ขยันไม่เข้าท่า อิอิ
อ่าน: 1806ปกติจะใช้ชื่อบันทึกว่า ขยันโง่ๆ แต่เดี๋ยวนี้สุภาพขึ้นมากเลยใช้ขยันไม่เข้าท่า
วันนี้มาเป็นวิทยากรเรื่องการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน –CBM (Community Based Solid Waste Management) ให้เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนร่วมกับทีมงานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การเดินทางก็แบบเดิมๆเน้นง่ายและประหยัดงบประมาณของแผ่นดิน ไม่มีเครื่องบินจากพิษณุโลกมาเชียงใหม่เลยติดรถตู้ของทีมงานจาก กทม. ที่ต้องขนอุปกรณ์มาด้วย พักเชียงใหม่ 1 คืน บ่ายๆก็บินมาแม่ฮ่องสอน
มีเวลาอยู่ที่สนามบินเชียงใหม่ค่อนข้างมาก เลยเดินดูหนังสือ ได้หนังสือมาเล่มนึง ชื่อ A Sense of Urgency เขียนโดย John P. Kotter แปลโดย ณัฐยา สินตระการผล
เริ่มอ่านบนเครื่องบิน อ่านได้บทเดียว เพราะบินขากเชียงใหม่มาแม่ฮ่องสอนแบบว่ากินถั่วที่ให้มายังไม่ทันหมดก็ถึงแล้ว
John P. Kotter เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขียนหนังสือ Leading Change, Our Iceberg Is Melting และอีกหลายๆเล่มซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีของโลก
บทที่อ่านเป็นบทที่หนึ่ง : ความตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง
ศัพท์ที่แปลมาอาจเข้าใจยากจึงขอเล่าแบบง่ายๆ…….
เดิมการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆในโลกจะเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่รวดเร็วมากนัก องค์กรต่างๆแม้กระทั่งระดับประเทศอยู่กับความสำเร็จที่ผ่านมาด้วยความคุ้นชินก็ไม่ประสบกับปัญหาอะไรมากมายนัก แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงหรือเป็นแบบชี้กำลัง (Exponential) ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการคิด การทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ๆ
การสนองตอบจึงเป็นไปได้สามแนวทางคือ
- จมอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ความคุ้นชิน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงช้า
- ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกับความจริง
- ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
แบบที่ 1. จมอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ความคุ้นชิน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงช้า ก็เป็นแบบที่ไม่รู้ตัว จมอยู่กับความรุ่งโรจน์ในอดีต ไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลง บุคคล องค์กรหรือประเทศนั้นๆก็จะไม่สามารถแข่งขัน ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
แบบนี้จะมีอาการเฉื่อย ไม่ยอมพัฒนา ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ
แบบที่ 2. ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกับความจริง แบบนี้ก็เป็นแบบตั้งโจทย์ผิด คำตอบก็เลยผิด
เป็นแบบที่ไม่รู้จริง รู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงแต่ทำไม่เป็น อาจจะวิเคราะห์หารากเหง้าของปัญหาผิด อาจมีปัญหาการจัดการระดับใดระดับหนึ่งหรือหลายๆระดับ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นสูงถึง 70% ขององค์กรที่พยายามจะปรับตัว เปลี่ยนแปลง แบบนี้แหละที่ตั้งชื่อให้เองว่า ขยันไม่เข้าท่า
อาการที่เกิดขึ้นจะมีการประชุมวุ่นวายทั้งวัน มีกิจกรรมที่ต้องทำมากมาย ดูวุ่นวายไปหมด เจ้านายก็เร่งรัด เคี่ยวเข็ญ ลูกน้องก็เครียด บ่น ไม่เต็มใจทำงาน ไม่ค่อยมีผลสำเร็จ กำลังขวัญของคนในองค์กรตกต่ำ
แบบที่ 3. 3. ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง แบบนี้คือแบบที่ต้องการ มีการวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาได้ถูกต้อง ทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งทีมมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน มีการบริหารจัดการที่ดี เลือกทำที่จำเป็นและได้ผลมากๆก่อน องค์กรจึงดูไม่วุ่นวาย ทีมงานมีความสุข ผลงานก็จะดีตามไปด้วย
ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะรู้ว่าตัวเรา องค์กรของเรา ประเทศของเราเป็นแบบไหน? ควรแก้ไขอย่างไร? อิอิอิอิอิ
« « Prev : นิทรรศการภาพถ่ายในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓
3 ความคิดเห็น
กาลเวลา นำพา สิ่งใหม่ใหม่
ก้าวล้ำไป เกิดแก่งแย่ง และแข่งขัน
ใครดีเด่น เก่งกาจ ฉลาดทัน
คนผู้นั้น เรียนรู้ อยู่สบาย
จึงเกิดการ ปรับเปลี่ยน น่าเวียนหัว
เพราะความกลัว เป็นผู้แพ้ แก้ไม่หาย
โง่แล้วยัง อวดฉลาด วาดลวดลาย
คิดอุบาย สร้างเรื่องแย่ แก่สังคม
ไม่รู้ว่าเม้นท์หนักไปรึเปล่านะคะ แบบว่ากลอนพาไป อิอิอิ
เบิกอรุณด้วยบันทึกดีๆ อิอิ
เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ แต่ผมมีความเห็นดังนี้ คือ สมมุติว่า โจทน์เราคือจะดำรงชีวิตครอบครัวเรา ตัวเราอย่างไร ?
