ออกจาก “แดนฝัน”

5 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 12:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 2136

ไปเข้ากิจกรรมจิตตปัญญา ตั้งแต่วันที่ 25 จนถึงวันที่ 29 เป็นเวลา 5 วัน  เข้าไปวันแรก พอตอนเย็นกลับมาบ้าน   ก็นำเอา  สิ่งที่ได้รับมาเขียนลงในลานในทันทีทันควัน   เป็นความรู้แบบ เนื้อหา และทฤษฎีมากกว่าความรู้สึก   แต่พอวันหลังๆ  รู้สึกว่า ชักจะหลงเข้าไปในแดนฝันบ้างแล้ว  ไอ้ที่จดยิกๆ ก็น้อยลง เอาเวลาไปสดับตรับฟังความเป็นมาและเป็นไป ของคนรอบข้าง  มากกว่า จะจดจำทฤษฎี  เพราะคงจะค่อยๆหลงเข้าไปในแดนฝันแบบไม่รู้ตัวเสียแล้ว

เมื่อวานตอน เที่ยง  ออกมาจาก”แดนฝัน”กลับมาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้รับ รวมทั้งเอารูปที่ถ่ายแผ่นชาร์ตบทสรุปของการบรรยาย  และการแสดงออกของผู้เข้ากิจกรรม   และเข้าไปเปิดอ่าน  เวป วงน้ำชา ซ้ำ เพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียดเพิ่มเติมที่พอจะจำได้  คัดลอกข้อความบางอย่างจาก วงน้ำชา ที่เขาทำไว้เป็นบทสรุปแล้ว นำมาสรุปเองอีกครั้ง แล้วก็คิดว่า เราจะนำอะไรมาประยุกต์  มาถ่ายทอดให้กับครูในโรงเรียนของเราได้บ้าง  เพราะไม่ว่าจะไปรับอะไรที่ไหน ก็อดนึกถึงครูในโรงเรียนไม่ได้เสียที

 

เรื่องแรก  เคยได้ฟังมาหลายครั้งแล้ว คือเรื่อง “ สัตว์สี่ทิศ”  เรื่องนี้ นำมาใช้ในโรงเรียน  ตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคิดว่าคงจะใช้ได้ต่อไปเรื่อยๆ  เพราะเป็นบทเรียนที่ให้เรากลับมาดูตัวเอง และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ดี และชัดเจน

เรื่องต่อมาคือเรื่อง ศักดิ์ ( rank) ต่างๆของมนุษยชาติ ที่เขียนลงไปใน บล็อกที่แล้ว  แต่คราวนี้ ขอเอาแผ่นชาร์ตสรุป จากการเข้ากิจกรรมมาลงไว้ให้ดูด้วย เพราะเขาสรุปเนื้อหาได้ละเอียดกว่า

 

 เรื่องที่สองถ้าอ่านจากตรงนี้ อาจเข้าใจไม่ทะลุนัก เขาพูดถึงแนวคิดของมินเดลในส่วนที่แตกต่างจาก คาร์ล ยุง คือ มินเดลมีความเห็นค้านจาก  ยุง  ที่ว่า  จิตไร้สำนึกนั้น น่ากลัว และเข้าไปแตะต้องไม่ได้    แต่มินเดลบอกไม่น่ากลัว   ดังนั้น เขาจึงชักชวนให้คนเข้าไปใน แดนฝันหรือ dreamland นี้ได้ตลอดเวลา เพื่อค้นหา แก่น หรือ ราก  ของความรู้สึกภายในที่แท้จริง  และนำเข้ามาใช้ในโลกสมมุติได้

ส่วนบนสุดที่เรียกว่า  โลกสมมุติ  คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นปัจเจก  ต่างคนต่างอยู่ พูดกัน แต่ไม่ฟังกัน หรือพูดออกมาแบบไม่ตรงกับใจ เมื่อใดที่เราลงไปในแดนฝัน  เรายังลงไปได้ในสองระดับคือในระดับจิตวิทยา และต่อไปจนถึงระดับจิตวิญญาณ  ตรงระดับจิตวิญญาณนี่แหละที่ การสัมนาครั้งนี้ โดยอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู พยายามนำพาพวกเราให้เข้าถึง  เพราะอาจารย์มีความเชื่อว่า สมุหะกับปัจเจกแยกจากกันไม่ได้

ช่วงนี้ขอยกข้อความของคุณ  maythawe   มาประกอบสักเล็กน้อย  ถ้าใครอยากอ่านเต็มๆให้เข้าไปที่ เวป วงน้ำชาได้ด้วยตัวเอง ในนั้นจะมีเรื่องจิตตปัญญา (แบบหนักๆ) ให้ติดตามอย่างมากมาย

