สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (1)
อ่าน: 2002
วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2554 เวลา 09.30 –12.30 น.
อาจารย์จิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ในอดีตเวลาพูดถึงความมั่นคงเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของชาติ แต่ปัจจุบันจะเป็นความมั่นคงของประชาชน ประเด็นแรกเลยจะโยงไปถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน โยงไปถึงความเป็นจริงของคนที่อยู่ในสังคมไทย ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับคือสังคมไทยไม่ใช่ชาติพันธุ์เดียวที่อยู่ในสังคมไทย มีความหลากหลายในชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ในวิธีคิด ปัญญาที่สะสมแตกต่างกันมา
ในอดีตถ้ามองเรื่องความมั่นคงจะมองความหลากหลายเป็นอุปสรรคของความมั่นคง จะมองความหลากหลายหรือความแตกต่างของทุกเรื่องเป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ความหลากหลายไม่ใช่อุปสรรค แต่ความหลากหลายของทุกสังคมในโลกกลายเป็นเรื่องสร้างสรรค์ของสังคมนั้น ความหลากหลายกลายเป็นพลังปัญญาที่จะเผชิญกับปัญหาในสังคมและเป็นหลากหลายปัญญาที่จะช่วยกันแก้ปัญหาสังคม
ตัวอย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้มีความเห็น วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ ศาสนา อัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน เรื่องของการเมืองการปกครองที่เขาอยากเลือกเอง เมื่อก่อนสังคมไทยก็มองเป็นความแตกแยก แต่ปัจจุบันด้านความมั่นคงจะมองความหลากหลายของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพลังของการพัฒนา การที่จะอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก โดยเฉพาะประชาคมโลกมุสลิม
ปัญญาหลายๆปัญญาที่สะสม เรียนรู้กันมาของกลุ่มชาติพันธู์ ศาสนา วิถีชีวิต เอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันทั่วโลกมองว่าจะทำให้มีปัญญาหลากหลายปัญญาและทำให้มีทางเลือกหลากหลายที่จะเผชิญปัญหาและหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา มีหนทางในการป้องกันปัญหาหลายทาง
แนวคิดสันติวิธีเข้าไปโยงกับความมั่นคงโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายต่างๆที่มีส่วนในการแก้ปัญหาก็จะมีวาทะกรรม พูดตรงกันหมดว่าจะใช้การเมืองนำการทหาร จะใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทำไมพูดแล้วความรุนแรงถึงไม่ค่อยลดลง ถึงแม้หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเมืองการปกครองในพื้นที่ก็จะพูดเหมือนกันว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ในปรากฏการณ์ที่พบหรือสิ่งที่เห็นพบว่ายังมีความรุนแรงอยู่ จริงๆแล้วมันยังไม่ดีขึ้น
นโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของกระทรวงทบวงกรมต่างๆก็ขียนไว้ชัดเจนว่า เห็นคุณค่า เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงความเป็นธรรมและการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ผู้ปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้มีการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพื่อไม่เปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศและต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังมีอยู่ให้เห็นและถูกพิสูจน์เช่นกรณีของคนหายเพราะถูกอุ้มแล้วทำให้หายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแบบที่คุณสมชาย นีละไพจิตร ประสบ แม้จำนวนไม่มากแต่ก็มีเป็นระยะ
ในช่วงปี 47-49 พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวแล้วพิสูจน์ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 23 ราย (พิสูจน์แล้วโดย DSI เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร )
หลังปี 49 จนถึงวันนี้มีเพิ่มอีก 10 รายรวมเป็น 33 ราย
ยังมีการซ้อมทรมานซึ่งเป็นเงื่อนไขการสร้างความเจ็บปวดเกิดขึ้นเป็นระยะๆซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่หลายกรณีก็ไม่สามารถดำเนินการจนเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐได้
ในมุมมองของภาคประชาชนพบว่าการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ เวลานำขึ้นสู่ขบวนการยุติธรรมก็พบว่าไม่มีความเท่าเทียมกันกับความผิดชนิดเดียวกันที่ประชาชนเป็นผู้กระทำอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นเหล่านี้ก็เลยทำให้เกิดปัญหาการสร้างเงื่อนไขจากความเจ็บปวดมาเป็นความเจ็บแค้น ความเกลียดชัง แล้วเกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้
การใช้ความรุนแรงตอบโต้ในปัจจุบันกลายเป็นวงจรที่หมุนเวียนไป ไม่รู้เมื่อไหร่จะจบ เมื่อเจ็บปวดก็แก้แค้นก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บปวด ก็มีการแก้แค้นกลับ เป็นแบบนี้อยู่ตลอด
แต่ก็มีเหมือนกันที่ไม่แก้แค้น ไม่ใช้ความรุนแรงเช่นกรณีการหายไปของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ลูกหลานของหะยีสุหลง ไม่ว่าจะเป็นคุณเด่น โต๊ะมีนา หรือหลานสาวคือคุณหมอเพชรดาว ก็ไม่ได้คิดที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้แค้น แต่เลือกที่จะใช้สันติวิธีโดยเลือกใช้วิธีทางกฏหมาย กรณีของคุณสมชาย คุณอังคณาก็เลือกที่จะใช้กฏหมาย ใช้ขบวนการยุติธรรมและพยายามที่จะช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะเยาวชนและกลุ่มสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
กรณีของการซ้อมทรมานจนโต๊ะอิหม่ามยะผา กาเซ็งเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ก็เป็นผู้กระทำ ทางครอบครัวก็ไม่เลือกที่จะใช้ความรุนแรง แต่ให้ลูกๆเรียนกฏหมายเพื่อจะได้มาช่วยเหลือชุมชนที่อยู่ในสังคมไม่ให้ถูกกระทำโดยออกนอกกรอบของกฏหมาย
เป็นตัวอย่างว่าเจ็บปวดแล้ว เจ็บแค้นแล้วต้องใช้ความรุนแรงเสมอไปเพราะนั่นคือสิ่งที่ไม่มีวันจบ จากการพูดคุยกับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าความเจ็บปวดของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยาและลูกๆ ความเจ็บปวดเท่ากันไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายสูญเสียหรือทางฝ่ายประชาชนที่สูญเสีย หรือคนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ถ้านึกถึงใจเขาใจเรา ความเจ็บปวดความสูญเสียมีเท่ากัน
เร็วๆนี้ชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ที่เคยมีความขัดแย้งกันและใช้ความรุนแรง ตอนนี้เลือกที่จะใช้สันติวิธีในการอยู่ร่วมกัน การส่งสัญญาณที่ชัดเจนก็คือการบริจาคเลือดด้วยกัน แม้จะเป็นคนต่างชาติพันธุ์ที่เคยทะเลาะกันใช้ความรุนแรงกัน การส่งสัญญาณแบบนี้เพื่อที่จะบอกว่าศักดฺ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันสามารถที่จะอยู่ร่วมโลกเดียวกันอย่างสันติสุข ถ้าไม่คิดแบ่งแยกกันเป็นคนละพวก ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาในภายภาคหน้าด้วยกันฉันท์มิตรแท้
« « Prev : การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (4)
Next : สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (2) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (1)"