สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (3)
อ่าน: 2074วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2554 เวลา 09.30 –12.30 น.
อาจารย์จิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
การพูดคุยเพื่อสันติภาพ
ในทุกประเทศทั่วโลกที่มีความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงแล้ว ในที่สุดก็ต้องพูดคุยและเจรจา ได้ข้อยุติที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ใช้ความรุนแรงและใช้อำนาจบังคับ แล้วจะมีสันติ อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ทางเลือกที่ควรเลือกและต้องเลือก และถูกเลือกเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์แล้วก็คือใช้สันติวิธีในการจัดการความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในรายงานการวิจัยชิ้นนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพและมีเรื่องที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน 2 เรื่องในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เรื่องแรกก็คือต้องเข้าใจว่าการพูดคุยไม่ใช่การเจรจาต่อรอง การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการในจุดเริ่มต้นซึ่งจะมีกระบวนการต่อเนื่องหรืออยู่ใน Peace Process
การพูดคุยเพื่อสันติภาพเริ่มต้นด้วยการทำให้เกิดบรรยากาศของการให้เกียรติกันก่อนระหว่างสองฝ่ายที่จะพูดคุยกัน ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าต้องส่งสัญญาณหรือแสดงท่าทีที่ให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่งก่อน หมายถึงการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมในการพูดคุย ไม่ได้ด้อยกว่า ทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่าในการที่จะร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การพูดคุยแบบที่ตั้งต้นก็ใช้อำนาจที่เหนือกว่าข่มอีกฝ่ายหนึ่ง
เวลาที่พูดคุยกันจะค่อยๆสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งกันและกันเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อเห็นความจริงใจแล้วก็จะเกิดความไว้เนื่อเชื่อใจ
ต้องเลือกพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่ามีความปลอดภัยในการที่จะคุยกัน และต้องคุยกันต่อเนื่อง เมื่อคุยกันแล้วเห็นว่ามีข้อเสนอที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติก็ลองเอามาปฏิบัติดู ลองทำดู เวลาคุยกันใหม่ก็จะพูดคุยกันว่าไปทำอะไรมาแล้วบ้างเป็นการต่อเนื่อง ไม่ใช่คุยกันครั้งเดียวแล้วหายไปเลย
ในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครที่ใช้ความรุนแรง ที่รู้แน่ๆจากหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยข่าวทั้งหลายก็คือ BRN เป็นผู้ใช้ความรุนแรงมากกว่า PULO เวลาที่คุยกันไม่จำเป็นต้องมี Track เดียวหรือ window เดียว คุยกันหลายๆ Tracks หลายๆ Windows ได้
แต่เป็นการคุยที่สร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกัน เช่นคนที่อยู่ในขบวนการมาคุยกับเรา เขาอาจห่วงเรื่องเยาวชนที่ติดยาเสพติดก็ต้องยืนยันในการแก้ไขปัญหา เขาห่วงเรื่องคดีที่ไม่ได้ข้อสรุปสักทีทั้งๆที่นานแล้วหรือคดีที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องอธิบาย เช่นกรณีตากใบ กรือเซะก็ต้องอธิบาย
เขาอยากให้ความสำคัญเรื่องภาษาถิ่น ภาษาอาหรับก็ต้องอธิบายว่าตอนนี้ทางการไทยได้มีการกำหนดนโยบายภาษาแห่งชาติโดยราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้เสนอแล้วซึ่งให้ความสำคัญกับภาษาแม่หรือภาษาถิ่นในเรื่องของการเรียนการสอนในพื้นที่เท่าๆกับการเรียนรู้ภาษาไทย
ถ้ายังทำไม่ได้ก็บอกตรงๆว่ายังทำไม่ได้ด้วยเหตุผลใด เรื่องเหล่านี้อยู่ในกระบวนการพูดคุย เวลาพูดคุยกันอาจจะมีองค์กรหรือบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อถือหรือไว้ใจมาเป็น Facillitator เป็นผู้อำนวยความสดวก เป็นผู้ประสานงานหรือเป็นพยานก็ได้ หรือจะเป็นองค์กรต่างชาติเช่น HDC(
Humanitarian Dialogue Center) ที่เคยทำกรณีอาเจะ ก็คุยกันไปเรื่อยๆจนพัฒนาไปสู่ Formal Negotiation ได้
การพูดคุยเพื่อสันติภาพกับปัญหาความชอบธรรมของฝ่ายที่ร่วมพูดคุย
เวลาคุยก็มีปัญหาว่าจะคุยกับใคร แต่ละฝ่ายก็ต้องการคุยกับตัวจริง ชบวนการก็ต้องการคุยกับคนที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลตัวจริงเหมือนกัน ไม่ใช่ส่งนักวิชาการไปคุย ต้องได้รับ Mandate และสามารถที่จะตกลงกันได้
