ถังแตก

4033 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 15 ธันวาคม 2009 เวลา 20:07 ในหมวดหมู่ ข้อคิด/ปรัชญา #
อ่าน: 14649

ชายจีนคนหนึ่งแบกถังน้ำสองใบไว้บนบ่าเพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร

 ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก

 ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิ และสามารถบรรจุน้ำกลับมาได้เต็มถัง

 แต่ด้วยระยะทางอันยาวไกล จากลำธารกลับสู่บ้าน

 จึงทำให้น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว

 Photobucket

  

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม  ที่คนตักน้ำสามารถตักน้ำกลับมาบ้านได้หนึ่งถังครึ่ง

 ซึ่งแน่นอนว่าถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจ ในผลงานเป็นอย่างยิ่ง

 ในขณะเดียวกันถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึกอับอายต่อความบกพร่องของตัวเอง

 มันรู้สึกโศกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียวของจุดประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา

  

Photobucket

 

 หลังจากเวลา 2 ปี ที่ถังน้ำที่มีรอยแตกมองว่าเป็นความล้มเหลวอันขมขื่น

 วันหนึ่งที่ข้างลำธาร มันได้พูดกับคนตักน้ำว่า

 ’ข้ารู้สึกอับอายตัวเองเป็นเพราะรอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้า

 ทำให้น้ำที่อยู่ข้างในไหลออกมาตลอดเส้นทางที่กลับไปยังบ้านของท่าน’

 Photobucket

  

คนตักน้ำตอบว่า ‘เจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้า

 แต่กลับไม่มีดอกไม้อยู่เลยในอีกด้านหนึ่ง

  

Photobucket

  

เพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่ ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงข้างทางเดินด้านของเจ้า

 และทุกวันที่เราเดินกลับ … เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น

 เป็นเวลา 2 ปี ที่ข้าสามารถเก็บดอกไม้สวย ๆ เหล่านั้นกลับมาแต่งโต๊ะกินข้าว

 ถ้าหากปราศจากเจ้าที่เป็นเจ้าแบบนี้แล้ว … เราก็คงไม่อาจได้รับความสวยงามแบบนี้ได้’

 Photobucket

  

คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

แต่รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เราแต่ละคนมีนั้น

 อาจช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันของเราน่าสนใจ และกลายเป็นบำเหน็จรางวัลของชีวิตได้

 สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ยอมรับคนแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น

 และมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้นเอง

  

Photobucket

  

มองโลกหลายๆ ด้าน เพราะคนเราไม่ได้มีแต่ข้อเสียเท่านั้น

 ———————————————————————————————

เพื่อนรักส่งมาให้ถังอ่าน

 

 

 


ที่มาของเลขไทย :น่าภูมิใจ ในภูมิปัญญา

6 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 14 ธันวาคม 2009 เวลา 20:52 ในหมวดหมู่ ทั่วไป #
อ่าน: 5373

เป็น Forward mail ค่ะ   เห็นว่าแปลกดี  ก็เลยเก็บมาแบ่งปัน

เรื่องเลขไทยของเราครับ
นานมากมาแล้วเมื่อราว 20 ปีก่อน ผมเคยดูรายการ “ท้าพิสูจน์” ของคุณไตรภพ  
มีลุงคนหนึ่งในรายการ บอกว่า เลขไทย อาจมีพื้นฐานมาจากมือเรา นี่เอง  
ผมดูอย่างตั้งใจ และยังจำได้มาจนปัจจุบันครับ  (ตอนนี้ผมอายุ 33 แล้ว)  
ก็พอมีเวลานิดหน่อย จึงถ่ายรูปด้วย โทรศัพท์  
และเขียนทับในโปรแกรมแต่งภาพ  
แล้วนำมาแบ่งปันกันดู 
ลองดูกันครับว่า มันจะจริงเหมือนที่ลุงเขาว่าไว้ไหม  
คือ มือซ้าย มีเลข ๓, ๔, ๕, ๗, ๙  
มือขวามี ๐, ๑, ๒, ๖, ๘ 

 


ปีใหม่จะไปเข้าถ้ำ

7 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 13 ธันวาคม 2009 เวลา 20:01 ในหมวดหมู่ ธรรมะ #
อ่าน: 1615

          ปีใหม่ปีหน้า 2553  ที่ใกล้จะถึงนี้ ดิฉันมีโปรแกรมเด็ดที่รอคอยมานาน….หลายปีแล้ว

          ดิฉันจะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานค่ะ  สัก 10 วัน

          ที่พิษณุโลกนี่เอง…..ไม่ไกลบ้าน  และขออนุญาตคนทางบ้านเรียบร้อยแล้ว

          ที่นี่จัดโปรแกรมถูกอัธยาศัยดิฉันมาก…..นั่นก็คือ….เฮี๊ยบสุด…สุด…  ดังนี้

ศีล 
ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ได้แก่
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มน้ำเมา
     สำหรับผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้ว จะต้องถือศีล 8 ซึ่งมีเพิ่มเติม คือ
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
7. เว้นจากการดูละครฟ้อนรำ และการใช้เครื่องหอมตกแต่งร่างกาย
8. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่หนาและอ่อนนุ่ม

ผู้ที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว จะรักษาศีลข้อ 6 ได้ด้วยการดื่มแต่เพียงน้ำปานะหลังจากการพักในเวลา 5 โมงเย็น  ในขณะที่ผู้ปฏิบัติใหม่ อาจจะดื่มนม น้ำชา หรือรับประทานผลไม้ได้  อาจารย์ผู้สอนอาจจะยอมให้ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้วบางคนยกเว้นการรักษาศีลข้อนี้ได้ ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ  ส่วนศีลข้อ 7 และ 8 นั้น ทุกคนจะต้องรักษา

การยอมรับอาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ

ในระหว่างการฝึก ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องรับที่จะปฏิบัติตามวิธีการ และคำแนะนำของอาจารย์ผู้สอนทุกประการนั่นคือ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติที่อาจารย์สอน โดยไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนใดๆ ทั้งสิ้น  การยอมรับด้วยความเชื่อถือเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถปฏิบัติได้อย่างขยันขันแข็งโดยตลอด  ซึ่งการยอมรับนี้ก็ควรจะมีการแยกแยะและทำความเข้าใจด้วย  มิใช่เป็นไปเพราะถูกบังคับหรือหลงงมงายเหมือนคนตาบอด  ความเชื่อมั่นที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนา

พิธีกรรมและวัตรทางศาสนาตลอดจนวิธีการปฏิบัติอื่นๆ

ในระหว่างการฝึก สิ่งที่สำคัญมากคือ จะต้องงดพิธีกรรมและวัตรทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด เช่น การจุดตะเกียงนับลูกประคำ ท่องมนต์ อดอาหาร สวดมนต์ เป็นต้น  การปฏิบัติกรรมฐานแบบอื่นๆ หรือการปฏิบัติเพื่อการบำบัดรักษาอื่นๆ จะต้องเว้นด้วย เช่น การเดินจงกรม  การฝึกโยคะโดยใช้สมาธิ  ทั้งนี้มิใช่เป็นการคัดค้านการปฏิบัติวิธีอื่นๆ แต่เพื่อให้ได้ทดลองฝึกวิธีวิปัสสนาแบบนี้เพียงแบบเดียว  เพราะการนำวิธีปฏิบัติวิธีอื่นมาผสมปนเปกับวิธีปฏิบัตินี้ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ  หรืออาจจะทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผลเลย  แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะคอยเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม  แต่ก็ยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในอดีต  เมื่อผู้รับการฝึกนำเอาวิธีการปฏิบัตินี้ไปรวมกับพิธีกรรมอื่นๆ จนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น  ความสงสัยและความสับสนที่อาจเกิดขึ้นนั้นสามารถจะแก้ไขให้กระจ่างได้ โดยการไปพบอาจารย์ผู้สอน

การเข้าพบอาจารย์ผู้สอน

หากมีปัญหาหรือความสับสนใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนา ควรจะไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น เวลาระหว่าง 12.00 - 13.00 น.จะเป็นเวลาที่จัดไว้ให้สำหรับเข้าพบเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์ที่ที่พัก  แต่ท่านก็สามารถตั้งคำถามถามอาจารย์ได้ระหว่างเวลา 21.00 - 21.30 น.ในห้องปฏิบัติรวม

การพบกับอาจารย์ผู้สอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขอคำอธิบายสำหรับปัญหาทั่วๆ ไปเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ  จึงไม่ควรใช้โอกาสนี้ให้เสียไปกับการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา หรือถกเถียงกันในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ได้  ผู้ที่เข้ารับการฝึกจึงควรมุ่งที่จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียว

การรักษาความเงียบ

ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกจนกระทั่ง 10.00 น. ของการฝึกวันที่ 10   การรักษาความเงียบนี้ รวมไปถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ  โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย  และจะต้องงดการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการออกท่าทาง การเขียนโน้ต หรือทำสัญญาณต่างๆ  แต่ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนได้หากจำเป็น  และติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ  แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้ ก็ควรมีให้น้อยที่สุด  ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจังเสมือนอยู่คนเดียว

การสัมผัสทางกาย

จะต้องไม่มีการสัมผัสทางร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ  ตลอดระยะการฝึกและระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฯ

โยคะและการออกกำลังกาย

แม้การทำโยคะหรือการออกกำลังกายจะไม่ขัดต่อการปฏิบัติ  แต่ระหว่างการเข้ารับการฝึกอบรม 10 วันนี้ ก็ขออย่าให้มีการออกกำลังกายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ท่าดัดตนบริหารร่างกายมือเปล่า หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง  ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติไม่มีสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนี้   ถ้าต้องการออกกำลังกาย ให้ทำได้เฉพาะการเดินไปมาในระหว่างชั่วโมงพักผ่อน ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น

เครื่องราง ลูกประคำ หรืออื่นๆ

สิ่งเหล่านี้ห้ามนำเข้ามาในบริเวณที่พัก  หากมีการนำเข้ามาโดยมิได้ตั้งใจ จะต้องนำไปฝากไว้กับผู้ให้บริการตลอด 10 วัน

ของมึนเมาและยา

ห้ามนำเอายา เหล้า หรือของมึนเมา รวมทั้งยากล่อมประสาท ยานอนหลับ และยาระงับประสาท  หากจะต้องรับประทานยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่ง จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าก่อนการฝึก

สูบบุหรี่ ห้ามสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาเส้นตลอดระยะเวลาการฝึก

อาหาร

เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่สามารถที่จะจัดหาอาหารพิเศษตามความต้องการของผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้  จึงต้องขอให้ผู้เข้ารับการฝึกรับประทานอาหารมังสวิรัติที่จัดเตรียมไว้ให้  หากผู้ใดที่แพทย์สั่งให้รับประทานอาหารพิเศษ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ  ก็ขอให้แจ้งให้ผู้ดำเนินงานทราบในเวลาลงทะเบียน

เสื้อผ้า

เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบง่ายและสวมสบาย  ไม่จำกัดสีหรือแบบ  แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง  เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป  ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง  และห้ามอาบแดดหรือเปลือยบางส่วนโดยเด็ดขาด  ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญมาก  ทั้งนี้เพื่อมิให้รบกวนบุคคลอื่น

