การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (1)
อ่าน: 2584วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2554 13.30-16.30 น.
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
อาจารย์บอกว่าอยากพูดเรื่องที่อยากพูด วันนี้ไม่พูดตามที่เชิญมาให้พูดแต่อยากพูดเรื่องความปรองดอง อาจารย์ไม่ชอบบรรยายเลยใช้แบบถามให้นักศึกษาตอบหรือบางมีก็ไม่ต้องการคำตอบ
จะบริหารจัดการความขัดแย้งไปทำไม?
ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร
ตอนนี้มีความขัดแย้งในประเทศ เรียนไปจะได้ไปแก้ปัญหาความขัดแย้งทางภาคใต้และแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิด
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
แล้วจะบริหารจัดการความขัดแย้งได้หรือไม่?
อาจได้ อาจไม่ได้ แล้วจะทำไปทำไม? ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคม ยังไงก็ต้องเกิด เป็นไปได้ไหมว่าว่าปล่อยมันให้เกิดจะดีกว่า เราอาจจะคิดผิดที่จะไปทำให้มันหายไป เพราะถ้าหน่วยราชการมีปัญหามีความขัดแย้ง แต่ผู้น้อยกลัวผู้ใหญ่ตลอดเวลา ไม่กล้าจะบอกเลยคิดว่าหน่วยราชการหน่วยนั้นจะเป็นหน่วยราชการที่ดีไหม? บอกยังไงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ไปบอกในที่ประชุมใหญ่ก็ไม่ดี
ถ้าตั้งโจทย์เรื่องการบริหารความขัดแย้ง เรากำลังเปลี่ยนเรื่องของความขัดแย้งไปเป็นเรื่องของการบริหาร ไม่ใช่เรื่องของการเมือง การเมืองกับการบริหารต่างกันอย่างไร?
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
การเมืองเอาชนะกัน แต่การบริหารความขัดแย้งต้องมานั่งคุยกันว่าความขัดแย้งเกิดจากอะไร? จะจัดการอย่างไร?
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ในทางทฤษฎี การบริหารสามารถคิดในเชิงเทคนิค การบริหารมีขั้นตอน มีคำตอบทีค่อนข้างแน่นอน แต่ถ้าเป็นปัญหาทางการเมืองคล้ายๆมันยุ่งกว่านั้น มีผลประโยชน์มีอะไรอื่นๆเยอะแยะไปหมด
ไม่ใช่เรื่องการบริหารความขัดแย้ง เป็นว่าเราจะอยู่กับความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง ต้องอาศัยความสมานฉันท์อย่างไร? ไม่ใช่เป็นการบริหารจัดการทำให้มันหายไป
ความคิดเรื่องการบริหารความขัดแย้งในโลกนี่มี 2 ตระกูลหลัก ตระกูลหนึ่ง เชื่อว่าความขัดแย้งเป็นปัญหาต้องทำให้มันหมดไป ตระกูลที่ 2 เชื่อว่าความขัดแย้งเป็นธรรมชาติ ทำยังไงก็ไม่หายแต่เปลี่ยนรูปไป
บางพวกเชื่อว่าความขัดแย้งเป็นของดี ถ้าไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีความก้าวหน้า เช่นการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถ้าสอนแล้วลูกศิษย์ทุกคนได้เท่ากับอาจารย์ก็ควรปิดมหาวิทยาลัย ความรู้จะเจริญก้าวหน้าบางครั้งนักศุกษาต้องไม่เชื่อสิ่งที่อาจารย์บอกแล้วค้นหาสิ่งใหม่เอง การเปลี่ยนแปลงกับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง การอยู่กับคนที่เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ โจทย์ไม่ใช่ทำให้ความขัดแย้งหายไป ไม่ใช่บริหารความขัดแย้งให้มันสงบราบคาบ แต่เป็นการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เปลี่ยนเป็นความรุนแรง
เคยดูหนังเรื่อง Avatar ไหม?
