การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (4)
อ่าน: 1998ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ความสามารถที่จะคืนชีวิตชีวาให้กับสังคมและศักยภาพที่จะจินตนาการถึงอนาคตร่วมกันได้ เปรียบเทียบกับชีวิตสมรส บางครอบครัวก็มีปัญหาเกิดความแตกแยก บางคู่มันจมอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันล็อคอยู่กับอดีตที่แตกแยกขัดแย้ง เดินเจอหน้ากันก็คิด…หลอกลวงกัน ….มีเมียน้อย มันล็อคไว้โอกาสจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ทำให้เสียโอกาสที่จะคืนชีวิตชีวา ทำอย่างไรถึงจะก้าวข้ามอดีตนั้นไปได้ ถ้าคืนชีวิตชีวาได้ก็จะมามองว่าเราจะมีอนาคตร่วมกันได้อย่างไร?
สังคมก็เหมือนกัน เหมือนกับชีวิตแต่งงาน เหมือนกับชีวิตคู่
บทเรียนจากต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น แบ่งผลการศึกษาออกมา 5 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 มีความพยายามในการลืมความรุนแรงในอดีต จึงไม่พยายามทำความจริงให้ปรากฏขึ้น อยากให้เห็นว่าการทำเรื่องปรองดองต้องทำบนฐานของความรู้ไม่ใช่ใช่ความรู้สึก เช่น “ไม่ได้ ต้องหาความจริงเท่านั้น” เช่น
กรณีแคนาดากับชนพื้นเมืองไปเปลี่ยนอัตลักษณ์ชนพื้นเมือง
กรณีสงครามเวียตนามกับอเมริกา ไม่ค่อยพูดถึงสงครามเท่าไหร่ เพราะถ้ายังจมปลักกับเรื่องนี้เวียตนามจะอยู่ในอาเซียนอย่างไร? ประเทศไทยเป็นฐานทัพอากาศที่ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในเวียตนาม ในลาว…ถ้าอยากจะทำมาค้าขายกันก็ต้องพยายามลืมให้หมด มีการรวมเวียตนามเหนือและเวียตนามใต้ เวียตนามใต้ตอนนั้นก็เข้าข้างอเมริการบกับเวียตนามเหนือ ถ้าไม่ลืมจะอยู่กันอย่างไร?
สงครามกลางเมืองในสเปน(1936-1939)
ถ้าลืมเป็นการปรองดองรึเปล่า?
กลุ่มที่ 2 ไม่มีการลืมความรุนแรงและพยายามทำความจริงให้ปรากฏขึ้นแต่ก็ไม่สามารถปรองดองได้ เช่นกาน่าและเปรู(เปรูมีคนถูกฆ่าและสาบสูญ 69,280 คน) เวลาคิดเรื่องการปรองดองมีเรื่องให้คิด 9 เรื่อง ทั่วโลกจะสนใจแค่ความจริง ความยุติธรรม ใครรับผิด
กรณีของกาน่าและเปรู ไม่ลืม พยายามเอาความจริงให้ปรากฏแต่ก็ปรองดองกันไม่ได้
กลุ่มที่ 3 ให้ความสำคัญกับการทำให้ความจริงปรากฏและมีการเล่าความจริงในที่สาธารณะ แต่ยิ่งเล่ายิ่งยุ่งยิ่งแย่ และความยุติธรรมไม่ปรากฏแต่อย่างใด คือกรณีของรวันดาและเซียร่า เลโอน
กรณีของรวันดาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเผ่า(Tutzi) และเผ่าฮูตู(Hutu) มีคนตาย 800,000-1,000,000 คน ที่น่าสนใจของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ไม่ได้ใช้อาวุธปืนอัตโนมัติ แต่ใช้มีดใช้ดาบทำ และความรุนแรงที่เกิดเกิดระหว่างเพื่อนบ้านกัน คำถามของนักวิจัยคือฆ่าลูกของเพื่อนบ้านที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็กได้อย่างไร?