ความสะอาด

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ และปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติธรรม  จึงจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำทุกวัน และรักษาเสื้อผ้าให้สะอาด  ในบางครั้งอาจไม่มีบริการซักผ้า ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องซักเสื้อผ้าเอง  แต่ก็ควรทำในช่วงเวลาพักเท่านั้น หากเป็นไปได้ ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอที่จะใช้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติ

การติดต่อภายนอก

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใช้ฝึกตลอดการฝึก จะออกไปภายนอกได้เฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง  และจะต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนก่อน  ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์ การเขียนจดหมาย และการพบปะกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียน  นอกจากในกรณีฉุกเฉิน ผู้ที่มาเยี่ยมจะต้องมาติดต่อกับฝ่ายจัดการ

ดนตรี อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ

ห้ามเล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก  ผู้เข้ารับการฝึกไม่ควรรบกวนตนเองโดยการเขียนบันทึก  การห้ามเขียนและอ่าน ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด

เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป

สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น

นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา
ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวมอย่างเด็ดขาด และไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก  เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น

ทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน

เพื่อให้การเผยแพร่ธรรมะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ การฝึกอบรมดำเนินได้ด้วยเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว  และการบริจาคก็จะรับจากผู้ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น  เหตุผลก็คือ การบริจาคควรมาจากผู้ที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของธรรมะที่มีต่อตนเอง  ซึ่งจะทำให้การบริจาคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ  หากท่านมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันประโยชน์เหล่านี้กับผู้อื่น ท่านก็อาจจะกระทำได้ด้วยการบริจาคในวันสิ้นสุดการอบรม

การรับบริจาคจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอบรมธรรมะนี้ เป็นรายได้ทางเดียวสำหรับที่จะนำมาใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรม  โดยมิได้มีความสนับสนุนในด้านการเงินอื่นใด  ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้ดำเนินงานก็ล้วนไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการจัดการฝึกนี้  โดยวิธีนี้ ธรรมะจึงเผยแพร่ออกไปได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง  ดังนั้น ไม่ว่าการบริจาคของท่านจะมากหรือน้อย ก็ขอให้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์  เจตนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้มีโอกาสพบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกับท่าน  “เพราะเหตุว่า มีผู้ที่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้กับการฝึกของข้าพเจ้ามาแล้ว ตอนนี้ขอให้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ให้กับผู้อื่นบ้าง”

สรุป

สาระของกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้  “จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก อย่ารบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากมีผู้อื่นรบกวน”  อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เข้ารับการฝึกไม่สามารถเข้าใจเหตุผลของกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้หากเป็นเช่นนี้ควรจะไปขอคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้กับอาจารย์ผู้สอน มิใช่ปล่อยให้ตนเองเกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความสงสัยมากขึ้น

ดังนั้นการปฏิบัติตามระเบียบและความพยายามที่จะปฏิบัติให้มากที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติได้ผลดี และได้รับผลตามความมุ่งหมาย  สิ่งที่จะต้องเน้นใน 10 วันนี้ก็คือ “ปฏิบัติ” ปฏิบัติให้เหมือนกับว่า เราอยู่เพียงคนเดียวในการฝึก  เพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน และความไม่สะดวกสบายที่ต้องเผชิญอยู่ทั้งหมด  ปฏิบัติด้วยจิตที่มุ่งเข้าสู่ภายในเท่านั้น

ประการสุดท้าย ผู้เข้ารับการฝึกควรระลึกไว้เสมอว่า ความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นอยู่กับบารมี (กุศลที่ได้สะสมมาแต่ปางก่อน) และปัจจัย 5 ประการคือ ความเพียร ความศรัทธา ความจริงใจ สุขภาพอนามัย และปัญญา

ตารางเวลา

04:00 น.  ระฆังปลุก
04:30 น. - 06:30 น. นั่งปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
06:30 น. - 08:00 น. อาหารเช้า
08:00 น. - 09:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
09:00 น. - 11:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวม หรือในที่พักส่วนตัวตามที่อาจารย์กำหนด
11:00 น. - 12:00 น. อาหารกลางวัน
12:00 น. - 13:00 น. พักผ่อน
13:00 น. - 14:30 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
14:30 น. - 15:30 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
15:30 น - 17:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักตามที่อาจารย์กำหนด
17:00 น. - 18:00 น. พักดื่มน้ำปานะ
18:00 น. - 19:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
19:00 น. - 20:15 น. ฟังธรรมบรรยายในห้องปฏิบัติรวม
20:15 น. - 21:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
21:00 น. - 2130 น. สอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
21:30 น.  พักผ่อน

—————————————————————————————-

โอ้…..พระเจ้า…..แค่ต้องตื่นตี 4  ก็ไม่รู้จะไหวหรือเปล่า?? 

มาคิดดัดเอาตอนเป็นไม้แก่….คงแย่แน่เรา….

ใจเต้นระทึก   รอคอยวันนั้น

—————————————————————————————-         

คำแนะนำเพิ่มเติม

1. สถานที่
  - ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา  ตั้งอยู่หลังตลาดทรัพย์ไพรวัลย์
    ลึกเข้าไปราว 3 ก.ม.  ประมาณ ก.ม.49 ของทางหลวงหมายเลข 12


