อาม่าเล่าเรื่อง (๑๖) อากงของเรา
ในโอกาสใกล้วันพ่อ ( ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓) เลยขอนำเรื่องที่เกี่ยวกับคุณพ่อ (อากง) ที่อาม่าเล่าให้ฟังเพิ่มเติมครับ
อากงเป็นลูกคนโตของครอบครัว มีน้องชายนึ่งคน (อาเจ็ก) และน้อสาวหนึ่งคน (อาโก) และเนื่องจากเล่ากง (พ่อของอากง) เสียชีวิตตั้งแต่อากงมีอายุเพียง๑๖ ปี อากงในฐานะลูกชายคนโตจึงต้องรับภาระในการช่วยเหลือเล่าม่า (คุณแม่) ในการทำมาหาเลี้ยงครอบครัว ตั้งแต่อายุยังไม่มาก แต่ก็ยังโชคดีที่เจ้าของโรงงานใหญ่ในสมัยนั้น (ร้านตงอาว) ที่มีโรงงานต้มกลั่นสุรา ที่อาม่าเรียกว่า “โรงต้ม” และมีร้านจำหน่ายสุรา (เหล้าขาว) หลายสาขา เป็นคนที่มาจากเมืองจีนที่เป็นบ้านเดียวกันกับเล่าม่า จึงรับอากงเข้าทำงานที่ร้านจำหน่ายสุรา แม้ว่าอากงจะไม่ได้เรียนหนังสือสูง แต่ด้วยความขยันเรียนรู้ด้วยตนเองจึงมีความรู้ความสามารถในการอ่านและเขียนเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีความสามารถในการใช้ลูกคิด มีความละเอียดรอบครอบ จึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ด้านทำบัญชีของร้าน
อาม่าบอกว่า อากงรักน้องทั้งสองคนมาก พยายามให้น้องทั้งสองได้เรียนหนังสือสูง ๆ โดยเฉพาะอาเจ็กซึ่งเป็นน้องชาย ถึงกับลงทุนส่งให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เรื่องของความรักและช่วยเหลือน้องของอากงนี้มีมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าน้องทั้งสองจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม
หลังจากอาเจ็กเรียนจบมาจากกรุงเทพฯแล้ว อากงก็ฝากให้เข้าทำงานกับร้านจำหน่ายสุราเช่นเดียวกันกับตนเอง แต่เมื่ออาเจ็กมีครอบครัวแล้วก็ออกมาทำมาหากินเองโดยการเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวและกาแฟในเมืองโคราชนั้นเอง จนกระทั่งช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่สองที่ชาวจีนต้องย้ายออกจากเมืองโคราช ในขณะที่อากงและครอบครัวตัดสินใจย้ายมาอยู่ อำเภอปักธงชัย อาเจ็กที่เคยไปเรียนที่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจย้ายครอบครัวไปทำมาหาเลี้ยงชีพในกรุงเทพฯ แต่ต่อมามีปัญหาก็เลยย้ายไปทำมาหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ที่จังหวัดอุดร เพราะมีญาติของอาซิ้ม (ภรรยาอาเจ็ก) อยู่ที่นั่นโดยเริ่มต้นด้วยการเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวและกาแฟเช่นเดิม บุตรคนโตของอาเจ็กนั้น ช่วงแรก อากงก็ให้มาเรียนหนังสือและช่วยงานที่ร้านที่ปักธงชัย ต่อมาก็กลับไปอยู่ที่อุดรและเมื่อเติบโตมีครอบครัว ก็สามารถทำมาหาเลี้ยงครอบครัวจนเจริญรุ่งเรือง ด้วยการเปิดร้านจำหน่ายเครื่องครัวต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกถ้วยชามและจานสารพัดแบบ ที่บริเวณที่เขาเรียกว่าห้าแยกอุดร
สำหรับอาโกที่เป็นน้องสาวของอากง เมื่อมีครอบครัวแล้ว อาเตี๋ย (สามีอาโก) เป็นญาติกับร้านใหญ่แห่งหนึ่งของโคราช จึงทำงานอยู่กับร้านของญาติจนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ตัดสินใจย้ายครอบครัวไปทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดร้านขายของอยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ แต่ในระยะต่อมากิจการไม่ดี มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ในที่สุดอากงจึงชักชวนให้อาโกย้ายมาอยู่ที่ปักธงชัย โดยอากงไปจองเช่าชื้อห้องแถวจำนวน ๑ ห้องที่กำลังก่อสร้างบริเวณข้างตลาดสดปักธงชัยให้ และช่วยออกเงินให้ก่อน เพื่อให้อาโกและครอบครัวย้ายมา เมื่ออาโกและครอบครัวมาเปิดร้านขายของที่บริเวณข้างตลาดปักธงชัย ปรากฏว่ากิจการเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนสามารถขยายร้านจาก ๑ ห้องเป็น ๒ ห้องในเวลาไม่กี่ปี ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ มีอาชีพ มีครอบครัวที่มีความสุขความเจริญ และในเวลาต่อมาก็ได้ชักชวนให้ลูกสาวคนโต (ที่เป็นบุตรบุญธรรมของอาม่า) ที่มีครอบครัวแล้วที่ยังอยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ย้ายมาอยู่ที่ปักธงชัยด้วย โดยตั่วเฮีย (พี่ใหญ่) ของพวกเราเป็นผู้ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนสามารถมาสร้างครอบครัว มีบ้านเป็นของตนเองและมีลูกหลาน ที่ได้เรียนหนังสือและมีอาชีพกันทุกคนอย่างมีความสุข ดังนั้นครอบครัวของเราจึงมีญาติ ๆ ค่อนข้างมาก ที่อยู่ที่อำเภอปักธงชัยในปัจจุบัน
เรื่องของความรักและการช่วยเหลือน้อง ๆ และญาติ ๆ ของอากงนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงซึบซับจากการปฏิบัติของอากง และถือเป็นต้นแบบปฏิบัติกันต่อมาโดยไม่ต้องบอกกล่าวกันด้วยวาจา
« « Prev : ภาพน้ำท่วมตลาดปักธงชัย
Next : อาม่าเล่าเรื่อง (๑๗) เกาลูนฮ่องกง » »
2 ความคิดเห็น
ชอบเรื่องเล่าจากอดีตแบบนี้จังเลยค่ะ ทั้งพี่ฑูร พี่แพนด้า พี่หลินทำให้ได้คิดว่าถ้ามีช่องทางจะขายไอเดียให้ครูชวนเด็กๆทำต้นไม้แห่งความรักของครอบครัวกันดู
โดยเริ่มจากครอบครัวตัวเอง กระจายไปตามสายของพ่อ แม่ ญาติๆ เพื่อดูว่ามีญาติฝ่ายไหนคนไหนที่เรารักใคร่ สนิทสนมมาตั้งแต่เด็กๆ และตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ครั้งล่าสุดที่ติดต่อกันคือเมื่อไร ฯลฯ แล้วเอามาเล่าสู่กันฟังในห้องเรียนน่าจะดีค่ะ ^ ^