การพูดคุยเพื่อสันติภาพ เป็นเรื่องของสันติวิธีที่โยงกับความมั่นคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีก 5 ประเด็น
- การพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการ จะเกิดได้ไหม? เกิดได้อย่างไร? เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติต้องคิดร่วมกัน
- การพูดเพื่อสันติภาพโดยมี “คนกลาง” จะมีหรือไม่? ควรจะเป็นใคร? นอกเหนือจากองค์กรต่างชาติแล้วอาจจะเป็นตัวแทนประเทศใดประเทศหนึ่งที่มาเป็นผู้ประสานงาน ผู้อำนวยความสดวก หรืออยู่ในเวทีพูดคุยในฐานะพยาน
- การพูดคุยเพื่อสันติภาพกับการสร้างบรรยากาศสันติภาพควรจะทำควบคู่ไปกับเวลาที่อยู่ใน Peace Process เพราะถ้ามีบรรยากาศไว้เนื้อเชื่อใจกันก็จะเลือกสันติวิธี ความรุนแรงจะลดลงไปเอง ไม่ควรข้ามขั้นตอนไปต่อรองให้ยุติความรุนแรงตรงนั้นตรงนี้ก่อน ในการเจรจาต่างก็ต้องการ win-win win-win ไม่ใช่ต้องได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการแล้วชนะ แต่ win-win ในสันติวิธีคือการให้ในสิ่งที่ิีกฝ่ายอยากได้เป็นชัยชนะที่เหนือกว่า เป็นชัยชนะในความรู้สึกว่าได้ให้ อีกฝ่ายรับแล้วมีความสุขและภูมิใจ
- ยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่มีเอกภาพในทิศทาง แต่มีหลายช่องทางในการเจรจา
- การพูดคุยเพื่อสันติภาพในฐานะบททดสอบความเข้มแข็งของรัฐ ต้องมีหลักคิดว่ามีแต่รัฐที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะพร้อมนั่งลงพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองการปกครองด้วยความมั่นใจในตนเอง
พอพูดถึงการเมืองการปกครองก็จะมีประเด็นของการแสวงหาทางเลือกทางการเมืองการปกครอง
ข้อสรุปที่ 1: ประเด็นเรื่องเขตปกครองพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย ตอนนี้ดูจะได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่พูดคุยกันได้มากขึ้นแล้ว สถาบันพระปกเกล้าก็ร่วมกับหลายองค์กรจัดเวทีพูดคุยถึง 47 เวที แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป มีสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจะทำเรื่องขบวนการยุติธรรมกับเรื่องการเมืองการปกครองที่เหมาะสมที่เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ี อาจจะเป็นแค่ท้องถิ่นลักษณะพิเศษแบบ กทม. และพัทยาก็ได้
ข้อสรุปที่ 2: มีการศึกษาถึงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการรวบรวมประสบการณ์จากต่างประเทศเข้ามาประกอบการพิจารณา
ข้อสรุปที่ 3: ไม่มีการศึกษาเรื่องความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์-ศาสนาชิ้นใดเห็นว่าการใช้มาตรการรุนแรงทางทหารจะนำไปสู่ข้อยุติของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างยั่งยืน
จากข้อค้นพบต่างๆที่ได้พูดถึงงานวิจัยมีข้อเสนอทางเลือกทางการเมืองการปกครอง 3 ข้อ
- แนวทางการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย
- การปรับและ/หรือจัดตั้งโครงสร้างสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน
- แนวคิดเรื่องเขตปกครองพิเศษในฐานะทางออกสำหรับ “ความขัดแย้งรุนแรงทางชาติพันธุ์” อย่างสันติและยั่งยืน
เวลาพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครองก็ต้องพูดถึงปัญหาและข้อถกเถียงบางอย่างด้วยเช่นกัน เช่น
- การให้ความหมายของ”เขตปกครองพิเศษ” ในบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบริบทของสังคมไทย
- ตำแหน่งแห่งที่ของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง
- เสถียรภาพของโครงสร้างทางการเมืองการปกครองแบบใหม่กับความสามารถในการจัดการตนเอง
- ความสัมพันธ์ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองกับการยุติความรุนแรง
ทำไมต้องคิดเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีเวลานี้หลังจากความรุนแรงมากขึ้นๆ เพราะจากตารางจะเห็นว่าจำนวนการก่อความรุนแรงลดลงแต่จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายสูงขึ้น การส่งสัญญาณของผู้นำรัฐบาลกับผู้นำระดับสูงในการปฏิบัติส่งสัญญาณชัดไหมเรื่องการใช้สันติวิธีในการจัดการความขัดแย้ง สามารถคุมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ไม่ให้ปฏิบัติออกนอกกรอบของกฏหมายได้หรือเปล่า?