2. การลงทะเบียน
   - ให้ท่านลงทะเบียนเข้ารับการอบรมในวันแรกซึ่งเป็นการเปิดการอบรม
     ระหว่างเวลา 15.00 - 17.00 น. หลังจากนั้นจะมีบริการอาหารว่าง แล้วมีการปฐมนิเทศ
-   การอบรมจะสิ้นสุดในวันสุดท้ายเวลาประมาณ 06.30 น. รถจะออกจากศูนย์ฯ
    เวลาประมาณ 08.00 น.
3.  การใช้รถส่วนตัว
    -  ผู้ปฏิบัติใหม่ควรใช้รถที่ศูนย์ฯ จัดให้เพราะนอกจากท่านจะไม่คุ้นเคยกับท้องที่แล้ว  ที่สำคัญก็
       คือต้องการจะให้ท่านได้ตัดความกังวลจากโลกภายนอกให้มากที่สุด การใช้รถส่วนตัวจึง
       เหมาะสำหรับศิษย์เก่าที่ต้องการปฏิบัติในระยะเวลาอันสั้นไม่เต็มหลักสูตรเท่านั้น
4. การนั่งปฏิบัติ
     -  ส่วนใหญ่ให้นั่งปฏิบัติกับพื้นโดยศูนย์ฯได้จัดเบาะที่นั่งไว้ให้สามารถนั่งกับพื้นได้  ผู้ที่ไม่
        สามารถนั่งกับพื้นได้ โปรดแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  เพื่อทางศูนย์ฯ จะได้จัดเตรียมเก้าอี้ไว้ให้
        หรือจะแจ้งให้ ทราบในขณะที่ลงทะเบียนก็ได้  หากท่านไม่มีโอกาสได้แจ้งล่วงหน้าไว้
5.การแต่งกาย
       - ควรใช้เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย  แต่ไม่มีสีสันฉูดฉาดจนเกินไป
         ห้าม นุ่งกางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น ผ้าถุงสั้น ทั้งหญิงและชาย ตลอดจนห้ามใส่เสื้อเอวลอย หรือ
         เสื้อผ้าที่โปร่งบางเกินไป หรือรัดรูปจนไม่สุภาพ

      - ขณะนี้ มีบริการรับจ้างซักผ้าในราคาชิ้นละ 3.50 บาท โดยไม่รีดหากท่านไม่ประสงค์จะใช้
        บริการนี้ ก็ควรนำเสื้อผ้าไปให้มากพอที่จะผลัดเปลี่ยนได้ตลอดการอบรม
6. ของใช้
      -  นอกจากของใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวันแล้ว ควรนำไฟฉาย รองเท้าแตะ หรือรองเท้าที่สวมใส่
         สบาย เสื้อกันหนาว  ตลอดจนของใช้เพื่อสุขภาพอนามัยติดตัวไปด้วย
7.  ยารักษาโรค
        - ศูนย์ฯ ได้เตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้บริการท่านแล้ว  สำหรับผู้มีโรคประจำตัวโปรด
          นำยาที่แพทย์สั่งให้ใช้ประจำติดตัวไปให้เพียงพอทั้ง 10 วันด้วย  แต่ต้องแจ้งให้
          เจ้าหน้าที่ทราบขณะที่ลงทะเบียนด้วย
8. ข้อห้าม
      - ห้ามนำอาหารติดตัวเข้ามาในศูนย์ฯ ยกเว้นกรณีที่จำเป็น เช่น แพทย์สั่ง แต่ให้ขออนุญาตจาก
        อาจารย์ผ่านทางผู้จัดการหลักสูตรเสียก่อน ที่สำคัญจะต้องไม่เป็นอาหารที่มีเนื้อสัตว์หรือไข่
        ผสม
     - ห้ามนำโทรศัพท์มือถือ วิทยุ เครื่องดนตรี กล้องถ่ายรูป เครื่องเขียน หรือหนังสืออื่นใดเข้าไป
       ในห้องพัก หากท่านนำติดตัวไปด้วย จะต้องฝากไว้กับผู้จัดการหลักสูตร เมื่อลงทะเบียน
     - โปรดอย่าไปถึงศูนย์ฯ ก่อนวันเปิดการอบรม เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
       ส่วนวันเปิดอบรม ท่านจะต้องไปให้ถึงศูนย์ฯ ไม่ช้ากว่า 17.00 น.

—————————————————————————————- 

หมายเหตุ

  ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภาแห่งนี้ อยู่ในความดูแลของสำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สอนตามแนวปฏิบัติของ “ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” (S.N. Goenka) วิปัสสนาจารย์ชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่า ซึ่งท่านจึงได้ก่อตั้งและเป็นประธานสถาบันวิปัสสนานานาชาติศูนย์แรกชื่อ “ธรรมคีรี” ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก  


มะรุม : ปลูกง่ายจัง

2284 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 13 ธันวาคม 2009 เวลา 16:15 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 22452

ก่อนกลับจาก กทม. พ่อแบ่งเมล็ดมะรุมให้ 4-5 เมล็ด  บอกว่าลองเอาไปปลูกดู  พ่อซื้อมากินเป็นยาสมุนไพร

พ่อรู้ว่าดิฉันชอบปลูกต้นไม้  ทั้งที่ดิฉันปลูกต้นไม้ไม่เก่ง

ตอนนี้มะรุม กำลังดัง

แล้วอีกอย่าง 

ต้นไม้ที่บ้านดิฉัน ทุกคนต่างแซวว่า กินไม่ได้สักอย่าง  ปลูกแต่ไม้ดอก

OK  ดิฉันก็แค่ขุดหลุมตื้นๆ  โปรยเมล็ดไว้อย่างไม่ยี่หระ  บริเวณริมรั้ว  รดน้ำอย่างไม่มีความหวังเลยว่า ต้นมะรุมจะงอกได้

เพียงแค่ 2 สัปดาห์  หลังจากนั้น คือวันนี้  ดิฉันสังเกตเห็นต้นอ่อนเล็กๆ 2 ต้นงอกออกมา

          เอ…..จะใช่มะรุมไม๊น้อ……

          อะไร….จะปลูกง่ายปานนั้น

          แล้วจะโตเร็วด้วยรึเปล่านะ…..

