ปีใหม่จะไปเข้าถ้ำ

โดย ถัง เมื่อ 13 ธันวาคม 2009 เวลา 20:01 ในหมวดหมู่ ธรรมะ #
อ่าน: 1615

          ปีใหม่ปีหน้า 2553  ที่ใกล้จะถึงนี้ ดิฉันมีโปรแกรมเด็ดที่รอคอยมานาน….หลายปีแล้ว

          ดิฉันจะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานค่ะ  สัก 10 วัน

          ที่พิษณุโลกนี่เอง…..ไม่ไกลบ้าน  และขออนุญาตคนทางบ้านเรียบร้อยแล้ว

          ที่นี่จัดโปรแกรมถูกอัธยาศัยดิฉันมาก…..นั่นก็คือ….เฮี๊ยบสุด…สุด…  ดังนี้

ศีล 
ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ได้แก่
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มน้ำเมา
     สำหรับผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้ว จะต้องถือศีล 8 ซึ่งมีเพิ่มเติม คือ
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
7. เว้นจากการดูละครฟ้อนรำ และการใช้เครื่องหอมตกแต่งร่างกาย
8. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่หนาและอ่อนนุ่ม

ผู้ที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว จะรักษาศีลข้อ 6 ได้ด้วยการดื่มแต่เพียงน้ำปานะหลังจากการพักในเวลา 5 โมงเย็น  ในขณะที่ผู้ปฏิบัติใหม่ อาจจะดื่มนม น้ำชา หรือรับประทานผลไม้ได้  อาจารย์ผู้สอนอาจจะยอมให้ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้วบางคนยกเว้นการรักษาศีลข้อนี้ได้ ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ  ส่วนศีลข้อ 7 และ 8 นั้น ทุกคนจะต้องรักษา

การยอมรับอาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ

ในระหว่างการฝึก ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องรับที่จะปฏิบัติตามวิธีการ และคำแนะนำของอาจารย์ผู้สอนทุกประการนั่นคือ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติที่อาจารย์สอน โดยไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนใดๆ ทั้งสิ้น  การยอมรับด้วยความเชื่อถือเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถปฏิบัติได้อย่างขยันขันแข็งโดยตลอด  ซึ่งการยอมรับนี้ก็ควรจะมีการแยกแยะและทำความเข้าใจด้วย  มิใช่เป็นไปเพราะถูกบังคับหรือหลงงมงายเหมือนคนตาบอด  ความเชื่อมั่นที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนา

พิธีกรรมและวัตรทางศาสนาตลอดจนวิธีการปฏิบัติอื่นๆ

ในระหว่างการฝึก สิ่งที่สำคัญมากคือ จะต้องงดพิธีกรรมและวัตรทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด เช่น การจุดตะเกียงนับลูกประคำ ท่องมนต์ อดอาหาร สวดมนต์ เป็นต้น  การปฏิบัติกรรมฐานแบบอื่นๆ หรือการปฏิบัติเพื่อการบำบัดรักษาอื่นๆ จะต้องเว้นด้วย เช่น การเดินจงกรม  การฝึกโยคะโดยใช้สมาธิ  ทั้งนี้มิใช่เป็นการคัดค้านการปฏิบัติวิธีอื่นๆ แต่เพื่อให้ได้ทดลองฝึกวิธีวิปัสสนาแบบนี้เพียงแบบเดียว  เพราะการนำวิธีปฏิบัติวิธีอื่นมาผสมปนเปกับวิธีปฏิบัตินี้ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ  หรืออาจจะทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผลเลย  แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะคอยเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม  แต่ก็ยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในอดีต  เมื่อผู้รับการฝึกนำเอาวิธีการปฏิบัตินี้ไปรวมกับพิธีกรรมอื่นๆ จนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น  ความสงสัยและความสับสนที่อาจเกิดขึ้นนั้นสามารถจะแก้ไขให้กระจ่างได้ โดยการไปพบอาจารย์ผู้สอน