เงื่อนไขที่เอื้อต่อความสำเร็จของสัญญาณเชิงบวกกับการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง (Conflict Transformation)
- หัวใจของความสำเร็จของยุทธศาสตร์สันติวิธีอยู่ที่ความเข้าใจใหม่ต่อมโนทัศน์เรื่อง ”อำนาจ” และ “ความเข้มแข็งของรัฐ”
- ภาวะผู้นำ (Leadership) และความกล้าในการตัดสินใจทางการเมือง
- หน่วยงานกลางที่เป็นอิสระในการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลทางยุทธศาสตร์ชาติ
- ระดับความเข้มแข็งของภาคสังคมกับศักยภาพในการถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แตกต่างในบริบทของความรุนแรง
ทั้ง 4 ข้อจำเป็นต้องทำให้เกิดเพื่อแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง
ยุทธศาสตร์การจัดการความรุนแรงภาคใต้
- การสถาปนาอำนาจรัฐและเสริมสร้างความเข้มแข็งของรัฐในมุมมองของสันติวิธีเป็นการพยายามสร้างดุลภาพระหว่างความมั่นคงของรัฐบนพื้นฐานความเข้มแข็งของสังคม
- ข้อเสนอให้พยายามจำกัดอาวุธปืนในมือพลเรือน, พยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันตั้งต้นออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขา, ความพยายามในการสรรหาช่องทางการพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง, การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงหรือร่วมผลักดันให้สถาปนาสถาบันทางการเมืองขึีนใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ล้วนสะท้อนสถานะของรัฐที่เข้มแข็ง
- เพราะแนวทางเหล่านี้ล้วนเอื้อต่อสัมพันธภาพที่มั่นคงระหว่างรัฐกับประชาชนบนฐานของความมั่นใจในกันและกันต่อไปในระยะยาว
ที่พูดมาเพื่อให้เห็นภาพว่าสันติวิธีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าอำนาจรัฐเข้มแข็งแต่ภาคประชาชนอ่อนแอ และถ้าประชาชนเข้มแข็งแต่รัฐอ่อนแอก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ต้องเข้มแข็งด้วยกัน
สันติวิธีในเชิงยุทธศาสตร์หนีไม่พ้นที่จะไปเกี่ยวข้องกับความคิดในการทำงานของสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวเชื่อมประสานความจริง ความต้องการ ความเห็น ปัญญา การแก้ไขปัญหาในทุกมิติ มิติเชิงโครงสร้าง มิติทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ทั้งความเจ็บปวดและความภูมิใจของคนในพื้นที่ ต้องผ่านกระบวนการสื่อสารโดยสื่อมวลชนซึ่งเป็นตัวหลักที่มีความสำคัญในการที่จะขยายผลทำความเข้าใจ ข้อเสนอและความต้องการต่างๆ
เป็นการทำความเข้าใจที่ไม่ไปทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันมากขึ้น เป็นการเอื้อให้มีบริบทของการสร้างสรรค์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่ก็ต้องไม่ทิ้งความจริง ความจริงที่เจ็บปวด ความจริงที่ภูมิใจ ที่งดงามก็นำเสนอได้ แต่เทคนิคและวิธีการนำเสนอ ความละเอียดอ่อนของความคิดเห็น ความรู้สึก อารมณ์ของผู้รับจำเป็นต้องคำนึงถึง
สันติวิธีในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับปัญญาและการปฏิบัติ การขยายผลของสื่อมวลชนด้วย และต้องอาศัยพลังวัฒนธรรม 7 กลุ่ม
- กลุ่มศาสนาทุกศาสนา
- นักการศึกษา ตั้งแต่ครูสอนตาดีกาไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการอิสระ
- กลุ่มการเมืองท้องถิ่น การเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นและระดับชาติในพื้นที่
- กลุ่มสื่อมวลชน
- กลุ่มสตรีในพื้นที่
- กลุ่มเยาวชน
- กลุ่มนักกฏหมายในพื้นที่
ภาคประชาชนสงสัยว่าภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่? แจกแพะ แจกแกะ ให้ของก็มากแต่ไม่ใช่ความต้องการของประชาชน ประชาชนมีความรู้สึกว่าการให้ไม่ได้ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะเกิดได้ต้องมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงรูปแบบ ให้เท่าไหร่ก็ไม่ชนะสักทีเพราะประชาชนรู้สึกแบบนี้
ในแง่ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแต่ความงดงาม มีความเจ็บปวดด้วยทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายรัฐ แต่ไม่ควรเอาความเจ็บปวดมาเป็นความเจ็บแค้นไม่รู้จบ ทำให้ใช้สันติวิธีไม่ได้ผล น่าจะเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก
คนในพื้นที่มีความภูมิใจในความงดงาม สื่อมวลชนควรนำมาถ่ายทอดให้สังคมไทย สังคมโลกได้รับรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ภูมิใจ สวยงามที่คนภาคใต้ต้องการให้เรารับฟัง อะไรเป็นความคับแค้นใจที่เราควรรับฟัง ต้องได้ฟังจากปากของคนที่ได้รับความคับแค้นใจ ต้องฟังแล้วเข้าใจว่าคนในพื้นที่คิดอย่างไร? ต้องการอะไร?
เรื่องของการรับรู้ที่สั่งสมที่แตกต่างกันในเชิงลบจะกลายเป็นข่าวลือนำไปสู่ความสับสน ทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ คับแค้นใจ เป็นข่าวลือที่ด่วนสรุป
เจ้าหน้าที่รัฐก็มีการรับรู้ที่สั่งสม เห็นคนมุสลิมมีความแตกต่าง เห็นคนในพื้นที่สีแดงเป็นคนที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่ก่อความไม่สงบ
Hero ของประชาชนกับ Hero ของรัฐก็ไม่ตรงกัน มักจะเป็นคนละคนกัน ความคิดความรู้สึกที่แตกต่างกันทำให้เกิดการปฏิบัติที่สวนทางกับนโยบาย สร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาอีก ทำให้ปัญหารุนแรงต่อไปขณะที่ประชาคมโลกกำลังเฝ้ามองอยู่
ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญ ต้องอย่าให้ Activist กลายเป็นนักต่อสู้ และอย่าให้นักต่อสู้กลายเป็นผู้ก่อการร้าย
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติที่ฝึกอาวุธให้พี่น้องไทยพุทธ เป็นห่วงค่อนข้างมากเพราะมีพี่น้องไทยพุทธสองแสนกว่าคน แต่อพยพถิ่นฐาน ขายที่ไปอยู่ที่อื่นก็เหลือน้อยลง น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดเพราะถ้ามีการฝึกอาวุธ ติดอาวุธโดยถูกกฏหมาย เอากำลังทหารไปคุ้มครองวัด คุ้มครองชุมชนที่เป็นไทยพุทธทำให้ความขัดแย้งขยายมากขึ้น สังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการตายสลับกัน เกิดการแก้แค้นกัน
ปัจจุบันมีการค้าอาวุธในพื้นที่ ครูมีปืนคนละ 2 กระบอก ซื้อมาราคาถูกแล้วขายต่อเอากำไร อาวุธปืนไม่รู้ไปอยู่ที่ใคร
« « Prev : สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (2)
Next : แนวทางการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้จากมุมมองของ ศอ.บต. » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (3)"