          ชักตื่นเต้นแล้วสิเรา…………

————————————————————————————–

ไหนๆ ก็ถ่ายรูปต้นจิ๋ว….ที่คาดว่าจะเป็นมะรุมแล้ว  แถมรูปดอกไม้ในบ้านเก็บไว้ดูด้วยดีกว่า

          

   

ช่างเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีความสุขจริงๆ    


ลุงทองปาน : ปราชญ์ชาวบ้านแห่งหนองกุลา พล.

7385 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 13 ธันวาคม 2009 เวลา 13:58 ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 67925

          งานเข้า….งานเข้า….

          เมื่อต้นธันวา มหาวิทยาลัยแจ้งผลการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย  ประจำปีงบประมาณ 2553 สำหรับผลผลิตการให้บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  มาว่า  ดิฉันได้รับอนุมัติโครงการที่เสนอขอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว (2552) ทั้ง 2 โครงการ

          โครงการด้านบริการวิชาการที่ดิฉันเสนอขอไป คือ โครงการส่งเสริมสุขภาพใจ-กาย ผู้สูงวัยท่าโพธิ์

          ส่วนโครงการทำนุฯ คือ โครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ของนิสิตด้วยจิตตปัญญาศึกษา

          เรื่องที่อยากจะเล่าก็คือ  โครงการทำนุฯ  พอเอาเข้าจริง  ดิฉันก็เริ่มกลุ้มว่า จะดำเนินอย่างไรดีน้อ?  ตอนที่เขียนของบไปนั้น  ก็เขียนกว้างๆ  ยังไม่ลงรายละเอียด  พอได้เข้าจริง….เลยต้องอาศัยสัพพัญญู “จูเจิ้ล”  “Google”  เพื่อขอวิธีเด็ดๆ

          ในที่สุด…..จูเจิ้ล ก็บันดาลได้ทุกอย่าง….และที่สุดจะดีใจ ไปยิ่งกว่าก็คือ  ดิฉันค้นพบปราชญ์ชาวบ้าน ที่พิษณุโลกนี่เอง  ไม่ต้องไปไหนให้ไกลเลย

          ลุงทองปาน  เผ่าโสภา เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ปี 2551 ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนตำบลบ้านหนองกุลา  อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จาก มน. ไป ก็ราว 35 กิโล  หาไม่ยากเลย  ดิฉันไปเยี่ยมมาแล้ว

          ที่ศูนย์เรียนรู้นี้มีหลักสูตรที่เหมาะจะพานิสิตไปสัมผัส และบ่มเพาะอัตลักษณ์ของนิสิตด้วยจิตตปัญญาศึกษาจริงๆ 

          ลุงทองปาน ไปเรียน KM มาจากไหนรึเปล่าก็ไม่ทราบได้  แต่ที่ลุงทองปานเล่าวิธีสอนแก่ผู้มาอบรมให้ดิฉันฟัง  ดิฉันว่า…..มันเป็นแบบ KM+จิตตปัญญา  โดยแท้

          ลุงทองปานบอกว่า  ถ้าจะให้ดี ต้องมาอยู่สัก 2 คืน  จะได้มี 2 เช้า ที่จะมีกิจกรรมฝึกจิตเป็นประเดิมยามเช้า  มีการพูดคุยกันแบบสุนทรียสนทนา  แต่ลุงทองปานเรียกว่า เทศน์สู่กันฟัง  มีวีดีโอดีดีให้ดู  แล้วก็มีเรื่องสอนปฏิบัติจริงหลายเรื่อง  เช่น  ปลูกพืชสมุนไพรผสมผสานเพื่อสุขภาพ  อาชีพเกษตรกรรมที่ปลอดภัยจากสารเคมีเพื่อการพึ่งพาตนเอง  การทำนาแบบใหม่ (ข้าวโยน)  เรียนรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์  สารไล่แมลงและโรคพืช  เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศน์จากแมลงชนิดต่างๆ  การเพาะเห็ดชนิดต่างๆ  การทำแชมพู  สบู่  น้ำยาเอนกประสงค์เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน  และทำไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชเก่าและการทำน้ำมันแบบสกัดเย็น  ทาบกิ่ง ตอนกิ่งไม้ผลพันธุ์ดี  การแปรรูปอาหารจากถั่วเหลืองและเห็ด  ทำขนมหัวเราะ  ข้าวเกรียบฟักทอง  ปาท่องโก๋  ไอสครีมข้างกล้องงอก  ฯลฯ 

          โห……จะเรียนหมดไหมเนี่ย  สงสัยต้องอยู่สักอาทิตย์

          ลุงทองปานดีใจ  และเต็มใจอย่างยิ่ง ที่ดิฉันจะพานิสิตมาเรียนรู้

          ดิฉันก็ดีใจเหลือเกินที่จะได้จัดโครงการนี้ให้กับนิสิตในปีการศึกษาหน้า  จะจัดให้กับนิสิตคณะสหเวชศาสตร์ทุกสาขาเลยทีเดียว  แต่คงจะได้เฉพาะขั้นปีเดียว ประมาณ เกือบ 200 คน  ตอนแรกว่าจะเริ่มบ่มกันตั้งแต่ชั้นปีที่ 1  แต่พอปรึกษากับ น้องแหม่ม นักกิจการนิสิตแล้ว  แหม่มแนะนำว่า  น่าจะเป็นนิสิตปี 2  เพราะนิสิตปี 1 กิจกรรมล้นหลาม  เนื่องจากถูกโยนกลองโดยพี่ๆ  พี่ที่ขึ้นปี 2 แล้ว ก็จะเริ่มแก่วัด  ไม่ค่อยทำกิจกรรมใดใด  ดิฉันจึงทำตามคำแนะนำของแหม่มโดยดี

          อันที่จริง….ไม่เพียงกิจกรรมข้างต้นเท่านั้น…..ดิฉันยังจะเสริมให้ด้วย กิจกรรมเอ็นเนียแกรมอีกด้วย โดยเชิญคุณวาจาสิทธิ์  ลอเสรีวานิชย์ มาเป็นวิทยากร  (ดิฉันเดาว่า คุณวาจาสิทธิ์ ยังไม่เคยเล่นกับนิสิตแน่ๆ) 

          ลองดูซิว่า  แบบลูกทุ่ง กับแบบลูกกรุง ผสมกันแล้วจะปั้นนิสิตออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร? 

