สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (2)

โดย จอมป่วน เมื่อ 9 ตุลาคม 2011 เวลา 22:38 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2169

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2554 เวลา 09.30 –12.30 น.

อาจารย์จิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเลือกใช้สันติวิธีอย่างจริงจังจะได้ผลสำเร็จแน่นอนแต่สันติวิธีไม่เคยถูกใช้อย่างจริงจัง  สันติวิธีไม่ได้บอกว่าใช้กฏหมายเพื่อป้องกันและป้องปราม  หรือการจับกุมผู้กระทำผิดกฏหมายมาลงโทษตามกฏหมายจะกระทำไม่ได้  สันติวิธีบอกว่าต้องใช้กฏหมายแต่ต้องใช้ด้วยหลักนิติธรรม  มีความเป็นธรรม  เท่าเทียม  ไม่สองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติ  แต่ไม่เคยมีการทำอย่างเต็มที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขอเอาผลงานวิจัยของคณะทำงานด้านสันติวิธีภายใต้ สกว. ที่มี อ.มาร์ค ตามไทและ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ร่วมทำงานด้วยมานำเสนอ  บ่ายนี้ทางตำรวจและทาง ศอ.บต.ก็จะมาพูดเรื่องของการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ

สถิติหรือข้อมูลของคณะทำงานกับหน่วยงานภาครัฐคงไม่แตกต่างกันมาก

ยุทธศาสตร์การจัดการความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2554-2547  เพราะมองย้อนหลังไป

มีเหตุการณ์ไม่สงบรวม 10,660 ครั้ง   มีผู้บาด้เจ็บล้มตาย 12,126 ราย

เป็นผู้เสียชีวิค 4,621 ราย  เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ 7,505 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,728 ราย (59.03%)

เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ  1,765 ราย (38.20%)

ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,468 ราย (32.88%)

เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,512 ราย (60.12%)

ข้อมูลสถิติของเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มลดลง  แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์คือการบาดเจ็บล้มตายไม่ลดลง  แสดงว่าความสูญเสียในแต่ละเหตุการณ์สูงขึ้น

คำถามทางยุทธศาสตร์คือความเข้มแข็งของรัฐ ? เพราะมีการขยายตัวของหมู่บ้านสีแดงที่มีสถานการณ์พิเศษที่ต้องได้รับการจัดการเป็นพิเศษ  ต้องใช้กฏหมายพิเศษ กองกำลังพิเศษ อาศัยอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างเพิ่มชึ้น  ต้องการทรัพยากรพิเศษ ?

มีแนวโน้มสถานการณ์ที่สำคัญและโอกาสของสันติวิธีที่น่าสนใจ

  • การขยายตัวของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธถูกกฏหมาย
  • การเสริมสร้างบทบาทของฝ่ายพลเรือน
  • การพูดคุยเพื่อสันติภาพ
  • การแสวงหาทางเลือกทางการเมืองการปกครอง

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการขยายตัวของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธถูกกฏหมาย

  1. จำนวนทหารพรานในเดือนตุลาคม 2551 มีอยูาราว 9,000 คน
  2. อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) สังกัดกระทรวงมหาดไทยมีจำนวน 3.299 คน
  3. ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย และมีประจำอยู่ในทุกหมู่บ้าน รวมทั้งหมดมีจำนวนราว 60,000 คน
  4. ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) มีจำนวน 24,763 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นชาวพุทธ
  5. มีกลุ่มชาวพุทธติดอาวุธอีก 8,000 คน

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่ามีการติดอาวุธให้กลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นที่สนใจขององค์กรระหว่างประเทศ องค์กรมุสลิมและองค์กรสิทธิมนุษยชน

การขยายตัวของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธถูกกฏหมายมีบทเรียนจากต่างประเทศสรุปได้ว่า  การมีกองกำลังฯ แบบนี้มีผลต่อความเข้มแข็งของรัฐไทย