“ระบอบประชาธิปไตยเสนอให้ทุกคนเท่าเทียมกันและจะต้องมีตัวแทนที่เท่าเทียมกันด้วย  ขณะที่มินเดลบอกว่าเขาแบ่งระดับจิตออกเป็นสามระดับ ขณะที่ทุกระดับก็ยังมีคุณค่าและความเท่าเทียมอยู่
o   สามระดับที่ว่าคือ
1. ความเป็นจริงพื้นฐานประจำวัน CR (consensus reality) ระดับนี้ความสัมพันธ์จะต้องมีสองคนขึ้นไป มีคำกล่าว และมีประเด็น
2. แดนฝัน (dreamland) เป็นระดับที่ดูเหมือนไร้ความสำคัญ ซึ่งจะมีการสัมผัสสัญญาณทางกาย ความฝัน และ
3. ระดับ essence ซึ่งเป็นรากฐานเป็นแก่นแท้ อันจะมีสนามกระบวนการจิต (processmind field) และสนามนี้ในเชิงความสัมพันธ์ก็คือบ้านที่แท้จริง เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเป็น common ground

การที่เราจะ มี eldership (สภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง)   ได้นั้น  เราต้องผ่าน แดนฝัน มีกายฝัน  ไปสู่ บรมธรรม  หรือ essence  ให้จงได้     กระบวนกร  (ซึ่งมีทั้งตัวจริงและผู้ช่วย ได้ร่วมกันในคำจำกัดความของสภาวะ   ผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไว้ตาม ชาร์ตที่จะได้นำมาลงในช่วงต่อไปนี้)

 

กระบวนการทั้งห้าวัน  ส่วนใหญ่ จะใช้ voice dialogue หรือ สุนทรียสนทนา เข้ามาเป็นกระบวนการเดินเรื่อง  คือพอพูดทฤษฎีเสร็จ ก็ให้ ผู้เข้าร่วม รวมกลุ่มย่อยบ้าง  จับคู่บ้าง  พูดถึงทฤษฎีนั้นๆโดยดึงเข้าหาความจริงที่ตัวเอง หรือคนในกลุ่มมีและเป็น   แล้วก็มีกระบวนการ เดินสมาธิ (เรียกเอง  เขาอาจมีชื่ออื่นๆ ) คือเดินนิ่งๆเงียบๆ คิดใครครวญ เปิดเพลงเบา ไฟสลัวๆเป็นการสร้างบรรยากาศ ให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม  เพื่อจะหลุดเข้าแดนฝันได้  (จริงๆเรื่องนี้ต้องพูดกันยาว เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องการทำให้สมองอยู่ในคลื่นเบต้า )  ก่อนทำกิจกรรมตอนบ่ายก็ให้นอนหลังอาหารกลางวัน  ฟังเพลง  ทำ บอดี้แสกน มีคนเสียงหวานๆพูดนำให้เราเดินเข้าไปสวนบ้าง  ในป่าบ้าง แล้วก็ลึกเข้าไปๆๆๆ จนเคลิ้มหลับไปเลย    แรกๆแม่ใหญ่ก็ชอบหรอก แต่ตอนหลังเราหนีไปดูสวนในช่วงนี้   เพราะไม่ชอบตอนเขาเรียกตื่น   ไม่อยากตื่นขึ้นมาจากการหลับกำลังสบายนั่นเอง

เรื่องสุดท้ายที่คุณน้ำฟ้าและปรายดาวชอบในบล็อคที่แล้ว  ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลง    แบบที่ต้องรักการเปลี่ยนอย่างมาก   แต่ไม่ได้ เกลี่ยดหรือนึกรังเกียจ  ในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม  เรื่องนี้ต้องสารภาพว่าด้วยปัญญาอันน้อยนิด  คิดแบบโลกสมมุติ  แบบรูปธรรม เข้าไม่ถึงนามธรรม   ว่ายังเข้าใจไม่ทะลุ  ไม่เข้าใจในส่วนที่สองที่ว่า  “อยากเปลี่ยนแต่ไม่รังเกียจสิ่งที่เป็นอยู่เดิม” อาจารย์ยกตัวอย่าง  อยากเลิกบุหรี่ ทั้งๆที่ติดบุหรี่   ก็ให้นึกสงสัยว่า ถ้าไม่รังเกียจการติดบุหรี่ แล้วจะอยากเลิกทำไม  สงสัยแต่ไม่ได้ถาม เพราะอาจารย์บรรยายติดพัน   พูดต่อเนื่อง จนไม่มีโอกาสได้ถาม   วันหลังมีโอกาสคุยกับกระบวนกรตัวต่อตัวจะซักเรื่องนี้ให้ทะลุอีกสักที    แต่ก้ขอนำเอาชาร์ตที่เขาสรุปไว้มาให้ดูให้งงกันเล่นๆ