          แล้วถึงตอนดำเนินโครงการจริง  ดิฉันจะกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ………

          Comming soon  ;-)


เรียนรู้ด้วยการสอน

4535 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 23:25 ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 32549

          วิธีเรียนที่ดีที่สุด คือ การสอนคนอื่น 

          ดังนั้น เพื่อเป็นการรื้อฟื้นสมรรถนะในการทำงานวิจัยของตนเอง (หลังจากที่ร้างรามานาน) ดิฉัน จึงคิดและตัดสินใจอย่างกระทันหัน  ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ที่จะจัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Routine to Research for RT  รุ่นที่ 1″   ในวันที่   3 - 4   ธันวาคม   2552 ณ  คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

          ดังนั้น ช่วงการดำเนินการ จนกระทั่งประชาสัมพันธ์ จึงกระชั้นเพียงเดือนเดียว  นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ที่เริ่มประชาสัมพันธ์  จนถึงวันที่ 30 พ.ย. เราจึงมีคนมาสมัครเพียงครึ่งหนึ่งของเป้าที่ตั้งไว้ คือ 15 คน (จาก 30 คน) เท่านั้น

 

          ผศ.ศุภวิทู   อาจารย์สาวิตรี  และอาจารย์นันทวัฒน์  รวมดิฉันอีก 1  เราทั้ง 4 เป็นวิทยากรร่วมกัน 2 วันอย่างเข้มข้น

          อ.กอล์ฟ (ผศ.ศุภวิทู)  สอนได้โดนใจผู้อบรมมากที่สุด เพราะสอนไป ให้ผู้อบรมทำไป  ในหัวข้อเรื่องการใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ Spss   ดิฉันในฐานะ TA : Teaching Assistance ก็พลอยสนุกไปด้วย  ได้ความรู้ไปด้วย  ดูเหมือนจะมีผู้เรียกร้องให้เพิ่มจำนวนวันอบรมให้มากกว่านี้

          แม้ลูกค้าจะน้อย  แต่ดิฉันก็รู้สึกประสบผลสำเร็จด้วยดี  น้องๆ อาจารย์ก็แสนดีกันทุกคน  ต่างยินดีไม่รับค่าตอบแทนใดใด  เพราะเราขาดทุนในการจัดโครงการคราวนี้ 

          ขอเพียงผู้เข้าอบรมได้ความรู้จากการอบรมไปเต็มๆ  และเรายังมอบหนังสือเรื่อง การเขียนบทความทางวิชาการของ ศ.นพ.ประเสริฐ  ทองเจริญ 1 เล่ม   รวมทั้ง Handy drive 2Gig 1 อัน  (เปลี่ยนจาก concept กระเป๋า) ให้ด้วย

          ที่สุดของที่สุดก็คือ หลายท่านบอกว่า จะกลับไปทำวิจัยเพราะได้แนวทางแล้ว……

          ดีใจจังค่ะ

 

 


เยี่ยมแม่

47 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 22:36 ในหมวดหมู่ ทั่วไป #
อ่าน: 1701

          ก่อนที่ดิฉันจะมาอยู่ที่พิษณุโลก  ดิฉันไม่เคยจาก กทม. ไปอยู่ที่ไหนอย่างเป็นประจำหรือถาวรเลย

          ชีวิตของฉัน คือ ออกจากบ้านแถวพระราม 4  นั่งรถเมล์ ไปลงท่าพระจันทร์ แล้วข้ามฝากไป  ศิริราช  ไป - กลับ  ไป- กลับ อย่างนี้  เป็นกิจวัตร

          อ้อ!  ตั้งแต่เกิด  จนแต่งงาน  มีลูก 3 คน  ดิฉันก็ไม่เคยออกจากกงสีเลย  อยู่กับพ่อ - แม่ ตลอด  (ไม่เคยโตสักที)

          มาเมื่อ ปี พ.ศ. 2543  ถ้าจำง่ายๆ ก็ ค.ศ.2000  ดิฉันตัดสินใจแบบฟ้าผ่า (สำหรับคนที่ชีวิตไม่เคยเปลี่ยนแปลง)  มาอยู่ที่พิษณุโลก  บัดเดี๋ยวนี้  พ.ศ. 2552  (ค.ศ. 2009)  ก็ผ่านมาแล้ว 9 ปีแล้ว  (ได้งัย!!   งง  จริงๆ)

          ที่แย่มากๆ ก็คือ ตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา  ดิฉันทำงานบริหารตลอด  ทำให้ไม่มีเวลากลับบ้าน เยี่ยมพ่อ - แม่ เลย  (อย่างตั้งใจเยี่ยม หรืออยู่ด้วยนานๆ) อีกนัยหนึ่ง คือ ดิฉันไม่เคยลางานเลย

          เมื่อปลายเดือน พ.ย. ได้ข่าวว่าแม่ไม่สบาย  ดิฉันตัดสินใจทันที ที่จะลางานยาว เพื่อไปเยี่ยมท่าน อยู่ดูแลท่านให้นานหน่อย 