การเข้าพบอาจารย์ผู้สอน

หากมีปัญหาหรือความสับสนใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนา ควรจะไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น เวลาระหว่าง 12.00 - 13.00 น.จะเป็นเวลาที่จัดไว้ให้สำหรับเข้าพบเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์ที่ที่พัก  แต่ท่านก็สามารถตั้งคำถามถามอาจารย์ได้ระหว่างเวลา 21.00 - 21.30 น.ในห้องปฏิบัติรวม

การพบกับอาจารย์ผู้สอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขอคำอธิบายสำหรับปัญหาทั่วๆ ไปเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ  จึงไม่ควรใช้โอกาสนี้ให้เสียไปกับการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา หรือถกเถียงกันในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ได้  ผู้ที่เข้ารับการฝึกจึงควรมุ่งที่จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียว

การรักษาความเงียบ

ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกจนกระทั่ง 10.00 น. ของการฝึกวันที่ 10   การรักษาความเงียบนี้ รวมไปถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ  โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย  และจะต้องงดการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการออกท่าทาง การเขียนโน้ต หรือทำสัญญาณต่างๆ  แต่ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนได้หากจำเป็น  และติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ  แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้ ก็ควรมีให้น้อยที่สุด  ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจังเสมือนอยู่คนเดียว

การสัมผัสทางกาย

จะต้องไม่มีการสัมผัสทางร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ  ตลอดระยะการฝึกและระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฯ

โยคะและการออกกำลังกาย

แม้การทำโยคะหรือการออกกำลังกายจะไม่ขัดต่อการปฏิบัติ  แต่ระหว่างการเข้ารับการฝึกอบรม 10 วันนี้ ก็ขออย่าให้มีการออกกำลังกายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ท่าดัดตนบริหารร่างกายมือเปล่า หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง  ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติไม่มีสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนี้   ถ้าต้องการออกกำลังกาย ให้ทำได้เฉพาะการเดินไปมาในระหว่างชั่วโมงพักผ่อน ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น

เครื่องราง ลูกประคำ หรืออื่นๆ

สิ่งเหล่านี้ห้ามนำเข้ามาในบริเวณที่พัก  หากมีการนำเข้ามาโดยมิได้ตั้งใจ จะต้องนำไปฝากไว้กับผู้ให้บริการตลอด 10 วัน

ของมึนเมาและยา

ห้ามนำเอายา เหล้า หรือของมึนเมา รวมทั้งยากล่อมประสาท ยานอนหลับ และยาระงับประสาท  หากจะต้องรับประทานยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่ง จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าก่อนการฝึก

สูบบุหรี่ ห้ามสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาเส้นตลอดระยะเวลาการฝึก

อาหาร

เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่สามารถที่จะจัดหาอาหารพิเศษตามความต้องการของผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้  จึงต้องขอให้ผู้เข้ารับการฝึกรับประทานอาหารมังสวิรัติที่จัดเตรียมไว้ให้  หากผู้ใดที่แพทย์สั่งให้รับประทานอาหารพิเศษ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ  ก็ขอให้แจ้งให้ผู้ดำเนินงานทราบในเวลาลงทะเบียน

เสื้อผ้า

เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบง่ายและสวมสบาย  ไม่จำกัดสีหรือแบบ  แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง  เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป  ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง  และห้ามอาบแดดหรือเปลือยบางส่วนโดยเด็ดขาด  ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญมาก  ทั้งนี้เพื่อมิให้รบกวนบุคคลอื่น

ความสะอาด

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ และปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติธรรม  จึงจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำทุกวัน และรักษาเสื้อผ้าให้สะอาด  ในบางครั้งอาจไม่มีบริการซักผ้า ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องซักเสื้อผ้าเอง  แต่ก็ควรทำในช่วงเวลาพักเท่านั้น หากเป็นไปได้ ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอที่จะใช้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติ

การติดต่อภายนอก

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใช้ฝึกตลอดการฝึก จะออกไปภายนอกได้เฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง  และจะต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนก่อน  ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์ การเขียนจดหมาย และการพบปะกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียน  นอกจากในกรณีฉุกเฉิน ผู้ที่มาเยี่ยมจะต้องมาติดต่อกับฝ่ายจัดการ

ดนตรี อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ

ห้ามเล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก  ผู้เข้ารับการฝึกไม่ควรรบกวนตนเองโดยการเขียนบันทึก  การห้ามเขียนและอ่าน ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด

เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป

สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น

นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา
ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวมอย่างเด็ดขาด และไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก  เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น

ทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน

เพื่อให้การเผยแพร่ธรรมะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ การฝึกอบรมดำเนินได้ด้วยเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว  และการบริจาคก็จะรับจากผู้ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น  เหตุผลก็คือ การบริจาคควรมาจากผู้ที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของธรรมะที่มีต่อตนเอง  ซึ่งจะทำให้การบริจาคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ  หากท่านมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันประโยชน์เหล่านี้กับผู้อื่น ท่านก็อาจจะกระทำได้ด้วยการบริจาคในวันสิ้นสุดการอบรม

การรับบริจาคจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอบรมธรรมะนี้ เป็นรายได้ทางเดียวสำหรับที่จะนำมาใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรม  โดยมิได้มีความสนับสนุนในด้านการเงินอื่นใด  ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้ดำเนินงานก็ล้วนไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการจัดการฝึกนี้  โดยวิธีนี้ ธรรมะจึงเผยแพร่ออกไปได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง  ดังนั้น ไม่ว่าการบริจาคของท่านจะมากหรือน้อย ก็ขอให้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์  เจตนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้มีโอกาสพบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกับท่าน  “เพราะเหตุว่า มีผู้ที่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้กับการฝึกของข้าพเจ้ามาแล้ว ตอนนี้ขอให้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ให้กับผู้อื่นบ้าง”

สรุป

สาระของกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้  “จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก อย่ารบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากมีผู้อื่นรบกวน”  อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เข้ารับการฝึกไม่สามารถเข้าใจเหตุผลของกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้หากเป็นเช่นนี้ควรจะไปขอคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้กับอาจารย์ผู้สอน มิใช่ปล่อยให้ตนเองเกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความสงสัยมากขึ้น

ดังนั้นการปฏิบัติตามระเบียบและความพยายามที่จะปฏิบัติให้มากที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติได้ผลดี และได้รับผลตามความมุ่งหมาย  สิ่งที่จะต้องเน้นใน 10 วันนี้ก็คือ “ปฏิบัติ” ปฏิบัติให้เหมือนกับว่า เราอยู่เพียงคนเดียวในการฝึก  เพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน และความไม่สะดวกสบายที่ต้องเผชิญอยู่ทั้งหมด  ปฏิบัติด้วยจิตที่มุ่งเข้าสู่ภายในเท่านั้น

ประการสุดท้าย ผู้เข้ารับการฝึกควรระลึกไว้เสมอว่า ความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นอยู่กับบารมี (กุศลที่ได้สะสมมาแต่ปางก่อน) และปัจจัย 5 ประการคือ ความเพียร ความศรัทธา ความจริงใจ สุขภาพอนามัย และปัญญา

ตารางเวลา

04:00 น.  ระฆังปลุก
04:30 น. - 06:30 น. นั่งปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
06:30 น. - 08:00 น. อาหารเช้า
08:00 น. - 09:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
09:00 น. - 11:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวม หรือในที่พักส่วนตัวตามที่อาจารย์กำหนด
11:00 น. - 12:00 น. อาหารกลางวัน
12:00 น. - 13:00 น. พักผ่อน
13:00 น. - 14:30 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
14:30 น. - 15:30 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
15:30 น - 17:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักตามที่อาจารย์กำหนด
17:00 น. - 18:00 น. พักดื่มน้ำปานะ
18:00 น. - 19:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
19:00 น. - 20:15 น. ฟังธรรมบรรยายในห้องปฏิบัติรวม
20:15 น. - 21:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
21:00 น. - 2130 น. สอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
21:30 น.  พักผ่อน

—————————————————————————————-

โอ้…..พระเจ้า…..แค่ต้องตื่นตี 4  ก็ไม่รู้จะไหวหรือเปล่า?? 