  1. บั่นทอนและทำลายกระบวนการสร้างสันติภาพ
  2. การบังคับบัญชาสั่งการกองกำลังพลเรือนเช่นนี้ทำได้ยาก
  3. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มเลวร้ายขึ้น
  4. เมื่อความขัดแย้งที่ถึงตาย (Deadly Conflict) ยุติลง  การปลดอาวุธในมือของพลเรือนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก
  5. การหมุนเวียนของอาวุธอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างชุมชนต่างศาสนาวัฒนธรรมยิ่งขึ้น
  6. การแบ่งขั้วเชิงชาติพันธุ์เข้มข้นขึ้น
  7. โอกาสใช้อาวุธในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตนเองเพิ่มขึ้น

การเสริมสร้างบทบาทของฝ่ายพลเรือน มีสัญญาณเชิงบวกจาก ศอ.บต. ใหม่  คือ

ในมาตรา 4: นโยบายบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ต้องมาจากความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน

มาตรา 19:  ให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีอำนาจให้คำปรึกษา เสนอแนะ ร่วมมือและประสานงานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)

ขณะนี้สภาที่ปรึกษาก็เริ่มปฏิบัติงานแล้วแต่ในทางปฏิบัติจริงดูเหมือนสภาที่ปรึกษาส่วนหนึ่งไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของ พรบ. ศอ.บต.  เลยทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่วิธีคิดที่โยงไปถึงการทำงานในฐานะสภาที่ปรึกษา

ประเด็นข้อพิจารณาความเข้มแข็งของรัฐไทยกับบทบาทของฝ่ายพลเรือน

  • บทบาทของประชาชนในพื้นที่ การใช้อำนาจรัฐ กับความเข้มแข็งและอ่อนแอของอำนาจรัฐ เวลาพูดถึงอำนาจรัฐ อำนาจรัฐควรเข้มแข็งถึงจัดการกับปัญหาได้  แต่ต้องไปผูกโยงกับบทบาทของประชาชน  ซึ่งประชาชนก็ต้องเข้มแข็งด้วย  เพราะความมั่นคงของชาติถูกปรับเปลี่ยนเป็นความมั่นคงของประชาชนไปแล้วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  ความเข้มแข็งของรัฐจะมองเดี่ยวแยกออกไปไม่ได้  ต้องมองร่วมกับความเข้มแข็งของประชาชน
  • การสถาปนาสภาที่ปรึกษาฯของ ศอ.บต. คือการสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับเสียงที่แตกต่างอย่างแท้จริง  โดยเจตนารมณ์ของ พรบ. ศอ.บต. อยากจะเปิดพื้นที่ในการที่จะให้คนที่มีความเห็นต่างเข้ามามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแสดงความคิดเห็น  สภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. น่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง  แต่องค์ประกอบในปัจจุบันกลับไม่มีความหลากหลายตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย  กลับเป็นองค์ประกอบของคนที่ดูไม่มีความแตกต่างเท่าไหร่ในเรื่องของความคิดเห็น  ข้อมูลก็เป็นแท่งข้อมูลเดียวกันทั้งๆที่ข้อมูลก็มีหลากหลาย แตกต่างกัน
  • การคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ  การมีส่วนร่วมของประชาชน  และปัญหาความชอบธรรมในการปกครองของรัฐ  ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบที่มีความหลากหลาย

อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน  สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย

การตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ. บต. มีปัญหาเพราะส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการประจำที่มีการจัดตั้งมาอย่างดี  อีกส่วนหนึ่งเป็นการซื้อเสียงเข้ามา ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าล้มเหลว  คนที่มีข้อมูล  มีความเห็นต่าง  ไม่สามารถเข้าไปเพื่อเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาได้เลย

สามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. มีมานานแล้ว  เดิมก็เชิญบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วม  ตาม พรบ. ศอ.บต.ใหม่ก็อยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนที่มีความเห็นต่าง ข้อมูลต่างมาช่วยแสดงความคิดเห็นพูดคุยกันใน ศอ.บต.