หลังจากเหตุการณ์นี้มีการดำเนินการด้วยการให้มีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันทุกวงการ มีการกระจายอำนาจและพูดเรื่องการปรองดองโดยชุมชนกลับก่อปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา ในรวันดามีการตั้ง Gacaca (Gacaca jurisdiction) การปรองดองในท้องถิ่นซึ่งมีถึง 9,000 หน่วย ยึด “Ukuri,Ubutabera,Ubwiyunge – Truth,Justice,Reconciliation) ผู้พิพากษากาซาซาเป็นคนในท้องถิ่น ถูกเลือกโดยชุมชนและไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการฆ่ามาก่อน ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ แต่ได้สิ่งของชดเชยอย่างอื่นเช่นวิทยุ และผู้พิพากษาเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กาซาซาถูกออกแบบเพื่อช่วยการตรวจสอบคดีที่ค้างคาจำนวนมหาศาล รวมถึงคดีที่ยังไม่มีการไต่สวนแก่นักโทษที่อยู่ในคุก การไต่สวนของกาซาซาจะมีอาทิตย์ละหนึ่งวัน อาจจะเป็นสนามกีฬาเล็กๆ ตลาด โรงเรียน ฯลฯ
มีการลงโทษผู้กระทำผิด ปล่อยนักโทษที่บริสุทธิ์ จัดให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย เน้นกระบวนการค้นหาความจริงและสนับสนุนกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างฮูตูกับทุตซี่ เป็นความพยายามที่จะดำเนินการตามทฤษฎีการมีส่วนร่วมที่ดีมาก แต่ผลที่เกิดขึ้นเพราะ Gacaca
“ผู้คนในชุมชนจึงไม่ไว้วางใจกันและกัน”
“กระบวนการปรองดองอาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีกาซาซา”
“มีความแตกต่างระหว่างสันติภาพและความมั่นคง ทุกวันนี้เรามีความมั่นคง แต่ไม่ใช่สันติภาพ ผู้คนไม่ใช้ความรุนแรงเพียงเพราะเขากลัวผู้มีอำนาจ….รวันดากำลังจะเป็นแบบอิรักในไม่ช้านี้ ความเกลียดชังได้มาจากมิติต่างๆ และกาซาซาเป็นสาเหตุให้ครอบครัวต่างๆขัดแย้งกัน เด็กๆที่พ่อแม่ของเขาอยู่ในคุกจะถามเสมอว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน? พวกเขาเตรียมจะแก้แค้น”
การสารภาพบาปในคริสตศาสนาเป็นการสารภาพใน Private Space แล้วจะได้รับการยกโทษ แต่ Gacaca ทำใน Public Space ทำให้เกิดมีเรื่องของความอาย ศักดิ์ศรี เกิดความเคียดแค้นเมื่อรับทราบความจริงที่เกิดขึ้น
การปรองดองเสี่ยง ผลอาจจะออกมาแบบนี้ก็ได้
กลุ่มที่ 4 แม้จะให้ความสำคัญกับการทำให้ความจริงปรากฏขึ้นและการเล่าความจริงแต่ความยุติธรรมไม่ปรากฏแต่อย่างใด (อัฟริกาใต้) กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีจุดอ่อนเพราะ “ข้อมูลไม่ตรงและไม่ครบ, ชดเชยไม่ทั่วถึง, นิรโทษกรรมคนผิด ไม่ยุติธรรม, ให้อภัยไม่ลง, รอนสิทธิผู้เสียหาย, สร้างวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล, ไปไม่ถึงปรองดอง เพราะคนผิวดำรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม คนผิวขาวที่ถูกกล่าวหารู้สึกถึงแต่ความเกลียดชังและอคติ
กลุ่มที่ 5 ให้ความสำคัญกับการทำให้ความจริงปรากฏขึ้นและความยุติธรรมเริ่มปรากฏประจักษ์ชัดขึ้นเรื่อยๆซึ่งเหมาะสมกับเงื่อนไขของการปรองดองที่ยั่งยืนมากที่สุด เช่นในกรณีของอาร์เจนติน่าและชิลี ซึ่งเดิมเป็นเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก แต่มีการปรองดองได้ค่อนข้างยั่งยืนเพราะมีการปรองดองมากับการเปลี่ยนระบอบ (Regime Changes) การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่สำเร็จเพราะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยมแบบทหารมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ชิลีประธานธิปดีก็เป็นผู้หญิงมีควาพยายามเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก
การปรองดองในสังคมไทยมีความเสี่ยงสองชั้น
ชั้นแรกการปรองดองเกี่ยวพันกับความเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะการปรองดองสัมพันธ์กับความไว้วางใจและจะไว้วางใจได้ก็ต้องเสี่ยง
ชั้นที่สองสังคมไทยเป็นสังคมความเสี่ยง (Risk Society) เป็นความเห็นทางวิชาการเพราะองค์กรอยู่ได้ก็เพราะความไว้วางใจเลยมีความเสี่ยง ธนาคารก็อยู่บนฐานของความไว้วางใจ เมื่อไหร่ธนาคารเจ๊ง เจ๊งไม่ใช่เพราะถูกคนปล้นแต่เจ๊งเพราะประชาชนไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อถือ ถ้าความภักดีต่อสถาบันหมายถึงอย่างนี้ โจทย์จะเป็นว่าจะรักษาความภักดีนี้อย่างไร? ถ้าเข้าใจผิดก็ตั้งหน้าจ้างยามอยู่นั่นแหละเพราะเข้าใจโจทย์ผิด มัวแต่แก้ปัญหาโจรปล้นแบงค์ มันเรื่องเล็ก ไม่ได้คิดถึงเรื่องทำอย่างไรถึงจะสถาปนาสายสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับลูกค้า
ถ้าไปผิดทางเพราะเข้าใจผิดก็แก้ความขัดแย้งไม่ได้เลยไปใช้อย่างอื่นเพราะเห็นว่าใครก็เป็นโจรที่จะมาปล้นธนาคารหมด เลยตรวจหมด ใครจะมาเข้าธนาคาร
- ระบบราชการแตกแยกภายในทุกระบบ?
