ปี่พาทย์ในงานกฐิน

โดย ครูฌอง เมื่อ 24 ตุลาคม 2009 เวลา 3:53 (เช้า) ในหมวดหมู่ กิจกรรมดนตรีไทย #
อ่าน: 16091

งานทอดกฐินสามัคคีวัดยางทอง อ.เมือง จ.สงขลา ปี 2552 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 นอกจากช่วยงานอื่นๆแล้ว กระผมในฐานะคนดนตรีไทย จึงได้รับมอบหมายจากพระมหาชัยวุธ ให้จัดวงดนตรีไทยเพื่อใช้ประกอบพิธี การดำเนินงานจึงเริ่มจากติดต่อหาพรรคพวกเพื่อกำหนดตัวนักดนตรี จากนั้นจึงหาเครื่องดนตรีไทยที่จะใช้ในการบรรเลง สรุปว่า ได้รับอนุเคราะห์เครื่องดนตรีไทยประเภทวงปี่พาทย์เครื่องหก จาก ม.ราชภัฏสงขลา และนักดนตรีไทยที่ร่วมบรรเลงประกอบด้วย ครูบรรเทิง และครูไชยวุธ จาก ม.ราชภัฎสงขลา ครูเอกและลูกชายคือน้องเขต จากสุราษฎร์ธานี ครูโต้ง จากหาดใหญ่ ครูหนุ่ย จาก มอ.หาดใหญ่ กระผมและลูกชายคือน้องแคน นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจาก ม.ราชภัฏสงขลา มาช่วยบรรเลงในช่วงกลางคืนที่สมโภชกฐินด้วย

ทำไมต้องใช้วงปี่พาทย์

ปกติวงดนตรีไทยมาตรฐานของไทยมี่ 3 ประเภทคือ วงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และวงมโหรี วงดนตรีแต่ละประเภทนั้นมีจุดประสงค์และวิธีการใช้บรรเลงที่แตกต่างกันไป สำหรับวงปี่พาทย์นั้น มีจุดประสงค์หลักอยู่ 2 ประการคือ ประกอบพิธี และ ประกอบการแสดง ดังนั้น การจัดวงดนตรีไทยในงานกฐินครั้งนี้ผมจึงต้องจัดเป็นวงปี่พาทย์ อีกประเด็นปลีกย่อยของวงพี่พาทย์ก็คือวงประเภทนี้มีหลายชนิด และหลายขนาด เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ และวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ (นี่ยังไม่รวมวงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์ที่ใช้ในงานศพนะครับ) การจัดวงครั้งนี้จึงจัดเป็นวงปี่พาทย์เครื่องหก ซึ่งก็คือวงปี่พาทย์เครื่องห้า อันประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน-กลองทัด และฉิ่ง แล้วเพิ่มระนาดทุ้มเข้าไปอีก 1 เครื่อง จึงกลายเป็นวงปี่พาทย์เครื่องหก

ลำดับการบรรเลง

ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าจุดประสงค์ของการใช้วงปี่พาทย์ คือการบรรเลงเพื่อประกอบพิธีการมากว่าการบรรเลงเพื่อความบรรเทิง ดังนั้นลำดับการบรรเลงเพลงต่างๆ จึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของแบบแผนการดนตรีไทย กล่าวคือ