แต่ พรบ. ศอ.บต. ใหม่ก็มีสภาที่ปรึกษา    แต่เน้นการเลือกตั้งเข้ามา  ไม่ใช่เชิญเข้ามา  เลยมีการแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า มีการซื้อเสียง หาเสียง  เห็นเป็นช่องทางที่จะทำให้มีเกียรติยศชื่อเสียงในวันข้างหน้า  เลยทำให้แปรเปลี่ยนเจตนารมณ์ไปหมดเลย  ควรปรับข้อกำหนดเข้าสู่ตำแหน่งจากการเลือกตั้งเป็นการเชิญเข้ามา  เพราะภาครัฐรู้ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ดี  แต่ก็มีโควต้าให้ภาครัฐเชิญเข้ามาอยู่แล้ว

ผศ. ดร.จงรัก พลาศัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

สภาที่ปรึกษา ศอ.บต. น่าจะมีการจัดวางตัวไว้แล้ว  ขบวนการสรรหาของที่ปรึกษาเช่นกลุ่มการศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่  อุดมศึกษา การศึกษาพื้นฐาน เยอะไปหมดแต่ได้ 1 คน  ซึ่งคงเป็นจากการศึกษาพื้นฐานอยู่แล้วไม่ต้องเลือกก็รู้ว่าได้ใคร   สถานภาพของคนที่ได้เป็นตัวแทนก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรในฐานะตัวแทนกลุ่ม  ประชาชนนั่งมองอยู่ น่าจะมีการทบทวนตรงนี้

รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา

ตอนกฏหมายเข้าสภาก็มีการถกเถียงกันมากเพราะต้องการให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง  ตัวแทนจากภาครัฐค่อนข้างน้อย พอผ่านมาที่วุฒิสภา  วุฒิสภาได้แก้ไขเยอะมาก หลายมาตรา  พอกลับไปที่สภาผู้แทนฯ ตอนแรกก็ไม่เห็นด้วย  แต่ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจะบังคับ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็เลยต้องให้สภารับร่างฯที่วุฒิสภาแก้ไข

วุฒิสภาก็พยายามที่จะ Balance สภาที่ปรึกษาเลยลดสัดส่วนของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งลง  การเลือกตัวแทนจากภาคประชาชนและตัวแทนภาครัฐที่ต้องเลือกตั้งกันมาจากกลุ่มต่างๆมักจะมีปัญหาเพราะไดุ้บุคคลที่ไม่เหมาะสม  ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริง ทำให้การทำงานมีปัญหา

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ปัญหาอยู่ที่ความจริงใจในการแก้ไขปัญหา  ไม่ใช่เฉพาะสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. กรรมธิการชุดต่างๆจาก สส. ก็ดี สว. ก็ดีที่ถูกวางตัวหรือแต่งตั้งเข้ามา  ก็มีที่มาจากหัวคะแนน ตัวแทนของ สส.  ฯ ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่เหมาะสม  เข้ามาทำงานก็เลยมีปัญหา

พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย

3 จังหวัดปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาความมั่นคง สมช. ไม่กำหนดแนวคิดที่ชัดเจนคนทำงานเลยสับสน  ศอ.บต.ก็ไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงาน  ทำแบบเบี้ยหัวแตก  ใช้กฏหมาย  ใช้องค์กรที่แตกต่างกัน  เมื่อทำงานไม่ได้ผลมีการประเมินอย่างไร?

รัฐกำหนดนโยบาย ไม่ได้ทำตามผลการศึกษา  ขาดการประเมินผลในการปฏิบัติงาน  ขาดทิศทาง  สะเปะสะปะ

อาจารย์จิราพร บุนนาค

สมช. ทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย  นโยบายและยุทธศาสตร์ก็ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  ทั้งฝ่ายทหาร  และฝ่ายต่างๆก็มีการเชิญมาพูดคุยแล้วจึงนำเสนอต่อรัฐ