- กลไกผ่อนเบาความขัดแย้งทุกอันอ่อนกำลังเพราะความยืดเยื้อของความขัดแย้ง?
- รัฐอ่อนแอในด้านความสามารถที่จะเผชิญกับความขัดแย้ง?
การจะแก้ไขความขัดแย้งก็มีความไว้วางใจซึ่งมีความเสี่ยง คนต้องมีความไว้วางใจถึงจะทำ มิฉะนั้นความขัดแย้งก็จะลุกลามต่อไป มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ การใช้ความรุนแรงก็มีบทเรียนมาแล้ว บางคนบอกว่าได้ผลได้ประโยชน์ ปัจจุบันเราอยู่ในสถานการณ์พิเศษอย่างที่ทราบกันอยู่ อยู่ในเงื่อนไขพิเศษ ประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร
ถ้าไม่คิดถึงเรื่องการปรองดอง ไม่เข้าใจเรื่องความขัดแย้งจริงๆแล้ว ไม่พูดถึงเรื่องทางเลือกอื่นเช่นสันติวิธี ของพวกนี้ไม่ใช่พูดแล้วแก้ได้เลยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา มองกันตรงๆไม่งั้นก็แก้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยง
ในอนาคตจะอยู่กันอย่างไร? ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าสำคัญมาก
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
การอยู่กับอนาคตคืออยู่อย่างไม่ประมาท การประมาทหมายถึง
- ไม่รู้จักตนเองว่าเปลี่ยนไปอย่างไร?
- ไม่รู้ว่าสภาพของโลกภายนอกเปลี่ยนไปอย่างไร?
- ถือเอาว่าสามารถยื้ยุดฉุดความเปลี่ยนแปลงได้
ความมีสติ ระลึกได้ รู้ตัวทั่วพร้อมสำหรับสังคมไทยหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว เราเรียนมาว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตร ไม่ใช่แล้ว เปลี่ยนไปแล้ว แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคแรงงานไม่ใช่ภาคเกษตร ชาวนาทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ชาวนาในอุดมคติเหมือนเดิมที่เราเคยเห็น เป็นชาวนาซึ่งผูกเข้ากับระบบทุนของการเกษตรไปนานแล้ว มีหนี้มีสิน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะ ตอนนี้ต้องเข้าใจว่าเปลี่ยนไปอย่างไรแล้ว
บ้านเมืองมีความขัดแย้งลูกศิษย์ก็คิดแตกต่างกันไป บางคนก็โกรธอาจารย์เพราะว่าไม่เข้าใจใจว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ ต่อมาก็โทรมาบอกว่าหายโกรธแล้วอาจารย์ส่วนหนึ่งก็สีเหลือง ลูกศิษย์จำนวนหนึ่งก็แดง คนรุ่นอาจารย์ก็มีความสัมพันธ์กับสถาบันประเพณีไม่เหมือนกับคนรุ่นหลัง วันนี้เปลี่ยนไปพอสมควร ต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงมันเป็นจริง วันนี้มันเปลี่ยนไปเป็นยังไงแล้ว นอกจากเห็นว่าตัวเองเปลี่ยนยังไงแล้วโลกเปลี่ยนยังไงด้วย ปัจจุบันโลกเรามีความเสี่ยงสูงเพราะคนคนหนึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้มากด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน
การก่อการร้าย 9-11 ลงทุนไม่เกิน 500,000 เหรียญ แต่อเมริกาต้องลงทุนในการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นแสนล้านเหรียญ ที่สำคัญมีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมโลกเชื่อว่าตัวเองสามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งอันตรายมาก พุทธศาสนาสอนว่าความเป็นจริงคือการเปลี่ยนแปลง อย่าไปยึดติดกับมัน แปลว่าอย่าบังคับไม่ให้มันเปลี่ยนเพราะทำไม่ได้ เป็นสาระสำคัญของการที่จะอยู่กับอนาคตอย่างไม่ประมาท
« « Prev : การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (3)
Next : สันติวิธีกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ (1) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (4)"