เมื่อเล่าจื๊อตีแตกเศรษฐกิจพอเพียง

อ่าน: 2466

เช้านี้จะโดนสัมภาษณ์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

จึงลุกมาทำการบ้านตอนย่ำรุ่ง

เรื่องนี้คนพูดกันมาก

ลองมาฟังมุมมองของขงจื๊อกับเล่าจื๊อดีไหมครับ

ขงจื๊อไปหาเล่าจื๊อที่เมืองลั่วหยาง เพื่อขอรับคำสั่งสอน ทั้งสองสนทนาธรรมกันหลายวัน ขงจื๊อกล่าวว่า ข้าพเจ้าปรารถนาจักแสดงความคารวะต่อนักปราชญ์ในอดีต เล่าจื๊อตอบว่า สิ่งที่ท่านเรียนรู้นั้นมากกว่าครึ่งเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากบรรพชน บรรพบุรุษเหล่านั้นสิ้นชีพไปหมดแล้ว แม้กระดูกก็กลายเป็นผงธุลี เหลือเพียงถ้อยคำไม่กี่ประโยค ท่านจักยึดหมั่นถ้อยคำเหล่านั้นอย่างตายตัวมิได้ เล่าจื๊อกล่าวว่า ..

· เทชาลงในถ้วยมากไปก็ล้น

· ลับมีดให้คมมากไปก็หักง่าย

· ยิ่งกระหายชื่อเสียงยิ่งเสื่อมเสีย

· ยิ่งสะสมทรัพย์ยิ่งสูญเสีย

· รู้จักพอจะมิเสื่อมเสีย

· รู้จักหยุดจะไร้อันตราย

· ทรัพย์สินเต็มห้องยากจักรักษาไว้

· ยามเมื่อบรรลุภารกิจแล้ว จงวางมือตามวิถีแห่งฟ้า

คนเราสึกหรอสังขารลงทุกวัน นับตั้งแต่เกิดมา นาฬิกาชีวิดก็ลบออกทุกวันๆ นั่นก็หมายความว่าเราอยู่ใกล้กับความตายที่ละเล็กละน้อย โดยไม่ค่อยเอะใจกัน หลังจากเราเกิดจากครรภ์มารดา ชีวิตก็เริ่มเสื่อม เริ่มจากคลาน ตั้งไข่ในวัยทารก ก้าวเข้าสู่วัยกะเตาะ สู่วัยผู้ใหญ่ วัยชรา สรุปแล้วก็ตกอยู่ในไฟล์บังคับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครย้อนชีวิตกลับหลังหันได้สักคน การสึกหรอของตับ ไต ไส้พุง กล้ามเนื้อหรือเซลล์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้สึกเหรอลงทุกนาที แต่การตายของสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องซ่อนเร้น รู้และเห็นได้ยาก นอกจากจะใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างจริงจังเท่านั้น

ผมผ่านความล้มเหลวมามาก ทำไม่ถูกก็เยอะ งมโข่งกับความไม่รู้จนจำไม่หวาดไม่ไหว ถ้าจะเขียนอะไรในวาระสุดท้ายนี้ ก็น่าจะลำเลิกเรื่องที่เราถนัด นั่นคือเอาความไม่เอาไหนสารพัดที่ประสบมา บนฐานการดำเนินชีวิตนอกระบบ ที่เอาตัวเอาใจตนเองเป็นที่ตั้ง มีสมองก็ไม่ได้นำมาไตร่ตรอง อาจจะเป็นเพราะสติสัมปชัญญะสั้น อยู่ในมาตรฐานโง่งมงาย ไม่ดูตาม้าตาเรือ จากการศึกษาอิงระบบ หวังว่าจะลัดวงจรได้ แต่ก็ไม่ใช่ เป็นแบบยึกยัก ไม่จะแจ้งสักอย่าง ถึงยังงั้นก็มีคนอุปโหลกเรียกปราชญ์ชาวบ้าน คำ ๆ นี้ละอายใจยิ่งนัก โดยส่วนลึกแล้วไม่เคยยินดียินร้ายกับคำนี้เลย ครั้นจะคัดค้านไม่รับ ก็ไม่ทราบว่าจะไปแจ้งหรือส่งคำนี้กลับคืนไปให้ที่ใคร จึงเป็นปราชญ์กำมะลอด้วยความจำเป็น

ที่จริงแล้วผมเป็นได้แค่คนดันทุรังที่เอาแต่ใจตัว มีอยู่อย่างเดียวที่รักใครรักจริง มีความปรารถนาดีอย่างล้นเหลือ วางใจไว้ใจให้โอกาสใคร ๆ จนสุดลิ่มทิ่มประตู เมื่อองค์ประกอบแสดงลู่ทางอย่างที่เล่านี้ จึงมีความคลาดเคลื่อนในชีวิตสม่ำเสมอ มีเรื่องตกหล่นมากพอที่จะมาบรรณาการในหน้ากระดาษนี้

