อาม่าไซเง็ก (๙) พิธีถวายภัตตาหารเพล
การทำบุญในงานพิธีศพนอกเหนือจากการสวดพระอภิธรรมในตอนค่ำของทุกวันแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ พิธีถวายภัตตาหารเพล หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เลี้ยงพระเพล แด่พระและสามเณร ทุกวันเช่นเดียวกัน สำหรับที่วัดกลางปักธงชัย นิยมเลี้ยงเพลพระและสามเณรทั้งหมดของวัดที่อยู่ในช่วงวันนั้น ดังนั้นในแต่ละวันจึงมีจำนวนไม่เท่ากัน ในกรณีของงานศพ อาม่าไซเง็ก แซ่ฉั่ว ในช่วงสามวันแรกจะเลี้ยงเพลพระและเณรประมาณวันละ ๑๖-๒๐ รูป เนื่องจากมีศพอยู่ที่วัดกลางทั้ง ๒ ศาลา แต่ช่วงวันที่ สี่เป็นต้นไป จำนวนจะเพิ่มเป็น ๓๒-๓๖ รูป
จากการปฏิบัติของ มัคนายก หรือ มัคทายก ของวัดที่เป็นผู้นำการปฏิบัติพบว่า มีมัคทายกของวัดจำนวน ๒ คน ที่มานำการปฏิบัติในแต่ละวันที่ไม่เหมือนกัน เจ้าภาพอย่างผมที่ไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมปฏิบัติจึงเกิดความสับสนพอสมควร
คนแรกเป็นมัคทายก ที่อายุมากแล้ว คือเป็นคนแก่ มีผมขาวหมดหัวแล้ว นำการปฏิบัติที่ค่อนข้างสั้นและรวบลัด คือเมื่อพระเณรมาถึงศาลา ขึ้นนั่งบนที่นั่งที่จัดไว้ โดยให้นั่งล้อมวงสำรับอาหารที่ตั้งไว้เลย และให้เจ้าภาพประเคนภัตตาหาร เพื่อเริ่มต้นฉันเพลเลย
คนที่สองเป็นมัคทายก ที่ดูอายุน้อยกว่า นำการปฏิบัติที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่า ในความรู้สึกของผม คือ เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์นั่งยังอาสนะที่จัดไว้ และประเคนเครื่องดื่มรับรอง เมื่อได้เวลาแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา มัคทายกนำอาราธนาศีลและรับศีล ฟังพระสงฆ์สวด จบแล้วจึง ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และสามเณร สุดท้ายพิธี เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม ต่อนั้น พระสงฆ์ อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยถา… ให้เริ่มกรวดน้ำให้เสร็จก่อนจบบท ยถา… พอพระว่าบท สพฺพีติโย… พร้อมกัน ถึงประนมมือรับพรตลอดไปจนจบ แล้วสาธุ ก่อนส่งพระกลับ
ถ้าบังเอิญมีท่านที่เกี่ยวข้องกับพิธีสวดอภิธรรมศพและพิธีเลี้ยงเพลพระ ที่วัดกลางมาพบเข้า ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะให้ดำเนินการพิจารณาว่า สามารถจะทำอย่างไรให้ มัคทายกทุกคนของวัด ปฏิบัติหรือทำพิธี ให้เหมือนกันได้หรือไม่ ? เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
« « Prev : อาม่าไซเง็ก (๘) พิธีกงเต็ก
Next : อินเทอร์เน็ตสำหรับ สว. » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อาม่าไซเง็ก (๙) พิธีถวายภัตตาหารเพล"