อินเทอร์เน็ตสำหรับ สว.
กิจกรรมชมรม สว.๙ ศูนย์อนามัยที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ กันยายน ที่ผ่านมา เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้สูงวัย โดยการนำเสนอของครอบครัวหมี (แพนด้ากับอาม่าหลินฮุ่ย) กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมครั้งที่ ๗ ของปีและเป็นครั้งสุดท้ายของชมรมในปีงบประมาณพอดี ตามแผนฯเราจะใช้ห้องประชุมของศูนย์อนามัยที่ ๕ ในการทำกิจกรรม เพราะต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อให้สมาชิกชมรม สว.๙ ที่สนใจได้ลงมือปฏิบัติกันจริง ๆ แต่พอถึงวันจริง ๆ ทางศูนย์ฯ มีความจำเป็น(กว่า) ในการใช้ห้องประชุมเพื่อต้อนรับแขกผู้มาดูงานของศูนย์ฯ ชาวชมรมฯ จึงใช้ห้องประชุมเรือนลำดวนแทน ซึ่งเป็นห้องที่พวกเราใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว แพนด้ากับอาม่าหลินฮุ่ยก็เลยต้องแก้ปัญหาโดยเตรียมดาวโหลดสิ่งที่จำเป็นในการนำเสนอเพื่อการ ลปรร. ไว้ในโน๊ตบุ๊คของตนเองก่อน และนำเสนอบางส่วนผ่านอินเทอร์เน็ตจริงๆ เท่านั้นโดยอาศัยแอร์การ์ด ก็เป็นเรื่องปกติในการแก้ปัญหาครับ
เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในการเรียนการสอนเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ต อย่าว่าแต่ในระดับมัธยม ที่สอนกันตามโรงเรียนต่าง ๆ เลย แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน คิดถึงการแจกแทบเล็ตให้เด็กชั้น ป. ๑ แล้วไม่อยากจะคิดครับว่าจะใช้ทำอะไรจริง ๆ ได้บ้าง
ก่อนเริ่มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แพนด้าก็สอบถาม ชาว สว. ที่มากันในวันนั้นก่อนว่ามีใครเคยใช้อินเทอร์เน็ตมาแล้วบ้าง มียกมืออยู่ ๑ ท่านครับในจำนวนยี่สิบกว่าท่านที่มา ดังนั้นการนำเสนอเลยเปลี่ยนจุดเน้นมาที่การกระตุ้นให้ สมาชิก สว. ไม่กลัวที่จะลองใช้อินเทอร์เน็ตและเน้นประเด็นที่ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตสมัยนี้ง่ายมาก ๆ ไม่ต่างจากการใช้โทรศัพย์มือถือ การเปิดดูทีวี ดูหนังฟังเพลงจากแผ่นซีดีหรือดีวีดี เน้นให้เห็นประโยชน์มากมายของการใช้อินเทอร์เน็ตแก่ สว. เป็นการเล่นและเรียนรู้ไปอย่างมีความสุข สนุก และสร้างสรรค์ ตามสไตล์ Play+Learn = Plearn เพลิน พัฒนา เป็นการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า สว. สสส. (OPANDA)
หลังจากนั้น อาม่าหลินฮุ่ย ก็นำเสนอตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการดูหนังฟังเพลงเก่า ๆ ที่หาดูหรือฟังได้ยากแล้วในปัจจุบัน ก็ยังสมารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต นำเสนอการทำภาพประกอบเพลงอย่าง รักยุคไฮเทคของสวีทนุช ไปไว้บน YouTube การเขียนบล็อกในลานปัญญา (Lanpanya) และในโกทูโน (Gotoknow) รวมทั้งการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายต่าง ๆ บน FaceBook สังคมออนไลน์ที่สุดฮิตอยู่ในขณะนี้อีกด้วย ก็ได้แต่หวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ ชาว สว. หันมาสนใจเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นครับ
ในช่วงท้ายของการพบปะกันในวันนั้น ก็มีการพูดคุยกันถึงกิจกรรมในอนาคตของชมรมฯ และ ร่างระเบียบของชมรมฯ ที่รองประธานชมรม (อ.กำจัด) ได้ช่วยยกร่างมา แต่ก็ยังไม่มีเวลาพิจารณากันมากนัก เพราะบังเอิญมีแขกของศูนย์อนามัยที่ ๕ ซึ่งทราบว่าเป็น คณาจารย์และนักศึกษาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเยี่ยมชมและซักตามเกี่ยวกับชมรมฯ กลุ่มแรกมากัน ๗-๘ คน แต่ตามมาอีกมากจนล้นห้องครับ (ในรูป) แขกต่าง ๆ ที่มาเยี่ยมชมรม สว.๙ ของเราส่วนใหญ่จะต้องยืนพูดคุยกับเราครับ เนื่องจากห้องประชุมเรือนลำดวนจะมีที่นั่งได้ประมาณ ๒๐-๒๕ คนเท่านั้น เฉพาะพวกเราก็เกือบเต็มแล้ว…..ขออภัยในความไม่สะดวกนะครับ…
« « Prev : อาม่าไซเง็ก (๙) พิธีถวายภัตตาหารเพล
Next : การจัดการความรู้สู่วิธีปฏิบัติที่ดี » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อินเทอร์เน็ตสำหรับ สว."