>> การสะสมหรือก่อสร้างวัตถุใด ๆ ไว้ในโลกนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการแต่ละคน สำหรับผมแล้ว คิดว่าการปลูกต้นไม้น่าจะเหมาะกับตัวเองมากกว่าที่จะไปสะสมสมบัติอื่น ถึงตัวไม่อยู่แล้ว ต้นไม้ป่าไม้ไม่ต้องให้ใครมาคอยดูแล กลับจะเจริญเติบโตและยังประโยชน์แก่มนุษย์โลกทั้งมวล ไม่เสื่อมลงเหมือนวัตถุก่อสร้าง

>> ผมจะทยอยลดกิจกรรมทุกอย่าง จะเหลือเวลาไว้เพียงยามเช้าตรู่ถือตะกร้าเดินไปเก็บผักมาทำกับข้าว ระหว่างนั้นจะได้อาศัยเดินไปท่ามกลางแดดอุ่น สายหน่อยเอาอาหารให้ปลา บ่าย ๆ เดินดูต้นไม้ใบหญ้าอีกรอบ ตอนเย็นเอาข้าวหว่านให้นกยูงและไก่ต๊อกที่มาร้องเพลงแลกอาหารมื้อเย็น หลังจากนั้นจะเข้าครัว อาบน้ำ กินข้าว ดูข่าว อ่านหนังสือ เขียนบันทึก แล้วนอนฝันหวานถึงที่รักที่อยู่ห่างไกลทั่วราชอาณาจักร อิ อิ

« « Prev : เรื่องจริงผ่านตัวปลูกถั่วฝักยาวในป่ายูคาลิปตัส

Next : เคยยกเวลาให้ตัวเองบ้างไหมจ๊ะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 5:53

    เคยอ่านงานนิพนธ์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านบอกว่า โลกนี้มีคนอยู่อีก ๒ กลุ่ม คือ

    • พวกมีไม่พอ
    • พวกพอไม่มี

    พวกมีไม่พอ คือ ขัดสนด้วยสิ่งต่างๆ จะต้องขยันและอดออมยิ่งขึ้น… ขณะที่ พวกมีไม่พอ คือ แม้จะกอบโกยมาได้มากมายเท่าไหร่ ก็ยังไม่รู้จักพอ ยังมุ่งจะกอบโกยให้มากยิ่งขึ้นๆ… ทั้งสองพวกนี้ ไม่ดีด้วยกันทั้งคู่…..

    เมื่อนำ ๒ กลุ่มนี้ มาเทียบกับเศรษฐกิจพอเพียง

    • พวกมีไม่พอ ใช้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ เพราะยังไม่เพียงพอ
    • พวกพอไม่มี ก็มิใช่เศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกินความเพียงพอ

    เจริญพร

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 7:05

    พ่อครูบ่ฯ สอนแบบไม่สอน
    ใครไม่มีสติปัญญาก็เง็ง

    พระคุณเจ้าก็แหลมคมยิ่งนักครับ

    เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงในระหว่างคนทำงานกับชาวบ้านอย่างผมและเพื่อนๆ
    เพื่อนคนหนึ่งพยายามสร้างเครื่องมือเอาไปวัดชาวบ้านออกมาว่า เขาอยู่ที่จุดไหนของเศรษฐกิจพอเพียง
    เป็นความพยายามที่น่าสนใจ เพราะนักวิชาการนั้น คิดอ่านจะสรุปภาพออกมาให้ได้ถึงเรื่องราวต่างๆ
    ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดถึงเครื่องมือที่เขาสร้างขึ้นมานั้นมันสามารถจะบอกครอบครัวได้ทุกครอบครัวเลยหรือ

    วิธีการเขามีดังนี้
    1. ไปประชุมชาวบ้านระดมความคิดออกมาว่าหากจะวัดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะวัดอะไรบ้าง
    2. คำตอบก็จะได้มาสี่ห้าด้านด้วยกัน เช่นด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้าน…..
    3. แล้วถามย่อยลงไปว่า หากจะให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ด้านอาหารนั้น แต่ละครอบครัวควรมีอะไรบ้าง
    4. ก็จะได้รายละเอียดออกมาเช่น ต้องปลูกข้าว 5 ไร่ขึ้นไป ต้องปลูกไม้ยืนต้น 5 อย่างๆละ 5 ต้นขึ้นไป ต้องปลูกผักสวนครัว 7 อย่างๆละ 5 ต้นขึ้นไป ต้องเลี้ยงสัตว์ใหญ่ 3 ตัวขึ้นไป ….
    5. แล้วเขาก็เอาเครื่องมือที่ระดมมาจากกลุ่ม จากผู้แทนชาวบ้านนี้ไปสอบถามสมาชิกจำนวนหนึ่ง แล้วก็เอามาสรุป

