ตาแก่กับไม้ไผ่ผุ
ยังมีความเมตตาจากธรรมชาติมอบให้เราเสมอ ถึงแม้กลางวันจะร้อนอบอ้าว แต่ช่วงกลางคืนกลับเย็นสบาย บางคืนต้องใช้ผ้าห่มช่วยบ้างจนรุ่งสาง ปีนี้จั๊กจั่นร้องสนั่นไปทั้งผืนป่า เป็นปรากฏการณ์หรือเป็นกฎแห่งป่าที่เริ่มฟื้นคืนตัวก็อาจเป็นได้ ผีเสื้อกลุ่มใหญ่จับกลุ่มโบยบินบริเวณที่มีความชุ่มชื้นจากสปริงเก้อร์ ผึ้งและมิ้มก็มาขนน้ำจากอ่างบัวตลอดวัน นกตัวเล็กมาบินวนเวียนรอที่จะเล่นน้ำคลายร้อนจากหัวพ่นฝอย
(ดีปลีขึ้นล้อมรอบต้นมะม่วง)
เรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ ยากนักจะมนุษย์ผู้ทำลายจะได้เห็นและเข้าใจ สัมพันธภาพของมวลสิ่งมีชีวิตในแต่ละพื้นที่นั้นช่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก กว่าจะรู้ได้ทีละเล็กละน้อยต้องคอยเฝ้ามองอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดความสืบเนื่องไปค้นหาสิ่งที่กำลังกลับคืนมา ในพื้นที่ให้น้ำสม่ำเสมอเพียง 200 ตารางวา เราได้เห็นคุณค่าแห่งผืนดินที่งดงาม พืชพรรณจำนวนมากโผล่ขึ้นที่โน่นที่นี่ รวมทั้งเมล็ดไม้ เมล็ดผักพื้นถิ่นต่าง ๆ ก็งอกงามพราวพรายบนพื้นดิน สิ่งแรกมนุษย์มองหาประโยชน์ใกล้ตัว เราพบว่ามีพืชพื้นถิ่นจำนวนมากเป็นผักชั้นยอด ปลอดภัยจากสารพิษแถมยังไม่ต้องปลูกและดูแลอะไรเลย ผักสด ๆ อร่อย ๆ เป็นบรรณาการจากสวรรค์แท้ ๆ เอาแค่ไปเดินเด็ดมาลงกระทะก็แทบไม่ซ้ำเมนูในรอบสัปดาห์
(เสาวรสที่ปลูกแบบใช้ค้าง และปลูกให้ไต่เกาะต้นไม้ใหญ่)
ขณะเดียวกันเราก็ปลูกผักที่คุ้นชินไว้บ้าง เพื่อเป็นสื่อล่อในการขยายความเรื่องผักอร่อยที่คนนอกไม่เคยรู้จัก จะได้ชิมเปรียบเทียบ อะไรจะดีไปกว่าการได้ชิมอีกเล่า ข้อสรุปที่แสนสนุกและอร่อยเป็นเสน่ห์ของการเรียนรู้ที่ประทับใจ เราพยายามเปลี่ยนการรับรู้ที่หยาบกระด้าง มาเป็นอยู่กับพลังความรู้ของธรรมชาติ ภาษาที่รู้จักกันในนาม “KM. ธรรมชาติ” นั่นเอง
(ลำไม้ไผ่เอามาปักไว้ให้เถาเสาวรสไต่ขึ้นต้นไม้ใหญ่ แม้แต่ฟักทองก็ชอบปีนป่าย)
ธรรมชาติมีการจัดการความรู้ที่สมบูรณ์ยิ่งความความรู้ของมนุษย์มากนัก เพียงไปเด็ดใบน้ำเต้าทิ้งสัก 1 ใบ เราจะสังเกตเห็นการตอบสนองที่จะแก้ไขในจุดดังกล่าวภายใน 2 วัน เรื่องอย่างนี้ละครับที่เราไม่สามารถค้นหาจากการท่องจำ หรืออ้างอิงทฤษฎีที่เปล่าเปลือยได้ ถ้าเราเป็นผู้เรียน ก็จะมีเรื่องสนุกให้เรียนแบบไม่อั้น มีโจทย์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นให้เอ๊ะ! ทุกวัน