มาคิดดัดเอาตอนเป็นไม้แก่….คงแย่แน่เรา….

ใจเต้นระทึก   รอคอยวันนั้น

—————————————————————————————-         

คำแนะนำเพิ่มเติม

1. สถานที่
  - ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา  ตั้งอยู่หลังตลาดทรัพย์ไพรวัลย์
    ลึกเข้าไปราว 3 ก.ม.  ประมาณ ก.ม.49 ของทางหลวงหมายเลข 12


2. การลงทะเบียน
   - ให้ท่านลงทะเบียนเข้ารับการอบรมในวันแรกซึ่งเป็นการเปิดการอบรม
     ระหว่างเวลา 15.00 - 17.00 น. หลังจากนั้นจะมีบริการอาหารว่าง แล้วมีการปฐมนิเทศ
-   การอบรมจะสิ้นสุดในวันสุดท้ายเวลาประมาณ 06.30 น. รถจะออกจากศูนย์ฯ
    เวลาประมาณ 08.00 น.
3.  การใช้รถส่วนตัว
    -  ผู้ปฏิบัติใหม่ควรใช้รถที่ศูนย์ฯ จัดให้เพราะนอกจากท่านจะไม่คุ้นเคยกับท้องที่แล้ว  ที่สำคัญก็
       คือต้องการจะให้ท่านได้ตัดความกังวลจากโลกภายนอกให้มากที่สุด การใช้รถส่วนตัวจึง
       เหมาะสำหรับศิษย์เก่าที่ต้องการปฏิบัติในระยะเวลาอันสั้นไม่เต็มหลักสูตรเท่านั้น
4. การนั่งปฏิบัติ
     -  ส่วนใหญ่ให้นั่งปฏิบัติกับพื้นโดยศูนย์ฯได้จัดเบาะที่นั่งไว้ให้สามารถนั่งกับพื้นได้  ผู้ที่ไม่
        สามารถนั่งกับพื้นได้ โปรดแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  เพื่อทางศูนย์ฯ จะได้จัดเตรียมเก้าอี้ไว้ให้
        หรือจะแจ้งให้ ทราบในขณะที่ลงทะเบียนก็ได้  หากท่านไม่มีโอกาสได้แจ้งล่วงหน้าไว้
5.การแต่งกาย
       - ควรใช้เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย  แต่ไม่มีสีสันฉูดฉาดจนเกินไป
         ห้าม นุ่งกางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น ผ้าถุงสั้น ทั้งหญิงและชาย ตลอดจนห้ามใส่เสื้อเอวลอย หรือ
         เสื้อผ้าที่โปร่งบางเกินไป หรือรัดรูปจนไม่สุภาพ