แผ่นชาร์ตทั้งสี่แผ่นหลังนี้   เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  คนที่เคยเข้าจิตตปัญญา รุ่นลึกๆ  คงพอเข้าใจได้ดีกว่า    ส่วนตัวเอง  เป็นเรื่องที่จะเอาไว้ศึกษาต่อไป

 


เรียนปลูกข้าวจาก Youtube

8 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 7:32 (เช้า) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก, ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1814

วันอาทิตย์เป็นวันว่าง  ตั้งแต่เช้ายันบ่าย แม่ใหญ่จึงง่วนอยู่กับการ เปิดหาความรู้เรื่องทำนาเพิ่มเติม จาก  Google และ  Youtube  พบว่า มีคนเขียนบรรยาย และถ่ายทำเป็นวิดิโออย่างหลากหลายจริงๆ ได้เก็บข้อมูลและรวบรวมไว้เป็น Powerpoint ไว้  ตั้งใจว่า บ่ายวันนี้ จะขอเชิญบรรดาชาวนาตัวจริงทั้งหลายที่ทำงานอยู่กับแม่ใหญ่จำนวนไม่น้อย  เช่น ลุงโก้ ลุงพงษ์ ลุงน้อย โสภา ทองเพียร เดือน แสน เฉลา ฯลฯ  มาดูวิดิโอที่แม่ใหญ่รวบรวมเกี่ยวกับเรื่องนาโยน  (ซึ่งปีนี้จะแบ่งเป็นสองแปลง  นาโยนแปลงหนึ่ง นาดำแปลงหนึ่ง )    และจะขอให้เขา “โส” กัน (สุนทรียสนทนา ตามศัพท์ทางจิตตปัญญา )  ว่าคิดเห็นเป็นอย่างไร เราจะได้รับฟังความรู้จากชาวนาตัวจริงด้วย   แม่ใหญ่ก็จะขอป้าๆลุงๆกลุ่มนี้แหละมาช่วยแม่ใหญ่เริ่มต้นกับนาทดลอง ครั้งแรกของโรงเรียน   ถ้าผลมันออกมาดี  เขาก็จะได้เอาไปทำของตัวเขาเองต่อไป  เพราะลุงๆป้าๆเหล่านี้มีนาของตัวเองคนละ 7-8 ไร่ขึ้นไป  แต่ไม่ได้ทำนา เป็นอาชีพ ออกมารับจ้างเป็นพนักงานโรงเรียนกันหมด ถึงเวลาก็ลาไปหว่าน   ไปเกี่ยว  แค่วันสองสามวัน  ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาได้รับผลผลิตกันขนาดไหน  และต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้ยาฆ่าแมลงกันเป็นเงินเท่าไหร่  แม่ใหญ่จะทำการทดลองร่วมกับเขาว่า ถ้าเราทำถูกต้องตามที่ได้ศึกษามา ทำแบบเกษตรอินทรีย์  ไม่ใช้เคมี  มันจะไปรอดไหม 

ความรู้ที่ได้จากการค้นหา   แม่ใหญ่สรุปรวมไว้ในภาพข้างล่างนี้ 

หลังจากศึกษาจากอินเตอร์เนตแล้ว ช่วงบ่ายก็เข้าไปดูที่นา  ที่ตั้งแต่ซื้อเอาไว้ปีกว่าแล้ว ยังไม่เคยได้ลงไปเดินรอบๆทั้งสี่ไร่เลย เนื่องจาก หญ้ารกมากๆ พอผู้รับเหมาทำถนนเข้าไปที่บ่อน้ำ  และจัดรูปนาทดลองตามที่เราต้องการให้  เขาไปเริ่มงานถากถาง  จนเห็นคันนาพอเดินได้แล้ว แม่ใหญ่ก็ชวนลูกชวนหลาน  ลงไปเดินดูโดยรอบ  พบว่า ที่ด้านหลังเป็นบ่อใหญ่มาก เนื้อที่เกือบสองไร่  เจ้าของคนเดิมที่เขาขายนาให้เรา เขามีที่นาอยู่ยี่สิบไร่  เขาขุดบ่อน้ำนี้ เอาไว้เก็บน้ำเวลาที่เขาต้องการทดน้ำเข้านาหรือสูบน้ำออกจากนา   เราเองก็ชอบที่ซึ่งมีบ่อน้ำ   แต่ตอนซื้อที่  มองดูจากฝั่งถนนไกลๆไม่คิดว่าจะได้บ่อใหญ่ขนาดนี้    แต่มาเห็นของจริงก็พอใจ  เพราะเราคงจะมีน้ำใช้ตลอดปี และคงได้แบ่งปันเพื่อนบ้านด้วยในช่วงที่คลองชลประทานยังไม่ส่งน้ำเข้ามา

