ถอดบทเรียน : เจ้าเป็นไผ
กิจกรรมในท้ายวันแรกของงานอบรมการจัดการความรู้ เพื่อสร้างคุณอำนวย (Facilitator) และคุณลิขิต (Note Taker) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รุ่นที่ ๑/๒๕๕๓ เป็นแนะนำให้รู้จักตัวตนของเจ้าของ โดยให้แต่ละคน วาดรูปสะท้อนตัวตนของตนเองในปัจจุบัน ลงในกระดาษ แล้วจับคู่เล่าให้คู่ของตนฟัง สำหรับชาวเฮฮาศาสตร์มักนิยมเรียกกันว่า บอกซิว่า “เจ้าเป็นไผ”
โดยมีข้อกำหนดคือ
๑. ให้จับคู่ระหว่างหญิงกับชาย
๒. ให้ผู้ที่อายุน้อยกว่าเล่าให้พี่ฟังก่อน (น้องเล่าพี่ฟัง) โดยห้ามพี่พูด ให้ฟังอย่างเดียว ห้ามถามหรือพูดเสริมใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ฟังอย่างตั้งใจอย่างเดียว (อนุญาติให้พี่แสดงการรับรู้หรือรับทราบเรื่องราวที่ได้รับฟังจากน้องด้วยภาษากายได้)
๓. เมื่อน้องเล่าจบ ให้พี่ทวนสิ่งที่ได้รับรู้รับฟังจากน้องให้น้องฟัง โดยมีกติกาเช่นเดียวกันว่า ระหว่างที่น้องฟังพี่เล่า ให้ฟังอย่างเดียว ห้ามพูดเสริมหรือแย้งใด ๆ จนกว่าพี่จะเล่าจบก่อน แล้วน้องค่อยเสริมหรือเพิ่มเติมว่าขาดเกินอย่างไร
๔. หลังจากนั้นก็ทำ สลับกัน คือ พี่เล่าเรื่องของพี่ให้น้องฟัง แล้วน้องเล่าเรื่องของพี่ที่ได้รับฟังกลับให้พี่ฟังจนจบก่อน ก่อนที่พี่จะแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นต่าง ๆ ที่ขาดหรือไม่ถูกต้อง
กิจกรรมนี้ หลายท่านจะเรียกว่าการฝึก สุนทรียสนทนา หรือ Dialogue ซึ่งความจริงหัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้ไม่ได้อยู่การฝึกพูดหรือสนทนา แต่อยู่ที่การ ฝึกฟังอย่างตั้งใจ หรือ ฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) มากกว่า และ การที่เราเล่าเรื่องตัวตนของเราให้พี่หรือน้องฟัง ก็จะเป็นการเปิดตัวตน เปิดใจให้ทั้งสองคนได้รู้จักกันมากขึ้น หลาย ๆ ครั้งพบว่าสองคนมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกัน ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่การไว้เนื้อเชื่อใจกัน และเปิดใจคุยกันได้ลึกซึ้งขึ้นต่อไป
การให้จับคู่คุยกันอย่างไร กระบวนกร (Facilitator) หรือ คุณอำนวย จะต้องพิจารณาความเหมาะสม แต่ประเด็นหลักก็คือ ต้องการให้ได้รู้จักหรือได้เพื่อนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ในกรณีนี้ที่ให้จับคู่ชายหญิงนั้น กระบวนกรจะต้องสังเกตุว่า ผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วยเพศหญิงกับเพศชายเท่า ๆ กัน กรณีที่มีเพศหนึ่งมากกว่าอีกเพศหนึ่งมาก อาจจะกำหนดให้จับคู่คนที่ทำงานอยู่คนละหน่วยงาน หรือกรณีที่มีการจัดที่นั่งเป็นแถว และขยับที่นั่งไม่ได้หรือลำบาก ก็อาจจะให้แถวเลขคี่หันหลังกลับไปคุยกับแถวเลขคู่ก็ได้ โดยปกติจะไม่ให้จับคู่คนที่นั่งติดกัน เพราะมักเป็นเพื่อนกันหรือมาจากหน่วยงานเดียวกัน ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว อันนี้คนที่ทำหน้าที่กระบวนกร หรือ Facilitator จะต้องเป็นคนช่างสังเกตุ เพื่อให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ขยายวงออกไปเรื่อย ๆ
« « Prev : ถอดบทเรียน : เรียนรู้อย่างไร ?
Next : ถอดบทเรียน : การเรียนรู้ผ่านเกม » »
1 ความคิดเห็น
การฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง อาจเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ฝึกเนื่องจากแต่ละคนมีอะไรในตัวมากมาย จึงต้องหาวิธีการฝึกให้รู้จัก ตั้งสติเป็นด้วยการ ใส่เบรคให้กับความคิดของตัวเอง
ด้วย 5 ไม่
-ไม่ต้าน
-ไม่โทษ
-ไม่ตัดสิน
-ไม่ยึดติด
-ไม่แบ่งแยก
การอดทนฟังผู้อื่นเป็นนั้น เราจะได้ทั้งสติ และปัญญาด้วยค่ะ