      - ขณะนี้ มีบริการรับจ้างซักผ้าในราคาชิ้นละ 3.50 บาท โดยไม่รีดหากท่านไม่ประสงค์จะใช้
        บริการนี้ ก็ควรนำเสื้อผ้าไปให้มากพอที่จะผลัดเปลี่ยนได้ตลอดการอบรม
6. ของใช้
      -  นอกจากของใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวันแล้ว ควรนำไฟฉาย รองเท้าแตะ หรือรองเท้าที่สวมใส่
         สบาย เสื้อกันหนาว  ตลอดจนของใช้เพื่อสุขภาพอนามัยติดตัวไปด้วย
7.  ยารักษาโรค
        - ศูนย์ฯ ได้เตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้บริการท่านแล้ว  สำหรับผู้มีโรคประจำตัวโปรด
          นำยาที่แพทย์สั่งให้ใช้ประจำติดตัวไปให้เพียงพอทั้ง 10 วันด้วย  แต่ต้องแจ้งให้
          เจ้าหน้าที่ทราบขณะที่ลงทะเบียนด้วย
8. ข้อห้าม
      - ห้ามนำอาหารติดตัวเข้ามาในศูนย์ฯ ยกเว้นกรณีที่จำเป็น เช่น แพทย์สั่ง แต่ให้ขออนุญาตจาก
        อาจารย์ผ่านทางผู้จัดการหลักสูตรเสียก่อน ที่สำคัญจะต้องไม่เป็นอาหารที่มีเนื้อสัตว์หรือไข่
        ผสม
     - ห้ามนำโทรศัพท์มือถือ วิทยุ เครื่องดนตรี กล้องถ่ายรูป เครื่องเขียน หรือหนังสืออื่นใดเข้าไป
       ในห้องพัก หากท่านนำติดตัวไปด้วย จะต้องฝากไว้กับผู้จัดการหลักสูตร เมื่อลงทะเบียน
     - โปรดอย่าไปถึงศูนย์ฯ ก่อนวันเปิดการอบรม เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
       ส่วนวันเปิดอบรม ท่านจะต้องไปให้ถึงศูนย์ฯ ไม่ช้ากว่า 17.00 น.

—————————————————————————————- 

หมายเหตุ

  ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภาแห่งนี้ อยู่ในความดูแลของสำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สอนตามแนวปฏิบัติของ “ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” (S.N. Goenka) วิปัสสนาจารย์ชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่า ซึ่งท่านจึงได้ก่อตั้งและเป็นประธานสถาบันวิปัสสนานานาชาติศูนย์แรกชื่อ “ธรรมคีรี” ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก  

« « Prev : มะรุม : ปลูกง่ายจัง

Next : ที่มาของเลขไทย :น่าภูมิใจ ในภูมิปัญญา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 sompornp ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 เวลา 21:34

    สาธุ อนุโมทนาล่วงหน้าค่ะอาจารย์
    (น้าถอยตั้งแต่คิดแล้วค่ะ..คริคริ)

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 เวลา 21:51

    เมื่อเดือนก่อนผมไปที่วัดป่าสุตะโตของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ก็ร่วมปฏิบัติธรรมตอนตี 4 ร่วมกับพระ แม่ชี และญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม พอไหวครับ แต่เมื่อเสร็จแล้ว ยังกลับมานอนต่ออีกแน่ะ..อิอิ.. หากอยู่สัก 4-5 วันคงชินครับ สมัยบวชก็ตื่นตีสาม ชินครับ  แต่พอมาโลกคนทำงานก็นอนอืดอยู่บนเตียง..อิอิ

  • #3 ถัง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 เวลา 20:58
    น้าอึ่งถอยไม่ได้อีกแล้วนะคะ………ใกล้วันสิ้นโลกแล้วววว…..
  • #4 ถัง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 เวลา 21:02
    ขนาดคนเคยบวช  เคยชินแล้ว ยังอดอดไม่ไหว……อะฮั้นจะไปรอดไหมนี่…..

    ดีนะคะคุณบางทราย  ที่ดิฉันไม่ได้เผลอไปสัญญาใน ToDo Tag เข้าไปอีกคำรบหนึ่ง  555  666 

  • #5 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 เวลา 21:44

    มาอนุโมทนาบุญค่ะ  นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดโอกาสหนึ่งของชีวิตใช่ไหมคะ

  • #6 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 เวลา 9:09

    สาธุ อนุโมทนาค่ะ อาจารย์

  • #7 ถัง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 เวลา 20:20
    แหม!  ค่อยยังชั่ว  กำลังใจมาเยอะเลย  ขอบคุณน้องหนิงและอุ๊ยสร้อยมากๆ ค่ะ  ดิฉันจะพกกำลังใจไปปฏิบัติด้วยนะคะ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1366810798645 sec
Sidebar: 0.24681401252747 sec