การบรรเลงในวันสมโภชกฐิน

  • เวลาประมาณ 16.00 น. ขนเครื่องดนตรีไทยไปที่วัด จัดสถานที่และจัดเครื่องดนตรีตามลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่องหก คือ เมื่อหันหน้าเข้าวงวงดนตรีจากซ้ายมือ เครื่องดนตรีแถวหน้าประกอบด้วย ตะโพน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม และกลองทัด แถวที่สองประกอบด้วย ปี่ใน และฆ้องวงใหญ่ ส่วนฉิ่งนิยมให้นั่งตรงกลางระหว่างระนากเอก ระนาดทุ้ม และฆ้องวงใหญ่ เพื่อให้ทุกคนฟังเสียงฉิ่งได้ชัดเจน
  • เมื่อจัดตั้งวงเครื่องดนตรีไทยเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมีการบูชาครู ปกติเป็นหน้าที่ของครูผู้ใหญ่ หรือนักดนตรีอาวุโสในวง แต่การบรรเลงครั้งนี้ กระผมได้รับมอบหมายจากครูบรรเทิงผู้อาวุโสสูงสุดให้ทำหน้าที่บูชาครู โดยการเตรียมเครื่องกำนลบูชาครู ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป-เทียน และเงินกำนล 12 บาท (บางวงมีเหล้าและบุหรี่ด้วย แต่หากผมทำหน้าที่บูชาครูจะไม่ใช้) การบูชาครูก็เริ่มด้วย บูชาพระรัตนตรัย ตั้งนโม บูชาพระคเณศ บูชาครูดุริยเทพและครูดนตรีไทยอื่นๆ และขออำนวยพรให้การบรรเลงดนตรีไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ปราศจากอุปสรรค
  • การบรรเลงเริ่มด้วยเพลงชุดโหมโรงเย็น ประกอบด้วย สาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ รัว เชิด กลม ชำนาญ กราวใน ต้นชุบ และ ลา เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกาศให้รู้ว่าจะมีการประกอบพิธีในงานนี้
  • จากนั้น พักเพื่อรับประทานอาหารเย็น (ประเด็นนี้ขอขยายความเพิ่มเติม เพราะบุคคลทั่วไปอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมนักดนตรีไทยจะบรรเลงก่อนกินข้าว หรือทำไมต้องหยุดการบรรเลงกลางคันเพื่อกินข้าว หลายครั้งที่ผมพาวงดนตรีไทยไปบรรเลงเจ้าภาพจะเชิญกินข้าวก่อนแล้วค่อยบรรเลง อันที่จริงมีนัยนิดหน่อยคือ 1) ไม่กินข้าวก่อนการบูชาครู 2) เพื่อทดสอบความพร้อมของเครื่องดนตรี หากมีปัญหาขณะกินข้าวจะได้ปรับแต่ง 3) เตือนแม่ครัวให้ทราบว่าปี่พาทย์มาแล้ว(555)
  • ในช่วงพิธีการ มีการบรรเลง 2 ลักษณะสลับกันตามโอกาสคือ บรรเลงประกอบพิธีในการรับพระ จุดธูปเทียน หลังเจริญพระพุทธมนต์ และส่งพระ สำหรับก่อนและหลังพีธีก็เป็นการบรรเลงเพื่อความบรรเทิง
  • ก่อนเลิกการบรรเลงในแต่ละครั้งจะต้องบรรเลงเพลงลา เพื่อขอขมาครูดนตรี และบอกลาผู้มาร่วมงานพิธี

การบรรเลงในวันทอดกฐิน

  • ประมาณแปดโมงเช้า นักดนตรีมาพร้อมกันที่งาน จัดเตรียมเครื่องดนตรีให้เรียบร้อย
  • เริ่มบรรเลงด้วยเพลงชุดโหมโรงเช้า ประกอบด้วย สาธุการ เหาะ รัว กลม และ ชำนาญ จุดประสงค์ก็เหมือนการบรรเลงโหมโรงเย็น
  • ส่วนการบรรเลงประกอบพิธีก็เช่นเดียวกับการสมโภชกฐิน
  • ก่อนเลิกการบรรเลงก็มีการบรรเลงเพลงลา จากนั้นผู้บรรเลงตะโพนต้องลาเครื่องกำนลที่ใช้บูชาครูในวันแรก ส่วนเงินค่ากำนลนั้น ให้นำไปทำบุญถวายพระ

การบรรเลงปี่พาทย์ให้งานทอดกฐินวัดยางทองครั้งนี้ ไปรับความร่วมมือด้วยดีจากครู เพื่อนๆ น้องๆ และหลานๆ ขอขอบคุณ ขอบใจ ทุกท่านเป็นอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ หลังการบรรเลง นักดนตรีได้รับพระคเณศจากพระมหาชัยวุธเป็นที่ระลึก

บรรยาการการบรรเลงวงปี่พาทย์

« « Prev : เปิดตัวลานดนตรีไทย

Next : ความเข้าใจพื้นฐานการดนตรีไทย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1013 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.8355178833008 sec
Sidebar: 0.052670001983643 sec