1 ตั้งหลักให้ได้ก่อนว่าเส้นทางชีวิตของเราคืออะไร เช่น จะดำรงชีวิตแบบพอเพียง คือเป้าหมายที่จะเดินทางไปให้ถึง ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละครอบครัว แต่ละคน กำหนดให้ได้ว่า พอเพียงของเราแค่ไหน อย่างไร ฯลฯ
2 เมื่อเป้าหมายชัด เราก็กำหนด ขั้นตอนการเดินเข้าสู่เป้าหมาย
3 และค่อยๆเดินทางไป ตามเงื่อนไขที่เราเป็นอยู่ มีอยู่ ดำรงอยู่
4 ดัดแปลงเงื่อนไขบางประการให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ระหว่างเดินทางเข้าสู่เป้าหมายนั้น “มีการเปลี่ยนแปลงผ่านหน้าเราไปมากมาย” ทั้งมีบางส่วนที่หนุนเนื่องเป้าหมายเรา และบางส่วนไม่ได้หนุนเนื่องใดๆเลย บางส่วนตรงข้ามกลับมาทำลายการเดินเข้าสู่เป้าหมายของเราเสียด้วยซ้ำ เราก็รู้เท่าทันและปฏิเสธส่วนนั้นๆไป
5 ระหว่างการเดินทาง เราอาจทบทวน ขั้นตอนการเดินทางเข้าสู่เป้าหมาย เราก็อาจปรับรายละเอียดนั้นๆให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง หรือ ความเหมาะสม ที่สอดคล้องกับเป้าหมายนั้นๆ
ทั้งหมดนี้ก็คร่าวๆ ที่ทุกท่านคงทราบดีกว่าผมอยู่แล้ว และรายละเอียดทางวิชาการเรื่องเหล่านี้ก็พัฒนาไปมากมาย
แต่สิ่งหนึ่งที่มันบาดหัวใจคือ การเปลี่ยนแปลงนั้น มันมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เทคโนโยลี่ชีวภาพเพื่อชีวิต เป็นต้น แต่ที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ เพื่อการค้าขาย เพื่อกำไร มันได้สร้างขึ้นมาและใช้วิชาการความรู้ทางการประชาสัมพันธ์ไปรับใช้ธุรกิจ ไปสนับสนุนรายได้ทางธุรกิจ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกินความพอดี ตรงข้ามหลายเรื่องเป็นการฆ่าตัวตายของมนุษย์ชาติ เพราะไปทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
วันนี้มีข่าวว่า หน่วย green peace ออกมาต่อต้านธุรกิจร้านอาหาร ที่ใช้ตะเกียบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้โลกเราสูญเสียต้นไผ่และอื่นๆจำนวนมหาศาลต่อปี เราสูญเสียพื้นที่สีเขียวไปมากมาย หากระบบธุรกิจเอาความสอาดของตะเกียบมาเป็นจุดขาย แต่ส่งผลกระทบต่อโลกเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงเชิงทำลาย และอื่นๆอีกมากมาย
การเปลี่ยนแปลงน่าจะถูกวิภาคให้มากๆ ว่าอันใดสมควร อันใดเกินความเหมาะสม และเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทำลาย
ที่สำคัญ ระบบธุรกิจได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นค่านิยม ไปกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ยังไม่มีสติในการยับยั้งชั่งใจ เดินตามตูดเขาต้อยๆ นี่แหละที่คนกลุ่มหนึ่งโจมตีลัทธิบริโภคนิยม
อย่างว่าใครเลย ลูกหลานเราก็เป็นหนึ่งในเหยื่อเหล่านั้น ต้องคุยกันเป็นวรรคเป็นเวร กว่าจะกระตุกมาได้บ้าง บางทีสติก็ขึ้นกับ maturity นะ เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็เข้าใจ
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เพื่ออะไรสำคัญกว่านะครับเฮีย เฮียตึ๋งทราบดีอยู่แล้ว
อ้าว ตาย หละ มาสอนหนังสือสังฆราชซะแล้ว…
ดีมาก มากระตุกความคิดกันแบบนี้ ดีนะจะบอกให้..อิอิ