การประเมินผล สมช.ก็ประเมิน  แต่เป็นการประเมินเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย  เชิงปฏิบัติเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติที่จะต้องประเมินแต่ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติเป็นผู้ประเมินตัวเอง  ต้องให้คนอื่นที่เกี่ยวข้องมาช่วยประเมิน  เช่นการประเมินความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐก็ต้องให้องค์กรกลางมาประเมินว่าทำงานมาแล้ว 1 ปี  คนในพื้นที่ในชุมชนไว้ใจเจ้าหน้าที่ภาครัฐในหน่วยงานความมั่นคงแค่ไหน? กอ.รมน.ภาค4 ได้รับความไว้ใจมากขึ้นหรือเปล่า?  จากงานวิจัยของอาจารย์ศรีสมภพพบว่าทหารใน กอ.รมน. ภาค 4 ได้รับความเชื่อถือในลำดับต่ำสุด  จากเดิมเป็นตำรวจแต่คราวนี้กลับเป็นทหาร

ประเด็นที่เป็นปัญหามากในภาพรวมและในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการรายงาน  การรายงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะหน่วยงานทหารและตำรวจจะรายงานขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชา คือ ผบ.ทบ. หรือ ผบ.ตช. รายงานไม่ครบ จะเลิอกรายงานที่เป็นผลงานของตัวเอง  แต่อะไรที่เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคไม่รายงาน อันนี้อดีต ผบ.ทบ. มาพูดในกรรมาธิการจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ได้รับรายงานเรื่องแบบนี้เลย  ทำให้การตัดสินใจในระดับหน่วยงาน  ไม่ใช่ระดับประเทศ  เกิดปัญหาในเรื่องการปฏิบัติ  ถ้าสนใจการทำงานในเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงก็อยากเชิญให้ไปพูดคุยกับรองเลขาฯ สมช. ที่รับผิดชอบจะได้เคลียร์  ชัดเจน

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

ทุกคนเห็นด้วยว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มจากรัฐใช้ความรุนแรงตั้งแต่กรณีของหะยีสุหรง  ทนายสมชาย  หรือแม้แต่กรณีกรือเซะกับตากใบ  ตากใบเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความรุนแรงขยายวงกว้าง  จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมจากรัฐเลยว่าจะคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละกรณีอย่างไร?  ที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็เป็นกรณีเยียวยาแต่ก็มีคนมองว่าเหมือนไปสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบด้วยซ้ำไป  แต่ที่อยากเน้นก็คือการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

การแก้ปัญหาของรัฐก็ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีบูรณาการ ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ต่างฝ่ายก็ต่างทำ  ไม่ว่าฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายการเมืองท้องถิ่นเอง เหมือนกับอาศัยความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเค็กก้อนหนึ่งซึ่งแต่ละฝ่ายก็จ้องตาเป็นมัน  จนเกิดวิกฤตด้านความมั่นคง

ที่ผ่านมาก็เป็นทหารเป็นเจ้าภาพ  แต่เสียงสะท้อนจากคนในท้องถิ่นก็กลายเป็นทหารได้รับความเชื่อถือน้อย

อาจารย์จิราพร บุนนาค

เรื่องเอกภาพกับการบูรณาการ นโยบายและยุทธศาสตร์ทุกรัฐบาลเหมือนกัน  แต่ในการปฏิบัติก่อนหน้านี้ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นผู้ที่จะทำให้เกิดเอกภาพเพราะเป็นผู้นำในพื้นที่  พอมี ศอ.บต. ก็แยกส่วน  ถ้าเป็นเรื่องของความมั่นคงก็เป็น กอ. รมน. ภาค 4   ถ้าเป็นเรื่องของการพัฒนาก็เป็น ศอ.บต.

แต่ในทางปฏิบัติจริงมันเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า?  แต่ตามความเห็นของฝ่ายวิชาการกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง  หรือกรรมธิการที่เกี่ยวข้องทั้งของ สส. และ สว. ก็พบว่ายังไม่บูรณาการและยังไม่เป็นเอกภาพ  เป็นเรื่อง Top-down  มากกว่า Bottom-up

ในนโยบายและยุทธศาสตร์เป็น Bottom-up  ขบวนการมีส่วนร่วมต้องมาจากประชาชนอย่างแท้จริง  มีข้อมูลจากสำนักงบประมาณก็พูดในกรรมาธิการของ สส. ว่ามีแต่ Top-down  ต้องแยกแยะนโยบาย ยุทธศาสตร์กับการปฏิบัติ มันเป็นไปทางเดียวกันหรือการปฏิบัติมันสวนทางกับนโยบายและยุทธศาสตร์

นโยบายใช้การเมืองนำการทหาร  นโยบายให้แนวทางสันติวิธีเป็นแค่วาทะกรรมหรือเปล่า?  เพราะมันถูกต้องชอบธรรมและเป็นภาพพจน์ที่ดีทั้งในสายตาของทั้งภายในและต่างประเทศ  ตอนนี้ทุกประเทศในโลกก็หันกลับมาเลือกที่จะใช้สันติวิธีในการจัดการเพราะว่าได้ผลจริง  ไทนเราก็เห็นว่าได้ผลจริงจึงกำหนดไว้ในนโยบาย  แต่เวลาปฏิบัติมันไม่ใช่

มีตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้เองเรื่องการซ้อมทรมาน  คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ามีการละเมิดด้วยการควบคุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยไว้แล้วมีการซ้อมทรมาน  มีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  อนุกรรมการฯก็ลงพื้นที่พบว่ามีการซ้อมทรมานจริง หน่วยงานที่ทำก็ยอมรับ  แม้จะยอมรับคำพูดที่สวนคณะอนุกรรมการฯมาก็คือ  ถ้าไม่ซ้อมแล้วจะรู้หรือว่าแหล่งซ่อนปืนอยู่ที่ไหน?   คำถามของกรรมการฯ ก็คือแล้วจะตอบเขาว่ายังไง?  รู้แหล่งซ่อนปืนแล้วได้อะไร?  ได้ปืนมาแล้ว แล้วยังไงต่อ?    คนที่ถูกซ้อมไม่จบแค่นั้น เขาฟ้องคณะกรรการสิทธิฯ  เขาฟ้องไปที่ OIC  เขาฟ้องไปที่สหประชาชาติ  เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานของสหประชาชาติแล้ว

เวลาที่ทำคิดแค่ผลงานรึเปล่า?  คิดถึงผลกระทบที่จะตามมามั๊ย?  ในส่วนที่เป็นภาพที่ใหญ่กว่าหน่วยงานความมั่นคงรู้อยู่แล้วว่าถึงได้ปืนมา  คนที่ใช้ปืนไม่รู้ว่าใครสั่งให้ใช้ปืน  คดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถูกงดการสอบสวนบ้าง  เพราะพยานหลักฐานไมาพอ  ยกฟ้องบ้าง  ดำเนินคดีไม่ได้  ผลที่ตามมามันสร้างเงื่อนไข  สร้างความเจ็บปวดหรือไม่?  มันทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  ทำให้รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกัน  คนที่ถูกซ้อมถูกเยียวยามั๊ย?  ยังไม่มีขบวนการเยียวยาผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมองลึก  ต้องมองผลกระทบที่จะตามมาไม่ใช่มองแค่ได้ผลงาน  ซึ่งปัจจุบันฝ่ายความมั่นคงก็มีข้อมูลแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์อย่างเดียว  แต่มีการโยงกับเรื่องยาเสพติด  การค้าของเถื่อนและเรื่องการเมืองท้องถิ่น  กลุ่มอิทธิพลด้วย

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

คดีกว่า 400 คดีที่มูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่มีคดีปล้นปืนเลย…..

คดีที่เป็นเหตุให้ทนายสมชายหายไปเป็นคดีจับผู้ต้องหา 5 คน  มีการซ้อมทรมาน  แขวนคอบนเก้าอี้  มีการใช้ไฟฟ้าจี้ตามตัวและอวัยวะเพศ  ….เป็นผู้ต้องหาชุดแรกที่โดนข้อหาปล้นปืนแต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง

………

Post to Facebook Facebook

« « Prev : สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (1)

Next : สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (3) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (2)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.94356989860535 sec
Sidebar: 0.23734498023987 sec