ไปดูที่นาแล้ว  กะเวลาการไถดะ ไถแปร  ทำเทือก สำหรับโยนกล้าและดำนา  ไม่ทราบว่าจะทันกำหนดเดิมคือวันเข้าพรรษาหรือไม่  เพราะเท่าที่ศึกษาดู    เขาบอกว่าการเตรียมดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของกระบวนการปลูกข้าว     เมื่อไถดะ แล้ว  ต้องรอเวลาให้หญ้าและวัชชพืชตายทับถมกันก่อน 15 วัน  แล้วจึงปล่อยน้ำออกให้ดินแตกระแหง เพื่อก๊าซฟางเน่าๆ จะได้ระเหยออกไป   แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าขลุกขลิกเพื่อ ไถแปรอีกครั้ง  หมักทิ้งไว้อีกครั้ง  แล้วจึงคราด ตีดินให้ละเอียดเพื่อทำทเทือกให้พร้อมโยนกล้าหรือดำนา            ถ้าเตรียมดินดี วัชชพืชจะน้อย  ข้าวก็จะงาม  ดังที่ ปราชญ์ชาวบ้านหลายๆท่านกล่าวไว้ใน youtube

ทำนาแค่สองไร่ แม่ใหญ่รู้สึกว่าเรื่องมันแยะจริงๆ  หนักใจนิดๆ  คงเป็นเพราะเรายังไม่เคยทำเลยนั่นเอง  แต่ไม่เป็นไร ใจสู้เอาไว้ก่อน  เป็นไรเป็นกันสิน่า

ส่วนเรื่องปลูกต้นอคาเซียตามขอบคันนานั้นไม่มีปัญหาน่าจะลงได้ตั้งแต่อาทิตย์หน้าเป็นต้นไป  ว่าจะไปหาต้นอื่นๆมาปลูกแซมๆไปบ้าง (ตามที่ได้ไปเรียนรู้มา)

 

 

 

 


“ลงแขก”ห้องสมุด

4 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 18 มิถุนายน 2011 เวลา 11:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1828

วันนี้เป็นวันดีอีกวันหนึ่ง ของโรงเรียนพัฒนาเด็ก (ประชาสโมสร)   ที่คุณครูทุกท่าน กรุณาสละเวลา มาทำงานพิเศษที่โรงเรียน  เพื่อจะ “ลงแขก” ห้องสมุด     ที่ย้ายจากห้องเก่า มาอยู่ห้องใหม่    และผู้ดูแลคนเก่า ก็สอบติดปริญญาโท ลาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างค่อนข้างกระทันหัน   มอบหมายงานไม่ทัน  คนใหม่ก็ไม่ใช่ บรรณารักษ์มืออาชีพ  ดังนั้น  ปัญหาจึงเกิดขึ้น เช่น หาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ  ไม่สะดวกในการใช้   ไม่รู้ว่ามีหนังสือใหม่อะไรเข้ามาบ้าง ฯลฯ   เมื่อมีปัญหาคุณครูก็นัดกันว่าจะระดมความคิดกัน      ช่วยแก้ไขให้ทุกคนสามารถใช้ห้องสมุดได้ อย่างเร็วที่สุดเพราะโรงเรียนก็เปิดมาหนึ่งเดือนเต็มๆแล้ว

 เริ่มต้นด้วยการตั้งวงคุยกันก่อนลงมือปฏิบัติการ   ถ้าจะพูดให้เป็นทฤษฎีหน่อย ก็คงจะตรงกับ BAR คือ  Before action review คุยถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น  และสรุปกันว่า จะไปเริ่มลงมือทำกันอย่างไร และตรงไหน

แม่ใหญ่ นั่งฟังคุณครูปรึกษาหารือกัน    และสรุปข้อคิดเห็นของคุณครู  ได้ดังนี้

ปัญหา

ความต้องการ   /  ข้อเสนอแนะ  /    การปฏิบัติ

·                     ห้องใหม่เล็กกว่าห้องเก่า  และมีชั้นวางสองด้าน    ทำให้ต้องวางกลางห้อง ทำให้ห้องเล็ก และชั้นมีความสูงเกินระดับสายตาอาจมองได้ไม่ทั่วถึง