——————————————————–

ไดอารี่สั้นๆ ช่วง 4 วัน

24/11/2552
12.20  นั่งรถเชิดชัยทัวร์  ไปกับพี่แดง ค่ารถขาไปราคาคนละ 277 บาท ไปเยี่ยมแม่ที่ กทม. แม่ไม่สบาย ไม่มีแรง แค่เดินขึ้นบันได 3-4 ขั้นก็ไม่ไหว (อาทิตย์ก่อนลูกหนูไป กทม. เอาเสื้อครุย  กลับมาบอกข่าว) ตั้งใจว่าจะไปอยู่กับแม่ ถึงวันศุกร์ (กลับวันศุกร์)  ถึงบ้านราว 6.30 น. ทักทายพ่อ - แม่ แล้ว  เห็นว่าแม่ไปหาหมอข้างบ้าน  พอค่อยยังชั่ว   เย็นนั้นก็เลยพาอาชง และอ้อย ไปกินข้าวร้านข้างบ้าน ถามสารทุกข์สุขดิบ  ชงเล่าว่า บางทีตาค้าง  พ่อต้องขับรถพาไปหาหมอที่รามากลางค่ำกลางคืน หมอฉีดยาแล้วก็ต้องรอหน่อย  กว่าจะกลับก็ดึกดื่น  สงสารพ่อจังเลย     

25/11/2552
12:00  ไปกินก๋วยเตี๋ยวไหหลำร้านต้นสนที่บางโพธิ์ กับ พ่อ แม่ และอ้อย แม่เริ่มดีขึ้น  กินได้เยอะ  แล้วต่อด้วยไปเดินช้อปปิ้งที่ตลาด อตก. ซื้อทุเรียนก้านยาวแกะแล้วให้ พ่อ แม่  แพงหูฉี่เลย ประมาณ 1 โล 700 บาท  แต่คราวนี้ยอมเป็นแม่บุญทุ่ม  แม้ของกินจะค่อนข้างแพง  แต่แม่ก็บอกว่า  ช่างมันเถอะ นานๆ ที   เพราะได้กินขนมหวานต่างๆ ที่อยากมานาน เช่น ทองหยอด

26/11/2552
9.00  แม่บอกว่ารู้สึกจุกเสียด  สงสัยเมื่อวานกินมากไปหน่อย  ยังไม่อยากไปหาหมอ  เลยเอายาหอมให้แม่ทาน  แล้วเลยดอดไปดูหนังเรื่อง 2012 วันสิ้นโลก กับพี่แดง ที่ Big C ราชประสงค์  แล้วไปหาซื้อไส้กรองน้ำเปลี่ยนให้ที่บ้านใหม่  แต่หารุ่นที่ใช้อยู่ไม่ได้เพราะเป็นรุ่นเก่า   เลยซื้อเครื่องกรองใหม่ทั้งเครื่อง เป็นแบบ 3 ตอน ราคาประมาณ 1700  บาท ที่ Home Pro ชิดลม  พี่แดงจัดการติดตั้งให้ใหม่  คราวนี้รสชาดน้ำค่อยยังชั่วหน่อย   

27/11/2552
8.00  เดินทางกลับพิษณุโลก  รู้สึกว่าแม่จะเริ่มไม่ค่อยสบายอีก  จุกแน่นหน้าอก  เพลีย  รู้สึกเป็นห่วง  สั่งอ้อยไว่ว่ามีอะไรให้โทรไปบอกทันที

…………………………………………………………………………………………………………………………………….

30/11/2552
อ้อยโทรมาบอกว่า พ่อ พาแม่ไปโรงพยาบาลธนบุรี  หมอบอกว่าร่างกายเสียเลือด ต้องให้เลือด และ admit  สงสัยจะเป็นแผลที่ทางเดินอาหาร พรุ่งนี้จะส่องกล้องดู  พ่อไปนอนเป็นเพื่อนที่โรงพยาบาล

01/12/255209:30 
9.00   โทรไปหาพ่อ  พ่อบอกว่าแม่ดีขึ้นหลังให้เลือด  กำลังจะเตรียมไปตรวจทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้อง
11:30  อ้อยโทรมา บอกว่า แม่มีแผลที่ลำไส้เล็ก  แต่อาการดีขึ้น

……………………………………………………………………………………………………………………………. 

          ตอนนี้แม่เสียงใสแล้ว  รู้สึกว่าจะถูกอกถูกใจหมอหนุ่มคนใหม่ที่โรงพยาบาลธนบุรี  เห็นว่า ตรวจละเอียด  ถามไถ่อย่างเอาใจใส่  และขยันดี  ก็เลยขอถ่ายโอนการรักษาโรคเบาหวานประจำตัว  มาให้ดูแลแทนหมอคนเก่าด้วย

          ดูเหมือนพ่อก็ชอบ….เพราะให้ตรวจเหมือนกัน  จากอาการมึนงงเวลาตื่นนอนตอนเช้า  ตรวจอย่างละเอียด ทั้งปอด  หัวใจ ระบบประสาทหูชั้นใน  ทุกอย่าง OK ยังฟิตอยู่  จะมีก็แต่คอแข็งไปหน่อย  ต้องใช้วิธีนวดและประคบร้อน

—————————————————–

ต้องหาเวลาไปเยี่ยม พ่อ กับแม่ให้บ่อยขึ้น

 

 

           


อุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูกข้อเข่า: ธรรมดาๆ ไม่รู้ดังได้งัย??

2968 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 15:54 ในหมวดหมู่ สุขภาพ #
อ่าน: 26765

          วันนี้ดิฉันกลับเข้าลานอีกครั้ง…….งงอยู่ชั่วครู่  เหมือนไม่ได้เข้าบ้านมานาน  หาลูกกุณแจไม่เจอ  ไม่รู้ว่าต้องใช้ดอกไหนเปิดประตู…….

          มะงุมมะงาหราอยู่ครู่ใหญ่…..จึงเข้าบ้านได้…..เอาละ….ต้องรีบปัดกวาดเช็ดถู

          เริ่มเรื่องไหนก่อนดีน้า……. 

