละปีที่ท่อนแตกยอดใหม่ คนงานปีนไปเก็บยอดอ่อนมาให้ลวกจิ้มกับน้ำพริกปลาทู ชาวบ้านเขารู้กันดีว่ายอดอ่อนของท่อนนั้นเอามาเป็นลวกจิ้้มรสชาติหวานอร่อยนัก แต่ปีหนึ่งก็มีช่วงแตกใบอ่อนสั้นๆประมาณ 1 สัปดาห์ เข้าทำนองของดีมีน้อยนั้นแหละ ท่านลองคิดดูนะครับ คนเราบทจะเซ่ออะไรก็ช่วยไม่ได้ ทั้งๆที่รู้ว่ายอดท่อนเป็นผักพื้นถิ่นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ฉุกคิดว่า..แล้วยังไงต่อละ..
(ถ้าเทวดาสอยฝักแห้งลงมาให้ต้องรีบเก็บ ไม่งั้นเมล็ดแตกกระจายหายหมด)
เพิ่งจะมาปีนี้ละครับ ที่คนโง่พอจะโงหัวคิดอะไรใหม่ ๆ ได้บ้าง ก็มาจากที่ Logos เอาคลิปเรื่องการปลูกมะรุมระบบชิดในอัฟริกามาลงในลานปัญญา ผมเห็นแล้วได้ประกายความคิดดีมาก เอามาวางแผนเรื่องการปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระบบชิด ตอนนี้ได้ลงมือทำไปแล้ว เช่น มะกล่ำ มะรุม มะขาม มะกรูด ผักโขมจีน ยังรอเมล็ดแคบ้าน และมะกอกป่า และยังมองหาพืชอื่น ๆ ที่เหมาะสม พอเดินมาเจอฝักแก่ท่อนที่เทวดาสอยลงมาให้เมื่อคืน ก็ร้องอ๋อในใจ ..ทำไมเราเซ่ออยู่นานนักละวะ ปล่อยให้ท่อนปลิวสะเปะสะปะไปงอกเกลื่อน ทำไมไม่จับท่อนมาเข้าแถวปลุกระบบชิดละ เราก็จะได้ผักพื้นเมืองยืนต้นชั้นเยี่ยมอีก 1 ชนิด
(ระบบน้ำมีแล้ว เอาถาดเพาะเมล็ดไม้ไปวาง กว่าจะถึงหน้าฝนเราก็จะมีกล้าผักพื้นถิ่นดีๆไปปลูก)
คิดแล้วทำทันที เดินเก็บฝักท่อนที่ปลิวตกรอบ ๆ บริเวณต้น แต่ก็น่าเสียดายที่ฝักส่วนใหญ่จะแตกเมล็ดกระจายทิ้ง แต่ก็พอรวบรวมมาได้บ้าง หลังจากแกะเมล็ดลวกน้ำแล้ว เลือกเมล็ดลีบมีตำหนิแมลงเจาะทิ้งจะเหลือประมาณ 140 เมล็ด ถ้านำไปเพาะน่าจะได้ต้นกล้าประมาณ 100 ต้น ก็ยังดีที่ได้ทดลอง ซึ่งผมคิดว่ายังไม่มีใครทำ มหาชีวาลัยอีสานน่าจะเป็นรายแรกในโลกที่ทำการปลูกต้นท่อนระบบชิด เพื่อเป็นทางเลือกและเป็นการเพิ่มชนิดผักพื้นถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เข้ามาในครัวเรือนของคนไทยอีกชนิดหนึ่ง
กระบวนการที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือวิธีเรียนของผม
หลังจากรดน้ำต้นไม้ เดินดูแปลงต่าง ๆ
สังเกตเห็นอะไรก็ลงบันทึกไว้
ได้ลงมือทำอะไรก็รายงานข้อมูลเบื้องต้นไว้
ภาคเช้าจะเดินเรียนตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น.
กลับมาอาบน้ำทาแป้งดื่มน้ำสมุนไพรปั่นเวลา 08.30 น.
รับประทานอาหารเช้าเวลา 08.30-09.00น.