·                     อยากได้ชั้นเตี้ย  โชว์ หนังสือด้านเดียว และวางชิดฝาทั้งสี่ด้าน

·                     หนังสือตอนนี้อยู่ปนๆกันในกล่องบ้างนอกกล่องบ้าง 

·                     ให้ช่วยกันจัด แยกประเภทออกเป็น  คู่มือครู นิทานแบบปกอ่อน และปกแข็ง   วิทยาศาสตร์   ธรรมชาติและสิง่แวดล้อม   และอาจมีประเภทอื่นๆอีก ตามที่เห็นตรงกัน ขณะที่จัดร่วมกัน

·                     แผ่นโปสเตอร์  มองไม่ชัด เลือกยาก

·                     ให้ทำที่แขวนโปสเตอร์ และแยกประเภทด้วยเช่นกัน

·                     มีหนังสือปนกันทั้งที่ชำรุด  ต้องซ่อมแซม และหนังสือที่ ซ่อมไม่ได้หรือ  ไม่น่าใช้แล้ว

·                     แยกพวกซ่อมออกไว้ซ่อมภายหลัง  แยกพวกที่ไม่มีประโยชน์แล้ว ทิ้งไปได้

·                     Big Book เป็นหนังสือที่เด็กชอบมาก ยังไม่มีชั้นวางที่ได้ขนาด

·                     เสนอให้ทำกล่องใส่  Big book ต่างหาก  และวางไว้ให้เด็กเลือกได้  แต่ควรอยู่ในความดูแลของครู  เพราะ  Big book   บางเล่ม  หาซื้อไม่มี  มาจากต่างประเทศ และมีราคาแพง ควรดูแลรักษาเป็นพิเศษ

·                     การยืมคืนยังไม่เป็นระบบ

·                     ครูที่เคยเรียนวิชาบรรณารักษ์ให้คำแนะนำ ผู้ทำหน้าที่ดูแลห้องสมุด ให้ทำทะเบียน  หนังสือ  และให้มีบัตรยืมคืน   ให้เป็นคนเก็บหนังสือเข้าที่เองทุกวัน

·                     การยืมหนังสือบางคนยืมนานตลอดเทอม คนอื่นไม่ได้ยืม

·                     ครูตกลงกันว่า จะให้ยืมเพียงคนละ 7 วัน เท่านั้น  ถ้าต้องการก็ต้องมาต่อเวลาทุกครั้ง

·                     ครูอยากฝึกให้เด็กได้มายืมด้วยตนเอง เอากลับไปบ้านได้

·                     จัดระบบยืมคืนให้เด็กนักเรียน  แต่ให้เอาไปได้เพียงวันเดียว ต้องเอามาคืนในวันรุ่งขึ้น

·                     มีหนังสือใหม่มา ครูไม่รู้

·                     ให้จัดบอร์ดแสดงหนังสือใหม่ไว้หน้าห้องสมุด

·                     อยากมีบัตรสถิติส่วนตัวครู  ว่าเดือนหนึ่งใครยืมหนังสือกี่เล่ม

·                     เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูเข้ามาหาวิชาความรู้เพิ่มเติม

·                     อยากให้มีการ “ลงแขก” แบบนี้ทุกสิ้นเทอม

·                     มีข้อตกลงกันว่า จะทำแบบนี้ ทุกๆสิ้นเทอม   เพราะจะทำให้ ห้องสมุดเป็นแหล่เรียนรู้ที “ หยิบง่าย  หายรู้ ดูก็งามตา 

คุณครูคุยปรึกษา กันไม่นาน  ประมาณ สิบห้านาที  แล้วก็ลงไปช่วยกันจัดห้อง  ตามที่ตกลงกัน  โดยบอกกันว่า  ถึงวันนี้จะยังไม่เสร็จ สมบูรณ์ แต่ก็คงมีโอกาสนำเอาปัญหามาพูดคุยใน   “วาระ อื่นๆ”  ของการประชุมประจำสัปดาห์ที่มีขึ้นทุกวันจันทร์ได้ 

ที่ โรงเรียนพัฒนาเด็ก    เราทำงานด้วยกันแบบนี้  มีอะไรก็ปรึกษากัน และช่วยกันคิด ช่วยกันแก้กันไป    จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้และทำงานกันอย่างเป็นทีมขึ้น   ไม่ใช่ต้องรอให้สั่งอย่างเดียว  ผู้บริหารก็ไม่เหนื่อย  ลูกน้องก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ  งานก็ไม่ไปหนักอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง  ผลงานออกมา  ก็เป็น ผลงานของเรา  ชื่นอกชื่นใจด้วยกันทุกฝ่าย 


ขอความเห็นผู้รู้ในลาน

8 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 10:51 (เช้า) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก, ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 2024

ตั้งใจไว้ว่า  พวกงานอดิเรก ของเล่นต่างๆ  จะเป็นอะไรที่  ราคาย่อมเยา  ไม่สร้างความเดือดร้อน แก่เงินโรงเรียน (กงสี) จะใช้เฉพาะเงินเก็บส่วนตัว ที่ได้รับจากเงินที่ปรึกษา  เดือนละพอกินพอใช้เท่านั้น    ที่ผ่านๆมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  แต่ของเล่น หรืองานอดิเรกชิ้นใหม่ คือเรื่อง ทำนาทดลอง   อาจต้องโอนให้เป็น โครงการของโรงเรียน และใช้เงินโรงเรียนเสียแล้ว  เพราะรู้สึกว่าชักจะเกินกำลัง  (กระเป๋า ส่วนตัว)  

 

เดิมตั้งใจไว้ว่า จะทำนา ปลูกข้าว กับทำสวนป่า เล็กๆไว้เป็นให้เด็กนักเรียนได้มาศึกษา หาความรู้ กับภูมิปัญญาไทย   การจะพาเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษา เข้าสังเกตการณ์ ลงมือปฏิบัติ   ก็ต้องวางแผนเรื่องสถานที่  พอสมควร  เพื่อความสะดวก  และรวมถึงความสวยงามด้วย    จึงได้วางผังที่นา  ไว้เป็นสัดส่วน  ได้เนื้อที่ทำนา ประมาณสองไร่   นอกนั้น จะเป็นที่ปลูกป่า และพืชผักต่างๆตามฤดูกาล  ตามที่ได้เคยเขียนเอาไว้ในบล๊อค  ชื่อ  วันเริ่มต้น หลังจากรอผู้รับเหมาถมดินชุดแรกอยู่ สามอาทิตย์  ก็ยังไม่มาเสนอราคา คงเป็นเพราะฝนฟ้าตก  จนทำไม่ได้ หรือไม่ ก็ยังติดงานที่อื่นอยู่    เวลาดำนาปลูกข้าวก็ใกล้เข้ามา  จนแม่ใหญ่ใจร้อน  ไปหาผู้รับเหมารายใหม่  มาตีราคา   เจ้านี้  ค่อยว่องไวหน่อย  ให้งานไปแค่สองวัน  เขียนแบบ ส่งราคามาเร็วทันใจ  แต่เล่นเอา แม่ใหญ่ หัวใจตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม (เนื่องจากไม่เคยทำเรื่องถมดินมาก่อน )  ผู้รับเหมา  เสนอราคามาที่ สามแสนเศษๆนิดหน่อย   ใบเสนอราคาที่ส่งมา ทำมาโดยละเอียดตามหลักวิชาการ มีการคำนวณดินที่ใช้ถมถนน กว้าง ขนาด 6 เมตร  ยาว 100 เมตร ถนนสูง 1.40 เมตร  ถนนยาวเข้าไปถึง สระน้ำด้านหลัง  โดยใส่ท่อระบายน้ำ ให้ด้วย  3 จุด  และคำนวณดินที่จะใช้ถมที่ที่จะเตรียมไว้ปลูกบ้านเรือนไทย เนื้อที 5.00*40.00*1.40  เมตร รวมทั้งเตรียมที่ทำนา แต่งคันนาให้เป็นที่เรียบร้อย 

การทำตามแบบนี้   จะต้องใช้ดินเป็นพันๆคิวที่เดียว   แม่ใหญ่ส่ายหัวดิกๆ   ไม่ได้ว่าเขาเสนอราคาเกินเหตุหรอก  ดูจากจำนวนดินที่เขาคำนวณออกมาแล้ว  มันก็มากจริงๆ  เพราะที่นาเป็นที่ลุ่ม ลึกกว่าถนนตั้ง 1.40 ม. แต่มันเกินงบ ที่คิดจะทำเป็นงานอดิเรกเสียแล้ว    ได้ลองปรึกษา  ผู้รับเหมาว่า จะทำอย่างไร ให้งบประมาณ  ลดลงไปสักครึ่งหนึ่งจะได้หรือไม่  ผู้รับเหมาก็เลยลองคำนวณดูว่า  ถ้าจะเอา งบประมาณเป็นตัวตั้งก็ได้เหมือนกัน  แต่ถนนที่คิดไว้จะสูง    1.40  เท่าถนนด้านหน้า   ก็จะลดลงมาที่ 70 ซ.ม. แทน   แต่รูปร่างทุกอย่างก็ยังคงเป็นตามผังเดิมที่แม่ใหญ่วางไว้