ยกตัวอย่างเช่น ปีนี้เรามีแผนงานที่จะปลูกเสาวรสให้มากขึ้น ตามปกติทั่วไปเราก็จะปลูกเป็นแถวเป็นแนวทำค้างให้พืชเกาะ แต่ถ้าศึกษาคุณสมบัติของพืชชนิดนี้แล้ว เราจะเห็นว่าเสาวรสเป็นพืชที่ชอบเกาะเกี่ยวขึ้นไปตามต้นไม้ หลังจากนั้นก็จะแตกกิ่งแขนงอาศัยอยู่ตามยอดไม้ ชูยอดแตกดอกออกผลห้อยระโยงระยาง เมื่อผลแก่จัดลูกเสาวรสก็จะร่วงหล่นลงมา โดยที่เราไม่ต้องไปปีนต้นไม้เก็บ เมื่อเรารู้คุณสมบัติซึ่งหมายถึงนิสัยของพืชแต่ละชนิดแล้ว เราสามารถเอาจุดดังกล่าวนี้มาออกแบบในการปลูกที่แตกต่างจากของเก่า เช่น การหยอดเมล็ดลงข้างต้นไม้ใหญ่ เมื่อต้นอ่อนตั้งตัวได้ เถาเสาวรสก็จะปืนป่ายขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ใหญ่ทั่วไปในบริเวณนี้ ในที่สุดเครือข่ายป่ายปีนที่เก่งกาจเหล่านี้ก็จะโยงไปถึงกัน กลายเป็นร่มธรรมชาติที่กรองแสงแดดให้แก่พื้นที่ด้านล่างอีกชั้นหนึ่ง
(ใบฟักทองรองรับใบไม้แห้งสวยศิลป์เหมือนมีคนจัดสรร)
วิธีไม่สามารถที่จะใช้กับพืชทั่วไป ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าเสาวรสมีเปลือกหนาห่อหุ้มเนื้อข้างใน ถึงจะหล่นจากที่สูงก็ไม่ทำให้ผลบอบช้ำมากนัก ถ้าเอามาคั้นน้ำภายใน3วันคุณสมบัติต่าง ๆ ยังปกติ แต่การปลูกแบบอิงธรรมชาติเช่นนี้ ถ้าหวังผลเราต้องให้ปุ๋ยคอกช่วยบ้าง หรือถ้าช่วยรดน้ำเป็นครั้งคราวผลผลิตจะดีมาก ข้อดีอีกประการหนึ่ง เสาวรสไม่มีศัตรูในธรรมชาติแต่อย่างใด
ช่วงนี้สวนป่าได้ทดลองแนวคิดดังกล่าว นั่นคือการปลูกเสาวรสเปรียบเทียบ ระหว่างการปลูกแบบประณีตให้น้ำให้ปุ๋ยให้ค้างเกาะในระดับ1เมตร กับการปลูกให้ไต่เลื้อยขึ้นต้นไม้อย่างอิสระ งานเรียนรู้แบบง่าย ๆ นี่ล่ะครับที่นำความคิดดี ๆ โยงไปสู่เรื่องอื่น ๆ เช่น การเด็ดยอดเสารสมาทำอาหาร เราพบว่ายอดสด ๆ เสาวรสนำมาประกอบอาหารได้อร่อยมาก จะแกงเลียง แกงป่า หรือนำมาผัดกระทะร้อน ให้รสชาติและคุณค่าอาหารไม่แพ้พืชผักอย่างอื่น
ยอดเสาวรสยิ่งเด็ดก็ยิ่งแตกแขนงมากขึ้น ทำให้เรามีผักสดจำนวนมากรออยู่ข้างรั้วบ้านเสมอ เมื่อมาถึงตรงนี้ ประโยชน์ที่ได้รับก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แทนที่จะปลูกเพื่อเอาผลอย่างเดียว เรากลับได้ยอดผักที่อร่อยและปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง จุดดีของการปลูกด้วยค้างต่ำทำให้เราเด็ดยอดเสาวรสได้สะดวก อีกทั้งผลที่ต้องการมาทำน้ำผลไม้ก็ไม่กระทบแต่อย่างใด ได้ผล ได้ยอด ได้ดอกให้แมลงผสมเกสร ส่วนการปลูกให้ป่ายปืนต้นไม้ใหญ่ ทำให้ได้ร่มเงาเป็นของแถมในช่วงร้อนแล้งนี้
ดังนั้นตาแก่จึงแบกลำไม้ไผ่ผุที่ทิ้งเรี่ยราด
เอาไปผูกเข้ากับต้นไม้ใหญ่
เพื่อทำสะพานให้แก่ต้นเสาวรสป่ายปีนสะดวกขึ้น
ตรงกับโจทย์ที่ว่า
การคิดใหม่ ทำใหม่ ย่อมได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีกว่าเก่า
ในอีก 3 เดือนข้างหน้าสวนป่าจะ..
