เรียนจากปฏิทิน ๒๕๕๕ : ชีวิตแบบพอเพียง
ในวาระขึ้นปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ที่จะมาถึง ในวันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน นี้ ขอนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ที่ธนาคารแห่งหนึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการทำปฏิทิน ปี ๒๕๕๕ มาบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์ของทุกท่านในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง
โดยในหน้าแรกมีคำเน้นไว้ว่า ” อยู่พอดี มีพอใช้ ใจมีสุข “ ต่อจากนั้นก็จะนำเรื่อง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันประกอบด้วย ๓ ห่วงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี และ ๒ เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ และ เงื่อนไขคุณธรรม ตามที่ทราบ ๆ กันจากสื่อต่าง ๆ แต่ขยายความในส่วนของ การมีภูมคุ้มกันที่ดี มีความพอดี ในเรื่องสำคัญ ๕ ประการ คือ
๑. พอดีด้านจิตใจ มีภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีจิตสำนึกดี เอื้ออาทร ประนีประนอม ไม่นึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน
๒. พอดีด้านสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดรากฐานที่มั่นคงและเข้มแข็งของสังคม
๓. พอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการอย่างรอบครอบ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
๔. พอดีด้านเทคโนโลยี รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับความต้องการ และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้สอดคล้องกับสังคม
๕. พอดีด้านเศรษฐกิจ ดำรงชีวิตที่พอควรของแต่ละบุคคล ไม่เป็นหนี้สินและไม่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะของตน
มีออม มีใช้ เก็บออมได้ทุกวัน เก็บกันไว้ได้ทุกวัย เพื่อความมั่นคงในอนาคต
ยิ่งให้ ยิ่งสุข เอื้อเฟื้อแบ่งปัน สร้างสุขทั้งผู้ให้ อิ่มใจทั้งผู้รับ
รู้ใช้ รู้ค่า ทรัพยากรมีจำกัด ร่วมใช้อย่างประหยัดและคุ้มประโยชน์
พึ่งพิง อิงอาศัย เปิดใจรับความแตกต่าง ลดช่องว่างอย่างเข้าใจ
พออยู่ พอตัว ไม่มากไม่น้อย วางแผนจัดสรรความพอดีให้ลงตัว
ไม้ประดับ มากประโยชน์ ปลูกความคิดใหม่ ได้ประโยชน์ลดรายจ่าย
พอสุข ตามฐานะ สุขตามที่มี พอดีตามที่ได้ มากความหมายเกินราคา
ใช้ต่อ ก่อค่า เพิ่มคุณค่าให้ของเหลือทิ้ง หลากหลายสิ่งก่อประโยชน์
พอใจ ไม่เกินตัว รักในสิ่งที่มี พอดีในสิ่งที่เป็น
ฉลาดคิด ประดิษฐ์ใช้ นวตกรรมสร้างได้ จากภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ด้วยตนเอง
รู้คิด ผลิตใช้ สร้างพลังงานด้วยพลังคน ลดการใช้พลังงานโลก
ผ่อนหนัก ผ่อนเบา มุงานหนัก ก็ต้องพักเด็มที่ สร้างชีวิตสมดุล
“ชีวิตแบบพอเพียง”
เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัด และลดค่าใช้จ่าย เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกันร่วมดำเนินงาน มีการสร้างเครือข่าย และขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า สามารถจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ
๑. พอเพียง ระดับบุคคลและครอบครัว คือ ครอบครัวพึ่งตนเองได้ ดำเนินชีวิตด้วยการประหยัด ลดค่าใช้จ่าย มีความสุขทั้งทางกายและใจ
๒. พอเพียง ระดับกลุ่มหรือองค์กร รวมพลังในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อดำเนินงานด้านต่าง ๆ
๓. พอเพียง ระดับเครือข่าย มีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก สร้างเครือข่าย ขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้าน ให้สมประโยชน์กันทุกฝ่าย
« « Prev : บ้านชานเมือง (35) ความรักและการพัฒนา
Next : สวัสดีปีใหม่ไทย ๒๕๕๕ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เรียนจากปฏิทิน ๒๕๕๕ : ชีวิตแบบพอเพียง"