เมื่อคืนนอนคิดอยู่คนเดียว ว่า  ถ้าเราจะเปลี่ยนแผน  คือไม่ทำถนนเข้าไปหาบ่อน้ำ  แต่ถมที่ด้านหน้า  เอาไว้ปลูกบ้าน โดยมีเนื้อที่ทำสนามหน้าบ้านเล็กน้อย   ปล่อยท้องนาและสระว่ายน้ำไว้หลังบ้าน    วิธีนี้จะเร็วและราคาถูกลงมากกว่าครึ่ง           โทรไปปรึกษากับผู้รับเหมา เขาก็บอกว่า  เขาทำให้ได้ง่ายและเร็วมาก  แต่มันจะไม่ได้สวยสมใจตามฝันที่แม่ใหญ่วางไว้  ที่ว่าบ้านทั้งสองหลังจะหันหน้าไปทางสระน้ำ  และมีท้องนา มาเป็นฉากหน้าของบ้าน

แม่ใหญ่ ถ่ายรูปผังทั้งสองแบบ   มาลงไว้ในบล็อคนี้แล้ว    ยังตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะใช้ผังเก่า(แบบถนนสูง 70 ซ.ม) หรือผังใหม่  ที่เอาบ้านไว้ด้านหน้าดี    อยากฟังความคิดเห็น  ของผู้รู้ในลานสักหน่อย  ขอเป็นวิทยาทานก็แล้วกัน     แม่ใหญ่ต้องรีบหน่อยแล้ว เดี๋ยวทำนาไม่ทันหน้านานี้พอดี

 

 


เก็บของเก่า เอามาใช้

4 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 8 มิถุนายน 2011 เวลา 11:55 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1556

ในโรงเรียนที่มีครูผู้หญิงมากๆ มักจะหนีเรื่องนินทา กาเล    กันไม่ค่อยพ้น  เนื่องจากเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ที่ชอบมองแต่คนอื่น  ไม่มองดูตัวเอง  แม่ใหญ่ต้องไปหยิบเอาเนื้อหาเรื่อง  “สัตว์สี่ทิศ”  เข้ามาทำเป็นกิจกรรมให้ ครูรู้จักเรา   รู้จักเขา  หัดมองตัวเอง  และเข้าใจคนอื่น อยู่เป็นประจำทุกปี   กิจกรรมที่นำมาใช้ก็หนีไม่พ้นเรื่อง สัตว์สี่ทิศ   เพราะใช้เมื่อใดก็ได้ประโยชน์เมื่อนั้น          เป็นการกระตุกต่อมคิดครูได้ ไม่น้อยเลย

แม่ใหญ่เคยเข้าสัมนา กับอาจารย์ วิศิษฐ์  วังวิญญู  อาจารย์ ประชา หุตานุวัตร  และไปเข้าจิบน้ำชา กับ  ดร. วรภัทร  ภู่เจริญ มาก่อน  ทั้งสามกระบวนกร ชั้นเซียนนี้   ล้วนแล้ว แต่นำเรื่องสัตว์สีทิศ  เข้ามาใช้ในการละลายพฤติกรรมผู้เข้าอบรมสัมนา ด้วยวิธีการต่างๆกัน   ในเวป gotoknow.org  หรือแม้แต่ในเวปลานปัญญาเอง  ก็มีคนเขียนเรื่อง “สัตว์สี่ทิศกันมาแล้วมากมาย 

แต่วันนี้  แม่ใหญ่ ขอเล่า  “สัตว์สี่ทิศ” เวอร์ชั่นที่แม่ใหญ่   เพิ่งนำมาใช้กับ ผู้ช่วยครู  ของโรงเรียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปีนี้มี  ผู้ช่วยครูเข้ามาใหม่หลายคน  ยังไม่ค่อยได้ทำความรู้จักกัน เพราะเพิ่งเปิดเทอมได้ไม่นาน   และโอกาสที่จะทำความรู้จักกันก็น้อย  เพราะผู้ช่วยครู ไม่มีโอกาสเข้าประชุมแผนก ทุกสัปดาห์เหมือน ครูประจำชั้น   ดังนั้น แม่ใหญ่ จึงได้ขอเชิญผู้ช่วยครูทั้งหมด 12 คน มาพูดคุยกัน เมื่อวานนี้  ในช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นเวลาเด็กหลับพอดี

การวางแผนกิจกรรมต้องให้กระชับเพราะมีเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง  ดังนั้น แม่ใหญ่ จึงเริ่ม