ดูหนังเรื่อง Avatar แล้วชอบไหม? ให้เหตุผลว่าทำไมชอบ
นฤมล ศิริวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา
ชอบเพราะมันมีความคาดฝัน สร้างสรร มนุษย์มีความต้องการมาก ไม่สนใจคนอีกกลุ่มหนึ่งตั้งใจจะครอบครอง
ดร. แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
เนื้อเรื่องดูแล้วเร้าใจ เป็นเรื่องการแก่งแย่งทรัพยากร ความขัดแย้งในใจของคน มีแง่คิดและมุมมอง
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
Avatar เป็นเรื่องที่ว่าด้วยดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่ง ชาวโลกซึ่งได้ทำลายโลกไปจนหมดแล้วก้าวหน้ามากไปอยู่ในอวกาศ เห็นดาวดวงนี้มีทรัพยากรที่โลกต้องการมาก แต่คนในดาวเคราะห์ดวงนี้วิถีชีวิตแตกต่างกับชาวโลกมาก เป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันกับดาวที่เขาอยู่ แผ่นดินที่เขาอยู่ สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่
เวลาขึ้นไปขี่ม้าต้องเอาผมไปเสียบเข้ากับตัวม้า เป็นการเชื่อมตัวเองเข้ากับธรรมชาติ อาศัยอยู่ในต้นไม้ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ถือว่าเป็นเทพหรือพระเจ้า ตรงต้นไม้เป็นที่ที่มีแร่ธาตุ ทางโลกเราก็๋มีฝ่ายทหารฝ่ายความมั่นคงฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งก็ถอดร่างเข้าไปดูว่าเขาอยู่กันอย่างไร? เข้าไปดูแล้วก็เข้าใจว่าเขาอยู่กันอย่างไร ยอมรับความเป็นอยู่ของเขา (เวลาเราจะดูกลุ่มอื่นให้เข้าใจความขัดแย้ง เข้าใจสังคมของเขาก็ต้องถอดร่างเข้าไปดู)
ฝ่ายนี้ก็จะไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหาร นายทุน ทหาร ฝ่ายความมั่นคงที่เห็นว่ามันก็เป็นแค่ต้นไม้ เป็นของไม่มีค่า เห็นชาวดาวเคราะห์นี้เป็นคนป่าเถื่อน โลกก้าวหน้ากว่ามาก มีหุ่นยนต์ มีระเบิด มีอาวุธร้ายแรง อีกฝ่ายยังใช้ธนู สิ่งที่ทำคือพยายามเข้าไปครอบครอง ใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงเลยเกิดสงคราม
หนังเรื่องนี้ให้อะไรมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้ง ที่สำคัญคือในสายตาชาวโลกสิ่งที่เห็นไม่มีค่าอะไรเลย เป็นคนป่าคนเถื่อนเป็นต้นหมากรากไม้ แต่ในสายตาของชาวบ้าน นั่นเป็นบ้านเขา เป็นวิถีชีวิตเขา เป็นอัตลักษณ์ของเขา
คำถามคือสังคมไทยถึงตรงนี้หรือยัง? หมายความว่าคนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ คนอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่เลย เช่นเรื่องน้ำ ฝ่ายหนึ่งต้องการให้สร้างเขื่อน อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าสร้างเขื่อนจะทำลายทุกอย่างที่เป็นอยู่ ถ้าไม่สร่างเขื่อนน้ำจะท่วม ไม่ใช่หลายปีหน แต่ท่วมปีละหลายหนและท่วมนาน สภาวะแบบนี้คิดว่าคนจะทนได้นานเท่าไหร่? ปัญหาก็คือมองกันคนละด้าน
ประเด็นสำคัญคือคนกลุ่มหนึ่งเห็นธรรมชาติเป็นของใช้ คนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นธรรมชาติเป็นวิถีชีวิตเป็นของศักดฺ์สิทธิ ความเชื่อแบบนี้กำลังปะทะกัน
กรณีท่อก๊าซมีปัญหา ปตท. กับฝ่ายชาวบ้าน
ปตท. บอกว่าในการสร้างท่อก๊าซยานาดาจากฝั่งพม่ามาที่ราชบุรีต้องผ่านพื้นที่ป่าเขาทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง ในกระบวนการที่ทำได้พยายามป้องกันต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่นั้น
ชาวบ้านถามว่าต้นไม้ทุกต้นใช่ไหม?
ปตท. บอกว่าต้นไม้ทุกต้นที่มีค่าตามที่ระบุไว้ของกรมป่าไม้ เป็นต้นไม้ที่มีราคา (Commercial Value)
ต้นไม้ที่มีค่าของกรมป่าไม้และ ปตท. กับของชาวบ้านก็แตกต่างกัน
สังคมไทยอยู่ตรงนั้นหรือยัง?
มาเรื่อง Titanic
Titanic เรื่องใหญ่คือเรือล่มเพราะชนภูเขาน้ำแข็ง ธรรมชาติของภูเขาน้ำแข็งส่วนที่เห็นพ้นน้ำเพียง 1 ใน 11 เวลามองความขัดแย้งสิ่งที่เห็นมีเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนที่มองไม่เห็นอีก 10 ส่วน ทำอย่างไรจึงจะเห็นส่วนที่มองไม่เห็น ถ้าจะทำงานด้านความขัดแย้งไม่ใช่มองแต่สิ่งที่เห็น ต้องมองให้เห็นส่วนที่ไม่เห็นด้วย และสิ่งที่มองเห็นสัมพันธ์กับสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างไร? ถ้าตอบตรงนี้ไม่ได้ก็จัดการความขัดแย้งไม่ได้ อยู่กับความขัดแย้งก็ไม่ได้
« « Prev : ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จังหวัดชายแดนภาคใต้กับส่วนกลาง
Next : การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (2) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (1)"