หลังจากนั้นถ้าไม่มีอะไรก็จะขลุกอยู่กับคนงาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ยังมีงานค้างทำอยู่หลายเรื่อง เรื่องทำงานกับคนงานมีความสำคัญสำหรับที่นี่ จำที่ชาวเฮมาช่วยกันปลูกต้นผักหวานบ้านกับต้นผักหวานป่าที่ท่านบางทรายเอามาให้ได้ไหมครับ ผมออกแบบปลูกร่วมกันเพราะคิดว่า ผักหวานบ้านโตเร็วกว่า เราจะได้เด็ดยอดมาทำอาหารก่อน ส่วนผักหวานป่าโตช้าก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้ค่อย ๆ โตตามมาทีหลังได้ แต่วันดีคืนดีคนงานคนเกิดปรารถนาดีขึ้นมา แบกจอบไปขุดพรวนดินใส่ปุ๋ยให้ แกมองเห็นแต่ผักหวานบ้านที่ต้นโต ต้นผักหวานป่าเล็กกระจิ๋วหลิวจึงถูกจอบสับทิ้งเกลี้ยงไม่เหลือสักต้น ..บทเรียนอย่างนี้มีเยอะมาก ต้นสะตอก็โดนฟันทิ้งเพราะเข้าใจผิด ไม่เคยเห็นต้นชนิดนี้ขึ้นมาก่อน ต้นมะกล่ำโต ๆ ก็ไปตัดทิ้งหาว่ามันคลุมหลังคา ทั้ง ๆ ที่สางกิ่งออกก็ได้ อุทาหรณ์เรื่องนี้บอกว่า..อย่ากระโตกกระตาก เดี๋ยวความปรารถนาดีจะตกใจ!!
งานที่ว่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสังเกตแล้วตั้งข้อสมมุติฐานไว้ เป็นวิชาเอ๊ะ! อย่างนั้นเอ๊ะ! อย่างนี้ ตรงจุดนี้ไปเข้าสูตร..คิดใหม่ ทำใหม่ หาข้อเท็จจริงใหม่ ๆ เข้าทำนองเก่า ๆ มันเป็นสนิม เรื่องใหม่มันจุ๋มจิ๋มและท้าทาย วิธีนี้ทำให้มีเรื่องใหม่ ๆ คอยพิสูจน์เยอะมาก ดังตัวอย่างที่เล่ามาข้างต้น การบันทึกประจำวันในลานปัญญา ส่วนหนึ่งจะเป็นงานวิจัยแบบไทบ้าน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการเล่าถึงทักษะชีวิตผ่านประสบการณ์ตรง ถึงจะเป็นงานภาคการเกษตรแต่ก็แอบคลุกเชื้อชีวิตและสังคมผสมลงไปไว้บ้างตามสไตล์คนแซ่เฮ ถึงจะคิดและทำอะไร ขยันแค่ไหน ผมก็คงโง่และเซ่ออยู่ดีนั่นแหละครับ
ท่านใดจะอุปการะความรู้ความคิดก็ขอเชิญนะครับ
ที่ลานปัญญาผมทราบว่าเขาให้ Comment ฟรี
ไม่ใช่หรือครับ?
15 ความคิดเห็น
ป้าหวานมาเรียนรู้ค่ะ ป้าหวานชอบวิธีที่พ่อครูทำ และวิธีที่เล่าในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะคนละสายงานแต่ก็เก็บมาประยุกต์สมองขี้เลื่อยของตัวเองค่ะ สิ่งละอันพันละน้อยที่พ่อครูเรียน ก็เอามาเลียนใส่สมอง กระตุ้นตัวเอง ไม่ได้เท่าขอสักครึ่งของครึ่งก็ยังดี เริ่มเรียนเรื่องตัวเองใหม่ เรียนหลายๆเรื่องใหม่ ทำ ก็ทำแต่ยังไม่ได้มาก วันนี้รู้แล้ว….รู้ว่าคีย์ตัวสำคัญ ไม่มีโปรแกรมไหนให้หรอก เรานั่นเอง เรานั่นเองที่จะทำอย่างไร ชอบแบบไหน ไม่ต้องสนใจอะไรเกินเลยไป ทำไปเรียนไป ปรับไป ทำบ่อยๆรู้มากขึ้นเพราะสังเกตุที่เราทำนั่นแหละคือครู ค.ล.ท.ท.ท. ไปทำดีก่า…..วิ้ว…..
ทำสนุกๆนะป้าหวาน ไม่ต้องมากเรื่อง แล้วทุกอย่างจะดีเอง
เมื่อไหร่จะมาตำน้ำพริกอีก อิ อิ
(ท่าทางห่านจะขู่งูจริง ๆ ด้วยล่ะค่ะ เห็นมายืนดู ๆ แล้วก็ไป)
ถ้าไม่ชอบขี้หน้ากันก็เหล่กันไปเหล่กันมาน่าจะพอ แล้วก็แยกย้ายไปดำเนินชีวิต
หรือถ้าอยากจะข่มกันมาก ๆ ก็น่าจะข่มน่าจะแข่งกันทำสิ่งดี ๆ ที่มีประโยชน์ให้กับส่วนรวม เช่น แข่งกันปลูกต้นไม้ แข่งกันดูแลครอบครัวให้มีความสุข สงบ แข่งกันรักษาศีล ฯลฯ ถ้าแข่งกันแบบนี้เป้าหมายมันก็คืออันเดียวกัน ก็จะเป็นคู่แข่งที่คุยกันรู้เรื่อง คนที่คุยกันรู้เรื่องก็จะสามารถแบ่งปันให้กันและกันได้ ทั้งความรู้ ความรัก ความสุขและความปรารถนาดีด้วยความจริงใจ
แหม ถ้าแข่งกันอย่างนี้มีแต่ได้กับได้เนาะคะ สังคมได้ความสันติสุข เราได้ความสงบสุข ^_^
ฮุ๊ย รู้งี๊สมัครประกวดนางสาวไทย รุ่น light flyweight เมื่อ 10 ปีที่แล้วไปซะก็ดีล่ะ เอิ๊กซ์!