  • กิจกรรมที่ 1   “รู้เรา”   ด้วยการนำเอา  ลักษณะนิสัยของสัตว์ทั้งสี่ทิศ   มาแจกให้ทุกคนอ่านเงียบๆ   5 นาที   และให้นึกว่า ตัวเองมีลักษณะนิสัย   เหมือนสัตว์ตัวใดในสี่ชนืดนี้ โดยให้ความจำกัดความกว้างๆ  ไว้ว่า

                               1. กระทิง นิสัย เน้นเป้าหมายเป็นหลัก ลงมือทำไปก่อน เดี๋ยวดีเอง ใจร้อน แต่ขยัน
           เกลียดคำว่าทำไม่ได้     ต้องทำได้

                                2. หนู นิสัย ห่วงใยสัมพันธภาพ เกรงใจเพื่อน    ข้อเสียคือ ปากกับใจไม่ตรงกัน           
           ถ้าหนูกลัวแล้วจะดื้อสุดขีด เก่งเรื่องเจรจา แคร์เรื่องคนที่ตัวเองรัก  

                               3. หมี นิสัย   ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมเปลี่ยน มั่นคง ไม่ชอบเสี่ยง
             ทำ ทุกอย่างเป็นขั้นตอน  มองการณ์ไกล แต่แคบ รู้ลึกแต่ไม่กว้าง

                               4. อินทรีย์ นิสัย นก ชอบการเปลี่ยนแปลง มองกว้าง ภาพรวม vision ไกลแต่เบลอ
           ข้อเสีย คือ รู้ทุกเรื่องแต่ไม่ลงมือทำ รู้กว้างแต่ไม่ลึก 

 

เมื่อให้ครูรู้จักตนเองพอสมควรแก่เวลาแล้ว   แล้วก็มาต่อด้วย

  • กิจกรรมที่ 2   “รู้เขา”   ให้ครูมองหน้ากัน  ยิ้มให้กัน  เลือกจับคู่กับคนที่คุ้นเคยน้อยที่สุด  ให้เวลา สิบนาที  ในการเล่าเรื่องตัวเองให้คู่ฟังว่า  ตนเป็นใครมาจากไหน เรียนจบอะไรมา ทำงานห้องไหน  กับครูประจำชั้นชื่ออะไร  ทำไมมาทำงานที่นี่  แล้ว มีความสุขกับงานไหม แล้วลงท้ายบอกว่าตัวมีลักษณะนิสัยแบบสัตว์ตัวไหน ยกตัวอย่างที่ตัวเองเป็นเพื่ออ้างอิง

 

  • กิจกรรมที่ 3  “ ฟังแล้วบอกต่อ  ” ให้แต่ละคน  เล่าให้กลุ่มฟังว่า  คู่ของตนเป็นใครมาจากไหน เรียนจบอะไรมา ทำงานห้องไหน  กับครูประจำชั้นชื่ออะไร  ทำไมมาทำงานที่นี่  แล้ว มีความสุขกับงานไหม แล้วลงท้ายบอกว่าตัวมีลักษณะนิสัยแบบสัตว์ตัวไหน (กิจกรรมนี้  ใช้เวลาประมาณ  20 นาที   เพราะผู้เข้าประชุมมีทั้งหมด 12 คน เล่า คนละสองนาที ก็เข้าไป 24 นาทีแล้ว )

 

  • กิจกรรมสุดท้าย “วิเคราะห์ทีมงาน”  ให้แต่ละคน คิดว่า ครูประจำชั้นของตน มีลักษณะนิสัยเช่นไร  เมื่อทำงานร่วมกัน แล้วเกิดความเข้าใจกันเพียงใด  หรือมีปัญหาอะไรที่ทำให้ทำงาน  ไม่ราบรื่นบ้าง (กิจกรรมนี้ใช้เวลา  อีก ประมาณ 20 นาที เช่นกัน )

เวลามีน้อย โอกาสวิเคราะห์มีไม่มากนัก    รู้สึกผู้เข้าประชุมยังอยากคุยต่อ  แต่ต้องกลับไปปฏิบัติภาระหน้าที่   จึงบอกไว้ว่า  เดือนหน้า เรามาพบกันอีกที  มาพบกับแม่ใหญ่ มีแต่กิจกรรมสนุกๆให้เล่นกันนะ ไม่ต้องเกร็ง  เรามารู้จักกันไว้ ดีกว่า  เวลาทำงานด้วยกัน มันจะได้ราบรื่น  ถ้า  “รู้เขา รู้เรา”  “เข้าใจเขา เข้าใจเรา” “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”  เรื่องยากๆก็จะเป็นเรื่องง่าย


 
 
 

 

 

 

 



Main: 0.089356899261475 sec
Sidebar: 0.098885059356689 sec