พักใจริมแม่น้ำโขง….เมืองโบราณเชียงคาน

10659 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 15 เมษายน 2010 เวลา 17:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 42903

      ผู้เขียนเดินทางไปพักผ่อนที่เชียงคาน เมืองโบราณ ริมแม่น้ำโขง จ.เลย เลือกโฮมสเตย์ ชื่อ เชียงคานริเวอร์วิว  ของอ.จงรักษ์  จากการพูดคุยบ้านนี้เกิดขึ้นเพราะลูกชายเจ้าของบ้านอยากทำเพื่อจะได้มีรายได้  น้องกำลังจะขึ้นม.4 แต่คิดดีแบบนี้น่าสนับสนุนมาก

   ชมวิวตรงระเบียงมองเห็นฝั่งลาวอยู่ไม่ไกล  ถ้าใครจะข้ามไปเที่ยวให้เตรียมรูปสองใบ สำเนาบัตรประชาชนก็ข้ามไปได้แล้วค่ะ  สำหรับห้องพักชั้นบนริมหน้าต่างมีสองห้อง ห้องน้ำรวม แต่สะอาดดีค่ะ  ห้องละ 500 บาทสำหรับสองคน แต่เพิ่มที่นอนอีก 1 คน คิดเพิ่ม 100 บาท รวมเป็นคืนละ 600 บาท  ที่บ้านนี้มีที่จอดรถสองคัน ถ้าเป็นบ้านพักอื่นต้องจอดหน้าบ้าน

เรามาถึงกันช่วงบ่ายเลยไปหาร้านเครื่องดื่ม เจอร้านชานเคียง ตกแต่งได้น่ารัก  ทราบว่าด้านหลังเป็นที่พักด้วย ตกแต่งได้น่าจะถูกใจวัยรุ่น

                   สาวๆที่ชอบถ่ายรูปบรรยากาศเก่าๆ มีมุมถ่ายรูปสวยๆสั่งเครื่องดื่ม 3 แก้ว ราคา 120 บาท

สำหรับหน้าร้อนแบบนี้ต้องแวะไปเที่ยว แก่งคุดคู้  ถ้าไปก่อนสงกรานต์หรือไม่ใช่วันหยุด จะไม่ต้องเบียดเสียดกับใคร มีมุมถ่ายรูปสวยๆที่ไม่ต้องเข้าคิวถ่ายรูป

ตรงบันไดทางลงด้านล่างมีร้านเล็กๆขวามือขายกุ้งทอดแพละ  20 บาท แม่ค้าจะทอดไว้ก่อน พอเราสั่งถึงจะลงกระทะอีกครั้งหนึ่ง ทานกับน้ำอาจาด  แล้วก็ตามเคยพอเราไปซื้อก็มีคนมามุงกันเต็มเลย…แถวนั้นมีวัดท่าแขก วัดเก่าแก่ให้แวะชม ที่เชียงคานมีวัดเยอะมาก  ดูตามแผนที่แล้วแวะชมได้เลย

ตอนเย็นเลือกจักรยานที่บ้านพักคนละคน บริการฟรีค่ะ  แต่ก็มีร้านจักรยานบริการวันละ 50 บาท  เลือกได้ค้นสีส้ม ปั่นชมธรรมชาติยามเย็น  เห็นร้านค้าเริ่มเปิดกันบ้างแล้ว เพราะกลางวันแดดร้อนมากๆ

ขี่รถอ้อมไปด้านหลังบ้าน  เลียบริมแม่น้ำโขง เจอป้ายถูกใจมากๆหลายจุด  “เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง”  “ทิ้งรักลงแม่น้ำ” “อกหักพักบ้านนี้” อิอิ…วิ่งไปถ่ายรูปกันใหญ่เลย

ขี่รถวนกลับมาอีกรอบ คราวนี้ร้านต่างๆเปิดไฟรับนักท่องเที่ยว เพราะเป็นถนนคนเดินด้วย  จอดร้านจำเลยรัก เป็นร้านเครื่องดื่ม  ขายโปสการ์ดที่ระลึก  ของที่ระลึกด้วย  ผ่านร้านชานเคียงอีกครั้ง กลางคืนยิ่งสวยใหญ่ ความจริงมีร้านหลายร้านนะคะ แต่ก็แวะบางร้านเท่านั้น

หิวข้าวกันแล้วตัดสินใจเลือกร้านธรรมดาๆ ครัวศรีพรรณ  เห็นบรรยากาศแล้วเหมือนนั่งทานที่บ้าน ไม่ได้ตกแต่งอะไร เมนูที่สั่งมี ยำผักกูดปลอดสารพิษ   ผัดเผ็ดปลาคัง  ต้มยำปลาเนื้ออ่อน  สั่งเครื่องดื่มพวกน้ำอัดลมนิดหน่อย ทานไปคุยกับเจ้าของร้านไป เหมือนบ้านจริงๆเลยต่างตรงได้นิ่งริมแม่น้ำโขง  จ่ายไป 365 บาท  แต่ถ้าต้องการนั่งแบบมีบรรยากาศสวยๆราคาก็จะเพิ่มไปอีก  เห็นมีร้านหลวงพระบาง ตกแต่งสวยมากๆ ใครพาแฟนมาต้องการความโรแมนติกก็ที่นั่นเลย มีอีกหนึ่งร้านชื่อ ร้านระเบียง  แต่วันที่ไป ร้านปิดค่ะ

ตอนเช้า 6 โมง รีบตื่นมาร่วมตักบาตรข้าวเหนียว  ทางเจ้าของบ้านเตรียมข้าวเหนียวร้อนๆมาให้คนละกระติ๊บ เป็นการตักครั้งแรก รีบวิ่งไปล้างมือก่อน กลับมาตกใจพระท่านมาพอดี ทำอะไรไม่ถูก หยิบข้าวเหนียวในกระติ๊บร้อนมากๆ ใส่ข้าวเหนียวซะก้อนใหญ่เชียว  ก็คนไม่เคยทำนี่นา… มีหนุ่มๆนักท่องเที่ยวเพิ่งมาถึงตอนเช้าเข้ามาถามว่าอยากได้ข้าวเหนียว ทางคุณยายเจ้าของบ้านก็ส่งให้กระติ๊บนึง  น้องๆเขาดีใจกันใหญ่เลย  นั่งเก้าอี้ตักบาตรก็เพิ่งเคยนะ แต่สุดท้ายขอยืนดีกว่าเพราะเราชินแบบนี้มากกว่า…

แล้วกลับมาชมพระอาทิตย์ขึ้นตรงระเบียงชั้นล่าง  อ.จงรักษ์เตรียมกล้องส่องทางไกลมาให้ ไว้ส่องดูฝั่งลาว  นั่งจิบกาแฟยามเช้าริมโขง  แหม…โรแมนติกซะ   ระเบียงที่นี่มีต้นมะพร้าวโผล่ทะลุ กลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไปเลย 

      ยามเช้าก็ต้องขี่จักรยานสำรวจต่อ…กลับไปแวะร้าน จำเลยรัก  ทานไข่กระทะปลาทูน่า มีปลาท่องโก๋ และขนมปังทาเนยเสริฟมาด้วย  เจ้าของร้านแนะนำชาของเวียดนาม แต่จำชื่อไม่ได้ มื้อนี้จ่ายไป อีก  120 บาท ใครซื้อโปสการ์ดที่นี่ก็หาตู้ไปรษณีย์น่ารักๆ ส่งได้ค่ะ

ผ่านเฮือน 100 ปี ซึ่งเมื่อคืนเพื่อนถูกตู้ไปรษณีย์บาดขา(สงสัยแอคชั่นมาก) คุณป้าพาเข้าร้านไปทำแผล ติดปลาสเตอร์ มาที่นี่อบอุ่นจริงๆ  เดินพูดคุยทักทายเหมือนญาติๆเลย

แวะถ่ายรูปร้านสองผัวเมีย แต่ปิด ร้านนี้เห็นในเน็ตตกแต่งสวยสุดๆ มีห้องให้พักด้วยหล่ะ แต่ต้องจองล่วงหน้า 7 วัน ผ่านไปเห็น ขนมฝักบัวใบเตย   หาทานได้ยากแล้วนะสมัยนี้ 

ปั่นจักรยานจนหอบ…ผ่านซอย 4 แล้วทะลุขึ้นผ่านสี่แยกไฟแดงจะเจอร้านสุวรรณรามา  ที่นี่เป็นโรงหนังเก่าค่ะ แต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงเป็นร้านอาหาร เครื่องดื่ม แต่ยังมีของตกแต่งที่บ่งบอกความเป็นโรงหนังเก่าอยู่ด้วย เก้าอี้โรงหนังเก่าๆ ฟิล์มหนัง…..ทำให้พลอยได้กลิ่นอายเก่าๆไปด้วย   สั่งน้ำแดงมาเพิ่มความสดชื่น ทำให้ค่อยยังชั่วหน่อย

                                     ด้านหน้ามีชิงช้าสวยๆไว้ให้นั่งถ่ายรูปคู่กับ ไก่ (จริงๆ)

ได้เวลาร่ำลาเจ้าของบ้านแล้ว….อ.จงรักษ์  ครูติ๋วและลูกชาย แล้วจะกลับมาใหม่นะคะ

สำหรับเชียงคานแล้ว….บางคนก็บอกว่าคล้ายปายบ้าง เป็นคู่แฝดปายหรือปาย 2 (สงสัยวัยรุ่นจะตั้งฉายาให้)  แต่ถ้าเราไปศึกษาประวัติความเป็นมาจริงๆแล้ว  เชียงคานมีอะไรน่าค้นหามากกว่านั้น  มากกว่าไปหามุมเก่าๆถ่ายรูปมาอวดกัน    วัดที่เชียงคานมีอยู่มากมาย  ดูเหมือนว่าใครอยากไหว้พระ 9 วัดสามารถทำได้ที่นี่ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ที่สำคัญวัดที่นี่ตั้งเรียงรายขนานกับแม่น้ำโขง   ครูติ๋วบอกว่าให้รีบไปชมนะก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามาบูรณะ( อิอิ…) ลองเข้าไปศึกษาประวัติความเป็นมาของเชียงคานแล้วจะรู้สึกทึ่ง 

มีบางคนไปเที่ยวเชียงคานแล้วกลับมาบ่นว่า

“ไม่เห็นมีอะไรเลย”   นั่นก็อยู่ที่ว่า คุณตั้งใจว่าจะไปดูอะไรกัน  ถ้าคิดว่าจะไปช๊อปปิ้งก็เปลี่ยนใจไปเที่ยวที่อื่นเถอะ อยากให้เชียงคานเป็นเมืองสงบ  มีประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมให้น่าค้นหา  แต่ทราบว่าวันเสาร์อาทิตย์จะมีคนต่างถิ่นเข้ามาเปิดร้าน  จากเดิม สามสี่ทุ่ม เชียงคานจะปิดไฟเงียบสงบแล้ว   ตอนนี้บางร้านกลับเปิดดึกขึ้นเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม  อยากให้คนเชียงคานตระหนักตรงนี้…แหล่งบันเทิงต่างๆที่ไหนก็มีเที่ยว  แต่ดินแดนที่สงบ น่าค้นหา ไปตรงไหนก็มีแต่คนน่ารัก  ยิ้มแย้มให้    เหมาะแก่การมาพักใจมีไม่มากนัก  อย่ารีบทำลายสิ่งดีๆเหล่านี้เลย…..


การระดมความคิดของวช.”การปฏิรูปการศึกษา”

6696 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 เวลา 20:46 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 29024

ผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเรื่อง”การกำหนดหัวข้อการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2553-2554″ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2552 ณ โรงแรมมิราเคิล  แกรนด์ คอนเวนชั่น  กรุงเทพมหานคร   ในหัวข้อเรื่อง  การปฏิรูปการศึกษา มีวิทยากร 3 ท่านได้แก่ ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาการศึกษา  ดร.รุ่งเรือง  สุขาภิรมย์ กระทรวงศึกษาธิการ  รศ.ทองอินทร์  วงศ์โสธร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ท่านวิทยากร กล่าวว่า…กลไกการศึกษาแยกแยะคนดีคนชั่วไม่ได้  แยกแยะความจริงกับความคิดเห็นไม่ได้   สังคมที่เราต้องการคือ…. สังคมสันติภาพ  ระเบียบกระบวนการศึกษาความขัดแย้ง   เรื่องสื่อมีอิทธิพลมาก ทำอย่างไรให้รู้เท่าทันสื่อและมีทักษะความรู้เรื่อง ICT ด้วย

เป้าหมายในการปฏิรูปรอบแรก    คนเราควรมีความถึงพร้อมด้วยสุขภาวะ 4 ประการ(กาย  จิต  สังคม  ปัญญา)

ครองคุณสมบัติของความเป็นคน “เก่ง-ดี-มีสุข”

“เก่ง”  หมายถึง การ “รู้/เข้าใจ-คิด-ทำ”

“ดี”  หมายถึง การมี “ศีล-สมาธิ-ปัญญา” และ”มัชฌิมาปฏิปทา”

“มีสุข” หมายถึง  “สุขกับตัวเอง  คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม”

ต้องเป็นเรื่องการรู้  ความเข้าใจ   นิยามนี้ต้องมานั่งทบทวน  พอพูดถึงเก่ง ก็ O-NET พอไม่ดีก็เครียด  มาโทษว่าสมรรถนะการแข่งขันไม่ดี  ข้างนอกมีแหล่งเรียนรู้มาก แต่เวลาสอบเน้นวิชาการ

ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษา

ปัญหาเกี่ยวกับครู ปัญหาที่แก้ไขได้โดยการวิจัยต่อไปในอนาคต

- การขาดแคลนครู                  - ขาดแคลนครูเฉพาะสาขา

- คุณภาพและมาตรฐานครู         - การผลิตครูยุคใหม่ให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ปัญหาด้านการจัดการศึกษา

- การพัฒนาหลักสูตร               -  การจัดทำหลักสูตรที่ยึดความดีเป็นตัวตั้ง

- ความสมบูรณ์ของหลักสูตร    -  ปัญหาความคล่องตัวในการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยเหมาะสมกับสังคม

- การจัดการเรียนการสอน       -  ปัญหาการขาดสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

เราให้ความสำคัญกับความรู้เก่งมาก ก็แสวงหาอำนาจ เงินตรา ยิ่งสร้างตนเองให้มี power  จึงต้องเปลี่ยนการพัฒนารหัสใหม่ให้ความดีเป็นตัวตั้ง  การอยู่ร่วมกันให้ได้ การแสวงหาความรู้  พัฒนาความดี   หาช่องทางให้เกิดความรู้เพื่อนำไปสู่ในการพัฒนาสังคม  กระบวนการศึกษาของเราต้องเน้นความดีเป็นตัวตั้ง

เราจะจัดการศึกษาอย่างไรต้องวิจัย  ครูรุ่นใหม่ควรใส่จิตวิญญาณของการพัฒนาแนวคิด   มีงานวิจัย McKinsey กับประเทศต่างๆ ตรงไหนดีไม่ดี เลือกที่มี best  practice 20-30 ประเทศได้ข้อสรุปว่าคุณภาพการศึกษาก็คือ คุณภาพครู

งานวิจัยของ McKinsey  และคณะ(2007) ได้ข้อสรุปว่า…

- การศึกษาที่ดีมาจากคุณภาพของคนที่มาเป็นครู

- คุณภาพการศึกษาไม่มีทางเกินคุณภาพครู

- ต้องสร้างความมั่นคงในระบบและกลไกลที่จะทำให้ครูสอนผู้เรียนทุกคนดีที่สุด

-  วางระบบการคัดคนที่เหมาะสมมาเป็นครู

-  สร้างแรงเสริมให้คนเก่ง/ดีเป็นครู

-  ผลิตและพัฒนาครูให้มีทักษะความสามารถในการพัฒนาคน

ทำอย่างไรจะรักษาครูเก่งๆให้คงอยู่…..

หลักกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการเรียนรู้ทางสังคม(Social learning)

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมกับจิตวิทยาซึ่งมีผลทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพตามแนวทางที่สังคมต้องการ      ทำให้ผู้ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มได้เรียนรู้และรับระเบียบวิธีกฏเกณฑ์ความประพฤติและค่านิยมต่างๆที่กลุ่มได้กำหนดไว้เป็นระเบียบของความประพฤติและความสัมพันธ์ของสมาชิกของสังคมนั้น

สมาชิกของสังคมจะต้องผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตลอดชีวิตทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพตามความต้องการของสังคม  มีความเป็นคนไทยโดยแท้จริง  สามารถอยู่ร่วมและมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างราบรื่น

วิจัยเพื่อพัฒนาคนเป็นงานวิจัยหลัก พยายามผลักดัน งานวิจัย R&D ที่เน้นการใช้ปัญญาแก้ปัญหาการขัดแย้งในสังคม    ต้องแสกนกลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเป้าหมายในแต่ละสังคม  ในสิบปีข้างหน้าเราจะปลอดอะไรบ้าง เช่นการอ่านหนังสือไม่ได้  ตำบลเรา จังหวัดเรา  ภูมิภาคเรามีมั้ย  จนนำไปสู่ระดับชาติ

การพัฒนาคนระดับนโยบาย

- การวิจัยและพัฒนารูปแบบการใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม

- การวิจัยเพื่อสำรวจปริมาณและพัฒนาคนไทยให้มีระดับจิตใจสูงขึ้นตามรหัสใหม่ของการพัฒนา(ยึดความดีเป็นตัวตั้ง)

- การวิจัยนโยบายเพื่อวางระบบการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนไทยที่มีประสิทธิผล

การพัฒนาระบบการศึกษา

- การประเมินเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง/จุดอ่อนในทุกขั้นตอนของระบการจัดการศึกษา   (เช่น การเรียนการสอนเน้น”การคิด” แต่การประเมิน เน้น “การจำ”) ระบบการปฏิรูปไม่เปลี่ยน

- การวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการศึกษาแบบองค์รวมที่เน้นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม/ทักษะการเรียนรู้ทางสังคม

- การพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการศึกษาทุกระบบ

การปฏิรูปการศึกษาแต่ระบบการประเมินยังไม่เปลี่ยน  การคิดเชิงทักษะชีวิต การโยงความรู้ไปใช้ในห้องเรียน  แต่ไม่มีการคิดให้เขามีความสุข   คนทำวิจัยเรื่องครู  ระบบการผลิตครู  เรารู้ว่าคนเก่งไม่มาเรียนครู   มีการพูดว่าให้เพิ่มเงินเดือน  แต่ถึงเพิ่มไปคนเก่งก็ไม่มาเรียน สามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้

คนเก่งที่มีไอคิวสูง  เขาก็ไม่สามารถทนกับการมาอธิบายผู้เรียนระดับปกติให้เข้าใจได้  เพราะเขาก็จะสามารถพูดคุยได้แต่คนที่มีไอคิวระดับเดียวกันเท่านั้น   การดึงคนเก่งมาเป็นครูอย่าคิดมิติเดียวว่าขึ้นเงินเดือน  ลองหากลยุทธ์ที่คนเรียนไม่เก่งมาก แต่รักจะเป็นครูคนเรียนครูแต่อยากประกอบอาชีพครู 60%  เป็นคนต่างจังหวัด อีก 40% ไปทำอาชีพอื่น

ควรมีการวิจัยระบบต่อยอดสายวทบ.ดึงให้มาเป็นครู  แต่กลายเป็นว่าเด็กเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพมากขึ้น  นับวันจะหาคนที่เก่งฟิสิกส์ยากขึ้น

ครูวางเป้าหมายมาตรฐานเด็กระดับไหน  แล้วถึงเป้ามาตรฐานหรือยัง ต่อไปต้องนำข้อสอบ O-NET มาให้อาจารย์วิเคราะห์ว่าข้อสอบดีไม่ดีอย่างไร ไม่มีใครที่จะรู้ได้ดีกว่าครู

การพัฒนาคุณภาพครู

1. การวิจัยเพื่อปรับปรุงสมาคมวิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล

2. การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการผลิตครู(มีกลยุทธ์ที่ดีในการดึงคนเก่งมาเรียนครู)

3. การวิจัยและการแก้ปัญหาสุขภาวะทางอาชีพของครู(occupational  well-being)

4. การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายครูในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาชีพ

5. การวิจัยและพัฒนาศาสตร์การสอน  เทคโนโลยีการศึกษาและการประเมินที่มีประสิทธิภาพสำหรับครู

6. การพัฒนากระบวนการผลิตครูที่เป็นระบบต่อยอดจากปริญญาตรีสาขาวิชาการ

การแก้ปัญหาความยากจน

- การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

- การพัฒนาชุดฝึกอบรมการแก้ปัญหาทางสังคมด้วยตนเอง

- การวิจัยเพื่อหาแนวทางการยกระดับจิตใจของคนไทย

- การวิจัยเพื่อหามาตรการกระจายรายได้สู่สังคมชนบทผ่านกิจกรรมทางการศึกษา

การพัฒนาทางเทคโนโลยี

1.การวิจัยเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางสังคม

2.การพัฒนาคนไทยให้มีความรู้ที่จำเป็นด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร(ICT Literacy)

3.การพัฒนาแนวทางการปฏิรูประบบการผลิตเทคโนโลยีการสื่อสาร(ทั้งการพัฒนาที่ตัวผู้ผลิตและการพัฒนาที่ตัวเทคโนโลยี)

4.การวิจัยและพัฒนามาตรการควบคุมการเผยแพร่ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร

5.การวิจัยเพื่อสำรวจปริมาณและพัฒนาคุณภาพจิตสำนึกสาธารณะของนักสื่อสารมวลชน

ควรมีงานวิจัยที่ยกระดับคุณภาพการศึกษาสื่อสารมวลชนด้วย

ตัวอย่างโจทย์วิจัย

1.  การพัฒนา “ครูดี มีความรู้”

2.  การพัฒนาหลักสูตรตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมสันติสุข  หลักสูตรแบบนี้หน้าตาอย่างไร

3.  การพัฒนาสื่อการสอนและตำรา ควรมาเทียบสื่อก่อนปฏิรูปและหลังปฏิรูปว่าผลิตตำราเปลี่ยนไปหรือเปล่า

4.  การปฏิรูประบบการผลิตครู

5.  ทิศทางการพัฒนากำลังคนในอนาคต

6.  การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนเพื่อการใช้ชีวิตในสังคม

7.  การพัฒนาคนรุ่นใหม่โดยใช้กระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการเรียนรู้ทางสังคม

8.  การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ประชาธิปไตย   ตอนนี้มีวิธีการสอนแบบหนึ่งที่ให้เด็กได้ใช้ประชาธิปไตยในเรียน  คือผู้สอนใช้การสอนที่เด็กมีสิทธิมีเสียงในการเรียน

9.  การสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยพอเพียง

10. การพัฒนาคนเพื่อสรรค์สร้างสังคมสันติ  วิถีไทย

11. การปฏิรูปการศึกษาเน้นการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น

12. พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนเพื่อการใช้ชีวิตในสังคม

13. การพัฒนาหลักสูตรเน้นการสอนคิดมากกว่าการสอนความรู้

14. การพัฒนาระบบประเมินผู้เรียนทุกระดับให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการพัฒนานโยบาย

15. การพัฒนาระบบการประเมินผู้เรียนที่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่

จะทำอย่างไรที่ข้อสอบไม่ได้วัดแต่ความรู้ แต่วัดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง

หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดถอดมาจากการบรรยายของวิทยากรก่อนการระดมความคิดเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย   อาจมีบางส่วนที่ไม่ได้นำเสนอบ้างเพราะข้อมูลค่อนข้างมาก


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมู่บ้านปางจำปีตอนที่ 3

1208 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 2 มกราคม 2009 เวลา 20:04 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 7196

คณะกรรมการหมู่บ้านได้อนุมัติเงินจากกองทุน SML มา 200,000 บาทในการสร้างอุทยานการเรียนรู้บ้านปางจำปีขึ้น ชื่อ “บ้านวังปลา”

ซึ่งก่อสร้างโดยใช้ไม้ไผ่เป็นความร่วมมือกันของชาวบ้าน  โดยชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาหลังคาเรือนละ 10 เล่ม ใช้เวลาสร้างรวม 4 เดือน มีพิธีเปิดเมื่อเดือน พฤษภาคม 2548

ที่บ้านวังปลานั้นประกอบด้วยสวนสมุนไพร แปลงสาธิต เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา”วังปลา” น้ำตกท่าบันได ตลอดจนภูมิปัญญาเรื่องการจัดการน้ำริน ฝายแม้ว

ซึ่งถ้าผู้มาเยี่ยมเยียนอยากมีเวลาศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากขึ้นก็สามารถพักที่บ้านพักรับรองได้ประกอบด้วยกัน 4 ห้องนอน มีห้องน้ำในตัว มีพื้นที่สำหรับนั่งแลกเปลี่ยนเป็นหมู่คณะ

ห้องพักมี 4 ห้องนอน พร้อมห้องน้ำในตัว

ทางพ่อหลวงบอกว่า….มีการแบ่งกลุ่มกันในหมู่บ้านเป็นกลุ่มผู้ให้ข้อมูลความรู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน กลุ่มองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากร

อาหารธรรมดา แกงจืด น้ำพริกกะิปิ ไำ้ำก่ทอดตะไคร้ แต่รู้สึกอร่อยจริงๆ

อาหารธรรมดาแกงจืด  น้ำพริกกะปิ  ไก่ทอดตะไคร้ แต่อร่อยจริงๆ

มีกลุ่มแม่บ้านสำหรับดูแลห้องพักและทำอาหารรับรองซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนกันมาทำ อาหารธรรมดาๆแต่อร่อยจังเลยค่ะ ไม่รู้ว่าเหนื่อยกันหรือเปล่า ดูจากโตกของผู้เขียนได้ว่าเหลืออะไรบ้าง…

กลุ่มรักษาความปลอดภัย มีการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมคือกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยพาเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และกลุ่มการคลัง

บริเวณน้ำตกท่าบันได
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อให้เกิดรายได้เข้ามาหมุนเวียนในหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆก็สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

การทำฝายแม้วบริเวณน้ำตกท่าบันได

ซึ่งมีทีมนักวิจัยท่านหนึ่งซึ่งเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้เจอคือ..คุณธนากรกล่าวไว้ว่า…..
“เราไม่ได้ขายทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราขายวิธีการเรียนรู้ วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ”

ความประทับใจเล็กๆในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่หมู่บ้านปางจำปี แต่ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอิบใจกับผลของงานวิจัยที่เกิดขึ้น งานวิจัยหลายชิ้นล้มเหลวเพราะนักวิชาการเข้าไปช่วยคิด ช่วยจัดการชุมชนมากเกินไป โดยไม่ได้มองจากความต้องการจริงๆของชุมชน แต่สำหรับที่นี่งานวิจัยเกิดจากการเข้าไปชี้แนะของนักวิชาการ ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และมีการจัดการทรัพยากรธรรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอแนะที่ชุมชนฝากไว้คือ นักวิชาการที่คิดจะเข้าไปทำวิจัยชุมชนควรจะมีตัวกลางที่สามารถเชื่อมกันได้ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ เพราะนักวิชาการเองก็คุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ส่วนชาวบ้านก็ไม่รู้จะสื่อสารกับนักวิชาการอย่างไร และที่สำคัญงานวิจัยควรเกิดจากความต้องการจริงๆของชุมชน


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หมู่บ้านปางจำปี ตอนที่ 2

1273 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 2 มกราคม 2009 เวลา 19:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 7333

หลังจากเริ่มมีปัญหาตามมามากมาย ในปี 2543-2544 ไฟไหม้ป่า น้ำในห้วยแห้ง อากาศร้อน มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร จึงเป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น

พี่สวัสดิ์ ขัติยะ เล่าว่า….ไปอยู่กรุงเทพมา 4-5 ปีกลับมาเจอสภาพหมู่บ้านที่แห้งแล้งกันดาร เมื่อปี 2543-2544 เกิดวิกฤตการณ์อย่างหนักเมื่อลำน้ำแม่ลายน้อยซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของขุนน้ำแม่กวง ที่ไหลผ่านกลางชุมชนเกิดแห้งขอด กุ้ง หอย ปูปลา สัตว์น้ำที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์เริ่มเหือดหาย ลำน้ำ 22 สาขาของน้ำแม่ลายน้อยเหลือเพียง 7 สาขาที่ยังไหลมารวมกัน ไฟป่าเริ่มคุกคาม เลยคิดถึงอนาคต

เนื่องจากไปแต่งงานกับคนชุมชนบ้านป๊อกซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นน้ำแม่ลายน้อย ชุมชนบ้านป๊อกเป็นหมู่บ้านต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนบ้านปางจำปีเป็นถือเป็นหมู่บ้านปลายน้ำ ทั้งสองหมู่บ้านจึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหา มีการนำงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือ โดยมีอ.คณิต คำเจริญมาชวนทำวิจัย โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพี่อท้องถิ่น ภายใต้ชื่อโครงการ “การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองของชุมชนบ้านป๊อก และบ้านปางจำปี ต.ห้วยแก้ว กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่”

เริ่มแรกสกว.แม่โจ้เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง เริ่มต้นก็มีการให้ทีมวิจัยซึ่งเป็นคนในชุมชนเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาโดยเป็นคนบ้านป๊อก 5 คนและ บ้านปางจำปี 5 คน (ได้อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง สายนทีแห่งชีวิต:ลำน้ำแม่ลายน้อยของคุณ นิตยา โปธาวงค์ ในจดหมายข่าว งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.) ทุกคนจะต้องเขียนบันทึกตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งเป็นกุสโลบายอย่างหนึ่งเพราะชีวิตชาวบ้านนั้นผูกพันกับสายน้ำอยู่แล้ว สิ่งที่ได้บอกเล่านั้นได้ทำให้ชาวบ้านได้คิดว่า ตนเองได้ทำร้ายอะไรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนตนเองบ้าง

การรับเหมาตัดไม้ การเผาป่า การหาสัตว์น้ำอย่างผิดวิธี สิ่งเหล่านี้ผ่านการบอกเล่าของทุกคน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายหันกลับมาพลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
พี่บุญเสริฐ โจมขัน ผู้ซึ่งหากินกับการหาสัตว์ป่า ของป่าในอดีตเล่าว่า ตนเองเรียนยังไม่จบป.2 ด้วยซ้ำ สมัยก่อนนั้นทั้งค้าของป่า การพนัน เหล้าบุหรี่ แต่เมื่อต้องเข้ามาร่วมเป็นนักวิจัยนั้นทำให้ต้องเรียนรู้มากขึ้น หลายครั้งที่ต้องให้ลูกมาช่วยเรื่องการเขียน เขาบอกว่า งานวิจัยและเวทีนักจัดการความรู้(เวทีพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.แม่โจ้ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) ) เหมือนขุดเขาขึ้นมาจากใต้ดิน

ปัจจุบันพี่บุญเสริฐ ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และประธานประชาคมหมู่บ้านปางจำปี เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาและบุหรี่
ทีมวิจัยได้พูดคุยกันถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้ง การทำฝาย การทำน้ำริน การทำบ่อทราย ตลอดจนที่ดินทำกินสองฝั่งลำน้ำ จึงได้มีการแบ่งงานกันทำ พี่บุญเสริฐนั้นมีความถนัดเรื่องป่าจึงได้อยู่ฝ่ายสำรวจข้อมูลลำน้ำสาขา ทำการบันทึกและไปทำความเข้าใจกับชุมชน โดยแต่ละฝ่ายจะต้องมีการนำเสนองานในที่ประชุมงานวิจัย ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยนอกรอบตอนนั่งทานขันโตกร่วมวงกับพี่เสริฐ เนื่องจากชาวบ้านมักมีปัญหาเรื่องการรุกล้ำที่ดินทำกินสองฝั่งลำน้ำ จึงมีการทำโฉนดชุมชน

โดยการสำรวจพื้นที่ทำกินตกลงหารือกันกับชาวบ้านในชุมชนถึงพื้นที่ทำกิน มีการละเว้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองฝั่งลำน้ำห่างจากลำน้ำ 500 เมตรมีการงดใช้สารเคมี แล้วออกเป็นโฉนดชุมชนขึ้นมา ถ้าชาวบ้านคนใดบุกรุกพื้นที่ป่าก็จะมีกฏกติกาของชุมชน ผู้เขียนก็สงสัยว่า….ถ้าชาวบ้านไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น พ่อหลวงก็บอกว่า….ก็ต้องส่งตัวให้ตำรวจดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

นอกจากการงดใช้สารเคมีแล้วยังมีการปลูกพืชซับน้ำตระกูลกล้วย และไม้น้ำ มีการปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชนร่วมกันแพ้วถาง เก็บขยะตลอดลำน้ำตั้งแต่บ้านป๊อกลงมาบ้านปางจำปี ทั้งนี้เพื่อให้ลำน้ำไหลได้อย่างสะดวก และมีการบวชป่าสืบชะตาลำน้ำแม่ลายน้อย ในเดือนพฤษภาคม 2548 ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่แห้งแล้งมีน้ำน้อยที่สุด
แต่ละครัวเรือนจะมีการส่งตัวแทนมาร่วมถางป่า ร่วมกับเยาวชนบริเวณน้ำตกท่าบันได มีการนำภูมิปัญญาที่กล่าวถึงข้างต้นคือ การทำน้ำริน การทำฝาย เพื่อมาทำ “วังปลา”ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งพ่อหลวงได้เล่าถึงพันธุ์ปลาปรุง หรือปลาพวงเงิน ซึ่งมักอยู่ตามบริเวณถ้ำ เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชม

เพิ่มเติมถึง กฏระเบียบของหมู่บ้านที่กล่าวถึงไป นอกจากมีการห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณเพาะพันธุ์ปลา   กฏระเบียบเกี่ยวกับการตัดไม้ การหาของป่า การห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำ การปลูกป่าในวันสำคัญ   ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกคนในชุมชนอย่างแท้จริง


ฝากภาพแ่ม่คะนิ้งกิ่วแม่ปานมาสวัสดีปีใหม่ทุกท่านค่ะ

3294 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 1 มกราคม 2009 เวลา 14:57 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 13883

แม่คะนิ้งที่ กิ่วแม่ปาน  ดอยอินทนนท์  ภาพนี้ต้องดั้นด้นเดินเข้าไป เคยใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงถึงจะมีภาพมาฝากนะคะ  ถ่ายบริเวณทุ่งหญ้ากึ่่งอัลไพล์ ฝีมือน้องหมู น้องชายที่น่ารัก   ช่่วงปลายเดือนธันวาคม 51 สามารถเห็นแม่คะนิ้งได้แล้ว

ภาพนี้มองเห็นเส้นทางเดินไปกิ่วอยู่ข้างหน้า

ตอนนี้กุหลาบพันปีก็กำลังออกดอกค่ะ   ต้นนี้อยู่บริเวณกิ่วพอดี   ขอให้ทุกท่านที่แวะมาชมมีความสุขสดชื่น  รับปีใหม่ทุกท่านค่ะ


แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หมู่บ้านปางจำปี จ.เชียงใหม่ ตอนที่ 1

9056 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 28 ธันวาคม 2008 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 52318

วันที่ 24 ธ.ค. 51 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพานักศึกษาปริญญาโทสาขาการจัดการประยุกต์ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่   สำหรับที่แรกคือ หมู่บ้านปางจำปี หมู่ 7 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน  จ.เชียงใหม่   ประกอบด้วยกัน 5 กลุ่มบ้านคือ ป๊อกปางจำปี  ป๊อกหล่ายน้ำ   ป๊อกท่าทราย  ป๊อกปางตะเคียน ป๊อกบ้านพร้าว   มีครัวเรือนรวม 87 ครัวเรือน  ประชากร 279 คน มีอาชีพส่วนใหญ่คือรับจ้าง หาของป่า  ทำการเกษตร

สำหรับที่มาของชื่อ “ปางจำปี” คือ มาจากลักษณะของหมู่บ้านที่แต่เดิมมีต้นจำปีต้นใหญ่ขึ้นอยู่กลางหมู่บ้าน  แล้วเวลาใครเดินทางมาก็มักจะมาแวะพักที่ต้นจำปี   แต่ปัจจุบันต้นจำปีได้ถูกตัดไปแล้ว  เนื่องจากหมู่บ้านนี้อยู่บนพื้นที่สูง ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้มากนัก  ทำให้ต้องเข้าไปหาของป่า  ล่าสัตว์   ในห้วยแม่ลายน้อย ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชน   ทั้งเป็นแหล่งอาหารและนำมาซึ่งรายได้ให้กับครอบครัว

จากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรซึ่งเป็นคนในชุมชน 3 ท่าน ท่านแรกคือ พ่อหลวงสุจิตต์  ใจมา (คนที่นี่เรียกผู้ใหญ่บ้านว่า “พ่อหลวง”)  ท่านที่สองคือนายสวัสดิ์ ขัติยะ และท่านที่สามคือนายบุญเสริฐ  โจมขัน(ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)

พ่อหลวงได้เล่าถึงปัญหาต่างๆในชุมชน  อย่างที่กล่าวถึงข้างต้นเกี่ยวกับอาชีพของคนในหมู่บ้านนี้ หาของป่า(ทุกอย่าง)  ล่าสัตว์  ต้มเหล้าเถื่อน    ทำไร่เลื่อนลอย  ทำเรือนขาย (ท่านวิทยากรเรียก”บ้านแดดเดียว”) หมายถึงบ้านที่ชาวบ้านนำไม้ที่ตัดมาสร้าง  แล้วทำให้ดูเก่าแล้วขายยกหลัง   เรียกว่าในอดึตตัดไม้กันทั้งหมู่บ้าน  ในสมัยก่อนต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นใช้เวลาประมาณครึ่งเดือนในการตัด  แต่ต่อมามีเลื่อยยนต์ใช้เวลาเพียง 5 นาที  ในหมู่บ้านมีเลื่อยยนต์ถึง 30 เครื่อง   ชาวบ้านมีรายได้จากการตัดไม้วันละ 1,500 -2,000 บาท/วัน/คน (ต่างจากสมัยก่อนวันละ 100-200 /วัน/คน  ยิ่งมีการสัมปทานป่าไม้  ทำให้ไม้ใหญ่แทบจะไม่เหลือ

นอกจากนี้ชาวบ้านเริ่มพัฒนาการจับปลาแบบเดิมๆมาเป็นการใช้ปูนขาวโรยเพื่อเบือปลา  ใช้ระเบิดปลาจากหม้อแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซด์  ทำให้ปลาตายหมด  หลังจากนั้นเริ่มมีปัญหาตามมามากมาย ในปี 2543-2544 ไฟไหม้ป่า  น้ำในห้วยแห้ง  อากาศร้อน  มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร  จึงเป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น  ซึ่งจะขอเล่าในบันทึกถัดไปค่ะ


ชมภาพสวยๆกีฬาลีลาศ กีฬาแห่งชาติ

5121 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 20 ธันวาคม 2008 เวลา 21:33 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 24127

ระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค. 51 ได้รับมอบหมายให้เป็นฝ่่ายประเมินผลการจัดงานกีฬาลีลาศ หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พิษณุโลก   เลยเก็บบรรยากาศในวันแรกมาฝากค่ะ


อ่านบันทึก..แล้วสุขใจ

6054 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 22 กรกฏาคม 2008 เวลา 12:38 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 18896
ได้รับ FW mail มา เลยขอนำมาบันทึกไว้ในนี้ด้วย  เพื่อเป็นการเตือนใจตนเองและขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขยามได้อ่านค่ะหัดพูดแต่ด้านบวก แล้วจะรู้ ว่า มีคนอีกมากมายที่รักเรา
หัดยิ้ม
แล้วจะรู้ว่า เราคือคนที่น่ารัก
หัดฟาดฟันกับ อุปสรรค
แล้วจะรู้ว่า เราคือคนที่ เข้มแข็ง
ลองทน
แล้วจะรู้ว่า เรามีความอดทน ยิ่งกว่าใคร


ลองออกกำลังกายทุกวัน

แล้วจะรู้ ว่า เราคือมนุษย์เจ้าพลังคนหนึ่ง
ลองคิดเอาชนะ
แล้วจะรู้ว่า เราสามารถเอาชนะตัวเองได้ไม่ยาก
ลองคิดให้ ใหญ่
แล้วจะรู้ว่า เรามีความสามารถอย่างน่าแปลก ใจ 


       

นักพูดที่เป็นที่รู้จักกันดีท่านหนึ่ง ได้เริ่มหยุดการสัมมนาของเขา โดยการหยิบแบงค์ 1,000 ขึ้นมาในห้องที่ มีผู้เข้าร่วม 200 ท่าน แล้วเขาก็พูดว่า ใครอยาก ได้แบงค์ 1,000 นี้บ้างมือได้ ถูกยกขึ้นเป็นจำนวนมาก

และเขาก็พูดต่อว่าฉันจะให้ เงินแบงค์ 1,000 นี้แก่หนึ่งในพวกท่าน แต่ครั้งแรกนี้ฉันจะทำ อย่างนี้เขาเริ่มที่จะขยำ ๆ เงินนั้นแล้วเขาก็ถามอีกว่า ใครจะยังต้องการมันอีกยังคงมีมือที่ยกขึ้นอีก ดีเขา ตอบ

 แล้วถ้า ฉันทำอย่างนี้ล่ะและเขาก็ทิ้งมันลงที่พื้นและ เริ่มที่เหยียบย่ำมันด้วยรองเท้าของเขา แล้วเขาก็เก็บขึ้นมา ขณะนี้มันทั้งยับยู่ยี่และสกปรกตอนนี้ใครยังต้องการมันอีกก็ยังคงมีคนยกมืออีก


เพื่อน ๆ คุณได้เรียนรู้บทเรียนที่มีคุณค่ามากที่สุด บทหนึ่งแล้วว่า ไม่ว่าฉันจะทำอะไรกับเงิน คุณก็ ยังต้องการมันอยู่ เพราะว่ามันไม่ได้ลดคุณค่าในตัวมันลงเลย มันก็ยังคงมีค่า 1, 000 บาทอยู่นั่นเอง

เหมือนกับ หลาย ๆ ครั้งในชีวิตของเรา ที่ถูกทิ้ง ถูก เหยียบย่ำ และถูกทำให้สกปรก โดยสิ่งที่เราตัดสินใจทำ มัน และสภาพแวดล้อมที่เราเจอ ทำให้เรารู้สึก ว่าคุณค่าของเราลดน้อยลง

แต่ไม่ว่าอะไรที่ได้เกิด ขึ้น หรืออะไรที่จะเกิดขึ้น คุณไม่เคยสูญเสียคุณค่า ของคุณ คุณเป็นคนพิเศษ อย่าลืมมันตลอดไป!


อย่านำความผิดหวังของเมื่อวานมาบดบังความฝันในวันพรุ่งนี้


เสียงเล็กๆ…จากการลงชุมชน

2471 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 20 กรกฏาคม 2008 เวลา 7:25 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 10784

           จากการลงชุมชนไปพูดคุยกับชาวบ้าน   สิ่งหนึ่งซึ่งได้รับรู้และไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังขัดแย้งกันอยู่      ชาวบ้านไม่ได้โง่เขลาอย่างที่กลุ่มคนบางกลุ่มคิด   แต่พวกเขามีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน     แต่ใครกันหล่ะที่เป็นฝ่ายเข้าไปทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป….

           หลายหน่วยงานมุ่งแต่จะทำผลงานของตนเองให้ปรากฏ   หมู่บ้านหลายแห่งถูกเลือกเป็นเหยื่อ  พอมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาลงชุมชน      ต่างก็เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากชุมชน   แผนงานต่างๆมาริเริ่มไว้เพียงทำเพื่อให้ได้มีผลงาน    แล้วก็ไม่ได้สานต่อ     ไม่ได้มีการวางแผนรองรับสำหรับอนาคต    ปล่อยให้เป็นภาระของชุมชนต่อไป 

          เมื่อความเจริญเข้ามาเยือนชุมชนต่างๆก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป   ไม่ต้องอื่นไกลบรรดาหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาประชุมเมื่อติดใจบรรยากาศสิ่งแวดล้อมของชุมชนก็เริ่มติดต่อขอซื้อที่ชาวบ้าน    พอรายหนึ่งซื้อได้ในราคาถูกก็เริ่มชักชวนเพื่อนุฝูงเข้ามาซื้อที่กันมากขึ้น

          ฝ่ายเอกชนก็เริ่มให้ความสนใจ  เสนอให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต    ให้เลิกปลูกพืชผลไม้พื้นเมืองมาปลูกผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น   มีการตัดป่าไผ่และไม้พื้นเมืองจนเกือบหมด

          ส่วนนโยบายต่างๆของรัฐที่ผ่านมานั้นก็ไม่มีความต่อเนื่อง     บางนโยบายกำลังไปได้ดีในชุมชนก็ต้องมีอันเปลี่ยนแปลงรัฐบาล     ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่ได้สานต่อนโยบายเดิม   ไม่ทราบว่าเป็นเพราะว่ากลัวเสียหน้าหรืออย่างไรกัน    กลับไปเริ่มนับหนึ่งตั้งโครงการใหม่ๆขึ้นมา….

          เสียงเล็กๆ..ซึ่งแสดงความห่วงใยจากชาวบ้านเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า…หากแม้นทุกฝ่ายยึดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมบ้าง   มีจิตสำนึกที่ดี   ชุมชนเหล่านี้ก็จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน


อีกหนึ่งวัน…กับบล็อกใหม่

1337 ความคิดเห็น โดย ลูกหว้า เมื่อ 20 กรกฏาคม 2008 เวลา 0:24 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 6523
  • เพิ่งจะรู้ตัวเองว่าเหนื่อยจริงๆกับการค่อยๆเรียนรู้อะไรใหม่ๆ    เคยเปิดบล็อกแบบนี้ในมหาวิทยาลัย แล้วก็ทิ้งไว้เลยเพราะรู้สึกว่าเราต้องมาเรียนรู้ใหม่อีก    แต่ที่นี่…คิดว่าเปิดจองพื้นที่ไว้ก่อน  แต่ก็อดไม่ได้ต้องมาแอบๆเพิ่มนิดเพิ่มหน่อยในแต่ละวัน    เห็นพี่หนิง  เห็นคุณหมอสุดหล่อมีรูปประจำตัวก็ไม่ได้การแล้ว ขอมีมั่งเถอะ  แต่ขั้นตอนก็เยอะจริงๆกว่าจะได้รูปเล็กๆมาหนึ่งรูป    พอได้มาแล้วก็ภูมิใจ อิอิ…
  • ทิ้งร่องรอยไว้อีกวันว่า…แม้จะยุ่งแค่ไหนก็ยังไม่หยุดการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เล็กๆน้อยๆในแต่ละวัน

                                                                



Main: 1.2058029174805 sec
Sidebar: 0.24640202522278 sec