          เอาเรื่องคุยโม้ก่อนดีกว่า

          เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (วันที่ 19 พ.ย. 52) ตอนเช้าดิฉันต้องทำตัวเป็นข่าว เพราะงาน ปชส. ของมหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

  

          เรื่องที่แถลงคือ นิสิต ม. นเรศวร (ที่ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำโครงงานวิชาชีพ)ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการเข้าร่วมประกวดโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค  

          เสร็จแล้ว ม. ก็เอาไป ปชส. ที่หน้า Home Page ของ มน. ด้วย (โฆษณาไม่นานนัก…ดิฉันจึงต้องโฆษณาต่อ  แหะ  แหะ) 

         ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง  ทีวีไทยก็มาขอถ่ายทำเครื่องมือดังกล่าวไปออกรายการวันหยุดด้วย  แหม!  อย่างหลังนี้รู้สึกโก้มากเลย  ทั้งที่เมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกันนี้เอง  ช่อง 9 อสมท. ก็มาขอถ่ายทำเช่นเดียวกัน  แต่ครั้งนั้น  ไปถ่ายทำกันที่ รพ. พุทธชินราช   ครั้งนี้เราถ่ายทำกันที่ห้องเอกซเรย์ของภาควิชารังสีเทคนิค 

          ดิฉันอัดรายการที่ออกทีวีทั้ง 2 ช่องนี้เก็บลงแผ่นซีดีไว้เป็นอนุสรณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ  ด้วยความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่งของหน่วยโสตฯ ของสำนักหอสมุด มน.

          น่าแปลกไหมคะที่หน่วย ปชส. มน. ไม่มีอุปกรณ์เพื่อการณ์ดังกล่าว  แต่ที่สำนักหอสมุด  มีการให้บริการที่มีความคล่องตัวสูงมาก (ผอ. สำนักหอสมุด คือ รศ.ดร.รัตติมา  จีนาพงษ์  เป็นคนเก่งมากๆ  และน่ารักที่สุด)

          อ้อ!  สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างคือ  ช่อง 9 ถ่ายทำไปแล้วตั้งเกือบ 2 เดือน  กว่าจะได้ออกอากาศ  แต่ช่องทีวีไทย ถ่ายทำวันพฤหัสฯ  ออกอากาศวันอาทิตย์  speed ต่างกันมาก  แถมเมื่อวาน ทางทีวีไทยยังได้ส่งแผ่นบันทึก DVD ที่ถ่ายทำทั้งรายการมาให้ดิฉันทางไปรษณีย์อีกด้วย บริการดีจริงๆ เชียว

          ดิฉันกำลังคิดจะหาวิธีเรียนรู้ว่าจะเอา สื่อไปลง You Tube ได้ยังงัย ??  เพราะกลัวชาวลานจะไม่ได้เห็นดารา “ถัง” ออกทีวี!!! …อีกอย่าง…..จะได้โม้ได้ทั่วโลกงัยคะ….อิ  อิ  อิ อิ….. 

          ความที่เป็นอาจารย์บ้านนอก  ดิฉันว่าได้เปรียบอยู่อย่างที่ว่า……….เรื่องธรรมดาๆ ก็ดังได้………

———————————————————————————————-

ภาคผนวก

ข้อความใน web ปชส. ของมหาวิทยาลัย

นิสิต ม.นเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 2552
การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค

          นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552 (Thailand Innovation Awards 2009) ในงานเทคโนมาร์ท - อินโนมาร์ท 2009  ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  กรุงเทพฯ ในผลงานเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค” เจ้าของผลงานคือนางสาวจิรานันท์ สมศรี นางสาวณัฐพร ชูไว และนางสาวมนัญญา พลจังหรีด โดยมี รองศาสตราจารย์มาลินี ธนารุณ อาจารย์ประจำภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
          ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) หรือ Thailand Innovation Awards 2009 เป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมให้นิสิตได้แสดงศักยภาพของตนเอง นิสิตที่มีคุณภาพนั้น จะสามารถพัฒนางาน บูรณาการต่อยอดงานให้เกิดการผลสัมฤทธิ์ได้ในที่สุด มหาวิทยาลัยนเรศวรเน้นการพัฒนานิสิต ให้สามารถเก่งคน เก่งงาน เก่งคิด เก่งครองชีวิต เก่งพิชิตปัญหา ที่สำคัญต้องเกิดการเรียนรู้ควบคู่กับการดูแลชุมชนของตนให้เกิดความยั่งยืน
          รองศาสตราจารย์ มาลินี ธนารุณ   อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย ฯ กล่าวถึง ผลงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากโครงงานวิชาชีพของนิสิตรุ่นก่อน คือ ของคุณณรงค์ศักดิ์ ชมวงศ์และโดยการประยุกต์ใช้ระบบไฮโดรลิคที่รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกรัม มาเป็นเครื่องช่วยยกฐานอุปกรณ์ให้ขึ้นลงได้ด้วยสวิตซ์ควบคุม ขนาดของอุปกรณ์กะทัดรัดขึ้นสามารถใช้งานได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังปรับปรุงวงรอบการหมุนของแท่นยืนจาก 180 องศาเป็น 360 องศา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องหมุนตัวกลับขณะเปลี่ยนท่า ทั้งนี้ เมื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการจัดท่าด้วยอุปกรณ์ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นใหม่ และความพึงพอใจของนักรังสีเทคนิคที่เป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในแผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลตัวอย่าง  พบว่าทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิค ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าว ปัจจุบันได้นำไปใช้จริง  ณ แผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นความสำเร็จของการประดิษฐ์ผลงานนวัตกรรมที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ

 


ขำขำวันนี้

21 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 เวลา 21:33 ในหมวดหมู่ บันเทิง #
อ่าน: 2234


คำคมวันนี้

3634 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ บันเทิง #
อ่าน: 48420



Main: 0.19905519485474 sec
Sidebar: 0.052181959152222 sec