แข่งกันกิน แข่งกันกอด ก็พอแร้ว อิอิ
เจ้าหนอนที่ว่ามันม้วนใบตอง แต่มันก็แพ้นกกะปูด เพราะเจ้านกกะปูดข้างบ้านผมมันรู้ดีว่ามีหนอนอยู่ที่ใบตอง มันก็จะฉีกคลี่ใบตองและกินหนอน วันไหนจังหวะเหมาะจะถ่ายภาพการจัดการหนอนของเจ้ากะปูดมาให้ดู…
ลูกน้องเอาผักหวานป่ามาให้ต้นหนึ่งตั้งแต่สมัยก่อนเป็นอัยการจังหวัดเยาวชน ต้นสูงสัก ๕ นิ้วได้ ดูมันอยู่เป็นปีก็ไม่เห็นมันโต ในที่สุดก็เอาไปไว้หลังบ้านปลูกไว้ใต้ต้นมุดม่วงแล้วไม่สนใจมันอีกเลย ปลูกผักเหมียงไว้ข้างๆ เพิ่งสองสามวันนี้เพิ่งสังเกตเห็นมันสูงสักฟุตเศษเห็นจะได้แต่มันยังกะย่องกะแย่งแตกยอดอ่อนแต่ยังไม่พอกินเพราะมันมีอยู่ยอดเดียว ฮา…
ที่สวนนกกะปูดก็เยอะนะครับ
แต่ไม่รู้วิธีหากินหนอนใบตอง
สงสัยต้องเอานกภูเก็ตมาฝึกสอนเสียแล้ว ฮ่าๆๆๆ
เรื่องผักหวานป่า เป็นผักปราบเซียน
ของผมบางต้นก็แคระแกรน
บางต้นก็โตเอาๆ ปีนี้เด็ดมาแกงหลายหม้อแล้ว
ขำความเห็นท่านอัยการ…
ท่านอัยการครับ
ต้นผักหวานป่าเป็นต้นไม้อิงอาศัยครับ ปลุกกลางแจ้งแดงแจ๋ไม่ได้ครับ ต้องอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือกลุ่มไม้ใหญ่ ชาวบ้านดงหลวงมักจะเอาก้อนหินไปวางที่โคนต้นด้วย เหตุผลของชาวบ้านกล่าวว่า เพราะผักหวานป่าที่ขึ้นในป่ามักจะเห็นตามก้อนหิน อันนี้ไม่มีเหตุผลทางวิชาการพิสูจน์ แต่การปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่นั้น ฟันธง….
เอาละสิ จะปลูกผักหวาน ต้องปลุกไม้ใหญ่ หรือหาพื้นที่ไม้ใหย๋
เห็นประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมของไม้ใหญ่อีกประการหนึ่ง
ส่วนหินนั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ ร้อน-เย็น ที่ต้นไม้บางชนิดชอบ
หรือมีเหตุผลอื่นอีกก็ไม่ทราบนะครับ
เรื่องการปลูกผักหวานป่าใต้ร่มไม้ใหญ่นั้น ผมถามพ่อธีระ เซียนคนหนึ่งในเรื่องผักหวานกล่าวว่า สังเกตุจากป่า และการอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่นั้นหากอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นไม้ใหญ่จะดี คำอธิบายของพ่อธีระคือ บ่ายนั้นแดดร้อนแรงกว่าแดดตอนเช้า ไม่จำเป็นรดน้ำทุกวัน แค่เอาฟางคลุมโคนต้นแล้วทำรั้วกั้นมิให้ใครมาโดนต้นเขา รดน้ำอาทิตยละครั้งอย่างมากก็สองครั้งเท่านั้น ใจเย็นๆ ปล่อยเขาเติบโตเอง
ผักหวานป่ามีตัวผู้ตัวเมีย ตอนแรกผมก็เอะอะชาวบ้านว่าทำไมเอาดอกผักหวานป่ามากิน มาขายหมด แล้วมันจะออกหน่วยขยายลูกหลานมันอย่างไร ชาวบ้านบอกว่าเขาเอาดอกตัวผู้มากิน ดอกตัวผู้จะไม่เติบโตเป็นหน่วย ขายราคากกละ 300-400 บาท อร่อยกว่าใบอีก อิอิ มันหายากน่ะ ผมถ่ายรูปไว้แล้วยังไม่มีเวลาเอามาลงเลยครับ