ผลิตผลเสาวรสสดได้ไม่น้อยกว่าวันละ 200 ผล
ผลิตยอดเสาวรสได้ไม่น้อยกว่าวันละ 20 กระทะ
ผลิตน้ำคั้นผลไม้สดสูตรแม่หวีได้วันละ 20 เหยือก
ผลิตดอกให้ผึ้งมาไต่ตอมวันละ 1,000 ดอก
วิชาKM.ในธรรมชาติ เมื่อเกิดเรื่องหนึ่ง ก็เป็นสาเหตุต่อไปยังเรื่องอื่น ๆ ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก คำว่าห่วงโซ่อาหาร ถ้าท่องกันแบบนกแก้ว นกขุนทอง มันก็แค่นั้นแหละ แต่ถ้าเราลงมือเรียนจากการปฏิบัติ เราจะพบสายโซ่ที่ไขว้กันไปมาเต็มทั้งพื้นที่ มีเหตุและผลที่อธิบายได้ว่าพืชมีการเรียนรู้และพัฒนาการลึกซึ้งกว่าที่มนุษย์จะเข้าถึงได้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าใครมาเที่ยวมหาชีวาลัยอีสานยุคตาแก่แบกไม้ไผ่ผุ ก็จะเจอเรื่องใหม่ ๆ ดี ๆ มากมาย แถมบางเรื่องยังอร่อยด้วยสิ
ถ้าเรียนแล้วสุขภาพไม่ดีขึ้น
จิตใจไม่ปกติสุขกว่าเดิม
กำลังใจยังง่อนแง่น
สติปัญญาแผ่วปลาย
สภาพแวดล้อมยังติดลบ
ไม่มีตัวคูณใด ๆ เกิดขึ้น
ก็แสดงว่าเราสอบตกแล้วล่ะต๋อย
« « Prev : ไผเป็นไผจะไปบุกกรุงเก่า
4 ความคิดเห็น
เตรียมกระเป๋ารอ..นับวันนับคืนจะไปสวนป่า จะไปสวนป่า จะไปสวนป่า…
….ปล. ครูบาคะ ต้นหว่านฮ๊อกนี่รากไหลเหรอคะ??…สังเกตที่บ้านพอปล่อยๆ ทิ้งๆไว้ มีต้นเล็กๆ ผุดห่างจากต้นเดิมเกือบเมตร…ที่บ้านปลูกหลายต้นแล้วถึงรู้ว่าต้นนี้ชอบน้ำและแดดรำไร ..แต่เพิ่งเห็นว่ามีต้นเล็กงอกเองข้างๆต้นตำลึงที่ค่อยๆโผล่ …อิอิ..ผลจากการโยนเศษผักลงดินที่แห้งแล้งมากๆ แบบโยนทิ้งโยนขว้าง ทดลองทำแบบคนขี้เกียจแค่ไม่กี่เดือนก็เห็นว่าดินบริเวณที่โยนเศษผักลงไม่แห้งมากและมีต้นตำลึงโผล่มาเล็กๆ ให้ดูค่ะ
[...] ตาแก่กับไม้ไผ่ผุ ของครูบาสุทธินันท์ [...]
พลังธรรมชาติมหัศจรรย์เกินคาดเสมอๆแหละอุ้ย
อ่านบันทึกนี้แล้วก็ยิ่งเห็นภาพบรรณาการจาธรรมชาตินะคะ เราไม่ต้องไปยุ่งยากอะไรกับเค้า เค้าก็หาทางที่จะเจริญงอกงามกันเองอยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้ช่วยเหลือเขาซักนิด รดน้ำ พรวนดินเสียหน่อย ขี้คร้านจะเก็บเกี่ยวเก็บกินกันไม่ทัน คนคิดไม่เป็น มองไม่เห็นความจริงข้อนี้ เลยบิดเบือนเลือนเลอะ ไปทำลายหม้อข้าวหม้อแกงของตัวเองเข้าไปอีก มองชีวิตเป็นเส้นแนวนอน ไม่มองเป็นวงจร เลยไม่เห็นห่วงโซ่แห่งความจริงนี้ ยิ่งเรื่องตระหนักในคุณค่าพอจะไปตามดู ตามรู้ ตามเรียนก็ไม่ต้องพูดถึง