วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๗) อ่างซับประดู่
อ่าน: 2502ในการเข้าร่วมทำประชาคมชุมชนบ้านมอจะบก ต. มิตรภาพ อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา ในครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์แผนพัฒนาชุมชนพบว่า ชุมชนมุ่งในประเด็นการใช้ประโยชน์จาก อ่างเก็บน้ำซับประดู่ เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้จ่ายเป็นหลัก โดยมีทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่มานานแล้วและคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่เมื่อไม่นานมานี้ ต่างก็คิดจะใช้ประโยชน์จากอ่างซับประดูกันอย่างเต็มที่ โดยไม่คิดที่จะร่วมมือช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาให้อ่างซับประดู่มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
เนื่องจากรอบอ่างซับประดู่ประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน จึงต่างก็กล่าวโทษกันไปโทษกันมาว่าทำลายสิ่งแวดล้อมรอบอ่างและคุณภาพน้ำในอ่าง จนเป็นเหตุให้ปลาในอ่างไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างเมื่อก่อนได้ ปลาเผา ซึ่งเป็นเมนูหลักที่เชิดหน้าชูตาของร้านอาหารและรีสอร์ทรอบอ่างซับประดู่ในปัจจุบัน จึงเป็น ปลาเผาจากปลาเลี้ยงของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปของประเทศไทย แทนปลาจากอ่างซับประดู่เหมือนเมื่อสมัยก่อน
ในการทำประชาคมในครั้งที่ ๒ นี้ มีผู้แทนจากภาคนักธุรกิจร้านอาหารและรีสอร์ทเข้ามาร่วมด้วย โดยได้แจ้งว่าตอนนี้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรมและมีการพบปะพูดคุยกันเป็นประจำในลักษณะของสภากาแฟ เพื่อพูดคุยกันในการที่จะช่วยกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวรอบ ๆ อ่างซับประดู่ให้เป็นที่สนใจและให้ผู้มาเที่ยวอยู่พักกันนานขึ้น
สถานะการณ์ ชุมชนรอบอ่างซับประดู่ในความเห็นของผม (ความเห็นส่วนตัว) จะมีลักษณะคล้ายที่ในหลาย ๆ ตำบล ในอำเภอวังน้ำเขียว ที่คนในชุมชนจะแบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน คือกลุ่มที่อยู่มานานที่ทำการเกษตร กับกลุ่มที่เข้ามาใหม่ที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีฐานะดีแล้ว เข้ามาลงทุนเพื่อสร้างร้านอาหารและที่พักรีสอร์ท ดังนั้นมุมมองการพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนจึงมักจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน การที่จะให้มีการวางแผนพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จึงคงต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน เรื่องนี้คงต้องพิจารณากันในเชิงลึกว่าจะสามารถร่วมพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ล้มเหลวได้ง่ายเนื่องจาก การเห็นไม่ตรงกันของแต่ละกลุ่ม แม้ดูจะยากแต่จากการร่วมทำประชาคมมา ๒ ครั้ง ก็เชื่อได้ว่ามีทางที่จะพัฒนากันไปได้ เนื่องจากมีแกนนำชุมชนที่มีความรู้ความสามารถอย่าง หลวงตาแชร์ และการที่ท่านพัฒนาการอำเภอสีคิ้ว ให้ความใส่ใจ ในการมาร่วมด้วยทั้งสองครั้งตั้งแต่ต้นจนจบ ก็เป็นสิ่งที่เชื่อได้ว่าท่านสนใจในงานนี้อย่างจริงจัง เพราะในหลายที่ท่านก็จะมาช่วงเปิดแล้วรีบไปธุระที่อื่นต่อ เพราะบอกว่ามีงานมาก แต่เป็นที่สังเกตว่าไม่มีตัวแทนของฝ่ายปกครองท้องถิ่นอย่าง อบต. มาร่วมเลยในงานนี้ (หรือว่าผมเข้าใจผิด ก็ต้องขออภัยด้วย)
« « Prev : วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๖) บ้านมอจะบก
Next : วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๘) บ้านโคกพรม » »
2 ความคิดเห็น
สำหรับการทำร้านอาหารรอบอ่างซับประดู ก็คงต้องใช้พืชผักผลไม้เช่นกัน หากชุมชนรอบอ่างหรือบริเวณใกล้เคียง หากสามารถพัฒนา ดิน น้ำ ให้ปลอดสารเคมี และเป้นแหล่งการปลูกพืชผักผลไม้ และเลี้ยงปลา ปลอดสารพิษ ทำเกษตรประณีต เกษตรอินทรีย์ เป็นของดี มีคุณภาพ จะให้ช่วยส่งเสริมให้ร้านอาหารมีคุณภาพ น่าจะมีความเป็นไปได้ ในการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันได้