วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2554 เวลา 09.30 –12.30 น.
อาจารย์จิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเลือกใช้สันติวิธีอย่างจริงจังจะได้ผลสำเร็จแน่นอนแต่สันติวิธีไม่เคยถูกใช้อย่างจริงจัง สันติวิธีไม่ได้บอกว่าใช้กฏหมายเพื่อป้องกันและป้องปราม หรือการจับกุมผู้กระทำผิดกฏหมายมาลงโทษตามกฏหมายจะกระทำไม่ได้ สันติวิธีบอกว่าต้องใช้กฏหมายแต่ต้องใช้ด้วยหลักนิติธรรม มีความเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่สองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติ แต่ไม่เคยมีการทำอย่างเต็มที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอเอาผลงานวิจัยของคณะทำงานด้านสันติวิธีภายใต้ สกว. ที่มี อ.มาร์ค ตามไทและ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ร่วมทำงานด้วยมานำเสนอ บ่ายนี้ทางตำรวจและทาง ศอ.บต.ก็จะมาพูดเรื่องของการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ
สถิติหรือข้อมูลของคณะทำงานกับหน่วยงานภาครัฐคงไม่แตกต่างกันมาก
ยุทธศาสตร์การจัดการความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2554-2547 เพราะมองย้อนหลังไป
มีเหตุการณ์ไม่สงบรวม 10,660 ครั้ง มีผู้บาด้เจ็บล้มตาย 12,126 ราย
เป็นผู้เสียชีวิค 4,621 ราย เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ 7,505 ราย
ผู้เสียชีวิตเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,728 ราย (59.03%)
เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,765 ราย (38.20%)
ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,468 ราย (32.88%)
เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,512 ราย (60.12%)
ข้อมูลสถิติของเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มลดลง แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์คือการบาดเจ็บล้มตายไม่ลดลง แสดงว่าความสูญเสียในแต่ละเหตุการณ์สูงขึ้น
คำถามทางยุทธศาสตร์คือความเข้มแข็งของรัฐ ? เพราะมีการขยายตัวของหมู่บ้านสีแดงที่มีสถานการณ์พิเศษที่ต้องได้รับการจัดการเป็นพิเศษ ต้องใช้กฏหมายพิเศษ กองกำลังพิเศษ อาศัยอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างเพิ่มชึ้น ต้องการทรัพยากรพิเศษ ?
มีแนวโน้มสถานการณ์ที่สำคัญและโอกาสของสันติวิธีที่น่าสนใจ
- การขยายตัวของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธถูกกฏหมาย
- การเสริมสร้างบทบาทของฝ่ายพลเรือน
- การพูดคุยเพื่อสันติภาพ
- การแสวงหาทางเลือกทางการเมืองการปกครอง
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการขยายตัวของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธถูกกฏหมาย
- จำนวนทหารพรานในเดือนตุลาคม 2551 มีอยูาราว 9,000 คน
- อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) สังกัดกระทรวงมหาดไทยมีจำนวน 3.299 คน
- ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย และมีประจำอยู่ในทุกหมู่บ้าน รวมทั้งหมดมีจำนวนราว 60,000 คน
- ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) มีจำนวน 24,763 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นชาวพุทธ
- มีกลุ่มชาวพุทธติดอาวุธอีก 8,000 คน
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่ามีการติดอาวุธให้กลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นที่สนใจขององค์กรระหว่างประเทศ องค์กรมุสลิมและองค์กรสิทธิมนุษยชน
การขยายตัวของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธถูกกฏหมายมีบทเรียนจากต่างประเทศสรุปได้ว่า การมีกองกำลังฯ แบบนี้มีผลต่อความเข้มแข็งของรัฐไทย
- บั่นทอนและทำลายกระบวนการสร้างสันติภาพ
- การบังคับบัญชาสั่งการกองกำลังพลเรือนเช่นนี้ทำได้ยาก
- ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มเลวร้ายขึ้น
- เมื่อความขัดแย้งที่ถึงตาย (Deadly Conflict) ยุติลง การปลดอาวุธในมือของพลเรือนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก
- การหมุนเวียนของอาวุธอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างชุมชนต่างศาสนาวัฒนธรรมยิ่งขึ้น
- การแบ่งขั้วเชิงชาติพันธุ์เข้มข้นขึ้น
- โอกาสใช้อาวุธในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตนเองเพิ่มขึ้น
การเสริมสร้างบทบาทของฝ่ายพลเรือน มีสัญญาณเชิงบวกจาก ศอ.บต. ใหม่ คือ
ในมาตรา 4: นโยบายบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมาจากความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
มาตรา 19: ให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอำนาจให้คำปรึกษา เสนอแนะ ร่วมมือและประสานงานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)
ขณะนี้สภาที่ปรึกษาก็เริ่มปฏิบัติงานแล้วแต่ในทางปฏิบัติจริงดูเหมือนสภาที่ปรึกษาส่วนหนึ่งไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของ พรบ. ศอ.บต. เลยทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่วิธีคิดที่โยงไปถึงการทำงานในฐานะสภาที่ปรึกษา
ประเด็นข้อพิจารณาความเข้มแข็งของรัฐไทยกับบทบาทของฝ่ายพลเรือน
- บทบาทของประชาชนในพื้นที่ การใช้อำนาจรัฐ กับความเข้มแข็งและอ่อนแอของอำนาจรัฐ เวลาพูดถึงอำนาจรัฐ อำนาจรัฐควรเข้มแข็งถึงจัดการกับปัญหาได้ แต่ต้องไปผูกโยงกับบทบาทของประชาชน ซึ่งประชาชนก็ต้องเข้มแข็งด้วย เพราะความมั่นคงของชาติถูกปรับเปลี่ยนเป็นความมั่นคงของประชาชนไปแล้วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความเข้มแข็งของรัฐจะมองเดี่ยวแยกออกไปไม่ได้ ต้องมองร่วมกับความเข้มแข็งของประชาชน
- การสถาปนาสภาที่ปรึกษาฯของ ศอ.บต. คือการสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับเสียงที่แตกต่างอย่างแท้จริง โดยเจตนารมณ์ของ พรบ. ศอ.บต. อยากจะเปิดพื้นที่ในการที่จะให้คนที่มีความเห็นต่างเข้ามามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแสดงความคิดเห็น สภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. น่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง แต่องค์ประกอบในปัจจุบันกลับไม่มีความหลากหลายตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย กลับเป็นองค์ประกอบของคนที่ดูไม่มีความแตกต่างเท่าไหร่ในเรื่องของความคิดเห็น ข้อมูลก็เป็นแท่งข้อมูลเดียวกันทั้งๆที่ข้อมูลก็มีหลากหลาย แตกต่างกัน
- การคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ การมีส่วนร่วมของประชาชน และปัญหาความชอบธรรมในการปกครองของรัฐ ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบที่มีความหลากหลาย
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
การตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ. บต. มีปัญหาเพราะส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการประจำที่มีการจัดตั้งมาอย่างดี อีกส่วนหนึ่งเป็นการซื้อเสียงเข้ามา ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าล้มเหลว คนที่มีข้อมูล มีความเห็นต่าง ไม่สามารถเข้าไปเพื่อเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาได้เลย
สามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. มีมานานแล้ว เดิมก็เชิญบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วม ตาม พรบ. ศอ.บต.ใหม่ก็อยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนที่มีความเห็นต่าง ข้อมูลต่างมาช่วยแสดงความคิดเห็นพูดคุยกันใน ศอ.บต.
แต่ พรบ. ศอ.บต. ใหม่ก็มีสภาที่ปรึกษา แต่เน้นการเลือกตั้งเข้ามา ไม่ใช่เชิญเข้ามา เลยมีการแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า มีการซื้อเสียง หาเสียง เห็นเป็นช่องทางที่จะทำให้มีเกียรติยศชื่อเสียงในวันข้างหน้า เลยทำให้แปรเปลี่ยนเจตนารมณ์ไปหมดเลย ควรปรับข้อกำหนดเข้าสู่ตำแหน่งจากการเลือกตั้งเป็นการเชิญเข้ามา เพราะภาครัฐรู้ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ดี แต่ก็มีโควต้าให้ภาครัฐเชิญเข้ามาอยู่แล้ว
ผศ. ดร.จงรัก พลาศัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
สภาที่ปรึกษา ศอ.บต. น่าจะมีการจัดวางตัวไว้แล้ว ขบวนการสรรหาของที่ปรึกษาเช่นกลุ่มการศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ อุดมศึกษา การศึกษาพื้นฐาน เยอะไปหมดแต่ได้ 1 คน ซึ่งคงเป็นจากการศึกษาพื้นฐานอยู่แล้วไม่ต้องเลือกก็รู้ว่าได้ใคร สถานภาพของคนที่ได้เป็นตัวแทนก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรในฐานะตัวแทนกลุ่ม ประชาชนนั่งมองอยู่ น่าจะมีการทบทวนตรงนี้
รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา
ตอนกฏหมายเข้าสภาก็มีการถกเถียงกันมากเพราะต้องการให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ตัวแทนจากภาครัฐค่อนข้างน้อย พอผ่านมาที่วุฒิสภา วุฒิสภาได้แก้ไขเยอะมาก หลายมาตรา พอกลับไปที่สภาผู้แทนฯ ตอนแรกก็ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจะบังคับ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็เลยต้องให้สภารับร่างฯที่วุฒิสภาแก้ไข
วุฒิสภาก็พยายามที่จะ Balance สภาที่ปรึกษาเลยลดสัดส่วนของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งลง การเลือกตัวแทนจากภาคประชาชนและตัวแทนภาครัฐที่ต้องเลือกตั้งกันมาจากกลุ่มต่างๆมักจะมีปัญหาเพราะไดุ้บุคคลที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริง ทำให้การทำงานมีปัญหา
กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ปัญหาอยู่ที่ความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เฉพาะสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. กรรมธิการชุดต่างๆจาก สส. ก็ดี สว. ก็ดีที่ถูกวางตัวหรือแต่งตั้งเข้ามา ก็มีที่มาจากหัวคะแนน ตัวแทนของ สส. ฯ ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่เหมาะสม เข้ามาทำงานก็เลยมีปัญหา
พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย
3 จังหวัดปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาความมั่นคง สมช. ไม่กำหนดแนวคิดที่ชัดเจนคนทำงานเลยสับสน ศอ.บต.ก็ไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงาน ทำแบบเบี้ยหัวแตก ใช้กฏหมาย ใช้องค์กรที่แตกต่างกัน เมื่อทำงานไม่ได้ผลมีการประเมินอย่างไร?
รัฐกำหนดนโยบาย ไม่ได้ทำตามผลการศึกษา ขาดการประเมินผลในการปฏิบัติงาน ขาดทิศทาง สะเปะสะปะ
อาจารย์จิราพร บุนนาค
สมช. ทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย นโยบายและยุทธศาสตร์ก็ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายต่างๆก็มีการเชิญมาพูดคุยแล้วจึงนำเสนอต่อรัฐ
การประเมินผล สมช.ก็ประเมิน แต่เป็นการประเมินเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย เชิงปฏิบัติเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติที่จะต้องประเมินแต่ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติเป็นผู้ประเมินตัวเอง ต้องให้คนอื่นที่เกี่ยวข้องมาช่วยประเมิน เช่นการประเมินความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐก็ต้องให้องค์กรกลางมาประเมินว่าทำงานมาแล้ว 1 ปี คนในพื้นที่ในชุมชนไว้ใจเจ้าหน้าที่ภาครัฐในหน่วยงานความมั่นคงแค่ไหน? กอ.รมน.ภาค4 ได้รับความไว้ใจมากขึ้นหรือเปล่า? จากงานวิจัยของอาจารย์ศรีสมภพพบว่าทหารใน กอ.รมน. ภาค 4 ได้รับความเชื่อถือในลำดับต่ำสุด จากเดิมเป็นตำรวจแต่คราวนี้กลับเป็นทหาร
ประเด็นที่เป็นปัญหามากในภาพรวมและในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการรายงาน การรายงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะหน่วยงานทหารและตำรวจจะรายงานขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชา คือ ผบ.ทบ. หรือ ผบ.ตช. รายงานไม่ครบ จะเลิอกรายงานที่เป็นผลงานของตัวเอง แต่อะไรที่เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคไม่รายงาน อันนี้อดีต ผบ.ทบ. มาพูดในกรรมาธิการจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ได้รับรายงานเรื่องแบบนี้เลย ทำให้การตัดสินใจในระดับหน่วยงาน ไม่ใช่ระดับประเทศ เกิดปัญหาในเรื่องการปฏิบัติ ถ้าสนใจการทำงานในเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงก็อยากเชิญให้ไปพูดคุยกับรองเลขาฯ สมช. ที่รับผิดชอบจะได้เคลียร์ ชัดเจน
วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด
ทุกคนเห็นด้วยว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มจากรัฐใช้ความรุนแรงตั้งแต่กรณีของหะยีสุหรง ทนายสมชาย หรือแม้แต่กรณีกรือเซะกับตากใบ ตากใบเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความรุนแรงขยายวงกว้าง จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมจากรัฐเลยว่าจะคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละกรณีอย่างไร? ที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็เป็นกรณีเยียวยาแต่ก็มีคนมองว่าเหมือนไปสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบด้วยซ้ำไป แต่ที่อยากเน้นก็คือการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
การแก้ปัญหาของรัฐก็ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีบูรณาการ ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ต่างฝ่ายก็ต่างทำ ไม่ว่าฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายการเมืองท้องถิ่นเอง เหมือนกับอาศัยความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเค็กก้อนหนึ่งซึ่งแต่ละฝ่ายก็จ้องตาเป็นมัน จนเกิดวิกฤตด้านความมั่นคง
ที่ผ่านมาก็เป็นทหารเป็นเจ้าภาพ แต่เสียงสะท้อนจากคนในท้องถิ่นก็กลายเป็นทหารได้รับความเชื่อถือน้อย
อาจารย์จิราพร บุนนาค
เรื่องเอกภาพกับการบูรณาการ นโยบายและยุทธศาสตร์ทุกรัฐบาลเหมือนกัน แต่ในการปฏิบัติก่อนหน้านี้ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นผู้ที่จะทำให้เกิดเอกภาพเพราะเป็นผู้นำในพื้นที่ พอมี ศอ.บต. ก็แยกส่วน ถ้าเป็นเรื่องของความมั่นคงก็เป็น กอ. รมน. ภาค 4 ถ้าเป็นเรื่องของการพัฒนาก็เป็น ศอ.บต.
แต่ในทางปฏิบัติจริงมันเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า? แต่ตามความเห็นของฝ่ายวิชาการกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง หรือกรรมธิการที่เกี่ยวข้องทั้งของ สส. และ สว. ก็พบว่ายังไม่บูรณาการและยังไม่เป็นเอกภาพ เป็นเรื่อง Top-down มากกว่า Bottom-up
ในนโยบายและยุทธศาสตร์เป็น Bottom-up ขบวนการมีส่วนร่วมต้องมาจากประชาชนอย่างแท้จริง มีข้อมูลจากสำนักงบประมาณก็พูดในกรรมาธิการของ สส. ว่ามีแต่ Top-down ต้องแยกแยะนโยบาย ยุทธศาสตร์กับการปฏิบัติ มันเป็นไปทางเดียวกันหรือการปฏิบัติมันสวนทางกับนโยบายและยุทธศาสตร์
นโยบายใช้การเมืองนำการทหาร นโยบายให้แนวทางสันติวิธีเป็นแค่วาทะกรรมหรือเปล่า? เพราะมันถูกต้องชอบธรรมและเป็นภาพพจน์ที่ดีทั้งในสายตาของทั้งภายในและต่างประเทศ ตอนนี้ทุกประเทศในโลกก็หันกลับมาเลือกที่จะใช้สันติวิธีในการจัดการเพราะว่าได้ผลจริง ไทนเราก็เห็นว่าได้ผลจริงจึงกำหนดไว้ในนโยบาย แต่เวลาปฏิบัติมันไม่ใช่
มีตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้เองเรื่องการซ้อมทรมาน คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ามีการละเมิดด้วยการควบคุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยไว้แล้วมีการซ้อมทรมาน มีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการฯก็ลงพื้นที่พบว่ามีการซ้อมทรมานจริง หน่วยงานที่ทำก็ยอมรับ แม้จะยอมรับคำพูดที่สวนคณะอนุกรรมการฯมาก็คือ ถ้าไม่ซ้อมแล้วจะรู้หรือว่าแหล่งซ่อนปืนอยู่ที่ไหน? คำถามของกรรมการฯ ก็คือแล้วจะตอบเขาว่ายังไง? รู้แหล่งซ่อนปืนแล้วได้อะไร? ได้ปืนมาแล้ว แล้วยังไงต่อ? คนที่ถูกซ้อมไม่จบแค่นั้น เขาฟ้องคณะกรรการสิทธิฯ เขาฟ้องไปที่ OIC เขาฟ้องไปที่สหประชาชาติ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานของสหประชาชาติแล้ว
เวลาที่ทำคิดแค่ผลงานรึเปล่า? คิดถึงผลกระทบที่จะตามมามั๊ย? ในส่วนที่เป็นภาพที่ใหญ่กว่าหน่วยงานความมั่นคงรู้อยู่แล้วว่าถึงได้ปืนมา คนที่ใช้ปืนไม่รู้ว่าใครสั่งให้ใช้ปืน คดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถูกงดการสอบสวนบ้าง เพราะพยานหลักฐานไมาพอ ยกฟ้องบ้าง ดำเนินคดีไม่ได้ ผลที่ตามมามันสร้างเงื่อนไข สร้างความเจ็บปวดหรือไม่? มันทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกัน คนที่ถูกซ้อมถูกเยียวยามั๊ย? ยังไม่มีขบวนการเยียวยาผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน
ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมองลึก ต้องมองผลกระทบที่จะตามมาไม่ใช่มองแค่ได้ผลงาน ซึ่งปัจจุบันฝ่ายความมั่นคงก็มีข้อมูลแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์อย่างเดียว แต่มีการโยงกับเรื่องยาเสพติด การค้าของเถื่อนและเรื่องการเมืองท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพลด้วย
กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
คดีกว่า 400 คดีที่มูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่มีคดีปล้นปืนเลย…..
คดีที่เป็นเหตุให้ทนายสมชายหายไปเป็นคดีจับผู้ต้องหา 5 คน มีการซ้อมทรมาน แขวนคอบนเก้าอี้ มีการใช้ไฟฟ้าจี้ตามตัวและอวัยวะเพศ ….เป็นผู้ต้องหาชุดแรกที่โดนข้อหาปล้นปืนแต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง
………
Facebook