การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (2)
อ่าน: 1715ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
โจทย์ :จะอยู่กับความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้เป็นความรุนแรงได้อย่างไร? ต้องทำอะไรบ้าง?
เพื่อแก้โจทย์นี้ต้องเข้าใจ 3 อย่าง
- ความขัดแย้งขณะนี้เป็นอย่างไร?
- จะสมานฉันท์หรือปรองดองอะไรกับอะไร?
- ทำอย่างไร?
ความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นอย่างไร? อาจเข้าใจแตกต่างกันอีก จะเข้าใจได้ต้องมองรัฐธรรมนูญทั้ง 18 ฉบับ และรัฐประหารทั้ง 24 ครั้ง (สำเร็จ 13 ครั้ง) เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของสังคมไทยถ้าจะให้เข้าใจต้องดูผ่านรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเกิดขึ้นในบริบทที่แตกต่างกัน
รัฐธรรมนูญ 2550 เกิดในบริบทของช่วงเวลา 2549-2550
รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นคือรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา(พฤษภา 35)
รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นคือรัฐธรรมนูญ 2521 ก็เกิดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2520 เป็นต้นมา
แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกเลยคือรัฐธรรมนูญ ปี 2475 ก็เกิดในบริบทการเปลี่ยนแปลง 2475
รัฐธรรมนูญทุกฉบับอยู่ในบริบทบางอย่าง มันบอกความสัมพันธ์ทางอำนาจบางอย่าง นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมันเกิดไม่ได้ในรัฐธรรมนูญปี 2521 แต่มีอยู่ได้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นผลจากการต่อสู้ทางอำนาจตั้งแต่ปี 35 มา ประเด็นสำคัญในพฤษา 35 คือพลตรีจำลองและคณะต่อสู้กับรัฐบาลพลเอกสุจินดาซึ่งตอนแรกบอกว่าจะไม่เป็นนายกฯแล้วก็มาเป็น ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้จึงมาปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญเป็นผลของการต่อสู้ทางการเมืองหรือบริบททางการเมือง สว. ก็มาจากการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนหน้านั้นมาจากการแต่งตั้ง มันจะสะท้อนภาพออกมา
ตั้งแต่ 2476 ถึงปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ ได้ความสัมพันธ์ทางอำนาจ 18 ชุด ได้ชีวิตทางการเมืองไทยซึ่งความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนมาตั้งแต่ 2476 นี่คืออัตชีวประวัติของการเมืองไทย อยากรู้ว่าสังคมไทยเป็นอย่างไรก็ดูรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ดูในแง่กฏหมาย ดูในฐานะที่มันสะท้อนภาวะอำนาจทางการเมือง เป็นการต่อสู้ทางอำนาจ
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับหน้าตาไม่เหมือนกัน รัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 ต่างกันอย่างไร?
รัฐธรรมนูญ 2540 โจทย์คือทำอย่างไรจะให้มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง ก็ได้รัฐธรรมนูญ 2540
รัฐธรรมนูญ 2550 โจทย์คือทำอย่างไรจะมีรัฐบาลที่ถูกควบคุมได้มาก เลยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ก็ได้รัฐธรรมนูญ 2550
ถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งต่อไปก็จะเป็นผลของอำนาจปัจจุบัน อำนาจมันเปลี่ยนไป เป็นลักษณะของการเมืองไทย
ถ้าจะเข้าใจความขัดแย้งปัจจุบันต้องดูว่าใครขัดกับใคร? เรื่องอะไร?
2490-2516: ความขัดแย้งในช่วงนั้นเป็นความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้นำ(มักเป็นผู้นำฝ่ายทหารทหาร) โจทย์คือการแย่งชิงกันว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
2516-2549: 2516 มีการเปลี่ยนแปลง (16 ตุลา) ความขัดแย้งหลักคือรัฐกับประชาสังคม 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลาคม 2519 , พฤษภาคม 35 ก็คือประชาชนสู้กับเผด็จการทหาร
ตั้งแต่ 2549 ถึงเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ ความขัดแย้งหลักระหว่างขบวนการสังคมขนาดใหญ่บวกพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เป็นการต่อสู้ระหว่างสถาบันประเพณี (และประชาธิปไตยประเพณี) กับสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยใหม่
ถ้าอยากเข้าใจความขัดแย้งก็ต้องมองความขัดแย้งอย่างซึ่งหน้าให้เห็นว่ารากของมันคืออะไร? มิฉะนั้นก็จะเห็นแต่ยอดของภูเขาน้ำแข็งไม่เห็นส่วนที่จมอยู่ในน้ำ ไม่รู้ว่ากำลังเจอกับอะไรอยู่
อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์เคยพูดถึงเรื่องสองนคราประชาธิปไตยว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ปัจจุบันเป็นปัญหาของประชาธิปไตยอำนาจนิยม (Authoritarian Democracy) กับอำนาจนิยมประชาธิปไตย (Democracy Authoritarianism) ต่างกันตรงที่ฝ่ายหนึ่งมีที่มาของอำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตยแต่ใช้อำนาจเกิน อีกฝ่ายหนึ่งมีที่มาไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยแต่ใช้อำนาจค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย
รัฐบาลของคุณทักษิณ พรรคไทยรักไทยเป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยม ที่มาของรัฐบาลมีความชอบธรรมเพราะประชาชนเลือกเข้ามา รัฐบาลต่อมา(พลเอกสุรยุทธ)หรือคุณอภิสิทธิ์เป็นอำนาจนิยมประชาธิปไตย เหตุผลคือที่มาถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่ค่อยชอบธรรม
การชนะแบบถล่มทลายบางทีเกิดความลำพองก็เป็นปัญหาของประชาธิปไตยอำนาจนิยม แต่ปัญหาของอำนาจนิยมประชาธิปไตยคือบางทีต้องตีสองหน้า ปากก็บอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ที่จริงเป็นอำนาจนิยม
ความขัดแย้งปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างขบวนการสังคมขนาดใหญ่และอำนาจรัฐ ขบวนการสังคมขนาดใหญ่มีทุน มีสื่อ มีความสามารถในการผลิตข่าวลือความเกลียดชัง มีเบื้องหลังที่มีอิทธิพล มีคนจำนวนมหาศาลที่โกรธจริงๆและมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเหลืองหรือแดงหรือหลากสี เป็นขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ที่มีคะแนนโหวตฝ่ายละเกินสิบล้านทั้งคู่ แค่สิบเปอร์เซ็นต์ก็หมายถึงคนเป็นล้านแล้ว โอกาสที่จะเผชิญกันก็สูงทั้ง 2 ฝ่ายมีทุน มีสื่อสารพัดรูปแบบ มีอิทธิพลและมีคนที่โกรธจริงๆทั้งคู่เหมือนกันด้วยเหตุผลคนละแบบ
ผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างไร? จะประเมินอย่างไร? ต้องพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า cartographic effects เป็นผลเชิงแผนที่
เวลาเกิด Tsunami จะเกิด geographical map เกิดเกาะใหม่ๆ แผนที่ทางภูมิศาสตร์เปลี่ยน
ความรุนแรงทางภาคใต้ สิ่งที่เกิดเป็น cultural map แผนที่ทางวัฒนธรรมไทยเปลี่ยน ในอดีตมีความพยายามของรัฐไทยใหม่ที่อยากจะให้คนที่ไม่เหมือนเราเป็นเหมือนกับเรา สมัยก่อนเราพยายามจะบอกว่าเขาเป็นคนไทย เพราะทำให้เราต้องมาพิจารณามุมมองต่างๆให้ชัดเจนขึ้น และความขัดแย้งนี้จะจัดการอย่างไร?
ระบอบทักษิณ (Thaksin regime) ตั้งแต่ 2533-2534 ทำให้แผนที่ความภักดีของคนไทย (Loyalty Map) เปลี่ยนแปลงไป ความภักดีนี้ถูกท้าทายในบางลักษณะนำมาสู่การปฏิวัติ 2549 และเกิดความขัดแย้งมาจนถึงทุกวันนี้
การรัฐประหาร 19 กันยนและการกระชับพื้นที่พฤษภาคม 2553 กระทบแผนที่ Instrumental Map คือแผนที่ของการจัดการ พอตัดสินใจแบบนี้ก็เป็นการยอมรับหรือการใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบของการจัดการความขัดแย้ง แผนที่ของเครื่้องมือในสังคมก็เปลี่ยน
การเลือกตั้ง 3 กรกฏาคม 2554 ก็กระทบ Right Map หรือแผนที่สิทธิของคน การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ผลของการเลือกตั้งคนจำนวนหนึ่งก็บอกว่าพรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับนักวิชาการจำนวนหนึ่งคิดว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิด แผนที่สิทธิที่ว่าหมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการช่วงชิง ยืนยันความหมายของสิทธิ สิทธิที่จะเลือก สิทธิที่จะบอกว่าไม่ได้เลือกผิด สิทธิที่จะบอกว่าคนเลือกเขาเลือกเอง อันนี้ก็เป็นปัญหา คนจำนวนหนึ่งมองการเลือกตั้งแล้วบอกว่าคนเหล่านี้ถูกชักจูง ถูกหลอกลวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า ไม่มีใครมาหลอก เลือกเอง เป็นตัวตนของเขา เป็นอัตลักษณ์
ผลการเลือกตั้งไม่ใช่แค่ใครจะมาเป็นรัฐบาลเท่านั้น แต่ประเด็นคือการออกแบบทางสถาบันการเมือง (Institutional Designs) ไม่สามารถยับยั้งหรือทำให้การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและวัฒนธรรมการเมืองสะดุดหยุดลงได้
…………
หมายความว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มา คงมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง มีความพยายามที่จะหยุดการเดินทางของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง หยุดความพยายามของรัฐบาลหรืออิทธิพลของคุณทักษิณโดยใช้ Institutional Designs หลายอย่าง (การออกแบบทางสถาบันการเมือง) แต่พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปแล้ว จะออกแบบอย่างไร? ใช้กฏอะไร? ใช้ผู้คนยังไง? ใช้องค์กรอะไร? ก็หยุดไม่อยู่ ผลของมันก็คือผลของการเลือกตั้ง 3 กรกฏาคม ถึงแม้รัฐบาลที่มีอำนาจในเวลานั้นจะทำอย่างไร ผลก็คือพรรคเพื่อไทยชนะ เวลาชนะแปลว่าอะไร แปลว่า Institutional Designs ทั้งหลายไม่ work คนเปลี่ยนไปแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว
จะมีโรงเรียนการเมือง จูงใจหรือไม่จูง พรรคการเมืองทั้งหลายก็พยายามทำกันอยู่ ประเด็นอยู่ที่ว่าคนเลือก สุดท้ายเขาต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง บังคับได้จริงรึเปล่าก็น่าสงสัย ทำด้วยเหตุผลอะไรไม่ใช่ปัญหา แต่เขาตัดสินใจ คนที่ทำมีเหตุผลทั้งสิ้น แต่เราเข้าใจเหตุผลของเขารึเปล่า ?
« « Prev : การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (1)
Next : การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (3) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การบริหารจัดการความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ (2)"