เปิดใจหลักสูตร..การทำงานอย่างมีความสุข
อ่าน: 1782
แนวคิด…….
ปีใหม่นี้จะเริ่มพัฒนาบุคลากรของเทศบาลนครพิษณุโลก ในแนวคิดของตัวเอง เป็นการจุดพลุให้องค์กรหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และเอาจริงเอาจัง
ไม่ใช่ไม่ทำเลยหรือขาดการพัฒนานะครับ เพราะอย่างน้อยก็มีผลงานมากมายก็เป็นที่ยอมรับของวงการ แต่เป็นเรื่องของการทำให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก ทางเทศบาลทำมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็มุ่งเน้นด้านวิชาการ หรือการทำงานเป็นทีม มีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ มีการปฏิบัติธรรม ฯลฯ แต่ก็ได้ผลเป็นบางกลุ่ม ผลสำเร็จและความยั่งยืนก็ขาดการประเมินผลที่ชัดเจน และขาดการติดตามผลระยะยาว หน่วยงานและคนที่รับผิดชอบและสนใจเรื่องนี้โดยตรงก็ยังไม่ชัดเจน
คนเราส่วนใหญ่คิดว่าจะทำงานอย่างมีความสุขได้ต้องได้ทำงานแบบที่ตัวเองคาดหวังไว้
จะเรียนอย่างมีความสุขได้ต้องเรียนในแบบที่ตัวเองคาดหวังไว้
จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต้องใช้ชีวิตตามแบบที่ตัวเองคาดหวังเอาไว้
แต่ความเป็นจริง เราทุกคนทำงาน เรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่เป็นจริง คือเป็นไปอย่างที่มันจะเป็นไปตามธรรมชาติ
แต่คนเราส่วนใหญ่เรียนไม่เป็น ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเรียนรู้อะไร? เรียนรู้อย่างไร? แทนที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เข้าใจการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิต
การพัฒนาตัวเองมีสองด้านคือด้านความรู้ทางวิชาการที่จะไปประกอบอาชีพหรือเรื่องราวทางวิชาการต่างๆ กับด้านจิตวิญญาณหรือปัญญา สังคม องค์กรหรือบุคคลใดมุ่งพัฒนาด้านเดียวก็จะเกิดปัญหากับสังคม องค์กรและตัวบุคคลนั้นๆ
เพราะวันวันนึงก็จะเอาแต่คาดหวังให้คนโน้นเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ คนนี้เปลี่ยนไปเป็นแบบนั้น ซึ่งน่าจะทำไม่ได้
ดังนั้นคงต้องเริ่มที่การยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แทนที่จะเอาหัวชนฝาไปหาทางเปลี่ยนแปลงคนอื่น เปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลงสังคม
……
ลองยกตัวอย่างดู
คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุข มีทุกข์เพราะมัวไปโทษคนอื่น เพราะคนนั้น เพราะคนนี้ เพราะคนนั้นทำอย่างนี้ เพราะคนนี้ทำอย่างนั้น เพราะคนนั้นพูดอย่างนี้ เพราะคนนี้พูดอย่างนั้น
ตัวเราจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่การกระทำของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือคำพูดของใครๆทั้งนั้น
ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือพัฒนาตัวเองด้านจิตใจ คงต้องเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ถ้าเข้าใจ ค้นพบเรื่องนี้และเริ่มปฏิบัติก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น
ในองค์กรเหมือนกัน วันๆนึงก็เอาแต่ไปเพ่งโทษคนอื่น ไม่ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง หรือมุ่งพัฒนาผิดทางเอาแต่พัฒนาด้านวิชาการอย่างเดียว แก้ปัญหาผิดทาง ยิ่งทำยิ่งยุ่งแล้วยังไม่รู้ตัวเสียอีก
สังคมหรือระดับประเทศก็เช่นเดียวกัน อิอิ
พูดน่ะพูดได้ พูดน่ะพูดง่าย แต่ตอนทำน่ะไม่ง่ายหรอกครับ
เริ่มตั้งแต่จะเริ่มหลักสูตรนี้ ก็ต้องคุยกันในระดับผู้บริหาร ส่วนมากก็อยากให้อบรมเยอะๆ ทำทั้งองค์กร ก็บอกไปว่าทำไม่เป็น แบบที่ว่าเยอะๆ ดีๆ เร็วๆ ได้ผลยั่งยืน
แต่จะขอทำเป็นกลุ่มเล็กๆที่สนใจจะพัฒนาตัวเอง คงท้าทายดี เพราะน่าจะเป็นที่สนใจของผู้คนในองค์กร
หลักสูตรนี้คงรับจำนวนไม่มาก ไม่เกินสิบห้าหรือยี่สิบคน จะทำแบบ On the Job Training ไม่ใช่การอบรมแบบ Intensive จะใช้เวลาสั้นๆระหว่างสัปดาห์ ครั้งละชั่วโมงครึ่งไม่เกินสองชั่วโมง แต่ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของเครือข่ายที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน
เริ่มต้นด้วยการ Roadshow เสนอแนวคิดและแนวทางที่จะทำให้คนที่สนใจเข้ามารับฟังและสอบถาม
หลังจากนั้นก็จะให้สมัคร มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันอีกครั้งว่าเข้าใจแนวทางและสามารถร่วมการอบรมได้ เพราะถ้าเข้ามาแล้วเป็นการปิดโอกาสคนอื่น แล้วตัวเองก็ไม่ร่วมหลักสูตรจนจบ ถ้าคนสนใจมากก็อาจมีบางคนต้องรอรุ่นต่อไปซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะมีอีกหรือเปล่า ?
ถ้ามีคนสนใจน้อย มีเพียงคนเดียวก็จะเริ่มโครงการ อิอิ
ตามระบบราชการก็ต้องจัดทำหลักสูตร เสนอโครงการ แต่หลักสูตรก็จะพัฒนาตามความต้องการของกลุ่ม ซึ่งยังไม่เห็นหน้าตา และยังไม่ทราบความต้องการของกลุ่ม แต่ในใจก็มีอะไรๆอยู่บ้างแล้วครับ รอฟังจากกลุ่มเพิ่มเติมอีกก็คงจะปรับกันได้
แต่โจทย์ข้อแรกคือ ใน Roadshow จะใช้กิจกรรมหรือพูดอย่างไรให้มีคนเข้าใจและอยากพัฒนาตัวเองด้านจิตใจ หรือจิตวิญญาณ หรือปัญญา
ทำอย่างไรจะทำให้คนสามารถโยงเรื่องนี้ไปกับการเรียนรู้ การทำงานและการใช้ชีวิต ทำให้คนเชื่อว่าถ้าพัฒนาตามหลักสูตรและแนวทางนี้จะทำให้เรียนรู้ ทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
ทำอย่างไรจะทำให้คนเชื่อว่าหลักสูตรนี้ ผู้รับผิดชอบจะสามารถหาวิทยากร และสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจ ?
เป็นเรื่องของการทำสิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน แต่ทำเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำตามที่ อ. ดร. นิกร วัฒนพนม ได้สอนไว้