    หากไม่คิดอะไรก็พอรับได้ เพราะ สร้างกรอบความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้ แล้วระดมความคิดเห็นแบบมีส่วนร่วมเพื่อหาองค์ประกอบย่อยลงไปให้ละเอียดมากขึ้นจนสร้างให้เห็นองค์รวมว่า  นี่แหละคือบทสรุปเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละครอบครัว..

    ดูดู ก็น่าจะยอมรับได้

    แต่เมื่อเราพิจารณารายละเอียดแต่ละครอบครัวลงไปว่าเป็นเช่นไรบ้าง พบว่า
    1. แต่ละครอบครัวมีที่ขนาดไม่เท่ากัน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนไม่เท่ากัน บางครอบครัวมี 5 คน บางครอบครัวมีตายายสองคน คำถามคือจะเอาแรงงานไปทำอะไรมากมายต่อองคืประกอบที่ถูกกำหนดขึ้นไว้นั่น ดังนั้นเมื่อเอากรอบ หรือเครื่องมือนั้นไปวัดครอบครัวตายายนี้ก็หลุดความพอเพียงลงไป…
    2. แต่ละครอบครัวมีคุณภาพ และวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน หากเอาเครื่องมือนี้ไปวัดในต่างหมู่บ้านที่ต่างชนเผ่า ต่างสิ่งแวดล้อม
    3. แต่ละครอบครัวมีที่ดินไม่เท่ากัน น้อยบ้าง มากบ้าง บางคนมีไม่ถึง สองไร่ ขณะที่บางคนมีมากกว่า สิบไร่  และที่ดินนั้นก็มีลักษณะดินต่างกัน อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการผลิตที่ต่างกัน ฯลฯ ผลผลิตที่ได้แต่ละปีอาจจะไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในครอบครัวเลยก็ได้….แม้ว่าจะมากกว่า 5 ไร่
    4. บางครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ลงตัวพอสมควรแม้จะเป็นตายาย เพราะลูกหลานไปทำงานส่งเงินมาให้ประจำอย่างรับผิดชอบ โดยไม่มีองค์ประกอบต่างๆครบตามที่ตั้งไว้นั้น
    ….ฯลฯ

    ผมจึงเห็นว่าการพยายามไปวัดการยืนอยู่บนครอบครัวที่พอเพียงนั้นเป็นความพยายามที่ดี แต่การกำหนดอะไรที่เป็นภาพรวมแล้วไปวัดปัจเจกนั้น อาจจะทำให้บทสรุปไม่ตรงกับความเป็นจริงได้  แม้ว่ากระบวนการวัดอาจจะสร้างเครื่องมือมาจากชุมชนเอง สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วม แต่เครื่องมือที่ได้ก็ไม่สามารถวัดระดับความพอเพียงของทุกครัวเรือนได้….

    และเสี่ยงที่จะไปสรุปว่า ครอบครัวนี้ไม่พอเพียง ครอบครัวนั้นพอเพียง  ไปตัดสินเขาซะเลย

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 7:41

    นมัสการหลวงพี่ มาโปรดความคิดที่ดีให้พวกเรา
    ท่านบางทราบครับ  ใครอยากวัดก็วัดไป
    แต่คำตอบต้องออกจากปากชาวบ้าน ว่าวันนี้เขาพอใจในชีวิตและอนาคตแค่ไหนอย่างไร
    อิอิ

  • #4 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 8:02

    พ่อครูฯ ยังเขียนบันทึกไม่จบนี่นา
    ต้องต่อด้วย
    “ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ มายืนยิ้มแฉ่ง อ้าแขน รอแจกกอดบรรดาที่รักจากทั่วราชอาณาจักรอีกต่างหาก”
    ฮิ๊วๆ
    :P

  • #5 chakritt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:35

    krupu ครับ เอาแบบยืนยิ้มแฉ่ง อ้าแขน จอแจกกอดบรรดาที่รักจากทั่วราชอาณาจักร ทั้งวัน ดีมั๊ยครับ

  • #6 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 17:57

    ระยะทางพิสูจน์ม้า  เวลาพิสูจน์คน
    ใครพูดไว้จำไม่ได้ครับ….อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.060103893280029 sec
Sidebar: 0.084677934646606 sec