กำลังเตรียมงานวันไทบรูยุ่งอยู่เลยครับ
ผมเคยซื้อขี้วัวชาวบ้านที่เลี้ยงแถวต้นมะกอกป่า จะมีเม็ดปนมาด้วย พอเอาไปใส่ต้นไม้ต้นกล้ามะกอกก็จะงอกงามดีมากครับ เลยได้ต้นกล้าติดมาจากขี้วัวชาวบ้านประจำ สังเกตว่าใต้ต้นที่ปล่อยให้ร่วงเองไม่ค่อยงอกให้เห็นครับ น่าสนใจว่าในกระเพาะวัวคงมีน้ำย่อยกระตุ้นให้มะกอกงอกได้ดีครับ
ผมชอบทานยอดมะกอกป่า เคยลองปักชำดู ติดง่ายครับแต่ไม่ได้เอาไปลงปลูกตอนนี้ตายแล้วครับอิอิ
ขออภัยเรื่องเม็ดดอกแค พรุ่งนี้ผมส่งไปให้นะครับ อิอิ
มะกอกป่า ทดลองเอากิ่งปักชำ ปรากฎว่าเติบโตไม่กี่ต้น นอกนั้นแห้งตาย
คงจะต้องคำนึงถึงขนาด ควรจะโตเท่าแขนและตัดยาวสัก 1 เมตรจะงอกดี
แต่ถ้าขุดย้ายปลูกจะรอดทุกต้น
การเพาะด้วยเมล็ดพอไหว
แต่ที่มันหล่นแล้วเกิดเองรอบต้นน่าสนใจกว่า
ปล่อยให้โตสักคืบ ค่อยย้ายปลูก
ยังหาลูกมะกอกได้ไม่มากพอที่จะปลูกระบบชิด
อาจจะลองปักชำอีกครั้งช่วงฝนนี้
ขอบพระคุณท่านเจ้าของเรื่องและทุกความเห็นครับ ความรู้ที่ได้จะนำไปประยุกต์เร็วๆนี้ครับ และสัญญาว่าจะส่งข่าว บอกกล่าวความสำเร็จและความล้มเหลวจากการทดลองแต่ละเรื่องที่เมืองไชยาครับ
ที่ลพบุรี มีซียนผักหวานป่า
-ผมเคยไปดูงาน แกเก่งมาก สามารถตอนต้นผักหวานมาปลูกได้สำเร็จ
-ถ้าใครมีต้นผักหวานป่า ผมอยากจะขอเมล็ดมาปลูก
-ต้นที่สวนออกดอกพราว สงสัยจะเป็นต้นตัวผู้ (ไม่ติดผล ออกดอกมาสักพักก็ร่วงหมด)
-จะทดลองเพาะกล้า และแบบหยอดเมล็ดลงดิน เลียนแบบธรรมชาติ
-ยังข้องใจเรื่องโตช้า-โตเร็ว คำตอบยังไม่ชัดเจน
-บ้างก็บอกว่าต้องเอาดินซึ่งมีสารหรือเชื้อที่ผักหวานชอบมาด้วย
-เท่าที่สังเกตผักหสานป่ามีชนิดใบแคบ-ใบกว้าง- จะมีชนิดอื่นอีกก็ไม่ทราบ
-พื้นถิ่นเดิมที่สวนไม่มีผักหวานป่ามาก่อน แต่ตามทุ่งนาใกล้เคียงพอมีต้นผักหวานป่าอยู่บ้าง
-สมัยก่อนจะมีฤดูผักหวานป่า ชาวบ้านเก็บมาขาย
-มีความรู้สึกว่าธรรมดาๆ เพราะเป็นผักทั่วไปที่หาง่าย ไม่ดูแปลกเหมือนทุกวันนี้
-ผักหวานป่าถ้ามีต้นโตๆ แค่ต้นเดียว ก็เด็ดยอดอ่อนมาแกงได้เรื่อยถ้าให้น้ำและปุ๋ยช่วย พอกิน ครับ ปีนี้เจี๊ยะมาแล้ว
-ถ้าไทบรู มีเมล็ดผักหวานป่า ขอมาทดลองด้วยนะครับ
สิงห์ป่าสักเคยเขียนเรื่องการปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดไว้ที่นี่ค่ะพ่อครู
ดูวิธีปลูกแล้วน่าจะประยุกต์ต่อเรื่องการให้น้ำได้หลายวิธีด้วยนะคะ
ที่กำแพงเพชรมีการเพาะชำใส่ถุงและปลูกแซมค่ะ
ที่